คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวอะไรเกี่ยวกับการดื่มอวยพร แล้วเหตุใดพยานพระยะโฮวาจึงไม่ร่วมดื่มอวยพร?
การยกแก้วเหล้าองุ่น (หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ) เพื่อดื่มอวยพรเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมานานและแพร่หลาย ถึงแม้รายละเอียดปลีกย่อยอาจแตกต่างกันออกไปในที่ต่าง ๆ. บางครั้งคนที่ดื่มอวยพรจะแตะแก้วร่วมกัน. คนที่ดื่มอวยพรมักขอหรือแสดงความปรารถนาให้อีกคนหนึ่งมีความสุข, สุขภาพดี, และอายุยืนยาว หรืออะไรทำนองนั้น. คนอื่น ๆ ที่ร่วมดื่มอวยพรอาจส่งเสียงแสดงว่าเห็นด้วยหรือยกแก้วของตนขึ้นแล้วดื่มเล็กน้อย. สำหรับหลายคน การทำเช่นนี้ดูจะเป็นธรรมเนียมที่ไม่มีพิษมีภัยหรือเป็นมารยาททางสังคม แต่มีเหตุผลหนักแน่นที่พยานพระยะโฮวาไม่ร่วมในการดื่มอวยพร.
เหตุผลไม่ใช่เพราะคริสเตียนไม่ปรารถนาจะให้คนอื่นมีความสุขหรือมีสุขภาพดี. ในจดหมายที่เขียนไปยังประชาคมต่าง ๆ คณะกรรมการปกครองในศตวรรษแรกได้ลงท้ายจดหมายด้วยคำที่อาจแปลได้ว่า “ขอให้ท่านมีสุขภาพดี,” “ขอให้อยู่ดีมีสุข” หรือ “ขอให้เป็นสุขเถิด.” (กิจการ 15:29, ล.ม.) และผู้นมัสการแท้บางคนเคยทูลกษัตริย์ที่เป็นมนุษย์ว่า “ขอโปรดให้เจ้านายข้าพเจ้า . . . ทรงพระเจริญอยู่เป็นนิจเถิด” หรือ “ขอให้กษัตริย์ทรงมีพระชนมายุเจริญยืนนานเถิด.”—1 กษัตริย์ 1:31; นะเฮมยา 2:3.
แต่ธรรมเนียมการดื่มอวยพรมีต้นตอมาจากไหน? วารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1968 ได้ยกข้อความจากสารานุกรมบริแทนนิกา (1910) เล่มที่ 13 หน้า 121 มากล่าว ที่ว่า “ธรรมเนียมการดื่มเพื่อ ‘สุขภาพ’ ให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นไปได้มากว่าจะมาจากพิธีทางศาสนาสมัยโบราณที่มีการดื่มให้แก่เทพเจ้าและคนตาย. เมื่อชาวกรีกและโรมันรับประทานอาหาร พวกเขาจะเทเหล้าถวายแก่เทพเจ้า และในพิธีเลี้ยงต่าง ๆ พวกเขาจะดื่มให้แก่เทพเจ้าเหล่านั้นและแก่คนตาย.” สารานุกรมนั้นยังกล่าวด้วยว่า “การดื่มให้กับสุขภาพของคนที่มีชีวิตอยู่ต้องเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดเสมอกับธรรมเนียมการดื่มที่มีลักษณะคล้ายกับการบวงสรวงเหล่านี้.”
ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ไหม? หนังสือคู่มือสากลว่าด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และวัฒนธรรม (ภาษาอังกฤษ) ฉบับปี 1995 กล่าวว่า “[การดื่มอวยพร] อาจเป็นสิ่งที่หลงเหลืออยู่ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาของพิธีบวงสรวงสมัยโบราณซึ่งมีการถวายของเหลวที่ศักดิ์สิทธิ์แด่เหล่าเทพเจ้า คือเลือดหรือเหล้าองุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนกับพรประการหนึ่ง โดยคำอธิษฐานสรุปได้ด้วยคำว่า ‘อายุมั่นขวัญยืน!’ หรือ ‘แด่สุขภาพของท่าน!’ ”
จริงอยู่ การที่สิ่งของ, รูปแบบทางศิลปะ, หรือกิจปฏิบัติใดมีต้นตอหรือมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีในศาสนาเท็จสมัยโบราณไม่ได้ทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้นมัสการแท้เสมอไป. ขอให้นึกถึงผลทับทิม. สารานุกรมคัมภีร์ไบเบิลที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ผลทับทิมดูเหมือนจะใช้เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งในศาสนานอกรีต.” กระนั้นก็ตาม พระเจ้าทรงกำหนดให้ปักรูปผลทับทิมไว้ที่ชายเสื้อของปุโรหิต และให้ใช้ผลทับทิมตกแต่งเสาทองแดงในพระวิหารของซะโลโมด้วย. (เอ็กโซโด 28:33; 2 กษัตริย์ 25:17) นอกจากนั้น ครั้งหนึ่งแหวนแต่งงานก็เคยมีความหมายทางศาสนามาก่อน. แต่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ทราบเรื่องนี้ และถือว่าแหวนแต่งงานเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าคนนั้นแต่งงานแล้ว.
จะว่าอย่างไรเรื่องการใช้เหล้าองุ่นในกิจปฏิบัติทางศาสนา? เพื่อเป็นตัวอย่าง คนที่นมัสการพระบาละในเมืองเชเคมได้ “ทำการเลี้ยงสมโภชในวัดพระของเขา เขารับประทานและดื่มและด่าแช่งอาบีเมเลค” บุตรฆิดโอน. (วินิจฉัย 9:22-28, ฉบับแปลใหม่) คุณคิดว่าคนที่ภักดีต่อพระยะโฮวาจะเข้าส่วนร่วมในการดื่มนั้น หรืออาจร้องขออำนาจจากพระเท็จเพื่อให้ทำร้ายอะบีเมเล็คไหม? เมื่ออาโมศพรรณนาถึงช่วงเวลาที่หลายคนในอิสราเอลกบฏต่อพระยะโฮวา ท่านกล่าวว่า “ตัวเขาเองนอน อยู่ข้างแท่นบูชาทุกแท่น . . . และในนิเวศแห่งพระเจ้าของเขา เขาทั้งหลายดื่มเหล้าองุ่นของผู้ที่เสียค่าปรับไหมแล้ว.” (อาโมศ 2:8, ฉบับแปลใหม่) ผู้นมัสการแท้จะเข้าร่วมในการเช่นนั้นไหม ไม่ว่าเหล้าองุ่นจะถูกเทออกเป็นเครื่องบวงสรวงแด่เทพเจ้าหรือเป็นเพียงเครื่องดื่มในโอกาสนั้น? (ยิระมะยา 7:18) หรือผู้นมัสการแท้จะยกแก้วเหล้าองุ่นเพื่อขออำนาจพระให้ดลบันดาลหรืออวยพรอนาคตของใครบางคนไหม?
น่าสนใจทีเดียว บางครั้งผู้นมัสการพระยะโฮวาก็ยกมือของพวกเขาและร้องขอเพื่อได้รับผลที่ดี. พวกเขายกมือขึ้นต่อพระเจ้าองค์เที่ยงแท้. เราอ่านว่า “ซะโลโมได้ทรงยืนอยู่เฉพาะแท่นของพระยะโฮวา . . . และได้ชูพระหัตถ์ของพระองค์ตรงขึ้นไปยังท้องฟ้า: และพระองค์ทูลว่า, โอ้พระยะโฮวาพระเจ้าของยิศราเอล, ไม่มีพระเจ้าอื่นเหมือนพระองค์ . . . ขอพระองค์ได้ทรงสดับฟังในมหาสวรรค์ที่สถิตของพระองค์: และเมื่อพระองค์ได้ทรงสดับฟังแล้ว, ขอทรงยกความผิดเสีย.” (1 กษัตริย์ 8:22, 23, 30) ในทำนองเดียวกัน “เอษราจึงได้กล่าวขอพรขอบพระเดชพระคุณพระยะโฮวาพระเจ้า . . . ฝูงคนทั้งปวงได้ตอบว่า, อาเมน, อาเมน, แล้วยกมือขึ้น: และก้มศีรษะลงถึงดินกราบไหว้นมัสการพระยะโฮวาเจ้า.” (นะเฮมยา 8:6; 1 ติโมเธียว 2:8) เห็นได้ชัดว่า คนที่ภักดีจะไม่ยกมือขึ้นไปยังท้องฟ้าเพื่อขอพรจากเหล่าพระโชค.—ยะซายา 65:11.
หลายคนในทุกวันนี้ที่ร่วมในการดื่มอวยพรอาจไม่ได้คิดว่าพวกเขากำลังร้องขอคำตอบหรือขอพรจากพระต่าง ๆ อยู่ แต่พวกเขาก็อธิบายไม่ได้ว่าทำไมพวกเขาจึงชูแก้วเหล้าองุ่นขึ้นไปทางท้องฟ้า. อย่างไรก็ตาม การที่พวกเขาไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วนในเรื่องนี้ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้คริสเตียนแท้รู้สึกว่าต้องทำท่าทางเหมือนคนเหล่านั้น.
เป็นที่เข้าใจกันดีว่า ในเรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกันพยานพระยะโฮวาจะไม่ทำท่าทางแบบที่คนส่วนใหญ่ทำกัน. ตัวอย่างเช่น หลายคนทำท่าทางต่อหน้าเครื่องหมายประจำชาติ, หรือธงชาติ พวกเขาไม่ถือว่าการทำเช่นนี้เป็นการนมัสการสิ่งเหล่านั้น. คริสเตียนแท้ไม่ขัดขวางการทำท่าทางเช่นนั้น แต่พวกเขาเองจะไม่ร่วมทำท่าทางดังกล่าว. เมื่อรู้ว่าโอกาสใดอาจมีการทำท่าทางเหล่านั้น พยานฯ จำนวนมากได้ปฏิบัติตัวอย่างฉลาดสุขุมเพื่อจะไม่ทำให้คนอื่นขุ่นเคือง. ไม่ว่าในกรณีใด พวกเขาตั้งใจว่าจะไม่ทำท่าทางที่แสดงถึงการนิยมชาติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล. (เอ็กโซโด 20:4, 5; 1 โยฮัน 5:21) คนมากมายอาจไม่ถือว่าการดื่มอวยพรในทุกวันนี้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับศาสนา. ถึงกระนั้นก็ตาม มีเหตุผลหนักแน่นที่คริสเตียนไม่ร่วมในการดื่มอวยพร ซึ่งในอดีตเคยมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาและกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังถือกันว่าเป็นการขอพรจาก “ฟ้า” เหมือนว่ากำลังแสวงหาการช่วยเหลือจากพลังอำนาจที่เหนือมนุษย์.—เอ็กโซโด 23:2.