ชื่นชมกับแผ่นดินโลกอันงดงามของเรา
ชื่นชมกับแผ่นดินโลกอันงดงามของเรา
นักดาราศาสตร์ได้พบว่า บ้านของมวลมนุษยชาติเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ในเอกภพอันกว้างใหญ่ไพศาลไร้ขอบเขต. ไม่เคยพบเห็นสิ่งมีชีวิตในที่อื่นใดของเอกภพ. เฉพาะดาวเคราะห์โลกเท่านั้นที่มีสภาพที่เหมาะสมอย่างแท้จริง.
นอกจากนั้น เราสามารถชื่นชมกับชีวิตบนโลกที่งดงามนี้ได้. ช่างมีความสุขสักเพียงไรที่ได้สัมผัสความอบอุ่นของไอแดดในวันที่มีอากาศหนาว! สำหรับพวกเรา คงไม่มีใครที่ไม่รู้สึกประทับใจกับภาพอันงดงามของดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณและยามลับขอบฟ้า. แน่นอน ดวงอาทิตย์ของเราไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้สึกชื่นชมกับชีวิตเท่านั้น. ดวงอาทิตย์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา.
เป็นเวลานานแสนนานมาแล้วที่แรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ทำให้แผ่นดินโลกและดาวเคราะห์อื่น ๆ โคจรอย่างมีเสถียรภาพ. และดังที่นักเรียนได้เรียนในโรงเรียน ระบบสุริยะทั้งหมดโคจรรอบจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก. แต่ในกาแล็กซีของเรา ดวงอาทิตย์เป็นเพียงดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในจำนวนดาวมากกว่า 100,000 ล้านดวงที่โคจรอยู่ในกาแล็กซี.
กาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นสมาชิกของกระจุกกาแล็กซี (cluster) หนึ่งซึ่งมีประมาณ 35 กาแล็กซี. กระจุกกาแล็กซีที่ใหญ่กว่ามีเป็นพัน ๆ กาแล็กซี. ระบบสุริยะของเราคงจะไม่มีเสถียรภาพถึงขนาดนี้หากอยู่ในกระจุกกาแล็กซีที่มีความหนาแน่นมากกว่าและมีขนาดใหญ่กว่านี้. แต่ถ้าจะมีก็คงมีไม่กี่แห่งในเอกภพที่ “เหมาะสมสำหรับชีวิตที่มีความซับซ้อนอย่างพวกเรา” ดังที่กีเยอร์โม กอนซาเลซและเจย์ ดับเบิลยู. ริชาร์ด กล่าวไว้ในหนังสือของพวกเขาชื่อดาวเคราะห์พิเศษ (ภาษาอังกฤษ).
ทุกชีวิตที่ดำรงอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นผลผลิตของความบังเอิญที่ปราศจากการควบคุม เป็นผลที่น่าทึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การระเบิดใหญ่” (big bang) ไหม? หรือชีวิตบนแผ่นดินโลกที่สวยงามนี้ถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่ดีเยี่ยมกว่าไหม?
หลายคนได้ข้อสรุปว่า บ้านซึ่งได้แก่แผ่นดินโลกของเราถูกออกแบบมาเพื่อค้ำจุนชีวิตโดยเฉพาะ. * เมื่อหลายร้อยปีก่อน กวีชาวฮีบรูคนหนึ่งกล่าวถึงแผ่นดินโลกและท้องฟ้า. เขาเขียนว่า “ครั้นข้าพเจ้าพิจารณาท้องฟ้า, ที่เป็นพระหัตถกิจของพระองค์, คือดวงจันทร์กับดวงดาวซึ่งพระองค์ได้ทรงประดิษฐานไว้; มนุษย์เป็นผู้ใดเล่า?” (บทเพลงสรรเสริญ 8:3, 4) กวีผู้นี้เชื่อว่าต้องมีพระผู้สร้าง. นั่นเป็นการลงความเห็นที่สมเหตุสมผลไหมในยุควิทยาศาสตร์ของเรา?
[เชิงอรรถ]
[กรอบ/ภาพหน้า 3]
“เมื่อมองจากระยะไกล แผ่นดินโลกของเราส่องประกายดุจอัญมณีสีน้ำเงินในห้วงอวกาศอันมืดมิด” สารานุกรมวิทยาศาสตร์ประกอบภาพ—ดาวเคราะห์โลกอันน่าทึ่ง (ภาษาอังกฤษ).
[ที่มาของภาพ]
Globe: U.S. Fish & Wildlife Service, Washington, D.C./NASA