การช่วยเหลือจาก “พระเจ้าผู้ทรงประทานความเพียรอดทนและการชูใจ”
การช่วยเหลือจาก “พระเจ้าผู้ทรงประทานความเพียรอดทนและการชูใจ”
ประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เปาโลผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลพรรณนาพระยะโฮวาว่าเป็น “พระเจ้าผู้ทรงประทานความเพียรอดทนและการชูใจ.” (โรม 15:5, ล.ม.) เนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าพระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลงแม้เวลาจะผ่านไป เราจึงมั่นใจได้ว่าพระเจ้าจะยังคงให้การชูใจแก่ผู้รับใช้พระองค์. (ยาโกโบ 1:17) ที่จริง คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยว่าพระยะโฮวาทรงจัดให้มีการชูใจหลาย ๆ ทางแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ. ในทางใดบ้าง? พระเจ้าประทานกำลังแก่คนที่หันเข้ามาหาพระองค์โดยการอธิษฐาน ทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์. พระองค์ยังกระตุ้นให้คริสเตียนแท้หนุนใจเพื่อนร่วมความเชื่อ. และพระยะโฮวาประทานเรื่องราวที่ทำให้อบอุ่นหัวใจในคัมภีร์ไบเบิลพระคำของพระองค์ซึ่งเสริมกำลังโดยเฉพาะแก่คนที่โศกเศร้าเพราะสูญเสียลูกเนื่องจากความตาย. ให้เราพิจารณาการชูใจสามแนวทางดังกล่าวทีละอย่าง.
‘พระยะโฮวาได้ทรงสดับฟัง’
กษัตริย์ดาวิดเขียนเกี่ยวกับพระยะโฮวาพระผู้สร้างดังนี้: “พลเมืองเอ๋ย, จงวางใจในพระองค์เสมอทุกเวลา; จงพากันรีบตั้งจิตต์ใจทูลเฉพาะพระองค์เถิด: ด้วยพระเจ้าเป็นที่พึ่งพำนักของพวกเรา.” (บทเพลงสรรเสริญ 62:8) เหตุใดดาวิดจึงมั่นใจในพระยะโฮวาเช่นนี้? เมื่อกล่าวถึงตนเอง ดาวิดเขียนว่า “คนอนาถาผู้นี้ได้ร้องทูลต่อพระยะโฮวา, และพระองค์ก็ได้ทรงสดับฟัง, และได้ช่วยเขาให้พ้นจากบรรดาความทุกข์ยากนั้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 34:6) ในสถานการณ์ความทุกข์ยากทุกอย่างที่ท่านได้เผชิญ ดาวิดอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเสมอ และพระยะโฮวา ก็ทรงช่วยเหลือท่านเสมอ. ดาวิดทราบจากประสบการณ์ว่า พระเจ้าจะทรงค้ำจุนท่านและช่วยท่านให้อดทน.
บิดามารดาที่โศกเศร้าจำเป็นต้องรู้ว่าพระยะโฮวาจะทรงค้ำจุนพวกเขาผ่านพ้นความโศกเศร้าแสนสาหัสเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงช่วยดาวิด. พวกเขาสามารถเข้าเฝ้า “ผู้สดับคำอธิษฐาน” องค์ใหญ่ยิ่ง โดยวางใจว่าพระองค์จะทรงช่วยพวกเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2) วิลเลียม ซึ่งกล่าวถึงในบทความก่อนหน้านี้กล่าวว่า “หลายครั้ง ผมรู้สึกว่าไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกโดยไม่มีลูกชายและผมได้อธิษฐานขอพระยะโฮวาทรงบรรเทาความทุกข์ของผม. พระองค์ทรงเสริมกำลังและความกล้าหาญแก่ผมเสมอเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป.” เช่นเดียวกัน หากคุณอธิษฐานถึงพระยะโฮวาด้วยความเชื่อ พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์องค์ยิ่งใหญ่จะทรงค้ำจุนคุณ. ที่จริง พระยะโฮวาพระเจ้าสัญญากับผู้ที่พยายามรับใช้พระองค์ว่า “เรา, ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า, กำลังยึดมือข้างขวาของเจ้าอยู่, กำลังกล่าวแก่เจ้าว่า, ‘อย่ากลัวเลย, เราจะช่วยเจ้า.’ ”—ยะซายา 41:13.
การเกื้อหนุนจากเพื่อนแท้
บิดามารดาที่ลูกเสียชีวิตบ่อยครั้งต้องการเวลาเพื่ออยู่กับความเศร้าเพียงลำพังและปรับอารมณ์ความรู้สึกของตน. อย่างไรก็ตาม การปลีกตัวจากการคบหากับคนอื่นเป็นเวลานานไม่ใช่แนวทางที่สุขุม. ตามที่สุภาษิต 18:1 กล่าวไว้ “คนที่ปลีกตัวออกไปจากผู้อื่น” อาจประสบความเสียหาย. ด้วยเหตุนั้น คนที่โศกเศร้าควรระวังที่จะไม่ตกหลุมพรางของการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว.
มิตรสหายที่เกรงกลัวพระเจ้าสามารถให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ผู้ที่กำลังซึมเศร้า. สุภาษิต 17:17 (ล.ม.) กล่าวว่า “มิตรแท้ย่อมรักอยู่ทุกเวลา และเป็นพี่น้องซึ่งเกิดมาเพื่อยามที่มีความทุกข์ยาก.” ลูซีซึ่งมีการกล่าวถึงเธอด้วยในบทความก่อนหน้านี้ ได้รับการปลอบโยนจากเพื่อนแท้หลังจากที่สูญเสียลูกชายไป. เธอกล่าวถึงเพื่อน ๆ ในประชาคมว่า “การที่พวกเขามาเยี่ยมช่วยได้มากจริง ๆ แม้บางครั้งพวกเขาแทบไม่ต้องพูดอะไรก็ตาม. เพื่อนคนหนึ่งมาเยี่ยมตอนที่ฉันอยู่คนเดียว. เธอรู้ว่าฉันคงจะร้องไห้อยู่ที่บ้าน และเธอก็มักจะมาหาและร้องไห้กับฉัน. เพื่อนอีกคนหนึ่งโทรศัพท์มาให้กำลังใจฉันทุกวัน. ส่วนคนอื่น ๆ เชิญเราไปรับประทานอาหารที่บ้าน และพวกเขาก็ยังคงทำเช่นนั้นเรื่อยมา.”
แม้ความปวดร้าวอย่างสุดซึ้งที่เหล่าบิดามารดาประสบเมื่อสูญเสียลูกไปไม่อาจจางหายไปได้ง่าย ๆ แต่การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและการคบหากับเพื่อนคริสเตียนแท้จะทำให้บทเพลงสรรเสริญ 147:3.
ผู้โศกเศร้าได้รับการชูใจอย่างแท้จริง. บิดามารดาคริสเตียนจำนวนมากซึ่งสูญเสียบุตรของตนได้ประสบว่าพระยะโฮวาอยู่กับพวกเขา. ถูกแล้ว พระยะโฮวา “ทรงประเล้าประโลมใจที่แตกช้ำแล้วให้หาย, และทรงผูกพันบาดแผลของเขา.”—เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลให้การชูใจ
นอกจากการอธิษฐานและการคบหาสมาคมที่เสริมสร้างแล้ว พระคำของพระเจ้าที่ได้มีการจารึกไว้เป็นแหล่งหนึ่งที่ให้การชูใจแก่คนที่เป็นทุกข์โศกเศร้า. เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเผยให้เห็นว่าพระเยซูปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปลดเปลื้องความปวดร้าวของบิดามารดาผู้โศกเศร้า โดยปลุกคนตายให้กลับมีชีวิตอีกและทรงสามารถทำเช่นนั้น. เรื่องราวเหล่านั้นให้การชูใจอย่างแท้จริงแก่ผู้ที่โศกเศร้า. ให้เราพิจารณาสองเรื่องดังกล่าว.
ลูกาบท 7 พรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูพบขบวนแห่ศพในเมืองนาอิน. ผู้คนกำลังจะนำศพลูกชายคนเดียวของหญิงม่ายไปฝัง. ข้อ 13 กล่าวว่า “เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นมารดานั้น, พระองค์ทรงเมตตากรุณาเขาและตรัสว่า, ‘อย่าร้องไห้เลย.’ ”
มีไม่กี่คนที่จะกล้าบอกผู้เป็นแม่ซึ่งอยู่ในงานศพของลูกชายตนเองให้หยุดร้องไห้. เหตุใดพระเยซูจึงบอกเช่นนั้น? เนื่องจากพระองค์รู้ว่าความโศกเศร้าของผู้เป็นแม่กำลังจะหมดไป. เรื่องราวดำเนินต่อไปดังนี้: “[พระเยซู] เสด็จเข้าไปใกล้ถูกต้องโลง คนหามศพนั้นก็หยุดยืนอยู่. พระองค์จึงตรัสว่า, ‘ชายหนุ่มเอ๋ย, เราสั่งเจ้าให้ลุกขึ้นเถิด.’ คนที่ตายนั้นก็ลุกขึ้นนั่งพูด. พระองค์จึงทรงมอบชายหนุ่มให้แก่มารดาของเขา.” (ลูกา 7:14, 15) ในตอนนั้นเองผู้เป็นแม่ก็หลั่งน้ำตาอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้เป็นน้ำตาแห่งความยินดี.
ในอีกโอกาสหนึ่ง มีชายคนหนึ่งชื่อญายโรได้เข้ามาหาพระเยซู และขอให้พระองค์ช่วยบุตรสาววัย 12 ปีซึ่งป่วยหนักมาก. ไม่นานก็มีคนมาแจ้งข่าวว่าบุตรสาวของเขาเสียชีวิตแล้ว. ข่าวนี้ทำให้ญายโรหัวใจสลาย แต่พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “อย่าวิตกเลย, แต่จงเชื่อเถิด.” ที่บ้านของญายโร พระเยซูเดินไปที่ร่างไร้ชีวิตของเด็กหญิง. พระองค์ทรงจับมือเด็กและกล่าวว่า “หญิงสาวเอ๋ย, เราว่าแก่เจ้าว่า, จงลุกขึ้นเถิด.” มีอะไรเกิดขึ้น? “ในทันใดนั้นเด็กก็ลุกขึ้นเดินไปมา.” พ่อแม่ของเธอรู้สึกอย่างไร? พวกเขา “ก็ประหลาดอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง.” ญายโรและภรรยาเข้าไปสวมกอดลูกสาวและรู้สึกมีความสุขอย่างเหลือล้น. พวกเขารู้สึกราวกับฝันไป.—เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งบันทึกเกี่ยวกับการกลับเป็นขึ้นจากตายของเด็ก ๆ อย่างละเอียดเช่นนี้ แสดงให้บิดามารดาที่โศกเศร้าในทุกวันนี้เห็นสิ่งที่พวกเขาสามารถคอยท่าได้. พระเยซูตรัสว่า “เวลาจะมาเมื่อบรรดาคนที่อยู่ในอุโมงค์ฝังศพจะได้ยินสำเนียงของพระองค์, และจะได้เป็นขึ้นมา.” (โยฮัน 5:28, 29) พระยะโฮวาประสงค์ให้พระบุตรของพระองค์ประทานชีวิตให้แก่คนที่ตายไปแล้ว. เด็กนับไม่ถ้วนที่เสียชีวิตไปจะ “ได้ยินสำเนียงของพระองค์” เมื่อพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เราว่าแก่เจ้าว่า, จงลุกขึ้นเถิด.” เด็ก ๆ เหล่านั้นจะกลับมาเดินไปมาและพูดคุยได้อีก. และเช่นเดียวกับญายโรและภรรยา บิดามารดาของเด็กเหล่านั้นจะ “ประหลาดอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง.”
หากคุณสูญเสียบุตรชายบุตรสาวเนื่องจากความตาย โปรดจงรู้ว่าพระยะโฮวาสามารถเปลี่ยนความทุกข์โศกของคุณให้กลายเป็นความยินดีได้โดยการกลับเป็นขึ้นจากตาย. เพื่อจะได้รับประโยชน์จากความหวังอันรุ่งโรจน์นี้ จงเชื่อฟังคำกระตุ้นเตือนของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “จงแสวงหาพระยะโฮวาและพึ่งฤทธิ์เดชของพระองค์; จงแสวงหาพระพักตร์ของพระองค์เป็นนิตย์นิรันดร์. จงระลึกถึงพระราชกิจอันประหลาดซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำนั้น, คือการอัศจรรย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 105:4, 5) ใช่แล้ว จงรับใช้พระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้และนมัสการพระองค์อย่างที่ทรงยอมรับ.
ผลจะเป็นเช่นไรในตอนนี้หากคุณ “แสวงหาพระยะโฮวา”? คุณจะได้รับการเสริมกำลังโดยการอธิษฐานทูลขอจากพระเจ้า, คุณจะรู้สึกได้รับการชูใจจากความห่วงใยรักใคร่ของเพื่อนคริสเตียนแท้, และคุณจะได้รับการเสริมสร้างโดยการศึกษาพระคำของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ คุณจะประสบด้วยตัวเองถึง ‘กิจอันน่าประหลาดและอัศจรรย์’ ที่พระยะโฮวาจะทรงกระทำเพื่อผลประโยชน์อันยั่งยืนของคุณและของลูกซึ่งคุณเสียเขาไปเนื่องด้วยความตาย.
[ภาพหน้า 5]
“ฉันอยากพบผู้หญิงที่ลูกสองคนเสียชีวิต”
คาฮินเดและบินตู สามีภรรยาชาวไนจีเรียซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาได้สูญเสียลูกสองคนไปเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์. นับแต่นั้นมา พวกเขาทนทุกข์เพราะความเจ็บปวดรวดร้าวจากความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่. กระนั้น ความวางใจในพระยะโฮวาค้ำจุนพวกเขาไว้ และพวกเขายังคงแบ่งปันข่าวสารเรื่องความหวังจากคัมภีร์ไบเบิลให้แก่เพื่อนบ้าน.
หลายคนสังเกตเห็นความสงบเยือกเย็นและความเข้มแข็งของคาฮินเดและบินตู. วันหนึ่ง สตรีคนหนึ่งชื่ออูโคลีพูดกับเพื่อนของบินตูว่า “ฉันอยากพบผู้หญิงที่ลูกสองคนเสียชีวิตพร้อมกันและก็ยังคงประกาศข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลได้. ฉันอยากรู้ว่าอะไรทำให้เธอมีพลังที่จะอดทนได้.” เมื่อบินตูมาพบอูโคลีที่บ้าน อูโคลีพูดว่า “ฉันอยากรู้ว่าทำไมคุณยังคงประกาศเกี่ยวกับพระเจ้าที่พรากลูกของคุณไป. พระเจ้าพรากลูกสาวคนเดียวไปจากฉัน. ตั้งแต่นั้นมา ฉันไม่สนใจพระเจ้าอีกเลย.” บินตูใช้คัมภีร์ไบเบิลเพื่ออธิบายเหตุผลว่าเหตุใดคนเราต้องตายและเหตุใดเราจึงมีความหวังที่แน่นอนว่าคนที่เรารักซึ่งเสียชีวิตไปจะกลับเป็นขึ้นจากตาย.—กิจการ 24:15; โรม 5:12.
หลังจากนั้น อูโคลีก็กล่าวว่า “ฉันเคยคิดว่าพระเจ้าเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเราตาย. ตอนนี้ฉันรู้ความจริงแล้ว.” เธอตกลงใจศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวาเพื่อเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคำสัญญาต่าง ๆ ของพระเจ้า.
[กรอบหน้า 6]
‘ฉันอยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร’
ขณะที่บิดามารดาและพี่ ๆ น้อง ๆ ของเด็กที่เสียชีวิตไปรู้สึกโศกเศร้าอย่างมาก เพื่อน ๆ ของพวกเขาอาจรู้สึกเป็นห่วงอยู่บ้างในเรื่องนี้. พวกเขาอยากช่วยครอบครัวนั้น แต่กลัวว่าการพูดหรือทำอะไรที่ผิดจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวนั้นแย่ลงไปอีก. นี่เป็นข้อแนะบางประการสำหรับคนที่อาจคิดว่า ‘ฉันอยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร.’
❖ อย่าหลบเลี่ยงคนที่สูญเสียลูกไปเพราะคุณไม่แน่ใจว่าจะพูดหรือทำเช่นไร. การที่คุณอยู่กับเขาก็นับเป็นการเสริมกำลังเขาอย่างมาก. คุณไม่รู้จะพูดอะไรใช่ไหม? การเข้าไปกอดและพูดอย่างจริงใจว่า “เสียใจด้วยนะ” ก็ทำให้เขารู้แล้วว่าคุณเป็นห่วงเขา. คุณกลัวไหมว่าถ้าคุณเริ่มร้องไห้ก็จะยิ่งทำให้เขาเศร้าใจมากขึ้น? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “จงร้องไห้ด้วยกันกับผู้ที่ร้องไห้.” (โรม 12:15) การที่คุณร้องไห้แสดงให้เห็นว่าคุณร่วมทุกข์โศกกับพวกเขา และนั่นแหละเป็นการปลอบโยน.
❖ จงเป็นฝ่ายริเริ่ม. คุณจะช่วยทำอาหารง่าย ๆ สำหรับครอบครัวเขาได้ไหม? คุณจะช่วยล้างจานที่กองทิ้งไว้ได้ไหม? คุณจะช่วยออกไปทำธุระให้พวกเขาได้ไหม? อย่าพูดว่า “ถ้าต้องการอะไรก็บอกฉัน.” แม้จะพูดจากใจจริง แต่สำหรับบิดามารดาหลายคนที่สูญเสียลูกไป การพูดเช่นนั้นหมายความว่าคุณมีธุระยุ่งเกินกว่าที่จะช่วยพวกเขาได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ให้พูดว่า “มีอะไรไหมที่ฉันจะช่วยคุณได้ในตอนนี้?” และทำตามที่เขาขอร้อง. แต่จงหลีกเลี่ยงการรุกล้ำที่ส่วนตัวในบ้านหรือก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขา.
❖ หลีกเลี่ยงการพูดว่า “ฉันรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร.” เราแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่างกันเมื่อคนที่เรารักเสียชีวิต. แม้คุณก็สูญเสียลูกเหมือนกัน แต่คุณไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเขารู้สึกอย่างไร.
❖ ต้องใช้เวลามากทีเดียวกว่าที่ครอบครัวเขาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ. จงช่วยเขาต่อ ๆ ไปเท่าที่คุณทำได้. ครอบครัวซึ่งสูญเสียผู้เป็นที่รักมักจะได้รับความเอาใจใส่อย่างมากในช่วงแรก ๆ แต่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือมากกว่านั้น. จงเอาใจใส่ความจำเป็นของพวกเขาในช่วงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนั้นด้วย. *
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 29 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีช่วยคนที่โศกเศร้าเพราะสูญเสียลูก โปรดดูบทที่มีชื่อเรื่องว่า “คนอื่นจะช่วยได้อย่างไร?” หน้า 20-24 ของจุลสารเมื่อคนที่คุณรักเสียชีวิต จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 7]
เรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าพระเยซูมีอำนาจที่จะให้เด็ก ๆ กลับมีชีวิตอีกและทรงปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น