ความปวดร้าวที่แสนสาหัสและไม่อาจลบเลือนได้
ความปวดร้าวที่แสนสาหัสและไม่อาจลบเลือนได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยคนหนึ่งต้องการศึกษาว่า เวลาที่ผ่านไปส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกของคนที่เป็นทุกข์เพราะสูญเสียผู้เป็นที่รักเนื่องด้วยความตาย. เขาส่งแบบสอบถามให้แก่บิดามารดาจำนวนหนึ่งซึ่งบุตรเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน. บิดามารดาบางรายไม่ยอมตอบแบบสอบถามนี้. วลาดิเมียร์บิดาคนหนึ่งซึ่งลูกชายเสียชีวิตไปเมื่อห้าปีที่แล้วอธิบายว่า เขายังคงทำใจไม่ได้ที่จะพูดถึงลูกชายของเขา. *
ความโศกเศร้าที่ไม่จางหายไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับคนที่สูญเสียผู้เป็นที่รัก. สิบปีที่แล้ว ลูกชายวัย 18 ปีของวิลเลียมจมน้ำตาย. วิลเลียมเขียนว่า “ความปวดร้าวเนื่องจากการสูญเสียครั้งนั้นยังคงติดอยู่ในใจผม และมันจะคงอยู่อย่างนั้นตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่.” ห้าปีหลังจากลูซีสูญเสียลูกชายเนื่องจากความเจ็บป่วยที่ไม่ได้คาดคิด เธอเขียนว่า “สองสามวันแรกดิฉันได้แต่คิดว่า ‘มันไม่จริง.’ ดิฉันรู้สึกว่าเป็นแค่ฝันร้ายและเดี๋ยวก็คงตื่น. เมื่อเวลาผ่านไปดิฉันเริ่มตระหนักว่านี่เป็นความจริง และเขาจะไม่กลับมาอีกแล้ว. ลูกชายของดิฉันเสียชีวิตไปห้าปีแล้ว แต่บางครั้ง เมื่อดิฉันอยู่คนเดียว ดิฉันยังคงร้องไห้คิดถึงเขา.”
เหตุใดบิดามารดาที่ต้องประสบความสูญเสีย เช่น วลาดิเมียร์, วิลเลียม, และลูซี จึงรู้สึกปวดร้าวแสนสาหัสอย่างที่ไม่อาจลบเลือนได้เช่นนี้? ให้เราพิจารณาเหตุผลบางประการ.
เหตุใดจึงเสียใจมากเหลือเกิน?
เมื่อมีทารกน้อยเกิดมาในครอบครัว บิดามารดาได้สัมผัสถึงความรู้สึกที่ไม่อาจพบได้ในสัมพันธภาพอื่น ๆ ของมนุษย์. แค่ได้อุ้มทารกน้อย, จ้องมองขณะเขาหลับ, หรือได้เห็นเขายิ้มกว้างก็ทำให้พ่อแม่มีความสุขและพอใจอย่างเหลือล้น. บิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงลูกของตน. พวกเขาฝึกสอนลูกให้มีความประพฤติที่ดีและสุภาพเรียบร้อย. (1 เธซะโลนิเก 2:7, 11) เมื่อลูกเติบโตขึ้นและตอบรับความพยายามของพ่อแม่ พวกท่านก็รู้สึกภูมิใจและเริ่มสร้างความหวังอันยิ่งใหญ่ในตัวลูก ๆ.
บิดามารดาที่ใส่ใจลูก ๆ ของตนบากบั่นจัดเตรียมสิ่งจำเป็นไว้ให้ลูกของตน. พวกท่านอาจกันเงินหรือทรัพย์สินอื่นไว้เป็นประจำเพื่อจะสามารถช่วยลูกเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของพวกเขาเองในวันข้างหน้า. (2 โกรินโธ 12:14) การเสียสละอย่างมากมายทั้งด้าน อารมณ์, เวลา, ความพยายาม, และเงินทองทำให้ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า บิดามารดาเลี้ยงดูลูกของตนให้มีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เพื่อให้ตาย. เมื่อลูกเสียชีวิต การเลี้ยงดูลูกจึงหยุดชะงักและความหวังของพ่อแม่ก็พังทลาย. ความรักใคร่อันอบอุ่นที่บิดามารดามีต่อลูก ๆ อย่างไม่ขาดสายเป็นอันสิ้นสุดลง ถูกกำแพงแห่งความตายมาขวางกั้น. หัวใจที่เคยมีลูกชายหรือลูกสาวบัดนี้กลับว่างเปล่า. ความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจแสนสาหัสของบิดามารดาจึงไม่อาจจางหายไปได้ง่าย ๆ.
คัมภีร์ไบเบิลยืนยันว่า บิดามารดาที่สูญเสียลูกต้องแบกรับความปวดร้าวใจอย่างหนักและยากที่จะลืมเลือนได้. คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้นกับยาโคบปฐมบรรพบุรุษเมื่อได้ยินว่าโยเซฟบุตรชายถูกฆ่าดังนี้: “ยาโคบก็ฉีกเสื้อผ้าของตนเสีย, และนุ่งผ้าเนื้อหยาบ, ร้องไห้โศกเศร้าถึงบุตรอยู่หลายวัน. ฝ่ายบุตรชายหญิงทั้งปวงก็พากันมาเล้าโลมบิดา; แต่ท่านกลั้นความโศกเศร้าไว้มิได้; จึงกล่าวว่า, ‘เราจะโศกเศร้าถึงบุตรของเรากว่าเราจะลงในที่ฝังศพตามกันไป.’ ” หลายปีต่อมา ยาโคบยังคงโศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียบุตรชายซึ่งท่านคิดว่าตายไปแล้ว. (เยเนซิศ 37:34, 35; 42:36-38) อีกตัวอย่างหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวข้องกับสตรีผู้ซื่อสัตย์ชื่อนาอะมีซึ่งสูญเสียลูกชายสองคนเนื่องจากความตาย. ด้วยความโศกเศร้าสุดประมาณ เธอต้องการให้เปลี่ยนชื่อเดิมจากนาอะมีซึ่งหมายถึง “ความสุขของฉัน” เป็น มารา ซึ่งหมายถึง “ขม.”—ประวัตินางรูธ 1:3-5, 20, 21.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่เพียงแต่ยอมรับความทุกข์โศกเศร้าของบิดามารดาเท่านั้น. คัมภีร์ไบเบิลยังบ่งชี้วิธีที่พระยะโฮวาทรงเสริมกำลังผู้โศกเศร้า. ในบทความถัดไปเราจะพิจารณาบางวิธีที่พระเจ้าทรงชูใจบรรดาผู้ที่เศร้าโศกเสียใจ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อเป็นนามสมมุติ.