อย่าพรากสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงผูกพันไว้แล้ว
อย่าพรากสิ่งซึ่งพระเจ้าทรงผูกพันไว้แล้ว
“เขาจึงไม่เป็นสองต่อไป, แต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน. เหตุฉะนั้นซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”—มัดธาย 19:6.
1, 2. เหตุใดจึงเป็นการมองตามความเป็นจริงและสอดคล้องกับพระคัมภีร์ที่จะคาดหมายว่าคู่สมรสจะประสบปัญหาบ้างในบางครั้ง?
ลองนึกภาพดูว่าคุณกำลังจะออกเดินทางไกลด้วยรถยนต์. คุณจะพบกับปัญหาระหว่างเดินทางไหม? คงไม่ฉลาดหากคิดว่าจะไม่พบปัญหาเลย! ตัวอย่างเช่น คุณอาจเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้จำเป็นต้องผ่อนความเร็วลงและขับต่อไปด้วยความระมัดระวัง. เมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง คุณอาจพบกับปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องที่เกินความสามารถของคุณจะซ่อมได้ ทำให้คุณต้องจอดรถข้างทางและหาคนมาช่วย. สถานการณ์เช่นนั้นควรทำให้คุณลงความเห็นว่าเป็นเรื่องผิดพลาดที่จะเริ่มออกเดินทางและน่าจะทิ้งรถยนต์คันนั้นเสียไหม? ไม่เลย. เมื่อเดินทางไกล คุณคาดหมายไว้อยู่แล้วว่าอาจเกิดปัญหาบางอย่างและมองหาทางรับมือกับปัญหาเหล่านั้นอย่างสุขุม.
2 เป็นจริงอย่างนั้นด้วยกับการสมรส. ปัญหาเป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงให้พ้นได้ และคงไม่ฉลาดหากหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะสมรสกันคาดหวังชีวิตสมรสที่มีแต่ความสุข. ที่ 1 โกรินโธ 7:28 (ล.ม.) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าสามีและภรรยาจะมี “ความลำบากในเนื้อหนังของตน.” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ตอบง่าย ๆ ได้ว่า เพราะทั้งสามีและภรรยาเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และเรากำลังมีชีวิตอยู่ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; โรม 3:23) ด้วยเหตุนั้น แม้แต่คู่สมรสที่มีทัศนะฝ่ายวิญญาณดีและเข้ากันได้ดีก็จะพบกับปัญหาบ้างในบางครั้ง.
3. (ก) หลายคนในโลกมองการสมรสอย่างไร? (ข) เหตุใดคริสเตียนพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาสายสมรสของตน?
3 ในโลกสมัยปัจจุบัน เมื่อคู่สมรสบางคู่ประสบปัญหา ปฏิกิริยาแรกของพวกเขาคือยุติสายสมรส. ในหลายดินแดน อัตราการหย่าร้างกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนแท้จัดการกับปัญหาแทนที่จะวิ่งหนีปัญหา. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขาถือว่าการสมรสเป็นของประทานอันศักดิ์สิทธิ์จากพระยะโฮวา. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับคู่สมรสว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.” (มัดธาย 19:6) จริงอยู่ การดำเนินชีวิตตามมาตรฐานดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. ตัวอย่างเช่น ญาติ ๆ หรือคนอื่น ๆ—รวมทั้งผู้ให้คำปรึกษาด้านการสมรสบางคน—ที่ไม่ยอมรับหลักการในคัมภีร์ไบเบิลบ่อยครั้งสนับสนุนคู่สมรสให้แยกกันอยู่หรือหย่าขาดกันด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. * แต่คริสเตียนทราบว่าดีกว่ามากที่จะฟื้นฟูและรักษาสายสมรสไว้แทนที่จะด่วนตัดสายสัมพันธ์ให้ขาดสะบั้น. ที่จริง นับว่าสำคัญที่ตั้งแต่แรกเลยทีเดียวเราตั้งใจแน่วแน่จะทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระยะโฮวา—ไม่ใช่ตามคำแนะนำของคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง.—สุภาษิต 14:12.
การเอาชนะปัญหายุ่งยาก
4, 5. (ก) ปัญหาอะไรบ้างที่คงต้องประสบในชีวิตสมรส? (ข) เหตุใดหลักการที่พบในพระคำของพระเจ้าใช้ได้ผลจริงแม้แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชีวิตสมรส?
4 เป็นความจริงที่ว่าชีวิตสมรสทุกคู่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อแก้ปัญหาในบางครั้ง. ในกรณีส่วนใหญ่ นั่นเกี่ยวข้องกับการจัดการกับการไม่เห็นพ้องต้องกันเล็ก ๆ น้อย ๆ. แต่กับคู่สมรสบางคู่ อาจมีปัญหารุนแรงกว่านั้นซึ่งคุกคามรากฐานความสัมพันธ์ของทั้งสอง. บางครั้ง คุณอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคริสเตียนผู้ปกครองที่มีประสบการณ์ในชีวิตสมรส. อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าชีวิตสมรสของคุณล้มเหลว.
เหตุการณ์ดังกล่าวเพียงแต่เน้นให้เห็นความสำคัญของการยึดมั่นอย่างใกล้ชิดกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิลในการแก้ปัญหา.5 ในฐานะพระผู้สร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์และผู้ก่อตั้งการสมรส พระยะโฮวาทรงทราบดียิ่งกว่าใคร ๆ ในเรื่องสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำเพื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิตสมรส. ปัญหาก็คือ เราจะฟังคำแนะนำที่พบในพระคำของพระองค์และปฏิบัติตามไหม? เราจะได้ประโยชน์แน่นอนหากเราทำอย่างนั้น. พระยะโฮวาตรัสกับประชาชนของพระองค์ในสมัยโบราณว่า “โอ้ถ้าเจ้าได้เชื่อฟังคำสั่งของเราแล้ว, ความเจริญของเจ้าก็จะเป็นดังแม่น้ำไหล, และความชอบธรรมของเจ้าก็จะมีบริบูรณ์ดังคลื่นในมหาสมุทร.” (ยะซายา 48:18) การยึดมั่นกับแนวทางที่ชี้นำเราในคัมภีร์ไบเบิลสามารถนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิตสมรส. ให้เรามาพิจารณาคำแนะนำที่คัมภีร์ไบเบิลให้แก่สามีก่อน.
“จงรักภรรยาของตนเสมอ”
6. มีคำแนะนำอะไรในพระคัมภีร์สำหรับสามี?
6 จดหมายของอัครสาวกเปาโลที่ส่งไปถึงชาวเอเฟโซส์มีคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับสามี. เปาโลเขียนว่า “สามีทั้งหลาย จงรักภรรยาของตนเสมออย่างที่พระคริสต์ทรงรักประชาคมและได้สละพระองค์เองเพื่อประชาคม. โดยวิธีนี้สามีทั้งหลายจึงควรรักภรรยาของตนเหมือนรักร่างกายของตนเอง. ผู้ที่รักภรรยาของตนก็รักตัวเอง เพราะไม่มีชายคนใดเคยเกลียดชังเนื้อหนังของตนเอง; แต่เขาเลี้ยงดูและทะนุถนอมเนื้อหนังนั้น ดังที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำกับประชาคม. ถึงอย่างไรก็ตาม ให้พวกท่านทุกคนต่างก็รักภรรยาของตนเหมือนรักตัวเอง.”—เอเฟโซ 5:25, 28, 29, 33, ล.ม.
7. (ก) อะไรควรเป็นส่วนเด่นในรากฐานการสมรสของคริสเตียน? (ข) สามีจะรักภรรยาของตนเสมอโดยวิธีใด?
7 เปาโลไม่ได้พิจารณาปัญหาทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างสามีกับภรรยา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ท่านเข้าถึงแก่นแท้ของเรื่องโดยระบุลงไปว่าอะไรควรเป็นส่วนเด่นในรากฐานการสมรสของคริสเตียนทุกคู่ ซึ่งก็คือความรัก. ที่จริง มีการกล่าวถึงความรักถึงเจ็ดครั้งในข้อพระคัมภีร์ที่เพิ่งยกขึ้นมา. โปรดสังเกตด้วยว่า เปาโลบอกกับสามีว่า “จงรักภรรยาของตนเสมอ.” ไม่ต้องสงสัย เปาโลตระหนักว่าการตกหลุมรักดูเหมือนว่าง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับการรักษาความรักเอาไว้. เป็นเช่นนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “สมัยสุดท้าย” นี้ เมื่อหลายคนเป็น “คนรักตัวเอง” และ “ไม่ยอมตกลงกัน.” (2 ติโมเธียว 3:1-3, ล.ม.) ลักษณะอันไม่พึงปรารถนาเช่นนั้นกำลังเซาะกร่อนการสมรสหลายรายในทุกวันนี้ แต่สามีที่มีความรักจะไม่ปล่อยให้นิสัยอันเห็นแก่ตัวของโลกนี้มีอิทธิพลเหนือความคิดและการกระทำของเขา.—โรม 12:2.
คุณจะเลี้ยงดูภรรยาได้โดยวิธีใด?
8, 9. สามีคริสเตียนเลี้ยงดูภรรยาในทางใดบ้าง?
8 หากคุณเป็นสามีคริสเตียน คุณจะต้านทานแนวโน้มอันเห็นแก่ตัวและแสดงความรักแท้ต่อภรรยาได้โดยวิธีใด? ในถ้อยคำที่เขียนไปถึง1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.
ชาวเอเฟโซส์ซึ่งยกขึ้นมากล่าวก่อนหน้านี้ เปาโลระบุสองสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ—เลี้ยงดูหรือดูแลความจำเป็นของภรรยา และทะนุถนอมเธอเหมือนที่คุณปฏิบัติต่อตัวเอง. คุณจะเลี้ยงดูคู่สมรสได้โดยวิธีใด? วิธีหนึ่งคือทางด้านวัตถุ กล่าวคือการเอาใจใส่ความจำเป็นของภรรยาด้านร่างกาย. เปาโลเขียนถึงติโมเธียวว่า “ถ้าแม้นผู้ใดไม่เลี้ยงดูคนเหล่านั้นซึ่งเป็นของตนเอง และโดยเฉพาะคนเหล่านั้นซึ่งเป็นสมาชิกแห่งครอบครัวของตน ผู้นั้นก็ได้ปฏิเสธเสียซึ่งความเชื่อและนับว่าเลวร้ายกว่าคนที่ไม่มีความเชื่อเสียด้วยซ้ำ.”—9 อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงดูไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การจัดหาอาหาร, เสื้อผ้า, และที่อยู่อาศัย. เพราะเหตุใด? เพราะสามีบางคนอาจสามารถจัดหาสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ด้านวัตถุให้ภรรยาอย่างเหลือเฟือ แต่ถึงกระนั้นก็อาจไม่ได้สนองความจำเป็นด้านอารมณ์และด้านวิญญาณของภรรยา. การเอาใจใส่ดูแลเธอในสองแนวทางหลังนี้นับว่าสำคัญมาก. จริงอยู่ ชายคริสเตียนหลายคนมีงานยุ่งมากในการดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชาคม. แต่การมีหน้าที่รับผิดชอบหนักในประชาคมไม่ได้หมายความว่าสามีจะละเลยการทำตามพันธะที่พระเจ้าประทานแก่เขาได้ในฐานะประมุขครอบครัว. (1 ติโมเธียว 3:5, 12) หลายปีมาแล้ว วารสารนี้ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เพื่อให้ลงรอยกับข้อเรียกร้องตามหลักคัมภีร์ไบเบิล จึงกล่าวได้ว่า ‘การบำรุงเลี้ยงเริ่มขึ้นที่บ้าน.’ ถ้าผู้ปกครองละเลยครอบครัว เขาก็อาจเสียตำแหน่งที่เขาได้รับการแต่งตั้งก็ได้.” * เห็นได้ชัด จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเลี้ยงดูภรรยา—ด้านร่างกาย, อารมณ์, และที่สำคัญที่สุด ด้านวิญญาณ.
การทะนุถนอมภรรยาหมายความอย่างไร?
10. สามีจะทะนุถนอมภรรยาได้โดยวิธีใด?
10 หากคุณทะนุถนอมภรรยา คุณจะดูแลเธอเป็นอย่างดีเพราะคุณรักเธอ. มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำอย่างนี้ได้. ประการแรก จงใช้เวลาอยู่กับคู่ของคุณให้มากพอ. หากคุณละเลยภรรยาของคุณในเรื่องนี้ นานเข้าความรักที่เธอมีต่อคุณก็อาจเย็นลง. ขอให้คำนึงถึงด้วยว่า เวลาและการเอาใจใส่ที่คุณคิดว่าได้ให้ตามที่ภรรยาจำเป็นต้องได้รับจากคุณแล้วอาจยังไม่มากพอในความรู้สึกของภรรยา. คุณไม่อาจเพียงแต่พูดว่าคุณทะนุถนอมคู่สมรสของคุณ. ภรรยาของคุณต้องรู้สึกว่าคุณทะนุถนอมเธอ. เปาโลเขียนดังนี้: “ให้แต่ละคนแสวงหาอยู่เสมอ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตนเอง แต่ของผู้อื่น.” (1 โกรินโธ 10:24, ล.ม.) ในฐานะสามีที่เปี่ยมด้วยความรัก คุณต้องการตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจความจำเป็นที่แท้จริงของภรรยา.—ฟิลิปปอย 2:4.
11. วิธีที่สามีปฏิบัติต่อภรรยาส่งผลกระทบอย่างไรต่อสายสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระเจ้าและกับประชาคม?
11 อีกวิธีที่ทำให้เห็นว่าคุณทะนุถนอมภรรยาคือโดยปฏิบัติต่อเธออย่างอ่อนโยน ทั้งทางคำพูดและการกระทำ. (สุภาษิต 12:18) เปาโลเขียนถึงชาวโกโลซายดังนี้: “ฝ่ายสามีก็จงรักภรรยาของตน, และอย่าพูดคำขมขื่นต่อนาง.” (โกโลซาย 3:19) ตามที่หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าว ส่วน หลังของคำพูดของเปาโลอาจแปลเป็นสำนวนได้ว่า “อย่าปฏิบัติต่อเธอเยี่ยงสาวใช้” หรือ “อย่าใช้เธอเยี่ยงทาส.” สามีที่กดขี่—ไม่ว่าทำในที่ส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ—ย่อมไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเขาทะนุถนอมภรรยาอย่างแน่นอน. การปฏิบัติต่อภรรยาอย่างโหดร้าย ย่อมทำให้สายสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้าเสียหาย. อัครสาวกเปโตรเขียนถึงคนที่เป็นสามีว่า “จงอยู่กับ [ภรรยา] ต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรตินางเหมือนภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง เนื่องจากท่านทั้งหลายก็เป็นผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับนาง เพื่อคำอธิษฐานของท่านจะไม่ถูกขัดขวาง.” *—1 เปโตร 3:7, ล.ม.
12. สามีคริสเตียนสามารถเรียนอะไรได้จากวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อประชาคมคริสเตียน?
12 อย่าได้ถือว่าความรักที่ภรรยามีต่อคุณเป็นสิ่งที่ได้รับโดยอัตโนมัติ. จงยืนยันให้เธอมั่นใจว่าคุณรักเธอเสมอ. พระเยซูทรงวางตัวอย่างไว้สำหรับสามีคริสเตียนในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อประชาคมคริสเตียน. พระองค์ทรงอ่อนสุภาพ, กรุณา, และให้อภัย—แม้แต่เมื่อเหล่าสาวกแสดงลักษณะนิสัยที่ไม่พึงปรารถนาครั้งแล้วครั้งเล่า. พระเยซูจึงทรงสามารถตรัสกับผู้อื่นว่า “จงมาหาเรา . . . เพราะว่าใจเราอ่อนสุภาพ, และท่านทั้งหลายจะได้ความสุขสำราญ [“สดชื่น,” ล.ม.] ในใจของตน.” (มัดธาย 11:28, 29) ในการทำตามแบบอย่างของพระเยซู สามีคริสเตียนปฏิบัติต่อภรรยาในลักษณะเดียวกับที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อประชาคม. ผู้ชายที่ทะนุถนอมภรรยาของตนอย่างแท้จริง โดยแสดงออกอย่างนั้นทางคำพูดและการกระทำ จะเป็นแหล่งที่ให้ความสดชื่นอย่างแท้จริงแก่ภรรยา.
ภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามหลักการในคัมภีร์ไบเบิล
13. หลักการอะไรในคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยภรรยาได้?
13 คัมภีร์ไบเบิลยังมีหลักการที่สามารถช่วยภรรยาด้วย. เอเฟโซ 5:22-24, 33 (ล.ม.) กล่าวว่า “จงให้ภรรยาทั้งหลายยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของตนเหมือนกระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าสามีเป็นประมุขของภรรยาของตนเหมือนพระคริสต์เป็นประมุขของประชาคมด้วย โดยที่พระองค์เป็นผู้ทรงช่วยคณะนั้นให้รอด. ที่จริง ประชาคมอยู่ใต้อำนาจพระคริสต์ฉันใด ก็จงให้ภรรยาอยู่ใต้อำนาจสามีของตนในทุกสิ่งเหมือนกันฉันนั้น. . . . ภรรยาก็ควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.”
14. เหตุใดหลักการในพระคัมภีร์เรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจไม่ได้ทำให้ผู้หญิงเสื่อมเสียเกียรติ?
14 โปรดสังเกตว่าเปาโลเน้นเรื่องการยอมอยู่ใต้อำนาจและการแสดงความนับถือ. ภรรยาได้รับการเตือนให้นึกถึงการยอมอยู่ใต้อำนาจของสามี. เรื่องนี้สอดคล้องกับการจัดเตรียมของพระเจ้า. สิ่งทรงสร้างทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกอยู่ใต้อำนาจผู้ใดผู้หนึ่ง. แม้แต่พระเยซูก็ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระยะโฮวาพระเจ้า. (1 โกรินโธ 11:3) แน่นอน สามีที่ใช้ความเป็นประมุขในวิธีที่ถูกต้องย่อมทำให้ง่ายขึ้นที่ภรรยาจะยอมอยู่ใต้อำนาจเรื่อยไป.
15. มีคำแนะนำอะไรบ้างสำหรับภรรยาที่พบในคัมภีร์ไบเบิล?
15 เปาโลยังกล่าวด้วยว่าภรรยา “ควรแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อสามีของตน.” ภรรยาคริสเตียนควรแสดง “น้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยน” ไม่ท้าทายอำนาจของสามีอย่างโอหังหรือดำเนินในแนวทางที่ไม่ขึ้นกับใคร. (1 เปโตร 3:4, ล.ม.) ภรรยาที่เกรงกลัวพระเจ้าทำงานหนักเพื่อสวัสดิภาพ ของครอบครัวและทำให้ประมุขของเธอได้รับเกียรติ. (ติโต 2:4, 5) เมื่อพูดถึงสามีเธอจะพยายามพูดในแง่ดี และเมื่อเป็นอย่างนั้นจึงไม่ได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้คนอื่นไม่นับถือเขา. นอกจากนั้น เธอจะพยายามอย่างแท้จริงเพื่อสนับสนุนให้การตัดสินใจต่าง ๆ ของเขาประสบผลสำเร็จ.—สุภาษิต 14:1.
16. ภรรยาคริสเตียนอาจเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของซาราห์และริบะคา?
16 การมีน้ำใจสงบเสงี่ยมและอ่อนโยนไม่ได้หมายความว่าสตรีคริสเตียนไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นหรือความคิดเห็นของเธอไม่สำคัญ. สตรีที่เกรงกลัวพระเจ้าในครั้งโบราณ เช่น ซาราห์และริบะคา เป็นฝ่ายเริ่มต้นแสดงความเป็นห่วงในเรื่องต่าง ๆ และบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงเห็นชอบกับการกระทำของพวกเธอ. (เยเนซิศ 21:8-12; 27:46–28:4) ภรรยาคริสเตียนก็สามารถเผยความรู้สึกให้สามีทราบด้วยเหมือนกัน. อย่างไรก็ตาม เธอควรทำเช่นนั้นโดยนึกถึงความรู้สึกของสามี ไม่ใช่โดยใช้น้ำเสียงที่หลู่เกียรติ. เธอคงจะพบว่าการสื่อความเช่นนั้นกับสามีได้รับการตอบรับอย่างน่าพอใจมากขึ้น.
บทบาทของข้อผูกมัด
17, 18. มีวิธีใดบ้างที่สามีและภรรยาสามารถต้านทานการล่อใจจากซาตานที่มุ่งทำลายสายสัมพันธ์ในชีวิตสมรส?
17 การสมรสเป็นข้อผูกมัดชั่วชีวิต. ด้วยเหตุนั้น ทั้งสามีและภรรยาควรมีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะช่วยกันทำให้ชีวิตสมรสประสบความสำเร็จ. การขาดการสื่อความกันอย่างตรงไปตรงมาอาจทำให้ปัญหากลายเป็นเหมือนแผลกลัดหนองและลุกลามร้ายแรงได้. บ่อยครั้งเหลือเกินที่คู่สมรสเลิกพูดคุยกันเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความขุ่นเคือง. สามีหรือภรรยาบางคนอาจถึงกับมองหาทางยุติสายสัมพันธ์ โดยอาจหันไปให้ความสนใจฉันชู้สาวกับคนอื่นที่อยู่นอกสายสมรส. พระเยซูทรงเตือนดังนี้: “ผู้ใดแลดูผู้หญิงด้วยใจกำหนัดในหญิงนั้น, ผู้นั้นได้ล่วงประเวณีในใจกับหญิงนั้นแล้ว.”—มัดธาย 5:28.
18 อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำแก่คริสเตียนทั้งสิ้นรวมถึงคริสเตียนที่สมรสแล้วว่า “โกรธเถิด, แต่อย่าให้เป็นการบาป อย่าให้ถึงตะวันตกท่านยังโกรธอยู่ และอย่าให้มารมีโอกาสได้.” (เอเฟโซ 4:26, 27) ศัตรูตัวสำคัญของเรา คือซาตาน พยายามฉวยโอกาสจากความไม่ลงรอยกันที่อาจเกิดขึ้นในท่ามกลางคริสเตียน. อย่ายอมให้มันประสบความสำเร็จ! เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น จงค้นดูว่าคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้เช่นไรเกี่ยวกับทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องนั้น โดยใช้หนังสือต่าง ๆ ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. พิจารณาเรื่องที่ขัดแย้งกันด้วยใจเย็น ๆ และอย่างจริงใจ. ปฏิบัติสอดคล้องกับสิ่งที่คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานของพระยะโฮวา. (ยาโกโบ 1:22-25) ในเรื่องชีวิตสมรสของคุณ จงตั้งใจแน่วแน่จะดำเนินต่อ ๆ ไปกับพระเจ้าในฐานะคู่สมรส และอย่าให้ใครหรือสิ่งใดมาทำให้สายสัมพันธ์ที่พระเจ้าได้ผูกพันไว้ต้องขาดจากกัน!—มีคา 6:8.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 โปรดดูกรอบ “การหย่าและการแยกกันอยู่” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 2002 หน้า 10 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
^ วรรค 9 ดูหอสังเกตการณ์ 15 พฤษภาคม 1989 หน้า 17.
^ วรรค 11 เพื่อผู้ชายคนหนึ่งคนใดจะมีคุณวุฒิสำหรับสิทธิพิเศษในประชาคมคริสเตียน เขาต้องไม่เป็น “นักเลงหัวไม้” ซึ่งหมายถึงคนที่ทุบตีหรือข่มขู่ผู้อื่นด้วยวาจา. ด้วยเหตุนั้น หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1990 กล่าวไว้ในหน้า 25 ว่า “ชายไม่มีคุณวุฒิเหมาะแก่หน้าที่ถ้าเขาประพฤติถูกต้องดีงาม ณ ที่อื่นแต่เป็นคนเกรี้ยวกราดที่บ้านของตน.”—1 ติโมเธียว 3:2-5, 12.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดแม้แต่ชีวิตสมรสของคริสเตียนก็อาจประสบกับปัญหาต่าง ๆ?
• สามีจะเลี้ยงดูภรรยาและแสดงให้เห็นว่าเขาทะนุถนอมเธอได้โดยวิธีใด?
• ภรรยาสามารถทำเช่นไรเพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอนับถือสามีอย่างสุดซึ้ง?
• สามีและภรรยาจะทำให้ข้อผูกมัดระหว่างเขาทั้งสองมั่นคงยิ่งขึ้นได้โดยวิธีใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 20]
สามีควรเป็นผู้เลี้ยงดูที่ดีไม่เฉพาะด้านวัตถุ แต่ด้านวิญญาณด้วย
[ภาพหน้า 21]
ชายที่ทะนุถนอมภรรยาของตนเป็นแหล่งที่ให้ความสดชื่นแก่ภรรยา
[ภาพหน้า 23]
ภรรยาคริสเตียนเผยความรู้สึกให้สามีทราบด้วยวิธีที่แสดงความนับถือ