คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเล่มแรกเรื่องราวของความบากบั่นพากเพียร
คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเล่มแรกเรื่องราวของความบากบั่นพากเพียร
“ผู้ที่บากบั่นพากเพียรย่อมประสบซึ่งความสำเร็จ.” คำขวัญนี้ปรากฏอยู่บนใบปลิวเกี่ยวกับศาสนาที่เขียนโดย ชวน เฟเรรา ดิ อัลเมดาเมื่อศตวรรษที่ 17. คงไม่มีคำพรรณนาใดที่เหมาะกว่านี้สำหรับชายคนหนึ่งที่ได้อุทิศชีวิตของเขาเพื่อการแปลและการพิมพ์เผยแพร่คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกส.
อัลเมดาเกิดเมื่อปี 1628 ที่หมู่บ้านตอร์รี ดิ ตาวาเรส ทางเหนือของโปรตุเกส. เขาเป็นเด็กกำพร้าและถูกเลี้ยงดูที่ลิสบอน เมืองหลวงของประเทศโปรตุเกสโดยอาซึ่งเป็นนักบวช. ตามที่เชื่อกัน ระหว่างที่เขาถูกเตรียมให้เป็นนักบวช อัลเมดาได้รับการศึกษาที่ดีเยี่ยม ซึ่งช่วยให้เขามีความสามารถด้านภาษามากเป็นพิเศษตั้งแต่อายุยังน้อย.
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนอัลเมดาจะไม่ได้ใช้พรสวรรค์ที่เขามีเพื่อแปลคัมภีร์ไบเบิลตอนที่ยังอยู่ในโปรตุเกส. ขณะที่การปฏิรูปทำให้คัมภีร์ไบเบิลภาษาต่าง ๆ แพร่หลายไปทั่วยุโรปตอนเหนือและตอนกลาง โปรตุเกสก็ยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาลศาสนาคาทอลิกอย่างเหนียวแน่น. หากใครเพียงแต่มีคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งในภาษาที่ใช้กันทั่วไปอยู่ในครอบครอง คนนั้นก็อาจถูกบังคับให้ไปขึ้นศาลศาสนา. *
เป็นไปได้ว่าเขาถูกกระตุ้นโดยความปรารถนาที่จะหนีจากบรรยากาศที่กดขี่ อัลเมดาจึงย้ายไปเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น. หลังจากนั้นไม่นาน เมื่ออายุเพียง 14 ปี เขาได้ลงเรือมายังเอเชีย โดยผ่านปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือจาการ์ตา) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางการบริหารงานของบริษัทดัตช์ อีสต์ อินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.
ผู้แปลวัยเยาว์
ในช่วงท้ายของการเดินทางมาเอเชีย อัลเมดาได้พบสิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา. เมื่อเรือ1 โกรินโธ 14:9.
แล่นมาอยู่ระหว่างปัตตาเวียกับมาลักกา (ปัจจุบันคือมะละกา) ทางตะวันตกของมาเลเซีย เขาก็บังเอิญได้พบแผ่นพับของโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นภาษาสเปน ชื่อว่า ดิเฟเรนซียาส เด ลา คริสเตียนดาด (ความแตกต่างในคริสต์ศาสนจักร). แผ่นพับนั้นนอกจากจะโจมตีหลักคำสอนเท็จของคาทอลิกแล้วก็ยังมีข้อความหนึ่งที่ประทับใจเด็กหนุ่มอัลเมดาเป็นพิเศษ นั่นคือ “การใช้ภาษาที่ไม่มีใครรู้จักในโบสถ์ แม้จะทำเพื่อพระรัศมีแห่งพระเจ้า ก็หาได้มีประโยชน์อันใดไม่สำหรับผู้ฟังที่ไม่อาจเข้าใจได้.”—อัลเมดาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า วิธีเดียวที่จะเปิดโปงความผิดทางศาสนาได้ก็คือการทำให้คัมภีร์ไบเบิลเป็นที่เข้าใจได้สำหรับทุกคน. เมื่อมาถึงมาลักกา เขาก็เปลี่ยนมานับถือนิกายดัตช์ รีฟอร์มและเริ่มแปลส่วนต่าง ๆ ของพระธรรมกิตติคุณจากภาษาสเปนเป็นภาษาโปรตุเกสทันที แล้วแจกจ่ายกันในหมู่ “ผู้ที่แสดงความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะรู้ความจริง.” *
สองปีต่อมา อัลเมดาก็พร้อมสำหรับงานที่ใหญ่กว่านั้นอีก นั่นคือการแปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกครบชุดจากฉบับวัลเกตซึ่งเป็นภาษาละติน. เขาทำงานเสร็จภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งอย่างยิ่งสำหรับคนอายุ 16 ปี! ด้วยความกล้าหาญ เขาได้ส่งสำเนาพระคัมภีร์ที่เขาแปลไปให้ข้าหลวงใหญ่ชาวดัตช์ในปัตตาเวียเพื่อให้ช่วยพิมพ์เผยแพร่. ดูเหมือนว่า คริสตจักรรีฟอร์มในปัตตาเวียได้ส่งสำเนาต้นฉบับของเขาต่อไปยังอัมสเตอร์ดัม แต่นักเทศน์ชราผู้ได้รับสำเนาพระคัมภีร์นั้นได้เสียชีวิตลง ผลงานของอัลเมดาจึงสาบสูญไป.
เมื่อได้รับการขอให้ทำสำเนาฉบับหนึ่งเพื่อมอบให้แก่คริสตจักรรีฟอร์มในซีลอน (ปัจจุบันคือศรีลังกา) ในปี 1651 อัลเมดาจึงได้พบว่าต้นฉบับได้หายไปจากคลังเอกสารของคริสตจักร. แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ เขาหาสำเนาฉบับหนึ่งเจอจนได้ ซึ่งอาจเป็นต้นร่างฉบับแรก และในปีต่อมาก็แปลฉบับปรับปรุงแก้ไขของกิตติคุณทั้งสี่กับพระธรรมกิจการแล้วเสร็จ. สภาราชาคณะ *แห่งปัตตาเวียได้ให้เงิน 30 กิลเดอร์แก่เขาเป็นรางวัล. เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของอัลเมดาเขียนไว้ว่า เงินนั้น “เป็นเงินจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับงานยิ่งใหญ่ที่เขาทำไป.”
ถึงแม้ไม่มีใครเห็นค่างานที่เขาทำ แต่อัลเมดาก็ยังทำงานต่อไป และได้เสนอพันธสัญญาใหม่ครบชุดฉบับปรับปรุงแก้ไขของเขาในปี 1654. อีกครั้งหนึ่งได้มีการพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะพิมพ์เผยแพร่พระคัมภีร์ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมนอกเหนือจากการคัดลอกสำเนาไม่กี่ฉบับด้วยมือเพื่อใช้ในโบสถ์บางแห่งเท่านั้น.
ถูกศาลศาสนากล่าวโทษ
ในช่วงทศวรรษถัดมา อัลเมดาง่วนอยู่กับการดูแลสมาชิกของโบสถ์และงานมิชชันนารีของคริสตจักรรีฟอร์ม. เขาได้รับแต่งตั้งเป็นศิษยาภิบาลในปี 1656 และทำหน้าที่ในซีลอนเป็นแห่งแรก ซึ่งที่นั่นเขารอดจากการถูกช้างเหยียบอย่างหวุดหวิด และต่อมาก็ย้ายไปยังอินเดีย โดยอยู่ในกลุ่มมิชชันนารีโปรเตสแตนต์รุ่นแรกที่เข้าไปในประเทศนั้น.
อัลเมดาเป็นผู้เปลี่ยนมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์และทำงานเผยแพร่อยู่ในต่างประเทศ. ฉะนั้น ชุมชนที่พูดภาษาโปรตุเกสหลายแห่งซึ่งเขาไปเยี่ยมจึงมองเขาเป็นผู้ออกหากและคนทรยศ. การที่เขากล่าวโทษพวกนักเทศน์นักบวชอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องศีลธรรมที่เสื่อมทรามในหมู่พวกเขาและเปิดโปงหลักคำสอนของคริสตจักรยังผลให้เขาต้องงัดข้อกับกลุ่มมิชชันนารีคาทอลิกอยู่บ่อย ๆ. ความขัดแย้งนี้มาถึงจุดสุดยอดในปี 1661 เมื่อศาลศาสนาในรัฐกัว ประเทศ
อินเดียได้ตัดสินให้อัลเมดาต้องโทษประหารเพราะมีความคิดแบบนอกรีต. เมื่อเขาไม่มาปรากฏตัว จึงมีการเผาหุ่นของเขา. บางทีอาจเป็นเพราะตกใจกับวิธีที่แข็งกร้าวของอัลเมดา ไม่นานหลังจากนั้นข้าหลวงใหญ่ชาวดัตช์จึงเรียกเขากลับไปยังปัตตาเวีย.อัลเมดาเป็นมิชชันนารีที่มีใจแรงกล้า แต่เขาก็ไม่เคยลืมว่าจำเป็นต้องมีคัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกส. ที่จริง ผลจากการที่ผู้คนขาดความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งในหมู่นักเทศน์นักบวชและสามัญชนทำให้เขามีความมุ่งมั่นยิ่งขึ้น. ในคำนำของแผ่นพับทางศาสนาที่เขียนเมื่อปี 1668 อัลเมดาบอกกับผู้อ่านว่า “ข้าพเจ้าหวังว่า . . . ในไม่ช้าจะได้มอบคัมภีร์ไบเบิลครบชุดในภาษาของพวกท่านเองให้แก่ท่าน ซึ่งเป็นของขวัญอันวิเศษสุดและเป็นทรัพย์อันล้ำค่าที่สุดที่เคยมีคนให้ท่าน.”
อัลเมดากับคณะกรรมการตรวจแก้ไข
ในปี 1676 อัลเมดาได้เสนอต้นร่างฉบับสุดท้ายของคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาใหม่ต่อสภาคริสตจักรในปัตตาเวียเพื่อให้ตรวจแก้ไข. ความสัมพันธ์ระหว่างอัลเมดาซึ่งเป็นผู้แปลกับผู้ที่ตรวจแก้ไขนั้นตึงเครียดมาตั้งแต่แรกแล้ว. นักเขียนชีวประวัติ เจ. แอล. สเวลเลนเกรเบล อธิบายว่าเพื่อนร่วมงานของอัลเมดาที่พูดภาษาดัตช์คงมีปัญหาในการเข้าใจแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของความหมายและลีลาของภาษา. นอกจากนี้ก็ยังมีการโต้แย้งกันในเรื่องการเลือกใช้ภาษา. ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลควรเป็นภาษาโปรตุเกสที่พูดกันในท้องถิ่นหรือควรจะเป็นภาษาโปรตุเกสระดับสูงซึ่งจะเข้าใจยากสำหรับหลายคน? ผลสุดท้าย ความกระตือรือร้นของอัลเมดาที่จะเห็นงานเสร็จสมบูรณ์ก็กลายเป็นสาเหตุของความไม่ลงรอยกันที่มีอยู่ตลอดเวลา.
งานคืบหน้าไปช้ามาก บางทีอาจเป็นเพราะความไม่ลงรอยกันหรือเพราะการขาดความสนใจในส่วนของผู้ที่ตรวจแก้ไข. ต่อมาอีกสี่ปี คณะผู้ตรวจแก้ไขก็ยังโต้แย้งกันในเรื่องบทต้น ๆ ของพระธรรมลูกาอยู่. เนื่องจากรู้สึกคับข้องใจกับความล่าช้าเช่นนั้น อัลเมดาจึงส่งสำเนาต้นฉบับของเขาอีกชุดหนึ่งไปพิมพ์ที่เนเธอร์แลนด์โดยไม่ให้คณะปรับปรุงแก้ไขรู้.
ถึงแม้สภาคริสตจักรจะพยายามขัดขวางการพิมพ์เผยแพร่ แต่พันธสัญญาใหม่ของเขาก็ไปถึงโรงพิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัมในปี 1681 และฉบับแรก ๆ ก็ถูกส่งมายังปัตตาเวียในปีถัดมา. ลองคิดดูว่าอัลเมดาคงรู้สึกผิดหวังมากเพียงไรที่พบว่าฉบับแปลของเขาถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยคณะผู้ตรวจแก้ไขที่เนเธอร์แลนด์! เนื่องจากผู้ตรวจแก้ไขไม่คุ้นเคยกับภาษาโปรตุเกส อัลเมดาจึงสังเกตได้ว่าพวกเขาใช้ “สำนวนแปลที่ฟังแปลกและขัดแย้งกัน ซึ่งทำให้ความหมายของพระวิญญาณบริสุทธิ์คลุมเครือ.”
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เองก็ไม่พอใจเช่นกัน และได้สั่งให้ทำลายทุกฉบับที่พิมพ์ในงวดนั้น. ถึงกระนั้น อัลเมดาก็เกลี้ยกล่อมให้พวกเจ้าหน้าที่เก็บพระคัมภีร์ไว้บางเล่มโดยรับปากว่าจะแก้ไขข้อผิดพลาดร้ายแรงต่าง ๆ ด้วยมือ. ฉบับที่แก้ไขเหล่านี้จะใช้ไปจนกว่าจะพิมพ์ฉบับใหม่ได้.
คณะผู้ตรวจแก้ไขในปัตตาเวียมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อตรวจแก้ไขพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกและเริ่มเตรียมที่จะตรวจพระธรรมต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่อัลเมดาแปลเสร็จแล้ว. ด้วยเกรงว่าอัลเมดาจะหมดความอดทนไปเสียก่อน สภาคริสตจักรจึงตัดสินใจจะเก็บหน้าที่ได้ลงลายเซ็นแล้วของต้นร่างฉบับสุดท้ายไว้ในห้องนิรภัยของคริสตจักร. ไม่ต้องบอกก็คงทราบว่าอัลเมดาคัดค้านการกระทำดังกล่าว.
เมื่อถึงตอนนี้ เวลาหลายสิบปีที่ทำงานหนักและความยากลำบากในการใช้ชีวิตในเขตร้อนก็เริ่มส่งผลต่ออัลเมดา. ในปี 1689 เมื่ออัลเมดาเห็นว่าสุขภาพของตนทรุดลงเรื่อย ๆ เขาจึงรามือจากกิจกรรมของคริสตจักรเพื่อทุ่มเทให้กับการแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเพียงอย่างเดียว. น่าเศร้าที่เขาเสียชีวิตในปี 1691 ขณะกำลังแปลบทสุดท้ายของพระธรรมยะเอศเคล.
พันธสัญญาใหม่ฉบับที่สองเสร็จสิ้นก่อนเขาเสียชีวิตไม่นาน และได้รับการพิมพ์ในปี 1693. อีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนว่างานของเขาถูกผู้ตรวจแก้ไขที่ไร้ความสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขจนเสียหาย. ในหนังสืออา บิบลิอา ออง ปรอตูกาล (คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกส) ผู้เขียนคือ จี. แอล. ซานโตส เฟอร์ไรรากล่าวว่า “พวกผู้ตรวจแก้ไข . . . ได้เปลี่ยนแปลง
ผลงานที่ยอดเยี่ยมของอัลเมดาอย่างเห็นได้ชัดเจน และทำให้ความงามของต้นฉบับที่รอดพ้นมือของผู้ตรวจแก้ไขในการพิมพ์ครั้งแรกมาได้ต้องเสียหายและผิดรูปผิดร่างไป.”คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเสร็จสิ้น
เมื่ออัลเมดาเสียชีวิตลง แรงผลักดันในการตรวจแก้และพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสในปัตตาเวียก็ไม่มีอีกต่อไป. สมาคมส่งเสริมความรู้ของคริสเตียนซึ่งมีฐานอยู่ที่ลอนดอนได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการพิมพ์พันธสัญญาใหม่ของอัลเมดาเป็นครั้งที่สามในปี 1711 ตามคำขอของมิชชันนารีชาวเดนมาร์กที่ทำงานอยู่ในทรองเคอบาร์ ทางใต้ของอินเดีย.
สมาคมดังกล่าวตัดสินใจที่จะดำเนินการพิมพ์ที่ทรองเคอบาร์. แต่ระหว่างที่เดินทางไปยังอินเดีย เรือขนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการพิมพ์และคัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสจำนวนหนึ่งที่ส่งไปถูกโจรสลัดฝรั่งเศสยึดได้และในที่สุดก็ถูกทิ้งไว้ที่ท่าเรือในรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล. ซานโตส เฟอร์ไรราเขียนว่า “ด้วยเหตุผลบางประการที่ไม่อาจอธิบายได้และด้วยสภาพการณ์บางอย่างซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการอัศจรรย์ กล่องที่บรรจุวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ทั้งหมดถูกพบอยู่ด้านล่างสุดของระวางเก็บสินค้าและเดินทางต่อไปในเรือลำเดิมสู่เมืองทรองเคอบาร์.” กลุ่มมิชชันนารีชาวเดนมาร์กได้ตรวจแก้ไขและพิมพ์เผยแพร่ส่วนที่เหลือของคัมภีร์ไบเบิลที่อัลเมดาได้แปลไว้ด้วยความละเอียดรอบคอบ. ส่วนสุดท้ายของคัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสได้รับการพิมพ์ในปี 1751 เป็นเวลาเกือบ 110 ปี หลังจากที่อัลเมดาเริ่มทำงานเป็นผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล.
มรดกที่คงทน
ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น อัลเมดาเล็งเห็นความจำเป็นที่จะมีคัมภีร์ไบเบิลภาษาโปรตุเกสเพื่อที่คนทั่วไปจะได้เข้าใจความจริงในภาษาของตนเอง. ตลอดชีวิตของเขา เขาได้มุมานะเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น ทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านจากคริสตจักรคาทอลิก, ความไม่แยแสของคนรุ่นเดียวกัน, ปัญหาเรื่องการตรวจแก้ไขที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้น, และสุขภาพของเขาเองก็แย่ลงเรื่อย ๆ. ความบากบั่นพากเพียรของเขาได้รับผลตอบแทน.
ชุมชนที่พูดภาษาโปรตุเกสหลายแห่งซึ่งอัลเมดาเคยไปประกาศเผยแพร่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ และสาบสูญไปแล้ว แต่คัมภีร์ไบเบิลของเขายังคงอยู่. ในช่วงศตวรรษที่ 19 สมาคมบริติช แอนด์ ฟอรีน ไบเบิล กับสมาคมอเมริกันไบเบิลได้จำหน่ายจ่ายแจกคัมภีร์ไบเบิลของอัลเมดาหลายพันเล่มในโปรตุเกสและเมืองต่าง ๆ แถบชายฝั่งของบราซิล. ผลคือ คัมภีร์ไบเบิลฉบับอื่น ๆ ที่แปลโดยอาศัยฉบับของเขาได้กลายเป็นที่นิยมและจำหน่ายจ่ายแจกไปอย่างกว้างขวางที่สุดในประเทศที่พูดภาษาโปรตุเกส.
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลายคนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลสมัยแรก ๆ อย่างอัลเมดา. แต่มากยิ่งกว่านั้น เราควรขอบพระคุณพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงชอบการสื่อสาร ผู้มี “พระทัยประสงค์ให้คนทุกชนิดได้ความรอดและบรรลุความรู้ถูกต้องเรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:3, 4, ล.ม.) เหนือสิ่งอื่นใด พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ปกปักรักษาพระคำของพระองค์ไว้เพื่อให้เราได้อ่านและรับประโยชน์. ขอให้เราเห็นคุณค่าและขยันศึกษา “ทรัพย์อันล้ำค่าที่สุด” นี้ที่เราได้รับจากพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์เสมอไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 คริสตจักรคาทอลิกได้พิมพ์ดัชนีรายชื่อหนังสือต้องห้าม ออกมา ซึ่งเป็นการวางข้อจำกัดที่เข้มงวดสำหรับการใช้คัมภีร์ไบเบิลในภาษาต่าง ๆ. ตามที่กล่าวในสารานุกรมบริแทนนิกาฉบับใหม่ การทำเช่นนี้ “ประสบความสำเร็จในการทำให้งานแปลของคาทอลิกหยุดชะงักไปตลอด 200 ปีหลังจากนั้น.”
^ วรรค 8 คัมภีร์ไบเบิลของอัลเมดาฉบับเก่า ๆ เรียกเขาว่าปาเดร (คุณพ่อ) อัลเมดา บางคนจึงคิดว่าเขาเป็นบาทหลวงคาทอลิก. อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ที่เป็นบรรณาธิการให้กับคัมภีร์ไบเบิลของอัลเมดาใช้คำนี้ไม่ถูกต้อง โดยคิดว่านั่นเป็นคำที่ใช้เรียกนักเทศน์นักบวชของโปรเตสแตนต์.
^ วรรค 10 คณะปกครองของคริสตจักรรีฟอร์ม.
[กรอบ/ภาพภาพหน้า 21]
พระนามของพระเจ้า
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษในเรื่องความซื่อสัตย์ของอัลเมดาฐานะผู้แปลก็คือ การที่เขาใช้พระนามของพระเจ้าเพื่อแปลอักษรฮีบรูสี่ตัวซึ่งใช้เขียนพระนามพระเจ้า.
[ที่มาของภาพ]
Cortesia da Biblioteca da Igreja de Santa Catarina (Igreja dos Paulistas)
[แผนที่หน้า 18]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
มหาสมุทรแอตแลนติก
โปรตุเกส
ลิสบอน
ตอร์รี ดิ ตาวาเรส
[ภาพหน้า 18]
ปัตตาเวียในช่วงศตวรรษที่ 17
[ที่มาของภาพ]
From Oud en Nieuw Oost-Indiën, Franciscus Valentijn, 1724
[ภาพหน้า 19]
ปกในของพันธสัญญาใหม่ภาษาโปรตุเกสเล่มแรกซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในปี 1681
[ที่มาของภาพ]
Courtesy Biblioteca Nacional, Portugal