คอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความเพียรอดทน
คอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความเพียรอดทน
“จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลายด้วย . . . ความเพียรอดทน.”—2 เปโตร 1:5, 6, ล.ม.
1, 2. ความเพียรอดทนคืออะไร และเหตุใดคริสเตียนจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน?
วันใหญ่ของพระยะโฮวาใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว. (โยเอล 1:15; ซะฟันยา 1:14) เนื่องจากคริสเตียนตั้งใจแน่วแน่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้า เราคอยท่าอย่างกระตือรือร้นให้ถึงเวลาเมื่อสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวาจะได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง. ขณะที่คอยอยู่นี้ เราเผชิญกับความเกลียดชัง, คำตำหนิติเตียน, การข่มเหง, และความตายเนื่องด้วยความเชื่อของเรา. (มัดธาย 5:10-12; 10:22; วิวรณ์ 2:10) เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน ซึ่งเป็นความสามารถที่จะยืนหยัดเมื่อประสบกับสถานการณ์เลวร้าย. อัครสาวกเปโตรกระตุ้นเราดังนี้: “จงเพิ่มความเชื่อของท่านทั้งหลายด้วย . . . ความเพียรอดทน.” (2 เปโตร 1:5, 6, ล.ม.) เราจำเป็นต้องมีความเพียรอดทน เพราะพระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดทนได้จนถึงที่สุด, ผู้นั้นจะรอด.”—มัดธาย 24:13.
2 เราก็พบกับความเจ็บป่วย, ความโศกเศร้าเนื่องจากสูญเสียผู้เป็นที่รัก, และการทดสอบอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน. ซาตานคงจะดีใจสักเพียงไรหากเราสูญเสียความเชื่อ! (ลูกา 22:31, 32) ด้วยการค้ำจุนจากพระยะโฮวา เราสามารถอดทนการทดสอบในหลาย ๆ ลักษณะได้. (1 เปโตร 5:6-11) ขอให้พิจารณาประสบการณ์ชีวิตซึ่งเกิดขึ้นจริงที่พิสูจน์ว่าเราสามารถคอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความเพียรอดทนและความเชื่อที่ไม่ลดน้อยลงไป.
ความเจ็บป่วยไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุด
3, 4. จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าเราสามารถรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์แม้ว่าเจ็บป่วย.
3 ปัจจุบัน พระเจ้าไม่ทรงรักษาเราอย่างอัศจรรย์ แต่พระองค์ทรงเสริมกำลังเราให้อดทนกับความเจ็บป่วย. (บทเพลงสรรเสริญ 41:1-3) ชารอนกล่าวว่า “เท่าที่ดิฉันจำความได้ เก้าอี้ล้อเข็นเป็นเพื่อนที่อยู่คู่กับดิฉันมาโดยตลอด. ตั้งแต่เกิดมา โรคอัมพาตสมองใหญ่ได้พรากเอาความยินดีในวัยเด็กของดิฉันไปเสียหมด.” การเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและคำสัญญาของพระองค์เรื่องสุขภาพที่สมบูรณ์ทำให้ชารอนมีความหวัง. แม้ว่าพูดและเดินลำบาก แต่เธอก็พบความยินดีในงานรับใช้คริสเตียน. เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เธอกล่าวว่า “สุขภาพของดิฉันอาจเสื่อมทรุดลงไปเรื่อย ๆ แต่ความไว้วางใจในพระเจ้าและสายสัมพันธ์ของดิฉันกับพระองค์เป็นสิ่งที่ทำให้ดิฉันมีชีวิตอยู่ได้. ดิฉันมีความสุขจริง ๆ ที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของพระยะโฮวาและได้รับการค้ำจุนที่วางใจได้เสมอจากพระองค์!”
4 อัครสาวกเปาโลกระตุ้นคริสเตียนในเมืองเทสซาโลนิเกให้ “พูดปลอบโยนคนที่ทุกข์ใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความผิดหวังอย่างรุนแรงอาจทำให้ซึมเศร้าได้. ในปี 1993 ชารอนเขียนดังนี้: “เพราะรู้สึกล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ดิฉัน . . . จมอยู่ในความรู้สึกซึมเศร้าอย่างหนักในช่วงสามปี. . . . ดิฉันได้รับคำปลอบโยนและคำแนะนำจากผู้ปกครอง. . . . โดยทางหอสังเกตการณ์ พระยะโฮวาทรงช่วยเราให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาการซึมเศร้าชนิดรุนแรง. พระองค์ทรงดูแลประชาชนของพระองค์และทรงเข้าใจความรู้สึกของเราจริง ๆ.” (1 เปโตร 5:6, 7) ชารอนยังคงรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ขณะที่เธอคอยท่าวันใหญ่ของพระยะโฮวา.
5. มีข้อพิสูจน์อะไรว่าคริสเตียนสามารถอดทนความตึงเครียดอย่างหนักในชีวิตได้?
5 คริสเตียนบางคนมีความตึงเครียดอย่างหนักเนื่องด้วยประสบการณ์ชีวิตในอดีต. ฮาร์ลีย์ได้เห็นการต่อสู้อย่างโหดเหี้ยมรุนแรงในสงครามโลกครั้งที่ 2 และฝันร้ายเกี่ยวกับสงครามนั้นอยู่ตลอด. ขณะที่หลับอยู่ เขาจะตะโกนขึ้นมาดังลั่นว่า “ระวัง! ระวัง!” เมื่อตกใจตื่น เนื้อตัวเขาก็จะชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ. อย่างไรก็ตาม เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อ ๆ ไปด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า และในที่สุดฝันร้ายอย่างนั้นก็ทุเลาเบาบางลงและทิ้งช่วงห่างขึ้น.
6. คริสเตียนคนหนึ่งเผชิญปัญหายุ่งยากด้านอารมณ์อย่างไร?
6 คริสเตียนคนหนึ่งซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ (มีอาการผิดปกติทางอารมณ์สองอย่างที่ตรงข้ามกัน) รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะประกาศตามบ้าน. แต่เขายืนหยัดทำงานนี้ต่อไป เพราะเขาตระหนักว่างานรับใช้หมายถึงชีวิตสำหรับตัวเขาและคนที่ตอบรับ. (1 ติโมเธียว 4:16) บางครั้งเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองให้กดกระดิ่งที่หน้าบ้านได้ แต่เขากล่าวว่า “เมื่อผ่านไปพักหนึ่ง ผมก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ไปที่บ้านถัดไป แล้วก็ลองใหม่อีกครั้ง. โดยร่วมรับใช้ต่อ ๆ ไป ผมจึงรักษาสุขภาพฝ่ายวิญญาณให้อยู่ในสภาพที่ดีพอสมควร.” การเข้าร่วมประชุมก็เป็นเรื่องยากด้วย แต่พี่น้องคนนี้เชื่อมั่นในคุณค่าของการสมาคมคบหาฝ่ายวิญญาณ. ด้วยเหตุนั้น เขาพยายามทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อจะเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ได้.—เฮ็บราย 10:24, 25.
7. แม้ว่าบางคนกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชนหรือการเข้าร่วมประชุม พวกเขาแสดงความเพียรอดทนอย่างไร?
7 คริสเตียนบางคนเป็นโรคกลัว—กลัวสถานการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกินเหตุ. ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจกลัวการพูดต่อหน้าสาธารณชนหรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมประชุม. ขอลองนึกดูว่าเป็นเรื่องยากขนาดไหนที่เขาจะออกความเห็น ณ การประชุมคริสเตียนหรือบรรยายในโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้า! ถึงกระนั้น พวกเขาก็เพียรอดทน และเราหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งที่เขามาร่วมและมีส่วนร่วมในการประชุม.
8. อะไรที่มีผลเป็นพิเศษเมื่อต้องรับมือกับปัญหายุ่งยากด้านอารมณ์?
8 การพักผ่อนและนอนหลับให้มากขึ้นอาจช่วยคนเราให้อดทนกับปัญหายุ่งยากด้านอารมณ์. การรับการรักษาทางการแพทย์อาจเป็นสิ่งที่ควรทำ. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มีผลเป็นพิเศษได้แก่การหมายพึ่งพระเจ้าด้วยการทูลอธิษฐาน. บทเพลงสรรเสริญ 55:22 (ล.ม.) กล่าวว่า “จงปล่อยภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์เองจะทรงค้ำจุนท่าน. ไม่มีวันที่พระองค์จะทรงยอมให้คนชอบธรรมซวดเซเลย.” ดังนั้น ขอจง “วางใจในพระยะโฮวาด้วยสุดใจ” ของคุณ.—สุภาษิต 3:5, 6.
อดทนกับการสูญเสีย
9-11. (ก) อะไรสามารถช่วยเราให้อดทนกับความโศกเศร้าเมื่อผู้เป็นที่รักเสียชีวิต? (ข) ตัวอย่างของอันนาสามารถช่วยเราอย่างไรให้อดทนกับการสูญเสียผู้เป็นที่รัก?
9 เมื่อความตายพรากสมาชิกครอบครัวไป ความสูญเสียครั้งใหญ่เช่นนั้นอาจทำให้คนเราจมอยู่ในความโศกเศร้าได้. อับราฮามร้องไห้เมื่อซาราห์ภรรยาผู้เป็นที่รักตาย. (เยเนซิศ 23:2) แม้แต่พระเยซูผู้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ก็ทรง “กันแสง” เมื่อลาซะโรสหายของพระองค์ตาย. (โยฮัน 11:35) ดังนั้น เป็นธรรมดาที่คนเราโศกเศร้าเมื่อความตายพรากคนที่รักไป. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนทราบว่าจะมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย. (กิจการ 24:15) ดังนั้น พวกเขาไม่ “เป็นทุกข์โศกเศร้าอย่างคนอื่น ๆ ที่ไม่มีความหวัง.”—1 เธซะโลนิเก 4:13, ฉบับแปลใหม่.
10 เราจะรับมือกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียคนที่เรารักได้อย่างไร? ตัวอย่างเปรียบเทียบอย่างหนึ่งอาจช่วยได้. ตามปกติเราไม่โศกเศร้านานนักเมื่อเพื่อนออกเดินทางไกลเพราะเราคาดหมายจะได้พบเขาอีกเมื่อเขากลับมา. การมองความตายของคริสเตียนที่ซื่อสัตย์คล้าย ๆ กันอย่างนั้นอาจช่วยคลายความโศกเศร้าได้เพราะเรารู้ว่าเขาจะถูกปลุกให้กลับเป็นขึ้นจากตายอย่างแน่นอน.—ท่านผู้ประกาศ 7:1.
11 การไว้วางใจเต็มที่ใน “พระเจ้าผู้ทรงชูใจทุกอย่าง” จะช่วยเราให้อดทนกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก. (2 โกรินโธ 1:3, 4) สิ่งที่ช่วยเราด้วยก็คือการไตร่ตรอง สิ่งที่อันนาผู้เป็นแม่ม่ายในศตวรรษแรกได้ทำ. เธอกลายเป็นม่ายหลังจากแต่งงานได้เพียงเจ็ดปี. แต่ขณะอายุได้ 84 ปี เธอยังคงถวายการรับใช้ศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวา ณ พระวิหาร. (ลูกา 2:36-38) ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้าเช่นนั้นช่วยเธอให้รับมือกับความโศกเศร้าและความเหงา. การมีส่วนร่วมเป็นประจำในกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน รวมถึงงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร สามารถช่วยเราให้อดทนกับผลกระทบต่าง ๆ จากการสูญเสียผู้เป็นที่รัก.
รับมือกับการทดสอบต่าง ๆ
12. คริสเตียนบางคนได้อดทนกับการทดสอบอะไรซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว?
12 คริสเตียนบางคนต้องอดทนกับการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตครอบครัว. ตัวอย่างเช่น หากคู่สมรสทำผิดประเวณี นั่นอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักสักเพียงไร! ด้วยความตกตะลึงและความทุกข์ใจ คู่สมรสที่ถูกทรยศอาจนอนไม่หลับและอาจร้องไห้อย่างที่ควบคุมตัวเองไม่ได้. การทำงานง่าย ๆ อาจกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เครียดอย่างมากจนทำให้เกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุ. คู่สมรสที่ไม่ได้ทำผิดอาจกินไม่ได้, น้ำหนักลด, และอาจมีปัญหาทางอารมณ์. อาจเป็นเรื่องยากที่เขาจะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียน. และบุตรคงได้รับผลกระทบมากทีเดียว!
13, 14. (ก) คุณได้รับการหนุนใจเช่นไรจากคำอธิษฐานของซะโลโมในคราวการอุทิศพระวิหาร? (ข) เหตุใดเราจึงอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์?
13 เมื่อเราถูกทดสอบเช่นนั้น พระยะโฮวาประทานความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เรา. (บทเพลงสรรเสริญ 94:19) พระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานของประชาชนของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากคำอธิษฐานของกษัตริย์ซะโลโมในคราวการอุทิศพระวิหารของพระยะโฮวา. ซะโลโมอธิษฐานถึงพระเจ้าดังนี้: “ไม่ว่าคำอธิษฐานอย่างใดหรือคำวิงวอนประการใดซึ่งประชาชนคนใดหรืออิสราเอลประชากรของพระองค์ทั้งสิ้นทูล ต่างก็สำนึกในใจของเขาในเรื่องภัยพิบัติอันจะตกแก่เขาและได้กางมือของเขาสู่พระนิเวศนี้ ขอพระองค์ทรงสดับในฟ้าสวรรค์อันเป็นที่ประทับของพระองค์ และพระราชทานอภัยและทรงกระทำและทรงประทานแก่ทุกคนซึ่งพระองค์ทรงทราบจิตใจตามการประพฤติทั้งสิ้นของเขา (เพราะพระองค์คือพระองค์เท่านั้นที่ทรงทราบจิตใจของมนุษยชาติทั้งสิ้น) เพื่อว่าเขาทั้งหลายจะได้ยำเกรงพระองค์ตลอดวันเวลาที่เขาทั้งหลายอาศัยในแผ่นดินซึ่งพระองค์ทรงประทานแก่บรรพบุรุษของข้าพระองค์ทั้งหลาย.”—1 กษัตริย์ 8:38-40, ฉบับแปลใหม่.
14 การอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่เสมออาจเป็นประโยชน์เป็นพิเศษ. (มัดธาย 7:7-11) คุณลักษณะที่รวมอยู่ด้วยในผลพระวิญญาณได้แก่ความยินดีและสันติสุข. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) ช่างทำให้สบายใจจริง ๆ เมื่อพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ทรงตอบคำอธิษฐานของเรา—ความยินดีเข้ามาแทนที่ความทุกข์โศก และความสงบใจเข้าแทนที่ความปวดร้าวใจ!
15. ข้อพระคัมภีร์อะไรสามารถช่วยเราลดความกระวนกระวาย?
15 เมื่อเราต้องอดทนกับความเครียดอย่างหนัก เป็นที่คาดหมายได้เลยว่าจะเกิดความกระวนกระวายไม่มากก็น้อย. แต่อย่างน้อยความเป็นห่วงกังวลบางอย่างอาจลดน้อยลงหากเราระลึกเสมอถึงคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “จงเลิกกระวนกระวายกับชีวิตว่าจะกินอะไรหรือจะดื่มอะไร หรือกระวนกระวายกับร่างกายว่าจะสวมอะไร. . . . ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของ [พระเจ้า] ก่อนเสมอไป แล้วสิ่งอื่นเหล่านี้ทั้งหมดจะเพิ่มเติมให้แก่ท่าน.” (มัดธาย 6:25, 33, 34, ล.ม.) อัครสาวกเปโตรกระตุ้นเราให้ ‘ละความกระวนกระวายทั้งสิ้นของเราไว้กับพระเจ้าเพราะว่าพระองค์ทรงห่วงใยเรา.’ (1 เปโตร 5:6, 7, ฉบับแปลใหม่) เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะพยายามแก้ปัญหา. แต่หลังจากที่เราทำทุกสิ่งที่ทำได้แล้ว การคิดกังวลไม่อาจช่วยอะไรได้อย่างที่การอธิษฐานสามารถช่วยเรา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “จงมอบทางของท่านไว้กับพระเจ้า วางใจในพระองค์ และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:5, ฉบับแปลใหม่.
16, 17. (ก) เหตุใดเราจึงไม่อาจหลุดพ้นความกระวนกระวายได้อย่างสิ้นเชิง? (ข) เราจะประสบอะไรหากเราทำอย่างที่ฟิลิปปอย 4:6, 7 กล่าว?
16 เปาโลเขียนดังนี้: “อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใดเลย, แต่จงเสนอความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานกับการขอบพระคุณ. และสันติสุขแห่งพระเจ้า, ซึ่งเหลือที่จะเข้าใจได้, จะคุ้มครองใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7) เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกหลานของอาดามซึ่งไม่สมบูรณ์ไม่อาจหลุดพ้นความกระวนกระวายได้อย่างสิ้นเชิง. (โรม 5:12) ภรรยาชาวฮิตไทต์ของเอซาวทำให้บิดามารดาผู้เลื่อมใสพระเจ้าของเอซาว คือยิศฮาคและริบะคา “มีใจโศกเศร้านัก.” (เยเนซิศ 26:34, 35) ความเจ็บป่วยคงต้องทำให้คริสเตียนอย่างติโมเธียวและโตรฟีโมกระวนกระวาย. (1 ติโมเธียว 5:23; 2 ติโมเธียว 4:20) เปาโลกระวนกระวายเพราะห่วงเพื่อนร่วมความเชื่อ. (2 โกรินโธ 11:28) แต่ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงอยู่พร้อมเสมอที่จะช่วยคนที่รักพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
17 ขณะที่เรารอคอยวันของพระยะโฮวา เราได้รับการสนับสนุนและการหนุนใจจาก “พระเจ้าแห่งสันติสุข.” (ฟิลิปปอย 4:9) พระยะโฮวา “ทรงเมตตากรุณา,” “ทรงประกอบไปด้วยพระคุณพร้อมที่จะทรงยกความผิด,” และ ‘พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกเราเป็นแต่ผงคลีดิน.’ (เอ็กโซโด 34:6; บทเพลงสรรเสริญ 86:5; 103:13, 14) ดังนั้น ให้เรา ‘เสนอความปรารถนาของเราต่อพระองค์’ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้เรามี “สันติสุขแห่งพระเจ้า”—ความสงบสุขที่เกินความเข้าใจของมนุษย์.
18. ดังกล่าวไว้ที่โยบ 42:5 เป็นไปได้อย่างไรที่จะ “เห็น” พระเจ้า?
18 เมื่อคำอธิษฐานของเราได้รับคำตอบ เราทราบว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา. หลังจากโยบอดทนกับการทดสอบทั้งหลาย ท่านกล่าวว่า “แต่ก่อนข้าฯ ได้ยินถึงเรื่องพระองค์ [พระยะโฮวา] ด้วยหูฟังเรื่องราวมา, แต่บัดนี้ข้าฯ เห็นพระองค์ด้วยตาของข้าฯ แล้ว.” (โยบ 42:5) ด้วยตาแห่งความเข้าใจ, ความเชื่อ, และความหยั่งรู้ค่า เราสามารถคิดรำพึงถึงวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อเราและสามารถ “เห็น” พระองค์อย่างที่ไม่เคยเป็นเช่นนั้นมาก่อน. ความใกล้ชิดเช่นนั้นทำให้เรามีสันติสุขในหัวใจและจิตใจ!
19. อะไรจะเกิดขึ้นหากเรา ‘ละความกระวนกระวายทั้งสิ้นของเราไว้กับพระยะโฮวา’?
19 หากเรา ‘ละความกระวนกระวายทั้งสิ้นของเราไว้กับพระยะโฮวา’ เราสามารถอดทนการทดสอบต่าง ๆ ด้วยความสงบภายในที่ป้องกันหัวใจและความสามารถในการคิดของเรา. ลึกลงไปในหัวใจโดยนัย เราจะเป็นอิสระจากความกระสับกระส่าย, ความกลัว, และความตื่นตระหนก. จิตใจของเราจะไม่ร้อนรุ่มด้วยความสับสนหรือความกระวนกระวาย.
20, 21. (ก) กรณีของซะเตฟาโนให้หลักฐานอะไรถึงความสงบใจเมื่อท่านเผชิญกับการข่มเหง? (ข) จงเล่าตัวอย่างในสมัยปัจจุบันที่แสดงถึงความสงบใจเมื่ออดทนกับการทดสอบ?
20 สาวกซะเตฟาโนแสดงให้เห็นถึงความสงบใจเมื่ออดทนกับการทดสอบความเชื่ออย่างรุนแรง. ก่อนที่ท่านจะให้คำพยานเป็นครั้งสุดท้าย ทุกคนที่อยู่ในศาลซันเฮดริน “เห็นหน้าของท่านเหมือนหน้าทูตสวรรค์.” (กิจการ 6:15) สีหน้าของท่านสงบ—เหมือนกับสีหน้าของทูตสวรรค์ ผู้ส่งข่าวของพระเจ้า. หลังจากที่ซะเตฟาโนเปิดโปงความผิดของพวกเขาที่เป็นเหตุให้พระเยซูสิ้นพระชนม์ พวกผู้พิพากษา “ก็รู้สึกบาดใจและขบเขี้ยวเคี้ยวฟันเข้าใส่” ท่าน. โดยที่ “ประกอบด้วย พระวิญญาณบริสุทธิ์” ซะเตฟาโน “เขม้นดูสวรรค์เห็นพระสิริของพระเจ้าและพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระองค์.” ด้วยการเสริมกำลังที่ได้รับจากนิมิตนั้น ซะเตฟาโนพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นชีวิต. (กิจการ 7:52-60, ฉบับแปลใหม่) แม้เราไม่ได้รับนิมิต แต่เราก็สามารถมีความสงบใจที่พระเจ้าจะประทานให้เมื่อถูกข่มเหง.
21 ขอให้พิจารณาเรื่องสะเทือนใจเกี่ยวกับคริสเตียนบางคนที่ตายด้วยน้ำมือของพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2. เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ของเขาในศาล คริสเตียนคนหนึ่งเขียนจดหมายดังนี้: “มีคำพิพากษาออกมาให้ประหารชีวิต. เมื่อผมฟังเสร็จแล้ว และหลังจากพูดว่า ‘เจ้าจงสัตย์ซื่อจนตาย’ กับถ้อยคำอื่น ๆ ขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราอีกสองสามคำ ทุกอย่างก็จบลง. แต่ขออย่ากังวลกับเรื่องนี้เลย. ผมมีสันติสุขและความสงบใจอย่างที่พ่อกับแม่คงไม่มีทางนึกออกได้!” คริสเตียนหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะเผชิญกับความตายด้วยการถูกตัดหัว เขียนจดหมายถึงบิดามารดาว่า “ตอนนี้เลยเที่ยงคืนไปแล้ว. ผมยังมีเวลาจะเปลี่ยนใจได้อยู่. แต่ผมจะมีความสุขต่อไปในโลกนี้ได้อย่างไรหลังจากปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราไปแล้ว? ไม่มีทางเลย! แต่ตอนนี้ขอพ่อกับแม่มั่นใจได้เลยว่าผมจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข.” ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าพระยะโฮวาทรงค้ำจุนผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์.
คุณสามารถอดทนได้!
22, 23. คุณมั่นใจได้ในเรื่องใดขณะที่คุณคอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความอดทน?
22 คุณอาจไม่ได้เผชิญข้อท้าทายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราได้พิจารณากันไปแล้ว. ถึงกระนั้น โยบผู้เกรงกลัวพระเจ้ากล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “อันมนุษย์ซึ่งเกิดจากเพศหญิงย่อมมีแต่วันเวลาน้อยนัก, และประกอบไปด้วยความทุกข์ยากลำบาก.” (โยบ 14:1) คุณอาจเป็นบิดาหรือมารดาที่พยายามอย่างหนักที่จะให้การชี้นำฝ่ายวิญญาณแก่ลูก ๆ. พวกเขาต้องอดทนกับการทดสอบที่โรงเรียน แต่คุณมีความสุขสักเพียงไรเมื่อพวกเขายืนหยัดมั่นคงอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและรักษาหลักการอันชอบธรรมของพระองค์! อาจเป็นได้ว่าคุณกำลังเผชิญกับปัญหายุ่งยากและการล่อใจในที่ทำงาน. แต่คุณสามารถอดทนกับเรื่องเหล่านี้และสถานการณ์อื่น ๆ ได้ เพราะ ‘พระยะโฮวาทรงแบกภาระของคุณทุก ๆ วัน.’—บทเพลงสรรเสริญ 68:19.
23 คุณอาจคิดว่าตัวเองเป็นเพียงคนธรรมดา ๆ คนหนึ่ง แต่ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาจะไม่มีทางลืมการงานและความรักที่คุณได้แสดงต่อพระนามบริสุทธิ์ของพระองค์. (เฮ็บราย 6:10) ด้วยความช่วยเหลือจากพระองค์ คุณสามารถอดทนกับการทดสอบความเชื่อได้. ด้วยเหตุนั้น จงให้การทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอยู่ในคำอธิษฐานและแผนการต่าง ๆ ของคุณ. แล้วคุณจะสามารถมั่นใจในพระพรและการค้ำจุนจากพระเจ้าขณะที่คุณคอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความอดทน.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดคริสเตียนจำเป็นต้องอดทน?
• อะไรจะช่วยเราได้ให้อดทนกับความเจ็บป่วยและการสูญเสียผู้เป็นที่รัก?
• คำอธิษฐานช่วยเราอย่างไรให้อดทนกับการทดสอบ?
• เหตุใดจึงเป็นไปได้ที่จะคอยท่าวันของพระยะโฮวาด้วยความเพียรอดทน?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 29]
การไว้วางใจพระยะโฮวาทำให้เราสามารถอดทนกับการสูญเสียผู้เป็นที่รัก
[ภาพหน้า 31]
คำอธิษฐานจากหัวใจช่วยเราให้อดทนกับการทดสอบความเชื่อ