บาระซีลัยชายผู้สำนึกถึงข้อจำกัดของตนเอง
บาระซีลัยชายผู้สำนึกถึงข้อจำกัดของตนเอง
‘ทำไมจะให้ข้าพระบาทเป็นภาระแก่พระองค์เล่า?’ ชายวัย 80 ปีที่ทูลเช่นนี้ต่อกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลคือบาระซีลัย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าเขาเป็น “คนมั่งมีมาก.” (2 ซามูเอล 19:32, 35, ฉบับแปลใหม่) บาระซีลัยอาศัยอยู่ในกิเลียด (ฆีละอาด) ซึ่งเป็นเขตภูเขาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน.—2 ซามูเอล 17:27; 19:31.
บาระซีลัยกล่าวเช่นนั้นกับดาวิดในสภาพการณ์เช่นไร? และเพราะเหตุใดชายสูงอายุผู้นี้จึงพูดเช่นนั้น?
การกบฏต่อกษัตริย์
ดาวิดตกอยู่ในอันตราย. อับซาโลมราชบุตรของท่านชิงบัลลังก์ไปหลังจาก “ชิงเอาหัวใจของชายชาวอิสราเอลไป” แล้ว. เป็นที่แน่ชัดว่าอับซาโลมจะไม่ไว้ชีวิตใครก็ตามที่ภักดีต่อราชบิดา. ดังนั้น ดาวิดกับข้าราชบริพารจึงหนีออกจากกรุงเยรูซาเลม. (2 ซามูเอล 15:6, ล.ม., 13, 14) เมื่อดาวิดมาถึงมะฮะนายิม ซึ่งเป็นดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน บาระซีลัยก็มาช่วยท่าน.
บาระซีลัยกับชายอีกสองคนคือโซบีและมาเคียร์ ได้ขนสิ่งของมากมายมาให้ดาวิด. ชายผู้ภักดีสามคนนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจสถานการณ์คับขันที่ดาวิดกับคนของท่านเผชิญอยู่ เมื่อพูดว่า “พลไพร่, อิดโรยหิวอ่อนเพลียและกระหายในป่าดอน.” บาระซีลัย, โซบี, และมาเคียร์ทำทุกอย่างที่พวกเขาทำได้เพื่อดูแลความจำเป็นดังกล่าว โดยนำ2 ซามูเอล 17:27-29.
สิ่งของมาให้ดาวิดกับพรรคพวก ทั้งที่นอน, ข้าวสาลี, ข้าวบาร์เลย์, แป้ง, ข้าวคั่ว, ถั่วแระ, ถั่วขาว, น้ำผึ้ง, เนย, แกะ, และข้าวของอื่น ๆ.—การช่วยเหลือดาวิดเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตราย. ดูเหมือนว่าอับซาโลมจะไม่ปล่อยให้ใครก็ตามที่ให้การสนับสนุนกษัตริย์ผู้มีสิทธิอันชอบธรรมรอดพ้นการลงโทษไปได้. จึงนับว่าบาระซีลัยมีความกล้าหาญที่ได้แสดงความภักดีต่อดาวิด.
สถานการณ์พลิกผัน
หลังจากนั้นไม่นาน กองกบฏของอับซาโลมก็ประจันหน้ากับคนของดาวิด. เกิดการปะทะกันที่ป่าเอฟรายิมซึ่งดูเหมือนอยู่ใกล้ ๆ มะฮะนายิม. กองทัพของอับซาโลมเป็นฝ่ายปราชัย และ ‘ในวันนั้นมีคนถูกอาวุธพินาศเสียที่นั่นมาก.’ แม้อับซาโลมพยายามจะหนี แต่ไม่ช้าก็ถูกฆ่า.—2 ซามูเอล 18:7-15.
ดาวิดได้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอลโดยปราศจากการต่อต้านอีกครั้งหนึ่ง. ผู้ติดตามของท่านไม่ต้องอยู่อย่างผู้หลบหนีอีกต่อไปแล้ว. ยิ่งกว่านั้น ความภักดีที่พวกเขาได้แสดงต่อดาวิดทำให้พวกเขาได้รับความนับถือและความสำนึกบุญคุณจากท่าน.
เมื่อดาวิดกำลังจะกลับมายังกรุงเยรูซาเลม “บาระซีลัยชาวฆีละอาดลงมาจากโรฆะลิมตามเสด็จข้าม [“จนถึง,” ล.ม.] ยาระเดน.” ในโอกาสนั้น ดาวิดได้เชิญบาระซีลัยผู้ชราว่า “จงข้ามมาด้วยเรา, แล้วเราจะชุบเลี้ยงท่านให้อยู่กับเราที่กรุงยะรูซาเลม.”—2 ซามูเอล 19:15, 31, 33.
ไม่ต้องสงสัยว่าดาวิดหยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือที่ท่านได้รับจากบาระซีลัยอย่างยิ่ง. ดูเหมือนกษัตริย์ดาวิดไม่ได้เพียงต้องการตอบแทนบุญคุณของเขาด้วยการจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้. บาระซีลัยผู้มั่งคั่งไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเช่นนั้น. ดาวิดอาจต้องการให้บาระซีลัยมาอยู่ในราชสำนักเพราะชายชราผู้นี้มีคุณลักษณะที่น่าชื่นชมหลายประการ. การได้อยู่ในราชสำนักอย่างถาวรย่อมเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และบาระซีลัยจะมีสิทธิพิเศษหลายอย่างในฐานะพระสหายของกษัตริย์.
ความเจียมตัวและการมองตามความเป็นจริง
บาระซีลัยทูลตอบคำเชิญของกษัตริย์ดาวิดว่า “ข้าพเจ้าจะมีชีวิตต่อไปอีกกี่ปี, ซึ่งจะตามเสด็จขึ้นไปกรุงยะรูซาเลมนั้น. บัดนี้อายุข้าพเจ้าได้แปดสิบปีแล้ว: ข้าพเจ้าจะสังเกตดีชั่วได้หรือ? จะชิมรสของของกินและดื่มได้หรือ? จะฟังเสียงชายหญิงร้องเพลงอีกได้หรือ?” (2 ซามูเอล 19:34, 35) โดยกล่าวเช่นนั้น บาระซีลัยได้ปฏิเสธคำเชิญของกษัตริย์ด้วยความนับถือและบอกปัดสิทธิพิเศษที่ยอดเยี่ยม. เพราะอะไร?
เหตุผลหนึ่งที่บาระซีลัยตัดสินใจเช่นนั้นอาจเป็นเพราะอายุที่มากแล้วของท่านและข้อจำกัดหลายอย่างที่มาพร้อมกับวัยชรา. บาระซีลัยอาจรู้สึกว่าตนคงจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน. (บทเพลงสรรเสริญ 90:10) ท่านได้ทำสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อสนับสนุนดาวิด แต่ท่านก็สำนึกถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ท่านมีเนื่องจากวัยชราด้วย. บาระซีลัยไม่ได้ปล่อยให้ความคิดที่อยากได้เกียรติยศชื่อเสียงและความมีหน้ามีตาทำให้ท่านประเมินความสามารถของตัวเองผิดไปจากความเป็นจริง. ต่างจากอับซาโลมผู้ทะเยอทะยาน บาระซีลัยแสดงออกซึ่งความเจียมตัวอย่างฉลาดสุขุม.—สุภาษิต 11:2.
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บาระซีลัยตัดสินใจเช่นนั้นอาจเป็นเพราะท่านไม่ต้องการให้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของตนเองมาเป็นอุปสรรคต่อการงานของกษัตริย์ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้ง. บาระซีลัยทูลถามว่า “ทำไมจะให้ข้าพระบาทเป็นภาระเพิ่มแก่พระราชาเจ้านายของข้าพระบาทอีกเล่า?” (2 ซามูเอล 19:35, ฉบับแปลใหม่) แม้ว่าท่านยังคงสนับสนุนดาวิด แต่บาระซีลัย คงเชื่อว่าคนหนุ่มจะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีกว่าท่าน. อาจเป็นได้ว่าบาระซีลัยกำลังพูดถึงบุตรชายของตน เมื่อทูลกษัตริย์ว่า “ขอทรงโปรดให้คิมฮามข้าของฝ่าพระบาทตามเสด็จพระราชาเจ้านายของข้าพระบาทไป. ฝ่าพระบาทจะโปรดเขาประการใดก็แล้วแต่ทรงเห็นควร.” แทนที่ดาวิดจะขุ่นเคือง ท่านกลับตอบรับข้อเสนอนี้. ที่จริง ก่อนจะข้ามแม่น้ำจอร์แดน ดาวิดได้ “จุบบารซิลลัยและทรงอวยพระพรแก่ท่าน.”—2 ซามูเอล 19:37-39, ฉบับแปลใหม่.
จำต้องมีความสมดุล
เรื่องราวของบาระซีลัยเน้นให้เห็นความจำเป็นที่จะมีความสมดุล. ในด้านหนึ่ง เราไม่ควรบอกปัดสิทธิพิเศษในการรับใช้หรือหลีกเลี่ยงที่จะรับเอาสิทธิพิเศษเหล่านั้นเพราะต้องการมีชีวิตที่สงบเงียบหรือเพราะรู้สึกว่าขาดความสามารถที่จะแบกความรับผิดชอบ. พระเจ้าสามารถชดเชยสิ่งที่เราขาดไปได้ ถ้าเราวางใจว่าพระองค์จะประทานกำลังและสติปัญญาแก่เรา.—ฟิลิปปอย 4:13; ยาโกโบ 4:17; 1 เปโตร 4:11.
ในอีกด้านหนึ่ง เราจำเป็นต้องยอมรับข้อจำกัดของเรา. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนคนหนึ่งอาจมีงานยุ่งมากอยู่แล้วในกิจกรรมฝ่ายวิญญาณ. เขาตระหนักว่าหากเขาตอบรับสิทธิพิเศษอื่น ๆ เพิ่มอีก เขาอาจเสี่ยงต่อการละเลยหน้าที่รับผิดชอบตามหลักพระคัมภีร์ในการจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว. ในสถานการณ์เช่นนั้น คงเป็นการแสดงถึงความเจียมตัวและความมีเหตุผลมิใช่หรือหากเขาจะปฏิเสธสิทธิพิเศษที่เพิ่มเข้ามาในขณะนี้ไปก่อน?—ฟิลิปปอย 4:5; 1 ติโมเธียว 5:8.
บาระซีลัยเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยม และเราควรไตร่ตรองตัวอย่างของท่าน. ท่านเป็นคนภักดี, กล้าหาญ, มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ, และเจียมตัว. เหนือสิ่งอื่นใด บาระซีลัยตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้ผลประโยชน์ของพระเจ้ามาก่อนผลประโยชน์ของตนเอง.—มัดธาย 6:33.
[แผนที่หน้า 15]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
บาระซีลัยวัยแปดสิบปีเดินทางด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อไปช่วยดาวิด
กิเลียด
โรเกลิม
ซุคโคท
มะฮะนายิม
แม่น้ำจอร์แดน
กิลกาล
เยริโค
เยรูซาเลม
เอฟรายิม
[ภาพหน้า 13]
ทำไมบาระซีลัยจึงปฏิเสธข้อเสนอของดาวิด?