เรารอดชีวิตผ่านระบอบเผด็จการมาได้ด้วยการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา
เรื่องราวชีวิตจริง
เรารอดชีวิตผ่านระบอบเผด็จการมาได้ด้วยการช่วยเหลือจากพระยะโฮวา
เล่าโดย เฮนรีค ดอร์นีค
ผมเกิดปี 1926 พ่อแม่ของผมเป็นชาวคาทอลิกที่เคร่งศาสนา. พวกท่านอาศัยในรูดา สลาสกา เมืองที่ทำเหมืองแร่อยู่ใกล้เมืองกาโทวิสภาคใต้ของโปแลนด์. ท่านสั่งสอนลูก ๆ ซึ่งมีเบอร์นาร์ด พี่ชายคนโต ตัวผมและน้องสาวสองคนคือโรซาและเอดิทาให้หมั่นอธิษฐาน, เข้าร่วมนมัสการในโบสถ์, และปฏิบัติพิธีทางศาสนาโดยการสารภาพบาปต่อบาทหลวง.
ความจริงเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลได้มาถึงบ้านของเรา
วันหนึ่งในเดือนมกราคม 1937 ตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ พ่อกลับบ้านด้วยความดีอกดีใจ. ท่านมีหนังสือเล่มใหญ่ติดตัวมาด้วยซึ่งท่านรับจากพยานพระยะโฮวา. พ่อพูดว่า “ลูกดูนี่ซิว่าพ่อได้อะไรมา พระคัมภีร์บริสุทธิ์ไงล่ะ!” ก่อนหน้านั้นผมยังไม่เคยเห็นคัมภีร์ไบเบิล.
คริสตจักรคาทอลิกพยายามแผ่อิทธิพลเหนือประชาชนในรูดา สลาสกาและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเวลานานแล้ว. นักบวชทำตัวเป็นมิตรกับเจ้าของเหมืองแร่และเรียกร้องคนงานเหมืองและครอบครัวของเขาให้เชื่อฟังโดยไม่มีข้อแม้. หากคนงานเหมืองคนไหนไม่เข้าร่วมพิธีมิสซาหรือไม่ยอมไปสารภาพบาป เขาถูกตราหน้าเป็นคนไม่เลื่อมใสศาสนาและถูกไล่ออกจากงาน. ไม่ช้า การขู่เข็ญทำนองนี้เกิดขึ้นกับพ่อเช่นกัน เพราะท่านติดต่อพยานพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม เมื่อบาทหลวงคนหนึ่งแวะมาที่บ้าน พ่อได้ประจานความหน้าซื่อใจคดทางศาสนาของเขาให้ทุกคนรู้ทั่วกัน. บาทหลวงคนนั้นรู้สึกอับอายไม่อยากมีเรื่องยุ่งยากมากกว่านี้ พ่อจึงไม่ถูกไล่ออกจากงาน.
การได้ยินและเห็นพ่อพูดกับบาทหลวงซึ่ง ๆ หน้าครั้งนั้นช่วยเสริมความตั้งใจของผมที่จะเรียนรู้พระคัมภีร์. ความรัก *—2 กษัตริย์ 10:15-17.
ของผมต่อพระยะโฮวาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ และผมยังได้พัฒนาสัมพันธภาพกับพระองค์เป็นส่วนตัว. เพียงไม่กี่เดือนหลังจากพ่อได้คุยกับบาทหลวง พวกเราก็ไปร่วมการประชุมอนุสรณ์รำลึกการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ ในโอกาสนั้นมีการแนะนำให้พ่อรู้จักคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีประมาณ 30 คนว่า “คนกลุ่มนี้คือโยนาดาบ.” ต่อมาผมจึงได้มาเรียนรู้ว่า “โยนาดาบ” หมายถึงคริสเตียนที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกและเรียนรู้อีกว่าสมาชิกของกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากขึ้น.“เด็กน้อย รู้ไหมว่าบัพติสมาหมายถึงอะไร?”
หลังจากพ่อรับเอาความจริงแล้ว ท่านเลิกดื่มเหล้าและกลายเป็นสามีที่ดี เป็นพ่อที่ดี. กระนั้น แม่ยังไม่ยอมรับแง่คิดทางศาสนาของพ่อ ทั้งเคยพูดว่าอยากให้พ่อดำเนินชีวิตแบบเดิม ๆ และยังคงเป็นชาวคาทอลิก. อย่างไรก็ดี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น แม่สังเกตเห็นพวกนักเทศน์กลุ่มเดียวกันที่เคยอธิษฐานขอให้โปแลนด์ชนะกองทัพเยอรมันที่บุกรุกเข้ามา ตอนนี้พวกเขากลับอธิษฐานโมทนาขอบคุณพระเจ้าที่ฮิตเลอร์ประสบชัยชนะ! ต่อมา ในปี 1941 แม่ร่วมสมทบพวกเราในงานรับใช้พระยะโฮวา.
ก่อนหน้านั้น ผมแจ้งความปรารถนาจะแสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยการรับบัพติสมาในน้ำ แต่ผู้ปกครองในประชาคมคิดว่าผมยังเด็กเกินไป. เขาบอกผมให้รอ. ในที่สุด วันที่ 10 ธันวาคม 1940 คอนราด กราโบวี (พี่น้องชายซึ่งตอนหลังเสียชีวิตอย่างซื่อสัตย์ในค่ายกักกัน) ได้ถามทบทวนผมอย่างระมัดระวังภายในห้องเช่าเล็ก ๆ. เขาตั้งคำถามห้าข้อให้ผมตอบ และเขาพอใจกับคำตอบทุกข้อ เขาจึงให้ผมรับบัพติสมา. ข้อหนึ่งที่ถามผมคือ “เด็กน้อย รู้ไหมว่าบัพติสมาหมายถึงอะไร?” อีกคำถามหนึ่งคือ “เธอรู้ไหมว่าเวลานี้มีสงคราม อีกไม่นานเธอต้องตัดสินใจเองว่าจะซื่อสัตย์ภักดีต่อฮิตเลอร์หรือต่อพระยะโฮวา และการตัดสินใจของเธออาจทำให้เธอถึงแก่ความตายถ้าเธอเลือกที่จะรักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระยะโฮวา?” ผมตอบทันทีว่า “เข้าใจครับ.”
การกดขี่ข่มเหงเริ่มขึ้น
เพราะเหตุใดคอนราด กราโบวีจึงตั้งคำถามเจาะจงเช่นนั้น? กองทัพเยอรมันบุกรุกประเทศโปแลนด์ปี 1939 และหลังจากนั้นความเชื่อและความซื่อสัตย์มั่นคงของเราถูกทดสอบอย่างหนักหน่วง. แต่ละวัน สภาพการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากเราได้ยินว่าพี่น้องคริสเตียนชายหญิงของเราถูกจับ, ถูกเนรเทศ, และถ้าไม่ติดคุกก็ถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน. อีกไม่ช้าไม่นานคงเป็นคราวของเราที่จะต้องเผชิญการทดสอบคล้าย ๆ กัน.
พวกนาซีต้องการเปลี่ยนคนรุ่นเยาวชน—รวมทั้งพวกเราสี่คนที่เป็นเด็ก—ให้กลายเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้นสนับสนุนฮิตเลอร์แห่งจักรวรรดิไรช์ที่สาม. เนื่องจากพ่อแม่ของเราปฏิเสธหลายครั้งไม่ยอมเซ็นชื่อในโฟคส์ลิสท์ (รายชื่อผู้ที่ต้องการมีสัญชาติเยอรมัน) ท่านทั้งสองจึงไม่มีสิทธิ์จะดูแลพวกเราที่ยังเป็นเด็ก. พ่อถูกส่งเข้าค่ายกักกันที่เอาชวิทซ์. เดือนกุมภาพันธ์ 1944 ผมกับพี่ชายถูกส่งเข้าโรงเรียนดัดสันดานในเมืองกร็อดเคาใกล้นีซา และน้องสาวทั้งสองคนถูกส่งไปอยู่ที่คอนแวนต์ของคาทอลิกในชาร์โนวงเซ (คลอสเตอร์บรึค) ใกล้โอโปเล. จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะให้พวกเราปฏิเสธสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกว่า “ทัศนคติที่หลอกลวงของบิดามารดาของเรา.” แม่ถูกทิ้งไว้ให้อยู่บ้านเพียงลำพัง.
ทุก ๆ เช้าที่สนามหน้าโรงเรียนดัดสันดานจะมีการชักธงสวัสติกะสู่ยอดเสาและพวกเราได้รับคำสั่งให้ยกมือขวาและทำความเคารพธงพร้อมกล่าวคำ “ไฮล์ฮิตเลอร์.” มันเป็นการทดสอบความเชื่ออย่างรุนแรง แต่ผมกับเบอร์นาร์ดยืนหยัดมั่นคงไม่ยอมอะลุ่มอล่วย. ผลก็คือ เราถูกเฆี่ยนเสียยับเพราะการกระทำ “ที่ขาดความเคารพนับถือ.” ความพยายามหลายอย่างที่ตามมาเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของเราก็ไม่เป็นผลเช่นกัน ดังนั้น ทหารหน่วยเอสเอสก็เลยยื่นคำขาดว่า “เว้นแต่พวกแกจะเซ็นชื่อแจ้งความภักดีต่อรัฐเยอรมันและสมทบกับเวร์มาคท์ [กองทัพเยอรมัน] ไม่อย่างนั้นเราจะส่งพวกแกไปที่ค่ายกักกัน.”
เดือนสิงหาคม 1944 เมื่อพวกเจ้าหน้าที่เห็นชอบอย่างเป็นทางการว่าต้องส่งพวกเราไปอยู่ในค่ายกักกัน เขาแถลงกิจการ 5:41) ผมไม่สามารถเผชิญความทุกข์ลำบากและอดทนอยู่ได้ด้วยกำลังวังชาของตัวเองอย่างแน่นอน. ในทางตรงกันข้าม การอธิษฐานด้วยใจแรงกล้าทำให้ผมใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น และปรากฏว่าพระองค์เป็นผู้ช่วยที่วางใจได้.—เฮ็บราย 13:6.
ดังนี้: “เป็นการเหลือวิสัยที่จะโน้มน้าวใจเด็ก ๆ เหล่านี้ให้ทำอะไรต่อมิอะไร. การพลีชีพเพื่อความเชื่อทำให้พวกเขามีความยินดี. การดื้อรั้นขัดขืนของเขาเป็นการคุกคามสถานดัดสันดานโดยรวม.” แม้ผมไม่ปรารถนาจะพลีชีพ แต่การทนทุกข์ด้วยความกล้าหาญและความภูมิใจในความซื่อสัตย์ภักดีของผมต่อพระยะโฮวาทำให้ผมมีความยินดี. (ในค่ายกักกัน
หลังจากนั้นไม่นาน ผมถูกพาตัวไปยังค่ายกักกันที่กรอส-โรเซนในซีเลเซีย. ผมได้หมายเลขประจำตัวนักโทษและเครื่องหมายสามเหลี่ยมสีม่วงระบุตัวผมเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง. ทหารหน่วยเอสเอสเสนอทางเลือกให้ผม. ผมจะถูกปล่อยตัวจากค่ายและยังจะได้เป็นนายทหารในกองทัพนาซีเสียด้วยซ้ำ ภายใต้เงื่อนไขข้อเดียว. “แกต้องประกาศตัวไม่รับแนวคิดของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอีกต่อไป ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อจักรวรรดิไรช์ที่สาม.” นักโทษคนอื่น ๆ ไม่เคยได้รับข้อเสนออย่างนี้. เฉพาะพยานพระยะโฮวาเท่านั้นที่ได้รับการเสนอโอกาสที่จะหลุดพ้นจากค่าย. กระนั้น ผม—ซึ่งก็เหมือนคนอื่น ๆ อีกหลายพันคน—ได้ยืนหยัดมั่นคงปฏิเสธ “อภิสิทธิ์” ตามแง่คิดของหน่วยทหารเอสเอส. ทหารรักษาการตอบกลับอย่างนี้: “ดูปล่องควันเตาเผาศพให้ดี. คิดอย่างจริงจังเสียใหม่เกี่ยวกับข้อเสนอนั้น หรือไม่อย่างนั้น แกจะเป็นอิสระได้ก็ต้องไปทางปล่องควันนั้น.” ผมปฏิเสธอย่างหนักแน่นอีก และชั่วขณะนั้นเอง ผมรู้สึกเต็มตื้นไปด้วย “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.
ผมทูลอธิษฐานขอให้ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมความเชื่อในค่าย และพระยะโฮวาทรงจัดให้เป็นไปได้. คนหนึ่งในท่ามกลางเพื่อนคริสเตียนคือบราเดอร์กุสตาฟ เบาเมิร์ทผู้ซื่อสัตย์ซึ่งเอาใจใส่ดูแลผมด้วยความรักและอ่อนโยน. ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ พระยะโฮวาได้พิสูจน์ให้ผมเห็นว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งความเมตตาอันอ่อนละมุนและพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.”—2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.
ไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อกองทัพรัสเซียเคลื่อนพลใกล้เข้ามา พวกนาซีจำต้องอพยพร่นหนีโดยเร็ว. ขณะเตรียมออกเดินทาง พวกเราพี่น้องชายตัดสินใจเสี่ยงชีวิตไปที่โรงนอนของผู้หญิงเพื่อตรวจดูสภาพการณ์ของพี่น้องหญิงประมาณ 20 คน ในจำนวนนั้นมีเอลซา อับท์และเกอร์ทรูด โอทท์. * พอพวกเธอเห็นเราก็รีบวิ่งมาหาและหลังจากพูดคุยให้กำลังใจกันชั่วครู่ พวกเธอก็ร่วมกันร้องเพลงราชอาณาจักรที่มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “บุคคลผู้สัตย์ซื่อ บุคคลผู้ภักดีจะไม่ต้องหวั่นภัยน่ากลัว.” * พวกเราทุกคนถึงกับน้ำตาซึม!
ไปยังค่ายถัดไป
พวกนาซีได้เอาพวกเรา 100-150 คนที่เป็นนักโทษยัดใส่ตู้รถไฟบรรทุกถ่านหินที่ว่างอยู่ โดยไม่ให้อาหารหรือน้ำเลย และพวกเราเดินทางฝ่าน้ำค้างแข็งและฝนที่เย็นเยือกเป็นน้ำแข็ง. พวกเราทุกข์ทรมานเพราะกระหายน้ำและเป็นไข้. เมื่อนักโทษป่วย หมดกำลังและล้มตาย ตู้รถไฟจึงไม่ค่อยมีคนแน่น. ขาและข้อต่อต่าง ๆ ของผมบวมเป่งจนไม่สามารถยืนได้. หลังจากเดินทางสิบวัน จำนวนนักโทษเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิตได้มาถึงค่ายนักโทษอุกฉกรรจ์แห่งมิทเทลเบา-โดราในนอร์ดเฮาเซน ซึ่งอยู่ใกล้ไวมาร์ในทูรินเจีย. เป็นที่น่าสังเกต พี่น้องของเราไม่มีสักคนเสียชีวิตระหว่างการเดินทางอันน่ากลัวครั้งนั้น.
พอผมเริ่มฟื้นตัวได้ใหม่หลังการเดินทาง ก็มีโรคบิดระบาดไปทั่วค่าย ผมและพี่น้องบางคนล้มป่วย. มีคนบอกเราให้งดอาหารเหลวประเภทซุปที่ทางค่ายจัดให้สักระยะหนึ่ง และให้กินแต่ขนมปังที่ไหม้เกรียม. ผมได้ทำอย่างที่เขาบอกและไม่นานก็หายโรค. เดือนมีนาคม 1945 เราได้ยินว่าข้อคัมภีร์ประจำปีคือมัดธาย 28:19 “เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกประเทศให้เป็นสาวก.” ดูท่าว่าอีกไม่นานประตูค่ายต่าง ๆ จะเปิดและข่าวดีจะต้องได้ประกาศต่อ ๆ ไป! นั่นทำให้เราเปี่ยมด้วยความยินดีและความหวัง เนื่องจากเราเคยคิดว่าจุดสุดยอดของสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงด้วยอาร์มาเก็ดดอน. น่าพิศวงอะไรเช่นนั้นที่พระยะโฮวาได้เสริมกำลังพวกเราให้เข้มแข็งตลอดช่วงเวลาอันยากลำบากนั้น!
การปลดปล่อยจากค่าย
วันที่ 1 เมษายน 1945 กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดโรงนอนหน่วยทหารเอสเอสและค่ายของเราที่อยู่ใกล้กัน. หลายคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ. วันรุ่งขึ้น มีการทิ้งระเบิดโจมตีพวกเราอย่างหนัก และระหว่างการโจมตีนั้น แรงระเบิดที่มีอานุภาพทำเอาตัวผมกระดอนขึ้นไปในอากาศ.
ฟริตซ์ อุลริค หนึ่งในจำนวนพี่น้องได้เข้ามาช่วยเหลือ. เขาขุดเข้าไปใต้กองเศษอิฐเศษหิน โดยหวังว่าผมยังไม่ตาย. ในที่สุด เขาก็พบผมแล้วลากตัวออกจากใต้กองซากปรักหักพัง. เมื่อผมฟื้นคืนสติ ผมก็รู้ว่าผมบาดเจ็บหลายแห่ง ทั้งบนใบหน้าและตามร่างกายและไม่สามารถได้ยินเสียงอะไรเลย. เสียงระเบิดได้ทำความเสียหายแก่แก้วหูของผม. การได้ยินของผมเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่นานหลายปี กว่าจะรักษาหายในที่สุด.
จากจำนวนนักโทษหลายพันคน มีไม่กี่คนรอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดครั้งนั้น. พี่น้องบางคนถึงแก่ชีวิต กุสตาฟ เบาเมิร์ทผู้เป็นที่รักของผมก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น. เนื่องจากแผลติดเชื้อทำให้ผมนอนซมและมีไข้สูง. แต่จากนั้นไม่นาน กองกำลังฝ่ายพันธมิตรก็ค้นพบพวกเราแล้วปล่อยให้เป็นอิสระ. ในเวลาเดียวกัน ศพที่เน่าอืดและศพพวกนักโทษที่ถูกสังหารซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของไข้รากสาดใหญ่ ผมเองพลอยติดเชื้อไข้ไปด้วย. ผมพร้อมกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล. แม้พวกแพทย์พยายามช่วยเต็มที่ แต่มีพวกเราสามคนเท่านั้นรอดตาย. ผมรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาเหลือเกินที่ทรงโปรดให้กำลังแก่ผมที่สามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น! อนึ่ง ส่วนตัวผมเอง ผมดีใจที่พระยะโฮวาทรงช่วยชีวิตผมออกจาก ‘เงามืด’ แห่งความตาย.—บทเพลงสรรเสริญ 23:4.
กลับบ้านในที่สุด
ภายหลังฝ่ายเยอรมันยอมแพ้ ผมหวังจะกลับบ้านโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ยากเกินกว่าที่ผมคาดหวัง. อดีตนักโทษบางคนซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการคาทอลิกจำผมได้ ต่างก็พากันตะโกนว่า “ฆ่ามันเสีย!” และผลักผมล้มลงไปนอนกับพื้นแล้วรุมกระทืบ. ชายคนหนึ่งได้เข้ามาช่วยผมพ้นจากการกระทำที่โหดร้ายทารุณนั้น แต่กว่าผมจะหายเป็นปกติก็นานพอสมควร เนื่องจากผมบาดเจ็บและยังรู้สึกอ่อนเปลี้ยเพราะไข้รากสาดเล่นงาน. แต่ในที่สุด ผมก็กลับถึงบ้าน. ผมดีใจเมื่อได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีก! ทุกคนตื่นเต้นยินดีที่เห็นหน้าผม เพราะเขาคิดว่าผมตายแล้ว.
ไม่ช้าพวกเราเริ่มงานเผยแพร่อีก และผู้แสวงความจริงอย่างจริงใจหลายคนได้ตอบรับสิ่งที่เราสอน. ผมมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลแผนกสรรพหนังสือในประชาคม. ผมพร้อมกับพี่น้องคนอื่นได้มีโอกาสพบปะตัวแทนจากสำนักงาน
สาขาเยอรมนีในเมืองไวมาร์ และจากที่นั่นเรากลับไปที่โปแลนด์พร้อมกับนำวารสารหอสังเกตการณ์ภาษาเยอรมันบางฉบับไปด้วย เป็นฉบับแรก ๆ ซึ่งพิมพ์ออกมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2. แล้วการแปลก็เริ่มขึ้นทันที มีการเตรียมพิมพ์โรเนียว และพิมพ์เป็นฉบับสำเนาออกมา. เมื่อสำนักงานของเราในเมืองลอดส์รับเอาหน้าที่ดูแลกิจการในโปแลนด์เต็มอัตรา ประชาคมต่าง ๆ ก็เริ่มได้รับสรรพหนังสือที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำ. ผมเริ่มรับใช้ฐานะไพโอเนียร์พิเศษ หรือผู้เผยแพร่เต็มเวลา ครอบคลุมพื้นที่กว้างของซีเลเซีย ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวลานั้นเป็นของโปแลนด์.อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานพยานพระยะโฮวาถูกข่มเหงอีก คราวนี้โดยระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ที่ตั้งขึ้นใหม่ในโปแลนด์. เนื่องจากผมรักษาความเป็นกลางฐานะคริสเตียน ในปี 1948 ผมถูกตัดสินให้ติดคุกสองปี. ระหว่างอยู่ในคุก ผมสามารถช่วยนักโทษหลายคนให้เข้ามารู้จักและใกล้ชิดพระเจ้า. หนึ่งในจำนวนนี้ยืนหยัดอยู่ฝ่ายความจริง และตอนหลังเขาอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและได้รับบัพติสมา.
ปี 1952 ผมถูกส่งตัวเข้าคุกอีก ครั้งนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักสืบราชการลับให้ฝ่ายสหรัฐ! ขณะรอการพิจารณาคดี ผมถูกแยกขังเดี่ยว และเขาซักถามผมทั้งวันทั้งคืน. แต่พระยะโฮวาได้ช่วยผมหลุดรอดเงื้อมมือผู้ข่มเหงอีกครั้งหนึ่ง และในหลายปีต่อมา ผมไม่ประสบการกระทำทารุณเช่นนั้นอีกเลย.
สิ่งที่ช่วยผมให้อดทน
ขณะที่ผมมองย้อนไปดูเวลาหลายปีที่ผมได้ทนการทดลองและความยากลำบาก ผมสามารถระบุบางแหล่งที่ให้การชูใจที่สำคัญได้. แรกทีเดียว พลังเข้มแข็งที่จะอดทนมาจากพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล. คำวิงวอนขอด้วยใจแรงกล้าอย่างไม่ละลดต่อ “พระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง” และศึกษาพระคำของพระองค์ทุก ๆ วันช่วยค้ำจุนผมและคนอื่น ๆ ให้ยึดมั่นในความเชื่อ. สำเนาวารสารหอสังเกตการณ์ ที่คัดลอกด้วยมือก็เป็นอาหารบำรุงฝ่ายวิญญาณซึ่งจำเป็นมากต่อการเสริมความเชื่อให้มั่นคง. เมื่ออยู่ในค่ายกักกัน ผมได้รับการเสริมกำลังเป็นอย่างมากจากเพื่อนร่วมความเชื่อซึ่งอยู่พร้อมและเต็มใจช่วยเหลือ.
มารียา ภรรยาของผมเป็นพระพรอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้รับจากพระยะโฮวา. เราแต่งงานเมื่อเดือนตุลาคม 1950 และในเวลาต่อมา ได้ลูกสาวคนหนึ่งชื่อฮาลินา เมื่อเติบใหญ่แล้วก็รักและรับใช้พระยะโฮวา. ผมแต่งงานกับมารียามา 35 ปี แล้วเธอเสียชีวิตภายหลังการต่อสู้โรคร้ายอยู่นาน. การตายของเธอทำให้ผมเศร้าโศกและปวดร้าวมาก. ถึงแม้ผมรู้สึกว่า “ถูกตีล้มลง” ผมก็ “ไม่ถูกทำลาย.” (2 โกรินโธ 4:9, ล.ม.) ในช่วงที่ยากลำบากนั้น ผมได้รับการเกื้อหนุนจากการไปมาหาสู่ของลูกสาวที่รักพร้อมทั้งสามีและลูก ๆ ของเธอ—ซึ่งก็เป็นหลานของผม—พวกเขาทั้งหมดต่างก็รับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์.
ตั้งแต่ปี 1990 ผมได้รับใช้ในสำนักงานสาขาประเทศโปแลนด์. การสมาคมคบหากับครอบครัวเบเธลทุกวันเป็นพระพรยิ่งใหญ่. บางครั้ง สุขภาพที่เสื่อมทรุดทำให้ผมรู้สึกเหมือนนกอินทรีที่อ่อนเปลี้ยทำได้แค่กางปีกร่อนวนไปมา. กระนั้นก็ดี ผมมองอนาคตด้วยความมั่นใจ และผมจะ “ร้องเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา, เพราะพระองค์ได้ทรงแสดงพระกรุณาคุณอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 13:6) ผมตั้งตารอเวลาเมื่อพระยะโฮวาองค์อุปถัมภ์ของผมจะทรงลบล้างความเสียหายทั้งสิ้นอันเนื่องมาจากระบบทรราชภายใต้การปกครองของซาตาน.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 8 โปรดอ่าน หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มกราคม 1998 หน้า 13 วรรค 6.
^ วรรค 20 อ่านชีวประวัติของเอลซา อับท์ได้ในวารสารหอสังเกตการณ์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับ 15 เมษายน 1980 หน้า 12-15.
^ วรรค 20 เพลงบท 101 ในหนังสือเพลงปี 1928 ชื่อบทเพลงสรรเสริญพระยะโฮวา จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. บทเพลงดังกล่าวคือบท 56 ในหนังสือเพลงที่ใช้ในปัจจุบัน.
[ภาพหน้า 10]
ผมได้รับเลขประจำตัวนี้และสามเหลี่ยมสีม่วงในค่ายกักกัน
[ภาพหน้า 12]
ผมกับมารียาภรรยา ปี 1980