“พระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา”
“พระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา”
“ท่านทั้งหลายจงมีความเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา.” —ลูกา 6:36, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. ถ้อยคำของพระเยซูที่ตรัสกับพวกอาลักษณ์และฟาริซายและเหล่าสาวกของพระองค์แสดงอย่างไรว่าความเมตตาเป็นคุณลักษณะที่น่าปรารถนา?
กฎหมายที่ประทานโดยทางโมเซมีข้อกำหนดและข้อบังคับประมาณ 600 ข้อ. แม้ว่ามีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธะที่กำหนดไว้ในพระบัญญัติของโมเซ แต่การแสดงความเมตตาก็มีความสำคัญมากเช่นกัน. ขอให้พิจารณาถ้อยคำที่พระเยซูตรัสกับพวกฟาริซายผู้ไม่มีเมตตาจิต. มีอยู่สองโอกาสที่พระองค์ทรงตำหนิพวกเขาโดยชี้ว่าพระเจ้าทรงมีพระบัญชาว่า “เราประสงค์ความเมตตา, และเครื่องบูชาเราไม่ประสงค์.” (มัดธาย 9:10-13; 12:1-7; โฮเซอา 6:6) เมื่อใกล้จะสิ้นสุดงานรับใช้ของพระองค์ พระเยซูตรัสว่า “วิบัติแก่เจ้าพวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย, คนหน้าซื่อใจคด ด้วยพวกเจ้าถวายสะระแหน่ยี่หร่าและขมิ้นสิบลดหนึ่ง ส่วนข้อสำคัญแห่งพระบัญญัติคือความชอบธรรมความเมตตาความเชื่อนั้นได้ละเว้นเสีย.”—มัดธาย 23:23.
2 ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าพระเยซูทรงถือว่าความเมตตามีค่าสูงยิ่ง. พระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ท่านทั้งหลายจงมีความเมตตากรุณาเหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา.” (ลูกา 6:36, ฉบับแปลใหม่) แต่เพื่อจะ “ประพฤติอย่างพระเจ้า” ในแง่นี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่าความเมตตาที่แท้จริงนั้นคืออะไร. (เอเฟโซ 5:1) นอกจากนั้น ความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ของความเมตตาจะกระตุ้นเราให้แสดงคุณลักษณะนี้เต็มที่ยิ่งขึ้นในชีวิตเรา.
เมตตาคนที่ลำบาก
3. เหตุใดเราควรมองไปยังพระยะโฮวาเพื่อจะเรียนรู้ว่าความเมตตาที่แท้จริงเป็นเช่นไร?
3 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “พระยะโฮวาทรงเมตตากรุณา ทรงพระพิโรธช้าและมีความกรุณารักใคร่ยิ่งนัก. พระยะโฮวาทรงดีต่อทุกคน และพระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:8, 9, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเป็น “พระบิดาแห่งความเมตตากรุณาและเป็นพระเจ้าแห่งการชูใจทุกอย่าง.” (2 โกรินโธ 1:3, ล.ม.) บุคคลผู้มีความเมตตาปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่กรุณาหรือสงสาร. นี่นับเป็นแง่มุมสำคัญอย่างหนึ่งในบุคลิกภาพของพระเจ้า. แบบอย่างและคำแนะนำสั่งสอนของพระองค์สามารถสอนเราได้ว่าความเมตตาที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร.
4. ยะซายา 49:15 สอนอะไรแก่เราในเรื่องความเมตตา?
4 ดังบันทึกที่ยะซายา 49:15 พระยะโฮวาตรัสว่า “หญิงจะลืมลูกกำลังดูดนมอยู่และมิได้เมตตาแก่บุตรอันเกิดมาจากครรภ์ของตนได้ หรือ?” คำภาษาฮีบรูที่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดกับคำซึ่งแปลในที่นี้ว่า “เมตตา” มีความเกี่ยวข้องกับความเมตตาที่กล่าวถึงในบทเพลงสรรเสริญ 145:8, 9 ดังยกมาแล้วข้างต้น. ความรู้สึกที่กระตุ้นพระยะโฮวาให้แสดงความเมตตานั้นเทียบได้กับความรู้สึกอันอบอุ่นของแม่ที่ให้นมลูกมีต่อลูก. ทารกอาจหิวหรือมีความจำเป็นอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการดูแล. เพราะถูกกระตุ้นโดยความรู้สึกสงสารหรือเห็นอกเห็นใจเมื่อเห็นลูกเป็นอย่างนั้น มารดาจึงดูแลใส่ใจในสิ่งที่ทารกจำเป็นต้องได้รับ. พระยะโฮวาทรงมีความรู้สึกอันอ่อนละมุนเช่นนั้นต่อคนที่พระองค์ทรงแสดงความเมตตา.
5. พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรง “มีพระเมตตาอันอุดม” ต่อชาติอิสราเอล?
5 เป็นเรื่องน่าชมเชยที่จะรู้สึกสงสารผู้อื่น แต่จะดียิ่งกว่านั้นหากลงมือทำเพื่อประโยชน์ของคนที่ลำบาก. ขอให้พิจารณาว่าพระยะโฮวาทรงตอบสนองอย่างไรเมื่อผู้นมัสการพระองค์ตกเป็นทาสในอียิปต์เมื่อราว ๆ 3,500 ปีก่อน. พระองค์ทรงบอกกับโมเซว่า “แท้จริงเราได้เห็นความทุกข์ของพวกพลไพร่ของเราที่อยู่ประเทศอายฆุบโต; เราได้ยินเสียงร้องของเขาเพราะการกระทำของนายงานนั้น; เรารู้ถึงความทุกข์โศกของเขา. เราลงมาเพื่อจะได้ช่วยให้เขารอดจากชาติอายฆุบโต, และนำเขาออกจากประเทศนั้นไปยังแผ่นดินที่ดี, กว้างขวาง, บริบูรณ์ด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง.” (เอ็กโซโด 3:7, 8) ประมาณ 500 ปีหลังจากชาวอิสราเอลเป็นอิสระจากอียิปต์ พระยะโฮวาทรงเตือนพวกเขาให้ระลึกว่า “เราได้นำพวกยิศราเอลขึ้นมาจากแผ่นดินอายฆุบโต, ได้ช่วยให้พ้นจากอำนาจชาวอายฆุบโต, ทั้งพ้นอำนาจบรรดาประเทศที่ข่มเหงท่านด้วย.” (1 ซามูเอล 10:18) เนื่องจากหันเหไปจากมาตรฐานอันชอบธรรมของพระเจ้า ชาวอิสราเอลจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างหนักอยู่บ่อยครั้ง. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงรู้สึกสงสารพวกเขาและทรงช่วยพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า. (วินิจฉัย 2:11-16; 2 โครนิกา 36:15) เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดถึงแนวทางที่พระเจ้าผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงตอบสนองต่อคนที่ขัดสน ตกอยู่ในอันตราย หรือลำบาก. พระยะโฮวาทรง “มีพระเมตตาอันอุดม.”—เอเฟโซ 2:4, ล.ม.
6. พระเยซูคริสต์ทรงเลียนแบบพระบิดาของพระองค์อย่างไรในการแสดงความเมตตา?
6 เมื่อทรงอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูคริสต์ทรงเลียนแบบอย่างพระบิดาของพระองค์อย่างสมบูรณ์แบบในการแสดงความเมตตา. พระเยซูทรงแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อชายตาบอดสองคนอ้อนวอนพระองค์ว่า “พระองค์ผู้เป็นบุตรดาวิดเจ้าข้า ขอทรงเมตตาข้าพระองค์เถิด”? พวกเขาทูลขอพระเยซูทรงช่วยรักษาให้เขามองเห็นได้อีกด้วยวิธีอัศจรรย์. พระเยซูทรงทำตามคำขอนั้น แต่พระองค์มิได้ทำการอัศจรรย์นั้นโดยปราศจากความรู้สึก. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “พระเยซูมีพระทัยสงสารก็ทรงถูกต้องนัยน์ตาเขา ในทันใดนั้นตาของเขาก็เห็นได้.” (มัดธาย 20:30-34, ฉบับแปลใหม่) ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ทำการอัศจรรย์หลายอย่างที่ช่วยบรรเทาทุกข์แก่คนตาบอด, คนถูกผีสิง, คนโรคเรื้อน, และบิดามารดาที่มีบุตรที่ทนทุกข์ทรมาน.—มัดธาย 9:27; 15:22; 17:15; มาระโก 5:18, 19; ลูกา 17:12, 13.
7. ตัวอย่างของพระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตรสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับความเมตตา?
7 ตัวอย่างของพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์แสดงว่าความเมตตามีองค์ประกอบอยู่สองส่วนคือ ความรู้สึกสงสาร, เห็นอกเห็นใจ, หรือเวทนาต่อคนที่ลำบาก และการกระทำที่ช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้รับ. การมีความเมตตาต้องมีทั้งสององค์ประกอบ. ในพระคัมภีร์ มีการใช้คำความเมตตาบ่อยครั้งที่สุดเมื่อกล่าวถึงการแสดงออกที่ดีด้วยการกระทำอันกรุณาต่อคนที่ลำบากเดือดร้อน. แต่มีการแสดงความเมตตาอย่างไรในกรณีที่มีการพิพากษาตัดสิน? ความเมตตาหมายรวมถึงการไม่กระทำด้วยไหม เช่น การงดเว้นการลงโทษ?
เมตตาผู้ล่วงละเมิด
8, 9. มีการแสดงความเมตตาเช่นไรต่อดาวิดหลังจากที่ท่านทำบาปกับนางบัธเซบะ?
8 ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผู้พยากรณ์นาธานเผชิญหน้ากับกษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณด้วยเรื่องที่ดาวิดทำผิดศีลธรรมกับนางบัธเซบะ. ดาวิดผู้กลับใจอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระเจ้า, ขอพระองค์ทรงพระเมตตาแก่บทเพลงสรรเสริญ 51:1-4.
ข้าพเจ้าให้สมกับพระกรุณาคุณของพระองค์. ขอทรงลบล้างการล่วงละเมิดของข้าพเจ้าตามพระทัยบริบูรณ์ด้วยพระเมตตาปรานีอันอ่อนละมุนของพระองค์. ขอพระองค์ทรงล้างข้าพเจ้าให้หมดจดจากความอสัตย์อธรรมของข้าพเจ้า, และทรงชำระข้าพเจ้าให้ปราศจากความผิด. เพราะข้าพเจ้ารู้สำนึกการล่วงละเมิดของข้าพเจ้าแล้ว; และการบาปของข้าพเจ้าก็อยู่ต่อหน้าข้าพเจ้าเสมอ. ข้าพเจ้าได้กระทำผิดต่อพระองค์, ต่อพระองค์แต่ผู้เดียว, และได้กระทำชั่วต่อพระเนตรพระองค์.”—9 ดาวิดรู้สึกเสียใจอย่างมาก. พระยะโฮวาทรงให้อภัยบาปของท่านและทรงลดหย่อนโทษให้ท่านกับบัธเซบะ. ตามพระบัญญัติของโมเซ ทั้งดาวิดและบัธเซบะควรถูกลงโทษถึงตาย. (พระบัญญัติ 22:22) แม้ว่าไม่อาจหนีพ้นผลต่าง ๆ ของบาปที่ตนทำ แต่ทั้งสองได้รับการไว้ชีวิต. (2 ซามูเอล 12:13) การแสดงความเมตตาของพระเจ้าหมายรวมถึงการให้อภัยความผิดพลาด. อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ทรงยับยั้งการลงโทษที่เหมาะสม.
10. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาในการพิพากษา เหตุใดเราต้องไม่ฉวยประโยชน์จากความเมตตาของพระองค์?
10 เนื่องจาก “บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคน ๆ เดียว [อาดาม]” และ “ค่าจ้างของความบาปนั้นคือความตาย” มนุษย์ทุกคนจึงสมควรตาย. (โรม 5:12, ฉบับแปลใหม่; 6:23) เรารู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงแสดงความเมตตาเมื่อพระองค์ทรงพิพากษาเรา! อย่างไรก็ตาม เราต้องระวังจะไม่ฉวยประโยชน์จากความเมตตาของพระเจ้า. พระบัญญัติ 32:4 กล่าวว่า “ทางทั้งปวงของ [พระยะโฮวา] ยุติธรรม.” เมื่อทรงเลือกจะแสดงความเมตตา พระเจ้าไม่ทรงเพิกเฉยต่อมาตรฐานอันสมบูรณ์ของพระองค์ในเรื่องความยุติธรรม.
11. พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นการคำนึงถึงอย่างเหมาะสมในเรื่องความยุติธรรมอย่างไรในการจัดการกับดาวิดเมื่อท่านทำบาปกับบัธเซบะ?
11 ในกรณีของดาวิดกับบัธเซบะ ก่อนที่จะลดหย่อนโทษตายได้ต้องมีการให้อภัยบาปแก่คนทั้งสองก่อน. ผู้พิพากษาชาวอิสราเอลไม่มีอำนาจทำอย่างนี้. หากพวกเขาได้รับอนุญาตให้พิพากษาคดีนี้ พวกเขาคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตัดสินลงโทษประหารชีวิต. นั่นคือสิ่งที่พระบัญญัติกำหนดไว้. แต่เนื่องจากสัญญาที่ทรงทำไว้กับดาวิด พระยะโฮวาทรงประสงค์จะมองหาว่ามีเหตุผลที่จะให้อภัยบาปแก่ดาวิดหรือไม่. (2 ซามูเอล 7:12-16) ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาพระเจ้า “ผู้พิพากษาแห่งแผ่นดินโลกทั้งสิ้น” ผู้ทรงเป็น “ผู้ตรวจดูหัวใจ” ทรงเลือกจัดการเรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง. (เยเนซิศ 18:25, ล.ม.; 1 โครนิกา 29:17, ล.ม.) พระเจ้าทรงอ่านหัวใจของดาวิดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ประเมินได้ว่าท่านกลับใจอย่างแท้จริง และทรงให้อภัย.
12. โดยวิธีใดมนุษย์ที่ผิดบาปอาจรับประโยชน์จากความเมตตาของพระเจ้า?
12 ความเมตตาที่พระยะโฮวาทรงแสดงต่อเราโดยทำให้เป็นไปได้ที่เราจะหลุดพ้นจากโทษตายอันเนื่องจากบาปที่ได้รับตกทอดมานั้นสอดคล้องกับความยุติธรรมของพระองค์. มัดธาย 20:28; โรม 6:22, 23) เพื่อเราจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระเจ้า ซึ่งสามารถช่วยเราให้รอดจากการถูกลงโทษเพราะบาปที่ได้รับตกทอดมา เราต้อง “แสดงความเชื่อในพระบุตร.”—โยฮัน 3:16, 36, ล.ม.
เพื่อให้การให้อภัยบาปเป็นไปได้โดยไม่ละเมิดความยุติธรรม พระยะโฮวาทรงจัดให้มีเครื่องบูชาไถ่ของพระบุตร คือพระเยซูคริสต์ ซึ่งนับเป็นการแสดงความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการทำกันมา. (พระเจ้าผู้ทรงเมตตาและยุติธรรม
13, 14. ความเมตตาของพระเจ้าทำให้ความยุติธรรมของพระองค์อ่อนลงไหม? จงอธิบาย.
13 แม้ว่าความเมตตาของพระยะโฮวาไม่ละเมิดมาตรฐานด้านความยุติธรรมของพระองค์ แต่ความเมตตาของพระองค์มีผลกระทบต่อความยุติธรรมของพระองค์ในทางใดทางหนึ่งไหม? ความเมตตาลดผลกระทบของความยุติธรรมของพระเจ้าให้น้อยลงโดยทำให้ความยุติธรรมอ่อนลงไหม? ไม่ใช่เช่นนั้น.
14 โดยทางผู้พยากรณ์โฮเซอา พระยะโฮวาทรงบอกชาวอิสราเอลว่า “เราจะหมั้นเจ้าไว้สำหรับเราเป็นนิตย์ เออเราจะหมั้นเจ้าไว้ด้วยความชอบธรรม ความยุติธรรม ความรักมั่นคง และความกรุณา.” (โฮเซอา 2:19, ฉบับแปลใหม่) คำตรัสดังกล่าวแสดงชัดว่าการแสดงความเมตตาของพระยะโฮวานั้นสอดคล้องเสมอกับคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์ รวมทั้งความยุติธรรมด้วย. พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณา . . . ทรงโปรดยกโทษความผิดพลาดและการล่วงละเมิดและบาป แต่พระองค์จะไม่ทรงละเว้นการลงโทษเป็นอันขาด.” (เอ็กโซโด 34:6, 7, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าที่เมตตาและยุติธรรม. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระองค์ว่า “พระองค์เป็นศิลา, กิจการของพระองค์ดีรอบคอบ; เพราะทางทั้งปวงของพระองค์ยุติธรรม.” (พระบัญญัติ 32:4) ความยุติธรรมของพระเจ้านั้นสมบูรณ์ เช่นเดียวกับความเมตตาของพระองค์. ไม่มีคุณลักษณะใดที่เหนือกว่า และคุณลักษณะหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยอีกคุณลักษณะหนึ่งมาถ่วงดุล. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น คุณลักษณะทั้งสองทำหน้าที่ประสานกันอย่างสมบูรณ์.
15, 16. (ก) อะไรแสดงว่าความยุติธรรมของพระเจ้าไม่แข็งกร้าว? (ข) เมื่อพระยะโฮวาทรงสำเร็จโทษระบบชั่วนี้ ผู้นมัสการพระองค์สามารถมั่นใจในเรื่องใด?
15 ความยุติธรรมของพระยะโฮวาไม่แข็งกร้าว. ตามปกติแล้ว ความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับแง่มุมทางกฎหมาย และการพิพากษามักเรียกร้องให้ตัดสินลงโทษคนทำผิดให้สาสมกับความผิด. อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมของพระเจ้ายังสามารถหมายรวมถึงความรอดสำหรับคนที่สมควรได้รับด้วย. ตัวอย่างเช่น เมื่อคนชั่วในเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์ถูกทำลาย โลต ปฐมบรรพบุรุษ และลูกสาวสองคนได้รับการช่วยให้รอดชีวิต.—เยเนซิศ 19:12-26.
16 เรามั่นใจได้ว่าเมื่อพระยะโฮวาทรงสำเร็จโทษระบบชั่วในปัจจุบัน “ชนฝูงใหญ่” แห่งผู้นมัสการแท้ซึ่ง “ได้ซักเสื้อคลุมของตนและทำให้ขาวด้วยพระโลหิตของพระเมษโปดก” จะได้รับการไว้ชีวิต. ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจะ “ผ่านความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.”—วิวรณ์ 7:9-14, ล.ม.
เหตุใดเราควรมีเมตตา?
17. มีเหตุผลพื้นฐานอะไรที่จะแสดงความเมตตา?
17 ตัวอย่างของพระยะโฮวาและพระเยซูคริสต์สอนเราจริง ๆ ว่าความเมตตาที่แท้จริงเป็นเช่นไร. สุภาษิต 19:17 ให้เหตุผลพื้นฐานที่จะมีความ เมตตา โดยกล่าวว่า “คนที่เอ็นดูเผื่อแผ่แก่คนยากจนเปรียบเหมือนได้ให้พระยะโฮวาทรงยืมไป; และพระองค์จะทรงตอบแทนคุณความดีของเขา.” พระยะโฮวาทรงยินดีเมื่อเราเลียนแบบพระองค์และพระบุตรโดยแสดงความเมตตาในการปฏิบัติต่อกัน. (1 โกรินโธ 11:1) และคนอื่น ๆ ได้รับการสนับสนุนให้แสดงความเมตตา เพราะความเมตตาชักนำให้เกิดความเมตตา.—ลูกา 6:38.
18. เหตุใดเราควรพยายามแสดงความเมตตา?
18 มีคุณลักษณะที่ดีหลายอย่างรวมอยู่ในความเมตตา. ความเมตตาเกี่ยวข้องกับความสุภาพ, ความรัก, ความกรุณา, และความดี. ความรู้สึกสงสารหรือเห็นอกเห็นใจอันอ่อนละมุนเป็นแรงกระตุ้นให้ลงมือกระทำด้วยความเมตตา. แม้ว่าการแสดงความเมตตาของพระเจ้าไม่ลดทอนความยุติธรรมให้อ่อนลง แต่พระยะโฮวาทรงช้าในการโกรธและทรงอดทนเพื่อให้คนที่ทำผิดมีเวลาพอจะกลับใจ. (2 เปโตร 3:9, 10) ด้วยเหตุนั้น ความเมตตาจึงเกี่ยวข้องกับความอดทนและความอดกลั้นไว้นาน. เนื่องจากความเมตตามีคุณลักษณะที่ดีหลายอย่างเกี่ยวข้องอยู่ด้วย—รวมถึงแง่ต่าง ๆ ของผลแห่งพระวิญญาณของพระเจ้า—ความเมตตาจึงกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่อาจช่วยพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) นับว่าสำคัญจริง ๆ ที่เราจะพยายามแสดงความเมตตา!
“บุคคลผู้ใดมีใจเมตตาปรานีก็เป็นสุข”
19, 20. ความเมตตามีชัยเหนือการพิพากษาในทางใด?
19 สาวกยาโกโบบอกเราถึงเหตุผลที่เราควรแสดงความเมตตาต่อผู้อื่นอยู่เสมอ. ท่านเขียนว่า “ความเมตตาย่อมมีชัยเหนือการพิพากษา.” (ยาโกโบ 2:13ข, ฉบับแปล 2002) ยาโกโบกำลังกล่าวถึงความเมตตาที่ผู้นมัสการพระยะโฮวาแสดงต่อผู้อื่น. ความเมตตานั้นมีชัยเหนือการพิพากษาในแง่ที่ว่าเมื่อถึงเวลาที่คนเราต้อง “ให้การเรื่องของตัวเองต่อพระเจ้า” พระยะโฮวาจะทรงพิจารณาโดยคำนึงถึงการที่เขาปฏิบัติอย่างเมตตาและจะให้อภัยเขาโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่แห่งพระบุตรของพระองค์. (โรม 14:12, ล.ม.) ไม่ต้องสงสัย เหตุผลหนึ่งที่ดาวิดได้รับความเมตตาแม้ว่าได้ทำบาปกับบัธเซบะก็เนื่องจากท่านเป็นคนมีความเมตตา. (1 ซามูเอล 24:4-7) ตรงกันข้าม “การพิพากษาย่อมไม่เมตตาต่อคนที่ไม่แสดงความเมตตา.” (ยาโกโบ 2:13ก, ฉบับแปล 2002) ไม่แปลกที่คนที่ “ปราศจากความเมตตา” ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มคนที่พระเจ้าทรงถือว่า “สมควรจะตาย”!—โรม 1:31, 32.
20 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูตรัสว่า “บุคคลผู้ใดมีใจเมตตาปรานีก็เป็นสุข, เพราะว่าเขาจะได้รับความเมตตาปรานีเหมือนกัน.” (มัดธาย 5:7) คำตรัสดังกล่าวช่างแสดงอย่างมีน้ำหนักสักเพียงไรว่าคนที่อยากได้รับความเมตตาจากพระเจ้าเขาเองควรแสดงความเมตตา! บทความถัดไปจะพิจารณาวิธีที่เราสามารถแสดงความเมตตาในชีวิตประจำวัน.
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
• ความเมตตาคืออะไร?
• ความเมตตาแสดงออกในทางใดบ้าง?
• พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าแห่งความเมตตาและความยุติธรรมในทางใด?
• เหตุใดเราควรมีความเมตตา?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 21]
ความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระยะโฮวาต่อคนที่ลำบากเดือดร้อนนั้นเหมือนกับความรู้สึกที่มารดามีต่อบุตรน้อย
[ภาพหน้า 23]
เราเรียนอะไรเกี่ยวกับความเมตตาจากการที่พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์?
[ภาพหน้า 24]
พระยะโฮวาทรง ละเมิดความยุติธรรมของ พระองค์ไหมโดยที่ทรงแสดงความเมตตาต่อดาวิด?
[ภาพหน้า 25]
ความเมตตาของพระเจ้าต่อมนุษย์ที่ผิดบาปสอดคล้องกับความยุติธรรมของพระองค์