แสดงความเมตตา—โดยวิธีใด?
แสดงความเมตตา—โดยวิธีใด?
“ให้เราทำดีต่อทุกคน โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา.” —ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.
1, 2. อุทาหรณ์เรื่องชาวซะมาเรียผู้มีไมตรีจิตสอนอะไรแก่เราเกี่ยวกับความเมตตา?
ขณะที่สนทนากับพระเยซูอยู่นั้น ชายคนหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญในพระบัญญัติถามพระองค์ว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” พระเยซูทรงตอบโดยเล่าอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้: “มีคนหนึ่งลงไปจากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ, และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี, แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตายแล้ว. เผอิญปุโรหิตคนหนึ่งเดินไปทางนั้น, เมื่อเห็นคนนั้นก็เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง. คนหนึ่งในพวกเลวีก็ทำเหมือนกัน, เมื่อมาถึงที่นั่นและเห็นแล้วก็เลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง. แต่ชาวซะมาเรียคนหนึ่งเมื่อเดินทางมาถึงคนนั้น, ครั้นเห็นแล้วก็มีใจเมตตา เข้าไปหาเขาเอาผ้าพันบาดแผลให้, เอาน้ำมันกับน้ำองุ่นเทใส่บาดแผลนั้น, แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเองพามาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง, และรักษาพยาบาลเขาไว้. วันรุ่งขึ้นเมื่อจะไปเขาก็เอาเงินสองบาทมอบให้เจ้าของโรงแรมบอกว่า, ‘จงรักษาเขาไว้เถิด, และเงินที่จะเสียเกินนี้, เมื่อกลับมาฉันจะใช้ให้.’ ” จากนั้น พระเยซูทรงถามผู้ฟังว่า “ในสามคนนั้นท่านคิดเห็นว่าคนไหนเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น?” ชายคนนั้นตอบว่า “คือคนนั้นแหละที่ได้สำแดงความเมตตาแก่เขา.”—ลูกา 10:25, 29-37ก.
2 การที่ชาวซะมาเรียคนนี้ดูแลชายที่บาดเจ็บนั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนจริง ๆ ว่าความเมตตาที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร! โดยถูกกระตุ้นจากความรู้สึกสงสารหรือเห็นอกเห็นใจ ชายชาวซะมาเรียลงมือทำเพื่อช่วยผู้บาดเจ็บได้รับการบรรเทาทุกข์. นอกจากนั้น ชายผู้จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือคนนี้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับชายชาวซะมาเรีย. ความเมตตาไม่ถูกกีดกั้นโดยอุปสรรคด้านเชื้อชาติ, ศาสนา, หรือวัฒนธรรม. หลังจากที่ทรงยกอุทาหรณ์เกี่ยวกับชาวซะมาเรียผู้มีไมตรีจิตคนนี้แล้ว พระเยซูทรงแนะนำผู้ฟังของพระองค์ว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด.” (ลูกา 10:37ข) เราสามารถใส่ใจในคำแนะเตือนนี้และพยายามแสดงความเมตตาต่อผู้อื่น. แต่ว่าโดยวิธีใด? เราสามารถแสดงความเมตตาในชีวิตประจำวันของเราได้ในทางใดบ้าง?
“ถ้าพี่น้อง . . . คนใดไม่มีเสื้อผ้า”
3, 4. เหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นพิเศษที่เราจะแสดงความเมตตาในประชาคมคริสเตียน?
3 อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “ตราบที่เรามีโอกาส ให้เราทำดีต่อทุกคน โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเรา.” (ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) ด้วยเหตุนั้น ให้เราพิจารณา กันก่อนว่าเราจะบริบูรณ์ด้วยการกระทำที่เมตตาต่อคนที่มีความเชื่อเช่นเดียวกับเราได้อย่างไร.
4 สาวกยาโกโบกระตุ้นคริสเตียนแท้ให้มีความเมตตาต่อกัน โดยเขียนว่า “ผู้ที่ไม่แสดงความเมตตาจะถูกพิพากษาโดยปราศจากความเมตตา.” (ยาโกโบ 2:13, ล.ม.) บริบทของถ้อยคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจนี้บอกเราถึงบางวิธีที่เราสามารถแสดงความเมตตา. ตัวอย่างเช่น ที่ยาโกโบ 1:27 (ล.ม.) เราอ่านว่า “การนมัสการที่สะอาดและไม่มีมลทินตามทัศนะของพระเจ้าผู้เป็นพระบิดาของเราคือ การดูแลลูกกำพร้ากับแม่ม่ายที่มีความทุกข์ยาก และการรักษาตัวให้ปราศจากด่างพร้อยของโลก.” ยาโกโบ 2:15, 16 (ล.ม.) กล่าวว่า “ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดไม่มีเสื้อผ้าและอาหารเพียงพอในแต่ละวัน แล้วพวกท่านคนหนึ่งบอกเขาว่า ‘จงไปอย่างมีความสุข ขอให้ร่างกายอบอุ่นและอิ่มหนำเถิด’ แต่ไม่ได้ให้สิ่งจำเป็นแก่เขา จะมีประโยชน์อะไรเล่า?”
5, 6. โดยวิธีใดเราอาจบริบูรณ์ด้วยการกระทำที่เมตตาในการคบหาสมาคมกับประชาคมท้องถิ่น?
5 การดูแลคนอื่น ๆ และช่วยคนที่ขัดสนเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของศาสนาแท้. แนวทางแห่งการนมัสการของเราไม่อนุญาตให้เราจำกัดความห่วงใยในคนอื่น ๆ ไว้เพียงแค่คำพูดแสดงความปรารถนาดีว่าอะไร ๆ คงจะดีขึ้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ความรู้สึกสงสารอันอ่อนละมุนกระตุ้นเราให้ลงมือทำเพื่อประโยชน์ของคนที่จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับความช่วยเหลือ. (1 โยฮัน 3:17, 18) การเตรียมอาหารให้คนป่วย, การช่วยผู้สูงอายุทำงานบ้าน, การช่วยรับส่งพี่น้องไปยังการประชุมคริสเตียนเมื่อจำเป็น, และการไม่ตระหนี่ถี่เหนียวในการช่วยคนที่สมควรช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำด้วยความเมตตาที่เราควรทำ.—พระบัญญัติ 15:7-10.
6 ที่นับว่าสำคัญยิ่งกว่าการให้ฝ่ายวัตถุก็คือการให้ฝ่ายวิญญาณเพื่อช่วยสมาชิกของประชาคมคริสเตียนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น. เราได้รับการกระตุ้นให้ “พูดปลอบโยนคนทุกข์ใจ ช่วยเหลือคนอ่อนแอ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) “ผู้หญิงที่สูงอายุ” ได้รับการสนับสนุนให้เป็น “ผู้สอนสิ่งที่ดีงาม.” (ติโต 2:3, ฉบับแปลใหม่) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงคริสเตียนผู้ดูแลว่าแต่ละคน “ต้องเป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังจากพายุฝน.”—ยะซายา 32:2, ล.ม.
7. เราเรียนอะไรได้เกี่ยวกับการแสดงความเมตตาจากเหล่าสาวกในเมืองอันทิโอกของซีเรีย?
7 นอกจากการดูแลหญิงม่าย, ลูกกำพร้า, และคนที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือและการหนุนใจในท้องถิ่น บางครั้งประชาคมในศตวรรษแรกก็จัดให้มีมาตรการบรรเทาทุกข์เพื่อประโยชน์ของเพื่อนร่วมความเชื่อในที่อื่น ๆ. ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้พยากรณ์อะฆะโบบอกล่วงหน้าว่า “จะบังเกิดกันดารอาหารมากยิ่งทั่วแผ่นดินโลก” เหล่าสาวกในเมืองอันทิโอกของซีเรียก็ “ตั้งใจว่าจะเรี่ยไรกันตามมากและน้อยฝากไปช่วยบรรเทาทุกข์พวกพี่น้องที่อยู่ในมณฑลยูดาย.” สิ่งต่าง ๆ ที่พี่น้องบริจาคถูกส่งไปโดย “ฝากบาระนาบาและเซาโลไปให้” ผู้ปกครองที่นั่น. (กิจการ 11:28-30) จะว่าอย่างไรสำหรับในปัจจุบัน? “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้จัดให้มีคณะกรรมการบรรเทาทุกข์เพื่อดูแลพี่น้องของเราที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุเฮอร์ริเคน, แผ่นดินไหว, หรือสึนามิ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) การช่วยด้วยความสมัครใจโดยใช้เวลา, ความพยายาม, และกำลังทรัพย์ของเราเพื่อร่วมสนับสนุนการจัดเตรียมนี้เป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่งที่เราจะแสดงความเมตตา.
“ถ้าพวกท่านลำเอียง”
8. ความลำเอียงขัดขวางความเมตตาอย่างไร?
8 ยาโกโบเตือนเกี่ยวกับลักษณะของการกระทำที่ขัดขวางการแสดงความเมตตาและขัดต่อ “ธรรมบัญญัติของพระเจ้า” เกี่ยวกับความรัก โดยเขียนว่า “ถ้าพวกท่านลำเอียง ท่านก็ทำบาป และถูกตัดสินว่าเป็นผู้ละเมิดโดยธรรมบัญญัติ.” (ยาโกโบ 2:8, 9, ฉบับแปล 2002) การแสดงความกรุณาเกินควรต่อบางคนเพราะเขาเป็นคนรวยหรือเด่นดังสามารถทำให้เราเฉื่อยช้าลงในการตอบสนองต่อ “คำร้องทุกข์ของคนจน.” (สุภาษิต 21:13) ความลำเอียงขัดขวางน้ำใจเมตตา. เราแสดงความเมตตาด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่ลำเอียง.
9. เหตุใดจึงไม่ผิดที่จะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อคนที่สมควรได้รับ?
9 การไม่ลำเอียงหมายความไหมว่าเราไม่ควรให้ความใส่ใจต่อใครเป็นพิเศษ? เปล่าเลย. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองฟิลิปปีโดยกล่าวถึงเอปาฟะโรดีโตซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของท่านว่า “จงนับถือคนประเภทนี้.” เพราะเหตุใด? “เพราะเขาเกือบจะตายเนื่องจากงานของพระคริสต์ เขาเสี่ยงชีวิตของเขาเพื่อการปรนนิบัติของพวกท่านที่ไม่อาจทำให้ข้าพเจ้าได้นั้น จะสำเร็จบริบูรณ์.” (ฟิลิปปอย 2:25, 29, 30, ฉบับแปล 2002) การรับใช้ที่ซื่อสัตย์ที่เอปาฟะโรดีโตทำสมควรได้รับการยอมรับนับถือ. นอกจากนั้น ที่ 1 ติโมเธียว 5:17 (ฉบับแปลใหม่) เราอ่านว่า “จงถือว่าผู้ปกครองที่ปกครองดีนั้นสมควรได้รับเกียรติสองเท่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองที่เทศนาและสั่งสอน.” คุณลักษณะที่ดีฝ่ายวิญญาณก็สมควรได้รับการยอมรับเช่นเดียวกัน. การแสดงความยอมรับนับถือเช่นนั้นไม่ใช่การเลือกหน้าลำเอียง.
“สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น . . . เปี่ยมด้วยความเมตตา”
10. เหตุใดเราควรควบคุมลิ้นของเรา?
10 ยาโกโบกล่าวถึงลิ้นว่า “มันเป็นสิ่งที่ก่อความเสียหาย ควบคุมไม่ได้ และเต็มไปด้วยพิษที่ทำให้ถึงตาย. เราสรรเสริญพระยะโฮวาพระบิดาด้วยลิ้น แต่ก็แช่งด่ามนุษย์ซึ่งถูกสร้าง ‘ตามแบบพระเจ้า’ ด้วยลิ้น. คำสรรเสริญและคำแช่งด่าออกมาจากปากเดียวกัน.” ในบริบทเช่นนี้ ยาโกโบกล่าวเสริมว่า “ถ้าในใจพวกท่านมีความริษยาและความคิดชิงดีชิงเด่นอย่างแรงกล้า อย่าโอ้อวดและพูดบิดเบือนความจริงเลย. นี่ไม่ใช่สติปัญญาที่มาจากเบื้องบน แต่เป็นสติปัญญาอย่างโลก อย่างเดรัจฉาน อย่างปิศาจ. ด้วยว่าที่ใดมีความริษยาและความคิดชิงดีชิงเด่น ที่นั่นย่อมมีความวุ่นวายและสิ่งชั่วร้ายทุกอย่าง. แต่สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น ประการแรก บริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติ มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง เปี่ยมด้วยความเมตตาและผลอันดี ไม่ลำเอียง ไม่หน้าซื่อใจคด.”—ยาโกโบ 3:8-10ก, 14-17, ล.ม.
11. เราจะแสดงความเมตตาได้อย่างไรในการพูด?
11 ดังนั้น วิธีที่เราใช้ลิ้นของเราเป็นเครื่องบ่งบอกว่าเรามีสติปัญญาที่ “เปี่ยมด้วยความเมตตา” หรือไม่. จะว่าอย่างไรหากเพราะความริษยาหรือความคิดชิงดีชิงเด่นเราจึงโอ้อวด, โกหก, หรือแพร่คำซุบซิบที่ก่อความเสียหาย? บทเพลงสรรเสริญ 94:4 (ฉบับแปลใหม่) กล่าวว่า “คนกระทำชั่วทั้งปวงเขาโอ้อวด.” และคำพูดที่ก่อความเสียหายนั้นสามารถทำให้ชื่อเสียงที่ดีของคนบริสุทธิ์เสียหายได้อย่างรวดเร็ว! (บทเพลงสรรเสริญ 64:2-4) นอกจากนั้น ขอให้คิดถึงผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจาก “พยานเท็จ [ผู้] หายใจคำมุสาออกมา.” (สุภาษิต 14:5, ฉบับแปลใหม่; 1 กษัตริย์ 21:7-13) หลังจากพิจารณาเรื่องการใช้ลิ้นอย่างผิด ๆ แล้ว ยาโกโบกล่าวว่า “พี่น้องของข้าพเจ้า ไม่ควรให้เป็นอย่างนี้ต่อไป.” (ยาโกโบ 3:10ข, ล.ม.) เพื่อจะแสดงความเมตตาอย่างแท้จริงเราต้องพูดกับผู้อื่นอย่างที่เหมาะสม, ก่อให้เกิดสันติสุข, และมีเหตุผล. พระเยซูตรัสว่า “ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า, คำที่ไม่เป็นสาระทุกคำซึ่งมนุษย์พูดนั้น, เขาจะต้องให้การด้วยคำเหล่านั้นในวันพิพากษา.” (มัดธาย 12:36) นับว่าสำคัญสักเพียงไรที่เราจะแสดงความเมตตาในการพูด!
“ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์”
12, 13. (ก) เราเรียนอะไรเกี่ยวกับความเมตตาจากอุทาหรณ์เรื่องทาสที่เป็นหนี้นายจำนวนมหาศาล? (ข) การให้อภัยพี่น้อง “ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง” หมายความเช่นไร?
12 อุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องทาสที่เป็นหนี้นายผู้เป็นมัดธาย 18:23-35, ฉบับแปล 2002.
กษัตริย์องค์หนึ่ง 60,000,000 เดนาริอนแสดงให้เห็นอีกวิธีหนึ่งที่จะแสดงความเมตตา. เนื่องจากไม่มีอะไรจะใช้หนี้ได้ ทาสคนนี้อ้อนวอนขอความเมตตา. ด้วยความ “สงสาร” นายจึงยกหนี้ให้. แต่ทาสคนนี้เมื่อออกไปแล้วก็พบกับเพื่อนทาสด้วยกันที่เป็นหนี้เขาเพียงหนึ่งร้อยเดนาริอนและได้ส่งเพื่อนเข้าคุกอย่างไร้ความเมตตา. เมื่อนายได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้น ท่านใช้คนไปตามตัวทาสที่ท่านยกหนี้ให้ แล้วพูดกับเขาว่า “ไอ้ข้าชั่วร้าย เรายกหนี้ให้เอ็งทั้งหมด ก็เพราะเอ็งอ้อนวอนเรา เอ็งควรจะเมตตาเพื่อนทาสด้วยกัน เหมือนเราเมตตาเอ็งไม่ใช่หรือ?” ว่าดังนั้นแล้ว นายก็สั่งให้มอบเขาไว้กับนายคุก. พระเยซูทรงลงท้ายอุทาหรณ์นี้โดยตรัสว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ ก็จะทรงทำต่อพวกท่านอย่างนั้น ถ้าพวกท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจของพวกท่าน.”—13 อุทาหรณ์ที่ยกมาข้างต้นช่างแสดงให้เห็นอย่างหนักแน่นจริง ๆ ว่าความเมตตานั้นหมายรวมถึงการพร้อมที่จะให้อภัย! พระยะโฮวาทรงให้อภัยเราสำหรับบาปซึ่งเป็นเหมือนหนี้ก้อนโต. เราควร “ให้อภัยการล่วงละเมิดของเพื่อนมนุษย์” เหมือนกันมิใช่หรือ? (มัดธาย 6:14, 15, ฉบับแปล 2002) ก่อนพระเยซูจะทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องทาสผู้ไร้ความเมตตา เปโตรถามพระองค์ว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องอภัยให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพเจ้ากี่ครั้ง? ถึงเจ็ดครั้งหรือ?” พระเยซูทรงตอบว่า “เราบอกเจ้าว่า มิใช่ถึงเจ็ดครั้ง แต่ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง.” (มัดธาย 18:21, 22, ล.ม.) ใช่แล้ว คนที่เมตตาอยู่พร้อมจะให้อภัย “ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง” นั่นคือ โดยไม่มีขีดจำกัด.
14. ตามมัดธาย 7:1-4 เราอาจแสดงความเมตตาในแต่ละวันโดยวิธีใด?
14 พระเยซูทรงแสดงให้เห็นวิธีแสดงความเมตตาอีกวิธีหนึ่งโดยตรัสในคำเทศน์บนภูเขาว่า “อย่าพิพากษา เพื่อพระเจ้าจะไม่ทรงพิพากษาท่านทั้งหลาย เพราะว่าพวกท่านจะพิพากษาผู้อื่นอย่างไร พระเจ้าจะทรงพิพากษาท่านอย่างนั้น . . . ทำไมท่านมองเห็นผงในตาพี่น้องของท่าน แต่กลับมองไม่เห็นไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน? ท่านจะกล่าวกับพี่น้องได้อย่างไรว่า ‘ให้ฉันเขี่ยผงออกจากตาของเธอ?’ ทั้ง ๆ ที่มีไม้ทั้งท่อนอยู่ในตาของท่านเอง.” (มัดธาย 7:1-4, ฉบับแปล 2002) ด้วยเหตุนั้น เราสามารถแสดงความเมตตาในแต่ละวันได้ด้วยการอดทนกับข้ออ่อนแอของผู้อื่นโดยไม่เป็นคนชอบตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์.
“ทำดีต่อทุกคน”
15. เหตุใดการกระทำที่แสดงความเมตตาไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะเพื่อนร่วมความเชื่อ?
15 แม้ว่าพระธรรมยาโกโบในคัมภีร์ไบเบิลเน้นความเมตตาในหมู่เพื่อนร่วมความเชื่อ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำที่แสดงความเมตตาจะจำกัดไว้เฉพาะต่อคนที่อยู่ในประชาคมคริสเตียนเท่านั้น. บทเพลงสรรเสริญ 145:9 (ล.ม.) กล่าวว่า “พระยะโฮวาทรงดีต่อทุกคน และพระเมตตาของพระองค์มีอยู่เหนือพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์.” เราได้รับการกระตุ้นให้ “เป็นผู้เลียนแบบพระเจ้า” และให้ “ทำดีต่อทุกคน.” (เอเฟโซ 5:1, ล.ม.; ฆะลาเตีย 6:10, ล.ม.) แม้ว่าเราไม่รัก “โลกหรือสิ่งของในโลก” แต่เราไม่เมินเฉยต่อความจำเป็นของผู้คนในโลก.—1 โยฮัน 2:15.
16. ปัจจัยอะไรบ้างมีผลต่อวิธีที่เราจะแสดงความเมตตาต่อผู้อื่น?
16 ในฐานะคริสเตียน เราไม่ลังเลที่จะให้ความช่วยเหลือใด ๆ ก็ตามที่เราทำได้เพื่อช่วยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ “เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า” หรือคนที่อยู่ในสภาวะวิกฤติ. (ท่านผู้ประกาศ 9:11, ล.ม.) แน่นอน สภาพความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของเราเองจะเป็นตัวกำหนดว่าเราสามารถทำอะไรได้และมากแค่ไหน. (สุภาษิต 3:27) เมื่อให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุแก่คนอื่น เราควรระวังอย่าให้การกระทำที่ ดูเหมือนว่าดีนั้นกลายเป็นการส่งเสริมความเกียจคร้าน. (สุภาษิต 20:1, 4; 2 เธซะโลนิเก 3:10-12) ด้วยเหตุนั้น การกระทำด้วยความเมตตาที่แท้จริงเป็นการตอบสนองที่รวมเอาความสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจอันอ่อนละมุนเข้ากับการหาเหตุผลอย่างเหมาะสม.
17. วิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเมตตาต่อผู้คนที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียนคืออะไร?
17 วิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเมตตาต่อผู้คนที่อยู่นอกประชาคมคริสเตียนคือการบอกความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่พวกเขา. เพราะเหตุใด? เพราะมนุษยชาติส่วนใหญ่ในทุกวันนี้กำลังคลำหาทางอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณ. เนื่องจากไม่รู้วิธีรับมือกับปัญหาที่เผชิญอยู่และไม่มีความหวังอันแท้จริงสำหรับอนาคต คนส่วนใหญ่จึง “อิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) ข่าวสารจากพระคำของพระเจ้าสามารถเป็น “โคมสำหรับเท้า” ของพวกเขา ช่วยพวกเขาให้รับมือกับปัญหาในชีวิต. พระคำของพระเจ้ายังสามารถเป็น “แสงสว่างตามทาง” ของพวกเขาด้วย โดยที่คัมภีร์ไบเบิลบอกล่วงหน้าถึงพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับอนาคต ทำให้พวกเขามีเหตุผลที่จะมีความหวังอันสดใส. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) ช่างเป็นสิทธิพิเศษสักเพียงไรที่จะบอกข่าวสารแห่งความจริงอันยอดเยี่ยมนี้แก่คนที่จำเป็นต้องได้รับอย่างยิ่ง! เมื่อคำนึงถึงว่า “ความทุกข์ลำบากใหญ่” กำลังใกล้จะถึงอยู่แล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่จะมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและในงานทำให้คนเป็นสาวก. (มัดธาย 24:3-8, 21, 22, 36-41; 28:19, 20) ไม่มีการกระทำอื่นใดอันเป็นการแสดงความเมตตาที่สำคัญเท่ากับงานนี้.
จงให้ “ตามซึ่งเจ้ามีอยู่ข้างใน”
18, 19. เหตุใดเราควรพยายามแสดงความเมตตามากยิ่งขึ้นในชีวิตเรา?
18 พระเยซูตรัสว่า “จงให้ทานตามซึ่งเจ้ามีอยู่ข้างใน.” (ลูกา 11:41) เพื่อการทำดีจะเป็นการกระทำที่แสดงความเมตตาอย่างแท้จริง การกระทำนั้นต้องเป็นการให้ที่มาจากข้างใน—จากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและเต็มใจ. (2 โกรินโธ 9:7) ในโลกที่ความหยาบกระด้าง, ความเห็นแก่ตัว, และการขาดความห่วงใยในเรื่องความทุกข์และปัญหาของคนอื่น ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ความเมตตาเช่นนั้นช่างทำให้สดชื่นสักเพียงไร!
19 ดังนั้น ให้เราพยายามแสดงความเมตตามากยิ่งขึ้นในชีวิตเรา. ยิ่งเราแสดงความเมตตามากเท่าไร เราก็ยิ่งเลียนแบบพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น. นั่นย่อมช่วยเราให้ดำเนินชีวิตที่มีความหมายและอิ่มใจพอใจอย่างแท้จริง.—มัดธาย 5:7.
คุณได้เรียนรู้อะไร?
• เหตุใดจึงสำคัญเป็นพิเศษที่จะมีความเมตตาต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ?
• เราจะแสดงความเมตตาภายในประชาคมคริสเตียนได้โดยวิธีใด?
• เราจะทำดีต่อผู้คนที่อยู่นอกประชาคมโดยวิธีใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 26]
ชายชาวซะมาเรียลงมือทำอย่างเมตตา
[ภาพหน้า 27]
คริสเตียนบริบูรณ์ด้วยการกระทำที่แสดงความเมตตา
[ภาพหน้า 30]
วิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเมตตาต่อผู้คนที่อยู่นอกประชาคมคือการบอกความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแก่พวกเขา