การประทับของพระคริสต์มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?
การประทับของพระคริสต์มีความหมายอย่างไรสำหรับคุณ?
“อะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?”—มัด. 24:3.
1. อัครสาวกของพระเยซูตั้งคำถามที่น่าสนใจอะไรกับพระองค์?
เกือบสองพันปีมาแล้ว อัครสาวกสี่คนของพระเยซูตั้งคำถามข้อหนึ่งขณะสนทนาเป็นส่วนตัวกับนายของพวกเขาบนภูเขามะกอก. พวกเขาถามว่า “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และอะไรจะเป็นสัญญาณบอกว่าพระองค์ประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค?” (มัด. 24:3) ในคำถามดังกล่าว อัครสาวกใช้สองวลีที่น่าสนใจมากคือ ‘การประทับของพระองค์’ และ “ช่วงสุดท้ายของยุค.” วลีทั้งสองนี้หมายถึงอะไร?
2. ความหมายที่แฝงอยู่ของคำว่า “ช่วงสุดท้าย” คืออะไร?
2 ในอันดับแรก เราจะพิจารณาวลีที่สองก่อน. คำ “ช่วงสุดท้าย” แปลมาจากคำภาษากรีกซินเทเลอา. ฉบับแปลโลกใหม่ แปลคำนี้ไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลายว่า “ช่วงสุดท้าย” ส่วนคำกรีกที่เกี่ยวข้องกันเทลอสแปลไว้ว่า “อวสาน” หรือตอนจบ. เพื่อให้เห็นว่าสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันอย่างไรอาจยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับคำบรรยายที่หอประชุมราชอาณาจักร. ช่วงสุดท้ายของคำบรรยายคือช่วงที่ผู้บรรยายใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อเตือนความจำผู้ฟังให้นึกถึงสิ่งที่เขาได้บรรยายไปและแสดงให้เห็นว่าจะใช้ความรู้นั้นกับตัวเองอย่างไร. ตอนจบของคำบรรยายคือตอนที่ผู้บรรยายเดินลงจากเวที. คล้ายกัน ตามที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล วลี “ช่วงสุดท้ายของยุค” หมายถึงช่วงเวลาที่ดำเนินไปจนกระทั่งถึงอวสาน และรวมอวสานด้วย.
3. มีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในช่วงการประทับของพระเยซู?
3 ‘การประทับ’ ที่อัครสาวกถามหมายถึงอะไร? คำนี้แปลจากคำกรีกพารูเซีย. * พารูเซียหรือการประทับของพระคริสต์เริ่มต้นด้วยการแต่งตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ในปี 1914 และดำเนินไปจนกระทั่งถึงตอนสิ้นสุด ของ “ความทุกข์ลำบากใหญ่” ซึ่งเป็นเวลาที่พระองค์จะเสด็จมาทำลายคนชั่ว. (มัด. 24:21) จะมีหลายสิ่งเกิดขึ้นระหว่างการประทับนี้ของพระเยซู เช่น “สมัยสุดท้าย” ของระบบชั่ว, การรวบรวมผู้ถูกเลือกสรร, และการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตในสวรรค์. (2 ติโม. 3:1; 1 โค. 15:23; 1 เทส. 4:15-17; 2 เทส. 2:1) อาจกล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น “ช่วงสุดท้ายของยุค” (ซินเทเลอา) ตรงกันกับช่วงเวลาที่เรียกว่าการประทับ (พารูเซีย ) ของพระคริสต์.
ช่วงเวลาที่ยาวนาน
4. มีความคล้ายคลึงกันอย่างไรระหว่างการประทับของพระเยซูกับเหตุการณ์ในสมัยโนฮา?
4 ข้อเท็จจริงที่ว่าคำพารูเซียหมายถึงช่วงเวลาที่ยาวนานนั้นสอดคล้องกับคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับการประทับของพระองค์. (อ่านมัดธาย 24:37-39.) โปรดสังเกตว่าพระเยซูไม่ได้เปรียบการประทับของพระองค์ว่าเหมือนกับช่วงเวลาสั้น ๆ ตอนที่เกิดน้ำท่วมโลกในสมัยโนฮา แต่ทรงเปรียบกับช่วงเวลาที่ยาวนานกว่ามากซึ่งดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งถึงตอนที่น้ำท่วมโลก. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือการที่โนฮาสร้างนาวาและทำงานประกาศซึ่งดำเนินไปจนกระทั่งในที่สุดเกิดมหาอุทกภัย. เหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินไปในช่วงเวลาหลายสิบปี. คล้ายกัน การประทับของพระคริสต์ก็มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งดำเนินไปจนกระทั่งถึงตอนสิ้นสุดของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.—2 เทส. 1:6-9.
5. ถ้อยคำที่บันทึกไว้ในวิวรณ์บท 6 บ่งบอกอย่างไรว่าการประทับของพระเยซูเป็นช่วงเวลาอันยาวนาน?
5 คำพยากรณ์อื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลแสดงชัดว่าการประทับของพระคริสต์หมายถึงช่วงเวลาอันยาวนาน ไม่ใช่เพียงแค่การที่พระองค์จะเสด็จมาทำลายคนชั่ว. พระธรรมวิวรณ์พรรณนาภาพพระเยซูว่าทรงม้าขาวและได้รับมอบมงกุฎ. (อ่านวิวรณ์ 6:1-8.) หลังจากได้รับมงกุฎเป็นกษัตริย์ในปี 1914 มีการพรรณนาภาพพระเยซูว่า “ทรงออกไปอย่างผู้มีชัยเพื่อทำให้ชัยชนะของพระองค์ครบถ้วน.” จากนั้น บันทึกดังกล่าวก็พรรณนาให้เห็นว่ามีผู้ขี่ม้าสีต่าง ๆ ตามพระองค์ออกมา. ผู้ขี่ม้าเหล่านี้เป็นภาพพยากรณ์หมายถึงสงคราม, การกันดารอาหาร, และโรคระบาด ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันยาวนานที่เรียกว่า “สมัยสุดท้าย.” เรากำลังมองเห็นว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงในช่วงชีวิตของเรา.
6. วิวรณ์บท 12 ช่วยเราให้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับการประทับของพระคริสต์?
6 วิวรณ์บท 12 ให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าในสวรรค์. ที่นั่น เราอ่านเกี่ยวกับสงครามในแดนที่มองไม่เห็นด้วยตา. มิคาเอล—พระเยซูคริสต์ซึ่งได้รับตำแหน่งในสวรรค์—กับทูตสวรรค์ทั้งหลายต่อสู้กับพญามารและพวกปิศาจบริวารของมัน. ผลก็คือ ซาตานพญามารและพวกของมันถูกเหวี่ยงลงมายังแผ่นดินโลก. เมื่อถึงตอนนั้น บันทึกบอกเราว่าพญามารโกรธมาก “เพราะมันรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย.” (อ่านวิวรณ์ 12:7-12.) ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเมื่อราชอาณาจักรของพระคริสต์ถูกสถาปนาแล้วในสวรรค์สิ่งที่ตามมาคือช่วงเวลาที่ถูกระบุไว้ว่าจะเกิด “วิบัติ” มากขึ้นกับแผ่นดินโลกและประชากรโลก.
7. บทเพลงสรรเสริญบทสองกล่าวถึงอะไร และมีการพรรณนาถึงโอกาสอะไรในบทนั้น?
7 บทเพลงสรรเสริญบทสองกล่าวเป็นเชิงพยากรณ์คล้าย ๆ กันถึงการแต่งตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ครอบครองภูเขาซีโอนในสวรรค์. (อ่านเพลงสรรเสริญ 2:5-9; 110:1, 2.) อย่างไรก็ตาม บทเพลงสรรเสริญบทนี้ยังระบุด้วยว่ามีช่วงเวลาหนึ่งเมื่อผู้ปกครองโลกและประชากรจะมีโอกาสสวามิภักดิ์ต่อการปกครองของพระคริสต์. พวกเขาได้รับการเตือนสติให้ “มีความเข้าใจลึกซึ้ง” และ “รับการแก้ไข.” ในช่วงเวลานั้น “บรรดาคนที่เอาพระองค์ [พระเจ้า] เป็นที่คุ้มภัยก็เป็นสุข” คือคนที่รับใช้พระยะโฮวาและกษัตริย์ที่พระองค์ทรงตั้งไว้. ด้วยเหตุนี้ ในเวลานั้นประตูแห่งโอกาสจะเปิดออกในช่วงที่พระเยซูทรงประทับด้วยขัตติยอำนาจ.—เพลง. 2:10-12, ล.ม.
มองสัญญาณให้ออก
8, 9. ใครจะมองสัญญาณบอกการประทับของพระคริสต์ออกและเข้าใจความหมายด้วย?
8 เมื่อพวกฟาริซายถามพระเยซูว่าราชอาณาจักรจะมาเมื่อไร พระองค์ทรงตอบว่าราชอาณาจักรจะไม่มา “อย่างที่สังเกตเห็นชัดเจน” ตามแง่คิดของพวกเขา. (ลูกา 17:20, 21) คนที่ไม่มีความเชื่อจะไม่เข้าใจ. พวกเขาจะเข้าใจได้อย่างไรล่ะ? พวกเขาไม่ยอมรับด้วยซ้ำว่าพระเยซูจะเป็นกษัตริย์ของพวกเขาในอนาคต. ดังนั้น ใครจะมองสัญญาณการประทับของพระคริสต์ออกและเข้าใจความหมายด้วย?
9 พระเยซูตรัสต่อไปว่าเหล่าสาวกของพระองค์จะเห็นสัญญาณนั้นอย่างชัดเจนเหมือนกับที่พวกเขาเห็น “ฟ้าแลบส่องแสงจากฟ้าข้างหนึ่งไปยังฟ้าอีกข้างหนึ่ง.” (อ่านลูกา 17:24-29.) น่าสังเกตว่ามัดธาย 24:23-27 บอกชัดเลยว่าพระเยซูกำลังตรัสถึงสัญญาณบอกการประทับของพระคริสต์.
คนชั่วอายุที่เห็นสัญญาณนั้น
10, 11. (ก) เคยมีการอธิบายเกี่ยวกับ “คนในยุคนี้” ในมัดธาย 24:34 อย่างไร? (ข) เหล่าสาวกของพระเยซูคงต้องเข้าใจว่าใครที่รวมอยู่ด้วยในกลุ่ม “คนในยุคนี้”?
10 เมื่อก่อน วารสารหอสังเกตการณ์ได้อธิบายว่าในศตวรรษแรก “คนในยุคนี้” ที่กล่าวถึงในมัดธาย 24:34 หมายถึง “คนชั่วอายุร่วมสมัยอันประกอบด้วยชาวยิวที่ไม่มีความเชื่อ.” * คำอธิบายดังกล่าวดูเหมือนว่าสมเหตุผลในเวลานั้น เพราะในที่อื่น ๆ ที่มีบันทึกไว้เมื่อพระเยซูทรงใช้คำ “คนในยุคนี้ [“คนชั่วอายุนี้,” ฉบับแปลเก่า]” ล้วนมีนัยความหมายในแง่ลบทั้งสิ้น และส่วนใหญ่แล้วพระเยซูทรงใช้คำคุณศัพท์ที่มีความหมายในแง่ลบ เช่น “ชั่วช้า” พรรณนาคนในยุคดังกล่าว. (มัด. 12:39; 17:17; มโก. 8:38) ด้วยเหตุนี้ ในตอนนั้นวารสารนี้จึงอธิบายว่าสำหรับความสำเร็จเป็นจริงในสมัยปัจจุบัน พระเยซูทรงหมายถึง “ผู้คนร่วมสมัย” ซึ่งเป็นคนชั่วที่ไม่มีความเชื่อที่ไม่เพียงแต่จะเห็นลักษณะเด่นต่าง ๆ ของ “ช่วงสุดท้ายของยุค” (ซินเทเลอา) เท่านั้น แต่จะมีชีวิตอยู่ในคราวอวสาน (เทลอส) ของระบบนี้ด้วย.
11 เป็นความจริงที่ว่าเมื่อพระเยซูทรงใช้คำ “คนในยุคนี้” ในแง่ลบ พระองค์กำลังตรัสกับหรือตรัสถึงคนชั่วในสมัยพระองค์. แต่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นด้วยไหมกับคำตรัสของพระองค์ที่บันทึกไว้ในมัดธาย 24:34? ขอให้นึกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสาวกสี่คนของพระเยซูมาเข้าเฝ้าพระองค์ “เป็นการส่วนตัว.” (มัด. 24:3) เนื่องจากพระเยซูไม่ได้ใช้คำคุณศัพท์ขยายความในแง่ลบเมื่อตรัสกับพวกเขาเรื่อง “คนในยุคนี้” ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหล่าอัครสาวกคงเข้าใจว่าตัวเขาเองและเพื่อนสาวกเป็นส่วนหนึ่งของ “คนในยุค” ที่จะไม่ล่วงลับไป “จนกว่าสิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้น.”
12. บริบทเผยให้เห็นอย่างไรเกี่ยวกับคนที่พระเยซูทรงหมายถึงเมื่อทรงใช้คำ “คนในยุคนี้”?
12 เราอาจสรุปได้อย่างนั้นโดยอาศัยอะไร? โดยพิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ. พระเยซูตรัสดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:32, 33 ว่า “จงดูต้นมะเดื่อเป็นตัวอย่าง เมื่อกิ่งอ่อนของมันผลิใบ เจ้าทั้งหลายก็รู้ว่าใกล้จะถึงฤดูร้อนแล้ว. ทำนอง เดียวกัน เมื่อเจ้าทั้งหลายเห็นสิ่งทั้งปวงนี้ จงรู้ว่าบุตรมนุษย์มาใกล้แล้ว ท่านอยู่ที่ประตู.” (เทียบกับมาระโก 13:28-30; ลูกา 21:30-32.) ต่อจากนั้น เราอ่านที่มัดธาย 24:34 ว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า คนในยุคนี้จะไม่ล่วงลับไปจนกว่าสิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้น.”
13, 14. เหตุใดเราจึงกล่าวได้ว่า “คนในยุคนี้” ที่พระเยซูตรัสถึงคงต้องหมายถึงเหล่าสาวก?
13 พระเยซูตรัสว่าเหล่าสาวกของพระองค์ ซึ่งจะได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ในอีกไม่ช้า ควรจะลงความเห็นได้เมื่อพวกเขาเห็น “สิ่งทั้งปวงนี้” เกิดขึ้น. ดังนั้น พระเยซูคงต้องหมายถึงเหล่าสาวกเมื่อพระองค์ตรัสเพิ่มเติมดังที่เราอ่านในข้อต่อมาว่า “คนในยุคนี้จะไม่ล่วงลับไปจนกว่าสิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้น.”
14 ต่างจากคนที่ไม่มีความเชื่อ เหล่าสาวกของพระเยซูไม่เพียงแต่จะเห็นสัญญาณ แต่ยังเข้าใจความหมายด้วย. พวกเขาจะ “ดู” ลักษณะเด่นของสัญญาณนั้นและ “รู้” ความหมายที่แท้จริงของลักษณะเด่นเหล่านั้น. พวกเขาจะเข้าใจอย่างเต็มที่ว่า “บุตรมนุษย์มาใกล้แล้ว ท่านอยู่ที่ประตู.” แม้เป็นความจริงที่ว่า ทั้งชาวยิวที่ไม่มีความเชื่อและคริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ในศตวรรษแรกเห็นความสำเร็จเป็นจริงส่วนหนึ่งตามคำตรัสของพระเยซู แต่เฉพาะเหล่าสาวกที่ถูกเจิมของพระองค์ในเวลานั้นสามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น—สามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่พวกเขาเห็น.
15. (ก) ใครประกอบกันเป็น “คนในยุคนี้” ในสมัยปัจจุบันที่พระเยซูตรัสถึง? (ข) เหตุใดเราไม่สามารถคำนวณช่วงเวลาที่แน่ชัดของ “คนในยุคนี้”? (ดูกรอบหน้า 25.)
15 คนที่ไม่มีความเข้าใจฝ่ายวิญญาณในปัจจุบันคิดว่าไม่มีอะไร “ที่สังเกตเห็นชัดเจน” ในเรื่องสัญญาณบอกการประทับของพระเยซู. พวกเขาหาเหตุผลว่าทุกสิ่งยังคงดำเนินต่อไปเหมือนในอดีต. (2 เป. 3:4) ในทางตรงกันข้าม พี่น้องผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์ ซึ่งเป็นชนชั้นโยฮันสมัยปัจจุบัน มองสัญญาณนี้ออกเหมือนกับเห็นฟ้าแลบและเข้าใจความหมายที่แท้จริงของสัญญาณนี้. ชนผู้ถูกเจิมทั้งกลุ่มประกอบกันเป็น “คนในยุคนี้” ในสมัยปัจจุบันที่จะไม่ล่วงลับไป “จนกว่าสิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้น.” * นี่ทำให้เราคิดว่าบางคนที่เป็นพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์จะยังคงมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกเมื่อความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ตามที่บอกไว้ล่วงหน้านั้นเริ่มขึ้น.
“จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ”
16. สาวกทุกคนของพระคริสต์ต้องทำอะไร?
16 อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องทำมากกว่าเพียงแค่มองสัญญาณให้ออก. พระเยซูตรัสต่อไปว่า “เราบอกเจ้าทั้งมโก. 13:37) เรื่องนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราทุกคนในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือชนฝูงใหญ่. นับตั้งแต่พระเยซูได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ในสวรรค์ในปี 1914 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาเก้าสิบกว่าปีแล้ว. แม้ว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราต้องพิสูจน์ตัวว่าเราอยู่พร้อมและเฝ้าระวังอยู่เสมอ. การที่เราเข้าใจว่าพระคริสต์ทรงประทับอย่างไม่ประจักษ์แก่ตาด้วยขัตติยอำนาจในสวรรค์ช่วยเราให้พิสูจน์ตัวอย่างนั้น. ความเข้าใจดังกล่าวยังช่วยให้เราตื่นตัวต่อข้อเท็จจริงที่ว่าอีกไม่ช้าพระองค์จะเสด็จมาทำลายศัตรูของพระองค์ “ในเวลาที่ [เรา] ไม่คาดคิด.”—ลูกา 12:40.
หลายเหมือนที่บอกทุกคน คือ จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ.” (17. ความเข้าใจในเรื่องความหมายการประทับของพระคริสต์ควรทำให้เรารู้สึกอย่างไร และเราควรตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
17 การที่เราเข้าใจความหมายการประทับของพระคริสต์ช่วยเราให้สำนึกมากขึ้นถึงความเร่งด่วน. เรารู้ว่าพระเยซูทรงประทับอยู่แล้วและทรงครองราชย์อย่างไม่ประจักษ์แก่ตาในฐานะกษัตริย์ในสวรรค์ตั้งแต่ปี 1914. ในไม่ช้า พระองค์จะเสด็จมาทำลายคนชั่วและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่โตทั่วทั้งลูกโลก. ด้วยเหตุนั้น เราควรตั้งใจแน่วแน่ยิ่งขึ้นว่าจะมีส่วนร่วมอย่างขันแข็งเสมอในงานที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้าเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรจะได้รับการประกาศไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่เพื่อให้พยานหลักฐานแก่ทุกชาติ แล้วอวสาน [เทลอส] จะมาถึง.”—มัด. 24:14.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 ความหมายของพารูเซียนั้นเห็นได้จากข้อความที่เปาโลเทียบให้เห็นความแตกต่างของการที่ท่าน “อยู่” และ “ไม่อยู่” ทั้งใน 2 โครินท์ 10:10, 11 และฟิลิปปอย 2:12. สำหรับการพิจารณาอย่างละเอียด โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 676-679.
^ วรรค 10 โปรดดูหอสังเกตการณ์ 1 พฤศจิกายน 1995 หน้า 11-15, 19, 30, 31.
^ วรรค 15 คนในยุคนี้ดูเหมือนว่าเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความสำเร็จเป็นจริงของนิมิตแรกในพระธรรมวิวรณ์. (วิ. 1:10–3:22) ลักษณะเด่นนี้ของวันขององค์พระผู้เป็นเจ้าเริ่มตั้งแต่ปี 1914 และดำเนินไปจนกระทั่งผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์คนสุดท้ายตายและถูกปลุกให้กลับมีชีวิตอีก.—โปรดดูหนังสือพระธรรมวิวรณ์—ใกล้จะถึงจุดสุดยอด! หน้า 24 วรรค 4.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราทราบได้อย่างไรว่าการประทับของพระเยซูเป็นช่วงเวลาอันยาวนาน?
• ใครมองสัญญาณการประทับของพระเยซูออกและเข้าใจความหมาย?
• คนกลุ่มใดในสมัยปัจจุบันที่ประกอบกันเป็นคนในยุคนี้ซึ่งมีการกล่าวถึงในมัดธาย 24:34?
• เหตุใดเราไม่สามารถคำนวณได้อย่างแน่ชัดว่าช่วงเวลาของ “คนในยุคนี้” นานเท่าใด?
[คำถาม]
[กรอบหน้า 25]
เราจะคำนวณระยะเวลาของ “คนในยุคนี้” ได้ไหม?
คำ “คนในยุคนี้” มักหมายถึงผู้คนหลายวัยที่มีชีวิตในช่วงเวลาหรือเหตุการณ์เดียวกัน. ตัวอย่างเช่น เอ็กโซโด 1:6 บอกเราว่า “ต่อมาโยเซฟกับพี่ชายและน้องชาย, ทั้งบรรดาชนสมัยนั้น, ถึงแก่ความตายเสียหมด.” โยเซฟและพี่ชายน้องชายมีอายุไม่เท่ากัน แต่พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงเวลาเดียวกัน. ส่วนหนึ่งของ “ชนสมัยนั้น” ก็คือพวกพี่ชายของโยเซฟซึ่งเกิดก่อนโยเซฟ. พี่ชายบางคนอายุยืนกว่าโยเซฟ. (เย. 50:24) คนอื่น ๆ ในบรรดา “ชนสมัยนั้น” เช่น เบนยามิน เกิดหลังโยเซฟและอาจยังมีชีวิตต่อไปหลังจากโยเซฟตาย.
ดังนั้น เมื่อเราพบคำ “คนในยุคนี้” ซึ่งใช้เพื่ออ้างถึงผู้คนที่มีชีวิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจึงไม่อาจบอกได้ว่าช่วงเวลานั้นนานเท่าใดแน่ บอกได้แต่ว่าช่วงเวลานั้นมีจุดสิ้นสุดและจะไม่นานเกินไป. ด้วยเหตุนั้น เมื่อพระเยซูทรงใช้คำ “คนในยุคนี้” ดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:34 พระองค์ไม่ได้ให้สูตรคำนวณแก่เหล่าสาวกเพื่อจะสามารถระบุว่า “สมัยสุดท้าย” จะสิ้นสุดเมื่อไร. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระเยซูทรงเน้นในประโยคต่อมาว่าพวกเขาจะไม่รู้ “วันเวลานั้น.”—2 ติโม. 3:1; มัด. 24:36.
[ภาพหน้า 22, 23]
หลังจากได้รับมงกุฎเป็นกษัตริย์ในปี 1914 มีการพรรณนาภาพพระเยซูว่าทรง “มีชัย”
[ภาพหน้า 24]
“คนในยุคนี้จะไม่ล่วงลับไปจนกว่าสิ่งทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้น”