จุดเด่นจากหนังสือกิจการ
พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากหนังสือกิจการ
หนังสือกิจการในคัมภีร์ไบเบิลให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนและการแผ่ขยายหลังจากนั้น. หนังสือนี้ซึ่งเขียนโดยนายแพทย์ลูกาเสนอเรื่องราวอย่างมีชีวิตชีวาเกี่ยวกับกิจการงานของคริสเตียนในช่วง 28 ปี—จากสากลศักราช 33 ถึง 61.
ส่วนแรกของหนังสือกิจการส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานของอัครสาวกเปโตร และในส่วนหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานของอัครสาวกเปาโล. โดยใช้สรรพนามว่า “เรา” ลูกาแสดงว่าท่านอยู่ด้วยในบางเหตุการณ์. การใส่ใจต่อข่าวสารในหนังสือกิจการจะช่วยเราให้หยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งต่อพลังแห่งพระคำของพระเจ้าที่มีการบันทึกไว้และต่อพระวิญญาณบริสุทธิ์. (ฮีบรู 4:12) นอกจากนั้น การใส่ใจต่อข่าวสารนี้ยังจะกระตุ้นเราให้เสียสละตนเองและเสริมความเชื่อของเราในความหวังเรื่องราชอาณาจักร.
เปโตรใช้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร”
หลังจากได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ อัครสาวกทั้งหลายก็ประกาศข่าวดีอย่างกล้าหาญ. เปโตรใช้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักรสวรรค์” ดอกแรกเพื่อเปิดประตูแห่งความรู้และโอกาสให้ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวที่ “เชื่อคำของเปโตร” ได้เข้าในราชอาณาจักร. (มัด. 16:19; กิจ. 2:5, 41) การข่มเหงที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันทำให้เหล่าสาวกกระจัดกระจายไป แต่ก็ทำให้งานประกาศแผ่ขยายออกไป.
เมื่อได้ยินว่าประชาชนในซะมาเรียตอบรับพระคำของพระเจ้า เหล่าอัครสาวกในกรุงเยรูซาเลมจึงส่งเปโตรและโยฮันไปหาพวกเขา. เปโตรใช้กุญแจดอกที่สองด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวซะมาเรียได้เข้าในราชอาณาจักร. (กิจ. 8:14-17) คงจะเป็นในปีเดียวกับที่พระเยซูทรงคืนพระชนม์ที่การเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่งเกิดขึ้นกับเซาโลแห่งเมืองทาร์ซัส. ในปีสากลศักราช 36 เปโตรใช้กุญแจดอกที่สาม และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เทลงบนผู้คนในชาติต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับสุหนัต.—กิจ. 10:45.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
2:44-47; 4:34, 35 เหตุใดผู้มีความเชื่อบางคนจึงขายทรัพย์สินแล้วบริจาคเงินที่ได้จากการขาย? หลายคนที่เปลี่ยนมาเป็นผู้มีความเชื่อมาจากที่ต่าง ๆ อันห่างไกลและเตรียมสิ่งจำเป็นมาไม่พอที่จะอยู่นาน ๆ ในกรุงเยรูซาเลม. อย่างไรก็ตาม พวกเขาปรารถนาจะอยู่ต่อเพื่อจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อใหม่ของตนและเพื่อบอกข่าวดีแก่คนอื่น ๆ. เพื่อช่วยคนเหล่านี้ คริสเตียนบางคนขายทรัพย์สินของตน แล้วแจกจ่ายเงินที่ได้มาแก่คนที่ขัดสน.
4:13—เหตุใดจึงมีคนกล่าวว่าเปโตรและโยฮัน “เป็นสามัญชนที่เรียนมาน้อย”? ที่พวกเขากล่าวอย่างนั้นก็เพราะเปโตรและโยฮันไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝึกอบรมด้านศาสนาของพวกรับบี.
5:34-39—ลูการู้ได้อย่างไรว่ากามาลิเอลกล่าวอะไรในการประชุมภายในของสภาซันเฮดริน? มีทางเป็นไปได้อย่างน้อยสามทาง: (1) เปาโลซึ่งเคยเป็นศิษย์ของกามาลิเอลบอกให้ลูการู้; (2) ลูกาสอบถามจากสมาชิกสภาซันเฮดรินที่เห็นชอบกับคริสเตียน เช่น นิโกเดมุส; (3) ลูกาได้รับข้อมูลนี้จากการดลใจของพระเจ้า.
7:59—สเตฟาโนอธิษฐานถึงพระเยซูไหม? ไม่. การนมัสการและการอธิษฐานของคนเราควรมุ่งไปยังพระยะโฮวาพระเจ้าเท่านั้น. (ลูกา 4:8; 6:12) ภายใต้สภาพการณ์ปกติ สเตฟาโนคงอธิษฐานถึงพระยะโฮวาในพระนามพระเยซู. (โย. 15:16) แต่ในกรณีนี้ สเตฟาโนได้รับนิมิตเห็น “บุตรมนุษย์ทรงยืนอยู่ด้านขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า.” (กิจ. 7:56) โดยตระหนักดีว่าพระเยซูได้รับมอบอำนาจให้ปลุกคนให้เป็นขึ้นจากตาย สเตฟาโนจึงพูดโดยตรงกับพระเยซู ไม่ใช่อธิษฐานถึงพระองค์ ขอพระองค์ให้ปกป้องคุ้มครองชีวิตท่าน.—โย. 5:27-29.
บทเรียนสำหรับเรา:
1:8. งานประกาศข่าวดีทั่วโลกที่ทำโดยผู้นมัสการพระยะโฮวาไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์.
4:36–5:11. โยเซฟชาวไซปรัสมีชื่อเล่นว่าบาร์นาบัสซึ่งมีความหมายว่า “ลูกแห่งการชูใจ.” เหล่าอัครสาวกอาจตั้งชื่อให้เขาว่าบาร์นาบัสเพราะเขามีหัวใจที่ดีงาม, กรุณา, และพร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น. เราควรเป็นเหมือนเขา และไม่เป็นเหมือนกับอะนานีอัสและสัปฟีเรซึ่งใช้วิธีเสแสร้ง, หน้าซื่อใจคด, และฉ้อฉล.
9:23-25. การหลบหลีกศัตรูเพื่อจะสามารถประกาศต่อ ๆ ไปได้ไม่ใช่การกระทำแบบขี้ขลาด.
9:28-30. ถ้าการประกาศในบางย่านหรือกับบางคนกลายเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย, ศีลธรรม, หรือสภาพฝ่ายวิญญาณ เราจำเป็นต้องสุขุมรอบคอบและเลือกให้ดีว่าเราจะประกาศที่ไหนและเมื่อไร.
9:31. ในช่วงที่ค่อนข้างสงบ เราควรพยายามเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งด้วยการศึกษาและคิดรำพึง. นี่จะช่วยเราให้ดำเนินด้วยความเกรงกลัวพระยะโฮวาโดยใช้สิ่งที่เราเรียนรู้และกระตือรือร้นในงานรับใช้.
งานรับใช้อย่างกระตือรือร้นของเปาโล
ในปีสากลศักราช 44 อะกาบุสมาที่เมืองอันทิโอกซึ่งบาร์นาบัสและเซาโลได้สอนอยู่ที่นั่น “หนึ่งปีเต็ม.” อะกาบุสแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิด “การกันดารอาหาร” ซึ่งได้เกิดขึ้นจริง ๆ ในสองปีต่อมา. (กิจ. 11:26-28) “เมื่อบาร์นาบัสกับเซาโลทำงานบรรเทาทุกข์ในกรุงเยรูซาเลมเสร็จเรียบร้อยแล้ว” ทั้งสองก็กลับไปที่เมืองอันทิโอก. (กิจ. 12:25) ในปีสากลศักราช 47—ประมาณ 12 ปีหลังจากที่เซาโลเปลี่ยนมาเป็นผู้มีความเชื่อ—พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็ส่งบาร์นาบัสและเซาโลออกไปทำงานรับใช้เดินทางในฐานะมิชชันนารี. (กิจ. 13:1-4) ในปีสากลศักราช 48 ทั้งสองกลับมาที่เมืองอันทิโอก “ซึ่งเป็นที่ที่พี่น้องฝากทั้งสองให้พระเจ้าดูแลและแสดงพระกรุณาอันใหญ่หลวงต่อทั้งสอง.”—กิจ. 14:26.
ประมาณเก้าเดือนต่อมา เปาโล (มีอีกชื่อหนึ่งว่าเซาโล) เลือกซีลัสเป็นเพื่อนร่วมงานและออกเดินทางรอบที่สอง. (กิจ. 15:40) ระหว่างทาง ติโมเธียวและลูกาได้เข้าสมทบกับเปาโล. ลูกาอยู่ต่อในเมืองฟิลิปปอย ขณะที่เปาโลเดินทางต่อไปยังเมืองเอเธนส์และโครินท์ ซึ่งที่นั่นท่านพบกับอะคีลัสและปริสกิลลา และอยู่ที่นั่นหนึ่งปีหกเดือน. (กิจ. 18:11) โดยละติโมเธียวและซีลัสไว้ในเมืองโครินท์ เปาโลพาอะคีลัสและปริสกิลลาไปกับท่าน แล่นเรือไปซีเรียต้นปีสากลศักราช 52. (กิจ. 18:18) อะคีลัสและปริสกิลลา ไปด้วยกันกับท่านจนถึงเมืองเอเฟโซส์ ซึ่งทั้งสองอยู่ต่อที่เมืองนี้.
หลังจากอยู่ที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียอยู่ช่วงหนึ่ง เปาโลก็ออกเดินทางรอบที่สามในปีสากลศักราช 52. (กิจ. 18:23) ที่เมืองเอเฟโซส์ “พระคำของพระยะโฮวาจึงแพร่หลายออกไปและมีชัยอย่างยิ่งใหญ่.” (กิจ. 19:20) เปาโลใช้เวลาประมาณสามปีที่นั่น. (กิจ. 20:31) เมื่อถึงวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 56 เปาโลก็อยู่ที่กรุงเยรูซาเลม. หลังจากถูกจับ ท่านประกาศความเชื่อของท่านอย่างไม่หวั่นเกรงต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง. ในกรุงโรม ท่านอัครสาวกถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาสองปี (ประมาณสากลศักราช 59-61) และที่นั่นท่านพบวิธีบางอย่างในการประกาศเรื่องราชอาณาจักรและสอน “เรื่องพระเยซูคริสต์เจ้า.”—กิจ. 28:30, 31.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
14:8-13—เหตุใดชาวเมืองลิสตราจึงเรียก “บาร์นาบัสว่าซูส แต่เรียกเปาโลว่าเฮอร์เมส”? ซูสเป็นเทพบดีของเทพเจ้าทั้งหลายในเทพนิยายกรีก และเฮอร์เมสซึ่งเป็นบุตรของซูสมีชื่อเสียงว่ามีโวหารดี. เนื่องจากเปาโลนำหน้าในการพูด ชาวเมืองลิสตราจึงเรียกท่านว่าเฮอร์เมสและเรียกบาร์นาบัสว่าซูส.
16:6, 7—เหตุใดพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงห้ามเปาโลและเพื่อนร่วมงานไม่ให้ประกาศในมณฑลเอเชียและบิทีเนีย? มีคนทำงานเพียงไม่กี่คน. ดังนั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ชี้นำพวกเขาให้ไปในเขตงานที่เกิดผลมากกว่า.
18:12-17—เหตุใดข้าหลวงใหญ่กัลลิโอจึงไม่ยื่นมือเข้าจัดการเมื่อผู้คนที่มุงดูเริ่มเฆี่ยนตีโซสะเทเนส? กัลลิโออาจคิดว่าชายคนนี้ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นผู้นำในการต่อต้านเปาโลกำลังได้รับสิ่งที่เขาสมควรได้รับ. อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ดูเหมือนจะก่อผลที่ดีคือทำให้โซสะเทเนสเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน. ภายหลัง เปาโลกล่าวถึงโซสะเทเนสว่าเป็น “พี่น้องของเรา.”—1 โค. 1:1.
18:18—เปาโลให้คำปฏิญาณอะไรไว้? ผู้คงแก่เรียนบางคนเสนอความเห็นว่าเปาโลได้ให้คำปฏิญาณว่าจะเป็นนาษารีษ. (อาฤ. 6:1-21) แต่คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าเปาโลให้คำปฏิญาณอะไรไว้. นอกจากนั้น พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่าคำปฏิญาณนั้นทำก่อนหรือหลังจากที่ท่านเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน และไม่ได้บอกว่าท่านกำลังจะเริ่มทำตามคำปฏิญาณนั้นหรือจะทำให้คำปฏิญาณนั้นสิ้นสุดลง. ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด การให้คำปฏิญาณเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นบาป.
บทเรียนสำหรับเรา:
12:5-11. เราสามารถอธิษฐานเพื่อพี่น้องของเรา และนั่นคือสิ่งที่เราควรทำ.
12:21-23; 14:14-18. เฮโรดเต็มใจยอมรับเอาเกียรติที่ควรถวายแด่พระเจ้าเท่านั้น. ช่างแตกต่างจริง ๆ จากเปาโลและบาร์นาบัสที่ปฏิเสธอย่างหนักแน่นทันทีเมื่อคนอื่นยกย่องและให้เกียรติท่านอย่างไม่สมควร! เราไม่ควรปรารถนาจะได้รับเกียรติสำหรับความสำเร็จใด ๆ ที่เราอาจทำได้ในการรับใช้พระยะโฮวา.
14:5-7. การทำงานอย่างรอบคอบอาจช่วยเราให้ทำงานรับใช้ต่อไปได้.—มัด. 10:23.
14:22. คริสเตียนคาดหมายว่าจะประสบความลำบาก. พวกเขาไม่พยายามหาทางหลบเลี่ยงด้วยการประนีประนอมความเชื่อ.—2 ติโม. 3:12.
16:1, 2. หนุ่มสาวคริสเตียนควรทุ่มเทตัวในการรับใช้พระเจ้าและขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาในการสร้างชื่อเสียงที่ดี.
16:3. เราควรทำทุกสิ่งที่เราทำได้ในขอบเขตตามหลักการพระคัมภีร์เพื่อทำให้คนอื่น ๆ ยอมรับข่าวดี.—1 โค. 9:19-23.
20:20, 21. การประกาศตามบ้านเป็นแง่มุมสำคัญในการรับใช้ของเรา.
20:24; 21:13. การรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงต่อพระเจ้าสำคัญยิ่งกว่าการรักษาชีวิตของเราไว้.
21:21-26. เราควรเต็มใจและกระตือรือร้นรับเอาคำแนะนำที่ดี.
25:8-12. คริสเตียนในทุกวันนี้สามารถใช้ประโยชน์จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายและควรจะทำอย่างนั้นเพื่อ “ปกป้องข่าวดีและทำให้การประกาศข่าวดีเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย.”—ฟิลิป. 1:7.
26:24, 25. เราควร “พูดความจริงและพูดอย่างมีสติดี” แม้ว่า “คนที่มีความปรารถนาทางโลก” อาจถือว่าเป็นเรื่องโง่เขลา.—1 โค. 2:14.
[ภาพหน้า 30]
เปโตรใช้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” เมื่อไร?
[ภาพหน้า 31]
งานประกาศข่าวดีทั่วโลกไม่มีทางสำเร็จได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์