คุณสามารถอดทนในงานรับใช้ได้อย่างไร?
คุณสามารถอดทนในงานรับใช้ได้อย่างไร?
คุณเคยรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ไหมจนถึงกับต้องการหยุดจากงานประกาศ? การต่อต้านอย่างหนัก, ความกังวล, สุขภาพที่ไม่ดี, ความกดดันจากคนรอบข้าง, หรือการขาดการตอบรับจากคนที่เราประกาศอาจทดสอบความอดทนของเรา. อย่างไรก็ตาม จงคิดถึงแบบอย่างของพระเยซู. พระองค์ทรงอดทนการทดลองที่หนักหน่วงที่สุด “เพราะเห็นแก่ความยินดีที่อยู่ตรงหน้า.” (ฮีบรู 12:2) พระองค์ทราบว่าโดยการพิสูจน์ว่าคำกล่าวหาพระเจ้าไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง พระองค์กำลังทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี.—สุภา. 27:11.
โดยอดทนในงานรับใช้ คุณก็เช่นกันสามารถทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี. อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรถ้าอุปสรรคบางประการดูเหมือนทำให้พลังของคุณที่จะประกาศถดถอยลง? คริสตินาซึ่งมีอายุมากและสุขภาพไม่ดียอมรับว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฉันจะรู้สึกเหนื่อยและห่อเหี่ยว. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น สุขภาพที่ไม่ดีและความกังวลเกี่ยวกับชีวิตประจำวันทำให้ความกระตือรือร้นของฉันลดน้อยลง.” คุณจะบากบั่นในงานรับใช้แม้จะเผชิญอุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างไร?
จงเลียนแบบเหล่าผู้พยากรณ์
เพื่อจะบากบั่นในงานประกาศ ผู้ประกาศราชอาณาจักรที่ซื่อสัตย์สามารถได้มาซึ่งทัศนคติแบบเดียวกับของผู้พยากรณ์สมัยโบราณ. ยกตัวอย่างท่านยิระมะยาห์. เมื่อท่านถูกเรียกให้มาเป็นผู้พยากรณ์ ท่านไม่ค่อยแน่ใจในตอนแรก. กระนั้น ยิระมะยาห์สามารถอดทนในงานมอบหมายที่ยากลำบากเป็นเวลามากกว่า 40 ปี เพราะท่านเรียนรู้ที่จะไว้วางใจพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม.—ยิระ. 1:6; 20:7-11.
เฮนริกได้รับการหนุนใจจากตัวอย่างของยิระมะยาห์. เขาบอกว่า “ระหว่างเวลามากกว่า 70 ปีในงานรับใช้ บางครั้งผมท้อใจเพราะปฏิกิริยาของผู้คน คือความเป็นปฏิปักษ์หรือความไม่แยแสของพวกเขา. ในเวลาเช่นนั้น ผมระลึกถึงตัวอย่างของยิระมะยาห์. ความรักที่ท่านมีต่อพระยะโฮวาและสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นที่ท่านมีกับพระองค์ทำให้ท่านมีกำลังประกาศข่าวสารจากพระยะโฮวาต่อไป.” (ยิระ. 1:17) ราเฟาได้รับการกระตุ้นใจโดยตัวอย่างของยิระมะยาห์เช่นกัน. เขาบอกว่า “ยิระมะยาห์ไว้วางใจพระเจ้า แทนที่จะมุ่งสนใจตัวเองและความรู้สึกของตน. ท่านทำงานต่อไปอย่างไม่หวาดกลัวแม้จะต้องพบกับความเกลียดชังที่มีอย่างแพร่หลาย. ผมพยายามคิดถึงเรื่องนี้เสมอ.”
ผู้พยากรณ์อีกคนหนึ่งซึ่งแบบอย่างของท่านได้ช่วยหลายคนให้อดทนในงานรับใช้ได้แก่ยะซายา. พระเจ้าบอกกับท่านว่าเพื่อนร่วมชาติจะไม่ฟังท่าน. พระยะโฮวาตรัสดังนี้ “จงไปทำให้ใจของพลเมืองนั้นให้มึนชาไป, และจงกระทำให้หูของเขาตึงไป.” ยะซายาประสบความล้มเหลวไหม? ไม่เลยจากทัศนะของพระเจ้า! เมื่อท่านได้รับมอบหมายเป็นผู้พยากรณ์ ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่; ทรงใช้ข้าพเจ้าเถิด.” (ยซา. 6:8-10) ยะซายาเอาใจใส่หน้าที่ของท่านโดยไม่เลิกรา. นั่นเป็นวิธีที่คุณตอบรับต่อพระบัญชาให้ทำการประกาศไหม?
ที่จะมุ่งมั่นในงานรับใช้แม้จะต้องเผชิญกับผู้ฟังที่ไม่ตอบรับเช่นที่ยะซายาประสบ เราจำต้องหลีกเลี่ยงการใส่ใจกับปฏิกิริยาเชิงลบที่เราพบ. ราเฟาได้เอาชนะความท้อแท้โดยวิธีนี้ “ผมพยายามไม่สนใจคำพูดที่รุนแรงของผู้คน. ประชาชนในเขตทำงานของผมมีสิทธิ์ที่จะตอบรับแบบใดก็ได้ที่พวกเขาต้องการ.” อันนาเสริมว่า “ดิฉันไม่ปล่อยให้ความคิดวนเวียนอยู่กับสิ่งที่ไม่น่ายินดีหรือที่ทำให้ท้อใจ. สิ่งที่ช่วยให้ดิฉันทำเช่นนั้นได้คือการอธิษฐานและการพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันก่อนที่จะออกประกาศ. ความคิดในแง่ลบที่มีก็หายไปอย่างรวดเร็ว.”
ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลได้รับใช้ท่ามกลางชาวยิวผู้ดื้อด้านที่ถูกเนรเทศในบาบิโลน. (ยเอศ. 2:6) ถ้าท่านผู้พยากรณ์ไม่ บอกพระคำของพระเจ้ากับประชาชนและหากคนชั่วคนหนึ่งคนใดต้องตายเพราะไม่ได้ยินคำเตือน ยะเอศเคลเองต้องรับผิดชอบต่อความตายของคนนั้น. พระยะโฮวาตรัสกับยะเอศเคลว่า “โลหิตของเขาจะเรียกเอาจากมือของท่าน.”—ยเอศ. 3:17, 18.
เฮนริกพยายามที่จะมีทัศนะเหมือนกับยะเอศเคล “ผมไม่ต้องการเป็นมลทินเพราะการตายของคนทั้งปวง. ชีวิตอันมีค่ายิ่งของมนุษย์อยู่ในระหว่างเสี่ยง.” (กิจ. 20:26, 27) ซบิกเนียฟได้แสดงความรู้สึกเช่นเดียวกันว่า “ยะเอศเคลต้องมุ่งมั่นทำงานไม่ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร. เรื่องนี้ช่วยให้ผมมองการประกาศด้วยทัศนะของพระเจ้า.”
คุณไม่ได้ทำงานตามลำพัง
คุณไม่ได้ทำงานตามลำพังเมื่อคุณเข้าส่วนในการประกาศ. เช่นเดียวกับอัครสาวกเปาโล เราสามารถกล่าวได้ว่า “เราเป็นผู้ร่วมงานกับพระเจ้า.” (1 โค. 3:9) คริสตินา ซึ่งยอมรับว่าเธอหมดกำลังใจเป็นครั้งเป็นคราว บอกว่า “นั่นคือเหตุผลที่ดิฉันเฝ้าทูลขอพระยะโฮวาเพื่อได้รับกำลัง. พระองค์ทรงประทานกำลังเมื่อดิฉันทูลขอเสมอ.” ถูกแล้ว เราจำเป็นต้องได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อสนับสนุนเราในการรับใช้!—ซคา. 4:6.
เมื่อเรากำลังประกาศ พระวิญญาณบริสุทธิ์ยังช่วยเราให้สำแดงคุณลักษณะที่ประกอบกันเป็น “ผลของพระวิญญาณ.” (กลา. 5:22, 23) นั่นช่วยเราให้ยืนหยัดในการประกาศไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น. เฮนริกให้ข้อสังเกตว่า “การเข้าส่วนในการประกาศตามบ้านช่วยผมให้พัฒนาบุคลิกภาพ. ผมเรียนรู้ที่จะเป็นคนอดทนและเห็นอกเห็นใจ ไม่บอกเลิกง่าย ๆ.” การอดทนในการรับใช้แม้จะเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ สามารถช่วยคุณให้ปลูกฝังผลของพระวิญญาณได้มากยิ่งขึ้น.
ในการชี้นำงานที่โดดเด่นนี้ พระยะโฮวาทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์. (วิ. 14:6) พระคัมภีร์เปิดเผยว่ามีทูตสวรรค์ดังกล่าว “จำนวนหลายหมื่นคูณหลายหมื่นและหลายพันคูณหลายพัน.” (วิ. 5:11) ภายใต้การชี้นำของพระเยซู ทูตสวรรค์ให้การสนับสนุนผู้รับใช้ของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก. คุณตระหนักถึงเรื่องนี้ไหมเมื่อไรก็ตามที่คุณออกประกาศ?
อันนาบอกว่า “การคิดรำพึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าทูตสวรรค์อยู่กับเราในงานรับใช้เป็นที่มาของกำลังใจสำหรับดิฉัน. ดิฉันถือว่าความช่วยเหลือของทูตสวรรค์ภายใต้การดูแลของพระยะโฮวาและพระเยซูเป็นสิ่งมีค่า.” ช่างเป็นสิทธิพิเศษที่เราสามารถทำงานร่วมกับทูตสวรรค์ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้!
การทำงานร่วมกับผู้ประกาศคนอื่น ๆ ช่วยเราให้สามารถอดทนได้อย่างไร? เราได้รับพระพรที่ได้มาสมทบกับพยานฯ ที่ซื่อสัตย์จำนวนมาก. ไม่ต้องสงสัยว่าคุณได้มาประสบกับความเป็นจริงของสุภาษิตในพระคัมภีร์ที่ว่า “เหล็กลับเหล็กให้คมได้ฉันใด, คนเราก็ลับเพื่อนของเราให้เฉียบแหลมขึ้นได้ฉันนั้น.”—สุภา. 27:17.
การทำงานร่วมกันกับคนอื่น ๆ ในงานรับใช้ทำให้เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะสังเกตวิธีอื่น ๆ ที่ได้ผลซึ่งเราอาจยังไม่คุ้นเคยมาก่อน. เอลซะบีเอทาบอกว่า “การทำงานกับผู้ประกาศหลาย ๆ คนทำให้ดิฉันมีโอกาสที่จะแสดงความรักต่อพี่น้องชายหญิงและผู้คนที่เราพบ.” จงลองออกประกาศกับพี่น้องหลาย ๆ คน. นั่นจะทำให้การรับใช้ของคุณน่าสนใจ.
จงดูแลตัวเองให้ดี
เพื่อคงไว้ซึ่งความกระตือรือร้นในการประกาศ เราต้องวางแผนอย่างดี, มีกิจวัตรที่ดีสำหรับการศึกษาส่วนตัว, และพักผ่อนให้พอเพียง. พูดอีกอย่างหนึ่ง เราต้องดูแลเราในด้านฝ่ายวิญญาณและด้านร่างกายด้วย.
พระคัมภีร์บอกว่า “ความดำริการณ์ของคนขยันขันแข็งนำไปถึงความบริบูรณ์.” (สุภา. 21:5) ซิกมุนท์ปัจจุบันอายุ 88 ปี กล่าวว่า “การมีตารางเวลาที่ดีในงานรับใช้ช่วยผมให้มีจุดมุ่งหมาย. ผมจัดเวลาอย่างระมัดระวังเพื่อจะมีเวลาพอสำหรับการประกาศ.”
การมีความรู้ในพระคัมภีร์เป็นอย่างดีเสริมกำลังและช่วยเราในงานรับใช้. ดังที่เราจำต้องรับประทานอาหารเพื่อมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องรับอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำเพื่อจะเข้าส่วนในงานประกาศได้ต่อ ๆ ไป. การหล่อเลี้ยงด้วยพระคำของพระเจ้าทุกวันและรับ “อาหาร . . . ในเวลาอันเหมาะ” ให้พลังแก่เราสำหรับการรับใช้.—มัด. 24:45-47.
เอลซะบีเอทาได้ทำการเปลี่ยนแปลงสำคัญในรูปแบบ
ชีวิตเพื่อปรับปรุงงานรับใช้ของเธอ. เธอกล่าวว่า “ดิฉันได้ลดเวลาดูโทรทัศน์ลงอย่างมากเพื่อดิฉันจะมีเวลามากขึ้นในการเตรียมการประกาศ. เมื่อดิฉันอ่านพระคัมภีร์ทุกเย็น ดิฉันคิดถึงผู้คนที่ได้พบในเขตทำงาน. ดิฉันค้นข้อคัมภีร์และบทความต่าง ๆ ที่อาจช่วยพวกเขา.”การพักผ่อนอย่างเหมาะสมจะช่วยคุณให้มีกำลังพอและช่วยคุณให้เข้าส่วนในการรับใช้อย่างเต็มที่. ในอีกด้านหนึ่ง นันทนาการที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพของการรับใช้ได้. อันเจซึ่งเป็นผู้ประกาศที่กระตือรือร้นให้ข้อสังเกตว่า “การพักผ่อนไม่พอทำให้เหนื่อยเกินไปและนำไปสู่การท้อใจได้ง่าย. ผมทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้.”—ผู้ป. 4:6.
แม้ว่าเราจะพยายามอย่างจริงใจ มีเพียงไม่กี่คนที่ยอมรับข่าวดี. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาไม่ทรงลืมการงานของเรา. (ฮีบรู 6:10) แม้ว่าหลายคนไม่ต้องการสนทนากับเรา พวกเขาอาจพูดคุยเกี่ยวกับการเยี่ยมของเราหลังจากที่เราออกจากบ้านของเขา. ผลอาจจะเป็นอย่างที่เราอ่านเกี่ยวกับยะเอศเคลว่า ผู้คนจะ “รู้ว่ามีผู้ทำนายอยู่ในท่ามกลางเขาทั้งหลาย.” (ยเอศ. 2:5) เป็นความจริงที่ว่าการประกาศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการประกาศนั้นและคนที่รับฟังก็ได้ประโยชน์ด้วย.
ซิกมุนท์บอกว่า “การเข้าส่วนในการประกาศช่วยเราให้สวมใส่บุคลิกภาพใหม่และแสดงความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน.” อันเจเสริมว่า “เป็นเกียรติที่เราได้เข้าส่วนในงานช่วยชีวิตนี้. งานนี้จะไม่ได้ทำซ้ำอีกในระดับหรือภายใต้สภาพการณ์แบบเดียวกันนี้.” คุณก็เช่นกันจะได้รับพระพรมากมายจากการบากบั่นในงานรับใช้ขณะนี้.—2 โค. 4:1, 2.
[ภาพหน้า 31]
การเอาใจใส่ความจำเป็นด้านวิญญาณและด้านร่างกายช่วยเราให้อดทนในงานรับใช้