จงมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระยะโฮวา!
จงมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระยะโฮวา!
“ใจอันแรงกล้าที่ข้าพเจ้ามีเพื่อพระนิเวศของพระองค์เป็นเหมือนไฟที่ลุกโชติช่วง.”—โย. 2:17
1, 2. พระเยซูทรงทำอะไร ณ พระวิหารใน ส.ศ. 30 และเพราะเหตุใด?
ขอให้นึกภาพฉากเหตุการณ์. ในตอนนั้นเป็นวันปัศคา สากลศักราช 30. หกเดือนก่อนหน้านั้น พระเยซูทรงเริ่มทำงานรับใช้บนแผ่นดินโลก. ตอนนี้พระองค์ทรงขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเลม. เมื่อทรงอยู่ที่นั่น ณ ลานสำหรับชนต่างชาติในพระวิหาร พระเยซูทรงพบ “คนขายวัว แกะ และนกพิราบ และพบพวกพ่อค้ารับแลกเงินนั่งอยู่.” พระองค์ทรงฟาดแส้ที่ทำจากเชือกไล่สัตว์ทั้งหมดออกไป และแน่นอนว่าพวกพ่อค้าก็ต้องตามสัตว์เหล่านั้นไป. พระเยซูทรงเทเงินเหรียญของพวกคนรับแลกเงินและคว่ำโต๊ะของพวกเขาด้วย. พระองค์ทรงสั่งคนขายนกพิราบให้เอาของของพวกเขาออกไปจากพระวิหาร.—โย. 2:13-16
2 การกระทำของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นห่วงพระวิหาร. พระองค์ทรงสั่งว่า “เลิกทำให้นิเวศของพระบิดาของเราเป็นที่ค้าขายเสียที!” เมื่อเหล่าสาวกของพระเยซูเห็นเหตุการณ์นี้ พวกเขาก็นึกขึ้นได้ถึงถ้อยคำที่ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนไว้หลายศตวรรษมาแล้ว ที่ว่า “ใจอันแรงกล้าที่ข้าพเจ้ามีเพื่อพระนิเวศของพระองค์เป็นเหมือนไฟที่ลุกโชติช่วง.”—โย. 2:16, 17; เพลง. 69:9
3. (ก) ความมีใจแรงกล้าคืออะไร? (ข) เราอาจถามตัวเองอย่างไร?
3 ความห่วงใยหรือใจแรงกล้าที่พระเยซูทรงมีต่อพระนิเวศของพระเจ้านั่นเองที่กระตุ้นพระองค์ให้ลงมือกระทำ. ความมีใจแรงกล้าคือ “ความกระตือรือร้นและความสนใจอย่างยิ่งในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ.” ในศตวรรษที่ 21 นี้ มีคริสเตียนมากกว่าเจ็ดล้านคนที่แสดงความห่วงใยต่อพระนิเวศของพระเจ้า. เราแต่ละคนอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันจะมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระยะโฮวามากขึ้นได้โดยวิธีใด?’ เพื่อช่วยเราตอบคำถามนั้น ให้เราพิจารณากันก่อนว่าพระนิเวศของพระเจ้าในปัจจุบันคืออะไร. จากนั้น เราจะพิจารณาตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับผู้ซื่อสัตย์ที่มีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระเจ้า. ตัวอย่างของพวกเขาเขียนไว้ “เพื่อสั่งสอนเรา” และอาจกระตุ้นเราให้มีใจแรงกล้ามากขึ้น.—โรม 15:4
พระนิเวศของพระเจ้า—ในอดีตและปัจจุบัน
4. พระวิหารที่โซโลมอนสร้างมีจุดประสงค์เพื่ออะไร?
4 ในอิสราเอลโบราณ พระนิเวศของพระเจ้าคือพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. แน่นอน พระยะโฮวาไม่ได้ทรงพำนักที่นั่นจริง ๆ. พระองค์ทรงประกาศว่า “สวรรค์เป็นบัลลังก์ของเราและแผ่นดินโลกเป็นแท่นวางเท้าของเรา นิเวศซึ่งเจ้าจะสร้างให้เรานั้นจะอยู่ที่ไหนเล่า และที่พำนักของเราจะอยู่ที่ไหน?” (ยซา. 66:1, ฉบับ R73) อย่างไรก็ตาม พระวิหารที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของโซโลมอนเป็นจุดศูนย์รวมการนมัสการพระยะโฮวา ซึ่งมีการอธิษฐานกันที่นั่น.— 1 กษัต. 8:27-30
5. การนมัสการ ณ พระวิหารของโซโลมอนเป็นภาพเล็งถึงอะไร?
5 ปัจจุบัน พระนิเวศของพระยะโฮวาไม่ได้เป็นอาคารอันใหญ่โตที่สร้างด้วยศิลาในกรุงเยรูซาเลมหรือที่อื่นใด. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระนิเวศของพระยะโฮวาเป็นวิธีที่พระยะโฮวาทรงกำหนดไว้เพื่อเราจะสามารถเข้าเฝ้าพระองค์ในการนมัสการโดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์. ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทั้งหมดของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกนมัสการพระยะโฮวาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในพระวิหารฝ่ายวิญญาณนี้.—ยซา. 60:4, 8, 13; กิจ. 17:24; ฮีบรู 8:5; 9:24
6. กษัตริย์องค์ใดของอาณาจักรยูดาห์ที่มีใจแรงกล้าอย่างโดดเด่นเพื่อการนมัสการแท้?
6 หลังจากชาติอิสราเอลถูกแบ่งออกเป็นสองอาณาจักร
ในปี 997 ก่อน ส.ศ. กษัตริย์ 4 องค์จากทั้งหมด 19 องค์ที่ปกครองอาณาจักรยูดาห์ทางตอนใต้มีใจแรงกล้าอย่างโดดเด่นเพื่อการนมัสการแท้. กษัตริย์สี่องค์นั้นได้แก่ อาซา, เยโฮซาฟาต, ฮิศคียาห์, และโยซียาห์. เราอาจได้บทเรียนที่สำคัญอะไรจากตัวอย่างของกษัตริย์เหล่านี้?การรับใช้อย่างสุดหัวใจทำให้ได้พระพร
7, 8. (ก) พระยะโฮวาทรงอวยพรการรับใช้แบบใด? (ข) เราอาจได้บทเรียนที่เป็นข้อเตือนใจอะไรจากตัวอย่างของกษัตริย์อาซา?
7 ในช่วงที่กษัตริย์อาซาครองราชย์ พระยะโฮวาทรงส่งผู้พยากรณ์หลายคนไปชี้นำชนชาติของพระองค์ให้ดำเนินในแนวทางที่ถูกต้อง. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าอาซาฟังผู้พยากรณ์อะซาระยา บุตรโอเดด. (อ่าน 2 โครนิกา 15:1-8) การปฏิรูปของอาซาทำให้ประชาชนในอาณาจักรยูดาห์สมัครสมานสามัคคีกัน และรวมไปถึงประชาชนจำนวนมากจากอาณาจักรอิสราเอลซึ่งลงมาร่วมสมทบในการประชุมใหญ่ที่กรุงเยรูซาเลมด้วย. พวกเขาประกาศร่วมกันถึงความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะนมัสการพระยะโฮวาอย่างภักดี. เราอ่านว่า “เขาสาบานตัวไว้แก่พระยะโฮวาด้วยเสียงดัง, ทั้งโห่ร้อง, และเสียงแตร. บรรดาชนชาวแผ่นดินยูดาก็ยินดีด้วยคำสัตย์สาบานนั้น; เพราะว่าเขาได้ทำสัตย์สาบานด้วยใจสุจริต, และได้แสวงหาพระองค์ด้วยความเต็มอกเต็มใจ; พระองค์จึงทรงโปรดให้เขาประสบพระองค์ แล้วพระยะโฮวาทรงโปรดให้แผ่นดินมีความสุขสำราญทั่วตลอดไป.” (2 โคร. 15:9-15) พระยะโฮวาจะอวยพรเราอย่างแน่นอนเช่นเดียวกันเมื่อเรารับใช้พระองค์อย่างสุดหัวใจ.—มโก. 12:30
8 น่าเสียดาย ในเวลาต่อมาอาซาขุ่นเคืองเมื่อถูกว่ากล่าวแก้ไขจากฮะนานีผู้หยั่งรู้. (2 โคร. 16:7-10, ล.ม.) เราแสดงปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพระยะโฮวาทรงแนะนำหรือชี้นำเราโดยทางคริสเตียนผู้ปกครอง? เราพร้อมจะยอมรับและทำตามคำแนะนำของพวกเขาที่อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลักและไม่ขุ่นเคืองไหม?
9. เยโฮซาฟาตและอาณาจักรยูดาห์เผชิญการคุกคามอะไร และพวกเขาแสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
9 เยโฮซาฟาตปกครองเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรยูดาห์ในช่วงศตวรรษที่สิบก่อน ส.ศ. ท่านและอาณาจักรยูดาห์เผชิญการคุกคามจากกองกำลังผสมซึ่งประกอบด้วยอำโมน, โมอาบ, และประชาชนในเขตภูเขาเซอีร์. แม้ว่าท่านรู้สึกกลัว แต่กษัตริย์องค์นี้ทำอะไร? ท่านกับประชาชนของท่าน พร้อมกับภรรยาและบุตรของพวกเขา มารวมตัวกัน ณ พระนิเวศของพระยะโฮวาเพื่ออธิษฐาน. (อ่าน 2 โครนิกา 20:3-6) คล้ายกันกับคำตรัสของโซโลมอนก่อนหน้านั้นในคราวการอุทิศพระวิหาร เยโฮซาฟาตวิงวอนพระยะโฮวาว่า “ข้าแต่พระเจ้าแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย, พระองค์จะมิทรงพิพากษาปรับโทษพวกนั้นหรือ? ด้วยพวกข้าพเจ้านี้ไม่มีกำลังที่จะต้านทานต่อสู้หมู่คณะใหญ่ที่มาต่อสู้พวกข้าพเจ้านี้; พวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะทำประการใด แต่แหงนตาระลึกถึงพระองค์.” (2 โคร. 20:12, 13) หลังจากเยโฮซาฟาตอธิษฐานจบลง ที่นั่นใน “ท่ามกลางพวกชุมนุมนั้น” พระวิญญาณของพระยะโฮวาก็กระตุ้นยะฮะซีเอ็ลชาวเลวีให้กล่าวถ้อยคำที่ให้กำลังใจและทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ.—อ่าน 2 โครนิกา 20:14-17
10. (ก) เยโฮซาฟาตและอาณาจักรยูดาห์ได้รับการชี้นำอย่างไร? (ข) เราจะแสดงความขอบคุณสำหรับการชี้นำที่พระยะโฮวาประทานแก่เราในทุกวันนี้ได้อย่างไร?
10 ในสมัยนั้น เยโฮซาฟาตและอาณาจักรยูดาห์ได้รับการชี้นำจากพระยะโฮวาทางยะฮะซีเอ็ล. ปัจจุบัน เราได้รับกำลังใจและการชี้นำทางชนชั้นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. แน่นอน เราต้องการให้ความร่วมมือและแสดงความนับถือเสมอต่อผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งทำงานหนักในการบำรุงเลี้ยงเราและดำเนินตามการชี้นำของ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.”—มัด. 24:45; 1 เทส. 5:12, 13
11, 12. เราเรียนอะไรได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเยโฮซาฟาตและอาณาจักรยูดาห์?
11 เช่นเดียวกับที่เยโฮซาฟาตและประชาชนของท่านมารวมตัวกันเพื่อขอการชี้นำจากพระยะโฮวา ขอเราอย่าละเลยการเข้าร่วมประชุมเป็นประจำที่ประชาคมกับพี่น้องของเรา. ในบางครั้งเมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากอย่างยิ่งและไม่รู้จะทำอย่างไรดี ให้เราทำตามตัวอย่างที่ดีซึ่งเยโฮซาฟาตกับประชาชนในอาณาจักรยูดาห์วางไว้ โดยหมายพึ่งพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐานถึงพระองค์อย่างไว้วางใจเต็มที่. (สุภา. 3:5, 6; ฟิลิป. 4:6, 7) แม้แต่เมื่อเราอยู่โดดเดี่ยวห่างไกล คำวิงวอนของเราต่อพระยะโฮวา ก็จะรวมเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “สังคมพี่น้องคริสเตียน [ของเรา] ซึ่งอยู่ในโลก.”—1 เป. 5:9
12 เยโฮซาฟาตและประชาชนของท่านทำตามการชี้นำที่พระเจ้าประทานทางยะฮะซีเอ็ล. ผลเป็นอย่างไร? พวกเขาได้รับชัยชนะในการสู้รบหลังจากนั้น และกลับไปยังกรุงเยรูซาเลม “ด้วยความยินดี” และ “ถึงโบสถ์วิหารของพระยะโฮวาด้วยเสียงกระจับปี่และพิณสิบสายและแตรต่าง ๆ.” (2 โคร. 20:27, 28) เช่นเดียวกัน เราแสดงความนับถือต่อการชี้นำที่พระยะโฮวาประทานโดยทางตัวแทนของพระองค์และร่วมกันสรรเสริญพระองค์.
ดูแลสถานที่ประชุมของเราให้ดี
13. ฮิศคียาห์ริเริ่มทำงานอะไรในช่วงต้นรัชกาลของท่าน?
13 ในเดือนแรกที่ขึ้นครองราชย์ ฮิศคียาห์แสดงความมีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการพระยะโฮวาด้วยการบูรณะซ่อมแซมและเปิดใช้พระวิหารอีกครั้งหนึ่ง. ท่านจัดระเบียบปุโรหิตและชาวเลวีให้ชำระพระนิเวศของพระเจ้า. พวกเขาใช้เวลาทำความสะอาดทั้งหมด 16 วัน. (อ่าน 2 โครนิกา 29:16-18) ความพยายามดังกล่าวทำให้เรานึกถึงงานบำรุงรักษาและซ่อมแซมที่ทำให้สถานที่ประชุมของเราอยู่ในสภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าเรามีใจแรงกล้าในการนมัสการพระยะโฮวาอยู่เสมอ. คุณเคยได้ยินประสบการณ์ไหมที่ว่าผู้คนประทับใจในความกระตือรือร้นของพี่น้องที่ร่วมในงานเช่นนั้น? ความพยายามของพวกเขาทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญมากทีเดียว.
14, 15. งานอะไรในปัจจุบันที่ทำให้พระยะโฮวาได้รับคำสรรเสริญมากมาย? จงยกตัวอย่าง.
14 ในเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของอังกฤษ ชายคนหนึ่งคัดค้านเมื่อมีการเสนอให้มีการบูรณะหอประชุมราชอาณาจักรซึ่งอยู่ติดกับที่ของเขา. พี่น้องในท้องถิ่นปฏิบัติต่อเขาอย่างกรุณา. เมื่อเห็นว่ากำแพงรั้วที่กั้นระหว่างหอประชุมราชอาณาจักรกับที่ของเพื่อนบ้านคนนี้ควรซ่อมแซม พวกเขาเสนอจะทำงานนี้โดยที่ชายคนนี้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย. พวกเขาทำงานหนัก และจริง ๆ แล้วได้สร้างกำแพงขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด. พี่น้องจัดการเรื่องนี้ได้ดีมากจนเพื่อนบ้านคนนี้เปลี่ยนท่าทีของเขา. ตอนนี้เขาช่วยเป็นหูเป็นตาคอยดูทรัพย์สินของหอประชุมให้.
15 ประชาชนของพระยะโฮวาร่วมในงานก่อสร้างทั่วโลก. อาสาสมัครในท้องถิ่นเต็มใจทำงานร่วมกับผู้รับใช้เต็มเวลานานาชาติในการก่อสร้างไม่เพียงแค่หอประชุมราชอาณาจักร แต่ในการก่อสร้างหอประชุมสำหรับการประชุมใหญ่
และสำนักงานเบเธลด้วย. แซมเป็นวิศวกรที่ชำนาญด้านระบบปรับอากาศ. เขากับรูทภรรยาของเขาได้เดินทางไปหลายประเทศในยุโรปและแอฟริกาเพื่อช่วยในโครงการก่อสร้าง. ไม่ว่าไปที่ไหน ทั้งสองชื่นชมยินดีในการประกาศร่วมกับพี่น้องในท้องถิ่นด้วย. แซมอธิบายว่าสิ่งที่กระตุ้นเขาให้เข้าร่วมในโครงการนานาชาติ “คือกำลังใจที่ได้จากคนอื่น ๆ ซึ่งรับใช้ที่เบเธลที่นี่และในประเทศต่าง ๆ. เพียงแค่เห็นความกระตือรือร้นและความยินดีของพวกเขาก็มากพอแล้วที่จะกระตุ้นผมให้อยากรับใช้อย่างนี้บ้าง.”ทำตามพระบัญชาของพระเจ้า
16, 17. ประชาชนของพระเจ้าได้ร่วมในกิจกรรมพิเศษอะไรอย่างกระตือรือร้น และผลเป็นอย่างไร?
16 นอกจากการบูรณะพระวิหารแล้ว ฮิศคียาห์ยังได้ฟื้นฟูการฉลองปัศคาประจำปีซึ่งพระยะโฮวาเคยมีพระบัญชาให้ฉลองด้วย. (อ่าน 2 โครนิกา 30:1, 4, 5) ฮิศคียาห์และประชากรกรุงเยรูซาเลมได้เชิญคนทั้งชาติ—แม้แต่คนที่อยู่ในอาณาจักรทางเหนือ—ให้มาร่วม. คนนำสารถูกส่งออกไปทั่วประเทศเพื่อส่งจดหมายเชิญ.— 2 โคร. 30:6-9
17 ในไม่กี่ปีมานี้ เรามีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่คล้าย ๆ กัน. เราได้แจกใบเชิญที่สวยงามเพื่อเชิญผู้คนในเขตงานของเราให้มาร่วมรำลึกด้วยกันกับเราในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ตามพระบัญชาของพระเยซู. (ลูกา 22:19, 20) เราได้รับคำแนะนำในการประชุมการรับใช้และได้เข้าร่วมในงานนี้ด้วยใจแรงกล้า. และพระยะโฮวาได้อวยพรความพยายามดังกล่าวมากทีเดียว! ในปีที่แล้ว พวกเราประมาณเจ็ดล้านคนได้แจกใบเชิญนี้ และมีคนมาเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ทั้งหมด 17,790,631 คน!
18. เหตุใดความมีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการแท้จึงสำคัญมากสำหรับคุณ?
18 มีคำพรรณนาเกี่ยวกับฮิศคียาห์ว่า “ท่านได้ไว้ใจในพระยะโฮวาพระเจ้าของยิศราเอล; ดังนั้นกษัตริย์ทั้งหลายแห่งประเทศยูดา; ที่อยู่ก่อนหรือหลังท่านไม่มีองค์ใดเสมอเหมือนท่าน. ด้วยว่าท่านได้เข้าสนิทกับพระยะโฮวา, และติดตามพระองค์ไปไม่ได้หลงผิด, แต่ได้รักษาพระบัญญัติทั้งหลายของพระยะโฮวา, ซึ่งพระองค์ได้มีรับสั่งแก่โมเซ.” (2 กษัต. 18:5, 6) ขอให้เราเป็นอย่างนั้นด้วยเช่นกัน. ความมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระเจ้าจะช่วยเราให้ “เข้าสนิทกับพระยะโฮวา” โดยมีความหวังจะได้รับชีวิตนิรันดร์.—บัญ. 30:16
ตอบสนองต่อการชี้นำทันที
19. มีความพยายามทำอะไรเป็นพิเศษด้วยใจแรงกล้าเมื่อมีการประชุมอนุสรณ์?
19 เมื่อโยซียาห์ปกครองเป็นกษัตริย์ สิ่งหนึ่งที่ท่านได้ทำด้วยก็คือจัดให้มีการฉลองปัศคา โดยที่ท่านได้เตรียมทุกสิ่งไว้พร้อมสำหรับการฉลอง. (2 กษัต. 23:21-23; 2 โคร. 35:1-19) พวกเราก็เอาใจใส่เป็นพิเศษด้วยเพื่อเตรียมการประชุมภาค, การประชุมหมวด, การประชุมพิเศษ, และการประชุมอนุสรณ์. พี่น้องในบางประเทศถึงกับเสี่ยงชีวิตด้วยซ้ำเพื่อจะประชุมรำลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์. ผู้ปกครองที่มีใจแรงกล้าจะตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีใครในประชาคมถูกมองข้าม. ผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพจะได้รับความช่วยเหลือให้เข้าร่วมในโอกาสสำคัญนี้.
20. (ก) เกิดอะไรขึ้นในช่วงที่กษัตริย์โยซียาห์ขึ้นครองราชย์ และท่านแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? (ข) เราต้องการจำบทเรียนอะไรไว้?
20 ในช่วงที่ทำงานบูรณะซึ่งกษัตริย์โยซียาห์เป็นผู้จัดระเบียบงาน มหาปุโรหิตฮิลคียาห์ “ได้พบหนังสือพระบัญญัติของพระยะโฮวาที่โมเซเขียน.” (2 โคร. 34:14, ล.ม.) มหาปุโรหิตส่งหนังสือนั้นให้ซาฟาน ราชเลขา ซึ่งได้นำหนังสือนั้นขึ้นกราบทูลและอ่านให้โยซียาห์ฟัง. (อ่าน 2 โครนิกา 34:14-18) ผลเป็นอย่างไร? กษัตริย์ฉีกฉลองพระองค์ทันทีด้วยความโทมนัสและมีรับสั่งออกไปให้ประชาชนทูลขอการชี้นำจากพระยะโฮวา. พระเจ้าทรงใช้ฮุลดา ผู้พยากรณ์หญิง ให้แจ้งข่าวสารประณามกิจปฏิบัติทางศาสนาบางอย่างที่ทำกันในอาณาจักรยูดาห์. อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวา ทรงสังเกตเห็นความพยายามของโยซียาห์ที่จะขจัดการไหว้รูปเคารพให้หมดไป และกษัตริย์ก็รักษาตัวเป็นที่ชอบในสายพระเนตรพระยะโฮวาแม้ว่ามีคำพยากรณ์ว่าชาติทั้งชาติจะประสบภัยพิบัติ. (2 โคร. 34:19-28) เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? แน่นอน เรามีความปรารถนาแบบเดียวกับโยซียาห์. เราต้องการตอบรับการชี้นำจากพระยะโฮวาทันที ใส่ใจในตัวอย่างซึ่งเป็นคำเตือนว่าอาจเกิดอะไรขึ้นถ้าเราปล่อยให้การออกหากและความไม่ซื่อสัตย์ขัดขวางการนมัสการของเรา. และเรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะทรงสังเกตเห็นและพอพระทัยที่เรามีใจแรงกล้าเพื่อการนมัสการแท้ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงสังเกตเห็นและพอพระทัยโยซียาห์.
21, 22. (ก) เหตุใดเราควรมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระยะโฮวา? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 กษัตริย์ทั้งสี่องค์ของยูดาห์—อาซา, เยโฮซาฟาต, ฮิศคียาห์, และโยซียาห์—วางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เราในเรื่องความมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระเจ้าและการนมัสการ. ความมีใจแรงกล้าของเราควรกระตุ้นเราคล้าย ๆ กันให้ไว้วางใจพระยะโฮวาและทุ่มเทตัวเองเพื่อการนมัสการพระองค์. เป็นแนวทางที่ฉลาดสุขุมและนำไปสู่ความสุขอย่างแน่นอนที่จะทำตามพระบัญชาของพระเจ้าและตอบรับการดูแลและการว่ากล่าวแก้ไขด้วยความรักที่เราได้รับทางประชาคมและผู้ปกครอง.
22 ในบทความถัดไป เราจะสนใจเป็นพิเศษในเรื่องความมีใจแรงกล้าเพื่องานรับใช้ในเขตประกาศ และบทความนี้จะให้กำลังใจแก่เยาวชนที่จะรับใช้พระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักด้วยใจแรงกล้า. เราจะพิจารณาด้วยถึงวิธีที่เราจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่ทำให้เสื่อมเสียมากที่สุดอย่างหนึ่งของซาตาน. เมื่อเราเอาใจใส่ข้อเตือนใจทั้งหมดเช่นนั้นจากพระยะโฮวา เราก็กำลังทำตามแบบอย่างของพระเยซู พระบุตรของพระยะโฮวาเอง ซึ่งมีคำกล่าวที่พาดพิงถึงพระองค์ว่า “ใจอันแรงกล้าที่ข้าพเจ้ามีเพื่อพระนิเวศของพระองค์เป็นเหมือนไฟที่ลุกโชติช่วง.”—เพลง. 69:9, ล.ม.; 119:111, 129; 1 เป. 2:21
คุณจำได้ไหม?
• พระยะโฮวาอวยพรการรับใช้แบบใด และเพราะเหตุใด?
• เราจะแสดงความไว้วางใจพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
• ความมีใจแรงกล้ากระตุ้นเราให้ทำตามพระบัญชาของพระเจ้าได้อย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
อาซา, เยโฮซาฟาต, ฮิศคียาห์, และโยซียาห์แสดงความมีใจแรงกล้าเพื่อพระนิเวศของพระยะโฮวาอย่างไร?