‘จงอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง’
‘จงอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง’
“ถ้าเป็นได้ จงพยายามสุดความสามารถเพื่อจะอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.” —โรม 12:18
1, 2. (ก) พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกเรื่องอะไร? (ข) เราจะพบคำแนะนำได้จากที่ไหนเกี่ยวกับวิธีที่เราควรแสดงปฏิกิริยาต่อการต่อต้าน?
พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่าพวกเขาจะประสบกับการต่อต้านจากชาติทั้งหลายในโลก และในค่ำคืนก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์พระองค์ทรงอธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น. พระองค์ตรัสกับเหล่าอัครสาวกว่า “ถ้าพวกเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกก็จะรักผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก. แต่เดี๋ยวนี้พวกเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเพราะเราได้เลือกพวกเจ้าออกจากโลกแล้ว โลกจึง เกลียดชังพวกเจ้า.”—โย. 15:19
2 อัครสาวกเปาโลเห็นจริงตามคำตรัสของพระเยซูจากประสบการณ์ของตัวท่านเอง. ในจดหมายฉบับที่สองถึงติโมเธียวเพื่อนร่วมเดินทางที่อายุน้อยกว่า เปาโลเขียนว่า “ท่านได้ทำตามคำสอนของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี และได้เลียนแบบข้าพเจ้าเป็นอย่างดีในด้านวิถีชีวิต จุดมุ่งหมาย 2 ติโม. 3:10-12) ในบทที่ 12 ของจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรม เปาโลให้คำแนะนำที่สุขุมว่าพวกเขาควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการต่อต้าน. ถ้อยคำของท่านสามารถช่วยชี้นำเราในสมัยอวสานนี้.
ความเชื่อ ความอดกลั้นไว้นาน ความรัก ความเพียรอดทน การถูกข่มเหง การทนทุกข์.” แล้วเปาโลก็กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ที่จริง ทุกคนที่ปรารถนาจะดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าในฐานะสาวกพระคริสต์เยซูจะถูกข่มเหงด้วย.” (‘จงหาทางทำสิ่งที่ดี’
3, 4. คำแนะนำที่โรม 12:17 สามารถใช้ได้อย่างไร (ก) ในครอบครัวที่นับถือศาสนาต่างกัน? (ข) ในการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้าน?
3 อ่านโรม 12:17. เปาโลอธิบายว่าเมื่อถูกต่อต้าน เราไม่ควรทำการร้ายตอบแทนการร้าย. การทำตามคำแนะนำของท่านนับว่าสำคัญเป็นพิเศษในครอบครัวที่นับถือศาสนาต่างกัน. คู่สมรสคริสเตียนหักห้ามความรู้สึกอยากตอบโต้ด้วยคำพูดหรือการกระทำที่ไม่กรุณา. ‘การทำชั่วตอบแทนชั่ว’ ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น. ตรงกันข้าม การทำเช่นนั้นมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น.
4 เปาโลแนะนำวิธีที่ดีกว่า: “จงหาทางทำสิ่งที่คนทั้งปวงเห็นว่าดี.” ที่บ้าน เมื่อภรรยาแสดงความกรุณาอย่างแท้จริงต่อสามีแม้ว่าเขาพูดถึงความเชื่อของเธออย่างไม่น่าฟัง นั่นอาจช่วยลดความตึงเครียดได้. (สุภา. 31:12) คาร์ลอส ซึ่งในเวลานี้เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธล เล่าถึงวิธีที่แม่เอาชนะการต่อต้านอย่างรุนแรงจากพ่อด้วยการแสดงความกรุณาและดูแลบ้านเป็นอย่างดีเสมอ. “แม่คอยสอนลูก ๆ อยู่เสมอให้นับถือพ่อ. แม่เคี่ยวเข็ญให้ผมเล่นเปตอง กับพ่อ แม้ว่าผมไม่ค่อยชอบเล่นเท่าไรนัก แต่การเล่นกีฬานี้ทำให้พ่ออารมณ์ดีจริง ๆ.” ในที่สุด พ่อของคาร์ลอสก็เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและรับบัพติสมา. ในเรื่องการทำ “สิ่งที่คนทั้งปวงเห็นว่าดี” บ่อยครั้งพยานพระยะโฮวาเอาชนะอคติด้วยการให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนบ้านเมื่อเกิดภัยพิบัติ.
ทำให้การต่อต้านอ่อนลงด้วย “ถ่านเพลิง”
5, 6. (ก) การกอง “ถ่านเพลิง” ไว้ที่ศีรษะของศัตรูมีความหมายอย่างไร? (ข) จงเล่าประสบการณ์ในท้องถิ่นที่แสดงว่าการนำคำแนะนำที่โรม 12:20 ไปใช้สามารถก่อให้เกิดผลดี.
5 อ่านโรม 12:20. เมื่อเปาโลเลือกคำดังที่บันทึกไว้ในข้อนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านคงนึกถึงสิ่งที่เราอ่านในสุภาษิต 25:21, 22 ที่ว่า “ถ้าศัตรูของเจ้าหิว, จงให้อาหารเขากิน; และถ้าเขากระหาย, จงให้น้ำเขาดื่ม. ด้วยว่าถ้าทำอย่างนั้นเจ้าจะกองถ่านเพลิงไว้ที่ศีรษะของเขา, และพระยะโฮวาจะทรงประทานรางวัลให้เจ้า.” เมื่อคำนึงถึงคำแนะนำที่พบในโรมบท 12 เปาโลคงไม่ได้หมายความว่าถ่านเพลิงในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้เป็นการลงโทษหรือเป็นการทำให้ผู้ต่อต้านอับอาย. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น หนังสือสุภาษิตและคำพูดคล้าย ๆ กันของเปาโลที่เขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมดูเหมือนว่าพาดพิงถึงวิธีถลุงแร่เหล็กในสมัยโบราณ. ชาลส์ บริดเจส ผู้คงแก่เรียนชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ให้ข้อสังเกตว่า “เหล็กเหนียวจะถูกวางไว้ตรงกลางระหว่าง [ชั้นถ่าน] ทั้งด้านล่างและด้านบน; ไม่ใช่แค่วางไว้บนไฟ แต่จะกองถ่านเพลิงไว้บนเหล็กนั้นด้วย. มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ใจแข็งถึงขนาดที่ไม่ยอมอ่อนลงเลย แม้ได้สัมผัสพลังอันยิ่งใหญ่ของความรักที่แรงกล้า, เพียรอดทน, และไม่เห็นแก่ตัว.”
6 เช่นเดียวกับ “ถ่านเพลิง” การกระทำที่กรุณาสามารถทำให้ผู้ต่อต้านเปลี่ยนความคิดและอาจทำให้ความเป็นปฏิปักษ์สลายไป. การกระทำที่กรุณาอาจชนะใจผู้คน ทำให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีต่อประชาชนของพระยะโฮวาและข่าวสารที่พวกเขาประกาศ. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “จงประพฤติอย่างดีงามท่ามกลางชนต่างชาติต่อ ๆ ไป เพื่อว่าในเรื่องที่พวกเขากล่าวร้ายท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เมื่อพวกเขาเห็นการดีของพวกท่าน พวกเขาจะสรรเสริญพระเจ้าในวันที่พระองค์ทรงตรวจตรา.”—1 เป. 2:12
‘จงอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง’
7. สันติสุขที่พระคริสต์ประทานแก่เหล่าสาวกคืออะไร และสันติสุขนั้นควรกระตุ้นเราให้ทำอะไร?
7 อ่านโรม 12:18. ในระหว่างคืนสุดท้ายที่พระเยซูทรงอยู่กับเหล่าอัครสาวก พระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “เราให้สันติสุขคงอยู่กับพวกเจ้า เราให้พวกเจ้ามีสันติสุขของเรา.” (โย. 14:27) สันติสุขที่พระคริสต์ประทานแก่เหล่าสาวกนั้นเป็นความสงบภายในที่พวกเขาประสบเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเป็นที่รักและได้รับการยอมรับจากพระยะโฮวาพระเจ้าและพระบุตรที่รักของพระองค์. สันติสุขที่อยู่ภายในดังกล่าวควรกระตุ้นเราให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสันติกับคนอื่น ๆ. คริสเตียนแท้เป็นคนรักสันติและสร้างสันติ.—มัด. 5:9
8. เราจะเป็นคนสร้างสันติในบ้านและในประชาคมได้อย่างไร?
8 วิธีหนึ่งในการเป็นคนสร้างสันติภายในวงครอบครัวก็คือโดยจัดการกับความขัดแย้งเร็วเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลง. (สุภา. 15:18; เอเฟ. 4:26) เรื่องนี้ใช้ได้กับประชาคมคริสเตียนด้วย. อัครสาวกเปโตรเชื่อมโยงการพยายามสร้างสันติสุขกับการยับยั้งลิ้น. (1 เป. 3:10, 11) ยาโกโบก็เช่นเดียวกัน หลังจากให้คำแนะนำอย่างหนักแน่นในเรื่องการใช้ลิ้นอย่างเหมาะสมและความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความอิจฉาริษยาและการชิงดีชิงเด่นแล้ว ท่านก็เขียนว่า “สติปัญญาจากเบื้องบนนั้น ประการแรก บริสุทธิ์ แล้วก็ทำให้มีสันติ มีเหตุผล พร้อมจะเชื่อฟัง เปี่ยมด้วยความเมตตาและผลอันดี ไม่ลำเอียง ไม่หน้าซื่อใจคด. อีกประการหนึ่ง เมล็ดที่เกิดผลแห่งความชอบธรรมถูกหว่านในสภาพที่มีสันติสุขเพื่อประโยชน์ของผู้ที่สร้างสันติสุข.”—ยโก. 3:17, 18
9. ขณะที่พยายาม “อยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง” เราควรจำอะไรไว้เสมอ?
9 ในคำกล่าวของเปาโลที่โรม 12:18 ท่านกล่าวถึงความจำเป็นที่จะอยู่อย่างสันติไม่ใช่เฉพาะในวงครอบครัวและในประชาคมเท่านั้น. ท่านกล่าวว่าเราควร “อยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง.” คนทั้งปวงรวมถึงเพื่อนบ้าน, เพื่อนร่วมงาน, เพื่อนนักเรียน, และผู้คนที่เราพบในงานประกาศ. อย่างไรก็ตาม ท่านอัครสาวกทำให้คำแนะนำของท่านสมเหตุสมผล โดยกล่าวว่า “ถ้าเป็นได้ จงพยายามสุดความสามารถ.” นั่นหมายถึงการทำทุกสิ่งที่เราทำได้อย่างสมควรตามเหตุผลเพื่อจะ “อยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง” แต่ไม่ถึงขนาดที่ยอมอะลุ่มอล่วยหลักการอันชอบธรรมของพระเจ้า.
การแก้แค้นเป็นธุระของพระยะโฮวา
10, 11. เปาโลให้คำแนะนำอะไรที่โรม 12:19 และทำไมนั่นจึงเป็นคำแนะนำที่เหมาะสม?
10 อ่านโรม 12:19. แม้แต่กับ “คนที่ไม่เชื่อฟัง” ข่าวสารของเรา รวมถึงคนที่ต่อต้านเราอย่างโจ่งแจ้ง เราก็จะ “รู้จักอดกลั้นในสภาพการณ์ที่ไม่ดี” และปฏิบัติต่อคนเหล่านั้น “ด้วยความอ่อนโยน.” (2 ติโม. 2:23-25) เปาโลแนะนำคริสเตียนว่าอย่าแก้แค้นเสียเอง แต่ “ให้พระเจ้าเป็นผู้สำแดงพระพิโรธ.” ในฐานะคริสเตียน เรารู้ว่าการแก้แค้นไม่ใช่ธุระของเรา. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “จงอดกลั้นความโกรธไว้, และระงับความโทโสเสีย: อย่าให้ใจเดือดร้อน, มีแต่จะเป็นเหตุให้ทำการชั่วเท่านั้น.” (เพลง. 37:8) และโซโลมอนแนะนำว่า “อย่ากล่าวว่า, ‘เราจะแก้แค้นเอง’ จงคอยพระยะโฮวาเถิด, และพระองค์จะทรงช่วยท่าน.”—สุภา. 20:22
11 ถ้าผู้ต่อต้านทำให้เราเสียหาย แนวทางที่ฉลาดสุขุมก็คือมอบเรื่องนั้นไว้กับพระยะโฮวาให้พระองค์ลงโทษพวกเขาถ้าทรงเห็นว่าสมควรและตามเวลาที่ทรงเห็นว่าเหมาะ. เห็นได้ชัดว่าเปาโลคิดอย่างนั้น เพราะท่านกล่าวอีกว่า “มีคำเขียนไว้ดังนี้ ‘พระยะโฮวาตรัสว่า การแก้แค้นเป็นธุระของเรา เราจะตอบแทน.’ ” (เทียบกับพระบัญญัติ 32:35) ถ้าเราพยายามแก้แค้นเอง นั่นย่อมเป็นการทำเกินสิทธิ์ โดยก้าวล่วงไปทำสิ่งที่พระยะโฮวาทรงสงวนไว้เป็นสิทธิ์ของพระองค์โดยเฉพาะ. นอกจากนั้น นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าเราขาดความเชื่อในคำสัญญาของพระยะโฮวาที่ว่า “เราจะตอบแทน.”
12. พระยะโฮวาจะทรงสำแดงพระพิโรธเมื่อไร และโดยวิธีใด?
12 ก่อนหน้านั้นในจดหมายถึงคริสเตียนในกรุงโรม เปาโลกล่าวว่า “พระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธจากสวรรค์ต่อทุกคนที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้าและเป็นคนอธรรมซึ่งขัดขวางความจริงด้วยวิธีการอธรรม.” (โรม 1:18) พระยะโฮวาจะทรงสำแดงพระพิโรธจากสวรรค์โดยทางพระบุตรในคราว “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิ. 7:14) นั่นจะเป็น “ข้อพิสูจน์ว่าพระเจ้าทรงพิพากษาอย่างชอบธรรม” ดังที่เปาโลอธิบายในจดหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจว่า “ที่จริง เป็นการชอบธรรมที่พระเจ้าจะทรงก่อความทุกข์ลำบากแก่คนที่ทำให้พวกท่านทุกข์ลำบากเป็นการตอบแทน ส่วนพวกท่านที่ทนทุกข์ลำบากก็จะได้รับการบรรเทาด้วยกันกับเราในคราวที่พระเยซูเจ้าทรงปรากฏจากสวรรค์พร้อมด้วยเหล่าทูตสวรรค์ผู้มีฤทธิ์ของพระองค์ ในเปลวไฟ และทรงสนองโทษคนที่ไม่รู้จักพระเจ้าและคนที่ไม่เชื่อฟังข่าวดีเรื่องพระเยซูเจ้าของเรา.”—2 เทส. 1:5-8
จงเอาชนะความชั่วด้วยความดี
13, 14. (ก) เหตุใดเราจึงไม่แปลกใจเมื่อถูกต่อต้าน? (ข) เราจะอวยพรคนที่ข่มเหงเราได้โดยวิธีใด?
13 อ่านโรม 12:14, 21. ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าพระยะโฮวาจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ เราสามารถตั้งใจเต็มที่ในการพยายามทำงานที่พระองค์ประทานแก่เรา คือการประกาศ “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร . . . ไปทั่วแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.” (มัด. 24:14) เรารู้ว่ากิจการงานนี้ของคริสเตียนจะกระตุ้นให้ศัตรูของเราโกรธ เพราะพระเยซูทรงเตือนเราว่า “เจ้าทั้งหลายจะตกเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังจากทุกชาติเพราะนามของเรา.” (มัด. 24:9) ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่แปลกใจหรือท้อใจเมื่อเราถูกต่อต้าน. อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “พี่น้องที่รัก อย่าประหลาดใจกับไฟที่ลุกไหม้อยู่ท่ามกลางท่านทั้งหลาย ไฟนั้นเกิดขึ้นเพื่อทดสอบพวกท่านราวกับว่ามีสิ่งประหลาดเกิดขึ้นกับพวกท่าน. แต่จงยินดีต่อ ๆ ไปเนื่องจากท่านทั้งหลายเป็นผู้ร่วมทุกข์กับพระคริสต์.”—1 เป. 4:12, 13
14 แทนที่จะรู้สึกเกลียดคนที่ข่มเหงเรา เราพยายามสอนความจริงแก่เขา โดยตระหนักว่าคนเหล่านี้บางคนอาจทำไปโดยไม่รู้. (2 โค. 4:4) เราพยายามทำตามคำแนะนำของ เปาโลที่ว่า “จงอวยพรผู้ที่ข่มเหงพวกท่าน จงอวยพรเถิด อย่าแช่งด่าเลย.” (โรม 12:14) วิธีหนึ่งในการอวยพรผู้ต่อต้านก็คืออธิษฐานเพื่อพวกเขา. พระเยซูตรัสในคำเทศน์บนภูเขาว่า “จงทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป คือ รักศัตรูของเจ้า ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังเจ้า อวยพรผู้ที่แช่งด่าเจ้า อธิษฐานเพื่อผู้ที่สบประมาทเจ้า.” (ลูกา 6:27, 28) อัครสาวกเปาโลรู้จากประสบการณ์ของตัวท่านเองว่าผู้ข่มเหงอาจกลายมาเป็นสาวกที่ซื่อสัตย์ของพระคริสต์และเป็นผู้รับใช้ที่มีใจแรงกล้าของพระยะโฮวา. (กลา. 1:13-16, 23) เปาโลกล่าวในจดหมายอีกฉบับหนึ่งว่า “เมื่อถูกด่าเราอวยพร เมื่อถูกข่มเหงเราทนเอา เมื่อถูกใส่ร้ายเราขอร้องอย่างสุภาพ.”—1 โค. 4:12, 13
15. วิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะความชั่วด้วยความดีคืออะไร?
15 ดังนั้น คริสเตียนแท้เอาใจใส่ข้อสุดท้ายในโรมบท 12 ที่ว่า “อย่าให้ความชั่วเอาชนะท่าน แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” ต้นตอของความชั่วร้ายทุกอย่างคือซาตานพญามาร. (โย. 8:44; 1 โย. 5:19) ในวิวรณ์ที่ประทานแก่อัครสาวกโยฮัน พระเยซูทรงเปิดเผยว่าพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระองค์ “ชนะพญามารเพราะพระโลหิตของพระเมษโปดกและเพราะข่าวสารที่พวกเขาประกาศ.” (วิ. 12:11) นั่นแสดงว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะซาตานและอิทธิพลชั่วที่มันก่อให้เกิดขึ้นในระบบปัจจุบันก็คือ การทำดีในงานประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร.
จงปีติยินดีในความหวัง
16, 17. โรมบท 12 สอนอะไรเราในเรื่อง (ก) วิธีที่เราควรดำเนินชีวิต? (ข) วิธีที่เราควรประพฤติในประชาคม? (ค) วิธีที่เราควรปฏิบัติต่อคนที่ต่อต้านความเชื่อของเรา?
16 การพิจารณากันสั้น ๆ เกี่ยวกับบทที่ 12 ของจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสเตียนในกรุงโรมเตือนใจเราให้นึกถึงหลายสิ่ง. เราเรียนรู้ว่าในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา เราควรเต็มใจจะเสียสละ. โดยถูกกระตุ้นจากพระวิญญาณของพระเจ้า เราเสียสละอย่างเต็มใจเพราะความสามารถในการใช้เหตุผลของเราทำให้เราเชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้เราทำอย่างนั้น. เรารุ่งโรจน์ด้วยพระวิญญาณและใช้ของประทานต่าง ๆ ที่เราได้รับอย่างกระตือรือร้น. เรารับใช้ด้วยความถ่อมและความเจียมตัวอย่างที่เราควรทำ โดยทำสุดความสามารถเพื่อรักษาเอกภาพในหมู่พวกเราที่เป็นคริสเตียน. เราดำเนินในแนวทางที่แสดงน้ำใจรับรองแขกและแสดงความเห็นอกเห็นใจกันอย่างแท้จริง.
17 โรมบท 12 ยังให้คำแนะนำมากมายแก่เราในเรื่องวิธีที่เราควรแสดงปฏิกิริยาต่อการต่อต้าน. เราไม่ควรทำการร้ายตอบแทนการร้าย. เราควรพยายามเอาชนะการต่อต้านด้วยการกระทำที่กรุณา. เท่าที่เป็นไปได้ และโดยไม่ฝ่าฝืนหลักการในคัมภีร์ไบเบิล เราควรพยายามอยู่อย่างสันติกับคนทั้งปวง. ข้อนี้ใช้ได้ในวงครอบครัว, ในประชาคม, กับเพื่อนบ้าน, ในที่ทำงาน, ที่โรงเรียน, และในงานประกาศของเรา. แม้แต่เมื่อเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์อย่างโจ่งแจ้ง เราควรพยายามเต็มที่เพื่อเอาชนะความชั่วด้วยความดี โดยจำไว้ว่าการแก้แค้นเป็นธุระของพระยะโฮวา.
18. โรม 12:12 ให้คำเตือนสามประการอะไร?
18 อ่านโรม 12:12. นอกเหนือจากคำแนะนำที่สุขุมและใช้ได้จริงทั้งหมดดังกล่าว เปาโลยังให้คำเตือนอีกสามประการ. เนื่องจากเราไม่มีทางทำสิ่งเหล่านั้นได้ทั้งหมดหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา ท่านอัครสาวกแนะนำเราว่า “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” การทำอย่างนั้นจะทำให้เราสามารถทำตามคำแนะนำอีกประการหนึ่งของท่านที่ว่า “จงเพียรอดทนในยามยากลำบาก.” ประการสุดท้าย ความคิดของเราต้องจดจ่ออยู่กับคำสัญญาในอนาคตที่พระยะโฮวาจะประทานแก่เรา และ “จงปีติยินดีในความหวัง” เรื่องชีวิตนิรันดร์ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก.
เพื่อทบทวน
• เราควรแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการต่อต้าน?
• เราควรพยายามสร้างสันติในขอบเขตใดบ้าง และจะทำอย่างนั้นโดยวิธีใด?
• เหตุใดเราไม่ควรพยายามแก้แค้นเอง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 8]
การให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนบ้านอาจช่วยขจัดอคติ
[ภาพหน้า 9]
คุณพยายามสร้างสันติในประชาคมไหม?