จงช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายมากมาย
จงช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายมากมาย
เยาวชนของเราถูกกดดันอย่างหนัก. พวกเขาต้องเผชิญกับอิทธิพลของโลกที่ชั่วร้ายของซาตาน และพวกเขาต้องสู้กับ “ความปรารถนาซึ่งมักเกิดขึ้นในวัยหนุ่มสาว.” (2 ติโม. 2:22; 1 โย. 5:19) นอกจากนั้น เนื่องจากพยายาม ‘ระลึกถึงพระองค์ผู้ได้ทรงสร้างพวกเขา’ พวกเขาจึงต้องรับมือกับการเยาะเย้ย—หรือแม้แต่การรังควาน—จากคนที่ต่อต้านความเชื่อของพวกเขา. (ผู้ป. 12:1) เมื่อมองย้อนกลับไปถึงตอนที่เขากำลังเติบโตขึ้นมา พี่น้องชายคนหนึ่งชื่อวินเซนต์กล่าวว่า “บางคนชอบก่อกวน, รังแก, หรือท้าสู้กับผมเพราะผมเป็นพยานฯ. หลายครั้งเกิดเรื่องแบบนี้หนักมากจนผมไม่อยากไปโรงเรียน.” *
นอกจากถูกกดดันจากโลกแล้ว ลูก ๆ ของเราอาจต้องต่อสู้กับความปรารถนาของพวกเขาเองที่อยากจะเป็นเหมือนกับเพื่อน ๆ ด้วย. แคทลีน พี่น้องหญิงซึ่งอายุเกือบยี่สิบปี กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะถูกมองว่าผิดแปลกไปจาก
คนอื่น.” พี่น้องหนุ่มคนหนึ่งชื่ออลัน ยอมรับว่า “เพื่อนนักเรียนมักชวนผมไปเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ และผมก็อยากไปมากเลย.” นอกจากนั้น คนหนุ่มสาวอาจอยากเข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ของโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้มีการคบหาสมาคมที่ไม่ดีได้ง่ายมาก. พี่น้องหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อทันยา กล่าวว่า “ดิฉันรักกีฬา. ครูผู้ฝึกสอนกีฬาในโรงเรียนพยายามชวนดิฉันอยู่เรื่อย ๆ ให้ร่วมเล่นในทีม. นั่นเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากทีเดียว.”คุณจะช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายมากมายเหล่านั้นได้อย่างไร? พระยะโฮวาทรงมีพระบัญชาให้บิดามารดาชี้นำลูก. (สุภา. 22:6; เอเฟ. 6:4) เป้าหมายของบิดามารดาที่เกรงกลัวพระเจ้าก็คือการพัฒนาความปรารถนาในหัวใจลูกที่จะเชื่อฟังพระยะโฮวา. (สุภา. 6:20-23) โดยวิธีนั้น ลูกก็จะได้รับแรงกระตุ้นให้ต้านทานแรงกดดันจากโลกแม้แต่เมื่อบิดามารดาไม่ได้อยู่ด้วย.
สำหรับบิดามารดา เป็นเรื่องท้าทายที่จะหาเลี้ยงชีพ, เลี้ยงดูครอบครัว, และเอาใจใส่กิจกรรมต่าง ๆ ในประชาคม—ทำทั้งหมดนี้ในเวลาเดียวกัน. บางคนต้องทำอย่างนั้นในฐานะบิดาหรือมารดาที่เลี้ยงลูกคนเดียว หรือขณะที่ถูกคู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อต่อต้าน. ถึงกระนั้น พระยะโฮวาทรงเรียกร้องให้บิดามารดากันเวลาไว้เพื่อสอนและช่วยเหลือลูก. ดังนั้น คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยลูกป้องกันตัวเองจากแรงกดดันของคนรุ่นเดียวกัน, การล่อใจ, และการรังควานที่พวกเขาเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน?
สายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวา
ก่อนอื่น เยาวชนต้องรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลจริง ๆ. พวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือให้ “เสมือนเห็นพระองค์ผู้ไม่ประจักษ์แก่ตา.” (ฮีบรู 11:27) วินเซนต์ ซึ่งกล่าวถึงในตอนต้น เล่าถึงวิธีที่บิดามารดาช่วยเขาให้พัฒนาสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวา. เขากล่าวว่า “ท่านสอนผมให้เห็นความสำคัญของการอธิษฐาน. ผมจำได้ว่าตั้งแต่อายุยังน้อยผมอธิษฐานถึงพระยะโฮวาทุกคืนก่อนนอน. พระยะโฮวาทรงเป็นบุคคลจริง ๆ สำหรับผม.” คุณอธิษฐานกับลูกไหม? ทำไมไม่ลองฟังคำพูดของเขาในคำอธิษฐาน ส่วนตัวของเขาถึงพระยะโฮวาดูล่ะ? พวกเขาเพียงแค่อธิษฐานซ้ำ ๆ แบบเดิมไหม? หรือว่าพวกเขาอธิษฐานอย่างที่พวกเขารู้สึกจริง ๆ เกี่ยวกับพระยะโฮวา? ด้วยการฟังคำอธิษฐานของพวกเขา คุณอาจรู้ได้ว่าลูกก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณขนาดไหน.
การอ่านพระคำของพระเจ้าเป็นส่วนตัวเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญซึ่งคนหนุ่มสาวจะเข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้นได้. แคทลีน ซึ่งกล่าวถึงไปแล้ว กล่าวว่า “การอ่านคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่ต้นจนจบเมื่ออายุยังน้อยช่วยดิฉันได้มาก. การอ่านอย่างนั้นทำให้ดิฉันมั่นใจว่าแม้แต่เมื่อผู้คนโจมตีดิฉัน ดิฉันมีพระยะโฮวาคอยสนับสนุน.” ลูกของคุณมีตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของเขาเองไหม?—เพลง. 1:1-3; 77:12
จริงอยู่ เด็กแต่ละคนแตกต่างกันในวิธีที่พวกเขาแสดงปฏิกิริยาต่อการชี้นำของบิดามารดา. นอกจากนั้น ความก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณของพวกเขาอาจขึ้นอยู่กับอายุของพวกเขาด้วย. กระนั้น ถ้าไม่มีการชี้นำ ย่อมจะเป็นเรื่องยากที่เยาวชนจะรู้จักพระยะโฮวาในฐานะบุคคลจริง ๆ. บิดามารดาต้องปลูกฝังพระคำของพระเจ้าไว้ในตัวลูกเพื่อลูกจะเสมือนหนึ่งได้ยินพระยะโฮวาตรัส ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน. (บัญ. 6:6-9) ลูกของคุณต้องเชื่อว่าพระยะโฮวาทรงดูแลพวกเขาเป็นส่วนตัว.
วิธีทำให้การสื่อความมีความหมาย
การสื่อความเป็นวิธีสำคัญในการช่วยลูกของคุณ. แน่นอน การสื่อความที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงแค่พูดคุยกับลูก. การติดต่อสื่อความที่ดีรวมถึงการถามและฟังคำตอบของลูกอย่างอดทน—แม้แต่เมื่อนั่นไม่ใช่คำตอบที่คุณอยากได้ยิน. แอนน์ มารดาซึ่งมีลูกชายสองคน กล่าวว่า “ดิฉันจะถามจนกว่าจะแน่ใจว่าดิฉันเข้าใจแล้วว่าลูกคิดอะไรและพวกเขาต้องรับมือกับอะไรอยู่ ในชีวิตของพวกเขา.” ลูกรู้สึกไหมว่าคุณกำลังฟังเขาอยู่? ทันยา ซึ่งกล่าวถึงแล้วในตอนต้น กล่าวว่า “พ่อแม่ดิฉันฟังดิฉันพูดจริง ๆ และจำเรื่องที่เราพูดคุยกันได้. ท่านรู้จักชื่อเพื่อนร่วมห้องดิฉัน. ท่านจะ
คอยถามถึงเพื่อนของดิฉันและถามถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เราเคยคุยกัน.” การฟังและการจำเรื่องที่คุยกันนับว่าสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสื่อความที่ประสบผลสำเร็จ.หลายครอบครัวพบว่าเวลารับประทานอาหารด้วยกันเป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดคุยกันอย่างที่มีความหมาย. วินเซนต์อธิบายว่า “การรับประทานอาหารด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับครอบครัวเรา. ทุกคนถูกคาดหมายว่าจะอยู่ที่โต๊ะอาหารร่วมกับครอบครัวทุกเมื่อที่เป็นไปได้. ไม่อนุญาตให้ดูโทรทัศน์, ฟังวิทยุ, หรืออ่านหนังสือระหว่างที่รับประทานอาหารด้วยกัน. เนื่องจากเรื่องส่วนใหญ่ที่คุยกันเป็นเรื่องเบา ๆ เวลาที่รับประทานอาหารด้วยกันในแต่ละวันจึงเป็นช่วงเวลาที่สงบสุขซึ่งช่วยผมให้รับมือได้กับความวุ่นวายสับสนและแรงกดดันที่ผมพบในโรงเรียน.” เขากล่าวอีกว่า “การคุ้นเคยกับการพูดคุยกับพ่อและแม่ตอนรับประทานอาหารยังช่วยผมด้วยให้รู้สึกสบายใจเมื่อพูดกับท่านตอนที่ผมจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในเรื่องที่จริงจังกว่า.”
ลองถามตัวเองดูว่า ‘ฉันรับประทานอาหารด้วยกันกับครอบครัวบ่อยขนาดไหนในแต่ละสัปดาห์?’ การปรับเปลี่ยนในเรื่องนี้จะทำให้คุณมีโอกาสมากขึ้นไหมที่จะมีการสื่อความกับลูกมากขึ้นและดีขึ้น?
ทำไมการฝึกซ้อมจึงเป็นประโยชน์มาก?
การนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็นในแต่ละสัปดาห์ช่วยเยาวชนด้วยให้รับมือกับปัญหาที่พวกเขาประสบ. อลัน ซึ่งกล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น กล่าวว่า “พ่อและแม่ใช้ช่วงที่เราศึกษากันในครอบครัวเพื่อจะรู้ความในใจของเรา. ท่านจะพิจารณาหัวเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังรับมืออยู่.” มารดาของอลันกล่าวว่า “เราใช้เวลาบางส่วนที่ศึกษาเพื่อฝึกซ้อมด้วยกัน. การฝึกซ้อมด้วยกันแบบนี้ช่วยให้ลูก ๆ เรียนรู้วิธีปกป้องความเชื่อของตัวเองและวิธีพิสูจน์ว่าความเชื่อของพวกเขาเป็นความจริง. นี่ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นอย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องมีเมื่อต้องรับมือกับข้อท้าทายที่เกิดขึ้นกับพวกเขา.”
ที่จริง เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากคนรุ่นเดียวกัน หลายครั้งลูกจำเป็นต้องทำไม่เพียงแค่บอกว่าไม่แล้วก็เดินหนี. พวกเขาต้องสามารถตอบคำถามที่ว่าทำไม และทำไมจึงไม่. พวกเขาจำเป็นต้องรู้สึกมั่นใจด้วยว่าควรทำอย่างไรเมื่อถูก
เยาะเย้ยในเรื่องความเชื่อ. ถ้าพวกเขาไม่สามารถปกป้องความเชื่อของตน ย่อมเป็นเรื่องยากที่เขาจะยืนหยัดอย่างกล้าหาญเพื่อการนมัสการแท้. การฝึกซ้อมด้วยกันสามารถช่วยสร้างความมั่นใจเช่นนั้นได้.กรอบในหน้า 18 มีฉากเหตุการณ์บางอย่างที่อาจใช้ซ้อมด้วยกันระหว่างการนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็น. จงพยายามทำให้การฝึกซ้อมนั้นเหมือนกับเหตุการณ์จริง ด้วยการแย้งคำตอบของลูก. พร้อมกับการฝึกซ้อมอย่างนั้น จงพิจารณาบทเรียนที่ใช้ได้จริงบางเรื่องที่ได้จากตัวอย่างในคัมภีร์ไบเบิล. ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การฝึกอบรมเช่นนี้ที่บ้านจะเตรียมลูกให้พร้อมจะรับมือกับข้อท้าทายที่โรงเรียนและในที่อื่นใดก็ตาม.
บ้านเป็นที่พักพิงอันปลอดภัยไหม?
บ้านของคุณเป็นสถานที่ที่ลูกจะคอยให้ถึงเวลากลับบ้านเมื่อโรงเรียนเลิกในแต่ละวันไหม? ถ้าบ้านเป็นที่พักพิงอันปลอดภัย นั่นย่อมจะช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายในแต่ละวัน. พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งตอนนี้เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธลกล่าวว่า “เมื่อดิฉันเติบโตขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับดิฉันก็คือการที่บ้านของเราเป็นที่พักพิงอันปลอดภัย. ไม่ว่าสภาพการณ์ที่โรงเรียนจะแย่ขนาดไหน ดิฉันรู้ว่าเมื่อกลับถึงบ้าน ทุกสิ่งก็จะเรียบร้อย.” บรรยากาศในบ้านของคุณเป็นอย่างไร? บ้านของคุณเป็นสถานที่ซึ่งมีแต่ “การบันดาลโทสะ การชิงดีชิงเด่นกัน [และ] การแตกแยกกัน” ไหม หรือว่าเป็นสถานที่ซึ่งมี “ความรัก ความยินดี [และ] สันติสุข”? (กลา. 5:19-23) ถ้าบ้านของคุณมักจะไม่ค่อยมีสันติสุข คุณพยายามจริง ๆ ไหมที่จะรู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเพื่อจะทำให้บ้านเป็นที่พักพิงอันปลอดภัยสำหรับลูก?
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลูกให้รับมือกับข้อท้าทายได้ก็คือ การช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสคบหาสมาคมที่เสริมสร้าง. ตัวอย่างเช่น คุณจะชวนพี่น้องในประชาคมที่มีทัศนะที่ดีทางฝ่ายวิญญาณให้มาร่วมด้วยได้ไหมเมื่อพักผ่อนหย่อนใจด้วยกันในครอบครัว? หรือคุณจะเชิญผู้ดูแลเดินทางหรือพี่น้องที่รับใช้เต็มเวลามารับประทานอาหารง่าย ๆ ด้วยกันที่บ้านได้ไหม? คุณรู้จักมิชชันนารีหรือสมาชิกเบเธลบางคนไหมที่ลูกของคุณจะสามารถพัฒนามิตรภาพกับพวกเขา แม้แต่จะเป็นเพียงการติดต่อกันทางจดหมาย, อีเมล, หรือโทรศัพท์เป็นระยะ ๆ? ความสัมพันธ์เช่นนั้นสามารถช่วยลูกของคุณให้เลือกแนวทางชีวิตที่ถูกต้องและมีเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ. ขอให้นึกถึงผลกระทบที่ดีที่อัครสาวกเปาโลมีต่อติโมเธียว. (2 ติโม. 1:13; 3:10) การคบหาใกล้ชิดกับเปาโลช่วยติโมเธียวให้จดจ่ออยู่กับเป้าหมายฝ่ายวิญญาณ.—1 โค. 4:17
จงชมเชยลูกของคุณ
พระยะโฮวาทรงยินดีเมื่อเห็นเยาวชนยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องแม้ถูกกดดันจากโลกของซาตาน. (เพลง. 147:11; สุภา. 27:11) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณก็รู้สึกยินดีเช่นกันเมื่อเห็นเยาวชนเลือกแนวทางชีวิตของเขาอย่างฉลาด. (สุภา. 10:1) จงบอกลูกของคุณว่าคุณรู้สึกอย่างไรต่อพวกเขา และพร้อมที่จะชมเชยเขาอยู่เสมอ. พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับบิดามารดา. ในคราวที่พระเยซูรับบัพติสมา พระยะโฮวาตรัสว่า “เจ้าเป็นบุตรที่รักของเรา เราพอใจเจ้ามาก.” (มโก. 1:11) คำรับรองเช่นนั้นจากพระบิดาคงช่วยเสริมกำลังพระเยซูมากเพียงไรให้รับมือกับข้อท้าทายมากมายที่พระองค์กำลังจะเผชิญ! เช่นเดียวกัน จงบอกลูกว่าคุณรักเขา และชมเชยเขาในสิ่งที่เขากำลังทำให้สำเร็จ.
จริงอยู่ คุณไม่สามารถปกป้องลูกของคุณจากแรงกดดัน, การรังควาน, และการเยาะเย้ยได้ทั้งหมด. แต่มีหลายสิ่งที่คุณทำได้เพื่อช่วยลูก. โดยวิธีใดบ้าง? โดยช่วยพวกเขาให้พัฒนาสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระยะโฮวา. โดยสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นให้มีการสนทนาที่เสริมสร้าง. จงทำให้การนมัสการประจำครอบครัวตอนเย็นเป็นแบบนำไปใช้ได้จริง และทำให้บ้านของคุณเป็นที่พักพิงอันปลอดภัย. แน่นอน การทำอย่างนั้นจะช่วยลูกของคุณให้พร้อมจะรับมือกับข้อท้าทายมากมาย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.
[กรอบ/ภาพหน้า 18]
การฝึกซ้อมช่วยได้
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เยาวชนของเราอาจเผชิญ. ลองฝึกซ้อมบางฉากเหตุการณ์ในช่วงที่นมัสการประจำครอบครัวตอนเย็นด้วยกัน.
▸ ครูผู้ฝึกสอนกีฬาชวนลูกของคุณให้ร่วมในทีมกีฬาของโรงเรียน.
▸ เพื่อน ๆ ยื่นบุหรี่ให้ลูกชายของคุณขณะเดินทางกลับจากโรงเรียน.
▸ มีเด็กบางคนขู่ว่าจะต่อยลูกชายคุณถ้าเห็นเขาประกาศอีก.
▸ ระหว่างที่ลูกของคุณกำลังทำงานประกาศตามบ้าน เขาพบกับเพื่อนนักเรียน.
▸ ลูกของคุณถูกถามที่หน้าชั้นเรียนว่าทำไมไม่เคารพธง.
▸ เด็กคนหนึ่งเยาะเย้ยลูกของคุณอยู่เรื่อย ๆ เพราะเขาเป็นพยานฯ.
[ภาพหน้า 17]
ลูกของคุณมีตารางการอ่านคัมภีร์ไบเบิลของเขาเองไหม?
[ภาพหน้า 19]
คุณจะชวนพี่น้องที่มีทัศนะที่ดีทางฝ่ายวิญญาณให้มาร่วมด้วยได้ไหมเมื่อพักผ่อนหย่อนใจด้วยกันในครอบครัว?