ยินดีต้อนรับสู่แนวทางชีวิตที่ดีที่สุด!
ยินดีต้อนรับสู่แนวทางชีวิตที่ดีที่สุด!
“ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นคนของพระยะโฮวา.”—โรม 14:8
1. พระเยซูทรงสอนอะไรเกี่ยวกับแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด?
พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราชื่นชมกับแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด. คนเรามีทางชีวิตให้เลือกเดินได้หลายทาง แต่มีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่ดีที่สุด. ไม่มีแนวทางชีวิตใดที่ดีไปกว่าการที่เราดำเนินชีวิตประสานกับพระคำของพระเจ้าและเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์. พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้นมัสการพระเจ้าด้วยพระวิญญาณและความจริง และพระองค์ทรงมอบหมายให้พวกเขาสอนผู้คนให้เป็นสาวก. (มัด. 28:19, 20; โย. 4:24) ด้วยการดำเนินชีวิตประสานกับคำสอนของพระเยซู เราทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยและได้รับพระพรจากพระองค์.
2. หลายคนในศตวรรษแรกแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร และการถือ “ทางนั้น” หมายความเช่นไร?
2 เมื่อคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตนิรันดร์” เข้ามาเป็นผู้เชื่อถือและรับบัพติสมา เรามีเหตุผลที่ดีที่จะกล่าวกับพวกเขาว่า “ยินดีต้อนรับสู่แนวทางชีวิตที่ดีที่สุด!” (กิจ. 13:48) ในช่วงศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ผู้คนหลายพันคนจากชาติต่าง ๆ ตอบรับความจริงและแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าพวกเขาอุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้วด้วยการรับบัพติสมา. (กิจ. 2:41) สาวกรุ่นแรกเหล่านี้ถือ “ทางนั้น.” (กิจ. 9:2; 19:23) คำนี้นับว่าเหมาะทีเดียวเพราะคนที่กลายมาเป็นสาวกของพระคริสต์ยึดมั่นกับวิถีชีวิตที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์เป็นหลักและเลียนแบบตัวอย่างของพระองค์.—1 เป. 2:21
3. เหตุใดประชาชนของพระยะโฮวาจึงรับบัพติสมา และมีกี่คนจุ่มตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านไป?
3 มีการเร่งงานสอนคนให้เป็นสาวกมากขึ้นในสมัยสุดท้ายนี้ และงานนี้กำลังทำกันในกว่า 230 ดินแดน. ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีมากกว่า 2,700,000 คนได้ตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาและรับบัพติสมาเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวแด่พระองค์. เฉลี่ยแล้วมีคนรับบัพติสมามากกว่า 5,000 คนทุก ๆ สัปดาห์! การตัดสินใจรับบัพติสมามีพื้นฐานมาจากความรักต่อพระเจ้า, ความรู้ในพระคัมภีร์, และความเชื่อในสิ่งที่พระคัมภีร์สอน. การรับบัพติสมาเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตเรา เพราะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเริ่มต้นสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา. การรับบัพติสมายังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าพระองค์จะช่วยเราให้รับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ แบบเดียวกับที่พระองค์ทรงช่วยผู้รับใช้ของพระองค์ในสมัยอดีตให้ดำเนินในทางของพระองค์.—ยซา. 30:21
ทำไมต้องรับบัพติสมา?
4, 5. จงกล่าวถึงพระพรและผลประโยชน์บางประการของการรับบัพติสมา.
4 คุณอาจได้รับเอาความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า, เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งในชีวิตคุณ, และตอนนี้คุณเป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติสมา. เป็นเรื่องน่าชมเชยที่คุณได้ทำความก้าวหน้าอย่างนั้น. แต่คุณได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าด้วยการอธิษฐานแล้วหรือยัง และคุณมีเป้าหมายที่จะรับบัพติสมาไหม? จากการศึกษาพระคัมภีร์ ตอนนี้คุณคงรู้แล้วว่าชีวิตคุณควรเน้นในเรื่องการสรรเสริญพระยะโฮวา ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินชีวิตอย่างที่ทำให้ตัวเองพอใจหรือมุ่งแสวงหาทรัพย์สมบัติวัตถุ. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 148:11-13; ลูกา 12:15) ถ้าอย่างนั้น มีพระพรและผลประโยชน์อะไรบ้างจากการรับบัพติสมา?
5 ในฐานะคริสเตียนที่อุทิศตัว ชีวิตคุณจะมีจุดมุ่งหมายที่สูงส่งที่สุด. คุณจะมีความสุขเพราะคุณกำลังทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า. (โรม 12:1, 2) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาจะทำให้คุณมีคุณลักษณะแบบพระเจ้า เช่น สันติสุขและความเชื่อ. (กลา. 5:22, 23) พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานของคุณและอวยพรความพยายามของคุณที่จะดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระคำของพระองค์. งานรับใช้ของคุณจะทำให้คุณยินดี และการดำเนินชีวิตในทางที่พระเจ้าทรงพอพระทัยจะทำให้คุณมีความหวังที่มั่นคงในเรื่องชีวิตนิรันดร์. นอกจากนั้น การอุทิศตัวและรับบัพติสมายังแสดงให้เห็นว่าคุณต้องการจริง ๆ ที่จะเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง.—ยซา. 43:10-12
6. การรับบัพติสมาของเราแสดงให้คนอื่น ๆ รู้อะไร?
6 ด้วยการอุทิศตัวแด่พระเจ้าและรับบัพติสมา เราแสดงให้คนอื่น ๆ รู้ว่าเราเป็นคนของพระยะโฮวา. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ที่จริง ไม่มีใครในพวกเรามีชีวิตเพื่อตัวเองเท่านั้น และไม่มีใครตายเพื่อตัวเองเท่านั้น เพราะถ้าเราอยู่ เราก็อยู่เพื่อพระยะโฮวา และถ้าเราตาย เราก็ตายเพื่อพระยะโฮวา. ฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นคนของพระยะโฮวา.” (โรม 14:7, 8) พระเจ้าทรงให้เกียรติเราด้วยการประทานเจตจำนงเสรีแก่เรา. เมื่อเราตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะดำเนินในทางชีวิตนี้เพราะเรารักพระเจ้า เราทำให้พระทัยของพระองค์ยินดี. (สุภา. 27:11) การรับบัพติสมาของเราเป็นทั้งสัญลักษณ์แสดงการอุทิศตัวแด่พระเจ้าและการประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นผู้ปกครองของเรา. การรับบัพติสมาแสดงว่าเราได้เลือกอยู่ฝ่ายพระองค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการปกครองเอกภพ. (กิจ. 5:29, 32) เมื่อเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาก็จะทรงอยู่ฝ่ายเรา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 118:6) การรับบัพติสมายังเปิดทางให้เราได้รับพระพรฝ่ายวิญญาณอื่น ๆ อีกมากมายทั้งในขณะนี้และในอนาคต.
ได้รับพระพรด้วยการมีสังคมพี่น้องที่เปี่ยมด้วยความรัก
7-9. (ก) พระเยซูทรงรับรองอะไรกับคนที่ได้สละทุกสิ่งเพื่อติดตามพระองค์? (ข) คำสัญญาของพระเยซูดังบันทึกที่มาระโก 10:29, 30 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไร?
7 อัครสาวกเปโตรกล่าวกับพระเยซูว่า “พวกข้าพเจ้าได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์ แล้วพวกข้าพเจ้าจะได้มัด. 19:27) เปโตรอยากรู้ว่ามีอะไรในอนาคตสำหรับท่านและสาวกคนอื่น ๆ ของพระเยซู. เพื่อจะอุทิศตัวเองอย่างเต็มที่ในการทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร พวกเขาได้เสียสละอะไรบางอย่างที่สำคัญในชีวิต. (มัด. 4:18-22) พระเยซูทรงรับรองอะไรกับพวกเขา?
อะไรบ้าง?” (8 ตามบันทึกของมาระโกซึ่งกล่าวถึงเรื่องเดียวกัน พระเยซูทรงชี้ว่าเหล่าสาวกจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องฝ่ายวิญญาณ. พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีใครที่ได้สละบ้านหรือพี่น้องชายหญิงหรือมารดาหรือบิดาหรือลูก ๆ หรือไร่นาเพื่อเห็นแก่เราและเพื่อเห็นแก่ข่าวดี แล้วจะไม่ได้คืนร้อยเท่าในช่วงชีวิตนี้ คือบ้านเรือนและพี่น้องชายหญิงและมารดาและลูก ๆ และไร่นา พร้อมกับการข่มเหง แล้วในยุคหน้าจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (มโก. 10:29, 30) คริสเตียนหลายคนในศตวรรษแรก เช่น ลิเดีย, อะคีลัส, ปริสกิลลา, และเกอุส ได้เปิด “บ้าน” ต้อนรับพี่น้อง และได้มาเป็น “พี่น้องชายหญิงและมารดา” ของเพื่อนร่วมความเชื่อ ดังที่พระเยซูได้ทรงสัญญาไว้.—กิจ. 16:14, 15; 18:2-4; 3 โย. 1, 5-8
9 ในปัจจุบัน สิ่งที่พระเยซูตรัสกำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างยิ่งใหญ่. “ไร่นา” ที่เหล่าสาวกของพระองค์ทิ้งไว้ข้างหลังหมายถึงงานอาชีพที่หลายคน รวมทั้งมิชชันนารี, สมาชิกครอบครัวเบเธล, ผู้รับใช้นานาชาติ, และคนอื่น ๆ เต็มใจสละเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของราชอาณาจักรในดินแดนต่าง ๆ. พี่น้องหลายคนได้สละบ้านเพื่อจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และเรารู้สึกยินดีที่ได้ฟังประสบการณ์ของพวกเขาซึ่งแสดงให้เห็นวิธีที่พระยะโฮวาได้ทรงดูแลพวกเขา รวมถึงประสบการณ์ที่ว่าการรับใช้พระองค์ทำให้พวกเขามีความสุขอย่างไร. (กิจ. 20:35) นอกจากนั้น ผู้รับใช้ทุกคนของพระยะโฮวาที่รับบัพติสมาแล้วสามารถได้รับพระพรจากการ “แสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน” ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมพี่น้องคริสเตียนทั่วโลก.—มัด. 6:33
ปลอดภัยใน “ที่อันลับ”
10, 11. “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” คืออะไร และเราจะอยู่ในที่แห่งนั้นได้โดยวิธีใด?
10 การอุทิศตัวและการรับบัพติสมาทำให้เราได้รับพระพรอย่างเหลือล้นอีกประการหนึ่ง นั่นคือ สิทธิพิเศษในการได้อยู่ใน “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด.” (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 91:1) ที่อันลับนี้เป็นสถานที่โดยนัยที่ให้ความมั่นคง ปลอดภัย เป็นสภาพที่ได้รับการปกป้องให้พ้นจากผลเสียหายฝ่ายวิญญาณ. ที่ดังกล่าวเป็น “ที่อันลับ” เพราะผู้คนที่ไม่มีวิสัยทัศน์ฝ่ายวิญญาณและไม่ไว้วางใจในพระเจ้าไม่รู้จักที่แห่งนี้. โดยดำเนินชีวิตสอดคล้องกับการอุทิศตัวของเราและเชื่อมั่นในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ ก็เหมือนกับเรากำลังพูดกับพระองค์ว่า “พระองค์เป็นที่พึ่งพำนักและเป็นป้อมของข้าพเจ้า; พระองค์เป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า ๆ วางใจในพระองค์.” (เพลง. 91:2) พระยะโฮวาพระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งอันมั่นคงปลอดภัยของเรา. (เพลง. 91:9) ยังจะมีใครอีกหรือที่เป็นที่พึ่งที่ปลอดภัยกว่านี้?
11 การได้อยู่ใน “ที่อันลับ” ของพระยะโฮวายังแสดงเป็นนัย ๆ ด้วยว่าเราได้รับพระพรด้วยการมีสิทธิพิเศษที่ได้พัฒนาสายสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระองค์. สิทธิพิเศษนี้เริ่มต้นด้วยการอุทิศตัวและการรับบัพติสมา. หลังจากนั้น เราสร้างสายสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยการเข้าใกล้พระองค์โดยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล, การอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากใจ, และการเชื่อฟังอย่างเต็มที่. (ยโก. 4:8) ไม่มีใครเคยเข้าใกล้พระยะโฮวามากเท่ากับพระเยซู ผู้มีความเชื่อมั่นในพระผู้สร้างอย่างไม่สั่นคลอน. (โย. 8:29) ด้วยเหตุนั้น ขอเราอย่าสงสัยในเรื่องพระประสงค์และความสามารถของพระยะโฮวาที่จะช่วยเราทำตามคำปฏิญาณการอุทิศตัวของเราให้สำเร็จ. (ผู้ป. 5:4) การจัดเตรียมต่าง ๆ ทางฝ่ายวิญญาณที่พระเจ้าทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์นั้นเป็นหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพระองค์ทรงรักเราจริง ๆ และทรงประสงค์ให้เราประสบความสำเร็จในการรับใช้พระองค์.
จงเห็นคุณค่าอุทยานฝ่ายวิญญาณ
12, 13. (ก) อุทยานฝ่ายวิญญาณคืออะไร? (ข) เราอาจช่วยคนใหม่ ๆ ได้อย่างไร?
12 การอุทิศตัวและการรับบัพติสมายังทำให้เราสามารถอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณที่ได้รับการอวยพรด้วย. อุทยานฝ่ายวิญญาณนี้เป็นสภาพแวดล้อมทางฝ่ายวิญญาณที่ไม่มีสิ่งใดเหมือน ซึ่งเรามีร่วมกันกับเพื่อนร่วมความเชื่อที่มีสันติสุขกับพระยะโฮวาพระเจ้าและมีต่อกันและกัน. (เพลง. 29:11; ยซา. 54:13) ไม่มีสิ่งใดเลยในโลกนี้ที่อาจเทียบได้กับอุทยานฝ่ายวิญญาณของเรา. เรื่องนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษ ณ การประชุมนานาชาติ ซึ่งพี่น้องของเราจากหลายชาติ, หลายภาษา, และหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาอยู่ด้วยกันในบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยสันติสุข, เอกภาพ, และความรักฉันพี่น้อง.
13 อุทยานฝ่ายวิญญาณที่เราอยู่แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับสภาพที่ย่ำแย่ของโลกในทุกวันนี้. (อ่านยะซายา 65:13, 14) ด้วยการประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร เรามีสิทธิพิเศษในการส่งคำเชิญไปยังคนอื่น ๆ ให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณ. เป็นพระพรด้วยที่จะช่วยคนใหม่ ๆ ที่เข้ามาสมทบกับประชาคมและรับประโยชน์จากการฝึกอบรมในงานรับใช้. ด้วยการชี้นำจากผู้ปกครอง เราอาจได้รับพระพรด้วยการมีสิทธิพิเศษได้ช่วยคนใหม่ ๆ บางคน เช่นเดียวกับที่อะคีลัสกับปริสกิลลาช่วยอธิบายให้อะโปลโลส “เข้าใจแนวทางของพระเจ้าอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น.”—กิจ. 18:24-26
จงเรียนจากพระเยซูต่อ ๆ ไป
14, 15. เรามีเหตุผลที่ดีอะไรบ้างที่จะเรียนจากพระเยซูต่อ ๆ ไป?
14 เรามีเหตุผลที่ดีหลายประการที่จะเรียนจากพระเยซูต่อ ๆ ไป. ก่อนพระเยซูมาเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงทำงานด้วยกันกับพระบิดาเป็นเวลานานเหลือคณานับ. (สุภา. 8:22, 30) พระองค์ทรงทราบว่าส่วนสำคัญของแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดคือการรับใช้พระเจ้าและการประกาศความจริง. (โย. 18:37) พระเยซูทรงเข้าใจชัดเจนว่าแนวทางชีวิตแบบอื่นเป็นแนวทางที่เห็นแก่ตัวและไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว. พระองค์ทรงรู้ว่าพระองค์จะถูกทดสอบอย่างรุนแรงและถูกปลงพระชนม์. (มัด. 20:18, 19; ฮีบรู 4:15) ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา พระองค์ทรงสอนเราถึงวิธีรักษาความซื่อสัตย์มั่นคง.
15 ไม่นานหลังจากพระเยซูทรงรับบัพติสมา ซาตานล่อลวงพระองค์ให้ทิ้งแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด แต่มันไม่ประสบความสำเร็จ. (มัด. 4:1-11) เรื่องนี้สอนเราว่าไม่ว่าซาตานจะทำอะไร เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงได้. มันคงจับตามองคนที่กำลังจะรับบัพติสมาและคนที่เพิ่งรับบัพติสมาเป็นพิเศษ. (1 เป. 5:8) การต่อต้านอาจมาจากคนในครอบครัวที่มีเจตนาดีแต่ได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวา. ถึงกระนั้น การทดสอบเช่นนั้นทำให้เรามีโอกาสได้แสดงคุณลักษณะที่ดีของคริสเตียน เช่น ความนับถือและความผ่อนหนักผ่อนเบา เมื่อเราตอบคำถามและเมื่อ เราประกาศ. (1 เป. 3:15) การทดสอบที่เราประสบจึงอาจส่งผลกระทบในแง่บวกต่อคนที่ฟังเรา.—1 ติโม. 4:16
จงติดสนิทกับแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด!
16, 17. (ก) มีข้อเรียกร้องพื้นฐานสามประการอะไรสำหรับชีวิตซึ่งพบในพระบัญญัติ 30:19, 20? (ข) พระเยซู, โยฮัน, และเปาโลสนับสนุนสิ่งที่โมเซเขียนอย่างไร?
16 ประมาณ 1,500 ปีก่อนที่พระเยซูจะดำเนินชีวิตบนแผ่นดินโลก โมเซกระตุ้นชาวอิสราเอลให้เลือกแนวทางชีวิตที่ดีที่สุดซึ่งพวกเขาจะเลือกได้ในตอนนั้น. ท่านกล่าวว่า “เราขอเอาสวรรค์และแผ่นดินโลกมาเป็นพยานต่อหน้าท่านทั้งหลายในวันนี้ว่า เราได้ตั้งชีวิตและความตาย พระพรและคำสาปแช่งไว้ตรงหน้าท่านทั้งหลาย; และท่านต้องเลือกเอาชีวิตเพื่อท่านจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ตัวท่านและลูกหลานของท่าน โดยรักพระยะโฮวาพระเจ้าของท่าน โดยรับฟังพระสุรเสียงของพระองค์และโดยติดสนิทกับพระองค์.” (บัญ. 30:19, 20, ล.ม.) ชาวอิสราเอลประพฤติอย่างที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่ข้อเรียกร้องพื้นฐานสามประการสำหรับชีวิตที่โมเซกล่าวถึงไม่ได้เปลี่ยนไป. พระเยซูและคนอื่น ๆ ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องเหล่านี้อีกครั้ง.
17 ประการแรก ‘เราต้องรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเรา.’ เราแสดงให้เห็นว่าเรารักพระเจ้าโดยประพฤติสอดคล้องกับแนวทางอันชอบธรรมของพระองค์. (มัด. 22:37) ประการที่สอง ‘เราต้องรับฟังพระสุรเสียงของพระยะโฮวา’ ด้วยการศึกษาพระคำของพระเจ้าและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์. (1 โย. 5:3) เพื่อจะทำอย่างนั้นได้เราต้องเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ ซึ่งมีการพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลกันที่นั่น. (ฮีบรู 10:23-25) ประการที่สาม ‘เราต้องติดสนิทกับพระยะโฮวา.’ ไม่ว่าเราต้องเผชิญกับอะไร ขอให้เราแสดงความเชื่อในพระเจ้าและติดตามพระบุตรของพระองค์เสมอ.—2 โค. 4:16-18
18. (ก) ย้อนไปในปี 1914 หอสังเกตการณ์ พรรณนาเกี่ยวกับความจริงไว้อย่างไร? (ข) เราควรรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับแสงสว่างแห่งความจริงในปัจจุบัน?
18 ช่างเป็นพระพรจริง ๆ ที่ได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความจริงในคัมภีร์ไบเบิล! ในปี 1914 ได้มีการตีพิมพ์ถ้อยแถลงสำคัญในหอสังเกตการณ์ ดังต่อไปนี้: “เราเป็นประชาชนที่ได้รับพระพรและมีความสุขมิใช่หรือ? พระเจ้าของเราทรงสัตย์ซื่อมิใช่หรือ? ถ้ามีใครรู้จักสิ่งที่ดีกว่า ก็ให้เขารับสิ่งนั้นไว้. ถ้ามีใครในพวกคุณพบสิ่งใดที่ดีกว่า ก็หวังว่าคุณจะบอกพวกเรา. เราไม่รู้จักสิ่งใดที่ดีกว่าหรือแม้แต่ที่ดีสักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่เราได้พบในพระคำของพระเจ้า. . . . ไม่มีลิ้นอันใดหรือปากกาด้ามใดสามารถพรรณนาได้ถึงสันติสุข, ความยินดี, และพระพรที่ความรู้อันชัดเจนเกี่ยวกับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ได้ทำให้เกิดขึ้นในหัวใจและชีวิตของเรา. เรื่องราวเกี่ยวกับพระสติปัญญา, ความยุติธรรม, อำนาจ, และความรักของพระเจ้าตอบสนองความจำเป็นของเราทั้งทางด้านสติปัญญาและด้านอารมณ์อย่างเต็มที่. เราไม่แสวงหาอีกต่อไปแล้ว. ไม่มีสิ่งใดที่น่าปรารถนามากไปกว่าการที่เรื่องราวอันยอดเยี่ยมนี้กระจ่างชัดยิ่งขึ้นในจิตใจเรา.” (หอสังเกตการณ์, ภาษาอังกฤษ, ฉบับ 15 ธันวาคม 1914 หน้า 377-378) ความรู้สึกขอบคุณที่เรามีต่อความสว่างฝ่ายวิญญาณและความจริงนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป. ที่จริง พวกเราในปัจจุบันมีเหตุผลมากยิ่งกว่านั้นอีกที่จะชื่นชมยินดีที่เรา “ดำเนินในแสงสว่างของพระยะโฮวา.”—ยซา. 2:5; เพลง. 43:3; สุภา. 4:18
19. เหตุใดคนที่มีคุณสมบัติไม่ควรลังเลที่จะรับบัพติสมา?
19 ถ้าคุณต้องการจะ “ดำเนินในแสงสว่างของพระยะโฮวา” แต่ว่ายังไม่ได้เป็นคริสเตียนที่อุทิศตัวและรับบัพติสมา ก็อย่าได้ลังเล. จงทำสิ่งใดก็ตามที่จำเป็นเพื่อจะบรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการรับบัพติสมา ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะแสดงความขอบคุณสำหรับสิ่งที่พระเจ้าและพระคริสต์ทรงทำเพื่อพวกเรา. จงถวายสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่คุณมี คือชีวิตของคุณ แด่พระยะโฮวา. จงแสดงให้เห็นว่าคุณตั้งใจจะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยการติดตามพระบุตรของพระองค์. (2 โค. 5:14, 15) ไม่มีข้อสงสัย นี่คือแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด!
คุณจะตอบอย่างไร?
• การรับบัพติสมาของเราเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอะไร?
• การอุทิศตัวแด่พระเจ้าและการรับบัพติสมาทำให้เราได้รับพระพรอะไรบ้าง?
• เหตุใดการเรียนจากพระเยซูจึงสำคัญอย่างยิ่ง?
• อะไรจะช่วยเราให้ติดสนิทกับแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 25]
การที่คุณรับบัพติสมาแสดงว่าคุณได้เลือกแนวทางชีวิตที่ดีที่สุด
[ภาพหน้า 26]
คุณอยู่ใน “ที่อันลับ” ที่ปลอดภัยไหม?