เยาวชนทั้งหลาย—จงให้พระคำของพระเจ้าชี้นำคุณ
เยาวชนทั้งหลาย—จงให้พระคำของพระเจ้าชี้นำคุณ
“จงรับเอาพระปัญญา, จงรับเอาความเข้าใจ.”—สุภา. 4:5
1, 2. (ก) อะไรช่วยอัครสาวกเปาโลให้รับมือความขัดแย้งภายในตัวท่าน? (ข) คุณจะมีสติปัญญาและความเข้าใจได้อย่างไร?
“เมื่อข้าพเจ้าอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งชั่วก็อยู่ในตัวข้าพเจ้า.” คุณรู้ไหมว่าใครพูดถ้อยคำดังกล่าว? ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากอัครสาวกเปาโล. แม้ว่าเปาโลรักพระยะโฮวา แต่มีหลายครั้งที่ท่านรู้สึกว่าการทำสิ่งถูกต้องเป็นเรื่องยาก. ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ภายในตัวท่าน? ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนน่าสมเพชเสียจริง!” (โรม 7:21-24) คุณเข้าใจไหมว่าเปาโลรู้สึกอย่างไร? บางครั้งคุณรู้สึกว่าการทำสิ่งถูกต้องเป็นเรื่องยากไหม? นั่นทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดเหมือนเปาโลไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อย่าท้อ. เปาโลรับมือข้อท้าทายนี้ได้สำเร็จ และคุณก็จะทำได้เช่นกัน.
2 เปาโลรับมือข้อท้าทายนี้ได้เนื่องจากท่านให้ “ถ้อยคำที่ก่อประโยชน์” ชี้นำท่าน. (2 ติโม. 1:13, 14) ผลก็คือ ท่านได้สติปัญญาและความเข้าใจที่จำเป็นต้องมีเพื่อรับมือข้อท้าทายต่าง ๆ และตัดสินใจอย่างถูกต้อง. พระยะโฮวาพระเจ้าสามารถช่วยคุณให้มีสติปัญญาและความเข้าใจ. (สุภา. 4:5) พระองค์ทรงจัดเตรียมคำแนะนำที่ดีที่สุดไว้ให้คุณในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. (อ่าน 2 ติโมเธียว 3:16, 17) จงพิจารณาวิธีที่คุณจะได้รับประโยชน์จากหลักการในพระคัมภีร์เมื่อคุณปฏิบัติต่อพ่อแม่, เมื่อคุณใช้จ่ายเงิน, และเมื่อคุณอยู่ตามลำพัง.
ในครอบครัว
3, 4. เหตุใดคุณอาจรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อฟังกฎที่พ่อแม่ตั้งไว้ แต่เหตุใดพ่อแม่จึงตั้งกฎ?
3 คุณรู้สึกว่ายากไหมที่จะทำตามกฎที่พ่อแม่ตั้งไว้? ทำไมคุณอาจรู้สึกอย่างนั้น? เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคุณอยากมีอิสระบ้าง. แนวโน้มนี้เป็นเรื่องปกติ. นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่. แต่เมื่อยังอยู่กับพ่อแม่ คุณมีพันธะที่ต้องเชื่อฟังท่าน.—เอเฟ. 6:1-3
4 การที่คุณเข้าใจว่าทำไมพ่อแม่จึงตั้งกฎและคาดหมายให้คุณทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อาจช่วยให้คุณทำตามได้ง่ายขึ้น. จริงอยู่ บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนบรีเอล * ซึ่งอายุ 18 ปี. เธอพูดถึงพ่อแม่ว่า “พ่อกับแม่ลืมไปหมดแล้วว่าตอนที่ท่านอายุเท่ากับดิฉันท่านเองเป็นอย่างไร. ท่านไม่ต้องการให้ดิฉันออกความคิดเห็น ไม่ให้ตัดสินใจ แล้วก็มองว่าดิฉันเป็นเด็กอยู่เรื่อย.” คุณอาจรู้สึกเช่นเดียวกับบรีเอลว่าพ่อแม่ลดทอนเสรีภาพของคุณมากเกินไป. แต่ที่พ่อแม่ของคุณตั้งกฎ ส่วนใหญ่แล้วก็เพราะท่านเป็นห่วงคุณ. นอกจากนั้น พ่อแม่ที่เป็นคริสเตียนรู้ว่าท่านต้องรับผิดชอบต่อพระยะโฮวาสำหรับวิธีที่ท่านดูแลคุณ.—1 ติโม. 5:8
5. การเชื่อฟังพ่อแม่อาจให้ประโยชน์แก่คุณอย่างไร?
5 ที่จริง การเชื่อฟังกฎที่พ่อแม่ของคุณตั้งไว้เป็นเหมือนกับการชำระหนี้ให้ธนาคาร—ยิ่งคุณชำระหนี้ตรงตามกำหนดมากเท่าไร ธนาคารก็จะให้สินเชื่อคุณมากเท่านั้น. คล้ายกัน คุณมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความนับถือและเชื่อฟังพ่อแม่. (อ่านสุภาษิต 1:8) ยิ่งคุณเชื่อฟังพ่อแม่มากเท่าไร ท่านก็จะให้เสรีภาพคุณมากเท่านั้น. (ลูกา 16:10) แน่นอน ถ้าคุณฝ่าฝืนกฎอยู่เรื่อย ๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าพ่อแม่ของคุณลดหรือไม่ให้ “สินเชื่อ” แก่คุณ.
6. พ่อแม่จะช่วยลูกให้เชื่อฟังได้อย่างไร?
6 วิธีหนึ่งที่พ่อแม่สามารถช่วยลูกที่เป็นผู้เยาว์ให้ทำตาม1 โย. 5:3) นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวถึงโอกาสต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาถึงกับให้ผู้รับใช้พระองค์แสดงความคิดเห็นในบางเรื่อง. (เย. 18:22-32; 1 กษัต. 22:19-22) อาจมีบางโอกาสไหมที่พ่อแม่จะให้ลูกแสดงความคิดเห็นในบางเรื่องได้?
กฎที่ตัวเองตั้งไว้ก็คือโดยการวางตัวอย่าง. การที่พ่อแม่เองเต็มใจทำตามสิ่งที่พระยะโฮวาทรงคาดหมายให้เขาทำแสดงให้เห็นว่ากฎของพระเจ้ามีเหตุผล. นี่จะทำให้ง่ายขึ้นที่เยาวชนจะมีทัศนะแบบเดียวกันต่อกฎต่าง ๆ ที่พ่อแม่ตั้งไว้. (7, 8. (ก) เยาวชนบางคนรู้สึกอย่างไร? (ข) การตระหนักเช่นไรจะช่วยคุณให้รับประโยชน์จากการตีสอน?
7 นอกจากนั้น เยาวชนอาจรู้สึกว่าพ่อแม่ชอบตำหนิติเตียนเขาอย่างไม่ยุติธรรม. บางครั้ง คุณอาจรู้สึกเหมือนกับหนุ่มน้อยที่ชื่อเครกซึ่งบอกว่า “แม่ผมทำตัวเหมือนตำรวจเลย คอยจ้องผมอยู่ตลอดว่าผมจะทำอะไรผิดพลาด.”
8 การว่ากล่าวแก้ไขหรือการตีสอนมักออกมาในรูปของคำตำหนิติเตียน. คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่าการตีสอนแม้แต่เมื่อมีเหตุผลสมควรก็เป็นสิ่งที่รับได้ยาก. (ฮีบรู 12:11) อะไรจะช่วยคุณให้รับประโยชน์จากการตีสอน? จุดสำคัญที่ควรจำไว้ก็คือความรักที่พ่อแม่มีต่อคุณกระตุ้นท่านให้แนะนำคุณ. (สุภา. 3:12) พ่อแม่ต้องการปกป้องคุณไว้เพื่อจะไม่สร้างนิสัยที่ไม่ดีและช่วยคุณปลูกฝังนิสัยที่ดี. พ่อแม่ของคุณคงตระหนักว่าถ้าท่านไม่ว่ากล่าวแก้ไขคุณ ก็เท่ากับท่านเกลียดคุณ! (อ่านสุภาษิต 13:24) นอกจากนั้น ขอให้เข้าใจว่าการทำผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการเรียนรู้. ดังนั้น เมื่อคุณถูกว่ากล่าวแก้ไข คุณน่าจะมองหาสติปัญญาที่แฝงอยู่ในคำว่ากล่าวแก้ไขนั้น. “การหาพระปัญญามาได้นั้นก็ดีกว่าได้เงิน, และผลกำไรนั้นก็ประเสริฐกว่าทองคำบริสุทธิ์.”—สุภา. 3:13, 14
9. แทนที่จะครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องที่ดูเหมือนว่าไม่ยุติธรรม เยาวชนอาจทำอะไรได้?
9 อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลายคนพลาดพลั้ง. (ยโก. 3:2) เมื่อตีสอนคุณ บางครั้งท่านอาจพูดอย่างไม่ทันคิด. (สุภา. 12:18) อะไรอาจเป็นเหตุที่ทำให้พ่อแม่ของคุณทำอย่างนี้? ท่านอาจกำลังเครียดอยู่ หรือท่านอาจถือว่าถ้าคุณผิดพลาดก็เท่ากับท่านผิดพลาดด้วย. แทนที่จะมัวแต่คิดว่าไม่ยุติธรรมสำหรับคุณ คุณน่าจะขอบคุณพ่อแม่ที่ท่านหวังดีต่อคุณอย่างแท้จริง. การที่คุณพร้อมจะรับการตีสอนจะเป็นประโยชน์ต่อคุณเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่.
10. คุณอาจยอมรับกฎและการว่ากล่าวแก้ไขของพ่อแม่ได้ง่ายขึ้นโดยวิธีใด?
10 คุณอยากจะยอมรับกฎและการว่ากล่าวแก้ไขของพ่อแม่ได้ง่ายขึ้นไหม? ถ้าอย่างนั้น คุณก็ต้องปรับปรุงความสามารถในการสื่อความ. คุณจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? ขั้นตอนแรกก็คือฟัง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ทุกคนต้องไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.” (ยโก. 1:19) แทนที่จะรีบพูดแก้ตัว จงพยายามควบคุมอารมณ์และตั้งใจฟังว่าพ่อแม่คุณพูดอะไร. เพ่งความสนใจไปยังเรื่องที่พ่อแม่พูด ไม่ใช่วิธีที่ท่านพูด. แล้วก็แสดงให้ท่านเห็นว่าคุณเข้าใจสิ่งที่ท่านพูดโดยยอมรับข้อผิดพลาดของคุณ. การที่คุณทำเช่นนั้นก็จะทำให้ท่านมั่นใจว่าคุณฟังท่านพูดจริง ๆ. จะว่าอย่างไรถ้าคุณต้องการจะอธิบายคำพูดหรือการกระทำของคุณ? ในกรณีส่วนใหญ่ นับว่าฉลาดที่จะ “ยับยั้งริมฝีปากของตน” ไว้ และทำตามความต้องการของพ่อแม่เสียก่อน. (สุภา. 10:19) เมื่อพ่อแม่เห็นแล้วว่าคุณฟังท่าน ท่านก็มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะฟังคุณ. วิธีที่แสดงความเป็นผู้ใหญ่อย่างนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณให้พระคำของพระเจ้าชี้นำคุณ.
เมื่อใช้จ่ายเงิน
11, 12. (ก) พระคำของพระเจ้าสนับสนุนเราให้ทำอะไรในเรื่องเงิน และเพราะเหตุใด? (ข) พ่อแม่อาจช่วยคุณได้อย่างไรให้รู้จักใช้จ่ายเงิน?
11 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า ‘เงินเป็นเครื่องป้องกัน.’ แต่ข้อเดียวกันนี้ยังแสดงให้เห็นว่าสติปัญญามีค่ายิ่งกว่าเงิน. (ผู้ป. 7:12) พระคำของพระเจ้าสนับสนุนเราให้เข้าใจคุณค่าของเงิน ไม่ใช่ให้รักเงิน. เหตุใดคุณควรหลีกเลี่ยงการรักเงิน? ขอให้พิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบนี้: มีดคมกริบที่อยู่ในมือของพ่อครัวใหญ่เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์. แต่มีดเล่มเดียวกันนี้ถ้าไปอยู่ในมือของคนที่ประมาทเลินเล่อก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงได้. เงินก็เป็นประโยชน์ถ้าใช้อย่างฉลาด. อย่างไรก็ตาม คนที่ “มุ่งจะร่ำรวย” มักยอมสละมิตรภาพ, สายสัมพันธ์ในครอบครัว, และแม้แต่สายสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้า. ผลก็คือ พวกเขาทิ่มแทงตัวเอง “ทั่วทั้งตัวด้วยสิ่งที่ก่อความทุกข์มากมาย.”—อ่าน 1 ติโมเธียว 6:9, 10
12 คุณจะเรียนรู้วิธีใช้จ่ายเงินอย่างฉลาดสุขุมได้อย่างไร? คุณอาจจะขอคำแนะนำจากพ่อแม่ในเรื่องวิธีตั้งงบประมาณ. โซโลมอนเขียนว่า “คนมีปัญญาจะได้ยินและเพิ่มพูนการเรียนรู้และคนที่มีความเข้าใจจะได้การชี้แนะ.” (สุภา. 1:5, ฉบับมาตรฐาน) หญิงสาวคนหนึ่งชื่อแอนนาขอคำแนะนำที่สุขุมจากพ่อแม่. เธอกล่าวว่า “พ่อดิฉันสอนวิธีทำงบดุลบัญชี และท่านชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครอบครัว.” แม่ก็สอนให้เธอรู้จักวิธีซื้อของด้วย. แอนนากล่าวว่า “แม่ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ.” แอนนาได้ประโยชน์อย่างไร? เธอพูดว่า “เวลานี้ดิฉันสามารถดูแลการเงินของตัวเองได้. ดิฉันรู้จักใช้เงินอย่างรอบคอบ ดิฉันจึงมีอิสระและไม่กระวนกระวายใจเพราะปลอดหนี้สินที่ไม่จำเป็น.”
13. คุณอาจใช้วินัยกับตัวเองอย่างไรในเรื่องการใช้จ่ายเงิน?
13 คุณอาจพบว่าตัวเองมีหนี้สินรุงรังถ้าคุณซื้อของอย่างหุนหันพลันแล่นหรือใช้จ่ายเงินเพียงเพื่อให้เพื่อน ๆ ประทับใจ. อะไรอาจช่วยคุณให้หลีกเลี่ยงหลุมพรางเหล่านี้? คุณต้องเรียนรู้ที่จะใช้วินัยกับตัวเองในเรื่องการใช้จ่ายเงิน. นี่คือสิ่งที่เอลเลนาซึ่งอยู่ในวัยยี่สิบต้น ๆ ได้ทำ. เธอกล่าวว่า “เมื่อดิฉันออกไปกับเพื่อน ๆ ดิฉันจะวางแผนล่วงหน้าและคำนวณดูว่าจะจ่ายได้ไม่เกินเท่าไร. . . . ดิฉันเห็นว่าดีกว่าที่จะไปซื้อของกับเพื่อนซึ่งรู้จักใช้เงินอย่างรอบคอบและสนับสนุนฉันให้เทียบดูราคาหลาย ๆ ร้านก่อน ไม่ใช่เห็นปุ๊บก็ซื้อปั๊บ.”
14. เหตุใดคุณควรระวัง “อำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ”?
14 การหาเงินและการควบคุมการใช้เงินเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิต. แต่พระเยซูตรัสว่าความสุขแท้มีแก่คนที่ “สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ.” (มัด. 5:3) พระองค์ทรงเตือนว่าความสนใจของคนเราในเรื่องฝ่ายวิญญาณอาจชะงักงันไปเพราะสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่น “อำนาจล่อลวงของทรัพย์สมบัติ.” (มโก. 4:19) ดังนั้น จึงสำคัญสักเพียงไรที่คุณจะให้พระคำของพระเจ้าชี้นำคุณและรักษาทัศนะที่สมดุลเกี่ยวกับเงิน!
เมื่ออยู่ตามลำพัง
15. ความภักดีของคุณต่อพระเจ้าคงจะถูกทดสอบได้ง่ายที่สุดเมื่อไร?
15 เมื่อไรที่คุณคิดว่าความภักดีต่อพระเจ้าจะถูกทดสอบได้ง่ายที่สุด—เมื่อคุณอยู่กับคนอื่น ๆ หรือเมื่อคุณอยู่ตามลำพัง? เมื่อคุณอยู่ที่โรงเรียนหรือในที่ทำงาน คุณคงจะตื่นตัวและพร้อมจะป้องกันตัวเองจากสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เป็นอันตรายฝ่ายวิญญาณ. แต่เป็นตอนที่คุณกำลังผ่อนคลายและไม่ระวังตัวนั่นแหละที่มาตรฐานด้านศีลธรรมของคุณจะถูกโจมตีได้ง่ายที่สุด.
16. เหตุใดคุณควรเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้เมื่ออยู่ตามลำพัง?
16 เหตุใดคุณควรเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้แต่เมื่ออยู่ตามลำพัง? ขอให้จำไว้ว่า คุณอาจทำให้พระยะโฮวาเสียพระทัยหรือทำให้พระองค์มีพระทัยยินดีได้. (เย. 6:5, 6; สุภา. 27:11) การกระทำของคุณส่งผลต่อพระยะโฮวาเพราะ “พระองค์ทรงใฝ่พระทัย” คุณ. (1 เป. 5:7) พระองค์ทรง ประสงค์ให้คุณฟังพระองค์เพื่อตัวคุณเองจะได้รับประโยชน์. (ยซา. 48:17, 18) เมื่อผู้รับใช้บางคนของพระยะโฮวาในชาติอิสราเอลโบราณเพิกเฉยต่อคำแนะนำของพระองค์ พวกเขาทำให้พระองค์ทรงเจ็บปวดพระทัย. (เพลง. 78:40, 41) ตรงกันข้าม พระยะโฮวาทรงรักผู้พยากรณ์ดานิเอลอย่างยิ่ง เพราะทูตสวรรค์เรียกท่านว่าเป็น “คนที่ทรงโปรดปรานยิ่งนัก.” (ดานิ. 10:11) เพราะเหตุใด? เพราะดานิเอลภักดีต่อพระเจ้าไม่เฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น ๆ แต่เมื่อท่านอยู่ตามลำพังด้วย.—อ่านดานิเอล 6:10
17. คุณอาจถามตัวเองอย่างไรเมื่อเลือกความบันเทิง?
17 เพื่อจะรักษาความภักดีต่อพระเจ้าเมื่อคุณอยู่ตามลำพัง คุณต้องพัฒนาและ “ฝึกใช้วิจารณญาณเพื่อจะแยกออกว่าอะไรถูกอะไรผิด” โดยทำสิ่งที่คุณรู้ว่าถูกต้อง. (ฮีบรู 5:14) ตัวอย่างเช่น เมื่อเลือกดนตรีที่คุณฟัง, ภาพยนตร์ที่คุณดู, หรือเว็บไซต์ที่คุณเข้าไปดู คำถามต่อไปนี้จะช่วยคุณให้เลือกสิ่งที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด. จงถามตัวเองว่า ‘สิ่งนี้จะสนับสนุนฉันให้เห็นอกเห็นใจคนอื่นหรือจะมีอิทธิพลทำให้ฉันยินดี “เมื่อเกิดภัยพิบัติแก่คนอื่น”?’ (สุภา. 17:5, ฉบับมาตรฐาน) ‘สิ่งนี้จะช่วยฉันให้ “รักความดี” หรือจะทำให้เป็นเรื่องยากที่ฉันจะ “ชังความชั่ว”?’ (อาโมศ 5:15) สิ่งที่คุณทำเมื่ออยู่ตามลำพังเผยให้เห็นว่าคุณถือว่าอะไรมีค่าอย่างแท้จริง.—ลูกา 6:45
18. ถ้าคุณทำผิดอย่างลับ ๆ คุณควรทำอะไร และเพราะเหตุใด?
18 คุณควรทำอะไรถ้าคุณทำสิ่งที่รู้ว่าผิดอย่างลับ ๆ? จำไว้ว่า “คนที่ปกปิดความบาปของตัวไว้จะไม่เจริญ; แต่คนที่รับสารภาพและละทิ้งการผิดของตนเสียจะประสบความเมตตา.” (สุภา. 28:13) นับว่าไม่ฉลาดจริง ๆ ที่จะทำผิดต่อไปเรื่อย ๆ และ “ทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าโศกเศร้า”! (เอเฟ. 4:30) คุณมีพันธะต่อพระเจ้าและต่อพ่อแม่ที่จะสารภาพถ้าคุณทำผิด. เมื่อทำอย่างนี้ คุณเองก็จะได้รับประโยชน์ด้วย. “ผู้เฒ่าผู้แก่ในประชาคม” สามารถช่วยคุณได้มากในเรื่องนี้. สาวกยาโกโบกล่าวว่า “ให้คนเหล่านั้นอธิษฐานเพื่อ [คนที่ทำผิด] และชโลมน้ำมันให้เขาในพระนามพระยะโฮวา. การอธิษฐานด้วยความเชื่อจะทำให้คนป่วยหายดี และพระยะโฮวาจะทรงโปรดให้เขาฟื้นตัว. ถ้าเขาได้ทำบาป พระองค์จะทรงให้อภัยเขา.” (ยโก. 5:14, 15) ต้องยอมรับว่า การสารภาพผิดอาจทำให้เกิดความอับอายอยู่บ้างและอาจก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาบางอย่าง. แต่ถ้าคุณกล้าขอความช่วยเหลือ คุณจะไม่ต้องประสบความเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีกและจะรู้สึกโล่งใจซึ่งเป็นผลมาจากการได้สติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดกลับคืนมา.—เพลง. 32:1-5
จงทำให้พระทัยพระยะโฮวายินดี
19, 20. พระยะโฮวาทรงประสงค์อะไรสำหรับคุณ แต่คุณต้องทำอะไร?
19 พระยะโฮวาทรงเป็น “พระเจ้าผู้มีความสุข” และพระองค์ประสงค์ให้คุณมีความสุข. (1 ติโม. 1:11) พระองค์ทรงสนใจตัวคุณอย่างยิ่ง. แม้ว่าเมื่อคุณพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่มีใครสังเกตเห็น พระองค์ทรงเห็น. ไม่มี สิ่งใดถูกปิดซ่อนจากสายพระเนตรของพระยะโฮวาได้. พระองค์ทอดพระเนตร ไม่ใช่เพื่อจับผิด แต่เพื่อสนับสนุนความพยายามของคุณที่จะทำดี. พระเจ้า “ทอดพระเนตรไปทั่วพิภพโลก, เพื่อจะสำแดงว่าพระองค์ทรงฤทธานุภาพสถิตอยู่กับคนทั้งปวงที่มีใจซื่อสัตย์สุจริตต่อพระองค์.”—2 โคร. 16:9
20 ด้วยเหตุนั้น จงให้พระคำของพระเจ้าชี้นำคุณ และทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์. เมื่อคุณทำอย่างนั้น คุณจะได้สติปัญญาและความเข้าใจที่จำเป็นเพื่อจะเอาชนะอุปสรรคขวากหนามและตัดสินใจเรื่องที่ยาก ๆ ในชีวิตได้. คุณจะไม่เพียงทำให้พ่อแม่และพระยะโฮวายินดี แต่ยังจะดำเนินชีวิตที่มีความสุขอย่างแท้จริงด้วย.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 4 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ
คุณจะตอบอย่างไร?
• เยาวชนจะยอมรับกฎและการว่ากล่าวแก้ไขจากพ่อแม่ได้ง่ายขึ้นโดยวิธีใด?
• เหตุใดจึงสำคัญที่จะมีทัศนะที่สมดุลในเรื่องเงิน?
• คุณจะรักษาความภักดีต่อพระยะโฮวาได้อย่างไรแม้เมื่ออยู่ตามลำพัง?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 6]
เมื่ออยู่ตามลำพังคุณยังภักดีต่อพระเจ้าไหม?