นางเป็นคนในตระกูลเคยาฟัส
บางครั้ง สิ่งที่นักโบราณคดีค้นพบช่วยยืนยันโดยตรงหรือโดยอ้อมว่าบุคคลที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงมีตัวตนอยู่จริง. ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 นักวิชาการชาวอิสราเอลตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบที่ยืนยันเช่นนั้น. สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือหีบหินปูนอายุ 2,000 ปีซึ่งใช้เป็นที่เก็บกระดูกของคนตายหลังจากที่เนื้อหนังเน่าเปื่อยไปแล้ว.
หีบเก็บกระดูกที่ค้นพบนี้มีอักษรจารึกบนหีบว่า “มิริยาม บุตรสาวของเยชูอา บุตรเคยาฟัส ปุโรหิตแห่งมาซะยาจากเบท อิมรี.” มหาปุโรหิตชาวยิวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีและการประหารพระเยซูคือเคยาฟัส. (โย. 11:48-50) นักประวัติศาสตร์ฟลาวิอุส โยเซฟุสกล่าวถึงมหาปุโรหิตคนนี้ว่า “โยเซฟ ซึ่งถูกเรียกว่าเคยาฟัส.” หีบเก็บกระดูกนี้จึงดูเหมือนว่าเป็นของญาติคนหนึ่งของเขา. เนื่องจากคำจารึกบนหีบเก็บกระดูกที่พบก่อนหน้านั้นซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของมหาปุโรหิตคนนี้เองเรียกเขาว่า เยโฮเซฟ บาร์ เคยาฟัส (โยเซฟ บุตรเคยาฟัส) * มิริยามจึงเป็นญาติของเคยาฟัส.
ตามข้อมูลที่ได้จากองค์การโบราณวัตถุแห่งอิสราเอล (IAA) หีบเก็บกระดูกของมิริยามถูกยึดคืนมาจากพวกขโมยที่ขโมยมาจากอุโมงค์ศพโบราณ. การวิเคราะห์วัตถุโบราณนี้และคำจารึกที่สลักอยู่บนหีบยืนยันว่าหีบนี้เป็นของแท้.
หีบเก็บกระดูกนี้ยังบอกให้เราทราบข้อมูลใหม่ด้วย. คำจารึกบนหีบนี้กล่าวถึง “มาซะยา” ซึ่งเป็นชื่อกองเวรปุโรหิตกองสุดท้ายจากจำนวนทั้งหมด 24 กอง ที่ผลัดเปลี่ยนกันรับใช้ที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. (1 โคร. 24:18) องค์การ IAA กล่าวว่าคำจารึกบนหีบนี้เผยให้ทราบว่า “ตระกูลเคยาฟัสมีความเกี่ยวข้องกับกองเวรปุโรหิตมาซะยา.”
คำจารึกยังกล่าวถึงเบทอิมรีด้วย. คำจารึกส่วนนี้อาจมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง. องค์การ IAA กล่าวว่า “ความหมายแรกที่เป็นไปได้คือ เบทอิมรีเป็นชื่อของตระกูลปุโรหิต กล่าวคือ ‘พงศ์พันธุ์อิเมร’ (เอษรา 2:36, 37; นเฮม. 7:39-42) ซึ่งลูกหลานส่วนหนึ่งของเขาเป็นสมาชิกของกองเวรปุโรหิตมาซะยา. ความหมายที่สองที่อาจเป็นไปได้คือ เบทอิมรีคือสถานที่เกิดของผู้ตาย [มิริยาม] หรือของตระกูลนางทั้งหมด.” ไม่ว่าจะอย่างไร หีบเก็บกระดูกของมิริยามให้หลักฐานที่ยืนยันว่าคัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงบุคคลและครอบครัวที่มีอยู่จริง.
^ วรรค 3 สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับหีบเก็บกระดูกของเคยาฟัส โปรดดูบทความที่ชื่อ “มหาปุโรหิตผู้กล่าวโทษพระเยซู” ในหอสังเกตการณ์ 15 มกราคม 2006 หน้า 10-13.