ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สำหรับคนที่รักพระยะโฮวา “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาสะดุดได้”

สำหรับคนที่รักพระยะโฮวา “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาสะดุดได้”

“บรรดาผู้ที่รักธรรมบัญญัติของพระองค์มีความสมบูรณ์พูนสุขอย่างมาก ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาสะดุดได้.”—เพลง. 119:165, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน

1. นักวิ่งคนหนึ่งแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเธอไม่ยอมแพ้ในการวิ่งแข่ง?

แมรี เดกเกอร์เป็นนักวิ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่เป็นวัยรุ่น. เธอเป็นตัวเก็งที่จะพิชิตเหรียญทองในการวิ่ง 3,000 เมตรที่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1984. แต่เธอวิ่งไม่ถึงเส้นชัยเพราะสะดุดขานักวิ่งอีกคนหนึ่งล้มและต้องออกจากการแข่งขันไป. เธอถูกหามออกจากลู่วิ่งในสภาพที่ได้รับบาดเจ็บและร้องไห้. แต่แมรีไม่ล้มเลิกความพยายาม. ในปี 1985 เธอกลับมาแข่งอีกและสร้างสถิติโลกใหม่สำหรับการวิ่งหนึ่งไมล์.

2. คริสเตียนแท้วิ่งแข่งแบบไหน และเราควรวิ่งอย่างไร?

2 ในฐานะคริสเตียน เราอยู่ในการวิ่งแข่งโดยนัย. เราต้องไม่ปล่อยให้สิ่งใดมาทำให้เราเลิกวิ่ง. การวิ่งแข่งของเราไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นที่ต้องอาศัยความเร็วเพื่อจะชนะ. และการวิ่งของเราไม่ใช่การวิ่งจ๊อกกิ้ง ซึ่งผู้วิ่งจะวิ่งเหยาะๆไปเรื่อยๆ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การวิ่งแข่งของคริสเตียนเป็นเหมือนการวิ่งมาราธอนซึ่งต้องใช้ความเพียรอดทนจึงจะชนะได้. อัครสาวกเปาโลใช้อุปมาอุปไมยเกี่ยวกับนักวิ่งที่วิ่งแข่งในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินท์ ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องการแข่งขันกรีฑา. ท่านเขียนว่า “ท่านทั้งหลายไม่รู้หรือว่านักวิ่งที่ลงแข่งขันต่างก็วิ่งกันทุกคน แต่มีคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัล? พวกท่านจงวิ่งอย่างที่จะเอารางวัลนั้นให้ได้.”—1 โค. 9:24

3. ใครจะชนะการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ได้?

3 คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้องวิ่งในการวิ่งแข่งโดยนัยนี้. (อ่าน 1 โครินท์ 9:25-27) รางวัลคือชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์สำหรับนักวิ่งที่เป็นผู้ถูกเจิม และชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกสำหรับนักวิ่งคนอื่นๆ. ไม่เหมือนกับการแข่งขันอื่นๆส่วนใหญ่ ทุกคนที่วิ่งในการวิ่งแข่งนี้สามารถชนะและได้รับรางวัลถ้าพวกเขาเพียรอดทนจนถึงที่สุด. (มัดธาย 24:13) ผู้เข้าแข่งขันจะแพ้ก็ต่อเมื่อเขาไม่วิ่งตามกฎ หรือวิ่งไม่ถึงเส้นชัย. นอกจากนั้น นี่เป็นการแข่งขันเดียวที่มีชีวิตนิรันดร์เป็นรางวัล.

4. ทำไมการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย?

4 การวิ่งจนถึงเส้นชัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนักวิ่งต้องมีวินัยและความมุ่งมั่น. มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่วิ่งจนถึงเส้นชัยได้โดยไม่เคยสะดุดหรือพลาดพลั้งเลย คือพระเยซูคริสต์. แต่สาวกยาโกโบเขียนไว้ว่าเหล่าสาวกของพระคริสต์ “ต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง.” (ยโก. 3:2) ความไม่สมบูรณ์ของตัวเราเองและของคนอื่นๆอาจทำให้เราช้าลงในการวิ่งแข่งหรือแม้แต่หยุดวิ่งไปชั่วระยะหนึ่ง. หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เราอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้กลับมาวิ่งแข่งต่อไป. เราไม่ควรแปลกใจที่บางครั้งเราสะดุดหรือล้มพลาด.—1 กษัต. 8:46

ถ้าคุณล้ม จงยอมรับความช่วยเหลือและลุกขึ้นมาใหม่!

หากคุณสะดุดล้ม จงลุกขึ้นมาวิ่งต่อไป

5, 6. (ก) ทำไมจึง ‘ไม่มีสิ่งใดทำให้คริสเตียนสะดุดได้’ และอะไรจะช่วยเขาให้ “ลุกขึ้น” เมื่อสะดุดล้ม? (ข) ทำไมบางคนจึงไม่ “ลุกขึ้น” เมื่อเขาสะดุดล้ม?

5 สิ่งที่เราทำเมื่อเราสะดุดหรือล้มพลาดแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน. บางคนที่สะดุดหรือล้มพลาดได้แสดงการกลับใจและรับใช้พระเจ้าต่อไป. แต่ก็มีบางคนที่ไม่ยอมกลับใจ. สุภาษิต 24:16 กล่าวว่า “แม้ว่าคนชอบธรรมล้มลงถึงเจ็ดหนเขาคงลุกขึ้นได้อีก; แต่เมื่อคนชั่วล้มลงก็ถึงความหายนะ.”

6 แม้แต่เมื่อเราสะดุดหรือล้มพลาด เราสามารถฟื้นตัวได้. ตราบใดที่เราไว้วางใจพระยะโฮวา พระองค์ทรงพร้อมจะช่วยเราเมื่อเราประสบปัญหาหรือทำผิดพลาด. พระองค์จะทรงช่วยเราให้ “ลุกขึ้น” เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าเรารักพระองค์. แต่คนชั่วไม่ต้องการ “ลุกขึ้น.” พวกเขาไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและประชาชนของพระองค์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า สำหรับคนที่รักพระบัญญัติของพระยะโฮวา “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาสะดุดได้.” นี่หมายความว่าเราสามารถลุกขึ้นมาวิ่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ได้.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 119:165

7, 8. คนที่ “ล้มลง” จะยังคงได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้าได้อย่างไร?

7 บางคนพลาดพลั้งทำผิดเล็กๆน้อยๆ และอาจหลายครั้งหลายหนด้วย เนื่องจากความอ่อนแอ.  แต่พวกเขาก็ยังคงชอบธรรมในสายพระเนตรพระยะโฮวาถ้าพวกเขา “ลุกขึ้น” เสมอ กล่าวคือกลับใจอย่างแท้จริงและพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป. เราเห็นว่าเป็นอย่างนั้นเมื่อสังเกตวิธีที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อชาติอิสราเอลโบราณ. (ยซา. 41:9, 10) สุภาษิต 24:16 ไม่ได้เน้นความผิดพลาดที่เราทำ แต่เน้นว่าพระยะโฮวาจะทรงช่วยเราให้ “ลุกขึ้น.” (อ่านยะซายา 55:7) พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ทรงเชื่อมั่นว่าเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด และพระองค์ทรงสนับสนุนเราให้ “ลุกขึ้น.”—เพลง. 86:5; โย. 5:19

8 แม้แต่ถ้านักวิ่งสะดุดหรือล้มในการวิ่งมาราธอน เขาก็มีเวลาพอที่จะวิ่งต่อไปจนถึงเส้นชัยได้ถ้าเขารีบลุก. ในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ เราไม่รู้ “วันเวลา” ที่การวิ่งแข่งนี้จะจบลง. (มัด. 24:36) ถึงกระนั้น ยิ่งเราสะดุดน้อยเท่าไรเราก็ยิ่งมีโอกาสมากเท่านั้นที่จะรักษาฝีเท้าให้สม่ำเสมอ รักษาตัวให้อยู่ในการวิ่งแข่ง และวิ่งจนถึงเส้นชัยได้สำเร็จ. ด้วยเหตุนั้น เราจะระวังไม่ให้สะดุดล้มได้อย่างไร?

สิ่งที่อาจทำให้เราสะดุด

9. เราจะพิจารณาอะไรบ้างที่อาจทำให้เราสะดุด?

9 ขอให้เรามาพิจารณาห้าสิ่งที่อาจทำให้เราสะดุด คือความอ่อนแอของตัวเราเอง ความปรารถนาของกายที่มีบาป ความไม่ยุติธรรมของเพื่อนร่วมความเชื่อ ความทุกข์ลำบากหรือการข่มเหง และข้อบกพร่องของคนอื่นๆ. แต่ขอให้จำไว้ว่า ไม่ว่าเราอาจสะดุดเพราะสิ่งใดก็ตาม พระยะโฮวาทรงอดทนอย่างยิ่ง. พระองค์ไม่ทรงด่วนตราหน้าเราว่าเป็นคนไม่ภักดี.

10, 11. ดาวิดพยายามสู้กับความอ่อนแออะไรของตัวท่านเอง?

10 ความอ่อนแอของตัวเราเอง อาจเป็นเหมือนกับหินที่ไม่ยึดเกาะกันแน่นบนพื้นถนน. ถ้าเราพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของกษัตริย์ดาวิดและอัครสาวกเปโตร เราจะสังเกตเห็นความอ่อนแอสองอย่าง คือการขาดการควบคุมตนเองและความกลัวหน้ามนุษย์.

11 บางครั้ง กษัตริย์ดาวิดไม่ได้ควบคุมตนเองดังที่เราเห็นได้จากการที่ท่านทำผิดประเวณีกับบัธเซบะ. และเมื่อถูกนาบาลดูหมิ่น ดาวิดเกือบลงมือทำอย่างหุนหันพลันแล่นเพื่อแก้แค้น. แม้ว่าบางครั้งท่านขาดการควบคุมตนเอง แต่ท่านไม่เคยเลิกพยายามในการทำสิ่งที่พระยะโฮวาพอพระทัย. โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ท่านสามารถฟื้นตัวและกลับมามีความสมดุลฝ่ายวิญญาณ.—1 ซามู. 25:5-13, 32, 33; 2 ซามู. 12:1-13

12. แม้ว่าเปโตรทำผิดพลาด ท่านยังอยู่ในการวิ่งแข่งต่อไปอย่างไร?

12 เปโตรกลัวหน้ามนุษย์ และพลาดพลั้งทำผิดร้ายแรง. แต่ท่านยังคงภักดีต่อพระเยซูและพระยะโฮวาเสมอ. ตัวอย่างเช่น ท่านปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูผู้เป็นนายของท่านถึงสามครั้ง. (ลูกา 22:54-62) ต่อมา เปโตรไม่ได้ประพฤติอย่างที่คริสเตียนควรทำ โดยปฏิบัติต่อผู้มีความเชื่อชาวต่างชาติราวกับว่าพวกเขาด้อยกว่าคริสเตียนชาวยิวที่รับสุหนัต. เปโตรมีทัศนะที่ไม่ถูกต้อง และคนอื่นๆในประชาคมอาจเลียนแบบท่านได้. ก่อนที่การกระทำของเปโตรอาจทำให้เกิดผลเสียหายต่อสายสัมพันธ์ของพี่น้อง เปาโลให้คำแนะนำท่านอย่างหนักแน่นและตรงไปตรงมา. (กลา. 2:11-14) ความหยิ่งทำให้เปโตรรู้สึกเจ็บใจจนเลิกวิ่งแข่งเพื่อชีวิตไหม? ไม่เลย. ท่านใคร่ครวญคำแนะนำของเปาโล ทำตามคำแนะนำนั้น และรุดหน้าต่อไปในการวิ่งแข่ง.

13. ความอ่อนแอด้านร่างกายของเราอาจทำให้เราสะดุดได้อย่างไร?

13 บางครั้งความอ่อนแอของตัวเราเองอาจเป็นเรื่องสุขภาพ. เรื่องนี้อาจทำให้เราสะดุดได้ด้วย. เมื่อเรามีปัญหาสุขภาพ เราอาจช้าลงในการวิ่งหรืออาจถึงกับทำให้เราหยุดวิ่งได้. ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นป่วยหนักเป็นเวลาถึง  17 ปีหลังจากที่เธอรับบัพติสมาแล้ว. เธอเริ่มหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องสุขภาพจนทำให้เธอเริ่มอ่อนแอฝ่ายวิญญาณ. ในที่สุดเธอก็เลิกทำกิจกรรมต่างๆของคริสเตียน. ผู้ปกครองสองคนไปเยี่ยมเธอ. เมื่อได้รับการหนุนใจจากผู้ปกครอง เธอเริ่มไปประชุมอีกครั้งหนึ่ง. เธอเล่าว่า “ดิฉันตื้นตันจนน้ำตาไหลเพราะพี่น้องต้อนรับดิฉันอย่างอบอุ่นมาก.” ตอนนี้ พี่น้องหญิงของเราคนนี้กลับมาวิ่งแข่งเพื่อชีวิตอีกครั้งหนึ่ง.

14, 15. เราต้องทำอะไรเมื่อมีความปรารถนาที่ไม่ถูกต้อง? จงยกตัวอย่าง.

14 ความปรารถนาของกายที่มีบาป ทำให้หลายคนพลาดพลั้งทำผิด. เมื่อถูกล่อใจอย่างนี้ เราจำเป็นต้องทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรักษาความคิดและการกระทำของเราให้สะอาดตามมาตรฐานของพระเจ้า. ขอให้ระลึกถึงคำแนะนำของพระเยซูที่ว่าถ้าตาหรือมือของเราทำให้เราทำผิด เราควรกำจัด “ทิ้งเสีย.” เราควรกำจัดความคิดและการกระทำที่ผิดศีลธรรมที่อาจทำให้เราเลิกวิ่งแข่งเพื่อชีวิต.—อ่านมัดธาย 5:29, 30

15 พี่น้องชายคนหนึ่งเขียนมาว่าเท่าที่เขาจำได้ เขาต้องต่อสู้กับความปรารถนาของตัวเองในเรื่องรักร่วมเพศมาโดยตลอด. เขากล่าวว่า “ผมรู้สึกแปลกแยกและอึดอัดเมื่ออยู่กับพี่น้อง.” เมื่ออายุ 20 ปี เขาเริ่มเป็นไพโอเนียร์ประจำและเป็นผู้ช่วยงานรับใช้ในประชาคม. ต่อมา เขาทำผิดร้ายแรง ถูกตีสอนตามหลักพระคัมภีร์ และได้รับความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง. เขาอธิษฐาน ศึกษาพระคัมภีร์ และพยายามช่วยคนอื่นๆ. ทั้งหมดนี้ช่วยเขาให้วิ่งต่อไปในการวิ่งแข่ง. เขายอมรับว่า “บางครั้ง ผมยังมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ แต่ผมไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นครอบงำผม. ผมได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาจะไม่ปล่อยให้เราถูกล่อใจเกินที่เราจะรับมือได้. ผมจึงเชื่อว่าพระเจ้าทรงคิดว่าผมทำได้.” พี่น้องคนนี้ไม่ต้องการปล่อยให้สิ่งใดก็ตามทำให้เขาออกจากการแข่งขัน. เขารู้ว่าชีวิตในโลกใหม่คุ้มค่ากับการที่เขาต้องอดทนกับสิ่งใดก็ตามในเวลานี้. เขากล่าวว่า “จนกว่าจะถึงเวลานั้น ผมจะสู้ต่อๆไป.”

16, 17. (ก) อะไรช่วยพี่น้องชายคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม? (ข) เราควรจำอะไรไว้เกี่ยวกับประชาคมเพื่อจะไม่สะดุด?

16 ความไม่ยุติธรรมของเพื่อนร่วม ความเชื่ออาจทำให้เราสะดุด. ที่ประเทศฝรั่งเศส พี่น้องคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองคิดว่าเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม. เขารู้สึกขมขื่นและเลิกเข้าร่วมการประชุมและเลิกไปประกาศ. ผู้ปกครองสองคนไปเยี่ยมเขาและฟังเขาอย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่ขัดจังหวะเมื่อเขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามมุมมองของเขา. ผู้ปกครองทั้งสองสนับสนุนเขาให้มอบภาระไว้กับพระยะโฮวาและเน้นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้พระเจ้าพอพระทัย. เขาตอบรับคำแนะนำและในไม่ช้าก็กลับเข้าสู่การวิ่งแข่งอีกครั้งหนึ่ง.

17 คริสเตียนทุกคนจำเป็นต้องเพ่งมองผู้ที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นประมุขของประชาคมคริสเตียน คือพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่เพ่งมองมนุษย์ไม่สมบูรณ์. พระเยซูผู้ทรงมีพระเนตร “ดุจเปลวไฟ” ทรงมองเห็นทุกสิ่งด้วยมุมมองที่ถูกต้องและทรงเห็นมากยิ่งกว่าที่เราเห็น. (วิ. 1:13-16) ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงรู้ว่าสิ่งที่ดูเหมือนว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเราอาจเป็นเพียงการตีความอย่างผิดๆหรือความเข้าใจผิดของเราเอง. พระเยซูทรงดูแลจัดการให้ประชาคมมีทุกสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับและในเวลาที่เหมาะสม. ด้วยเหตุนั้น เราไม่ควรปล่อยให้สิ่งที่พี่น้องคริสเตียนทำมาทำให้เราสะดุด.

18. เราจะอดทนการทดสอบต่างๆหรือสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้อย่างไร?

18 อีกสองสิ่งที่อาจทำให้เราสะดุดคือความทุกข์ลำบากหรือการข่มเหง และข้อบกพร่องของคนอื่นในประชาคม. ในอุทาหรณ์เรื่องคนหว่านเมล็ดพืช พระเยซูตรัสว่าบางคนจะสะดุดเพราะประสบ  “ความทุกข์ลำบากหรือการข่มเหง.” ครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาจทำให้เกิดความทุกข์ลำบากหรืออาจข่มเหงเราเพราะความจริง. เรื่องนี้อาจทำให้คนที่ “ไม่มีรากในตัว” หรือความเชื่ออ่อนแอสะดุดหรือเลิกรับใช้พระเจ้า. (มัด. 13:21) แต่ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระยะโฮวา ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรจะช่วยเราให้มีรากที่มั่นคงแข็งแรง. ดังนั้น เมื่อประสบความทุกข์ยากลำบาก จงใคร่ครวญสิ่งที่น่าสรรเสริญ. (อ่านฟิลิปปอย 4:6-9) เราจะอดทนการทดสอบได้โดยอาศัยกำลังที่มาจากพระยะโฮวา และไม่ปล่อยให้สถานการณ์ที่ยุ่งยากทำให้เราสะดุด.

อย่าปล่อยให้สิ่งใดมายับยั้งคุณไว้จากการวิ่งให้ถึงเส้นชัย!

19. เราจะไม่สะดุดเมื่อคนอื่นทำให้เราขุ่นเคืองได้อย่างไร?

19 น่าเสียดายที่ในช่วงหลายปีมานี้มีบางคนได้ปล่อยให้ข้อบกพร่องของคนอื่นทำให้เขาเลิกวิ่งแข่ง. ทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องที่เกี่ยวกับสติรู้สึกผิดชอบได้ทำให้หลายคนสะดุด. (1 โค. 8:12, 13) ถ้าบางคนทำให้เราขุ่นเคือง เราจะปล่อยให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ไหม? คัมภีร์ไบเบิลแนะนำคริสเตียนให้เลิกตัดสิน ให้อภัยคนอื่น และไม่ยืนกรานสิทธิของตนเอง. (ลูกา 6:37) เมื่อคุณรู้สึกขุ่นเคือง จงถามตัวเองว่า ‘ฉันกำลังตัดสินคนอื่นโดยอาศัยความชอบของตัวเองไหม? ในเมื่อรู้ว่าพี่น้องไม่สมบูรณ์ ฉันจะปล่อยให้ข้อบกพร่องของบางคนทำให้ฉันออกจากการแข่งขันไหม?’ ความรักที่มีต่อพระยะโฮวาจะช่วยเราให้ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ปล่อยให้สิ่งใดก็ตามที่คนอื่นทำมาขัดขวางเราไว้ไม่ให้วิ่งจนถึงเส้นชัย.

จงวิ่งด้วยความเพียรอดทนและระวังเพื่อจะไม่สะดุด

20, 21. คุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไรในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิต?

20 คุณตั้งใจแน่วแน่ที่จะ “วิ่งจนถึงเส้นชัย” ไหม? (2 ติโม. 4:7, 8) ถ้าอย่างนั้น คุณต้องศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือต่างๆของเรา ค้นคว้า และใคร่ครวญ เพื่อคุณจะรู้ว่ามีอะไรบ้างที่อาจทำให้คุณสะดุด. จงทูลขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ประทานกำลังความเข้มแข็งที่จำเป็นแก่คุณ. อย่าลืมว่าถ้าเราสะดุดหรือล้มพลาด เรายังสามารถกลับมาแข่งต่อและวิ่งจนถึงเส้นชัยได้. เราอาจสามารถใช้ข้อผิดพลาดของเราเป็นบทเรียนสอนเราให้วิ่งได้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ.

21 คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาการเข้าร่วมในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตนิรันดร์ว่านักวิ่งต้องออกแรงแข็งขัน ไม่ใช่อยู่เฉยๆ. การเข้าร่วมในการแข่งขันนี้ไม่เหมือนกับการขึ้นรถประจำทางที่พาทุกคนบนรถไปสู่ชัยชนะ. ในการวิ่งแข่งเพื่อชีวิตเราต้องวิ่ง ด้วยตัวเราเอง. เมื่อเราทำอย่างนั้น “สันติสุขมากมาย” จากพระยะโฮวาก็จะเป็นเหมือนกับลมที่หนุนส่งเราให้วิ่งได้ดี. (เพลง. 119:165, ล.ม.) เราสามารถเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงอวยพรเราต่อๆไปในเวลานี้ และจะทรงอวยพรทุกคนที่วิ่งแข่งจนถึงเส้นชัยตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด.—ยโก. 1:12