ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาทรงเป็นที่อาศัยของเรา

พระยะโฮวาทรงเป็นที่อาศัยของเรา

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์เป็นที่อาศัยของพวกข้าพเจ้าทุกชั่วอายุต่อๆกันมา.”—เพลง. 90:1

1, 2. ผู้รับใช้ของพระเจ้ารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับโลกนี้ และพวกเขามีบ้านเช่นไร?

 คุณรู้สึกปลอดภัยและสบายใจในโลกชั่วนี้เหมือนกับอยู่ที่บ้านไหม? ถ้าคุณไม่รู้สึกอย่างนั้น คุณก็เป็นเหมือนกับผู้รับใช้คนอื่นๆของพระยะโฮวา. นับตั้งแต่สมัยโบราณ ทุกคนที่รักพระยะโฮวาอย่างแท้จริงรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเหมือนคนแปลกหน้าหรือคนต่างด้าวในโลกนี้. ตัวอย่างเช่น หลายคนที่เป็นผู้นมัสการที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าซึ่งย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งในแผ่นดินคะนาอันต่างก็รู้สึกอย่างนั้น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพวกเขา “ประกาศอย่างเปิดเผยว่าตนเป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.”—ฮีบรู 11:13

2 เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ก็เช่นเดียวกัน พวกเขา “มีฐานะเป็นพลเมืองในสวรรค์” และถือว่าพวกเขาเองเป็น “คนต่างด้าวและผู้อาศัยชั่วคราว” ในระบบปัจจุบัน. (ฟิลิป. 3:20; 1 เป. 2:11) นอกจากนั้น “แกะอื่น” ของพระคริสต์ก็ “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือน [พระเยซู] ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.” (โย. 10:16; 17:16) อย่างไรก็ตาม ประชาชนของพระเจ้ามี “บ้าน.” บ้านที่ว่านี้ไม่ใช่บ้านที่เห็นได้ด้วยตา แต่เป็นบ้านที่ปลอดภัยที่สุดและเปี่ยมด้วยความรักที่สุดเท่าที่เราจะมีได้. บ้านดังกล่าวคืออะไร? โมเซเขียนว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ เป็นที่อาศัยของพวกข้าพเจ้าทุกชั่วอายุต่อๆกันมา.” * (เพลง. 90:1) พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัย” หรือบ้านสำหรับผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์. พระยะโฮวาทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เป็น “ที่อาศัย” สำหรับผู้รับใช้ที่ภักดีในสมัยโบราณอย่างไร? พระองค์ทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับประชาชนของพระองค์ในสมัยปัจจุบันอย่างไร? และในอนาคตพระองค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เพียงผู้เดียวทรงเป็นที่อาศัยอันมั่นคงอย่างไร?

 พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับผู้รับใช้ในสมัยโบราณ

3. บทเพลงสรรเสริญ 90:1 เปรียบพระยะโฮวากับอะไร และเพราะเหตุใด?

3 บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระยะโฮวาโดยเปรียบพระองค์กับสิ่งต่างๆที่เราสามารถมองเห็นเพื่อเราจะเข้าใจบุคลิกภาพของพระองค์ได้ดีขึ้น. ตัวอย่างเช่น บทเพลงสรรเสริญ 90:1 เปรียบพระยะโฮวาว่าทรงเป็นเหมือนกับ “ที่อาศัย” หรือบ้าน. เมื่อพูดถึงบ้าน เรานึกถึงสถานที่อันเปี่ยมด้วยความรัก สงบสุข และให้การปกป้อง. ทำไมจึงเปรียบพระยะโฮวาเหมือนกับบ้าน? คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงเป็นความรัก. (1 โย. 4:8) นอกจากนั้น พระคัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความสงบสุข และพระองค์ทรงปกป้องผู้รับใช้ของพระองค์. (เพลง. 4:8) เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้เราพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงเป็นเหมือนกับบ้านสำหรับเหล่าปฐมบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์ โดยเริ่มกับอับราฮาม.

4, 5. พระเจ้าทรงพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับอับราฮามอย่างไร?

4 อับราฮามอาจสงสัยว่าทำไมพระยะโฮวาจึงทรงบอกท่านว่า “เจ้าต้องออกจากเมืองจากญาติพี่น้อง . . . ไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้เจ้า.” แต่คำตรัสของพระยะโฮวาถัดจากนั้นคงต้องทำให้ท่านรู้สึกสบายใจขึ้นมาก ที่ว่า “เราจะให้ตระกูลของเจ้าเป็นประเทศใหญ่; เราจะอวยพรให้เจ้า, จะให้เจ้ามีชื่อเสียงใหญ่เลื่องลือไป . . . เราจะอวยพรแก่คนที่อวยพรให้เจ้า, เราจะแช่งสาปคนที่แช่งเจ้า.”—เย. 12:1-3

5 โดยตรัสอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงตั้งพระองค์เองเป็นที่อาศัยอันมั่นคงปลอดภัยสำหรับอับราฮามและลูกหลานของท่าน. (เย. 26:1-6) พระยะโฮวาทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงยับยั้งฟาโรห์แห่งอียิปต์และกษัตริย์อะบีเมเล็คแห่งเมืองฆะรารไม่ให้ฆ่าอับราฮามและแย่งชิงซาราห์ ภรรยาของท่าน. พระองค์ทรงปกป้องยิศฮาคและริบะคาด้วยวิธีคล้ายๆกัน. (เย. 12:14-20; 20:1-14; 26:6-11) พระคัมภีร์กล่าวว่า “[พระยะโฮวา] มิได้ทรงยอมให้คนใดข่มเหงเขา; จริงพระเจ้าค่ะ, พระองค์ได้ทรงทัดทานเหล่ากษัตริย์เพราะเห็นแก่เขา. ตรัสว่า ‘อย่าแตะต้องผู้ถูกเจิมของเรา, และอย่าทำร้ายแก่พวกศาสดาพยากรณ์ของเรา.’”—เพลง. 105:14, 15

“เราจะไม่ละทิ้งเจ้า”

6. ยิศฮาคบอกยาโคบให้ทำอะไร และยาโคบอาจคิดอย่างไร?

6 ผู้พยากรณ์เหล่านั้นที่พระยะโฮวาทรงคอยดูแลรวมถึงยาโคบหลานชายของอับราฮามด้วย. เมื่อถึงเวลาที่ยาโคบจะมีภรรยาแล้ว ยิศฮาคบิดาของท่านก็บอกท่านว่า “เจ้าอย่ารับหญิงชาวคะนาอันเป็นภรรยาเป็นอันขาด. จงลุกขึ้นไปยังเมืองพาดันอารำยังบ้านบะธูเอลผู้เป็นตาของเจ้า, รับบุตรสาวของลาบานพี่ชายมารดาของเจ้าเป็นภรรยา.” (เย. 28:1, 2) ยาโคบทำตามที่บิดาบอกทันที. ท่านไปจากครอบครัวในคะนาอันและเดินทางหลายร้อยกิโลเมตรไปยังฮาราน. ดูเหมือนว่าท่านเดินทางไปเพียงคนเดียว. (เย. 28:10) ท่านอาจสงสัยว่า ‘ฉันต้อง ไปนานเท่าไร? ลุงจะยินดีต้อนรับฉันและยกลูกสาวซึ่งเป็นคนที่รักพระเจ้าให้ฉันไหม?’ หากยาโคบกังวลอย่างนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความกังวลสงสัยเหล่านั้นคงหายไปสิ้นเมื่อท่านไปถึงลูศ ซึ่งอยู่ห่างจากบะเอระซาบาประมาณ 100 กิโลเมตร. เกิดอะไรขึ้นที่ลูศ?

7. พระเจ้าทรงให้กำลังใจแก่ยาโคบโดยทางความฝันอย่างไร?

7 ที่ลูศ พระยะโฮวาทรงปรากฏต่อยาโคบในความฝันและตรัสว่า “นี่แน่ะ, เมื่อเจ้าจะไปในที่ใดๆ, เราจะอยู่ด้วยเจ้า, จะปกป้องรักษาไว้, และจะพากลับมาถึงแผ่นดินนี้อีก; ด้วยเราจะไม่ละทิ้งเจ้าเสีย กว่าการที่เราได้ตรัสไว้แก่เจ้าจะสำเร็จ.” (เย. 28:15) คำตรัสอันเปี่ยมด้วยความกรุณานี้คงต้องทำให้ยาโคบมีกำลังใจมากทีเดียว! คุณนึกภาพออกไหมว่าหลังจากนั้นท่านคงจะสาวเท้าก้าวยาวๆ เดินไปอย่างกระตือรือร้นเพื่อจะได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงตามที่พระยะโฮวาทรงสัญญา? ถ้าคุณต้องจากบ้านจากครอบครัว เช่นเพื่อไปรับใช้ในต่างแดน คุณคงเข้าใจว่ายาโคบอาจกังวลในเรื่องใดบ้าง. แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณคงเห็นหลักฐานต่างๆที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาทรงคอยดูแลคุณอยู่.

8, 9. พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับยาโคบอย่างไร และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

8 เมื่อยาโคบไปถึงฮาราน ลาบานผู้เป็นลุงต้อนรับท่านอย่างอบอุ่นและในเวลาต่อมาก็ได้ยกเลอาและราเฮ็ลให้เป็นภรรยาท่าน. แต่ในภายหลังลาบานเริ่มโกงยาโคบโดยลดค่าจ้างที่ให้แก่ยาโคบถึงสิบครั้ง! (เย. 31:41, 42) ถึงกระนั้น ยาโคบอดทนรับความไม่ยุติธรรมทั้งหมดนี้ เพราะท่านไว้วางใจว่าพระยะโฮวาจะทรงดูแลท่าน. เมื่อเป็นอย่างนี้ พระยะโฮวาทรงอวยพรยาโคบ. เมื่อถึงตอนที่พระเจ้าทรงมีรับสั่งให้ยาโคบกลับไปยังคะนาอัน ท่านมี “สัตว์ฝูงใหญ่ มีคนรับใช้ชายหญิงจำนวนมาก และมีอูฐมีลาอีกมากมาย.” (เย. 30:43, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ยาโคบอธิษฐานด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างเหลือล้นว่า “ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับความกรุณาและความซื่อสัตย์ที่พระองค์ทรงโปรดประทานแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นทาสแต่เพียงเล็กน้อยที่สุด; ด้วยว่าข้าพเจ้าได้ข้ามแม่น้ำยาระเด็นนี้เมื่อมีแต่ไม้เท้า, และบัดนี้ข้าพเจ้ามีผู้คนเป็นสองพวก.”—เย. 32:10

9 ตัวอย่างที่เราได้พิจารณาไปแสดงให้เห็นว่าเป็นความจริงตามที่โมเซกล่าวไว้ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า, พระองค์เป็นที่อาศัยของพวกข้าพเจ้าทุกชั่วอายุต่อๆ กันมา”! (เพลง. 90:1) พระยะโฮวาไม่เคยเปลี่ยน. พระองค์ยังคงรัก ปกป้อง และดูแลผู้รับใช้ที่ภักดีของพระองค์ในทุกวันนี้. (ยโก. 1:17) ให้เรามาพิจารณาว่าเป็นเช่นนั้นอย่างไร.

พระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับเราในทุกวันนี้

10. ทำไมเราจึงแน่ใจได้ว่าพระยะโฮวายังคงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับผู้รับใช้ของพระองค์ในทุกวันนี้?

10 ขอให้นึกภาพว่าคุณกำลังให้การเป็นพยานในศาลเพื่อชี้ความผิดขององค์กรอาชญากรรมระดับโลก. ผู้นำขององค์กรนี้ฉลาดหลักแหลม มีอำนาจมาก อีกทั้งยังเป็นคนโกหกหลอกลวงและเป็นฆาตกรที่ไร้ความปรานี. คุณจะรู้สึกอย่างไรตอนที่ก้าวออกจากศาลเมื่อสิ้นสุดวันนั้น? คุณจะรู้สึกปลอดภัยไหม? ไม่เป็นอย่างนั้นแน่ๆ! ที่จริง คุณมีเหตุผลที่ดีที่จะร้องขอให้ตำรวจช่วยคุ้มครองคุณ. ฉากเหตุการณ์สมมุตินี้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของผู้รับใช้พระยะโฮวาที่เป็นพยานอย่างกล้าหาญสนับสนุนพระยะโฮวาและเปิดโปงซาตาน ศัตรูผู้ชั่วร้ายของพระองค์ อย่างไม่หวั่นกลัว. (อ่านวิวรณ์ 12:17) แต่ซาตานสามารถทำให้ประชาชนของพระเจ้าเงียบเสียงไหม? ไม่เลย! ที่จริง เรายังคงประกาศต่อๆไปแก่ผู้คนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? มีคำอธิบายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือเพราะพระยะโฮวาทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับเรา โดยเฉพาะในสมัยสุดท้ายนี้. (อ่านยะซายา 54:14, 17) แต่พระยะโฮวาจะเป็น “ที่อาศัย” สำหรับเราต่อๆไปได้ก็ต่อเมื่อเราไม่ปล่อยให้ซาตานหลอกลวงเรา.

ทูตสวรรค์ของพระเจ้าสนับสนุนและปกป้องคุ้มครองผู้รับใช้ของพระองค์

11. เราเรียนอะไรได้อีกจากเหล่าปฐมบรรพบุรุษ?

11 อีกครั้งหนึ่ง ขอให้เราเรียนรู้อีกสิ่งหนึ่งจากอับราฮาม ยิศฮาค และยาโคบ. แม้ว่าปฐมบรรพบุรุษเหล่านี้อาศัยในแผ่นดินคะนาอัน แต่พวกท่าน แยกอยู่ต่างหากจากประชาชนในแผ่นดินนั้นเสมอ และเกลียดชังวิถีชีวิตที่ผิดศีลธรรมของพวกเขา. (เย. 27:46) พวกท่านใช้หลักการเป็นเครื่องชี้นำและไม่จำเป็นต้องมีกฎระเบียบมากมายเพื่อจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก. พวกท่านรู้ว่าพระยะโฮวาทรงรักอะไรและเกลียดอะไร. ดังนั้น พวกท่านทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อจะไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลก. ช่างเป็นตัวอย่างที่ดีจริงๆสำหรับพวกเรา! คุณพยายามจริงๆที่จะเลียนแบบผู้รับใช้ที่ภักดีเหล่านี้ของพระยะโฮวาไหม? คุณแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้โดยเลือกเพื่อนและความบันเทิงอย่างระมัดระวังไหม? น่าเสียดาย ยังมีบางแง่มุมในโลกของซาตานที่คริสเตียนบางคนรู้สึกว่ายอมรับได้. ถ้าคุณรู้สึกอย่างนั้นแม้เพียงเล็กน้อย จงอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวา. จำไว้ว่าโลกนี้เป็นของซาตาน และมันเห็นแก่ตัวและไม่สนใจสวัสดิภาพของเราเลย.—2 โค. 4:4; เอเฟ. 2:1, 2

12. (ก) พระยะโฮวาประทานความช่วยเหลืออะไรแก่ผู้รับใช้ของพระองค์? (ข) คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่พระยะโฮวาประทานแก่เรา?

12 หากเราไม่ต้องการจะถูกซาตานหลอก เราจำเป็นต้องรับประโยชน์จากความช่วยเหลือทุกอย่างที่พระยะโฮวาประทานแก่ผู้รับใช้ของพระองค์. ตัวอย่างเช่น พระองค์ประทานความช่วยเหลือแก่เราโดยทางการประชุมคริสเตียน การนมัสการประจำครอบครัว และผู้ปกครองที่ให้กำลังใจและสนับสนุนเราเพื่อช่วยเราให้รับมือปัญหาต่างๆในชีวิตได้. (เอเฟ. 4:8-12) บราเดอร์จอร์จ แกนกัส ซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการปกครองเป็นเวลาหลายปี เคยเขียนไว้ว่า “เมื่อผมอยู่ในหมู่ [ประชาชนของพระเจ้า] ผมรู้สึกสบายใจเหมือนอยู่กับครอบครัว.” คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม?

13. เราได้บทเรียนสำคัญอะไรจากฮีบรู 11:13?

13 คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของเหล่าปฐมบรรพบุรุษที่น่าเลียนแบบคือพวกท่านพร้อมที่จะแตกต่างจากผู้คนที่อยู่รอบข้าง. ดังที่ได้อ่านแล้ว ข้อ 1 ของบทความนี้ พวกท่าน “ประกาศอย่างเปิดเผย ว่าตนเป็นคนแปลกหน้าและเป็นคนอาศัยชั่วคราวในแผ่นดินนั้น.” (ฮีบรู 11:13) คุณแสดงให้เห็นว่าคุณแตกต่างจากผู้คนในโลกนี้ไหม? จริงอยู่ การทำอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป. แต่ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าและการสนับสนุนจากเพื่อนคริสเตียน คุณสามารถทำได้. จำไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวตามลำพัง. ทุกคน ที่ต้องการรับใช้พระยะโฮวาต้องต่อสู้กับซาตานและโลกของมัน! (เอเฟ. 6:12) ถึงกระนั้น เราจะชนะการต่อสู้นี้ได้ถ้าเราไว้วางใจพระยะโฮวาและให้พระองค์เป็นที่อาศัยอันมั่นคงของเรา.

14. อับราฮามคอยท่า “เมือง” อะไร?

14 เราควรเลียนแบบอับราฮามและคิดถึงบำเหน็จที่จะได้รับเสมอ. (2 โค. 4:18) อัครสาวกเปาโลเขียนว่าอับราฮาม “คอยท่าเมืองที่มีฐานรากแท้ ซึ่งผู้ก่อและผู้สร้างคือพระเจ้า.” (ฮีบรู 11:10) “เมือง” ดังกล่าวคือราชอาณาจักรของพระเจ้า.  แน่นอน อับราฮามจำเป็นต้องคอยท่า “เมือง” นี้. ในแง่หนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องคอยท่าเมืองนี้. ตอนนี้ราชอาณาจักรกำลังปกครองอยู่แล้วในสวรรค์. นอกจากนั้น มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆที่ยืนยันว่าในไม่ช้าราชอาณาจักรจะปกครองแผ่นดินโลกทั้งหมด. คุณดำเนินชีวิตอย่างที่แสดงว่าคุณเชื่อในเรื่องราชอาณาจักรจริงๆไหม? คุณให้ราชอาณาจักรมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในชีวิตและแยกตัวต่างหากจากโลกนี้ไหม?—อ่าน 2 เปโตร 3:11, 12

พระยะโฮวาจะยังคงเป็น “ที่อาศัย” ของเราต่อๆไป

15. อนาคตของคนที่ไว้วางใจระบบโลกในปัจจุบันจะเป็นเช่นไร?

15 ขณะที่โลกของซาตานใกล้จะถึงอวสาน “ความทุกข์ปวดร้าว” จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ. (มัด. 24:7, 8) และเมื่อความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นขึ้น ชีวิตจะลำบากยิ่งขึ้นไปอีก. ทั่วทั้งโลกจะมีการทำลายและความสับสนวุ่นวาย และผู้คนจะหวาดผวา. (ฮบา. 3:16, 17) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพวกเขาจะท้อแท้สิ้นหวังและหาที่ปกป้องคุ้มภัยราวกับหาที่หลบภัย “ในถ้ำและโขดหินตามภูเขา.” (วิ. 6:15-17) แต่ไม่มีถ้ำหรือองค์การต่างๆทางการเมืองและการค้าที่ใหญ่โตเหมือนภูเขาจะช่วยปกป้องพวกเขาได้.

16. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อประชาคมคริสเตียน และเพราะเหตุใด?

16 พระยะโฮวาจะทรงดูแลเราให้ปลอดภัยในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่. เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์ฮะบาฆูค เราจะ “ยินดีอยู่ในพระเจ้าผู้ช่วยให้รอดของ [เรา].” (ฮบา. 3:18) พระยะโฮวาจะทรงปกป้องคุ้มครองเราอย่างไรในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้น? เราจะต้องรอดูกันต่อไป. แต่เรามั่นใจได้ว่าประชาชนของพระยะโฮวาจะยังคงได้รับการจัดระเบียบและได้รับคำแนะนำจากพระองค์ เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลที่ออกจากอียิปต์. (วิ. 7:9; อ่านเอ็กโซโด 13:18) พระยะโฮวาจะประทานคำแนะนำเหล่านี้อย่างไร? พระองค์อาจบอกเราผ่านทางประชาคมว่าเราต้องทำอะไร. ยะซายา 26:20 (ล.ม.) กล่าวถึง “ห้องชั้นใน” ที่จะปกป้องประชาชนของพระเจ้า. ห้องเหล่านี้อาจหมายถึงประชาคมต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลก. (อ่านยะซายา 26:20) คุณเห็นคุณค่าการประชุมประจำประชาคมไหม? คุณทำตามการชี้นำของพระยะโฮวาที่ประทานผ่านทางประชาคมทันทีไหม?—ฮีบรู 13:17

17. แม้แต่ผู้รับใช้ที่ภักดีที่ตายไปแล้วก็ยังมีพระยะโฮวาเป็น “ที่อาศัย” ของพวกเขาอย่างไร?

17 แม้แต่คนที่ซื่อสัตย์ซึ่งเสียชีวิตก่อนความทุกข์ลำบากใหญ่เริ่มต้นก็จะมั่นคงปลอดภัยโดยมีพระยะโฮวาเป็น “ที่อาศัย” ของพวกเขา. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? พระองค์จะทรงปลุกพวกเขาให้เป็นขึ้นจากตาย. หลังจากที่อับราฮาม ยิศฮาค และยาโคบเสียชีวิตไปนานแล้ว พระยะโฮวาทรงบอกโมเซว่าพระองค์ยังคงเป็นพระเจ้าของพวกท่าน. (เอ็ก. 3:6) พระเยซูทรงยกคำตรัสนั้นขึ้นมาแล้วตรัสเสริมว่า “พระองค์มิได้เป็นพระเจ้าของคนตาย แต่เป็นพระเจ้าของคนเป็น เพราะว่าสำหรับพระองค์ พวกเขาทุกคนล้วนมีชีวิตอยู่.” (ลูกา 20:38) การปลุกผู้รับใช้ที่ภักดีของพระยะโฮวาให้เป็นขึ้นจากตายเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจนพระยะโฮวาทรงมองพวกเขาราวกับว่ายังมีชีวิตอยู่.—ผู้ป. 7:1

18. พระยะโฮวาจะทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับประชาชนของพระองค์ในโลกใหม่อย่างไร?

18 ในโลกใหม่ พระยะโฮวาจะทรงเป็น “ที่อาศัย” สำหรับประชาชนของพระองค์ในวิธีพิเศษ. วิวรณ์ 21:3 กล่าวว่า “ดูเถิด! พลับพลาของพระเจ้าอยู่กับมนุษย์และพระองค์จะสถิตกับพวกเขา.” พระยะโฮวาจะทรงใช้พระเยซูคริสต์ให้ปกครองเหนือโลกนี้เป็นเวลาหนึ่งพันปี. เมื่อสิ้นสุดหนึ่งพันปีนี้แล้ว พระเยซูจะทรงมอบราชอาณาจักรคืนแก่พระยะโฮวาหลังจากที่ได้ทำให้พระประสงค์สำหรับแผ่นดินโลกสำเร็จครบถ้วนแล้ว. (1 โค. 15:28) หลังจากนั้น มนุษย์ที่สมบูรณ์จะไม่จำเป็นต้องมีพระเยซูเป็นผู้กลางอีกต่อไป. พระยะโฮวาจะทรงปกครองมนุษย์โดยตรง. ช่างเป็นความหวังอันยอดเยี่ยมจริงๆที่รอเราอยู่! ดังนั้น ในระหว่างนี้ขอให้เราพยายามเลียนแบบผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ในสมัยอดีตด้วยการทำให้พระยะโฮวาเป็น “ที่อาศัย” ของเรา.

^ วรรค 2 ฉบับแปลคอนเทมโพรารี อิงลิช (ภาษาอังกฤษ) แปลบทเพลงสรรเสริญ 90:1 ว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเป็นบ้านของข้าพระองค์ทั้งหลายตลอดทุกชั่วอายุ.”