ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงเห็นค่าคุณลักษณะของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่

จงเห็นค่าคุณลักษณะของพระยะโฮวาอย่างเต็มที่

“จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้าเพราะท่านเป็นบุตรที่รักของพระองค์.”—เอเฟ. 5:1

1. (ก) คุณคิดถึงคุณลักษณะอะไรของพระยะโฮวา? (ข) การศึกษาคุณลักษณะของพระเจ้าจะช่วยคุณอย่างไร?

เมื่อพูดถึงคุณลักษณะของพระยะโฮวา คุณคิดถึงอะไร? หลายคนคิดถึงความรัก ความยุติธรรม สติปัญญา และฤทธิ์อำนาจ. แต่เรารู้ว่าพระยะโฮวาทรงมีคุณลักษณะอันยอดเยี่ยมอื่นๆอีกมากมาย. ที่จริง มีการพิจารณาคุณลักษณะต่างๆของพระยะโฮวามากกว่า 40 ประการในหนังสือของเรา. ลองนึกภาพดูว่าคุณจะได้เรียนรู้มากขนาดไหนเกี่ยวกับพระยะโฮวาถ้าคุณศึกษาคุณลักษณะเหล่านี้ในการศึกษาส่วนตัวหรือในการศึกษากับครอบครัว! คุณจะเห็นค่าคุณลักษณะของพระองค์มากยิ่งขึ้น. เมื่อเป็นอย่างนั้น คุณก็จะมีความปรารถนามากขึ้นที่จะเลียนแบบพระยะโฮวาและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับพระองค์.—ยโฮ. 23:8, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน; เพลง. 73:28

2. (ก) จงยกตัวอย่างที่แสดงว่าการศึกษาคุณลักษณะของพระยะโฮวาจะช่วยเราให้เห็นค่าคุณลักษณะเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น. (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้และในสองบทความถัดไป?

2 คุณจะเห็นคุณค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้นได้อย่างไร? สมมุติว่าคุณกำลังจะลองชิมอาหารที่ยังไม่เคยกินมาก่อน. ในตอนแรก คุณสังเกตว่าอาหารนั้นมีกลิ่นหอมน่ากิน. แล้วคุณก็ลองชิมและเห็นว่าอาหารนั้นมีรสชาติดี. ในที่สุด คุณก็ลงมือทำอาหารนั้นเอง. คล้ายกัน เราเห็นค่าคุณลักษณะของพระยะโฮวามากขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์ แล้วใคร่ครวญว่าพระยะโฮวาทรงแสดงคุณลักษณะนั้นอย่างไร และในที่สุดก็เลียนแบบคุณลักษณะนั้นในชีวิตของเราเอง. (เอเฟ. 5:1) บทความนี้กับอีกสองบทความถัดไปจะพิจารณาคุณลักษณะบางอย่างของพระยะโฮวา. เมื่อศึกษาคุณลักษณะแต่ละอย่าง เราจะพิจารณาว่า คุณลักษณะนั้นหมายถึงอะไร? พระยะโฮวาทรงแสดงคุณลักษณะนั้นอย่างไร?  และเราจะเลียนแบบพระยะโฮวาในการแสดงคุณลักษณะนั้นได้อย่างไร?

พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย

3, 4. (ก) การเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายหมายถึงอะไร? (ข) พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่าย?

3 ให้เราพิจารณากันก่อนว่าการเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายหมายถึงอะไร. คนที่เข้าหาได้ง่ายคือคนที่กรุณา คุยด้วยได้ง่าย และไม่เคยยุ่งเกินไปที่จะคุยกับคนอื่น. คุณมักจะมองออกว่าใครเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายหรือยากจากการฟังสิ่งที่เขาพูดและสังเกตกิริยาท่าที ตลอดจนสีหน้าท่าทางของเขา.

4 พระยะโฮวาทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายไหม? แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างผู้ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งในเอกภพ พระองค์ทรงเชิญเราให้อธิษฐานถึงพระองค์. พระองค์ทรงฟังคำอธิษฐานของเราและประทานความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เรา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 145:18; ยะซายา 30:18, 19) เราสามารถพูดกับพระเจ้าที่ไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ และนานขนาดไหนก็ได้. พระองค์ไม่เคยรำคาญที่เราเข้าเฝ้าพระองค์และพูดกับพระองค์. (เพลง. 65:2; ยโก. 1:5) พระคำของพระเจ้าพรรณนาถึงพระยะโฮวาโดยใช้ถ้อยคำที่มนุษย์เข้าใจได้ซึ่งทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะอธิษฐานถึงพระองค์. ตัวอย่างเช่น ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “พระเนตรพระยะโฮวาเพ่งดู” เรา และ “พระหัตถ์เบื้องขวาของพระองค์ทรงพยุง” เราไว้. (เพลง. 34:15; 63:8) ผู้พยากรณ์ยะซายาห์เปรียบพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับผู้เลี้ยงแกะโดยกล่าวว่า “พระองค์จะทรงอุ้มลูกแกะไว้ในพระพาหุ, และจะกอดไว้ในพระทรวง.” (ยซา. 40:11) คิดดูสิ! พระยะโฮวาทรงประสงค์ให้เราใกล้ชิดพระองค์เหมือนลูกแกะตัวเล็กๆในอ้อมกอดของผู้เลี้ยงแกะที่ห่วงใย. เมื่อเราคิดถึงพระบิดาของเราแบบนี้ เราก็จะรักพระองค์มากยิ่งขึ้น! เราจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไรในแง่นี้?

 คุณลักษณะที่มีค่าอย่างยิ่ง

5. ทำไมจึงสำคัญที่ผู้ปกครองต้องเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย?

5 เมื่อไม่นานมานี้ มีการถามพยานฯบางคนในส่วนต่างๆของโลกว่า “คุณคิดว่าคุณลักษณะอะไรของผู้ปกครองที่มีค่ามากที่สุด?” ส่วนใหญ่ตอบว่า “การเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย.” จริงอยู่ คริสเตียนทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะนี้ให้มากขึ้น แต่นับว่าสำคัญเป็นพิเศษที่ผู้ปกครองจะพัฒนาคุณลักษณะนี้. (ยซา. 32:1, 2) ทำไมจึงสำคัญมากที่ผู้ปกครองจะเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย? พี่น้องหญิงคนหนึ่งกล่าวว่าผู้ปกครองต้องเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายเธอจึงจะรู้ได้ว่าเขามีคุณลักษณะที่ดีอะไรบ้าง. คำพูดดังกล่าวเป็นความจริงอย่างแน่นอน. ดังนั้น คุณจะทำให้คนอื่นรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับคุณได้อย่างไร?

6. ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายคืออะไร?

6 ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ปกครองเป็นคนที่เข้าหาได้ง่ายคือการสนใจผู้อื่นอย่างแท้จริงและพร้อมที่จะช่วย. เมื่อเป็นอย่างนั้น พี่น้องในประชาคมรวมทั้งเยาวชนด้วยก็จะรู้สึกสบายใจยิ่งขึ้นที่จะคุยกับผู้ปกครอง. (มโก. 10:13-16) เด็กอายุ 12 ปีคนหนึ่งชื่อคาร์ลอสกล่าวว่า “ผู้ปกครองที่หอประชุมยิ้มแย้มและใจดี. ผมชอบที่ผู้ปกครองเป็นอย่างนี้.” ดังนั้น ไม่พอที่ผู้ปกครองจะเพียงแต่พูด ว่าเขายินดีฟังและพร้อมจะช่วยเหลือ. เขาต้องทำจริงๆ. (1 โย. 3:18) เขาจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

7. ทำไมบางคนอยากคุยกับเราเมื่อเราติดบัตรการประชุมภาค และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

7 ขอให้คิดเปรียบเทียบกับประสบการณ์ต่อไปนี้: เมื่อไม่นานมานี้ พี่น้องชายคนหนึ่งติดบัตรการประชุมภาคตอนที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านด้วยเครื่องบินหลังจากเข้าร่วมการประชุมภาคในต่างประเทศ. เมื่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนหนึ่งเห็นบัตรนี้ซึ่งเขียนว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาเถิด!” เขาก็คุยกับพี่น้องเกี่ยวกับเรื่องราชอาณาจักรและยินดีรับวารสารของเรา. ทำไมผู้คนรู้สึกอยากคุยกับเราเมื่อเราติดบัตรการประชุมภาค? นั่นเป็นเพราะบัตรนี้ทำให้คนอื่นอยากรู้ว่าเรากำลังจะไปที่ไหน และบัตรนี้แสดงให้เห็น ว่าเรายินดีคุยกับพวกเขาในเรื่องความเชื่อของเรา. คล้ายกัน ผู้ปกครองต้องแสดงให้เห็น อยู่เสมอว่าเขาพร้อมจะคุยกับพี่น้อง. ผู้ปกครองจะแสดงให้เห็นโดยวิธีใด?

8. ผู้ปกครองจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสนใจคนอื่นจริงๆได้อย่างไร และการทำอย่างนี้ทำให้พี่น้องในประชาคมรู้สึกอย่างไร?

8 ขนบธรรมเนียมในแต่ละประเทศแตกต่างกัน แต่ตามปกติแล้วเมื่อเรายิ้มให้พี่น้อง ไหว้ หรือกล่าวคำทักทายอย่างเป็นกันเอง เรากำลังส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่าเราสนใจพวกเขาอย่างแท้จริง. ใครควรทำอย่างนี้ก่อน? ขอให้สังเกตตัวอย่างที่พระเยซูทรงวางไว้. มัดธายรายงานว่าในการประชุมครั้งหนึ่งกับเหล่าสาวก “พระเยซูทรงเข้ามาหาแล้วตรัสกับพวกเขา.” (มัด. 28:18) เช่นเดียวกัน ผู้ปกครองในสมัยปัจจุบันพยายามเข้าไปหาพี่น้องและพูดกับพวกเขา. การทำอย่างนี้ทำให้พี่น้องในประชาคมรู้สึกอย่างไร? พี่น้องหญิงไพโอเนียร์คนหนึ่งซึ่งอายุ 88 ปีแล้วกล่าวว่า “รอยยิ้มที่อบอุ่นและคำพูดที่ให้กำลังใจที่ผู้ปกครองพูดกับดิฉันตอนเดินเข้าหอประชุมทำให้ดิฉันรักพวกเขามาก.” พี่น้องหญิงที่ซื่อสัตย์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อผู้ปกครองต้อนรับดิฉันด้วยรอยยิ้ม นั่นมีความหมายต่อดิฉันมากเลยทีเดียว.”

กันเวลาไว้พูดคุยกับพี่น้องเสมอ

9, 10. (ก) พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างที่ดีไว้ให้เราเลียนแบบอย่างไร? (ข) ผู้ปกครองจะทำตามแบบอย่างของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

 9 หากเราต้องการให้คนอื่นรู้สึกสะดวกใจที่จะคุยกับเรา เราต้องมีเวลาให้พวกเขา. พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้. “พระองค์ไม่ได้อยู่ไกลจากเราทุกคนเลย.” (กิจ. 17:27) วิธีหนึ่ง ที่ผู้ปกครองจะเลียนแบบพระยะโฮวาได้ก็คือโดยกันเวลาไว้พูดคุยกับพี่น้องทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ก่อนและหลังการประชุม. ไพโอเนียร์คนหนึ่งบอกว่า “เมื่อผู้ปกครองถามผมว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้วก็ฟังผมตอบ ผมรู้สึกว่าตัวเองมีค่า.” พี่น้องหญิงคนหนึ่งซึ่งรับใช้พระยะโฮวามาเกือบ 50 ปีแสดงความคิดเห็นว่า “ผู้ปกครองที่มีเวลาให้ดิฉันและพูดคุยด้วยหลังการประชุมทำให้ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองมีค่า.”

10 จริงอยู่ ผู้ปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบหลายอย่าง. แต่ที่การประชุม พวกเขาควรกันเวลาไว้พูดคุยกับพี่น้องเสมอ.

พระยะโฮวาไม่ทรงลำเอียง

11, 12. (ก) ความไม่ลำเอียงหมายถึงอะไร? (ข) คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระยะโฮวาไม่ทรงลำเอียง?

11 คุณลักษณะอันยอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งของพระยะโฮวาคือความไม่ลำเอียง. (กิจ. 10:34) ความไม่ลำเอียงหมายถึงอะไร? ความไม่ลำเอียงหมายถึงการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีอคติ ไม่เลือกหน้า และไม่เลือกที่รักมักที่ชัง. แต่ถ้าเราอยากปฏิบัติ ต่อคนอื่นอย่างไม่ลำเอียง ก่อนอื่นเราต้องเชื่อ ว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน. คนที่ไม่ลำเอียงจะไม่ปฏิบัติต่อคนหนึ่งดีกว่าอีกคนหนึ่งเนื่องจากคนนั้นมีรูปลักษณ์ภายนอกหรือฐานะทางการเงินดีกว่า.

12 พระยะโฮวาทรงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องความไม่ลำเอียง. พระคำของพระองค์บอกว่าพระองค์ “ไม่ทรงลำเอียง” และพระองค์ “มิได้เห็นแก่บุคคลผู้ใด.” (อ่านกิจการ 10:34, 35; พระบัญญัติ 10:17) ให้เรามาพิจารณาตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างนั้น.

ลูกสาวของซัพฮาดรู้สึกขอบคุณที่พระเจ้าไม่ทรงลำเอียง (ดูข้อ 13, 14)

13, 14. (ก) มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับลูกสาวห้าคนของซัพฮาด? (ข) พระยะโฮวาทรงแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระองค์ไม่ทรงลำเอียง?

 13 ก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเข้าสู่แผ่นดินที่ทรงสัญญา ลูกสาวห้าคนของซัพฮาดมีปัญหาที่ต้องจัดการ. ปัญหาอะไร? พ่อของพวกเธอเสียชีวิต และพวกเธอไม่สามารถรับที่ดินของพ่อเป็นมรดก. ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าเฉพาะลูกชายเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับที่ดินเป็นมรดก. แต่พ่อของพวกเธอตายไปโดยไม่มีลูกชายเลย. (อาฤ. 26:33, 52-55) ในเมื่อเป็นอย่างนี้ ต้องยกที่ดินนั้นให้ญาติคนอื่นและลูกสาวไม่สามารถได้รับที่ดินเป็นมรดกอย่างนั้นไหม?

14 ลูกสาวของซัพฮาดเข้าพบโมเซและถามว่า “ทำไมให้นามชื่อของบิดาเราเสื่อมสูญเสียจากท่ามกลางครอบครัวของท่าน, เพราะท่านไม่มีลูกชาย?” พวกเธอวิงวอนโมเซว่า “ขอให้เรามีที่ท่ามกลางวงศ์ญาติบิดาของเรา.” โมเซตอบไหมว่า ‘กฎหมายบอกไว้อย่างนั้น ข้าช่วยอะไรพวกเจ้าไม่ได้’? ไม่เลย ท่าน “นำถ้อยคำของเขามากราบทูลพระยะโฮวา.” (อาฤ.  27:2-5) พระยะโฮวาทรงตอบอย่างไร? พระองค์ทรงบอกโมเซว่า “บุตรหญิงทั้งหลายของซลัพฮาต [ซัพฮาด] ก็ว่าถูกแล้ว, เจ้าจงให้เขามีสำหรับของเขา ณ ท่ามกลางวงศ์ญาติบิดาของเขา, เจ้าจงมอบมรดกของบิดาให้แก่เขาทั้งหลาย.” พระยะโฮวาไม่ได้ทำเพียงแค่นั้น. พระองค์ทรงเปลี่ยนข้อยกเว้นดังกล่าวให้เป็นกฎโดยสั่งโมเซว่า “ถ้าชายผู้ใดตายไม่มีบุตรชายก็มอบมรดกของผู้นั้นให้แก่บุตรหญิงของเขา.” (อาฤ. 27:6-8; ยโฮ. 17:1-6) นับแต่นั้นมา ผู้หญิงชาวอิสราเอลทั้งหลายที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันนี้จึงได้รับมรดกตามที่ควรจะได้รับ.

15. (ก) พระยะโฮวาทรงปฏิบัติอย่างไรต่อประชาชนของพระองค์รวมทั้งคนที่อยู่ในสภาพที่เสียเปรียบคนอื่น? (ข) มีเรื่องใดอีกในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าพระยะโฮวาไม่ทรงลำเอียง?

15 นั่นนับว่าเป็นการตัดสินที่ไม่ลำเอียงอย่างแท้จริง! ไม่มีใครอีกแล้วที่จะช่วยพี่น้องห้าคนนี้ได้ และพระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อพวกเธออย่างเท่าเทียมและให้เกียรติพวกเธอ เหมือนกับที่พระองค์ทรงปฏิบัติต่อชาวอิสราเอลคนอื่นๆทั้งหมด. (เพลง. 68:5) ยังมีอีกหลายเรื่องที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าพระยะโฮวาทรงปฏิบัติต่อประชาชนของพระองค์อย่างเท่าเทียมและไม่ลำเอียง.—1 ซามู. 16:1-13; กิจ. 10:30-35, 44-48

เราเลียนแบบพระยะโฮวาได้

16. เราจะเลียนแบบความไม่ลำเอียงของพระยะโฮวาได้อย่างไร?

16 เราจะเลียนแบบความไม่ลำเอียงของพระยะโฮวาได้อย่างไร? ขอให้จำไว้ว่าเราจะปฏิบัติ ต่อคนอื่นอย่างไม่ลำเอียงได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อ ว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน. แต่บางครั้งอาจเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าความรู้สึกที่เรามีต่อผู้อื่นนั้นเป็นอย่างไร. ดังนั้น คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณไม่ลำเอียงจริงๆไหม? พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีไว้. เมื่อพระองค์ทรงต้องการรู้ว่าผู้คนพูดอย่างไรเกี่ยวกับพระองค์ พระองค์ถามสหายที่พระองค์ทรงไว้ใจว่า “ผู้คนพูดกันว่าบุตรมนุษย์เป็นผู้ใด?” (มัด. 16:13, 14) คุณอาจเลือกเพื่อนคนหนึ่งที่คุณรู้ว่าเขาจะตอบคุณอย่างตรงไปตรงมาและถามเขาว่า ‘คุณคิดว่าฉันปฏิบัติต่อคนอื่นๆอย่างเท่าเทียมกันไหม? คนอื่นคิดว่าฉันเป็นคนไม่ลำเอียงไหม?’ เขาอาจบอกคุณว่าบางครั้งคุณปฏิบัติต่อคนชาติหนึ่งดีกว่าคนชาติอื่นๆ หรือคุณปฏิบัติต่อคนรวยหรือคนที่มีการศึกษาสูงดีกว่าที่ปฏิบัติต่อคนอื่นๆ. หากเป็นอย่างนั้น คุณควรทำอะไร? คุณควรอธิษฐานถึงพระยะโฮวาและวิงวอนขอพระองค์ช่วยคุณให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อจะสามารถเลียนแบบความไม่ลำเอียงของพระองค์ได้ดียิ่งขึ้น.—มัด. 7:7; โกโล. 3:10, 11

17. เราจะปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างไม่ลำเอียงได้โดยวิธีใดบ้าง?

 17 ในประชาคมคริสเตียน เราสามารถเลียนแบบพระยะโฮวาได้โดยปฏิบัติต่อทุกคน ด้วยความนับถือและกรุณา. ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเชิญพี่น้องมาที่บ้าน คุณอาจเชิญคนที่มีภูมิหลังแตกต่างจากคุณ รวมทั้งพี่น้องที่ยากจน คนที่คู่สมรสเสียชีวิต หรือคนหนุ่มสาวที่ครอบครัวไม่อยู่ในความจริง. (อ่านกาลาเทีย 2:10; ยาโกโบ 1:27) ในงานประกาศ เราพูดคุยกับคนทุกชนิด รวมทั้งคนที่มาจากประเทศอื่น. องค์การของพระยะโฮวาจัดพิมพ์หนังสือในภาษาต่างๆประมาณ 600 ภาษา. เรามีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะแสดงว่าเราไม่ลำเอียง!

18. การใคร่ครวญคุณลักษณะของพระยะโฮวาที่ทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายและไม่ลำเอียงจะทำให้คุณอยากทำอะไร?

18 ยิ่งเราใคร่ครวญคุณลักษณะของพระยะโฮวาที่ทรงเป็นผู้ที่เข้าหาได้ง่ายและไม่ลำเอียงมากเท่าไร เราก็จะยิ่งเห็นค่าคุณลักษณะทั้งสองนี้มากขึ้น. นั่นจะทำให้เราอยากเลียนแบบพระยะโฮวาและแสดงคุณลักษณะทั้งสองอย่างนี้ให้มากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติต่อพี่น้องและต่อคนที่เราพบในงานประกาศ.

“พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ใกล้คนทั้งปวงที่ทูลต่อพระองค์.”—เพลง. 145:18 (ดูข้อ 9)

“พระยะโฮวาพระเจ้า . . . มิได้เห็นแก่บุคคลผู้ใด.”—บัญ. 10:17 (ดูข้อ 17)