ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ช่วยพี่น้องให้รับใช้สุดความสามารถของเขา

ช่วยพี่น้องให้รับใช้สุดความสามารถของเขา

“เราจะให้คำปรึกษาและเฝ้าดูเจ้า”—เพลง. 32:8, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย

1, 2. พระยะโฮวามองผู้รับใช้ของพระองค์แต่ละคนอย่างไร?

เมื่อพ่อแม่เห็นลูกเล็ก ๆ เล่นและทำบางสิ่งบางอย่างได้เขามักจะตื่นเต้นดีใจ คุณที่เป็นพ่อแม่ก็คงจะปลาบปลื้มกับความสามารถในตัวลูก ๆ ของคุณเหมือนกัน เด็กบางคนชอบเล่นกีฬาและเขาก็เล่นได้ดี ส่วนเด็กคนอื่น ๆ วาดรูปเก่งหรือชอบประดิดประดอย แน่นอน พ่อแม่ทุกคนคงอยากช่วยลูกให้ใช้ความสามารถหรือพรสวรรค์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่

2 เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่รักลูก พระยะโฮวาสนใจผู้รับใช้ของพระองค์และถือว่าพวกเขามีค่าโดยเฉพาะคนที่ซื่อสัตย์ภักดีต่อพระองค์ (ฮาฆี 2:7) คุณอาจสังเกตว่าพี่น้องแต่ละคนมีความสามารถและพรสวรรค์แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น พี่น้องชายบางคนบรรยายได้ดี บางคนจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดี พี่น้องหญิงหลายคนมักเรียนภาษาต่างประเทศได้เร็ว ส่วนบางคนก็ชอบดูแลคนป่วยและให้กำลังใจคนอื่นได้ดี (โรม 16:1, 12) เราทุกคนรู้สึกขอบคุณพระยะโฮวาที่มีพี่น้องเหล่านี้อยู่ในประชาคม

3. คำถามอะไรที่เราจะได้คำตอบในบทความนี้?

 3 พี่น้องบางคนโดยเฉพาะหนุ่มสาวและพี่น้องที่เพิ่งรับบัพติสมาใหม่ ๆ อาจรู้สึกว่าเขายังทำอะไรได้ไม่มากในประชาคม เราจะช่วยพวกเขาให้รับใช้สุดความสามารถได้อย่างไร? และทำไมเราควรเลียนแบบพระยะโฮวาในการมองหาข้อดีของพี่น้องของเรา?

พระยะโฮวามองเห็นข้อดีในตัวเรา

4, 5. พระยะโฮวาเห็นอะไรในตัวกิดโอน และเราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้?

4 ในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า พระยะโฮวาไม่เพียงแต่เห็นข้อดีในตัวผู้รับใช้ของพระองค์ แต่เห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวพวกเขาด้วย ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระยะโฮวาเลือกกิดโอนให้ช่วยชาวอิสราเอลพ้นจากศัตรูชาวมิดยาน กิดโอนรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยและถึงกับตกใจเมื่อทูตสวรรค์มาบอกเขาว่า “นักรบผู้เกรียงไกรเอ๋ย องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับท่าน” (วินิจ. 6:12, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) กิดโอนไม่เคยคิดเลยว่าเขาเองเป็น “นักรบผู้เกรียงไกร” เขาคิดว่าเขาไม่สามารถช่วยประชาชนของพระเจ้าได้ แต่พระยะโฮวาไม่ได้คิดอย่างนั้น พระองค์มั่นใจว่ากิดโอนทำได้พระองค์จึงใช้เขา—อ่านวินิจฉัย 6:11-16

5 พระยะโฮวามั่นใจในกิดโอน เพราะพระองค์เห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขา ตัวอย่างเช่น พระองค์เห็นตอนที่กิดโอนตีและเตรียมข้าวสาลีซึ่งแสดงว่าเขาเป็นคนทุ่มเทกำลังทั้งหมดในการทำงาน นอกจากนั้น โดยปกติแล้วเขาทำงานในไร่ในสวน แต่กิดโอนกลับนวดข้าวสาลีอยู่ในบ่อย่ำองุ่นเพื่อไม่ให้พวกมิดยานเห็นและมาขโมยไป พระยะโฮวาเห็นว่ากิดโอนไม่ใช่แค่คนขยันแต่เป็นคนฉลาดที่เข้าใจสถานการณ์และรู้จักหลบหลีกจากอันตรายได้ดี ใช่แล้ว พระยะโฮวาเห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ของกิดโอนและพระองค์ฝึกฝนเขา

6, 7. (ก) พระยะโฮวามองอาโมศต่างจากชาวอิสราเอลบางคนมองอย่างไร? (ข) เรารู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาเลือกถูกคน?

6 พระยะโฮวาเห็นความสามารถในตัวของอาโมศผู้ส่งข่าวด้วยเหมือนกัน หลายคนอาจมองว่าอาโมศเป็นคนเงียบ ๆ และต่ำต้อย อาโมศเป็นแค่คนเลี้ยงแกะและทำสวน แต่พระยะโฮวาบอกให้อาโมศไปแก้ไขชาติอิสราเอลสิบตระกูลที่ไม่ได้นมัสการพระองค์ ชาวอิสราเอลบางคนอาจคิดว่าพระยะโฮวาเลือกคนผิด ทำไมพวกเขาคิดอย่างนั้น?—อ่านอาโมศ 7:14, 15

7 ถึงแม้อาโมศมาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกล แต่อาโมศก็รู้จักธรรมเนียมและรู้เรื่องคนใหญ่คนโตหลายคนที่อยู่โดยรอบเป็นอย่างดี เป็นไปได้ว่าเขาอาจได้ยินเรื่องเหล่านั้นจากคนที่เดินทางมาติดต่อค้าขายที่หมู่บ้านของเขา ตัวอย่างเช่น อาโมศรู้เรื่องชาติต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ และสภาพการณ์ของชาติอิสราเอลเป็นอย่างดี (อาโมศ 1:6, 9, 11, 13; 2:8; 6:4-6) นอกจากนั้น อาโมศเป็นนักเขียน เขาจึงสามารถเตือนชาติต่าง ๆ โดยใช้คำง่าย ๆ แต่มีพลัง พระยะโฮวาเลือกถูกคนจริง ๆ เพราะในที่สุดอาโมศไม่กลัวที่จะต่อว่าอามาซิยาปุโรหิตที่ชั่วร้าย พระองค์เห็นความสามารถของอาโมศแม้คนอื่นไม่เห็นก็ตาม—อาโมศ 7:12, 13, 16, 17

8. (ก) พระยะโฮวาสัญญาอะไรกับดาวิด? (ข) บทเพลงสรรเสริญ 32:8 ให้กำลังใจคนที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองอย่างไร?

8 พระยะโฮวาเห็นความสามารถในตัวผู้รับใช้ของพระองค์ทุกคนด้วยและพระองค์อยากช่วยเราทุกคนให้ใช้ความสามารถนั้นอย่างเต็มที่ เราเห็นได้จากตัวอย่างของดาวิด พระยะโฮวาสัญญากับเขาว่าจะแนะนำและ ให้คำปรึกษาที่จำเป็นแก่ดาวิดเสมอ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 32:8, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) * เรื่องนี้ให้กำลังใจเราอย่างไร? แม้เราไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองแต่พระยะโฮวาจะช่วยเราให้ทำได้ดีกว่าที่เราคิด พระองค์เป็นเหมือนครูที่ค่อย ๆ สอนนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ให้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบ พระยะโฮวาจะช่วยเราให้ใช้ความสามารถที่เรามีให้ดีที่สุด และพระองค์อาจใช้พี่น้องของเราเพื่อช่วยเรา พระองค์จะทำอย่างนั้นโดยวิธีใด?

มองหาข้อดีในตัวพี่น้อง

9. เราจะทำอย่างไรเพื่อแสดงว่าเราสนใจและ “ห่วง” เรื่องของพี่น้อง?

9 เปาโลกระตุ้นเราทุกคนให้สนใจและ “ห่วง” เรื่องของพี่น้องด้วย (อ่านฟิลิปปอย 2:3, 4) คำแนะนำนี้หมายความว่าอย่างไร? เราต้องพยายามสังเกตข้อดีของพี่น้องและชมเชยเขา ลองคิดดูว่าเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนเห็นสิ่งดี ๆ ที่เราทำได้และชมเชยเรา เราคงอยากทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และถ้าเราสังเกตเห็นความพยายามของพี่น้องและชมเชยเขาก็จะทำให้เขามีกำลังใจที่จะรับใช้พระยะโฮวาให้ดีขึ้นต่อ ๆ ไป

10. เราควรใส่ใจใครเป็นพิเศษ?

10 เราทุกคนชอบที่มีคนมาใส่ใจเรา พี่น้องหนุ่มสาวและพี่น้องที่รับบัพติสมาใหม่จะดีใจที่รู้ว่ามีคนใส่ใจเขา เขาจะรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมและรู้ว่าตัวเองมีค่า พระคัมภีร์กระตุ้นพี่น้องเหล่านี้ให้พยายามพัฒนาตัวเองเพื่อมีคุณสมบัติที่จะได้ทำหน้าที่มากขึ้นในประชาคม (1 ติโม. 3:1) ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่ใส่ใจหรือไม่เห็นค่างานที่พี่น้องทำ พวกเขาก็อาจไม่มีกำลังใจที่จะรับใช้พระยะโฮวามากขึ้น

11. (ก) ผู้ดูแลคนหนึ่งทำอย่างไรเพื่อช่วยพี่น้องชายให้ก้าวหน้า? (ข) คุณเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของชูเลียง?

11 ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อลูโดวิกบอกว่าถ้าเราสนใจพี่น้องจริง ๆ พวกเขาก็จะก้าวหน้าเร็วขึ้น เราเห็นเรื่องนี้ได้จากตัวอย่างของชูเลียงพี่น้องชายที่ขี้อายคนหนึ่ง ลูโดวิกเล่าว่า “ตอนที่ชูเลียงอาสาช่วยเหลือพี่น้องในประชาคม เขากลับดูเงอะงะไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่ผมสังเกตว่าจริง ๆ แล้วชูเลียงมีน้ำใจดีและชอบช่วยเหลือคนอื่น แทนที่ผมจะสงสัยว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น ผมมองหาข้อดีของเขาและให้กำลังใจเขา” ผลเป็นอย่างไร? ชูเลียงมีคุณสมบัติเป็นผู้ช่วยงานรับใช้และเป็นไพโอเนียร์ประจำ

ช่วยพี่น้องให้รับใช้สุดความสามารถของเขา

12. เราต้องทำอะไรเพื่อช่วยพี่น้องให้รับใช้สุดความสามารถของเขา? ขอยกตัวอย่าง

12 ถ้าเราอยากช่วยพี่น้องให้รับใช้สุดความสามารถ เราต้องคอยสังเกตว่ามีอะไรบ้างที่เขาทำได้ดี เราต้องไม่เพ่งไปที่ข้ออ่อนแอของเขาแต่ต้องมองข้อดีและความสามารถของเขา เราเห็นได้จากวิธีที่พระเยซูมองเปโตร ในตอนนั้นเปโตรดูเหมือนพึ่งพาไม่ได้ แต่พระเยซูเห็นข้อดีของเขาและยืนยันว่าเขาจะมั่นคงแข็งแกร่งเหมือนหิน—โย. 1:42

13, 14. (ก) บาร์นาบัสมองมาระโกอย่างไร? (ข) อะเล็กซองเดรได้รับประโยชน์อะไรเมื่อผู้ดูแลช่วยเขา? (ดูภาพแรก)

13 ขอเราดูอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างบาร์นาบัสกับมาระโก (กิจ. 12:25) ตอนนั้นมาระโกต้องอยู่ดูแลเปาโลกับบาร์นาบัสในช่วงที่พวกเขาเดินทางเป็นมิชชันนารีรอบแรก แต่เมื่อถึงเมืองปัมฟีเลีย มาระโกกลับทิ้งพวกเขาให้เดินทางตามลำพังในเขตที่อันตราย (กิจ. 13: 5, 13) บาร์นาบัสทำอะไรหลังเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น? เขายังมองข้อดีของมาระโกไม่ใช่ข้ออ่อนแอ บาร์นาบัสไม่ได้มองว่ามาระโกไว้ใจไม่ได้ แต่เขาฝึกมาระโกจนในที่สุดมาระโกเป็นพี่น้องที่เข้มแข็ง (กิจ. 15:37-39) หลายปีหลังจากนั้น มาระโกไปช่วยเปาโลตอนที่ติดคุกอยู่ในกรุงโรม และตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องในเมืองโกโลซายเขาเองก็ชมเชยมาระโก (โกโล. 4:10) ลองคิดดูว่า บาร์นาบัสจะรู้สึกดีใจขนาดไหนเมื่อรู้ว่าเปาโลยังอยากให้มาระโกช่วยเหลือเขาอยู่—2 ติโม. 4:11

14 ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่ออะเล็กซองเดรจำได้ดีถึงวิธีที่พี่น้องเคยช่วยเขา เขาเล่าว่า “ตอนเป็นวัยรุ่นผมรู้สึกว่ายากมากที่ต้องอธิษฐานต่อหน้าคนเยอะ ๆ แต่ผู้ดูแลช่วยผมให้รู้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรและบอกด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ตื่นเต้นเกินไปเมื่ออธิษฐาน แทนที่จะไม่ให้ผมอธิษฐานเลยเขากลับให้ผมอธิษฐานหลังการประชุมเพื่อการประกาศบ่อย ๆ การทำอย่างนี้ช่วยให้ผมรู้สึกมั่นใจมากขึ้น”

15. เปาโลแสดงอย่างไรว่าเขาเห็นข้อดีของพี่น้อง?

15 คุณจะแสดงออกอย่างไรเมื่อเห็นข้อดีของพี่น้อง? คุณชมเชยเขาไหม? ในหนังสือโรมบท 16 เปาโลพูดถึงข้อดีของพี่น้องมากกว่า 20 คน (โรม 16:3-7, 13) ตัวอย่างเช่น เปาโลชมเชยอันโดรนิคุสกับยูนีอัสที่รับใช้อย่างอดทนและซื่อสัตย์มานานกว่าเขาเสียอีก นอกจากนั้น เปาโลยังพูดถึงแม่ของรูโฟสที่เคยดูแลเขาด้วยความรักอีกด้วย

16. อาจเกิดผลดีอะไรเมื่อเราชมเชยคนหนุ่มสาว?

16 การที่เราชมเชยพี่น้องก็เกิดผลดีด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ชื่อรีโก เขาต้องอยู่กับพ่อที่ไม่ได้เป็นพยานรีโกท้อใจเพราะพ่อไม่ยอมให้เขารับบัพติสมา เขากลัวว่าจะต้องรอจนเป็นผู้ใหญ่ถึงจะรับบัพติสมาได้ และเขายังต้องถูกเพื่อนที่โรงเรียนเยาะเย้ย แต่ผู้ดูแลคนหนึ่งที่ชื่อเฟรเดริกชมเชยเขาและบอกว่าการที่เขายังประกาศต่อไปทั้ง ๆ ที่ถูกต่อต้านแสดงว่าเขาเป็นคนกล้าหาญ ผลเป็นอย่างไร? คำชมเชยนี้ทำให้รีโกมีกำลังใจที่จะอดทนมากขึ้น เขาเข้ากับพ่อได้ดีขึ้นและในที่สุดก็รับบัพติสมาตอนอายุ 12 ปี

17. (ก) เราจะช่วยพี่น้องของเราให้รับใช้พระยะโฮวาอย่างดีที่สุดได้อย่างไร? (ข) มิชชันนารีคนหนึ่งเคยช่วยพี่น้องหนุ่มอย่างไร? และผลเป็นอย่างไร?

17 ทุกครั้งที่เราชมพี่น้อง พวกเขาจะยิ่งรู้สึกอยากรับใช้พระยะโฮวาให้ดีที่สุด ซีลวีรับใช้ในเบเธลประเทศฝรั่งเศสมาหลายปีบอกว่าพี่น้องหญิงก็ชมเชยพี่น้องชายได้ด้วย เธอรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำอย่างนั้น * (สุภา. 3:27) หลายครั้ง พี่น้องหญิงมักสังเกตราย ละเอียดมากกว่า ดังนั้น เมื่อชมเชยพี่น้องชาย พวกเธอมักจะชมในจุดดีอื่น ๆ ที่พี่น้องชายมองไม่เห็น เชโรมมิชชันนารีในเฟรนช์เกียนาได้ช่วยพี่น้องหนุ่มหลายคนให้ตั้งเป้าที่จะเป็นมิชชันนารี เขาบอกว่าเมื่อเขาชมพี่น้องหนุ่มเหล่านั้นอย่างเจาะจงในจุดที่เขาทำได้ดีในงานรับใช้ หรือเมื่อออกความคิดเห็นในหอประชุม พวกเขาจะมั่นใจมากขึ้นและจะพัฒนาความสามารถมากขึ้น

18. ทำไมเราควรทำงานรับใช้กับพี่น้องหนุ่ม?

18 อีกวิธีหนึ่งที่เราจะช่วยพี่น้องให้ก้าวหน้าขึ้นก็คือ ทำงานรับใช้กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลอาจขอพี่น้องหนุ่มให้พิมพ์บทความจากเว็บไซต์ jw.org ให้กับพี่น้องสูงอายุที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือคุณอาจขอพี่น้องหนุ่มให้ช่วยคุณทำความสะอาดและซ่อมแซมหอประชุม เมื่อคุณพยายามทำงานกับพวกเขา คุณจะเห็นความสามารถในตัวเขา ชมเชยเขา และรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไร—สุภา. 15:23

วางแผนสำหรับอนาคต

19, 20. ทำไมเราควรช่วยพี่น้องหนุ่มให้มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่ในองค์การ?

19 พระยะโฮวาเลือกยะโฮซูอะให้นำชาติอิสราเอล ในตอนนั้น พระเจ้าสั่งโมเซให้ฝึกยะโฮซูอะและ “ให้กำลังใจเขาและช่วยให้เขาเข้มแข็ง” (อ่านพระบัญญัติ 3:28, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) * ทุกวันนี้มีคนใหม่ ๆ ในองค์การของพระยะโฮวามากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องมีพี่น้องชายที่มีคุณสมบัตินำหน้าในองค์การของพระเจ้ามากขึ้น ดังนั้น พวกเราทุกคน ในประชาคมต้องช่วยเหลือคนหนุ่มและพี่น้องชายที่เพิ่งรับบัพติสมาใหม่ให้รับใช้สุดความสามารถของเขา การทำอย่างนี้จะช่วยให้มีคนตัดสินใจรับใช้เต็มเวลามากขึ้น และจะทำให้มีพี่น้องชายมากขึ้นมี “คุณสมบัติเหมาะสมที่จะสอน”—2 ติโม. 2:2

20 ไม่ว่าเราจะอยู่ในประชาคมใหญ่ซึ่งมีพี่น้องชายหลายคนที่มีประสบการณ์มากอยู่แล้วหรืออยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ก็ตาม เราต้องช่วยพี่น้องหนุ่มทุกคน เพราะพวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญสำหรับองค์การของพระเจ้าในอนาคต เพื่อจะทำแบบนี้ได้ เราต้องเลียนแบบพระยะโฮวาและมองหาข้อดีในตัวพวกเขา

^ วรรค 8 บทเพลงสรรเสริญ 32:8 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ): “เราจะสอนและชี้แนะทางที่เจ้าควรเดินไป เราจะให้คำปรึกษาและเฝ้าดูเจ้า”

^ วรรค 17 ชื่อสมมุติ

^ วรรค 19 พระบัญญัติ 3:28 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ): “แต่จงมอบหมายงานให้โยชูวา [ยะโฮซูอะ] จงให้กำลังใจเขาและช่วยให้เขาเข้มแข็งขึ้นเพราะเขาจะนำประชากรข้ามไปครอบครองดินแดนที่เจ้าจะเห็น”