เทลอาราดเป็นพยานโดยไร้ถ้อยคำ
เทลอาราดเป็นพยานโดยไร้ถ้อยคำ
เมืองที่สาบสูญ. วิหารลึกลับ. คำจารึกโบราณมากมาย. ทั้งหมดนี้อาจฟังเหมือนเป็นเค้าโครงของหนังผจญภัยเรื่องหนึ่ง. อันที่จริง สิ่งทั้งหมดนี้และมากกว่านี้อีกได้ซ่อนอยู่ใต้ทรายซึ่งทับถมเป็นชั้น ๆ ในทะเลทรายที่เทลอาราด ประเทศอิสราเอลมานานหลายศตวรรษ จนกระทั่งนักโบราณคดีเริ่มขุดค้นในบริเวณนี้.
ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมากมายนึกถึงเทลอาราดฐานะเป็นเมืองแบบอิสราเอลทั่วไป. เมืองที่มีประชากร 27,000 คนนี้ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารยูเดียทางตะวันตกของทะเลเดดซี. แต่เมืองอาราดของอิสราเอลโบราณตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกราวแปดกิโลเมตร. ณ ที่นี่นักโบราณคดีได้ขุดทรายออกเป็นชั้น ๆ และได้พบซากสิ่งก่อสร้างและคำจารึกโบราณมากมาย.
มีการพบคำจารึกเหล่านี้บนเศษภาชนะดินเผาซึ่งใช้เป็นกระดานสำหรับเขียน. นี่เป็นวิธีการเขียนที่ทำกันทั่วไปในสมัยคัมภีร์ไบเบิล. มีการกล่าวถึงแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีที่เทลอาราดว่าเป็นแหล่งที่พบเศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มากที่สุดในอิสราเอล. แต่การขุดค้นทางโบราณคดีนี้มีคุณค่าอะไร?
สิ่งต่าง ๆ ซึ่งค้นพบที่เทลอาราดมีอายุครอบคลุมช่วงเวลายาวนานในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล ตั้งแต่สมัยของผู้วินิจฉัยแห่งอิสราเอลจนถึงบาบิโลนมารุกรานยูดาห์ในปี 607 ก่อนสากลศักราช. ดังนั้น สิ่งที่ได้ค้นพบนี้ช่วยยืนยันความถูกต้องเป็นจริงของคัมภีร์ไบเบิลและยังเป็นตัวอย่างที่ให้ความกระจ่างในเรื่องทัศนะที่ผู้คนในอิสราเอลโบราณมีต่อการใช้พระนามเฉพาะของพระเจ้าด้วย.
อาราดและคัมภีร์ไบเบิล
จริงอยู่ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงอาราดค่อนข้างน้อย. แต่เมืองที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะแห่งนี้เคยควบคุมเส้นทางการค้าที่สำคัญ. ฉะนั้น ไม่แปลกใจเลยที่บันทึกทางประวัติศาสตร์และการค้นพบทางโบราณคดีต่าง ๆ บ่งชี้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์ที่มีทั้งเรื่องดีและร้าย โบราณสถานแห่งนี้ได้
ถูกยึดครอง, ทำลาย, และสร้างขึ้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า. การสร้างเมืองขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทำให้ดินบริเวณนี้นูนสูงขึ้นจนมีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่หรือเทลล์.คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงอาราดครั้งแรก เมื่อพูดถึงการเดินทางในช่วงท้ายของชาวอิสราเอลซึ่งรอนแรมอยู่ในถิ่นทุรกันดารนาน 40 ปี. หลังจากอาโรน พี่ชายของโมเซสิ้นชีวิตได้ไม่นาน ประชาชนของพระเจ้าได้ผ่านไปใกล้ชายแดนทางใต้ของแผ่นดินตามคำสัญญา. ดูเหมือนว่ากษัตริย์ชาวคะนาอันแห่งเมืองอาราดคิดว่าพวกที่รอนแรมในถิ่นทุรกันดารนี้เป็นเป้าที่จะจัดการได้ง่าย. เขาจึงลงมือโจมตี. ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาพระเจ้า ชาวอิสราเอลต่อสู้อย่างกล้าหาญ ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด และทำลายเมืองอาราดจนราบคาบ แม้จะมีหลักฐานว่ามีผู้รอดชีวิตอยู่บ้าง.—อาฤธโม 21:1-3.
ชาวคะนาอันสร้างเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะเพียงไม่กี่ปีให้หลัง เมื่อยะโฮซูอะมาถึงบริเวณนี้หลังจากบุกเข้ามาทางเหนือและพิชิตชาวคะนาอันมาเรื่อย ๆ โดยล้างผลาญพวกเขาให้สูญไปจาก “แดนเทือกเขาที่เนเกบ” หนึ่งในศัตรูที่ได้รบสู้กับท่านคือ “กษัตริย์อาราด.” (ยะโฮซูอะ 10:40, ฉบับแปลใหม่; 12:14) ต่อมา ลูกหลานของโฮบาบชาวเคนี ซึ่งเคยตั้งค่ายอยู่กับชาวอิสราเอลและช่วยเหลือพวกเขาในถิ่นทุรกันดารก็ได้ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้ของเนเกบ.—วินิจฉัย 1:16.
การค้นพบทางโบราณคดี
ซากปรักหักพังที่เทลอาราดได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิลช่วงหลังจากนั้นด้วย. ตัวอย่างเช่น นักโบราณคดีได้พบป้อมปราการที่ซ้อนกันหลายชั้น. บางชั้นอาจมีอายุย้อนไปถึงสมัยกษัตริย์โซโลมอน ผู้เป็นที่รู้จักเนื่องจากโครงการก่อสร้างเมืองต่าง ๆ มากมาย. (1 กษัตริย์ 9:15-19) ชั้นหนึ่งของซากปราการแห่งนี้ให้หลักฐานว่าเคยมีการทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยไฟและมีอายุย้อนไปถึงตอนต้นศตวรรษที่สิบก่อน ส.ศ. ซึ่งก็จะเป็นราว ๆ ช่วงที่กษัตริย์ซีซัคแห่งอียิปต์ยกทัพมารุกรานยูดาห์ หลังจากโซโลมอนสิ้นพระชนม์เพียงห้าปี. ที่เมืองคาร์นักทางใต้ของอียิปต์ มีภาพสลักนูนบนกำแพงเป็นอนุสรณ์ถึงการรุกรานในครั้งนั้นและมีชื่ออาราดอยู่ในรายชื่อเมืองต่าง ๆ ที่ถูกพิชิต.—2 โครนิกา 12:1-4.
นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งที่เศษภาชนะดินเผาหลายชิ้นจากประมาณ 200 ชิ้นที่มีการขุดพบมีชื่อภาษาฮีบรูซึ่งพบในคัมภีร์ไบเบิลด้วย เช่น ปัศฮูร, มะเรโมธ, และบุตรของโครา. เอกสารนอกคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้บางส่วนน่าสนใจเป็นพิเศษเพราะมีพระนามเฉพาะของพระเจ้าปรากฏอยู่ด้วย. นามเฉพาะนี้ที่ประกอบด้วยอักษรฮีบรูสี่ตัว יהוה (ยฮวฮ) ซึ่งบ่อยครั้งเรียกว่า เททรากรัมมาทอน เป็นชื่อเฉพาะที่ใช้กับพระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ใหญ่ยิ่งองค์เดียวเท่านั้น. ต่อมาภายหลัง การเชื่อโชคลางได้ทำให้คนมากมายเชื่อว่าการออกเสียงหรือเขียนพระนามของพระเจ้าเป็นการหมิ่นประมาทพระองค์. อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับในที่อื่น ๆ หลายแห่ง สิ่งที่พบในเทลอาราดยืนยันว่าในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้พระนามของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน, ในการทักทาย, และในการอวยพร. ตัวอย่างเช่น คำจารึกหนึ่งอ่านว่า “ถึงเอลยาชิบ นายข้า. ขอพระยาห์เวห์ [ยะโฮวา] ทรงห่วงใยสวัสดิภาพของท่าน. . . . เขาพำนักอยู่ในวิหารแห่งพระยาห์เวห์.”
แล้วจะว่าอย่างไรกับวิหารลึกลับที่กล่าวถึงในตอนต้น? ซากสิ่งก่อสร้างแห่งหนึ่งในเทลอาราดซึ่งมีการคาดเดากันไปต่าง ๆ นานาคือวิหารหลังหนึ่งพร้อมด้วยแท่นบูชาจากยุค
ที่กษัตริย์เชื้อวงศ์ยูดาห์ปกครอง. แม้ว่าวิหารแห่งนี้จะเล็กกว่าพระวิหารของโซโลมอนในกรุงเยรูซาเลมมาก แต่ก็มีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน. ทำไมจึงมีการสร้างวิหารนี้ที่เทลอาราดและสร้างขึ้นเมื่อไร? มีการใช้วิหารนี้เพื่ออะไร? เหล่านักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้แต่คาดเดาเท่านั้น.พระยะโฮวาตรัสสั่งอย่างชัดเจนว่าพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลมเป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวที่พระองค์ทรงยอมรับในการฉลองเทศกาลประจำปีและการถวายเครื่องบูชา. (พระบัญญัติ 12:5; 2 โครนิกา 7:12) ด้วยเหตุนี้ วิหารที่อาราดจึงถูกสร้างขึ้นและใช้อย่างที่ขัดต่อพระบัญญัติของพระเจ้า บางทีอาจเป็นในยุคที่แท่นบูชาและพิธีกรรมต่าง ๆ ทำให้ผู้คนหลงไปจากการนมัสการอันบริสุทธิ์. (ยะเอศเคล 6:13) หากเป็นเช่นนั้นจริง ศูนย์กลางการนมัสการที่จอมปลอมแห่งนี้คงได้ถูกทำลายในช่วงการฟื้นฟูอย่างถอนรากถอนโคนโดยกษัตริย์ฮีศคียาหรือโยซียาระหว่างศตวรรษที่แปดและเจ็ดก่อน ส.ศ.—2 โครนิกา 31:1; 34:3-5, 33.
เห็นได้ชัดว่า อดีตส่วนเล็ก ๆ ของอาราดที่ยังหลงเหลืออยู่มีบทเรียนสำคัญหลายเรื่องสำหรับเรา. ภายใต้ผืนทรายที่ทับถมกันมานานหลายศตวรรษ สิ่งต่าง ๆ ได้ปรากฏขึ้นมายืนยันความถูกต้องของคัมภีร์ไบเบิล ให้หลักฐานถึงความรุ่งเรืองและเสื่อมลงของการนมัสการเท็จอันเสื่อมทราม และให้ตัวอย่างของการใช้พระนามของพระเจ้าด้วยความนับถือในชีวิตประจำวัน.
[แผนที่หน้า 23]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เยรูซาเลม
ทะเลเดดซี
อาราด
เทลอาราด
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 24]
รายละเอียดของภาพสลักนูนบนกำแพงที่เมืองคาร์นัก ประเทศอียิปต์
[ที่มาของภาพ]
Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.
[ภาพหน้า 25]
ส่วนหนึ่งของคำจารึกนี้อ่านว่า “ขอพระยาห์เวห์ [ยะโฮวา] ทรงห่วงใยสวัสดิภาพของท่าน”
[ที่มาของภาพ]
Photograph © Israel Museum, Jerusalem; courtesy of Israel Antiquities Authority
[ภาพหน้า 25]
ส่วนหนึ่งของวิหารที่เทลอาราด
[ภาพหน้า 25]
ทิวทัศน์บริเวณป้อมปราการเทลอาราดเมื่อมองจากด้านตะวันออก
[ที่มาของภาพหน้า 25]
Todd Bolen/Bible Places.com