พยานพระยะโฮวาเป็นต้นเหตุให้ชีวิตสมรสพังทลายไหม?
พยานพระยะโฮวาเป็นต้นเหตุให้ชีวิตสมรสพังทลายไหม?
“ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนศาสนา ชีวิตสมรสจะพังทลาย.” หลายคนกล่าวอ้างเช่นนี้. บางครั้งมีคนพูดอย่างนี้เพื่อเตือนสามีหรือภรรยาที่เลือกจะเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวา. แต่คำกล่าวอ้างเช่นนั้นเป็นความจริงเสมอไหม?
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเมื่อคนที่แต่งงานแล้วเริ่มสนใจศาสนาหรือเปลี่ยนศาสนาที่เคยยึดถือมานาน ผู้ที่เป็นคู่สมรสอาจตกใจมาก และอาจรู้สึกกังวลใจ ผิดหวัง หรือถึงกับขุ่นเคืองด้วยซ้ำ.
บ่อยครั้งภรรยามักเป็นฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนศาสนาก่อนสามี. ถ้าภรรยาของคุณกำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา เรื่องนี้อาจมีผลกระทบต่อชีวิตสมรสของคุณอย่างไร? ถ้าคุณเป็นภรรยาที่กำลังศึกษากับพยานพระยะโฮวา คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคู่สมรสให้คลายความกังวลใจ?
มุมมองของสามีคนหนึ่ง
มาร์ก ซึ่งอยู่ในออสเตรเลียแต่งงานได้ 12 ปีตอนที่ภรรยาของเขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. มาร์กบอกว่า “ผมมีชีวิตแต่งงานที่มีความสุขและมีอาชีพการงานที่น่าพอใจ. ชีวิตของผมราบรื่นดี. แต่แล้วภรรยาของผมก็ตัดสินใจศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา. ในตอนนั้นเองผมก็รู้สึกว่ารูปแบบชีวิตของผมกำลังจะเปลี่ยนไป. ตอนแรกผมแค่ไม่สบายใจที่เห็นภรรยาเริ่มสนใจคัมภีร์ไบเบิล แต่พอเธอบอกผมว่าเธอตัดสินใจจะรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา ผมก็รู้สึกกังวลใจมาก.”
มาร์กเริ่มกลัวว่าความเชื่อใหม่ของภรรยาจะทำให้ชีวิตสมรสของเขาสิ้นสุดลง. เขาคิดจะบอกให้เธอเลิกศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและห้ามไม่ให้เธอติดต่อกับพยานฯอีก. แต่แทนที่จะทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น มาร์กปล่อยให้เวลาผ่านไประยะหนึ่ง. เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตสมรสของเขา?
มาร์กบอกว่า “ผมดีใจจริง ๆ ที่เรามีสายสมรสที่แน่นแฟ้นกว่าเดิม. ชีวิตสมรสของเรายังดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ที่ภรรยาของผมรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว.” อะไรช่วยให้ชีวิตสมรสของพวกเขาประสบความสำเร็จ? มาร์กกล่าวว่า “เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าส่วนใหญ่แล้ว
เป็นเพราะภรรยาของผมทำตามคำแนะนำที่ดีในคัมภีร์ไบเบิล. เธอพยายามปฏิบัติต่อผมด้วยความนับถือเสมอ.”คำแนะนำจากภรรยาที่ประสบความสำเร็จ
ถ้าคุณเป็นภรรยาที่กำลังศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคู่สมรสที่อาจวิตกกังวลให้รู้สึกสบายใจขึ้น? ลองพิจารณาความเห็นของผู้หญิงต่อไปนี้ซึ่งมาจากหลายส่วนของโลก.
ซากิโกะ จากญี่ปุ่นบอกว่า “ดิฉันแต่งงานมา 31 ปีและมีลูกสามคน. ดิฉันเป็นพยานพระยะโฮวามา 22 ปี. บางครั้งการอยู่กับสามีที่มีความเชื่อต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย. แต่ดิฉันพยายามอย่างหนักที่จะใช้คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลที่ให้ ‘ไวในการฟัง ช้าในการพูด ช้าในการโกรธ.’ (ยาโกโบ 1:19) ดิฉันพยายามแสดงความกรุณาต่อสามีและยอมตามใจเขาในเรื่องที่ไม่ขัดกับหลักการของคัมภีร์ไบเบิล. การทำอย่างนี้ช่วยให้ชีวิตสมรสของเราประสบความสำเร็จ.”
นัดเยชดา จากรัสเซียบอกว่า “ดิฉันแต่งงานมา 28 ปีและรับบัพติสมาเป็นพยานฯมา 16 ปี. ก่อนจะมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ดิฉันไม่ได้คิดว่าสามีควรเป็นประมุขของครอบครัว. ดิฉันชอบตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง. แต่ดิฉันค่อย ๆ พบว่า การนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ช่วยให้ครอบครัวของเราสงบสุขและมีความสุข. (1 โครินท์ 11:3) ทีละเล็กทีเล็กน้อยดิฉันรู้สึกว่าการยอมอยู่ใต้อำนาจสามีเป็นเรื่องง่ายขึ้น และสามีก็สังเกตว่าดิฉันเปลี่ยนไปในเรื่องเหล่านี้.”
มาร์ลี จากบราซิลบอกว่า “ดิฉันมีลูกสองคนและแต่งงานมา 21 ปีแล้ว. ดิฉันรับบัพติสมาเป็นพยานฯเมื่อสิบหกปีที่แล้ว. ดิฉันได้เรียนรู้ว่าพระยะโฮวาพระเจ้าทรงประสงค์ให้คู่สมรสอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่แยกกันอยู่. ดิฉันจึงพยายามจะเป็นภรรยาที่ดีและประพฤติตัวแบบที่พระเจ้าพอพระทัยและทำให้สามีมีความสุข.”
ลาริสา จากรัสเซียบอกว่า “ตอนที่ดิฉันมาเป็นพยานพระยะโฮวาเมื่อประมาณ 19 ปีก่อน ดิฉันรู้ดีว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือดิฉันต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต. สามีสังเกตได้ว่าคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ดิฉันเป็นภรรยาที่ดีขึ้นและเห็นคุณค่าของเขามากขึ้น. ตอนแรกเรามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวิธีอบรมเลี้ยงดูลูก แต่เราก็แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้. สามียอมให้ดิฉันพาลูก ๆ ไปร่วมการประชุมทางศาสนาของดิฉันได้เพราะเขาเห็นว่าการประชุมนั้นสอนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับลูกเท่านั้น.”
วาลกิเรีย จากบราซิล บอกว่า “ดิฉันมีลูกหนึ่งคนและแต่งงานมา 19 ปีแล้ว. ดิฉันมาเป็นพยานพระยะโฮวาเมื่อสิบสามปีที่แล้ว. ตอนแรกสามีไม่ต้องการให้ดิฉันออกไปประกาศ. แต่ดิฉันได้มารู้วิธีอธิบายให้เขาเข้าใจด้วยท่าทีที่อ่อนโยนและช่วยให้เขาเห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลทำให้ดิฉันมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น. ทีละเล็กทีละน้อยสามีก็เข้าใจว่าการออกประกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับดิฉันมากเพียงไร. เดี๋ยวนี้เขาสนับสนุนดิฉันอย่างเต็มที่เมื่อดิฉันเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ. เวลาดิฉันไปนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลในที่ไกล ๆ นอกเมือง เขาถึงกับขับรถไปส่งดิฉันและคอยอยู่ข้างนอกอย่างใจเย็นจนกว่าดิฉันจะศึกษาเสร็จ.”
พลังกระตุ้นในทางที่ดี
ถ้าคู่สมรสของคุณกำลังศึกษาพระคัมภีร์กับพยานพระยะโฮวา อย่ากลัวไปเลยว่าเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตสมรสของคุณล่มสลาย. สามีภรรยาหลายคู่ทั่วโลกได้พบว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพลังกระตุ้นในทางที่ดีต่อชีวิตสมรส.
สามีคนหนึ่งซึ่งไม่ใช่พยานพระยะโฮวายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ตอนแรกผมกังวลเหมือนกันเมื่อภรรยารับเอาความเชื่อของพยานพระยะโฮวา แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าได้รับผลประโยชน์ที่คุ้มค่าจริง ๆ.” สามีอีกคนหนึ่งพูดถึงภรรยาว่า “ความซื่อสัตย์, ความมุ่งมั่น, และความมั่นคงของภรรยาทำให้ผมชื่นชมพยานพระยะโฮวามาก. ความเชื่อทางศาสนาของเธอส่งผลดีกับชีวิตสมรสของเรามาก. เราต่างก็เข้าใจกันและถือว่าชีวิตสมรสของเราเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานตลอดชีวิต.”
[กรอบ/ภาพหน้า 13]
พยานพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรในเรื่องชีวิตสมรส?
พยานพระยะโฮวาเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจ. ดังนั้น พวกเขาถือว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับชีวิตสมรสเป็นเรื่องสำคัญมาก. ขอให้สังเกตสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเมื่อตอบคำถามต่อไปนี้:
▪ พยานพระยะโฮวาสนับสนุนให้สมาชิกของพวกเขาแยกทางกับคู่สมรสที่ไม่ใช่พยานฯไหม? ไม่. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ถ้าพี่น้องคนใดมีภรรยาที่ไม่มีความเชื่อและนางพอใจจะอยู่กับเขา อย่าได้ทิ้งนาง และถ้าหญิงคนใดมีสามีที่ไม่มีความเชื่อและเขาพอใจจะอยู่กับนาง อย่าได้ทิ้งเขา.” (1 โครินท์ 7:12, 13) พยานพระยะโฮวาปฏิบัติตามคำสั่งนี้.
▪ พยานพระยะโฮวาสนับสนุนให้ผู้เป็นภรรยาเมินเฉยต่อความต้องการของสามีไหมถ้าเขามีความเชื่อต่างจากเธอ? ไม่. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า: “ให้ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยายอมเชื่อฟังสามีของตน เพื่อว่าถ้าสามีคนใดไม่เชื่อฟังพระคำ การประพฤติของภรรยาก็อาจชนะใจเขาโดยไม่ต้องเอ่ยปาก เนื่องจากเขาได้เห็นการประพฤติอันบริสุทธิ์พร้อมกับความนับถืออย่างสุดซึ้งของท่านทั้งหลาย.”—1 เปโตร 3:1, 2.
▪ พยานพระยะโฮวาสอนว่าสามีมีอำนาจเด็ดขาดไหม? ไม่. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านทั้งหลายรู้ว่า พระคริสต์ทรงเป็นประมุขของผู้ชายทุกคน ผู้ชายเป็นประมุขของผู้หญิง และพระเจ้าทรงเป็นประมุขของพระคริสต์.” (1 โครินท์ 11:3) ภรรยาคริสเตียนจะนับถือสามีฐานะเป็นประมุขของครอบครัว. อย่างไรก็ดี อำนาจของสามีไม่ใช่อำนาจเด็ดขาด. เขาต้องให้การต่อพระเจ้าและพระคริสต์. ฉะนั้น ถ้าสามีสั่งให้ภรรยาทำสิ่งที่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า ภรรยาคริสเตียนจะ “เชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้มีอำนาจปกครอง ไม่ใช่เชื่อฟังมนุษย์.”—กิจการ 5:29.
▪ พยานพระยะโฮวาสอนว่าสามีภรรยาจะหย่าร้างกันไม่ได้ไหม? ไม่. พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เราบอกเจ้าทั้งหลายว่าผู้ใดที่หย่าภรรยาแล้วแต่งงานใหม่ก็เป็นคนเล่นชู้ เว้นแต่หย่าเพราะเหตุที่นางผิดประเวณี [ผิดศีลธรรมทางเพศ].” (มัดธาย 19:9) ฉะนั้น พยานพระยะโฮวายอมรับและยึดถือตามทัศนะของพระเยซูที่ว่าการเล่นชู้ทำให้มีเหตุผลที่จะหย่าได้. แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นด้วยว่าชีวิตสมรสไม่ควรจบลงเนื่องจากสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ. พยานพระยะโฮวาสนับสนุนสมาชิกของพวกเขาให้ทำตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ผู้ชายจะจากบิดามารดาไปผูกพันใกล้ชิดกับภรรยา และทั้งสองจะเป็นเนื้อหนังเดียวกัน . . . ฉะนั้น ที่พระเจ้าทรงผูกมัดไว้ด้วยกันแล้วนั้นอย่าให้มนุษย์ทำให้แยกจากกันเลย.”—มัดธาย 19:5, 6.