กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว
วิธีจัดการเรื่องเงิน
สามีพูดว่า “ผมคิดว่าลอรา * ภรรยาของผม ใช้จ่ายเงินไปกับหลายอย่าง ที่ไม่จำเป็น อย่างน้อยก็ไม่จำเป็นในความคิดของผม. และดูเหมือนว่าเธอจะเก็บเงินไม่อยู่เอาเสียเลย! เรื่องนี้ทำให้เรามีปัญหาใหญ่เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น. ผมพูดบ่อย ๆ ว่า ภรรยาของผมมีเงินในกระเป๋าเมื่อไรเป็นต้องจ่ายเกลี้ยงทุกที.”
ภรรยาพูดว่า “ฉันอาจจะไม่ใช่คนเก็บเงินเก่ง แต่สามีฉันไม่รู้หรอกว่า ข้าวของต่าง ๆ แพงแค่ไหน ทั้งอาหาร, ของแต่งบ้าน, ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในบ้าน และฉันก็เป็นคนที่อยู่บ้านมากที่สุด. ฉันรู้ว่าอะไรที่เราจำเป็นต้องซื้อ และฉันก็ซื้อแม้ว่าจะทำให้เราเถียงกันเรื่องเงินอีกก็ตาม.”
เรื่องเงินอาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ยากที่สุดสำหรับคู่สมรสที่จะพูดคุยกันด้วยใจเย็น ๆ. ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้มักเป็นสาเหตุทำให้คู่สมรสทะเลาะกันมากที่สุด.
สามีภรรยาที่มีทัศนะไม่สมดุลในเรื่องเงินอาจมีความเครียด ความขัดแย้ง และได้รับผลเสียด้านอารมณ์ กระทั่งสัมพันธภาพที่เขามีกับพระเจ้า. (1 ติโมเธียว 6:9, 10) บิดามารดาที่ไม่สามารถจัดการเรื่องเงินได้อย่างสุขุมอาจจำเป็นต้องทำงานมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่คู่สมรสและลูก ๆ ด้านอารมณ์และช่วยครอบครัวให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า. นั่นยังเป็นการสอนลูกให้มีทัศนะที่ไม่เหมาะสมในเรื่องเงินอีกด้วย.
คัมภีร์ไบเบิลยอมรับว่า “เงินเป็นเครื่องป้องกัน.” (ท่านผู้ประกาศ 7:12, ฉบับ R73) แต่เงินจะป้องกันชีวิตสมรสและครอบครัวก็ต่อเมื่อคุณรู้วิธีใช้เงินและรู้วิธีพูดคุยเรื่องเงินกับคู่สมรส. * ที่จริง แทนที่จะทำให้เกิดการโต้เถียง การพูดคุยเรื่องเงินอาจช่วยให้สายสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสแน่นแฟ้นขึ้นได้.
แต่เพราะเหตุใดเงินจึงทำให้เกิดปัญหามากมายในชีวิตสมรส? และมีวิธีใดบ้างที่คุณสามารถทำได้เพื่อให้การพูดคุยเรื่องเงินเป็นเรื่องที่เสริมสร้าง แทนที่จะกลายเป็นการโต้เถียงกัน?
มีข้อท้าทายอะไรบ้าง?
บ่อยครั้ง การโต้เถียงกันเรื่องเงิน แท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าจะใช้เงินอย่างไร แต่เป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจกันหรือความกลัว. ตัวอย่างเช่น สามีที่เรียกร้องให้ภรรยาชี้แจงเกี่ยวกับเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เธอใช้ไป ที่แท้แล้วอาจเป็นการบอกว่าเขาไม่เชื่อว่าภรรยาจะสามารถจัดการเรื่องเงินของครอบครัวได้ดีพอ. ส่วนภรรยาที่บ่นว่า สามีเก็บออมเงินน้อยเกินไป ที่แท้แล้วอาจกำลังแสดงให้เห็นว่าเธอกลัวว่าเหตุการณ์บางอย่างในอนาคตจะทำให้ครอบครัวลำบาก.
นอกจากนี้ คู่สมรสยังมีข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่ง คือภูมิหลังที่ต่างกัน. แมททิว ซึ่งแต่งงานมาแปดปี กล่าวว่า “ภรรยาของผมมาจากครอบครัวที่จัดการเรื่องเงินได้ดี. เธอไม่
รู้สึกกลัวเหมือนผม. พ่อของผมเป็นคนติดเหล้า สูบบุหรี่จัด และตกงานเป็นเวลานาน. บ่อยครั้ง เราต้องอยู่อย่างอัตคัดขัดสน และเมื่อโตขึ้น ผมจึงกลายเป็นคนที่กลัวการเป็นหนี้เหลือเกิน. บางครั้ง ความกลัวนี้ทำให้ผมเข้มงวดกับภรรยามากเกินไปในเรื่องเงิน.” ไม่ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุที่ก่อความตึงเครียด คุณจะทำอะไรได้เพื่อที่เงินจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัว แทนที่จะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง?คุณถือว่าอะไรสำคัญกว่าเงินหรือชีวิตสมรส?
เคล็ดลับสี่ประการสู่ความสำเร็จ
คัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่คู่มือด้านการเงิน. แต่พระคัมภีร์ก็มีคำแนะนำที่ดีซึ่งสามารถช่วยคู่สมรสให้หลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องเงินได้. เชิญคุณพิจารณาคำแนะนำเหล่านั้นและลองทำตามข้อชี้แนะต่าง ๆ ต่อไปนี้.
1. พูดเรื่องเงินด้วยใจเย็น ๆ.
“ปัญญาอยู่กับคนที่ปรึกษาหารือกัน.” (สุภาษิต 13:10, ล.ม.) เนื่องจากภูมิหลังของคุณ คุณอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะพูดเรื่องเงินกับคนอื่น โดยเฉพาะกับคู่สมรส. กระนั้น นับว่าฉลาดสุขุมที่จะพูดคุยกันในเรื่องที่สำคัญนี้. ตัวอย่างเช่น คุณอาจอธิบายให้คู่สมรสเข้าใจว่า ทัศนะของพ่อแม่ในเรื่องเงินมีผลอย่างไรต่อคุณ. และพยายามเข้าใจว่าภูมิหลังของคู่สมรสมีผลอย่างไรต่อทัศนะของเขาในเรื่องเงิน.
ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนแล้วจึงค่อยคุยกัน. ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งถามว่า “สองคนจะเดินไปด้วยกันได้หรือนอกจากทั้งสองจะได้ตกลงกันไว้ก่อน.” (อาโมศ 3:3, ฉบับ R73) จะนำหลักการข้อนี้ไปใช้ได้อย่างไร? หากคุณจัดเวลาไว้เพื่อพูดคุยกันเรื่องเงินโดยเฉพาะ โอกาสที่จะขัดแย้งกันเนื่องจากความเข้าใจผิดก็จะมีน้อยลง.
ลองวิธีนี้: กำหนดเวลาไว้เพื่อพูดคุยเรื่องการเงินของครอบครัวเป็นประจำ. คุณอาจคุยกันในวันแรกของเดือนหรือวันใดวันหนึ่งของสัปดาห์. ใช้เวลาสั้น ๆ อาจจะประมาณ 15 นาทีหรือน้อยกว่านั้น. เลือกเวลาที่คุณทั้งคู่รู้สึกผ่อนคลาย. ตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องเงินในบางเวลา เช่น เมื่อรับประทานอาหารหรือขณะที่กำลังพักผ่อนอยู่กับลูก ๆ.
2. ตกลงกันว่าจะมองเงินที่ได้มาอย่างไร.
“จงนำหน้าในการให้เกียรติกัน.” (โรม 12:10) ถ้าคุณเป็นคนเดียวในครอบครัวที่มีรายได้ คุณอาจให้เกียรติคู่สมรสโดยถือว่าเงินนั้นไม่ใช่ของคุณเพียงคนเดียว แต่เป็นเงินของครอบครัว.—1 ติโมเธียว 5:8
ถ้าคุณกับคู่สมรสมีรายได้ด้วยกันทั้งคู่ คุณอาจให้เกียรติกันโดยบอกให้คู่สมรสรู้ว่าคุณมีรายได้เท่าไรและมีรายจ่ายที่สำคัญอะไรบ้าง. ถ้าคุณปิดบังเรื่องนี้ไม่ให้คู่ของคุณรู้ อาจเป็นการบั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจและทำลายสายสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้. ไม่จำเป็นต้องปรึกษากันก่อนจ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์. แต่ถ้าคุณปรึกษากันก่อนจะซื้อของที่ราคาค่อนข้างแพง ก็แสดงว่าคุณถือว่าความเห็นของคู่สมรสนั้นสำคัญ.
ลองวิธีนี้: ตกลงกันเรื่องจำนวนเงินที่แต่ละฝ่ายจะจ่ายได้โดยไม่ต้องปรึกษากันก่อน อาจจะเป็น 500 บาทหรือ 1,000 บาทหรือเป็นจำนวนอื่นก็ได้. ปรึกษาคู่สมรสก่อนเสมอถ้าคุณต้องการจะใช้จ่ายเกินจำนวนที่ตกลงกันไว้.
3. เขียนแผนการในกระดาษ.
“แผนการของคนขยันก่อผลประโยชน์แน่นอน.” (สุภาษิต 21:5, ล.ม.) วิธีหนึ่งที่จะวางแผนสำหรับอนาคตและไม่ทำให้เงินที่หามาด้วยความเหนื่อยยากสูญเปล่าคือการทำงบประมาณของครอบครัว. นีนาซึ่งแต่งงานมาห้าปีกล่าวว่า “คุณอาจแปลกใจและรู้อะไรมากขึ้นเมื่อเห็นรายรับและรายจ่ายที่เขียนไว้บนกระดาษ. เป็นเรื่องยากที่จะโต้เถียงเมื่อเห็นชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร.”
คุณไม่จำเป็นต้องทำงบประมาณแบบที่ซับซ้อน. ดาร์เรน ซึ่งแต่งงานมา 26 ปีแล้วและมีลูกชายสองคน บอกว่า “ตอนแรก เราใช้วิธีแบ่งเงินสำหรับหนึ่งสัปดาห์ไว้เป็นซอง ๆ. ตัวอย่างเช่น เรามีซองสำหรับค่าอาหาร, นันทนาการ, และแม้แต่ค่าตัดผม. ถ้าเงินในซองไหนหมด เราก็จะยืมเงินมาจากซองอื่น แต่เราจะใส่เงินคืนในซองนั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้.” ถ้าคุณมักจะชำระเงินด้วยวิธีหักจากบัญชีธนาคารหรือ
ใช้บัตรเครดิต ก็ยิ่งจำเป็นต้องวางแผนการใช้จ่ายและทำบัญชีค่าใช้จ่าย.ลองวิธีนี้: ทำรายการค่าใช้จ่ายประจำทั้งหมดที่คุณรู้ตัวเลขแน่นอน. ตกลงกันว่าจะแบ่งรายได้ไว้เป็นเงินออมมากน้อยเท่าไร. จากนั้น ทำรายการค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่ตายตัว เช่น ค่าอาหาร, ค่าน้ำค่าไฟและค่าโทรศัพท์. เก็บบันทึกค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้หลาย ๆ เดือน. หากจำเป็น คุณอาจต้องปรับรูปแบบชีวิตเพื่อจะไม่มีหนี้สินท่วมตัว.
4. ตกลงกันว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านใด.
“สองคนก็ดีกว่าคนเดียว, เพราะว่าเขาทั้งสองได้รับผลของงานดีกว่า.” (ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10) บางครอบครัว สามีเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด. แต่บางครอบครัว ภรรยาอาจรับผิดชอบหน้าที่นี้. (สุภาษิต 31:10-28) อย่างไรก็ดี คู่สมรสหลายคู่เลือกที่จะช่วยกันแบกภาระค่าใช้จ่าย. มาริโอซึ่งแต่งงานมา 21 ปีแล้วบอกว่า “ภรรยาของผมจะเป็นคนจ่ายค่าน้ำค่าไฟและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด. ส่วนผมจะดูแลเรื่องภาษี, ค่าผ่อนรถและค่าเช่าบ้าน. เราบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้เสมอว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้างและช่วยกันรับผิดชอบ.” ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีใด เคล็ดลับก็คือการทำงานเป็นทีม.
ลองวิธีนี้: ตกลงกันว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านใด โดยคำนึงถึงจุดดีและจุดอ่อนของแต่ละคน. ทุก ๆ สองสามเดือน ให้ทบทวนการทำหน้าที่ตามที่ตกลงกันไว้. จงเต็มใจที่จะปรับเปลี่ยน. เพื่อจะเห็นคุณค่าของงานที่คู่สมรสรับผิดชอบอยู่ เช่น การจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรือการไปซื้อของ คุณอาจสลับหน้าที่กันบ้างเป็นครั้งคราว.
การพูดคุยเรื่องเงินควรเผยให้เห็นอะไร?
การพูดคุยเรื่องเงินไม่ควรเป็นสิ่งที่บั่นทอนความรักของคุณ. ลีอาซึ่งแต่งงานมาห้าปีแล้วเห็นด้วยกับเรื่องนี้. เธอบอกว่า “ดิฉันกับสามีเรียนรู้ที่จะพูดคุยเรื่องเงินกันอย่างเปิดอกและตรงไปตรงมา. ผลคือ เดี๋ยวนี้เราทำงานเป็นทีมและรักกันมากขึ้น.”
เมื่อคู่สมรสพูดคุยกันว่าต้องการจะใช้จ่ายเงินอย่างไร พวกเขาก็ได้ตั้งความหวังและวาดฝันร่วมกัน และทำให้พันธะผูกพันในการสมรสของพวกเขาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. เมื่อพวกเขาปรึกษาหารือกันก่อนที่จะซื้อของชิ้นใหญ่ พวกเขาก็แสดงความนับถือต่อความคิดเห็นและความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง. เมื่อพวกเขาให้คู่ของตนมีอิสระที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งได้โดยไม่ต้องปรึกษากัน พวกเขาก็แสดงให้เห็นว่ามีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน. ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบของสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรักอย่างแท้จริง. สายสัมพันธ์เช่นนี้มีค่ายิ่งกว่าเงินอย่างแน่นอน ฉะนั้น จะทะเลาะกันเรื่องเงินไปทำไม?
^ วรรค 3 ชื่อสมมุติ.
^ วรรค 7 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สามีเป็นประมุขของภรรยา” เขาจึงมีหน้าที่รับผิดชอบหลักที่จะตัดสินว่าควรใช้เงินของครอบครัวอย่างไร รวมทั้งมีพันธะที่จะปฏิบัติต่อภรรยาด้วยความรักและอย่างไม่เห็นแก่ตัวด้วย.—เอเฟโซส์ 5:23, 25
จงถามตัวเองว่า . . .
-
ฉันกับคู่สมรสคุยกันเรื่องเงินด้วยใจเย็น ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไร?
-
ฉันจะพูดหรือทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าฉันเห็นคุณค่าคู่ของฉันซึ่งเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว?