ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การค้นพบสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลที่ล้ำค่า

การค้นพบสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลที่ล้ำค่า

การ​ค้น​พบ​สำเนา​ต้น​ฉบับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ล้ำ​ค่า

หลาย​ร้อย​ปี​ก่อน วัสดุ​ที่​ใช้​เขียน​ไม่​ใช่​จะ​หา​ได้​ง่าย​เหมือน​ใน​ทุก​วัน​นี้. แผ่น​หนัง​และ​วัสดุ​อื่น ๆ ถูก​นำ​กลับ​มา​ใช้​ใหม่​โดย​การ​ถู​หรือ​ล้าง​ข้อ​ความ​ที่​ไม่​ต้องการ​ซึ่ง​เขียน​ด้วย​หมึก​ออก​ไป. วัสดุ​ที่​ถูก​ลบ​ข้อ​ความ​ออก​ไป​นี้​เรียก​ว่า พาลิมพ์เซสต์ (palimpsest) ซึ่ง​มี​รากศัพท์​มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “ถู​ซ้ำ​อีก.” แม้​แต่​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​ยัง​เคย​ถูก​ลบ​จาก​แผ่น​หนัง​ลูก​วัว เพื่อ​จะ​นำ​แผ่น​หนัง​นั้น​ไป​ใช้​บันทึก​ข้อมูล​อื่น.

พาลิมพ์เซสต์​ที่​สำคัญ​ชิ้น​หนึ่ง​ซึ่ง​เคย​เป็น​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​แก่ โคเดกซ์ เอแฟรมิ ซีรี เรสคริปทุส ซึ่ง​คำ​ว่า เรสคริปทุส มี​ความ​หมาย​ว่า “ถูก​เขียน​ทับ.” โคเดกซ์​นี้​นับ​ว่า​มี​ค่า​อย่าง​ยิ่ง​เนื่อง​จาก​เป็น​ส่วน​ของ​สำเนา​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​เก่า​แก่​ที่​สุด​ที่​หลง​เหลือ​อยู่. ฉะนั้น โคเดกซ์​นี้​จึง​เป็น​เอกสาร​ที่​ดี​ที่​สุด​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​ยืน​ยัน​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ส่วน​นี้.

ข้อ​ความ​ของ​พระ​คัมภีร์​ที่​เคย​ปรากฏ​อยู่​ใน​โคเดกซ์​จาก​ศตวรรษ​ที่​ห้า​นี้ ได้​ถูก​ลบ​ออก​ไป​ใน​ศตวรรษ​ที่ 12 สากล​ศักราช และ​ถูก​เขียน​ทับ​ด้วย​คำ​เทศน์ 38 เรื่อง​ของ​ปราชญ์​ชาว​ซีเรีย​ชื่อ อีฟ​รีม ซึ่ง​แปล​เป็น​ภาษา​กรีก. ตอน​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 17 บรรดา​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​สังเกต​เห็น​เป็น​ครั้ง​แรก​ว่า​มี​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ถูก​เขียน​ทับ​อยู่. ใน​ช่วง​สอง​สาม​ปี​หลัง​จาก​นั้น ความ​พยายาม​ที่​จะ​ถอด​ข้อ​ความ​ซึ่ง​ถูก​เขียน​ทับ​ได้​คืบ​หน้า​ไป​พอ​สม​ควร. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​จะ​ถอด​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​ทั้ง​หมด​เป็น​เรื่อง​ที่​ยาก​อย่าง​ยิ่ง เนื่อง​จาก​รอย​หมึก​ที่​เหลือ​จาก​การ​ถูก​ลบ​นั้น​ซีด​จาง​มาก​และ​เห็น​ได้​ไม่​ชัด อีก​ทั้ง​แผ่น​หนัง​หลาย​แผ่น​ก็​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ขาด​รุ่งริ่ง​และ​ข้อ​ความ​ก็​ซ้อน​ทับ​กัน. มี​การ​ใช้​น้ำ​ยา​เคมี​เพื่อ​จะ​ให้​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เด่น​ขึ้น​มา​และ​อ่าน​ได้ แต่​ก็​ไม่​ค่อย​ประสบ​ผล​สำเร็จ​เท่า​ไร​นัก. ผู้​เชี่ยวชาญ​ส่วน​ใหญ่​จึง​ลง​ความ​เห็น​ว่า​ข้อ​ความ​ทั้ง​หมด​ที่​ถูก​ลบ​ไป​นั้น​ไม่​สามารถ​จะ​กู้​คืน​ได้​แล้ว.

ต้น​ทศวรรษ 1840 นัก​ภาษา​ศาสตร์​ที่​เชี่ยวชาญ​ชาว​เยอรมัน​ชื่อ คอนสแตนติน ฟอน ทิเชินดอร์ฟ ได้​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​ศึกษา​โคเดกซ์​นี้. ทิเชินดอร์ฟ​ใช้​เวลา​สอง​ปี​เพื่อ​ถอด​ข้อ​ความ​ใน​สำเนา​ดัง​กล่าว. อะไร​ทำ​ให้​เขา​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​ขณะ​ที่​คน​อื่น​ทำ​ไม่​ได้?

ทิเชินดอร์ฟ​มี​ความ​เชี่ยวชาญ​ใน​เรื่อง​อักษร​กรีก​แบบ​อันเชียล ซึ่ง​เป็น​อักษร​ตัว​พิมพ์​ใหญ่​ที่​เขียน​ไม่​ติด​กัน. * เนื่อง​จาก​มี​สายตา​ดี เขา​จึง​พบ​ว่า​เพียง​เขา​ยก​แผ่น​หนัง​ขึ้น​ส่อง​กับ​ไฟ​ก็​จะ​สามารถ​อ่าน​ข้อ​ความ​ที่​มี​อยู่​ก่อน​ได้. ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​ทำ​งาน​คล้าย​กัน​นั้น​ใน​ทุก​วัน​นี้​ใช้​เครื่อง​ช่วย​ใน​การ​มอง​เห็น เช่น แสง​อินฟาเรด, แสง​อัลตราไวโอเลต, และ​แสง​โพลาไรส์.

ทิเชินดอร์ฟ​ได้​ตี​พิมพ์​ผล​งาน​การ​ถอด​ข้อ​ความ​จาก​โคเดกซ์​เอแฟรมิ​ใน​ปี 1843 และ​ปี 1845. ผล​งาน​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​เขา​มี​ชื่อเสียง​ฐานะ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​อักขระ​กรีก​โบราณ.

โคเดกซ์​เอแฟรมิ​นี้​มี​ขนาด​ประมาณ 12 คูณ 9 นิ้ว และ​เป็น​ตัว​อย่าง​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​แบบ​คอลัมน์​เดียว​ใน​หนึ่ง​หน้า​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด. ใน​แผ่น​หนัง 209 แผ่น​ที่​ยัง​หลง​เหลือ​อยู่​นี้ มี 145 แผ่น​ที่​เป็น​สำเนา​ของ​หนังสือ​ทั้ง​หมด​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก ยก​เว้น 2 เทสซาโลนิเก​และ 2 โยฮัน. แผ่น​อื่น ๆ ที่​เหลือ​เป็น​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​บาง​ส่วน.

ปัจจุบัน โคเดกซ์​ฉบับ​นี้​ถูก​เก็บ​ไว้​ที่​หอ​สมุด​แห่ง​ชาติ ณ กรุง​ปารีส ประเทศ​ฝรั่งเศส. ไม่​มี​ใคร​ทราบ​ที่​มา​ของ​สำเนา​ต้น​ฉบับ​นี้ แม้​ว่า​ทิเชินดอร์ฟ​จะ​คิด​ว่า​มา​จาก​อียิปต์. พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​จัด​ให้​โคเดกซ์​เอแฟรมิ​อยู่​ใน​กลุ่ม​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​กรีก​แบบ​ตัว​พิมพ์​ใหญ่​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ซึ่ง​มี​ทั้ง​หมด​สี่​ฉบับ. อีก​สาม​ฉบับ​คือ ฉบับ​ไซนายติก, ฉบับ​อะเล็กซานไดรน์, และ​ฉบับ​วาติกัน หมาย​เลข 1209 ซึ่ง​ทั้ง​หมด​มี​อายุ​อยู่​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่​สี่​และ​ห้า​สากล​ศักราช.

ข่าวสาร​ใน​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ได้​รับ​การ​รักษา​ไว้​เพื่อ​พวก​เรา​อย่าง​น่า​ทึ่ง​ใน​หลาย​รูป​แบบ รวม​ทั้ง​ใน​พาลิมพ์เซสต์​ด้วย. แม้​ว่า​ใน​กรณี​โคเดกซ์​เอแฟรมิ​นี้ ผู้​ที่​ไม่​เห็น​คุณค่า​ได้​พยายาม​ลบ​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ออก​ไป แต่​ข่าวสาร​ของ​พระ​คัมภีร์​ก็​ยัง​คง​อยู่. เรื่อง​นี้​ยิ่ง​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ใน​คำ​กล่าว​ของ​อัครสาวก​เปโตร​ที่​ว่า “คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​ดำรง​อยู่​เป็น​นิตย์.”—1 เปโตร 1:25

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 ทิเชินดอร์ฟ​เป็น​ที่​รู้​จัก​มาก​ที่​สุด​จาก​การ​ที่​เขา​ได้​ค้น​พบ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​กรีก​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ฉบับ​หนึ่ง​เท่า​ที่​เคย​มี​การ​ค้น​พบ​ซึ่ง​แปล​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู. เขา​ได้​พบ​ฉบับ​แปล​ดัง​กล่าว​ใน​อาราม​เซนต์ แคเทอรีน ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ที่​เชิง​เขา​ไซนาย. สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​รู้​จัก​กัน​ว่า โคเดกซ์​ไซนายติคุส.

[แผนภูมิ/ภาพ​หน้า 16]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

โคเดกซ์ เอแฟรมิ ซีรี เรสคริปทุส เป็น​พาลิมพ์เซสต์​ที่​สำคัญ​ฉบับ​หนึ่ง​ซึ่ง​ถอด​ข้อ​ความ​โดย​ทิเชินดอร์ฟ (ปี 1815-1874)

ข้อ​ความ​เดิม​ซึ่ง​เป็น​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล

ข้อ​ความ​ที่​นำ​มา​เขียน​ทับ​ซึ่ง​เป็น​คำ​เทศน์​ภาษา​กรีก

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Bibliothèque nationale de France

[ภาพ​หน้า 17]

โคเดกซ์​ไซนายติคุส ซึ่ง​พบ​ใน​อาราม​เซนต์ แคเทอรีน

[ภาพ​หน้า 17]

ทิเชินดอร์ฟ