มิชชันนารีถูกส่งออกไป “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”
การสำเร็จหลักสูตรโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่ 127
มิชชันนารีถูกส่งออกไป “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”
พระเยซูทรงมอบหมายเหล่าสาวกของพระองค์ให้เป็นพยาน “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจการ 1:8) พยานพระยะโฮวาถือว่าพระบัญชานั้นเป็นเรื่องสำคัญ.
ที่จริง ตลอด 65 ปีที่ผ่านมามิชชันนารีที่ได้รับการฝึกอบรมจากโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดได้นำหน้างานประกาศนี้ในมากกว่า 200 ประเทศ. วันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2009 ผู้เผยแพร่ที่มีประสบการณ์อีก 56 คนได้จบหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นเวลาห้าเดือนจากโรงเรียนมิชชันนารีซึ่งตั้งอยู่ที่แพตเทอร์สัน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา.
พลังของจินตนาการ
สตีเฟน เลตต์ สมาชิกคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวาและประธานระเบียบวาระการสำเร็จหลักสูตรได้บรรยายแก่นักเรียนในเรื่อง “จงใช้จินตนาการของคุณอย่างสุขุม.” ก่อนอื่นเขาได้เตือนผู้สำเร็จหลักสูตรไม่ให้ใช้จินตนาการในสี่แนวทาง. สามแนวทางแรกคือ: (1) อย่าจินตนาการว่าสิ่งต่าง ๆ ทางวัตถุสามารถให้การปกป้องที่ยั่งยืน; (2) อย่าจินตนาการถึงการทำผิดศีลธรรม; และ (3) อย่ากังวลมากเกินไปโดยจินตนาการว่าพรุ่งนี้คงจะแย่กว่าวันนี้. (สุภาษิต 18:11; มัดธาย 5:28; 6:34) สำหรับจุดที่สาม ผู้บรรยายได้กล่าวว่าคนที่กังวลมากเกินไปจะเอาความกังวลของเมื่อวานมากองทับความกังวลของวันนี้และเอาความกังวลของพรุ่งนี้มาสุมทับความกังวลของวันนี้อีก. บราเดอร์เลตต์บอกว่า “นั่นเป็นภาระหนักที่ต้องแบก.” แนวทางที่สี่คืออะไร? นักเรียนได้รับการเตือนว่าไม่ควรจินตนาการว่าชีวิตของพวกเขาเมื่อก่อนดีกว่าชีวิตตอนที่พวกเขารับงานมอบหมายมิชชันนารี. การคิดเช่นนั้นจะทำให้พวกเขาพลาดความยินดีที่รออยู่ในเขตใหม่ที่จะไป.
ต่อมา บราเดอร์เลตต์ได้สนับสนุนให้นักเรียนใช้จินตนาการในทางที่ดีสี่ทาง. เขากล่าวว่า (1) คาดล่วงหน้าถึงสภาพการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อความเชื่อหรือต่อร่างกาย และหลีกเลี่ยงอันตรายนั้น; (2) นึกภาพฉากเหตุการณ์ที่อ่านในคัมภีร์ไบเบิล และจินตนาการว่าคุณอยู่ในเหตุการณ์นั้น; (3) นึกภาพว่าแต่ละคนที่คุณคุยด้วยในเขตมอบหมายใหม่มีโอกาสจะเข้ามาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา; และ (4) พัฒนาความเห็นอกเห็นใจโดยจินตนาการว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ของคนที่คุณประกาศให้ฟัง.—สุภาษิต 22:3
ประโยชน์ของการฝึกอบรมผู้อื่น
เดวิด สเปลน สมาชิกคณะกรรมการปกครองได้บรรยายเรื่อง “สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่มอบให้แก่คนที่ซื่อสัตย์” โดยอาศัย 2 ติโมเธียว 2:2. เมื่ออัครสาวกเปาโลสั่งติโมเธียวให้ฝึกอบรมคนที่ซื่อสัตย์ เปาโลตั้งใจให้ติโมเธียวไม่เพียงแต่สอนความจริงที่มีการวางรากไว้แล้วแก่คนเหล่านี้ แต่สนับสนุนพวกเขาให้ฝึกอบรมคนอื่น ๆ ด้วย. ผู้บรรยายได้บอกกับนักเรียนว่ามีความต้องการอย่างมากที่จะมีผู้ชายที่นำหน้าในประชาคมคริสเตียนและในงานประกาศ. คนเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมเมื่อไรและโดยวิธีใด? บราเดอร์สเปลนได้สนับสนุนนักเรียนให้เริ่มฝึกอบรมผู้ชายเหล่านี้ตั้งแต่แรกเมื่อเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับเขา.
มิชชันนารีจะฝึกอบรมนักศึกษาพระคัมภีร์ให้เป็นตัวอย่างที่ซื่อสัตย์แก่คนอื่น ๆ ได้อย่างไร? ผู้บรรยายได้กล่าวถึงหลายแนวทาง. มิชชันนารีต้องฝึกพวกเขาให้เตรียมตัวอย่างดีสำหรับบทเรียนที่จะศึกษา. ต่อจากนั้น เมื่อนักศึกษาเริ่มเข้าร่วมการประชุมของประชาคม พวกเขาต้องเรียนวิธีเตรียมเรื่องที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลซึ่งจะมีการพิจารณาที่การประชุม. ผู้บรรยายได้หาเหตุผลว่า “ถ้าคนนั้นไม่สามารถศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะไม่สามารถสอนคน
อื่นได้เลย.” บราเดอร์สเปลนยังกล่าวด้วยว่ามิชชันนารีสามารถช่วยคนใหม่ให้เป็นคนตรงต่อเวลา, ให้สนับสนุนงานประกาศด้วยการบริจาค, และเชื่อฟังผู้ที่นำหน้า. ผู้บรรยายกล่าวว่าวิธีดีที่สุดที่จะสอนบทเรียนเหล่านี้ก็คือโดยวางตัวอย่างที่ดี.การเป็นพยานของพระยะโฮวาเป็นสิทธิพิเศษ
กาย เพียร์ซ สมาชิกอีกคนหนึ่งของคณะกรรมการปกครองได้บรรยายเรื่อง “เจ้าจะเป็นพยานฝ่ายเรา” ซึ่งอาศัยคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกไว้ในกิจการ 1:8. เขาเตือนใจนักเรียนว่า ในศตวรรษแรกชาติอิสราเอลได้สูญเสียสิทธิพิเศษในการเป็นพยานของพระยะโฮวา. สิทธิพิเศษนั้นได้มอบให้กับชาติหนึ่งที่เกิดผลแห่งราชอาณาจักร. (มัดธาย 21:43) ประชาคมแห่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นชาตินั้น. ผู้บรรยายได้ยกคำพูดของอัครสาวกเปโตรซึ่งกล่าวว่า คริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งเป็น “ชาติบริสุทธิ์” จะ “ป่าวประกาศ” คุณความดีของพระยะโฮวา. (1 เปโตร 2:6-9) ดังนั้น พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าคริสเตียนจะเป็นพยานของพระองค์เพียงผู้เดียวและไม่ได้เป็นพยานของพระยะโฮวาอีกต่อไป. แท้จริง พระเยซูถูกเรียกว่า “พยานที่ซื่อสัตย์.” (วิวรณ์ 1:5; 3:14) พระองค์เป็นพยานองค์สำคัญของพระยะโฮวาและเป็นแบบอย่างที่เราดำเนินตาม.—1 เปโตร 2:21
ผู้บรรยายได้บอกนักเรียนว่า คำตรัสของพระเยซูที่กิจการ 1:8 ยิ่งมีความหมายมากขึ้นในทุกวันนี้. เพราะเหตุใด? ก็เพราะเหตุการณ์สำคัญในคำพยากรณ์ดังบันทึกที่วิวรณ์ 11:15 ได้สำเร็จเป็นจริงแล้ว! ราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้าถูกสถาปนาแล้ว. บัดนี้ งานให้คำพยานกำลังทำกัน “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” จริง ๆ. (กิจการ 1:8) บราเดอร์เพียร์ซได้เน้นว่ามิชชันนารีจะให้คำพยานเกี่ยวกับพระยะโฮวาและราชอาณาจักรของพระองค์ ไม่ใช่ให้คำพยานเกี่ยวกับตัวเองหรือรูปแบบชีวิตเมื่อก่อน, วัฒนธรรม, และบ้านเมืองของตนเอง. เขาสนับสนุนให้นักเรียนทำงานสอน “ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ขณะที่ยังมีเวลาเหลืออยู่.”
เรื่องที่เด่นอื่น ๆ ของระเบียบวาระ
อลิกซ์ ไรน์มูเอลเลอร์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการพิมพ์ได้บรรยายในหัวเรื่อง “พระยะโฮวาจะช่วยคุณให้กล้าหาญ.” เขากล่าวว่า ถ้ามิชชันนารีพึ่งอาศัยอำนาจของพระยะโฮวา พระองค์จะช่วยเขาให้รู้กำลังของตนเอง, ยอมรับความอ่อนแอของตน, เผชิญหน้ากับความกลัว, และถวายสิ่งดีที่สุดแด่พระเจ้า.
แซม โรเบิร์ตสัน และ วิลเลียม ซามูเอลสัน ผู้สอนสองคนจากแผนกโรงเรียนตามระบอบของพระเจ้าได้บรรยายแก่นักเรียนด้วย. บราเดอร์โรเบิร์ตสันได้บรรยายในหัวเรื่อง “เราอยู่กับเจ้า” โดยอาศัยยะซายา 41:10. เขากล่าวว่า มิชชันนารีจะมีความยินดีมากมาย แต่พวกเขาก็จะมีปัญหาด้วยเช่นกัน. พวกเขาสามารถรับมือได้ถ้าเลียนแบบกษัตริย์ดาวิดที่ร้องทูลพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักในคำอธิษฐาน. (บทเพลงสรรเสริญ 34:4, 6, 17, 19) คำบรรยายของบราเดอร์ซามูเอลสันได้เน้นความจำเป็นที่จะพัฒนาความสามารถด้านการคิดต่อ ๆ ไป. มิชชันนารีที่ทำเช่นนั้นจะไม่แสดงปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อคำพูดที่ไม่กรุณาและจะไม่โกรธง่าย.—สุภาษิต 2:10, 11
จิม แมนซ์ ผู้ช่วยคณะกรรมการฝ่ายการเขียนได้สัมภาษณ์สมาชิกคณะกรรมการสาขาคนหนึ่งจากสาธารณรัฐจอร์เจียและอีกคนหนึ่งจากฮอนดูรัส และสมาชิกกรรมการประเทศจากสาธารณรัฐทาจิกิสถาน. พี่น้องที่มีประสบการณ์เหล่านี้ได้ให้คำแนะนำแก่มิชชันนารีเกี่ยวกับวิธีสร้างมิตรภาพกับผู้คนที่อาจเป็นปฏิปักษ์โดย “เอาชนะความชั่วด้วยความดี.” (โรม 12:21) มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนอีกคนหนึ่งของชั้นเรียนเป็นผู้นำในการพิจารณาที่มีชีวิตชีวาเกี่ยวกับประสบการณ์ต่าง ๆ ในงานประกาศของนักเรียนในช่วงที่รับการอบรมในกิเลียด. ส่วนของเขามีหัวเรื่องที่กระตุ้นความคิดที่ว่า “มีอะไรให้ฉันช่วยไหม?”
ประธานกล่าวปิดท้ายระเบียบวาระโดยยกเนื้อร้องจากเพลงใหม่ที่ชื่อว่า “นึกภาพตัวเองเมื่อทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่.” ผู้เข้าร่วมทั้ง 6,509 คนกลับไปโดยมีความตั้งใจมากกว่าแต่ก่อนที่จะให้คำพยานเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระบุตรของพระองค์ “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.”
[ตาราง/แผนที่หน้า 31]
สถิติชั้นเรียน
นักเรียนมาจาก 8 ประเทศ
นักเรียน 56 คน
คู่สมรส 28 คู่
เฉลี่ยอายุ 33.6 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับบัพติสมา 18.3 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับใช้เต็มเวลา 13.6 ปี
[แผนที่]
(ดูรายละเอียดในหน้าวารสาร)
นักเรียนได้รับมอบหมายไปยัง 22 ประเทศดังแสดงไว้ข้างล่าง
เขตมอบหมายของมิชชันนารี
จาเมกา
เฮติ
นิการากัว
คอสตาริกา
ปานามา
คูราเซา
กายอานา
เปรู
โบลิเวีย
ปารากวัย
ชิลี
มอลโดวา
เซอร์เบีย
แอลเบเนีย
โกตดิวัวร์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ยูกันดา
บุรุนดี
แทนซาเนีย
โมซัมบิก
เนปาล
กัมพูชา
[ภาพหน้า 31]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 127 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้นับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และรายชื่อเรียงลำดับจากซ้ายไปขวาของแต่ละแถว.
(1) Marshall T.; Prudent L.; Mashburn A.; Rosenström S.; Testa A.; Takeyama M.; Sisk M.
(2) Grooms K.; Miura S.; Camacho M.; Rozas S.; Burch M.; Meza I.; Young G.; Geraghty S.
(3) Bonilla C.; Knaller D.; Parrales R.; Hotti S.; Takada A.; Tournade M.; Sopel C.
(4) Miura Y.; Parrales K.; Prudent K.; Colburn S.; Willis L.; Vääränen A.; Sisk B.; Takada R.
(5) Grooms J.; Vääränen M.; Geraghty B.; Stackhouse R.; Wilson A.; Bonell E.; Camacho D.; Meza R.; Bonell M.
(6) Takeyama S.; Testa G.; Colburn T.; Mashburn C.; Willis W.; Tournade L.; Burch J.; Stackhouse J.
(7) Wilson J.; Young J.; Marshall E.; Rozas M.; Knaller J.; Hotti N.; Rosenström A.; Sopel J.; Bonilla O.