คุณรู้ไหม?
คุณรู้ไหม?
ใครคือ ‘ผู้ที่อยู่ในราชสำนักของซีซาร์’ ซึ่งฝากความคิดถึงผ่านทางเปาโลมายังคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอย?
▪ อัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายไปถึงประชาคมฟิลิปปอยขณะที่ท่านอยู่ในกรุงโรมราว ๆ ปีสากลศักราช 60 ถึง 61 และซีซาร์ที่ท่านกล่าวถึงคือจักรพรรดิเนโร. แต่ใครคือคนในราชสำนักของเนโรที่ฝากความคิดถึงมายังคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอย?—ฟิลิปปอย 4:22
คงไม่ถูกนักหากจะสรุปว่า ผู้ที่อยู่ใน “ราชสำนักของซีซาร์” ต้องหมายถึงญาติใกล้ชิดของจักรพรรดิเท่านั้น. ที่จริง คำนี้มีความหมายรวมไปถึงทุกคนที่ทำงานรับใช้จักรพรรดิ ไม่ว่าจะเป็นทาสหรืออดีตทาส ทั้งที่อยู่ในกรุงโรมและในเมืองอื่น ๆ ด้วย. ดังนั้น ผู้ที่อยู่ใน “ราชสำนักของซีซาร์” จึงรวมถึงข้าราชบริพารนับพัน ๆ คน. พวกเขาบางคนทำงานรับใช้ที่ต่ำต้อย แต่บางคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบสูง. คนเหล่านี้ทำงานอยู่ในราชวังของจักรพรรดิและในที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจักรพรรดิ. บางคนอาจทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินด้วยซ้ำ.
ดูเหมือนว่ามีข้าราชบริพารบางคนในกรุงโรมได้เข้ามาเป็นคริสเตียน. แต่จะเป็นเพราะงานประกาศของเปาโลในกรุงโรมหรือไม่นั้น เราไม่ทราบแน่ชัด. ไม่ว่าจะอย่างไร เห็นได้ชัดว่าพวกเขาสนใจประชาคมฟิลิปปอยเป็นพิเศษ. เนื่องจากฟิลิปปอยเป็นเมืองในอาณัติของโรมและมีทหารกับข้าราชการที่ปลดเกษียณแล้วอาศัยอยู่มาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าคริสเตียนบางคนในฟิลิปปอยเป็นเพื่อนของผู้ที่ฝากความคิดถึงมาทางเปาโล.
กฎหมายเรื่องการสมรสกับพี่หรือน้องชายของสามีที่กล่าวถึงในพระบัญญัติของโมเซกำหนดไว้อย่างไร?
▪ ในอิสราเอลโบราณ ถ้าชายคนใดตายไปโดยไม่มีบุตรชาย ตามธรรมเนียมแล้วผู้ที่เป็นพี่หรือน้องชายของเขาจะต้องแต่งงานกับภรรยาที่เป็นม่ายเพื่อจะมีบุตรสืบสกุลของผู้ตาย. (เยเนซิศ 38:8) ต่อมา การจัดเตรียมนี้ถูกรวมอยู่ในพระบัญญัติของโมเซ ซึ่งรู้จักกันว่ากฎหมายเรื่องการสมรสกับพี่หรือน้องชายของสามี. (พระบัญญัติ 25:5, 6) การกระทำของโบอัศที่กล่าวถึงในหนังสือประวัตินางรูธแสดงให้เห็นว่า ถ้าชายที่เสียชีวิตไม่มีพี่หรือน้องชาย ญาติในวงศ์ตระกูลของเขาที่เป็นผู้ชายจะต้องรับหน้าที่นี้.—ประวัตินางรูธ 1:3, 4; 2:19, 20; 4:1-6
การสมรสกับพี่หรือน้องชายของสามีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของพระเยซูด้วย ดังที่เห็นได้จากคำพูดของพวกซาดูกายที่บันทึกในมาระโก 12:20-22. นักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกชื่อฟลาวิอุส โยเซฟุสกล่าวว่า ธรรมเนียมปฏิบัตินี้นอกจากจะช่วยให้ผู้เสียชีวิตมีบุตรสืบสกุลแล้ว ยังรักษาทรัพย์สินของตระกูลไม่ให้ตกเป็นของผู้อื่น รวมทั้งช่วยให้ผู้ที่เป็นม่ายได้รับการดูแลเอาใจใส่. ย้อนไปในสมัยนั้น ภรรยาไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของสามี. แต่บุตรที่เกิดจากการสมรสกับพี่หรือน้องชายของสามีจะได้รับมรดกของพ่อที่เสียชีวิตไป.
กฎหมายนี้ยอมให้ญาติปฏิเสธความรับผิดชอบในการแต่งงานกับภรรยาของผู้เสียชีวิตได้. แต่ถ้าชายคนใดปฏิเสธที่จะ “สืบวงศ์วานเผ่าพันธุ์ของพี่น้อง” เขาจะถูกผู้คนในสังคมดูหมิ่นเหยียดหยาม.—พระบัญญัติ 25:7-10; ประวัตินางรูธ 4:7, 8