วันแห่งความคาดหวังและความปลื้มปีติ
วันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนกิเลียดรุ่นที่ 130
วันแห่งความคาดหวังและความปลื้มปีติ
วันสำเร็จการศึกษาของนักเรียนโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดรุ่นที่ 130 เป็นวันแห่งความคาดหวังและความปลื้มปีติอย่างแท้จริง. วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม 2011 ผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 8,500 คนมาชุมนุมกันในโอกาสนี้ ซึ่งรวมทั้งนักเรียนกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ของพวกเขา. ทุกคนต่างรอคอยให้ถึงวันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นวันสำเร็จการศึกษาแล้ว วันนี้พวกเขายังจะได้รู้ว่ามิชชันนารีที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเหล่านี้จะถูกส่งไปยังประเทศใดบ้างเพื่อสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
“ความสุขย่อมมีแก่ผู้ที่คอยท่า” พระยะโฮวา
ถ้อยคำที่ให้กำลังใจนี้มาจากยะซายา 30:18 และเป็นหัวเรื่องคำบรรยายของเจฟฟรีย์ แจ็กสัน สมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาและประธานการประชุม. ในคำบรรยายที่อบอุ่นและแฝงอารมณ์ขันนี้ บราเดอร์แจ็กสันได้แสดงความยินดีและชมเชยนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างหนักจากโรงเรียนกิเลียด และให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะทำได้ดีเช่นกันในวันสำเร็จการศึกษานี้. มีอะไรบ้างที่นักเรียนอาจคาดหมายได้เมื่อออกไปรับใช้ในเขตงานจริง? เขาให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์สามประการจากยะซายา 30:18-21.
ประการแรก บราเดอร์แจ็กสันกล่าวว่า “คุณคาดหมายได้ว่าพระยะโฮวาจะฟังคำอธิษฐานของคุณ.” เขาชี้ถึงคำรับรองในข้อ 19 ที่ว่า “พอได้ยินเสียงเจ้าร้องไห้ [พระเจ้า] จะทรงเมตตาแก่เจ้า.” บราเดอร์แจ็กสันชวนให้สังเกตคำสรรพนาม “เจ้า” ในประโยคนี้. ในภาษาฮีบรูคำนี้อยู่ในรูปเอกพจน์ไม่ใช่พหูพจน์ ซึ่งแสดงว่าพระยะโฮวาจะตอบคำอธิษฐานของเราเป็นรายบุคคล. “ในฐานะพระบิดา พระยะโฮวาจะไม่ถามว่า ‘ทำไมเจ้าไม่เข้มแข็งเหมือนคนอื่น ๆ บ้าง?’ แทนที่จะถามเช่นนั้น พระองค์จะฟังเราแต่ละคนด้วยความสนพระทัย และจะทรงตอบคำอธิษฐานของเรา.”
ประการที่สอง ผู้บรรยายยอมรับว่าเราคาดหมายได้ว่าจะต้องเจอปัญหาหลายอย่าง. “พระยะโฮวาไม่ได้สัญญาว่าชีวิตของเราจะราบรื่น แต่พระองค์สัญญาว่าจะช่วยเรา.” ดังที่กล่าวในข้อ 20 พระเจ้าบอกล่วงหน้าว่าเมื่อชาวอิสราเอลถูกล้อม พวกเขาจะต้องเจอกับความทุกข์และการกดขี่ข่มเหงทุกวันจนชาชิน ราวกับว่าความทุกข์นั้นเป็นขนมปังและน้ำที่พวกเขากินอยู่ทุกวัน. แต่พระยะโฮวาก็พร้อมเสมอที่จะช่วยเหลือประชาชนของพระองค์. นักเรียนกิเลียดก็ต้องเจอกับปัญหาและข้อท้าทายต่าง ๆ เช่นกัน แม้จะไม่ใช่อย่างที่พวกเขาคาดคิด! บราเดอร์แจ็กสันกล่าวอีกว่า “แต่คุณสามารถ คาดหมายได้ว่าพระยะโฮวาจะคอยช่วยเหลือคุณเพื่อคุณจะรับมือกับปัญหาทุกอย่างได้.”
ประการที่สาม บราเดอร์แจ็กสันให้ข้อเตือนใจแก่นักเรียนจากข้อ 20 และ 21 ว่า “คุณคาดหมายได้เลยว่าจะได้รับการชี้นำ. ดังนั้น จงมองหาว่าการชี้นำจะมาทางไหน!” เขากล่าวว่าทุกวันนี้คริสเตียนทุกคนต้องฟังอย่างตั้งใจเมื่อพระยะโฮวาตรัสผ่านทางคัมภีร์ไบเบิลและหนังสืออื่น ๆ ที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก. ผู้บรรยายสนับสนุนนักเรียนทุกคนอย่างอบอุ่นให้อ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำทุกวัน เพราะนั่นหมายถึงชีวิต.
“จงให้ความกลัวเกรงพระยะโฮวาสวมทับพวกท่านไว้”
แอนโทนี มอร์ริส สมาชิกคณะกรรมการปกครองอธิบายความหมายของสำนวน “ความกลัวเกรงพระยะโฮวา” ในพระคัมภีร์. (2 โครนิกา 19:7) สำนวนนี้ไม่ได้หมายถึงความหวาดกลัวจนขนลุกขนพอง แต่หมายถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งถูกต้อง เป็นความยำเกรงสุดซึ้งอย่างจริงใจจนถึงกับตัวสั่นด้วยความประหม่า. บราเดอร์มอร์ริสกระตุ้นนักเรียนว่า “จงมีความเกรงกลัวเช่นนั้นเสมอเมื่อคุณไปยังเขตงานมิชชันนารีที่ได้รับมอบหมาย.” พวก เขาจะแสดงความยำเกรงพระยะโฮวาเช่นนั้นได้อย่างไร? ผู้บรรยายชี้ถึงสองวิธีที่จะทำได้.
วิธีแรก บราเดอร์มอร์ริสสนับสนุนให้นักเรียนเอาคำแนะนำในยาโกโบ 1:19 ไปใช้ที่ว่า “[จง] ไวในการฟัง ช้าในการพูด.” เขากล่าวว่านักเรียนได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างตลอดห้าเดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อไปยังเขตงานที่ได้รับมอบหมายพวกเขาต้องระวังที่จะไม่โอ้อวดความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา. เขาบอกว่า “คุณต้องฟังก่อน. จงฟังพี่น้องในประชาคมและฟังคนที่นำหน้าในประเทศที่คุณถูกส่งไปรับใช้. จงฟังว่าพวกเขาพูดถึงประเทศและวัฒนธรรมของเขาอย่างไร. อย่าอายที่จะพูดว่า ‘ผมไม่รู้.’ ถ้าคุณเข้าใจจุดมุ่งหมายของการอบรมนี้จริง ๆ คุณก็จะเห็นว่าแม้คุณได้เรียนรู้อะไรมามากมายแล้ว แต่ก็ยังมีอีกมากที่คุณต้องเรียนรู้ต่อไป.”
วิธีที่สอง บราเดอร์มอร์ริสอ่านสุภาษิต 27:21 (ฉบับ R73) ดังนี้: “เบ้ามีไว้สำหรับเงิน เตาถลุงมีไว้สำหรับทองคำ คำสรรเสริญของคนจะพิสูจน์คน.” เขาอธิบายว่าเช่นเดียวกับทองคำและเงินที่ต้องผ่านการถลุงหรือทำให้บริสุทธิ์ เราเองก็อาจถูกทดสอบด้วยคำสรรเสริญเช่นกัน. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? คำสรรเสริญอาจเป็นการทดสอบว่าเราเป็นคนแบบไหน. คำสรรเสริญอาจทำให้ทะนงตัวและสูญเสียความโปรดปรานจากพระเจ้า หรืออาจกระตุ้นให้สำนึกว่าเราเป็นหนี้พระยะโฮวาและตั้งใจมากขึ้นที่จะทำตามมาตรฐานของพระองค์อย่างเคร่งครัด. ดังนั้น บราเดอร์มอร์ริสจึงสนับสนุนนักเรียนให้มีทัศนะที่ถูกต้องเมื่อได้รับคำสรรเสริญจากคนอื่น คือมองว่าเป็นโอกาสที่จะแสดง “ความกลัวเกรงพระยะโฮวา.”
“เห็นคุณค่างานที่คุณได้รับมอบหมาย”
กาย เพียร์ซสมาชิกคณะกรรมการปกครองเป็นผู้ให้คำบรรยายหลักของระเบียบวาระนี้. ในคำบรรยายที่มีหัวเรื่องดังข้างต้น เขาอธิบายว่า “มิชชันนารี” หมายถึง “ผู้ที่ถูกส่งออกไปปฏิบัติภารกิจ.” เขาให้ข้อสังเกตว่า มีมิชชันนารีหลายประเภทที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ทั่วโลก. มิชชันนารีหลายกลุ่มเน้นเรื่องการรักษาโรคและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในโลกโดยนโยบายทางการเมือง. แต่เขากล่าวว่า “พวกคุณต่างจากมิชชันนารีเหล่านั้น.” ในทางใด?
ระหว่างการฝึกอบรม พวกนักเรียนได้ศึกษาเรื่องราวหลายตอนในคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวถึงการรักษาโรค. เมื่อพระเยซูปลุกเด็กหญิงคนหนึ่งให้ฟื้นขึ้นจากตาย พ่อแม่ของเธอก็ “ตื่นเต้นดีใจยิ่งนัก.” (มาระโก 5:42) อีกครั้งหนึ่ง ตอนที่พระเยซูรักษาพวกคนตาบอดให้หายโดยการอัศจรรย์ พวกเขาก็พากันยินดีอย่างมาก. เหตุผลอย่างหนึ่งที่พระคริสต์ทำการอัศจรรย์เช่นนั้นก็เพื่อแสดงให้พวกเราในทุกวันนี้เห็นว่าพระองค์จะทำอะไรให้สำเร็จในโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง. เมื่อถึงเวลานั้น “ชนฝูงใหญ่” หรือมนุษย์ที่ชอบธรรมซึ่งรอดชีวิตผ่านอวสานของระบบชั่วนี้จะได้รับการเยียวยารักษาให้หายจากโรคภัยทุกชนิด. (วิวรณ์ 7:9, 14) คนเหล่านี้ซึ่งมีสุขภาพสมบูรณ์เต็มที่จะคอยต้อนรับผู้เป็นที่รักของพวกเขาซึ่งจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายพร้อมกับร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์เช่นกัน. ลองคิดดูสิว่า พวกเขาจะชื่นชมยินดีสักเพียงไร!
อย่างไรก็ตาม บราเดอร์เพียร์ซอธิบายว่าการเยียวยารักษาด้านร่างกายไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด. คนป่วยที่พระเยซูเคยรักษาให้หาย ในที่สุดก็ป่วยอีก. คนตายที่พระเยซูเคยปลุกให้ฟื้น ในที่สุดก็ตายอีก. แม้แต่คนตาบอดที่พระองค์รักษาให้หาย ในที่สุดก็มองไม่เห็นอีก อย่างน้อยก็ตอนที่เขาตาย. แต่พระเยซูทรงให้การรักษาที่สำคัญกว่านั้นมากคือการช่วยผู้คนให้กลับมามีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้า. มิชชันนารีจากโรงเรียนกิเลียดก็มีภารกิจเช่นเดียวกับพระเยซู. มิชชันนารีเหล่านั้นช่วยผู้คนให้กลับมาคืนดีกับพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์เพื่อพวกเขาจะมีชีวิตในสายพระเนตรของพระเจ้า. เฉพาะคนที่ได้รับการช่วยเหลือให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าเท่านั้นจะได้รับชีวิตนิรันดร์. บราเดอร์เพียร์ซกล่าวว่า “การช่วยผู้คนให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าจะทำให้พระองค์ได้รับคำสรรเสริญ. ถ้าคุณทำเช่นนั้น คุณก็จะประสบความสำเร็จในภารกิจของคุณ.”
จุดเด่นอีกสามจุดจากระเบียบวาระในวันนั้น
“วันนี้จะเป็นวันที่ดีไหม?” โรเบิร์ต เรนส์ สมาชิกคณะกรรมการสาขาสหรัฐ ตั้งคำถามได้เหมาะกับเวลาจริง ๆ. เขาสนับสนุนให้นักเรียนทำแต่ละวันให้เป็นวันที่ดีเมื่อออกไปรับใช้ในเขตงานที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เต็มที่ มองหาคำแนะนำในพระคำของพระเจ้าเมื่อมีความวิตกกังวล และหมายพึ่งพระยะโฮวาโดยการอธิษฐาน.
1 โยฮัน 2:7, 8 ขึ้นมาพิจารณา. ในข้อนั้นอัครสาวกโยฮันกล่าวถึง “บัญญัติเก่า” ซึ่งเป็น “บัญญัติใหม่” ด้วย. บัญญัติทั้งสองนี้ก็คือบัญญัติเดียวกันที่บอกให้สาวกของพระคริสต์รักกันอย่างไม่เห็นแก่ตัวและมีน้ำใจเสียสละ. (โยฮัน 13:34, 35) บัญญัตินี้เป็นบัญญัติเก่าเพราะพระคริสต์เองเคยให้บัญญัตินี้แก่สาวกของพระองค์เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านั้น แต่บัญญัตินี้ก็เป็นบัญญัติใหม่ด้วยเพราะคริสเตียนต้องเผชิญปัญหาและข้อท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องแสดงความรักต่อกันให้มากยิ่งขึ้นและในวิธีใหม่ ๆ. มิชชันนารีเองก็ต้องเผชิญกับสภาพการณ์ใหม่และจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะแสดงความรักในวิธีใหม่ ๆ. อะไรจะช่วยให้พวกเขาทำเช่นนั้นได้?
“คุณจะทำให้บัญญัติเก่ากลายเป็นบัญญัติใหม่ได้ไหม?” มาร์ก นูแมร์ ผู้สอนของโรงเรียนกิเลียดตั้งคำถามนี้ในคำบรรยายของเขา. เขายกบราเดอร์นูแมร์กระตุ้นเตือนว่า “ถ้าคุณเกลียดอะไรก็อย่าเป็นอย่างนั้นเสียเอง.” เขาเตือนว่าถ้าเราเห็นใครทำอะไรที่เราไม่ชอบ แต่เราก็ทำอย่างนั้น สุดท้ายเราก็จะมีนิสัยแบบที่เราเกลียดซึ่งเป็นผลเสียต่อตัวเราเอง. ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ตอบโต้ด้วยการกระทำที่ไม่ดีแต่หาวิธีใหม่ ๆ ที่จะแสดงความรัก เราก็จะส่อง “ความสว่างแท้” และขับไล่สิ่งไม่ดีซึ่งเปรียบเหมือนความมืดออกไปได้.
“แบกของหนัก.” ไมเคิล เบอร์เนตต์ ผู้สอนอีกคนหนึ่งของโรงเรียนกิเลียดบรรยายหัวเรื่องดังกล่าว. เขาเล่าว่าผู้คนในทวีปแอฟริกามักจะแบกของหนักโดยเทินของไว้บนศีรษะ. พวกเขาใช้กาตา ซึ่งเป็นผ้าที่ขดเป็นวงเล็ก ๆ วางไว้บนศีรษะเพื่อรองรับของหนัก. ขดผ้านี้ช่วยให้พวกเขาทรงตัวได้ดีและเดินอย่างสง่างาม. เมื่อไปยังเขตงานต่างประเทศ มิชชันนารีจากโรงเรียนกิเลียดก็มีหน้าที่รับผิดชอบซึ่งเป็นเหมือนของหนักที่เขาต้องแบก แต่พวกเขาได้รับสิ่งซึ่งเป็นเหมือนกาตา นั่นคือการฝึกอบรมที่ดีเยี่ยมตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. ถ้าพวกเขานำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ พวกเขาก็จะสามารถแบกภาระต่าง ๆ ได้อย่างสมดุล.
ประสบการณ์และการสัมภาษณ์
การฝึกอบรมจากโรงเรียนกิเลียดยังรวมถึงการออกไปทำงานเผยแพร่ร่วมกับประชาคมของพยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นด้วย. วิลเลียม แซมมูเอลสัน ผู้ดูแลแผนกโรงเรียนตามระบอบของพระเจ้าได้เล่าประสบการณ์ของนักเรียนบางคนในคำบรรยายที่ชื่อว่า “อย่าให้มือของท่านว่างงาน.” (ท่านผู้ประกาศ 11:6, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) นักเรียนได้สาธิตอย่างมีชีวิตชีวาจากประสบการณ์จริงซึ่งแสดงว่าพวกเขาได้ทำงานรับใช้อย่างขยันขันแข็ง. พวกเขาหาโอกาสบอกข่าวดี ไม่ว่าบนเครื่องบิน ในร้านอาหาร หรือที่สถานีบริการน้ำมัน. พวกเขาใช้วิธีต่าง ๆ ทั้งการประกาศตามบ้าน ให้คำพยานเมื่อสบโอกาส และเขียนจดหมาย. มือของพวกเขาไม่เคยว่าง และผลที่ได้รับก็ยอดเยี่ยมจริง ๆ.
จากนั้น เคนเนท สโตวอลล์ ตัวแทนของโรงเรียนกิเลียดได้สัมภาษณ์พี่น้องชายสามคนซึ่งเป็นอดีตมิชชันนารีที่มีประสบการณ์มาก คือแบรี ฮิลล์ ซึ่งเคยรับใช้ในเอกวาดอร์และสาธารณรัฐโดมินิกัน, เอดดี โมบลี รับใช้ในโกตดิวัวร์, และแท็บ ฮอนส์เบอร์เกอร์ รับใช้ในเซเนกัล เบนิน และเฮติ. ส่วนสัมภาษณ์นี้มีหัวเรื่องว่า “จงลองดูพระยะโฮวาและชื่นชมกับพระพรมากมาย” และประสบการณ์ของพี่น้องทั้งสามคนสนับสนุนหัวเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ. (มาลาคี 3:10) ตัวอย่างเช่น บราเดอร์ฮิลล์เล่าว่าเขากับภรรยาต้องรับมือกับสภาพอากาศในเอกวาดอร์ ซึ่งบางครั้งก็ร้อนและแห้งแล้งมากจนมีแต่ฝุ่น แต่บางครั้งก็ร้อนและมีฝนตกชุกจนพื้นดินเป็นโคลน. เขาเล่าว่าตลอดสองปีครึ่งที่อยู่ที่นั่นพวกเขาต้องตักน้ำอาบ. แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดจะย้ายออกจากที่นั่น. พวกเขาถือว่างานมอบหมายที่ได้รับเป็นพระพรจากพระยะโฮวา. เขาบอกว่า “งานนี้เป็นชีวิตของเรา.”
ในตอนท้ายของระเบียบวาระ ตัวแทนนักเรียนได้อ่านจดหมายขอบคุณจากหัวใจที่เขียนได้อย่างซาบซึ้ง. จดหมายนั้นกล่าวว่า “ความเชื่อของเราเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เราก็ยังต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ.” นักเรียนทุกคนได้รับใบประกาศนียบัตรและได้รับมอบหมายให้ไปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ แทบทุกทวีป. บราเดอร์แจ็กสันกล่าวปิดการประชุมโดยให้คำรับรองกับนักเรียนว่า พวกเขาคาดหมายได้ว่าจะเห็นความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาในวันข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ. ผู้เข้าร่วมทุกคนกลับไปพร้อมกับความปลื้มปีติและความคาดหวังที่เจิดจ้ายิ่งขึ้น. ไม่มีข้อสงสัยว่า พระยะโฮวาจะใช้มิชชันนารีใหม่เหล่านี้เพื่อทำสิ่งดี ๆ อีกมากมาย.
[ตาราง/แผนที่หน้า 31]
สถิติชั้นเรียน
นักเรียนมาจาก 9 ประเทศ
เฉลี่ยอายุ 34.0 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับบัพติสมา 18.6 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับใช้เต็มเวลา 13.1 ปี
[แผนที่]
(ดูรายละเอียดจากวารสาร)
นักเรียนได้รับมอบหมายไปยังประเทศต่าง ๆ ดังแสดงไว้ข้างล่าง
เขตมอบหมายของมิชชันนารี
อาร์เจนตินา
อาร์เมเนีย
บูร์กินาฟาโซ
บุรุนดี
คองโก (กินชาซา)
สาธารณรัฐเช็ก
เฮติ
ฮ่องกง
อินโดนีเซีย
เคนยา
ลิทัวเนีย
มาเลเซีย
โมซัมบิก
เนปาล
ปาปัวนิวกินี
โรมาเนีย
เซเนกัล
แทนซาเนีย
ยูกันดา
ซิมบับเว
[ภาพหน้า 31]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 130 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้นับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และเรียงลำดับจากซ้ายไปขวา.
(1) Molina Z.; Bassolino S.; Alatsis C.; Arroyo A.; Niño L.; Merkling S.; Clark M.
(2) Little C.; Tibaudo S.; Jakobsson S.; Moreno J.; Rodriguez A.; Lee K.; Cárdenas H.; Aguilar L.
(3) Clairbush A.; Polley A.; Caldwell S.; Adame J.; Hildebrandt S.; Shoemaker I.; Grohman N.; Galvez G.
(4) Clark J.; Bassolino A.; Packham K.; Adame J.; Knaus M.; Niño M.; Moreno R.; Galvez J.
(5) Rodriguez D.; Geynes M.; Molina J.; Aguilar A.; Alatsis I.; Manno A.; Grohman R.; Packham J.
(6) Geynes S.; Cárdenas M.; Arroyo C.; Manno C.; Merkling J.; Lee H.; Clairbush X.; Jakobsson P.
(7) Little J.; Hildebrandt B.; Shoemaker M.; Knaus K.; Caldwell J.; Tibaudo F.; Polley C.