คัฟเวอร์เดลกับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษ
คัฟเวอร์เดลกับคัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษ
คัมภีร์ไบเบิลครบชุดฉบับแรกที่พิมพ์ในภาษาอังกฤษไม่ได้บอกชื่อผู้แปลเอาไว้. แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้นั้นคือไมลส์ คัฟเวอร์เดล และผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปี 1535. ในเวลานั้น วิลเลียม ทินเดล เพื่อนของเขาถูกจำคุกเพราะพยายามแปลคัมภีร์ไบเบิล. ทินเดลถูกประหารชีวิตในปีต่อมา.
งานแปลของคัฟเวอร์เดลส่วนหนึ่งอาศัยงานที่ทินเดลทำไว้. คัฟเวอร์เดลแปลคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จได้โดยไม่ถูกประหารได้อย่างไรในขณะที่ผู้แปลพระคัมภีร์หลายคนในเวลานั้นต้องเอาชีวิตเข้าแลก? และคัฟเวอร์เดลฝากผลงานอะไรไว้?
เมล็ดที่ถูกหว่าน
ไมลส์ คัฟเวอร์เดลเกิดที่ยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ ประมาณปี 1488. เขาเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกในปี 1514. ต่อมา โรเบิร์ต บานส์ ซึ่งเป็นครูของคัฟเวอร์เดลได้จุดประกายให้เขาเริ่มสนใจการปฏิรูปศาสนา. ในปี 1528 บานส์หนีไปยุโรป และอีกสิบสองปีต่อมา นักปฏิรูปผู้นี้ถูกผู้นำคริสตจักรประหารด้วยการเผาบนหลัก.
พอถึงปี 1528 คัฟเวอร์เดลเริ่มเทศน์โจมตีพิธีกรรมต่าง ๆ ของคาทอลิกที่ไม่เป็นไปตามหลักคำสอนในพระคัมภีร์ เช่น การนมัสการรูปเคารพ การสารภาพบาป และพิธีมิสซา. เนื่องจากรู้ว่าชีวิตของเขากำลังตกอยู่ในอันตราย คัฟเวอร์เดลจึงหนีจากอังกฤษไปยุโรปและอยู่ที่นั่นประมาณเจ็ดปี.
เขาไปอาศัยอยู่กับวิลเลียม ทินเดลที่ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี. ทั้งสองต่างก็ต้องการแปลคัมภีร์ไบเบิลให้คนทั่วไปได้อ่าน. ในช่วงนี้เอง คัฟเวอร์เดลได้เรียนรู้ศิลปะการแปลคัมภีร์ไบเบิลจากทินเดล.
ช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง
เวลานั้น ในอังกฤษเองก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลง. ในปี 1534 กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ได้ท้าทายอำนาจโปปในโรมอย่างเปิดเผย. นอกจากนั้น กษัตริย์เฮนรียังอยากให้สามัญชนมีโอกาสได้อ่านคัมภีร์ไบเบิลในภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งต่อมาคัฟเวอร์เดลได้เป็นผู้ทำงานนี้. คัฟเวอร์เดลช่ำชองในการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีความรู้ในภาษาฮีบรูและกรีกเหมือนกับทินเดลซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและที่ปรึกษาของเขา. คัฟเวอร์เดลนำฉบับแปลของทินเดลมาปรับปรุงแก้ไขโดยอาศัยฉบับแปลภาษาละตินและเยอรมันเป็นหลัก.
คัมภีร์ไบเบิลที่คัฟเวอร์เดลแปลได้รับการตีพิมพ์ที่ยุโรปในปี 1535 หนึ่งปีก่อนทินเดลจะถูกประหาร. ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้มีการเขียนคำอุทิศแด่กษัตริย์เฮนรีด้วยถ้อยคำสรรเสริญเยินยออย่างเลิศหรู. คัฟเวอร์เดลรับรองกับกษัตริย์เฮนรีว่าจะไม่ใส่เชิงอรรถของทินเดลลงในพระคัมภีร์ของเขา ซึ่งเชิงอรรถนี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของความขัดแย้งเพราะมีข้อความที่แสดงว่าคำสอนของคริสตจักรคาทอลิกไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. ดังนั้น กษัตริย์เฮนรีจึงเห็นชอบกับการตีพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้. สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ.
ต่อมา ในปี 1537 มีคัมภีร์ไบเบิลของคัฟเวอร์เดลที่พิมพ์ในประเทศอังกฤษเผยโฉมออกมาอีกสองฉบับ. ในปีเดียวกันนั้นเอง กษัตริย์เฮนรีได้รับรองพระคัมภีร์อีกฉบับหนึ่งที่เรียกว่าแมททิวไบเบิลซึ่งพิมพ์ที่เมืองแอนทเวิร์ป.
คัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ได้รวมเอาผลงานของทินเดลและคัฟเวอร์เดลไว้ด้วยกัน.หลังจากนั้นไม่นาน โทมัส ครอมเวลล์ ที่ปรึกษาคนสำคัญของกษัตริย์ได้มองเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพระคัมภีร์ฉบับแมททิวไบเบิล และเขาได้รับการสนับสนุนจากแครนเมอร์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี. ดังนั้น ครอมเวลล์จึงขอให้คัฟเวอร์เดลตรวจแก้พระคัมภีร์ฉบับนี้ทั้งหมด. ต่อมา ในปี 1539 กษัตริย์เฮนรีได้อนุญาตให้พิมพ์พระคัมภีร์ฉบับใหม่นี้ที่เรียกว่าเกรทไบเบิล และสั่งให้นำไปวางไว้ตามโบสถ์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้อ่าน. คัมภีร์ไบเบิลที่มีขนาดใหญ่โตนี้ได้รับการตอบรับด้วยความตื่นเต้นดีใจจากผู้คนทั่วประเทศ.
มรดกที่คัฟเวอร์เดลได้ละไว้
หลังจากกษัตริย์เฮนรีที่ 8 สิ้นพระชนม์และกษัตริย์องค์ใหม่คือเอดเวิร์ดที่ 6 ขึ้นครองราชย์ คัฟเวอร์เดลได้รับการแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งเอ็กเซเทอร์ในปี 1551. อย่างไรก็ตาม เมื่อราชินีแมรีซึ่งเป็นคาทอลิกขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์เอดเวิร์ดในปี 1553 คัฟเวอร์เดลต้องหนีไปเดนมาร์ก. ต่อมา เขาได้ย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์และทำงานแปลต่อที่นั่น. นอกจากนี้ เขายังตีพิมพ์ส่วนที่เรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่ในภาษาอังกฤษอีกสามฉบับซึ่งมีข้อมูลอ้างอิงภาษาละตินให้นักเทศน์นักบวชศึกษาค้นคว้าได้.
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลของคัฟเวอร์เดล คือเขาไม่ได้ใช้คำ “ยะโฮวา” ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าเลย. ทินเดลใช้พระนามของพระเจ้ามากกว่า 20 ครั้งในฉบับแปลภาคภาษาฮีบรูของเขา. เจ. เอฟ. โมซลีย์ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือคัฟเวอร์เดลกับคัมภีร์ไบเบิลของเขา ว่า “ในปี 1535 คัฟเวอร์เดลปฏิเสธที่จะใช้คำนี้ [ยะโฮวา] อย่างสิ้นเชิง.” กระนั้น ในเวลาต่อมาเขาได้ใส่พระนามยะโฮวาของพระเจ้าไว้สามครั้งในพระคัมภีร์ฉบับเกรทไบเบิล.
อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลของคัฟเวอร์เดลเป็นคัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับแรกที่มีเททรากรัมมาทอน หรือพระนามของพระเจ้าในรูปอักษรฮีบรูสี่ตัวอยู่ที่หัวกระดาษในหน้าแรกของพระคัมภีร์. ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้คือ เป็นฉบับแรกที่รวบรวมหนังสืออธิกธรรมทั้งหมดไว้ในภาคผนวกแทนที่จะแทรกไว้ระหว่างหนังสือเล่มต่าง ๆ ของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู.
สำนวนและถ้อยคำที่เป็นเอกลักษณ์ของคัฟเวอร์เดลยังเป็นที่นิยมกันในหมู่ผู้แปลพระคัมภีร์สมัยหลัง ๆ. ตัวอย่างหนึ่งคือ วลี “หุบเขาเงามัจจุราช” ในเพลงสรรเสริญบท 23 ข้อ 4 (ฉบับ R73). ศาสตราจารย์เอส. แอล. กรีนสเลดกล่าวว่า คำ “ความกรุณารักใคร่” ในข้อ 6 (ล.ม.) เป็น “คำพิเศษที่ทำให้เห็นว่าความรักอันลึกซึ้งที่พระเจ้ามีต่อประชาชนของพระองค์แตกต่างจากความรักทั่ว ๆ ไปและความกรุณา.” พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง (ภาษาอังกฤษ) ใช้คำเดียวกันนี้โดยมีคำอธิบายในเชิงอรรถว่า “หรือ ‘ความรักภักดี.’ ”
หนังสือชื่อคัมภีร์ไบเบิลในอังกฤษ กล่าวว่าพระคัมภีร์ฉบับเกรทไบเบิลของคัฟเวอร์เดล “เป็นผลงานที่เกิดจากการทุ่มเทความพยายามเพื่อแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาอังกฤษ . . . ตั้งแต่สมัยที่ทินเดลเริ่มแปลพันธสัญญาใหม่.” กล่าวตามจริงแล้ว ฉบับแปลของคัฟเวอร์เดลได้ช่วยให้ผู้คนมากมายที่ใช้ภาษาอังกฤษในสมัยของเขามีโอกาสได้อ่านคัมภีร์ไบเบิล.
[ภาพหน้า 11]
ซ้าย: เททรากรัมมาทอนในหน้าแรกของพระคัมภีร์ฉบับปี 1537
[ที่มาของภาพ]
Photo source: From The Holy Scriptures of the Olde and Newe Testamente With the Apocripha by Myles Coverdale
[ที่มาของภาพหน้า 11]
From the book Our English Bible: Its Translations and Translators