ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปรับรองสิทธิในการปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบ
พยานพระยะโฮวาทั่วโลกเป็นที่รู้จักกันดีว่าไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสงครามระหว่างชาติหรือในความขัดแย้งทางการเมือง. พยานฯ เชื่อมั่นว่าพวกเขาต้อง “เอาดาบของเขาตีเป็นผาลไถนา” และไม่ “ศึกษายุทธศาสตร์อีกต่อไป.” (ยะซายา 2:4) พวกเขาไม่ขัดขวางถ้าใครสมัครใจเป็นทหาร. แต่จะว่าอย่างไรถ้าประเทศที่พยานฯ คนหนึ่งอาศัยอยู่มีกฎหมายบังคับให้เป็นทหารซึ่งขัดกับสติรู้สึกผิดชอบของเขา? นั่นเป็นสถานการณ์ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อวาฮัน บายัตยันประสบด้วยตัวเอง.
เหตุการณ์ที่นำไปสู่การพิจารณาคดีในศาลยุโรป
วาฮันเกิดที่ประเทศอาร์เมเนียในเดือนเมษายน 1983. ในปี 1996 เขากับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับพยานพระยะโฮวา และเขารับบัพติสมาเมื่ออายุ 16 ปี. ตั้งแต่ก่อนรับบัพติสมา วาฮันมีความนับถืออย่างสูงต่อคำสอนของพระเยซูคริสต์ ซึ่งรวมถึงคำสั่งของพระองค์ที่ห้ามไม่ให้เหล่าสาวกจับอาวุธขึ้นต่อสู้ในสงคราม. (มัดธาย 26:52) ดังนั้น หลังจากรับบัพติสมาได้ไม่นาน วาฮันก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต.
กฎหมายของอาร์เมเนียกำหนดไว้ว่าชายทุกคนที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ต้องเป็นทหาร. หากคนใดปฏิเสธ เขาอาจถูกตัดสินลงโทษด้วยการจำคุกไม่เกินสามปี. วาฮันต้องการรับใช้เพื่อนร่วมชาติ แต่เขาไม่อยากทำสิ่งที่ขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบของเขาซึ่งได้รับการฝึกตามหลักคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาทำอย่างไร?
ในปี 2001 เมื่อวาฮันอายุถึงเกณฑ์ที่จะต้องเป็นทหาร เขาเริ่มเขียนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในอาร์เมเนีย. วาฮันชี้แจงในจดหมายว่าการเป็นทหารขัดต่อสติรู้สึกผิดชอบและความเชื่อทางศาสนาของเขา. ในจดหมายนั้น วาฮันยังกล่าวด้วยว่าเขายินดีทำงานบริการสังคมด้านอื่นแทนการเป็นทหาร.
ในช่วงหนึ่งปีกว่าหลังจากนั้น วาฮันได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่หลายครั้งเพื่อขอให้ยอมรับเหตุผลที่เขาปฏิเสธ
การเป็นทหาร. อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน 2002 วาฮันถูกจับและต่อมาก็ถูกดำเนินคดีข้อหาหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร. เขาถูกตัดสินจำคุก 18 เดือน. แต่อัยการไม่พอใจคำตัดสินนี้. เพียงหนึ่งเดือนหลังจากนั้น อัยการยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์เพื่อขอให้วาฮันถูกลงโทษหนักขึ้น. อัยการชี้แจงว่าการที่วาฮันปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบทางศาสนาเป็นข้ออ้างที่ “ไม่มีน้ำหนักและเป็นอันตราย.” ศาลอุทธรณ์เห็นชอบตามคำร้องของอัยการและสั่งให้เพิ่มโทษวาฮันจาก 18 เดือนเป็น 30 เดือน.วาฮันได้ยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดของอาร์เมเนีย. ในเดือนมกราคม 2003 ศาลสูงสุดพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์. ทันทีหลังจากศาลประกาศคำตัดสิน วาฮันถูกส่งตัวไปที่เรือนจำอีกแห่งหนึ่งซึ่งเขาถูกขังรวมกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ฆาตกรรม ค้ายาเสพติด และข่มขืน.
การสู้คดีในศาลยุโรป
ตั้งแต่ปี 2001 ประเทศอาร์เมเนียได้เข้าเป็นสมาชิกของสภายุโรป. ดังนั้น ประชาชนชาวอาร์เมเนียมีสิทธิ์ร้องเรียนต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากทุกศาลในประเทศของตน. วาฮันเลือกที่จะทำเช่นนั้น. ในคำร้องของวาฮัน เขาชี้แจงว่าคำพิพากษาของศาลที่ให้เขารับโทษเนื่องจากปฏิเสธการเป็นทหารขัดกับมาตรา 9 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป. เขาขอให้ศาลรับรองสิทธิของเขาที่จะปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบโดยอาศัยอนุสัญญาฉบับนี้. ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีผู้ร้องเรียนคนใดชนะคดีทำนองนี้ในศาลยุโรปเลย.
วันที่ 27 ตุลาคม 2009 ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ประกาศคำพิพากษา. ศาลลงความเห็นว่าเมื่อคำนึงถึงกฎหมายที่มีในเวลานั้น เสรีภาพในการตัดสินผิดชอบชั่วดีด้วยตนเองตามที่นิยามไว้ในมาตรา 9 ของอนุสัญญาแห่งยุโรป ไม่ได้คุ้มครองสิทธิของผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบ.
ตอนที่มีการประกาศคำตัดสินดังกล่าว วาฮันถูกปล่อยตัวจากคุกหลายปีแล้ว. เขาแต่งงานและมีลูกชายเล็ก ๆ คนหนึ่ง. วาฮันผิดหวังกับผลการตัดสินของศาล. เขาต้องเลือกว่าจะยุติคดีหรือจะยื่นอุทธรณ์ต่อสภาใหญ่ของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป. เขาตัดสินใจยื่นอุทธรณ์. ตามปกติแล้วสภาใหญ่จะรับพิจารณาเฉพาะคดีสำคัญบางคดีเท่านั้น วาฮันจึงดีใจมากเมื่อสภาใหญ่รับคำร้องและยอมทบทวนคดีของเขาอีกครั้ง.
ในที่สุด สภาใหญ่ของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปในเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส ก็แถลงคำพิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2011. คณะผู้พิพากษาลงความเห็นด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 16 ต่อ 1 ว่าอาร์เมเนียละเมิดสิทธิเสรีภาพของวาฮัน บายัตยันที่จะทำตามสติรู้สึกผิด
ชอบของตน เพราะได้ตัดสินว่าเขามีความผิดและลงโทษเขาด้วยการจำคุกเมื่อเขาปฏิเสธที่จะเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบ. ผู้พิพากษาเพียงคนเดียวที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้คือผู้พิพากษาจากอาร์เมเนีย.ทำไมคำตัดสินนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง? นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปที่มีการยอมรับว่าสิทธิที่จะปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบได้รับการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ภายใต้อนุสัญญาฯ มาตรา 9. ดังนั้น ศาลจึงมองว่าการตัดสินจำคุกผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย.
ศาลประกาศคำตัดสินเกี่ยวกับฐานะของพยานพระยะโฮวาที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบดังนี้: “ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยผู้ที่ไม่ยอมเป็นทหารเนื่องจากยึดมั่นกับความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างจริงจังและจริงใจ แม้ว่าความเชื่อนั้นจะขัดแย้งโดยตรงกับพันธะหน้าที่ของพลเมืองในการเป็นทหารก็ตาม.”
ปฏิกิริยาต่อคำตัดสิน
ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีพยานพระยะโฮวาในอาร์เมเนียมากกว่า 450 คนที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบถูกตัดสินจำคุก. ขณะที่มีการเขียนบทความนี้ มีชายหนุ่ม 58 คนในประเทศนี้ถูกกักขังเพราะปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบที่ได้รับการฝึกตามหลักศาสนา. ห้าคนในจำนวนนี้ถูกจำคุกหลังจากศาลประกาศคำตัดสินในคดีประวัติศาสตร์ระหว่างบายัตยันกับอาร์เมเนีย. * ชายหนุ่มคนหนึ่งในห้าคนนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้อัยการท้องถิ่นหยุดดำเนินคดีทางอาญากับเขาในเรื่องที่เขาปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบ แต่อัยการไม่ยอมรับคำร้อง. ในเอกสารตอบโต้ของอัยการ เขากล่าวว่า “คำตัดสินของศาลยุโรปในคดีระหว่างบายัตยันกับอาร์เมเนีย ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2011 ไม่สามารถใช้กับคดีนี้เพราะเห็นได้ชัดว่าสภาพการณ์ของสองคดีนี้แตกต่างกัน.”
ทำไมอัยการจึงคิดเช่นนั้น? ตอนที่วาฮัน บายัตยันถูกตั้งข้อกล่าวหา กฎหมายของอาร์เมเนียในเวลานั้นยังไม่ยินยอมให้ผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเลือกทำงานบริการสังคมแทนได้. รัฐบาลอาร์เมเนียอ้างว่าเนื่องจากตอนนี้กฎหมายเปิดโอกาสให้เลือกทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น ใครก็ตามที่ปฏิเสธการเป็นทหารอาจเลือกทำงานบริการสังคมแทน. อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่เปิดโอกาสให้เลือกนี้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้กับทหาร ดังนั้น คนส่วนใหญ่ที่ถูกเรียกมาเกณฑ์ทหารในเวลานี้และปฏิเสธที่จะเป็นทหารเนื่องจากสติรู้สึกผิดชอบจึงไม่สามารถใช้ทางเลือกนี้.
วาฮัน บายัตยันรู้สึกยินดีที่ศาลตัดสินให้เขาเป็นฝ่ายชนะในคดีสำคัญนี้. คำตัดสินในคดีนี้เป็นการบังคับให้อาร์เมเนียเลิกข่มเหงและจำคุกผู้ที่ปฏิเสธการเป็นทหารเนื่องจากยึดมั่นกับความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด.
พยานพระยะโฮวาไม่มีจุดประสงค์ที่จะริเริ่มการปฏิรูประบบกฎหมายในประเทศใด ๆ. แต่ดังที่เห็นจากกรณีของชายหนุ่มชื่อวาฮัน บายัตยัน พยานฯ พยายามใช้ประโยชน์จากกฎหมายของประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่เพื่อทำให้สิทธิของพวกเขาได้รับการรับรอง. ทำไม? ก็เพื่อพวกเขาจะดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขได้ต่อไป และปฏิบัติตามพระบัญชาทั้งสิ้นของพระเยซูคริสต์ผู้นำของพวกเขาได้อย่างเสรี.
^ วรรค 17 ชายหนุ่มสองคนในจำนวนนี้ถูกพิพากษาในวันที่ 7 กรกฎาคม 2011 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปได้ประกาศคำตัดสินคดีของบายัตยัน.