ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 16

“พระเยซู . . . ทรงรักเขาจนถึงที่สุด”

“พระเยซู . . . ทรงรักเขาจนถึงที่สุด”

1, 2. พระ​เยซู​ทรง​ใช้​เวลา​เย็น​วัน​สุด​ท้าย​กับ​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร และ​ทำไม​ช่วง​สุด​ท้าย​นี้​นับ​ว่า​มี​ค่า​สำหรับ​พระองค์?

 ขณะ​ที่​ชุมนุม​กับ​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระองค์​ใน​ห้อง​ชั้น​บน​ของ​บ้าน​หลัง​หนึ่ง ณ กรุง​เยรูซาเลม พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​นี่​เป็น​เย็น​วัน​สุด​ท้าย​ที่​พระองค์​อยู่​กับ​พวก​เขา. เวลา​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว​ที่​พระองค์​จะ​เสด็จ​กลับ​ไป​หา​พระ​บิดา. ภาย​ใน​ไม่​กี่​ชั่วโมง พระ​เยซู​ก็​จะ​ถูก​จับ​กุม และ​ความ​เชื่อ​ของ​พระองค์​ก็​จะ​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​ไม่​เคย​เป็น​มา​ก่อน. กระนั้น ถึง​แม้​ทราบ​ว่า​ใน​ไม่​ช้า​พระองค์​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ก็​ยัง​ทรง​คำนึง​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​พวก​อัครสาวก.

2 พระ​เยซู​ได้​เตรียม​เหล่า​อัครสาวก​ไว้​สำหรับ​การ​จาก​ไป​ของ​พระองค์ แต่​พระองค์​ยัง​คง​มี​อีก​หลาย​สิ่ง​ที่​จะ​บอก​เพื่อ​ช่วย​พวก​เขา​เผชิญ​กับ​เหตุ​การณ์​ใน​วัน​ข้าง​หน้า. ดัง​นั้น พระองค์​ทรง​ใช้​เวลา​อัน​มี​ค่า​ช่วง​ท้าย ๆ นี้​เพื่อ​สอน​พวก​เขา​ถึง​บทเรียน​สำคัญ​ที่​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์. ถ้อย​คำ​ที่​พระองค์​ตรัส​แสดง​ถึง​ความ​อบอุ่น​และ​ความ​สนิทสนม​ที่​สุด​เท่า​ที่​พระองค์​เคย​ตรัส​กับ​พวก​เขา. แต่​ทำไม​พระ​เยซู​ทรง​ห่วงใย​พวก​อัครสาวก​มาก​กว่า​ห่วง​ตัว​พระองค์​เอง? ทำไม​ช่วง​ท้าย ๆ ที่​อยู่​กับ​พวก​เขา​จึง​มี​ค่า​ยิ่ง​สำหรับ​พระองค์? คำ​ตอบ​สรุป​ได้​คำ​เดียว​คือ ความ​รัก. พระองค์​มี​ความ​รัก​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​พวก​เขา.

3. เรา​ทราบ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​เยซู​มิ​ได้​คอย​จน​กระทั่ง​เย็น​วัน​สุด​ท้าย​จึง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์?

3 หลาย​สิบ​ปี​ต่อ​มา​เมื่อ​เริ่ม​นำ​เรื่อง​ราว​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ใน​ตอน​เย็น​วัน​นั้น อัครสาวก​โยฮัน​ได้​เขียน​ว่า “เพราะ​ก่อน​เทศกาล​ปัศคา​พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​เวลา​นั้น​มา​ถึง​แล้ว​ที่​พระองค์​จะ​ออก​จาก​โลก​นี้​ไป​หา​พระ​บิดา พระ​เยซู​ได้​ทรง​รัก​พวก​ของ​พระองค์​ซึ่ง​อยู่​ใน​โลก​นี้ และ​ทรง​รัก​เขา​จน​ถึง​ที่​สุด.” (โยฮัน 13:1, ล.ม.) พระ​เยซู​มิ​ได้​คอย​จน​ถึง​ค่ำ​วัน​นั้น​จึง​จะ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ “พวก​ของ​พระองค์.” ตลอด​งาน​รับใช้​ของ​พระ​เยซู พระองค์​ให้​ข้อ​พิสูจน์​เกี่ยว​กับ​ความ​รัก​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​เหล่า​สาวก​ใน​หลาย​วิธี. เรา​สม​ควร​จะ​พิจารณา​ดู​บาง​วิธี​ที่​พระองค์​แสดง​ความ​รัก เพราะ​โดย​การ​เลียน​แบบ​พระองค์​ใน​เรื่อง​นี้ เรา​พิสูจน์​ตัว​ว่า​เป็น​สาวก​แท้​ของ​พระองค์.

แสดง​ความ​อด​ทน

4, 5. (ก) ทำไม​พระ​เยซู​ต้อง​อด​ทน​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​เหล่า​อัครสาวก? (ข) พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ออก​อย่าง​ไร​เมื่อ​อัครสาวก​สาม​คน​ไม่​ได้​เฝ้า​ระวัง​ขณะ​อยู่​ใน​สวน​เกทเซมาเน?

4 ความ​รัก​และ​ความ​อด​ทน​เกี่ยว​ข้อง​กัน. 1 โกรินโธ 13:4 (ล.ม.) กล่าว​ว่า “ความ​รัก​อด​กลั้น​ไว้​นาน” และ​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​อด​ทน​กับ​คน​อื่น. พระ​เยซู​ต้อง​อด​ทน​ไหม​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​เหล่า​สาวก? ใช่​แล้ว พระองค์​ต้อง​อด​ทน​จริง ๆ! ดัง​ที่​เรา​เห็น​ใน​บท 3 อัครสาวก​ช้า​ใน​การ​พัฒนา​ความ​ถ่อม​ใจ. พวก​เขา​โต้​เถียง​กัน​มาก​กว่า​หนึ่ง​ครั้ง​ว่า​ใคร​เป็น​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ท่ามกลาง​พวก​เขา. พระ​เยซู​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? พระองค์​ทรง​พิโรธ​และ​ตอบ​สนอง​ด้วย​ความ​ขุ่นเคือง​ไหม? ไม่ พระองค์​ทรง​หา​เหตุ​ผล​กับ​พวก​เขา​ด้วย​ความ​อด​ทน แม้​แต่​เมื่อ​มี “การ​เถียง​กัน” เกี่ยว​กับ​ประเด็น​นี้​ใน​เย็น​วัน​สุด​ท้าย​ที่​พระองค์​อยู่​กับ​พวก​เขา​ด้วย​ซ้ำ!—ลูกา 22:24-30; มัดธาย 20:20-28; มาระโก 9:33-37.

5 ต่อ​มา​ใน​คืน​สุด​ท้าย​นั้น เมื่อ​พระ​เยซู​เสด็จ​ไป​สวน​เกทเซมาเน​พร้อม​กับ​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์ 11 คน ความ​อด​ทน​ของ​พระองค์​ถูก​ทดสอบ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง. โดย​ละ​อัครสาวก​แปด​คน​ไว้ พระ​เยซู​พา​เปโตร, ยาโกโบ, และ​โยฮัน​เดิน​ลึก​เข้า​ไป​ใน​สวน. พระ​เยซู​ตรัส​แก่​พวก​เขา​ว่า “ตัว​เรา​เป็น​ทุกข์​นัก​แทบ​ถึง​ตาย. จง​รอ​อยู่​ที่​นี่​และ​เฝ้า​ระวัง​กับ​เรา.” พระองค์​เสด็จ​ห่าง​ออก​ไป​เล็ก​น้อย​แล้ว​เริ่ม​อธิษฐาน​ด้วย​ใจ​แรง​กล้า. หลัง​จาก​อธิษฐาน​เป็น​เวลา​นาน พระองค์​ทรง​กลับ​มา​หา​อัครสาวก​สาม​คน. พระองค์​ทรง​พบ​อะไร? ใน​ช่วง​เวลา​แห่ง​การ​ทดลอง​อัน​สำคัญ​ที่​สุด​นี้ พวก​เขา​ผล็อย​หลับ​ไป! พระองค์​ทรง​ดุ​พวก​เขา​ไหม​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ไม่​ได้​เฝ้า​ระวัง? ไม่ พระองค์​ทรง​กระตุ้น​เตือน​พวก​เขา​ด้วย​ความ​อด​ทน. ถ้อย​คำ​ที่​พระองค์​ตรัส​ด้วย​ความ​กรุณา​แสดง​ให้​เห็น​ความ​เข้าใจ​ใน​ความ​เครียด​ที่​พวก​เขา​ประสบ​อยู่​รวม​ทั้ง​ความ​อ่อนแอ​ของ​พวก​เขา. * พระองค์​ตรัส​ว่า “แน่​ล่ะ ใจ​พร้อม แต่​เนื้อหนัง​อ่อนแอ.” พระ​เยซู​ยัง​คง​อด​ทน​ต่อ​ไป​ใน​ค่ำ​วัน​นั้น ทั้ง ๆ ที่​พระองค์​เสด็จ​มา​พบ​พวก​เขา​นอน​หลับ​ไม่​ใช่​ครั้ง​เดียว แต่​อีก​สอง​ครั้ง​ด้วย​ซ้ำ!—มัดธาย 26:36-46, ล.ม.

6. เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ผู้​อื่น?

6 เป็น​เรื่อง​หนุน​ใจ​ที่​สังเกต​ว่า​พระ​เยซู​มิ​ได้​หมด​หวัง​ใน​ตัว​พวก​อัครสาวก. ความ​อด​ทน​ของ​พระองค์​ก่อ​ผล​ดี​ใน​ที่​สุด เพราะ​ชาย​ที่​ซื่อ​สัตย์​เหล่า​นี้​ได้​เรียน​รู้​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เป็น​คน​ที่​ทั้ง​ถ่อม​ใจ​และ​ระวัง​ระไว. (1 เปโตร 3:8; 4:7) เรา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​ได้​อย่าง​ไร? ผู้​ปกครอง​โดย​เฉพาะ​ต้อง​เป็น​คน​อด​ทน. เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​อาจ​เข้า​หา​ผู้​ปกครอง​พร้อม​กับ​ปัญหา​ของ​เขา​ขณะ​ที่​ผู้​ปกครอง​เอง​ก็​เหนื่อย​ล้า​หรือ​วุ่นวาย​ใจ​เนื่อง​จาก​ความ​กังวล​ของ​ตน​เอง. บาง​ครั้ง คน​ที่​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​อาจ​ช้า​ใน​การ​ตอบรับ​คำ​แนะ​นำ. ถึง​กระนั้น ผู้​ปกครอง​ที่​อด​ทน​จะ​สั่ง​สอน​แนะ​นำ “ด้วย​ใจ​อ่อนโยน” และ​จะ “ปฏิบัติ​ต่อ​ฝูง​แกะ​ด้วย​ความ​อ่อนโยน.” (2 ติโมเธียว 2:24, 25, ล.ม.; กิจการ 20:28, 29, ล.ม.) บิดา​มารดา​สม​ควร​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ใน​การ​แสดง​ความ​อด​ทน​ด้วย เพราะ​บาง​ครั้ง​บุตร​อาจ​ช้า​ใน​การ​ตอบรับ​คำ​แนะ​นำ​หรือ​การ​แก้ไข. ความ​รัก​และ​ความ​อด​ทน​จะ​ช่วย​บิดา​มารดา​มิ​ให้​เลิก​ล้ม​ความ​พยายาม​ที่​จะ​อบรม​บุตร​ของ​ตน. ความ​อด​ทน​เช่น​นั้น​อาจ​ให้​ผล​ตอบ​แทน​มาก​จริง ๆ.—บทเพลง​สรรเสริญ 127:3.

เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ของ​พวก​เขา

7. พระ​เยซู​ทรง​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​ด้าน​วัตถุ​ของ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​โดย​วิธี​ใด​บ้าง?

7 ความ​รัก​ปรากฏ​ชัด​โดย​การ​กระทำ​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว. (1 โยฮัน 3:17, 18) ความ​รัก “ไม่​แสวง​หา​ผล​ประโยชน์​สำหรับ​ตน​เอง.” (1 โกรินโธ 13:5, ล.ม.) ความ​รัก​กระตุ้น​พระ​เยซู​ให้​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​ด้าน​วัตถุ​ของ​เหล่า​สาวก. บ่อย​ครั้ง พระองค์​ปฏิบัติ​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​พวก​เขา​ก่อน​ที่​พวก​เขา​พูด​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​ตัว​เอง​ด้วย​ซ้ำ. เมื่อ​ทรง​เห็น​ว่า​พวก​เขา​เหนื่อย พระองค์​แนะ​นำ​พวก​เขา​ให้​ไป​กับ​พระองค์​เพื่อ “หา​ที่​สงัด​หยุด​พัก​หาย​เหนื่อย​สัก​หน่อย​หนึ่ง.” (มาระโก 6:31) เมื่อ​พระองค์​สังเกต​ว่า​พวก​เขา​หิว พระองค์​ทรง​ริเริ่ม​เลี้ยง​อาหาร​พวก​เขา—พร้อม​กับ​คน​อื่น​หลาย​พัน​คน​ที่​ได้​มา​ฟัง​พระองค์​สอน.—มัดธาย 14:19, 20; 15:35-37.

8, 9. (ก) อะไร​แสดง​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​วิญญาณ​ของ​เหล่า​สาวก​และ​ทรง​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​พวก​เขา? (ข) เมื่อ​อยู่​บน​หลัก พระ​เยซู​แสดง​ความ​ห่วงใย​อย่าง​ลึกซึ้ง​ต่อ​สวัสดิภาพ​ของ​มารดา​ของ​พระองค์​อย่าง​ไร?

8 พระ​เยซู​ทรง​สำนึก​ถึง​ความ​จำเป็น​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​พวก​สาวก​และ​ทรง​สนอง​ความ​จำเป็น​ของ​พวก​เขา. (มัดธาย 4:4; 5:3) ใน​การ​สอน บ่อย​ครั้ง​พระองค์​ทรง​ให้​ความ​เอา​ใจ​ใส่​พวก​เขา​เป็น​พิเศษ. พระองค์​ทรง​กล่าว​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​เพื่อ​ผล​ประโยชน์​ของ​พวก​สาวก​โดย​เฉพาะ. (มัดธาย 5:1, 2, 13-16) ตอน​ที่​พระองค์​สอน​โดย​ใช้​อุทาหรณ์ “เมื่อ​ว่าง​คน​พระองค์​จึง​ทรง​อธิบาย​สิ่ง​สารพัตร​แก่​เหล่า​สาวก​ให้​แจ้ง.” (มาระโก 4:34) พระ​เยซู​ทรง​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​พระองค์​จะ​แต่ง​ตั้ง “ทาส​สัตย์​ซื่อ​และ​สุขุม” เพื่อ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​จะ​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​อย่าง​ดี​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​ใน​สมัย​สุด​ท้าย​นี้. ทาส​สัตย์​ซื่อ​นี้​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​พี่​น้อง​ของ​พระ​เยซู​กลุ่ม​เล็ก ๆ ที่​อยู่​บน​โลก​ซึ่ง​ถูก​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ ได้​จัด​เตรียม “อาหาร” ฝ่าย​วิญญาณ “ใน​เวลา​อัน​เหมาะ” อย่าง​ซื่อ​สัตย์​นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1919 เป็น​ต้น​มา.—มัดธาย 24:45

9 ใน​วัน​ที่​พระ​เยซู​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ความ​ห่วงใย​ต่อ​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ผู้​ที่​พระองค์​ทรง​รัก​ด้วย​วิธี​ที่​ทำ​ให้​ซาบซึ้ง​ใจ. ขอ​นึก​ภาพ​ฉาก​เหตุ​การณ์​ต่อ​ไป​นี้. พระ​เยซู​อยู่​บน​หลัก กำลัง​ประสบ​ความ​เจ็บ​ปวด​รวดร้าว​แสน​สาหัส. เพื่อ​จะ​สูด​ลม​หายใจ ดู​เหมือน​ว่า​พระองค์​ต้อง​ยก​ตัว​ขึ้น​โดย​ใช้​พระ​บาท​ยัน. ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​พระองค์​เจ็บ​ปวด​อย่าง​รุนแรง​ขณะ​ที่​ตะปู​ซึ่ง​ตอก​พระ​บาท​ของ​พระองค์​ทำ​ให้​แผล​ฉีก​ขาด​และ​หลัก​ก็​ครูด​หลัง​ของ​พระองค์​ที่​ถูก​เฆี่ยน. การ​พูด​ซึ่ง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ควบคุม​ลม​หายใจ​คง​ต้อง​เป็น​ไป​ด้วย​ความ​ยาก​ลำบาก​และ​ทำ​ให้​เจ็บ​ปวด. กระนั้น แม้​กำลัง​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์​อยู่​แล้ว พระ​เยซู​ก็​ยัง​ตรัส​ถ้อย​คำ​ที่​แสดง​ให้​เห็น​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​มาเรีย มารดา​ของ​พระองค์. เมื่อ​เห็น​มาเรีย​กับ​อัครสาวก​โยฮัน​ยืน​อยู่​ใกล้ ๆ พระ​เยซู​ตรัส​กับ​มารดา​ของ​พระองค์​ด้วย​เสียง​ดัง​พอ​ที่​ผู้​ยืน​ดู​อยู่​จะ​ได้​ยิน​ว่า “หญิง​เอ๋ย ดู​ซิ! บุตร​ของ​ท่าน!” ครั้น​แล้ว​พระองค์​ตรัส​กับ​โยฮัน​ว่า “ดู​ซิ! มารดา​ของ​เจ้า!” (โยฮัน 19:26, 27, ล.ม.) พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​อัครสาวก​ผู้​ซื่อ​สัตย์​จะ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​ไม่​เพียง​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​ด้าน​วัตถุ​ของ​มาเรีย​เท่า​นั้น แต่​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เธอ​ด้วย. *

บิดา​มารดา​ที่​ห่วงใย​แสดง​ความ​อด​ทน​และ​สนอง​ความ​จำเป็น​ใน​ด้าน​ต่าง​ ๆ ​ของ​บุตร

10. บิดา​มารดา​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร​ขณะ​ที่​เขา​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ของ​บุตร?

10 บิดา​มารดา​ผู้​ห่วงใย​พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​จะ​ไตร่ตรอง​ดู​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู. บิดา​ผู้​ซึ่ง​รัก​ครอบครัว​อย่าง​แท้​จริง​จะ​จัด​หา​ให้​พวก​เขา​ทาง​ด้าน​วัตถุ. (1 ติโมเธียว 5:8) หัวหน้า​ครอบครัว​ที่​สมดุล​และ​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​จัด​เวลา​ไว้​เพื่อ​การ​พักผ่อน​และ​นันทนาการ​เป็น​ครั้ง​คราว. สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​นั้น บิดา​มารดา​คริสเตียน​จัด​เตรียม​เพื่อ​สนอง​ความ​จำเป็น​ทาง​ด้าน​วิญญาณ​ของ​บุตร. โดย​วิธี​ใด? บิดา​มารดา​เช่น​นั้น​จัด​ให้​มี​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ครอบครัว​เป็น​ประจำ และ​เขา​พยายาม​จะ​ทำ​ให้​ช่วง​เวลา​ศึกษา​นี้​เป็น​การ​เสริม​สร้าง​และ​น่า​เพลิดเพลิน​สำหรับ​ลูก ๆ. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) โดย​คำ​พูด​และ​ตัว​อย่าง บิดา​มารดา​สอน​บุตร​ว่า​งาน​ประกาศ​เป็น​กิจกรรม​สำคัญ รวม​ทั้ง​การ​เตรียม​ตัว​และ​การ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ของ​กิจวัตร​ใน​การ​นมัสการ​ของ​พวก​เขา.—เฮ็บราย 10:24, 25.

เต็ม​ใจ​ให้​อภัย

11. พระ​เยซู​ทรง​สอน​อะไร​แก่​เหล่า​สาวก​ใน​เรื่อง​การ​ให้​อภัย?

11 การ​ให้​อภัย​เป็น​แง่​มุม​หนึ่ง​ของ​ความ​รัก. (โกโลซาย 3:13, 14) 1 โกรินโธ 13:5 (ล.ม.) กล่าว​ว่า ความ​รัก “ไม่​จด​จำ​ความ​เสียหาย.” ใน​หลาย​โอกาส พระ​เยซู​ทรง​สอน​เหล่า​สาวก​เรื่อง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​ให้​อภัย. พระองค์​กระตุ้น​เตือน​พวก​เขา​ที่​จะ​ให้​อภัย​คน​อื่น “ไม่​ใช่​ถึง​เจ็ด​ครั้ง แต่​ถึง​เจ็ด​สิบ​เจ็ด​ครั้ง”—นั่น​คือ​ไม่​จำกัด​จำนวน​ครั้ง. (มัดธาย 18:21, 22, ล.ม.) พระองค์​ทรง​สอน​พวก​เขา​ว่า​ควร​ให้​อภัย​คน​ที่​ทำ​ผิด หาก​คน​นั้น​แสดง​การ​กลับ​ใจ​หลัง​จาก​ได้​รับ​การ​ว่า​กล่าว​แล้ว. (ลูกา 17:3, 4) อย่าง​ไร​ก็​ดี พระ​เยซู​ไม่​เหมือน​พวก​ฟาริซาย​ที่​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด ผู้​ซึ่ง​สอน​โดย​คำ​พูด​เท่า​นั้น; พระองค์​สอน​โดย​ตัว​อย่าง​ด้วย. (มัดธาย 23:2-4) ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​พระ​เยซู​แสดง​ความ​เต็ม​พระทัย​ที่​จะ​ให้​อภัย​อย่าง​ไร​แม้​แต่​เมื่อ​เพื่อน​ที่​ไว้​ใจ​ได้​คน​หนึ่ง​ทำ​ให้​พระองค์​ผิด​หวัง.

12, 13. (ก) ใน​ทาง​ใด​ที่​เปโตร​ทำ​ให้​พระ​เยซู​ผิด​หวัง​ใน​คืน​ที่​พระองค์​ถูก​จับ​กุม? (ข) การ​กระทำ​ของ​พระ​เยซู​หลัง​จาก​การ​คืน​พระ​ชนม์​ทำ​ให้​เห็น​ได้​ชัด​อย่าง​ไร​ว่า​พระองค์​ไม่​เพียง​แต่​สอน​การ​ให้​อภัย?

12 พระ​เยซู​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​สนิทสนม​กับ​อัครสาวก​เปโตร ซึ่ง​เป็น​คน​จริง​ใจ​แต่​ก็​หุนหันพลันแล่น​เป็น​บาง​ครั้ง. พระ​เยซู​ทรง​ตระหนัก​ถึง​คุณลักษณะ​ที่​ดี​ของ​เปโตร​และ​มอบ​สิทธิ​พิเศษ​ต่าง ๆ ให้​เขา. เปโตร​พร้อม​กับ​ยาโกโบ​และ​โยฮัน​ได้​รู้​เห็น​ด้วย​ตัว​เอง​ถึง​การ​อัศจรรย์​บาง​อย่าง​ซึ่ง​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ มิ​ได้​เห็น. (มัดธาย 17:1, 2; ลูกา 8:49-55) ดัง​ที่​เรา​ได้​สังเกต​ก่อน​หน้า​นี้ เปโตร​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​อัครสาวก​สาม​คน​ที่​เดิน​ลึก​เข้า​ไป​ใน​สวน​เกทเซมาเน​พร้อม​กับ​พระ​เยซู​ใน​คืน​ที่​พระองค์​ถูก​จับ​กุม. กระนั้น คืน​เดียว​กัน​นั้น​ตอน​ที่​พระ​เยซู​ถูก​ทรยศ​และ​ถูก​ควบคุม​ตัว​ไป เปโตร​และ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ ได้​ละ​ทิ้ง​พระ​เยซู​แล้ว​หนี​ไป. ต่อ​มา เปโตร​กล้า​พอ​ที่​จะ​ยืน​อยู่​ข้าง​นอก​ขณะ​ที่​มี​การ​พิจารณา​คดี​พระ​เยซู​อย่าง​ผิด​กฎหมาย. กระนั้น ต่อ​มา​เปโตร​รู้สึก​กลัว​และ​ทำ​ผิด​ร้ายแรง—โกหก​สาม​ครั้ง​โดย​ปฏิเสธ​ว่า​ไม่​รู้​จัก​พระ​เยซู​เลย! (มัดธาย 26:69-75) พระ​เยซู​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร? คุณ​จะ​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร​หาก​เพื่อน​สนิท​คน​หนึ่ง​ทำ​ให้​คุณ​ผิด​หวัง​แบบ​นั้น?

13 พระ​เยซู​ทรง​พร้อม​ที่​จะ​ให้​อภัย​เปโตร. พระองค์​ทรง​ทราบ​ว่า​เปโตร​เป็น​ทุกข์​หนัก​เนื่อง​ด้วย​ความ​ผิด​ของ​ตัว​เอง. ที่​จริง อัครสาวก​ผู้​กลับ​ใจ “หวน​คิด​ขึ้น​ได้​ก็​เลย​ร้องไห้.” (มาระโก 14:72) ใน​วัน​ที่​พระองค์​คืน​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ได้​ปรากฏ​ต่อ​เปโตร คง​จะ​เพื่อ​ปลอบโยน​และ​ทำ​ให้​อัครสาวก​ผู้​นี้​มั่น​ใจ. (ลูกา 24:34; 1 โกรินโธ 15:5) ไม่​ถึง​สอง​เดือน​ต่อ​มา พระ​เยซู​ทรง​ให้​เกียรติ​เปโตร​โดย​ให้​ท่าน​นำ​หน้า​ใน​การ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ฝูง​ชน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม ใน​วัน​เพนเทคอสต์. (กิจการ 2:14-40) ขอ​เรา​จำ​ไว้​ด้วย​ว่า พระ​เยซู​มิ​ได้​รู้สึก​ขุ่นเคือง​อัครสาวก​ทั้ง​หมด​ที่​ได้​ละ​ทิ้ง​พระองค์​ไป. ตรง​กัน​ข้าม หลัง​จาก​การ​คืน​พระ​ชนม์ พระองค์​ยัง​คง​เรียก​พวก​เขา​ว่า “พวก​พี่​น้อง​ของ​เรา.” (มัดธาย 28:10) เห็น​ได้​ชัด​มิ​ใช่​หรือ​ว่า พระ​เยซู​ไม่​เพียง​สอน​การ​ให้​อภัย แต่​ทรง​ให้​อภัย​อย่าง​แท้​จริง?

14. ทำไม​เรา​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​ให้​อภัย​คน​อื่น และ​เรา​แสดง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ให้​อภัย​ได้​โดย​วิธี​ใด?

14 ใน​ฐานะ​สาวก​ของ​พระ​คริสต์ เรา​ต้อง​เรียน​ที่​จะ​ให้​อภัย​คน​อื่น. เพราะ​เหตุ​ใด? ไม่​เหมือน​พระ​เยซู เรา​เป็น​คน​ไม่​สมบูรณ์—คน​ที่​อาจ​ทำ​ผิด​ต่อ​เรา​ก็​เป็น​เช่น​นั้น​ด้วย. เป็น​ครั้ง​คราว เรา​ทุก​คน​ล้วน​พลาด​พลั้ง​ใน​คำ​พูด​และ​การ​กระทำ. (โรม 3:23; ยาโกโบ 3:2) โดย​การ​ให้​อภัย​คน​อื่น​เมื่อ​มี​เหตุ​ผล​อัน​ควร​ที่​จะ​แสดง​ความ​เมตตา เรา​ทำ​ให้​มี​ทาง​เป็น​ไป​ได้​ที่​พระเจ้า​จะ​ให้​อภัย​ความ​ผิด​ของ​เรา​เอง. (มาระโก 11:25) ถ้า​เช่น​นั้น เรา​จะ​แสดง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ให้​อภัย​คน​ที่​อาจ​ทำ​ผิด​ต่อ​เรา​ได้​โดย​วิธี​ใด? ใน​หลาย​กรณี ความ​รัก​ช่วย​เรา​ให้​มอง​ข้าม​ความ​ผิด​และ​ข้อ​บกพร่อง​เล็ก ๆ น้อย ๆ ของ​คน​อื่น. (1 เปโตร 4:8) เมื่อ​คน​ที่​ทำ​ผิด​ต่อ​เรา​กลับ​ใจ​อย่าง​จริง​ใจ​เช่น​เดียว​กับ​เปโตร แน่นอน​เรา​ต้องการ​ที่​จะ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ให้​อภัย. แทน​ที่​จะ​เก็บ​ความ​ขุ่นเคือง​ไว้ นับ​ว่า​ฉลาด​สุขุม​หาก​เรา​เลือก​ที่​จะ​ปล่อย​ความ​ขุ่นเคือง​ไป. (เอเฟโซ 4:32) โดย​การ​ทำ​เช่น​นี้ เรา​ส่ง​เสริม​สันติ​สุข​ใน​ประชาคม​อีก​ทั้ง​ความ​สงบ​สุข​ใน​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​เรา​ด้วย.—1 เปโตร 3:11.

พระองค์​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ

15. เหตุ​ใด​พระ​เยซู​ไว้​วางใจ​พวก​สาวก​ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​มี​ข้อ​บกพร่อง?

15 ความ​รัก​และ​ความ​ไว้​วางใจ​เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ใกล้​ชิด. ความ​รัก “เชื่อ​ทุก​สิ่ง.” * (1 โกรินโธ 13:7, ล.ม.) โดย​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​ความ​รัก พระ​เยซู​แสดง​ความ​เต็ม​พระทัย​ที่​จะ​ไว้​วางใจ​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ทั้ง ๆ ที่​พวก​เขา​ไม่​สมบูรณ์. พระองค์​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​พวก​เขา​และ​เชื่อ​ว่า​ใน​ใจ​แล้ว​พวก​เขา​รัก​พระ​ยะโฮวา​จริง ๆ และ​ต้องการ​ทำ​ตาม​พระทัย​ประสงค์​ของ​พระองค์. แม้​แต่​เมื่อ​พวก​เขา​ทำ​ผิด​พลาด พระ​เยซู​ก็​มิ​ได้​สงสัย​เจตนา​ของ​พวก​เขา. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​อัครสาวก​ยาโกโบ​และ​โยฮัน​ดู​เหมือน​จะ​ขอ​ให้​มารดา​ของ​ตน​ทูล​ขอ​พระ​เยซู​เพื่อ​ให้​พวก​เขา​นั่ง​ข้าง​พระองค์​ใน​ราชอาณาจักร พระ​เยซู​มิ​ได้​สงสัย​ใน​ความ​ภักดี​ของ​พวก​เขา​หรือ​ปลด​เขา​ออก​จาก​ตำแหน่ง​อัครสาวก.—มัดธาย 20:20-28.

16, 17. พระ​เยซู​ทรง​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​อะไร​บ้าง​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์?

16 พระ​เยซู​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ​โดย​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​หลาย​อย่าง​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์. ใน​สอง​โอกาส​ที่​พระองค์​ทำ​ให้​อาหาร​เพิ่ม​ขึ้น​อย่าง​อัศจรรย์​เพื่อ​เลี้ยง​ฝูง​ชน พระองค์​ทรง​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​เหล่า​สาวก​ทำ​การ​แจก​จ่าย​อาหาร. (มัดธาย 14:19; 15:36) ใน​การ​เตรียม​ปัศคา​ครั้ง​สุด​ท้าย พระองค์​ทรง​มอบหมาย​เปโตร​และ​โยฮัน​ให้​ไป​กรุง​เยรูซาเลม​และ​จัด​การ​สิ่ง​ต่าง ๆ ไว้​ให้​พร้อม. เขา​ทั้ง​สอง​เอา​ใจ​ใส่​ใน​การ​จัด​หา​ลูก​แกะ, เหล้า​องุ่น, ขนมปัง​ไม่​มี​เชื้อ, ผัก​ขม, และ​ของ​ที่​จำเป็น​อื่น ๆ. นี่​ไม่​ใช่​งาน​มอบหมาย​ที่​ต่ำต้อย เพราะ​การ​ฉลอง​ปัศคา​ใน​ลักษณะ​ที่​เหมาะ​สม​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ และ​พระ​เยซู​ต้อง​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​นั้น. นอก​จาก​นี้ ต่อ​มา​ใน​ค่ำ​วัน​นั้น​พระ​เยซู​ทรง​ใช้​เหล้า​องุ่น​และ​ขนมปัง​ไม่​มี​เชื้อ​เป็น​สัญลักษณ์​เมื่อ​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เกี่ยว​กับ​การ​วาย​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์.—มัดธาย 26:17-19; ลูกา 22:8, 13.

17 พระ​เยซู​ทรง​เห็น​ว่า​เหมาะ​สม​ที่​จะ​มอบหมาย​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​สำคัญ​มาก​กว่า​ให้​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์. ดัง​ที่​เรา​ได้​สังเกต​ตอน​ต้น พระองค์​ทรง​มอบหมาย​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​สำคัญ​ให้​กลุ่ม​เล็ก ๆ ของ​เหล่า​สาวก​ผู้​ถูก​เจิม​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​จะ​เตรียม​และ​แจก​จ่าย​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ. (ลูกา 12:42-44) จำ​ไว้​ด้วย​ว่า พระองค์​ทรง​มอบหมาย​หน้า​ที่​สำคัญ​แก่​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ใน​การ​ประกาศ​และ​การ​ทำ​ให้​คน​เป็น​สาวก. (มัดธาย 28:18-20) แม้​แต่​ทุก​วัน​นี้ ถึง​แม้​ไม่​ประจักษ์​แก่​ตา​และ​ปกครอง​จาก​สวรรค์ พระ​เยซู​ทรง​มอบ​ประชาคม​ของ​พระองค์​บน​แผ่นดิน​โลก​ไว้​ใน​ความ​ดู​แล​ของ​พวก​ผู้​ชาย​ที่​พระองค์​ทรง​ถือ​ว่า​มี​คุณวุฒิ และ​ทรง​ให้​พวก​เขา​เป็น “ของ​ประทาน” แก่​ประชาคม.—เอเฟโซ 4:8, 11, 12.

18-20. (ก) เรา​จะ​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ​และ​ความ​มั่น​ใจ​ใน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ได้​โดย​วิธี​ใด? (ข) เรา​จะ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​การ​มอบหมาย​งาน? (ค) จะ​มี​การ​พิจารณา​อะไร​ใน​บท​ถัด​ไป?

18 เรา​จะ​ดำเนิน​ตาม​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น​โดย​วิธี​ใด? การ​ที่​เรา​แสดง​ความ​ไว้​วางใจ​และ​ความ​มั่น​ใจ​ใน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​เป็น​การ​แสดง​ความ​รัก. ขอ​เรา​จำ​ไว้​ว่า​ความ​รัก​มอง​ใน​แง่​บวก ไม่​ใช่​มอง​แง่​ลบ. เมื่อ​คน​อื่น​ทำ​ให้​เรา​ผิด​หวัง ซึ่ง​ก็​คง​จะ​เกิด​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​คราว ความ​รัก​จะ​ป้องกัน​เรา​ไว้​มิ​ให้​ด่วน​ทึกทัก​เอา​ว่า​เขา​มี​เจตนา​ไม่​ดี. (มัดธาย 7:1, 2) หาก​เรา​รักษา​ทัศนะ​ใน​แง่​บวก​ต่อ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ของ​เรา เรา​จะ​ปฏิบัติ​ต่อ​เขา​ใน​วิธี​ที่​เสริม​สร้าง​แทน​ที่​จะ​ทำ​ให้​ท้อ​ใจ.—1 เธซะโลนิเก 5:11.

19 เรา​จะ​เลียน​แบบ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระ​เยซู​ใน​การ​มอบ​งาน​ให้​คน​อื่น​ทำ​ได้​ไหม? นับ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​สำหรับ​คน​ที่​มี​ตำแหน่ง​รับผิดชอบ​ใน​ประชาคม​ที่​จะ​มอบ​งาน​ที่​เหมาะ​สม​และ​มี​ความ​หมาย​แก่​คน​อื่น โดย​ไว้​วางใจ​ว่า​พวก​เขา​จะ​ทำ​สุด​ความ​สามารถ. โดย​วิธี​นี้​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​ประสบการณ์​สามารถ​จัด​ให้​มี​การ​อบรม​ที่​จำเป็น​และ​มี​คุณค่า​สำหรับ​คน​หนุ่ม ๆ ที่​มี​คุณวุฒิ​ซึ่ง “เอื้อม​แขน​ออก​ไป” เพื่อ​ช่วยเหลือ​ใน​ประชาคม. (1 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 2:2) การ​อบรม​เช่น​นี้​นับ​ว่า​สำคัญ. ขณะ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เร่ง​งาน​ราชอาณาจักร​ให้​เติบโต​ต่อ​ไป จะ​มี​ความ​จำเป็น​ที่​ชาย​ผู้​มี​คุณวุฒิ​ต้อง​ได้​รับ​การ​อบรม​เพื่อ​ให้​ดู​แล​การ​เพิ่ม​ทวี​ขึ้น​เช่น​นั้น.—ยะซายา 60:22.

20 พระ​เยซู​ทรง​ให้​ตัว​อย่าง​อัน​ยอด​เยี่ยม​แก่​เรา​ใน​การ​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​คน​อื่น. ใน​ทุก​วิถี​ทาง​ที่​เรา​สามารถ​ดำเนิน​ตาม​พระองค์ การ​เลียน​แบบ​ความ​รัก​ของ​พระองค์​นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​สุด. ใน​บท​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​การ​แสดง​ความ​รัก​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​ที่​สุด​ที่​พระองค์​มี​ต่อ​เรา ซึ่ง​ก็​คือ​ความ​เต็ม​พระทัย​ของ​พระองค์​ที่​จะ​สละ​ชีวิต​เพื่อ​เรา.

^ วรรค 5 การ​นอน​หลับ​ของ​อัครสาวก​ไม่​ได้​มี​สาเหตุ​จาก​เพียง​แค่​ความ​อ่อน​ล้า​ทาง​กาย. เรื่อง​ราว​คล้าย​กัน​ที่​ลูกา 22:45 กล่าว​ว่า พระ​เยซู “พบ​เขา​นอน​หลับ​อยู่​ด้วย​กำลัง​ทุกข์​โศก.”

^ วรรค 9 ตอน​นั้น​มาเรีย​ดู​เหมือน​จะ​เป็น​แม่​ม่าย และ​บุตร​คน​อื่น ๆ ของ​เธอ​คง​จะ​ยัง​ไม่​ได้​เป็น​สาวก​ของ​พระ​เยซู.—โยฮัน 7:5.

^ วรรค 15 แน่นอน นี่​มิ​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ความ​รัก​เป็น​ความ​ซื่อ หลอก​ง่าย. แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ข้อ​นี้​หมาย​ความ​ว่า​ความ​รัก​ไม่​วิพากษ์วิจารณ์​หรือ​ระแวง​สงสัย​มาก​เกิน​ไป. ความ​รัก​ไม่​ด่วน​ตัดสิน​เจตนา​ของ​คน​อื่น​หรือ​สรุป​ว่า​เขา​แย่​มาก.