บท 8
“เราถูกใช้มาเพื่อการนี้”
1-4. (ก) พระเยซูทรงสอนหญิงชาวซะมาเรียอย่างชำนิชำนาญอย่างไร และเกิดผลเช่นไร? (ข) เหล่าอัครสาวกของพระองค์แสดงปฏิกิริยาอย่างไร?
พระเยซูและเหล่าอัครสาวกเดินมาหลายชั่วโมงแล้ว. พวกเขาเดินทางไปทางเหนือ โดยออกจากยูเดียมุ่งหน้าไปยังแกลิลี. เส้นทางที่สั้นที่สุดนี้—ใช้เวลาราว ๆ สามวัน—พาพวกเขาผ่านซะมาเรีย. เวลาประมาณเที่ยงวัน พวกเขามาใกล้เมืองซูคารซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ จึงแวะพักเพื่อให้สดชื่นหายเหนื่อย.
2 ขณะที่พวกอัครสาวกไปซื้ออาหาร พระเยซูทรงพักผ่อนอยู่ที่บ่อน้ำซึ่งอยู่นอกเมือง. หญิงคนหนึ่งเข้าไปตักน้ำ. พระเยซูอาจเลือกที่จะไม่ใส่ใจเธอก็ได้. พระองค์ “ทรงเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง.” (โยฮัน 4:6, ล.ม.) คงพอจะเข้าใจได้หากพระองค์เพียงแค่หลับตาลงแล้วปล่อยให้หญิงชาวซะมาเรียคนนี้ตักน้ำเสร็จแล้วก็ไปโดยที่พระองค์ไม่ตรัสอะไร. ดังที่เราได้เห็นในบท 4 ของหนังสือนี้ หญิงคนนั้นคงจะคาดหมายว่าชาวยิวไม่ว่าคนใดคงจะปฏิบัติต่อเธอด้วยความรังเกียจ. แต่พระเยซูเริ่มสนทนากับเธอ.
3 พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของหญิงคนนั้น ที่จริงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนั้นแหละ. เธอมาที่นี่เพื่อตักน้ำ; พระเยซูตรัสถึงน้ำที่ให้ชีวิตซึ่งจะดับความกระหายฝ่ายวิญญาณของเธอ. หลายครั้ง เธอยกคำถามขึ้นมาซึ่งอาจนำไปสู่การโต้เถียงกันได้โดยง่าย. * พระเยซูทรงหลีกเลี่ยงประเด็นดังกล่าวอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาแล้วสนทนาต่อไปตามแนวที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย. พระองค์ทรงเพ่งเล็งในเรื่องฝ่ายวิญญาณ นั่นคือการนมัสการอันบริสุทธิ์และพระยะโฮวาพระเจ้า. คำตรัส ของพระองค์มีผลกระทบที่กว้างไกล เพราะหญิงคนนี้ถ่ายทอดเรื่องนั้นแก่ชาวเมือง และพวกเขาต้องการฟังพระเยซูด้วยเช่นกัน.—โยฮัน 4:3-42.
4 เมื่อกลับมาถึง พวกอัครสาวกรู้สึกอย่างไรที่เห็นพระเยซูทรงให้คำพยานอย่างน่าทึ่งที่นี่? ไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าพวกเขาตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็น. พวกเขาถึงกับแปลกใจที่พระเยซูสนทนากับหญิงคนนี้ด้วยซ้ำ และดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้พูดกับเธอ. หลังจากที่เธอไปแล้ว พวกเขาเร่งเร้าพระเยซูให้เสวยอาหารที่พวกเขานำมา. อย่างไรก็ดี พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “เรามีอาหารกินที่ท่านทั้งหลายไม่รู้.” ด้วยความฉงน ทีแรกพวกเขาคิดว่าพระเยซูมีอาหารจริง ๆ. ครั้นแล้วพระองค์ทรงอธิบายว่า “อาหารของเราคือที่จะกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา, และให้การของพระองค์สำเร็จ.” (โยฮัน 4:32, 34) โดยวิธีนี้ พระเยซูทรงสอนพวกเขาว่า งานหลักในชีวิตของพระองค์สำคัญต่อพระองค์ยิ่งกว่าการรับประทานอาหาร. พระองค์ทรงต้องการให้พวกเขารู้สึกอย่างเดียวกันในเรื่องนั้น. งานนี้คืออะไร?
5. งานสำคัญในชีวิตของพระเยซูคืออะไร และเราจะพิจารณาอะไรในบทนี้?
5 พระเยซูเคยตรัสว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย เพราะเราถูกใช้มาเพื่อการนี้.” (ลูกา 4:43, ล.ม.) ใช่แล้ว พระเยซูถูกส่งมาเพื่อประกาศและสั่งสอนข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. * เหล่าสาวกของพระเยซูในทุกวันนี้ทำงานอย่างเดียวกันนั้น. ดังนั้น สำคัญที่เราจะพิจารณาดูว่าเหตุใดพระเยซูประกาศ, พระองค์ประกาศเรื่องอะไร, และพระองค์มีเจตคติเช่นไรต่องานที่ได้รับมอบหมาย.
เหตุผลที่พระเยซูประกาศ
6, 7. พระเยซูทรงต้องการให้ “ผู้สอนในที่สาธารณะ” รู้สึกอย่างไรกับการบอกข่าวดีแก่คนอื่น? จงยกตัวอย่าง.
6 ขอให้เราพิจารณาว่าพระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่พระองค์สอน; ต่อ จากนั้น เราจะพิจารณาเจตคติที่พระองค์มีต่อผู้คนที่พระองค์สอน. พระเยซูใช้อุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่ให้ภาพชัดเจนเพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการบอกคนอื่นถึงความจริงที่พระยะโฮวาทรงสอนพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “ผู้สอนในที่สาธารณะทุกคน ครั้นได้รับการสอนเกี่ยวกับราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ เป็นเหมือนผู้ชาย เจ้าของบ้าน ซึ่งนำทั้งของใหม่และของเก่าออกมาจากคลังทรัพย์ของตน.” (มัดธาย 13:52, ล.ม.) ทำไมเจ้าของบ้านในอุทาหรณ์นี้จึงนำของต่าง ๆ ออกมาจากคลังทรัพย์ของตน?
7 เจ้าของบ้านไม่ได้โอ้อวดทรัพย์สมบัติของตนด้วยความภูมิใจในแบบที่กษัตริย์ฮิศคียาในสมัยก่อนโน้นได้ทำ แล้วก็เกิดผลเสียหายตามมา. (2 กษัตริย์ 20:13-20) อะไรคือเจตนาของเจ้าของบ้าน? ขอพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบ: คุณไปเยี่ยมครูคนหนึ่งซึ่งได้รับความนับหน้าถือตาที่บ้านของเขา. เขาเปิดลิ้นชักโต๊ะแล้วดึงจดหมายสองฉบับออกมา ฉบับหนึ่งดูเก่าเพราะเก็บไว้นานแล้ว อีกฉบับหนึ่งดูใหม่กว่า. ทั้งสองฉบับเป็นจดหมายที่เขาได้รับจากพ่อ—ฉบับหนึ่งเขียนหลายสิบปีมาแล้วตอนที่ครูยังเป็นแค่เด็กเล็ก ๆ อีกฉบับหนึ่งเขียนไม่นานมานี้. ตาของเขาฉายแววยินดีขณะที่เล่าให้คุณฟังว่าจดหมายทั้งสองฉบับนี้มีค่าสักเพียงไรสำหรับเขา และคำแนะนำในจดหมายนี้ได้ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างไรและคำแนะนำดังกล่าวจะช่วยคุณได้โดยวิธีใด. จดหมายเหล่านี้มีค่าอย่างเห็นได้ชัดสำหรับครูคนนั้น หัวใจเขารักใคร่ชื่นชมจดหมายนั้น. (ลูกา 6:45) เขาให้คุณดูจดหมายนี้ ไม่ใช่เพื่อโอ้อวดหรือหาผลประโยชน์บางอย่าง แต่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณและเพื่อถ่ายทอดความสำนึกในคุณค่าของจดหมายนั้นแก่คุณ.
8. ทำไมเราจึงมีเหตุผลมากพอที่จะรู้สึกว่าความจริงที่เราเรียนจากพระคำของพระเจ้าเป็นทรัพย์อันล้ำค่า?
8 พระเยซูครูผู้ยิ่งใหญ่มีแรงกระตุ้นคล้ายกันในการบอกความจริงของพระเจ้าแก่คนอื่น. สำหรับพระองค์ ความจริงนั้นเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าเกินกว่าจะตีราคาได้. พระองค์ทรงรักความจริง และกระตือรือร้นที่จะบอกความจริงนั้น. พระองค์ทรงต้องการให้สาวกทุกคนของพระองค์ ซึ่งเป็น “ผู้สอนในที่สาธารณะ” รู้สึกอย่างเดียวกันนั้น. เรารู้สึกเช่นนั้นไหม? เรามีเหตุผลมากพอที่จะรักความ จริงทุกอย่างที่เราเรียนจากพระคำของพระเจ้า. เราถือว่าถ้อยคำแห่งความจริงมีค่าดุจอัญมณีไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่เรายึดถือมานานแล้วหรือความเชื่อที่ปรับปรุงแก้ไขใหม่เมื่อไม่นานมานี้. โดยการพูดด้วยความกระตือรือร้นอย่างจริงใจและรักษาความรักที่เรามีต่อสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงสอนเรา เราจึงถ่ายทอดความรักนั้นดังที่พระเยซูได้ทรงทำ.
9. (ก) พระเยซูทรงรู้สึกอย่างไรกับผู้คนที่พระองค์สอน? (ข) เราจะเลียนแบบเจตคติที่พระเยซูมีต่อผู้คนได้อย่างไร?
9 พระเยซูยังทรงรักผู้คนที่พระองค์สอนด้วย ดังที่เราจะพิจารณาอย่างละเอียดยิ่งขึ้นในตอน 3. มีคำพยากรณ์บอกไว้ว่า พระมาซีฮาจะ “สงสารคนอนาถาและคนขัดสน.” (บทเพลงสรรเสริญ 72:13) ที่จริง พระเยซูใฝ่พระทัยในผู้คน. พระองค์ทรงห่วงใยในความคิดและเจตคติที่กระตุ้นพวกเขา; พระองค์ทรงเป็นห่วงเกี่ยวกับภาระที่ถ่วงพวกเขาลงและอุปสรรคที่ขัดขวางพวกเขามิให้เข้าใจความจริง. (มัดธาย 11:28; 16:13; 23:13, 15) ตัวอย่างเช่น ขอให้นึกถึงหญิงชาวซะมาเรีย. ไม่ต้องสงสัยว่าเธอรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งที่พระเยซูใส่ใจในตัวเธอ. การที่พระองค์ทรงทราบสภาพส่วนตัวของเธออย่างทะลุปรุโปร่งได้กระตุ้นให้เธอยอมรับพระองค์ฐานะผู้พยากรณ์และบอกคนอื่นเรื่องพระองค์. (โยฮัน 4:16-19, 39) จริงอยู่ สาวกของพระเยซูในทุกวันนี้ไม่สามารถอ่านหัวใจของผู้คนที่พวกเขาประกาศให้ฟังนั้นได้. อย่างไรก็ดี เราสามารถแสดงความสนใจในผู้คน เช่นเดียวกับพระเยซู; เราสามารถแสดงความห่วงใยต่อพวกเขา; และเราสามารถปรับคำพูดของเราให้เข้ากับความสนใจ, ปัญหาต่าง ๆ, และความจำเป็นเฉพาะตัวของพวกเขาได้.
เรื่องที่พระเยซูประกาศ
10, 11. (ก) พระเยซูประกาศเรื่องอะไร? (ข) เหตุใดจึงจำเป็นต้องมีราชอาณาจักรของพระเจ้า?
10 พระเยซูประกาศเรื่องอะไร? หากคุณแสวงหาคำตอบโดยพิจารณาคำสอนของหลายคริสตจักรที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของพระองค์ คุณอาจลงความเห็นว่าพระองค์ประกาศเรื่องการใช้หลักการคริสเตียนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม. หรือบาง ทีคุณอาจคิดว่าพระองค์สนับสนุนการปฏิรูปทางการเมืองหรืออาจคิดว่าพระองค์เน้นความรอดส่วนตัวเหนือสิ่งอื่นใด. อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น พระเยซูตรัสอย่างชัดแจ้งว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.” นั่นเกี่ยวข้องกับอะไรจริง ๆ?
11 จำไว้ว่า พระเยซูทรงอยู่ในสวรรค์ตอนที่ซาตานโต้แย้งความถูกต้องของสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวาเป็นครั้งแรก. พระเยซูคงต้องรู้สึกปวดร้าวพระทัยสักเพียงไรที่เห็นพระบิดาองค์ชอบธรรมของพระองค์ถูกใส่ร้ายและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปกครองที่ไม่ยุติธรรมซึ่งกีดกันของดีไว้จากผู้ที่พระองค์ทรงสร้างมา! พระบุตรของพระเจ้าคงต้องรู้สึกเจ็บปวดสักเพียงไรเมื่ออาดามและฮาวาซึ่งจะเป็นบิดามารดาในอนาคตของมนุษยชาติได้เชื่อคำใส่ร้ายของซาตาน! พระบุตรได้เห็นว่าครอบครัวมนุษย์ได้ติดเชื้อบาปและความตายอันเป็นผลจากการกบฏขัดขืนนั้น. (โรม 5:12) แต่พระองค์คงต้องรู้สึกยินดีสักเพียงไรที่ทราบว่าสักวันหนึ่งพระบิดาของพระองค์จะทรงจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย!
12, 13. ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะจัดการแก้ไขความอยุติธรรมอะไรบ้าง และพระเยซูทรงทำให้ราชอาณาจักรนั้นเป็นประเด็นสำคัญในงานรับใช้ของพระองค์อย่างไร?
12 เหนือสิ่งอื่นใด อะไรเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะต้องจัดการ? พระนามของพระยะโฮวาต้องได้รับการทำให้เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ ขจัดให้พ้นร่องรอยของคำตำหนิทุกอย่างที่สุมทับพระนามนั้นเนื่องจากซาตานและบรรดาผู้ที่เข้าข้างมัน. ต้องมีการพิสูจน์ความถูกต้องชอบธรรมของสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวา วิธีการปกครองของพระองค์. พระเยซูทรงเข้าใจประเด็นสำคัญเหล่านี้ดียิ่งกว่ามนุษย์คนใด ๆ. ในคำอธิษฐานแบบอย่าง พระองค์ทรงสอนเหล่าสาวกให้ทูลขอเป็นอันดับแรกเพื่อให้พระนามของพระบิดาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, ต่อจากนั้นก็ขอให้ราชอาณาจักรของพระบิดามา, แล้วก็ขอให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลก. (มัดธาย 6:9, 10) ในไม่ช้าราชอาณาจักรของพระเจ้าที่มีพระคริสต์เยซูเป็นผู้ปกครอง จะกำจัดระบบที่เสื่อมทรามของซาตานให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินโลก และจะทำให้การปกครองอันชอบธรรมของพระยะโฮวาตั้งมั่นคงอยู่ตลอดกาล.—ดานิเอล 2:44.
13 ราชอาณาจักรนั้นเป็นประเด็นหลักในงานรับใช้ของพระเยซู. คำตรัสและการกระทำทั้งสิ้นของพระองค์ได้ช่วยให้ความกระจ่างว่าราชอาณาจักรนั้นคืออะไรและจะส่งเสริมพระประสงค์ของพระยะโฮวาอย่างไร. พระเยซูไม่ยอมให้อะไรมาทำให้พระองค์หันเหไปจากภารกิจของพระองค์ที่จะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ในสมัยของพระองค์ มีประเด็นทางสังคมที่เร่งด่วน มีความอยุติธรรมนับไม่ถ้วน กระนั้น พระองค์ก็จดจ่ออยู่กับข่าวสารและงานของพระองค์. การที่ยังคงจดจ่ออยู่กับข่าวสารและงานนั้นหมายความว่าพระเยซูมีทัศนะที่ไม่ยืดหยุ่น, มีวิธีการที่ไร้ความรู้สึก, ซ้ำซากน่าเบื่อไหม? ไม่เลย!
14, 15. (ก) พระเยซูได้พิสูจน์อย่างไรว่าเป็น “ผู้ใหญ่กว่าซะโลโม”? (ข) เราจะเลียนแบบพระเยซูในเรื่องข่าวสารที่เราประกาศได้โดยวิธีใด?
14 ดังที่เราจะเห็นตลอดตอนนี้ทั้งหมด พระเยซูทรงทำให้การสอนของพระองค์ทั้งเป็นที่น่าสนใจและมีความหลากหลาย. พระองค์สอนอย่างที่ดึงดูดใจผู้คน. เราอาจนึกถึงกษัตริย์ซะโลโมผู้ชาญฉลาด ซึ่งได้เสาะหาถ้อยคำที่ไพเราะ ถ้อยคำอันถูกต้องแห่งความจริง เพื่อถ่ายทอดความคิดที่พระยะโฮวาทรงดลใจท่านให้บันทึกไว้. (ท่านผู้ประกาศ 12:10) พระยะโฮวาได้ทรงโปรดให้มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ผู้นี้มี “พระทัยกว้างขวางมาก” ทำให้ท่านสามารถพูดถึงหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนก, ปลา, ต้นไม้, จนถึงสัตว์เดรัจฉาน. ผู้คนมาจากที่ห่างไกลเพื่อฟังซะโลโมพูด. (1 กษัตริย์ 4:29-34) กระนั้น พระเยซูทรงเป็น “ผู้ใหญ่กว่าซะโลโม.” (มัดธาย 12:42) พระองค์ทรงชาญฉลาดมากกว่า ทรงมี “พระทัยกว้างขวางมาก” กว่านัก. เมื่อสอนประชาชน พระเยซูทรงใช้ความรู้เกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าที่พระองค์มีมากกว่า อีกทั้งความรู้ในเรื่องนก, สัตว์ต่าง ๆ, ปลา, เกษตรกรรม, ดินฟ้าอากาศ, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, ประวัติศาสตร์, และสภาพของสังคม. ในขณะเดียวกัน พระเยซูไม่เคยโอ้อวดความรู้ของพระองค์เพื่อจะทำให้คนอื่นประทับใจ. พระองค์ทำให้ข่าวสารของพระองค์เป็นแบบเรียบง่ายและชัดเจนเสมอ. ไม่น่าแปลกที่ผู้คนยินดีจะฟังพระองค์ตรัส!—มาระโก 12:37; ลูกา 19:48.
15 คริสเตียนในทุกวันนี้พยายามจะติดตามการนำของพระเยซู. เราไม่มีสติ ปัญญาและความรู้มากมายเหมือนพระองค์ แต่เราทุกคนมีความรู้และประสบการณ์อยู่บ้างซึ่งจะนำมาใช้ได้เมื่อเราบอกความจริงเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าแก่คนอื่น. ตัวอย่างเช่น บิดามารดาอาจยกมาจากประสบการณ์ของตนเองในการอบรมบุตรเพื่อแสดงตัวอย่างให้เห็นความรักที่พระยะโฮวามีต่อบุตรของพระองค์. คนอื่นอาจใช้ตัวอย่างหรือคำเปรียบจากงานอาชีพ, โรงเรียน, หรือความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับผู้คนและเหตุการณ์ปัจจุบัน. ในขณะเดียวกัน เราระวังที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งใดมาเบนความสนใจของผู้คนไปจากข่าวสารของเรา ซึ่งก็คือข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า.—1 ติโมเธียว 4:16.
เจตคติที่พระเยซูมีต่องานรับใช้ของพระองค์
16, 17. (ก) พระเยซูมีเจตคติเช่นไรต่องานรับใช้ของพระองค์? (ข) พระเยซูแสดงอย่างไรว่างานรับใช้ของพระองค์เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของพระองค์?
16 พระเยซูทรงรู้สึกว่างานรับใช้ของพระองค์เป็นสมบัติอันล้ำค่า. พระองค์ทรงยินดีช่วยผู้คนให้รู้จักพระบิดาทางภาคสวรรค์ของพระองค์อย่างที่ทรงเป็นจริง ๆ ไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องลึกลับโดยคำสอนและประเพณีที่มนุษย์ตั้งขึ้นซึ่งทำให้สับสน. พระเยซูชอบช่วยผู้คนให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาและมีความหวังเกี่ยวกับชีวิตนิรันดร์. พระองค์ทรงชื่นชอบในการนำคำปลอบโยนและความยินดีที่เกิดจากข่าวดีไปให้ผู้คน. พระองค์ทรงแสดงโดยวิธีใดว่ามีความรู้สึกเช่นนั้น? ขอพิจารณาสามประการต่อไปนี้.
17 ประการแรก พระเยซูทรงทำให้งานรับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของพระองค์. การพูดถึงเรื่องราชอาณาจักรเป็นงานประจำชีพ, งานสำคัญในชีวิตของพระองค์, เป็นความสนใจหลักของพระองค์. เพราะเหตุนั้น ดังที่เราสังเกตในบท 5 ด้วยความฉลาดสุขุมพระเยซูทรงทำให้ชีวิตของพระองค์เรียบง่ายอยู่เสมอ. ดังที่พระองค์ทรงให้คำแนะนำแก่คนอื่น พระองค์รักษาตาให้เพ่งเล็งในสิ่งที่สำคัญที่สุด. พระองค์ไม่ได้ถูกทำให้เขวไปโดยสิ่งของจำนวนมากมายที่พระองค์จะต้องซื้อหามา, ต้องดูแลรักษา, และซ่อมแซมหรือหามาทดแทนใหม่ขณะที่เวลาผ่านไป. พระองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายเพื่อจะไม่มีสิ่งใดมาทำให้พระองค์เขวไปจากงานรับใช้โดยไม่จำเป็น.—มัดธาย 6:22; 8:20.
18. พระเยซูทรงทุ่มเทตัวในงานรับใช้ของพระองค์ในทางใดบ้าง?
18 ประการที่สอง พระเยซูทรงทุ่มเทตัวในงานรับใช้ของพระองค์. พระองค์ทุ่มเทกำลังมากมายให้กับงานนี้ เดินเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรไปตลอดทั่วปาเลสไตน์ เสาะหาคนที่พระองค์จะบอกข่าวดี. พระองค์ทรงสนทนากับพวกเขาในบ้านของพวกเขา, ในจัตุรัสสาธารณะ, ในตลาด, และกลางแจ้ง. พระองค์สนทนากับพวกเขาแม้แต่เมื่อพระองค์จำเป็นต้องพักผ่อน, รับประทานอาหาร, ดื่มน้ำ, หรืออยู่เงียบ ๆ สักครู่กับเพื่อนสนิทของพระองค์. แม้แต่ขณะที่พระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ยังบอกข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่คนอื่นด้วยซ้ำ!—ลูกา 23:39-43.
19, 20. พระเยซูทรงยกตัวอย่างแสดงให้เห็นความเร่งด่วนของงานประกาศอย่างไร?
19 ประการที่สาม พระเยซูทรงถือว่างานรับใช้เป็นงานที่เร่งด่วน. ขอให้นึกถึงการสนทนาของพระองค์กับหญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำนอกเมืองซูคาร. ในเหตุการณ์ตอนนั้นเหล่าอัครสาวกของพระเยซูดูเหมือนไม่สำนึกถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนที่จะบอกข่าวดีแก่คนอื่น. พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายว่า ‘อีกสี่เดือนฤดูเกี่ยวข้าวจะถึง’ มิใช่หรือ นี่แน่ะเราบอกท่านทั้งหลายว่า, จงลืมตามองดูนาเถิด, เพราะว่าทุ่งนาเหลืองถึงฤดูเกี่ยวแล้ว.”—โยฮัน 4:35.
20 พระเยซูทรงยกตัวอย่างจากฤดูกาลที่อยู่ในช่วงนั้น. ดูเหมือนว่าเป็นเดือนชิสเลฟ (พฤศจิกายน/ธันวาคม). อีกสี่เดือนจะถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์ ราว ๆ ช่วงปัศคา ในวันที่ 14 เดือนไนซาน. ดังนั้น ชาวนาไม่รู้สึกถึงความเร่งด่วนแต่อย่างใดในเรื่องการเก็บเกี่ยวในตอนนั้น. พวกเขายังมีเวลาเหลือเฟือ. แต่จะว่าอย่างไรเรื่องการเก็บเกี่ยวผู้คน? มีหลายคนพร้อมที่จะฟัง, เรียนรู้, เข้ามาเป็นสาวกของพระคริสต์, และได้รับความหวังอันยอดเยี่ยมที่พระยะโฮวาเสนอให้พวกเขา. ประหนึ่งว่าพระเยซูสามารถมองออกไปทั่วทุ่งนาโดยนัยและเห็นว่านานั้นเหลืองอร่ามด้วยข้าวที่แก่แล้วซึ่งเอนลู่ไปตามสายลมอ่อน ๆ เป็นสัญญาณว่าทุ่งนานั้นพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว. * ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว และงาน ก็เร่งด่วน! ฉะนั้น เมื่อชาวเมืองหนึ่งพยายามหน่วงเหนี่ยวพระเยซูให้อยู่กับพวกเขาต่อไป พระองค์ตรัสตอบว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย เพราะเราถูกใช้มาเพื่อการนี้.”—ลูกา 4:43, ล.ม.
21. เราจะเลียนแบบพระเยซูได้โดยวิธีใด?
21 เราสามารถเลียนแบบพระเยซูในทั้งสามประการที่เพิ่งพิจารณาไป. เราสามารถทำให้งานรับใช้แบบคริสเตียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา. ถึงแม้เราอาจมีครอบครัวและพันธะหน้าที่ในการหาเลี้ยงชีพ เราก็ยังแสดงให้เห็นได้ว่างานรับใช้ของเรามาเป็นอันดับแรกโดยการมีส่วนด้วยใจแรงกล้าในงานนี้เป็นประจำ เช่นเดียวกับที่พระเยซูทำ. (มัดธาย 6:33; 1 ติโมเธียว 5:8) เราสามารถทุ่มเทตัวในงานรับใช้ สละเวลา, กำลัง, และทรัพยากรของเราอย่างใจกว้างเพื่อสนับสนุนงานนี้. (ลูกา 13:24) และเราคำนึงถึงเสมอว่างานของเราเป็นงานเร่งด่วน. (2 ติโมเธียว 4:2) เราต้องฉวยทุกโอกาสที่จะประกาศข่าวดี!
22. เราจะพิจารณาอะไรในบทต่อไป?
22 พระเยซูยังแสดงด้วยว่าพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของงานนี้โดยทำให้แน่ใจว่างานนี้จะดำเนินต่อไปหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว. พระองค์ได้มอบหมายเหล่าสาวกให้ทำงานประกาศและสั่งสอนต่อไป. งานมอบหมายนั้นจะเป็นหัวเรื่องของบทต่อไป.
^ วรรค 3 ตัวอย่างเช่น เมื่อถามว่าทำไมพระองค์ซึ่งเป็นชาวยิวจึงพูดกับเธอซึ่งเป็นชาวซะมาเรีย เธอได้กล่าวถึงเรื่องซึ่งเป็นความบาดหมางมานานหลายศตวรรษระหว่างชนชาติทั้งสอง. (โยฮัน 4:9) เธอยังยืนยันด้วยว่าชนชาติของเธอสืบเชื้อสายมาจากยาโคบ ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ชาวยิวในสมัยนั้นปฏิเสธอย่างแข็งขัน. (โยฮัน 4:12) ชาวยิวเรียกชาวซะมาเรียว่าพวกคูธาเพื่อเน้นว่าพวกเขามีเชื้อสายมาจากคนต่างชาติ.
^ วรรค 5 การประกาศหมายถึงป่าวร้องหรือแจ้งข่าวสารให้ทราบ. การสอนก็มีความหมายคล้ายกัน แต่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดข่าวสารอย่างละเอียดลึกซึ้งกว่า. การสอนที่ดีรวมไปถึงการหาวิธีต่าง ๆ ที่จะเข้าถึงหัวใจเพื่อกระตุ้นนักศึกษาให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง.
^ วรรค 20 แหล่งอ้างอิงหนึ่งชี้แจงเกี่ยวกับข้อนี้ว่า “ข้าวเมื่อแก่เต็มที่แล้ว ก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง หรือสีอ่อนลง บ่งชี้ว่าถึงเวลาที่จะเกี่ยวได้แล้ว.”