บท 4
“ดูสิ! สิงโตแห่งตระกูลยูดาห์”
1-3. อันตรายอะไรเกิดขึ้นกับพระเยซูและพระองค์มีปฏิกิริยาอย่างไร?
ฝูงชนกำลังตามจับพระเยซู. คนเหล่านี้เป็นฝูงชนกลุ่มใหญ่ที่ถือดาบและไม้ตะบองเป็นอาวุธพร้อมกับมีทหารอยู่ท่ามกลางพวกเขา. ประหนึ่งว่ามีแรงกระตุ้นที่ชั่วร้ายชักนำพวกเขาให้เดินไปตามถนนที่มืดของกรุงเยรูซาเลมแล้วข้ามหุบเขาฆิดโรนไปยังภูเขามะกอกเทศ. ดวงจันทร์เต็มดวง แต่พวกเขาก็ยังถือคบเพลิงและโคมไฟมา. พวกเขาต้องใช้คบเพลิงและโคมไฟส่องทางเพราะเมฆบดบังแสงจันทร์ไหม? หรือพวกเขาคาดว่าคนที่ตนกำลังตามหานั้นแฝงตัวอยู่ในความมืด? ที่แน่ ๆ ก็คือ ใครก็ตามที่คิดว่าพระเยซูจะกลัวจนตัวสั่นนั้นไม่รู้จักบุคลิกลักษณะของพระองค์.
2 พระเยซูทรงทราบถึงอันตรายที่ใกล้เข้ามา. ถึงกระนั้น พระองค์ทรงยืนรออยู่. ฝูงชนที่นำโดยยูดาซึ่งเคยเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของพระองค์เดินใกล้เข้ามา. ยูดาทรยศพระเยซูอย่างไร้ยางอาย โดยการชี้ตัวอดีตผู้เป็นนายของตนด้วยการทักทายอย่างหน้าซื่อใจคดและการจูบ. กระนั้น พระเยซูยังคงสงบอยู่. แล้วพระองค์ทรงก้าวออกมาต่อหน้าฝูงชน. พระองค์ตรัสถามว่า “ท่านทั้งหลายมาหาผู้ใด?” พวกเขาทูลตอบว่า “มาหาเยซูชาวบ้านนาซาเร็ธ.”
3 คนส่วนใหญ่คงจะตกใจกลัวเมื่ออยู่ต่อหน้าฝูงชนที่ถืออาวุธมาเช่นนั้น. บางทีฝูงชนกลุ่มนี้คาดว่าบุรุษที่อยู่ตรงหน้าพวกเขาจะเป็นเช่นนั้น. แต่พระเยซูไม่ได้กลัวจนตัวสั่น, ไม่ได้หนีไป, ทั้งไม่ได้โพล่งคำโกหกอะไรบางอย่างออกมา. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์เพียงแต่ตรัสว่า “เราเป็นผู้นั้นแหละ.” กิริยาอาการของพระองค์สงบและกล้าหาญจนกระทั่งคนเหล่านั้นตกตะลึง. พวกเขาเซไปข้างหลังและล้มลง!—โยฮัน 18:1-6; มัดธาย 26:45-50; มาระโก 14:41-46.
4-6. (ก) มีการเปรียบพระบุตรของพระเจ้ากับอะไร และเพราะเหตุใด? (ข) พระเยซูแสดงความกล้าหาญในสามแนวทางอะไรบ้าง?
4 พระเยซูสามารถเผชิญกับอันตรายร้ายแรงเช่นนั้นได้อย่างไรโดยคงความสงบเยือกเย็นและการเหนี่ยวรั้งตนอย่างเต็มที่? ตอบได้คำเดียวคือ ความกล้า หาญ. ความกล้าหาญเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นและที่ผู้คนนิยมยกย่องมากที่สุดอย่างหนึ่งในตัวผู้นำ และแน่นอนว่าไม่เคยมีมนุษย์คนใดเท่าเทียมหรือเหนือกว่าพระเยซูในเรื่องนี้. ในบทก่อน เราได้เรียนรู้ว่าพระเยซูทรงถ่อมและอ่อนน้อมเพียงใด. มีการเรียกพระองค์อย่างเหมาะสมว่า “พระเมษโปดก” (ลูกแกะ). (โยฮัน 1:29) อย่างไรก็ดี ความกล้าหาญของพระเยซูทำให้มีการเรียกพระองค์ด้วยคำพรรณนาที่ต่างออกไปทีเดียว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับพระบุตรของพระเจ้าว่า “ดูสิ! สิงโตแห่งตระกูลยูดาห์.”—วิวรณ์ 5:5, ล.ม.
5 สิงโตมักถูกเชื่อมโยงกับความกล้าหาญ. คุณเคยเผชิญหน้ากับสิงโตตัวผู้ที่โตเต็มวัยแล้วไหม? ถ้าเคย ส่วนใหญ่แล้วคุณคงอยู่ห่างจากสัตว์นี้ในระยะที่ปลอดภัย บางทีเพราะมันอยู่ในกรงที่สวนสัตว์. กระนั้น ประสบการณ์ดังกล่าวก็อาจทำให้หวั่นกลัว. ขณะที่คุณจ้องหน้าสัตว์ที่ใหญ่โตและมีกำลังตัวนี้ และมันก็จ้องคุณอย่างไม่ลดละ คุณคงแทบจะนึกภาพไม่ออกว่าสิงโตจะวิ่งหนีอะไรด้วยความกลัว. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับ “สิงโตที่มีเรี่ยวแรงที่สุดในจำพวกสัตว์เดียรัจฉาน, และไม่ยอมหลีกทางให้ใครเลย.” (สุภาษิต 30:30) พระคริสต์ก็มีความกล้าหาญอย่างนี้แหละ.
6 ขอให้เราพิจารณาวิธีที่พระเยซูแสดงความกล้าหาญเหมือนสิงโตในสามแนวทางคือ ในการปกป้องความจริง, สนับสนุนความยุติธรรม, และเผชิญการต่อต้าน. เราจะเห็นเช่นกันว่า เราทุกคน ไม่ว่าเป็นคนกล้าโดยนิสัยหรือไม่ก็ตาม สามารถเลียนแบบพระเยซูในการแสดงความกล้าหาญ.
พระองค์ทรงปกป้องความจริงอย่างกล้าหาญ
7-9. (ก) เกิดอะไรขึ้นตอนพระเยซูอายุ 12 ปี และสถานการณ์นั้นอาจดูเหมือนน่าหวั่นกลัวอย่างไรสำหรับคุณ? (ข) พระเยซูแสดงความกล้าหาญอย่างไรในการติดต่อเกี่ยวข้องกับพวกผู้สอนในพระวิหาร?
7 ในโลกที่ปกครองโดยซาตาน “พ่อของการมุสา” บ่อยครั้งต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะปกป้องความจริง. (โยฮัน 8:44; 14:30) พระเยซูมิได้รอจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ก่อนที่จะแสดงจุดยืนเช่นนั้น. ตอนอายุ 12 ปี พระเยซูได้แยกจากบิดามารดาของพระองค์ภายหลังการฉลองเทศกาลปัศคาในกรุงเยรูซาเลม. มาเรียกับโยเซฟวิ่งวุ่นตามหาพระองค์อยู่สามวัน. ในที่สุดพวกเขาได้พบพระองค์ อยู่ในพระวิหาร. พระองค์ทำอะไรอยู่ที่นั่น? พระองค์ “นั่งอยู่ในโบสถ์ท่ามกลางพวกอาจารย์, กำลังฟังและไต่ถามพวกอาจารย์เหล่านั้น.” (ลูกา 2:41-50) ขอพิจารณาฉากเหตุการณ์ที่มีการสนทนากันเช่นนั้น.
8 นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นธรรมเนียมที่ผู้นำศาสนาคนสำคัญบางคนจะคงอยู่ต่อไปที่พระวิหารหลังจากเทศกาลและสอน ณ บริเวณเฉลียงที่กว้างขวางสักแห่งหนึ่ง. ผู้คนจะนั่งแทบเท้าของพวกเขาเพื่อฟังและถามคำถามต่าง ๆ. ผู้สอนเหล่านี้เป็นผู้คงแก่เรียน. พวกเขาชำนาญมากในพระบัญญัติของโมเซรวมทั้งกฎหมายและประเพณีต่าง ๆ ที่ซับซ้อนจำนวนมากมายซึ่งได้เพิ่มขึ้นตลอดหลายปี. คุณอาจรู้สึกอย่างไรหากนั่งอยู่ท่ามกลางพวกเขา? รู้สึกหวั่นกลัวไหม? นั่นเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้. และคุณจะรู้สึกอย่างไรหากคุณอายุเพียง 12 ปี? เด็กหลายคนรู้สึกอาย. (ยิระมะยา 1:6) บางคนพยายามเต็มที่เพื่อจะไม่ทำตัวให้เป็นที่สนใจของพวกครูในโรงเรียน; เด็กเหล่านี้กลัวจะถูกเรียกหรือเลือกให้ทำอะไรบางอย่าง กลัวว่าจะอับอายขายหน้าหรือถูกเยาะเย้ย.
9 กระนั้น เราพบพระเยซูนั่งอยู่ที่นี่ในท่ามกลางผู้คงแก่เรียน ซักถามพวกเขาอย่างไม่หวั่นกลัวด้วยคำถามที่เจาะลึก. และพระองค์ทรงทำยิ่งกว่านั้นอีก. บันทึกเรื่องนั้นบอกเราว่า “คนทั้งปวงที่ได้ยินก็ประหลาดใจในสติปัญญาและคำตอบของพระกุมารนั้น.” (ลูกา 2:47) คัมภีร์ไบเบิลมิได้บอกเราว่าพระองค์ตรัสเช่นไรในโอกาสนั้น แต่เรามั่นใจได้ว่าพระองค์ไม่ได้ลอกเลียนความเท็จซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบในท่ามกลางผู้สอนศาสนาเหล่านั้น. (1 เปโตร 2:22) พระองค์ทรงสนับสนุนความจริงในพระคำของพระเจ้า และผู้ที่ฟังพระองค์รู้สึกประหลาดใจจริง ๆ ที่เด็กอายุ 12 ปีสามารถออกความเห็นด้วยความเข้าใจและความกล้าหาญเช่นนั้น.
10. เยาวชนคริสเตียนในทุกวันนี้เลียนแบบความกล้าหาญของพระเยซูอย่างไร?
10 ปัจจุบัน เยาวชนคริสเตียนจำนวนนับไม่ถ้วนกำลังดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซู. จริงอยู่ พวกเขาไม่ได้เป็นคนสมบูรณ์เหมือนพระเยซูผู้เยาว์วัย. แต่เช่นเดียวกับพระองค์ พวกเขาไม่ได้คอยจนเป็นผู้ใหญ่เสียก่อนแล้วจึงค่อยสนับสนุนความจริง. ที่โรงเรียนหรือในชุมชนที่พวกเขาอยู่ พวกเขาใช้คำถามอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาในการพูดคุยกับผู้คน และแบ่งปันความจริงให้คนเหล่า นั้นด้วยความนับถือ. (1 เปโตร 3:15) เยาวชนเหล่านี้โดยรวมได้ช่วยเพื่อนนักเรียน, ครู, และเพื่อนบ้านให้เข้ามาเป็นผู้ติดตามพระคริสต์. ความกล้าหาญของพวกเขาคงต้องทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยสักเพียงไร! พระคำของพระองค์เปรียบเยาวชนเหล่านี้เป็นเหมือนหยดน้ำค้างที่มีจำนวนมากมายซึ่งทำให้สดชื่นและก่อความยินดี.—บทเพลงสรรเสริญ 110:3.
11, 12. ขณะเป็นผู้ใหญ่ พระเยซูได้แสดงความกล้าหาญอย่างไรในการปกป้องความจริง?
11 ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ พระเยซูได้แสดงความกล้าหาญหลายครั้งหลายหนในการปกป้องความจริง. ที่จริง งานรับใช้ของพระองค์เริ่มต้นด้วยการเผชิญหน้ากันที่หลายคนคงจะถือว่าน่ากลัวอย่างยิ่ง. ไม่ใช่ฐานะเป็นอัครทูตสวรรค์ผู้ทรงฤทธิ์ แต่เป็นเพียงมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ พระเยซูต้องเผชิญกับซาตาน ศัตรูที่มีอำนาจและอันตรายมากที่สุดในบรรดาศัตรูทั้งสิ้นของพระยะโฮวา. พระเยซูได้ปฏิเสธซาตานและหักล้างการที่มันนำข้อความในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจมาใช้อย่างผิด ๆ. พระเยซูทรงยุติการปะทะกันนั้นโดยออกคำสั่งอย่างกล้าหาญว่า “อ้ายซาตาน, จงไปเสียให้พ้น.”—มัดธาย 4:2-11.
12 โดยวิธีนี้ พระเยซูทรงวางแบบไว้สำหรับงานรับใช้ของพระองค์ ปกป้องพระคำของพระบิดาอย่างกล้าหาญ โดยต่อต้านความพยายามที่จะบิดเบือนพระคำนั้นหรือนำไปใช้อย่างผิด ๆ. ในตอนนั้นก็เช่นเดียวกับในทุกวันนี้ ความไม่ซื่อตรงทางศาสนาเช่นนั้นเป็นเรื่องธรรมดาทีเดียว. พระเยซูตรัสแก่ผู้นำศาสนาในสมัยของพระองค์ว่า “เจ้าทั้งหลายจึงทำลายพระบัญญัติของพระเจ้า [“ทำให้พระบัญญัติของพระเจ้าเป็นโมฆะ,” ล.ม.] ด้วยคำสอน [“ประเพณี,” ล.ม.] ของพวกเจ้า.” (มาระโก 7:13) คนเหล่านั้นได้รับความเคารพนับถืออย่างมากจากผู้คนทั่วไป แต่พระเยซูทรงประณามพวกเขาอย่างไม่หวั่นกลัวว่า พวกเขาเป็นคนนำทางตาบอดและคนหน้าซื่อใจคด. * (มัดธาย 23:13, 16) เราจะเลียนแบบตัวอย่างความกล้าหาญของพระเยซูในแง่มุมนี้ได้อย่างไร?
13. เราต้องระลึกถึงสิ่งใดในการเลียนแบบพระเยซู แต่เราก็มีสิทธิพิเศษอะไร?
13 แน่นอน เราควรจำไว้ว่าเราไม่มีทั้งความสามารถในการอ่านหัวใจและอำนาจ ที่จะตัดสินเหมือนที่พระเยซูมี. อย่างไรก็ดี เราสามารถเลียนแบบพระองค์ในการปกป้องความจริงอย่างกล้าหาญ. ตัวอย่างเช่น โดยการเปิดโปงความเท็จทางศาสนา —คำโกหกที่มีการสอนกันบ่อยครั้งในเรื่องพระเจ้า, พระประสงค์, และพระคำของพระองค์—เราฉายความสว่างแก่โลกที่มืดมนเนื่องจากคำโฆษณาชวนเชื่อของซาตาน. (มัดธาย 5:14; วิวรณ์ 12:9, 10) เราช่วยปลดปล่อยผู้คนจากการเป็นทาสคำสอนเท็จซึ่งทำให้หัวใจของพวกเขาเต็มด้วยความหวาดกลัวและก่อผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเขากับพระเจ้า. เราช่างมีสิทธิพิเศษเสียจริง ๆ ที่เห็นคำสัญญาของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงที่ว่า “ความจริงนั้นจะกระทำให้ท่านทั้งหลายเป็นไทย.”—โยฮัน 8:32.
พระองค์สนับสนุนความยุติธรรมอย่างกล้าหาญ
14, 15. (ก) วิธีหนึ่งที่พระเยซูทำให้ “ความหมายของความยุติธรรม” กระจ่างชัดคืออย่างไร? (ข) ในการสนทนากับหญิงชาวซะมาเรีย พระเยซูทรงมองข้ามอคติอะไร?
14 คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้บอกล่วงหน้าว่าพระมาซีฮาจะทำให้ “ความหมายของความยุติธรรม” กระจ่างแก่นานาชาติ. (มัดธาย 12:18, ล.ม.; ยะซายา 42:1) แน่นอนว่าพระเยซูเริ่มทำเช่นนั้นขณะที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้. ด้วยความกล้าหาญอย่างมาก พระองค์ได้พิสูจน์ความยุติธรรมและความไม่ลำเอียงในการปฏิบัติต่อผู้คนเสมอ. ตัวอย่างเช่น พระองค์ปฏิเสธอคติที่ไม่ถูกหลักพระคัมภีร์และการไม่ยอมผ่อนปรนที่มีแพร่หลายอย่างมากในวงสังคมรอบตัวพระองค์.
15 เมื่อพระเยซูสนทนากับผู้หญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำเมืองซูคาร เหล่าสาวก ของพระองค์รู้สึกแปลกใจ. เพราะเหตุใด? ในสมัยนั้น ชาวยิวโดยทั่วไปรังเกียจชาวซะมาเรีย; ความเกลียดชังเช่นนี้ย้อนหลังไปเป็นเวลานานหลายร้อยปี. (เอษรา 4:4) นอกจากนี้ รับบีบางคนมีทัศนะเหยียดสตรี. กฎของพวกรับบีซึ่งได้มีการบันทึกไว้ภายหลังห้ามผู้ชายมิให้สนทนากับผู้หญิง; พวกเขาถึงกับชี้แนะว่าไม่สมควรสอนพระบัญญัติของพระเจ้าแก่ผู้หญิง. โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการถือว่าผู้หญิงชาวซะมาเรียเป็นมลทิน. พระเยซูทรงมองข้ามอคติที่ไม่ยุติธรรมดังกล่าวและทรงสอนหญิงชาวซะมาเรียคนนั้นอย่างเปิดเผย (ทั้ง ๆ ที่เธอดำเนินชีวิตแบบผิดศีลธรรม) ถึงกับทรงแจ้งให้เธอรู้ว่าพระองค์เป็นพระมาซีฮา.—โยฮัน 4:5-27.
16. ทำไมคริสเตียนต้องกล้าหาญเพื่อจะต่างจากคนอื่นในเรื่องอคติ?
16 คุณเคยอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่มีอคติอย่างน่ารังเกียจไหม? บางทีพวกเขาล้อเล่นอย่างดูถูกเกี่ยวกับคนต่างผิวหรือคนอีกชาติหนึ่ง, พูดเหยียดหยามเกี่ยวกับเพศตรงข้าม, หรือดูถูกคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมที่ต่างจากตน. เหล่าสาวกของพระคริสต์ไม่เห็นชอบกับทัศนะที่น่ารังเกียจดังกล่าว และพวกเขาพยายามอย่างแข็งขันที่จะกำจัดร่องรอยใด ๆ ของอคติที่มีอยู่ในหัวใจของตนเอง. (กิจการ 10:34) เราแต่ละคนต้องปลูกฝังความกล้าหาญเพื่อจะเป็นคนไม่ลำเอียงในเรื่องนี้.
17. พระเยซูลงมือจัดการอะไรในพระวิหาร และเพราะเหตุใด?
17 ความกล้าหาญยังทำให้พระเยซูต่อสู้เพื่อความสะอาดของประชาชนของพระเจ้าและเพื่อการจัดเตรียมสำหรับการนมัสการอันบริสุทธิ์. ช่วงต้นของงานรับใช้ พระองค์ได้เสด็จเข้าไปในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลมและรู้สึกตกตะลึงที่เห็นพวกพ่อค้าและคนรับแลกเงินดำเนินธุรกิจของพวกเขาที่นั่น. ด้วยความรู้สึกขุ่นเคืองอย่างชอบธรรม พระเยซูทรงไล่คนละโมบเหล่านี้พร้อมกับโยนสินค้าของพวกเขาออกไปจากที่นั่น. (โยฮัน 2:13-17) พระองค์ได้ลงมือจัดการอย่างเดียวกันนั้นในภายหลัง ตอนที่งานรับใช้ของพระองค์ใกล้จะสิ้นสุดลง. (มาระโก 11:15-18) แน่นอนการกระทำดังกล่าวนี้คงต้องทำให้พระองค์มีศัตรูอยู่บ้างซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพล กระนั้น พระองค์ก็มิได้ลังเล. เพราะเหตุใด? ตั้งแต่วัยเด็ก พระองค์ได้เรียกพระวิหารนั้นว่าพระนิเวศแห่งพระบิดาของพระองค์ และ พระองค์ก็หมายความอย่างนั้นจริง ๆ. (ลูกา 2:49, ฉบับแปลใหม่) การทำให้การนมัสการบริสุทธิ์ซึ่งดำเนินอยู่ที่นั่นเป็นมลทินนับว่าเป็นความอยุติธรรมที่พระองค์ยอมไม่ได้เลย. น้ำใจอันแรงกล้าทำให้พระองค์มีความกล้าหาญที่จะทำสิ่งจำเป็น.
18. คริสเตียนในทุกวันนี้อาจแสดงความกล้าหาญโดยวิธีใดในเรื่องความสะอาดของประชาคม?
18 เหล่าสาวกของพระคริสต์ในทุกวันนี้เป็นห่วงอย่างยิ่งเช่นเดียวกันในเรื่องความสะอาดแห่งประชาชนของพระเจ้าและการจัดเตรียมเพื่อการนมัสการอันบริสุทธิ์. หากเขาเห็นว่าเพื่อนคริสเตียนเข้าไปพัวพันในการทำผิดร้ายแรง เขาจะไม่อยู่นิ่งเฉย. เขากล้าที่จะพูด. (1 โกรินโธ 1:11) เขาจะแจ้งเรื่องนั้นให้ผู้ปกครองในประชาคมรู้แน่ ๆ. ผู้ปกครองสามารถช่วยคนที่ป่วยฝ่ายวิญญาณและยังลงมือจัดการเพื่อรักษาฝูงแกะของพระยะโฮวาให้อยู่ในฐานะสะอาดด้วย.—ยาโกโบ 5:14, 15.
19, 20. (ก) ความอยุติธรรมเช่นไรที่มีแพร่หลายในสมัยของพระเยซู และพระเยซูเผชิญความกดดันอะไร? (ข) ทำไมเหล่าสาวกของพระคริสต์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความรุนแรง และผลตอบแทนอย่างหนึ่งสำหรับจุดยืนของพวกเขาคืออะไร?
19 เราควรสรุปไหมว่าพระเยซูต่อสู้กับความอยุติธรรมทางสังคมในโลกโดยทั่วไป? แน่นอนว่ามีความอยุติธรรมอยู่ทุกหนแห่งรอบตัวพระองค์. มาตุภูมิของพระองค์ถูกอำนาจของต่างชาติยึดครองอยู่. พวกโรมันกดขี่ชาวยิวด้วยการตั้งกองทหารที่มีอำนาจไว้, เก็บภาษีพวกเขาอย่างหนัก, และถึงกับเข้าแทรกแซงธรรมเนียมทางศาสนาของพวกเขา. ไม่น่าแปลกใจ หลายคนต้องการให้พระเยซูเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในสมัยของพระองค์. (โยฮัน 6:14, 15) อีกครั้งหนึ่ง พระองค์ต้องแสดงความกล้าหาญ.
20 พระเยซูทรงอธิบายว่าอาณาจักรของพระองค์ไม่เป็นส่วนของโลก. โดยตัวอย่างของพระองค์ พระองค์ได้อบรมเหล่าสาวกมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้ทางการเมืองในสมัยนั้นและให้เพ่งเล็งอยู่กับการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแทน. (โยฮัน 17:16; 18:36) พระองค์ทรงสอนบทเรียนที่มีพลังในเรื่องความเป็นกลางเมื่อฝูงชนมาจับตัวพระองค์. เปโตรลงมือจัดการอย่างหุนหันพลันแล่น ชักดาบฟันชายคนหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บ. เป็นเรื่องง่ายที่ จะเห็นพ้องกับเปโตร. ดูเหมือนว่ามีเหตุผลอันควรที่จะใช้ความรุนแรง เพราะในคืนนั้นเองที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ไม่มีความผิดได้ถูกจู่โจมเข้าจับกุม. ถึงกระนั้น ในตอนนั้นเองพระเยซูได้กำหนดมาตรฐานไว้สำหรับเหล่าสาวกของพระองค์บนแผ่นดินโลกจนถึงทุกวันนี้ที่ว่า “จงเอาดาบใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ.” (มัดธาย 26:51-54) สำหรับเหล่าสาวกของพระคริสต์ การรักษาจุดยืนแบบรักสันติดังกล่าวในตอนนั้นต้องใช้ความกล้าหาญแน่ ๆ เช่นเดียวกับในทุกวันนี้. ผลจากความเป็นกลางแบบคริสเตียนของพวกเขา ประชาชนของพระเจ้าในทุกวันนี้จึงมีประวัติที่สะอาดหมดจดในเรื่องการไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงคราม, การสังหารหมู่, การจลาจล, และการกระทำด้วยความรุนแรงคล้ายกัน ซึ่งมีนับไม่ถ้วนในสมัยปัจจุบัน. ประวัติที่ดีเยี่ยมเช่นนั้นเป็นผลตอบแทนอย่างหนึ่งสำหรับความกล้าหาญของพวกเขา.
พระองค์เผชิญการต่อต้านอย่างกล้าหาญ
21, 22. (ก) พระเยซูได้รับความช่วยเหลืออะไรก่อนจะเผชิญการทดลองที่ยากที่สุด? (ข) พระเยซูทรงพิสูจน์ว่ากล้าหาญจนถึงที่สุดอย่างไร?
21 พระบุตรของพระยะโฮวาทรงทราบล่วงหน้าดีว่าพระองค์จะเผชิญการต่อต้านที่รุนแรงขณะอยู่บนแผ่นดินโลกนี้. (ยะซายา 50:4-7) พระองค์เผชิญการคุกคามหลายอย่างที่จะทำให้ถึงตาย ซึ่งลงเอยด้วยเหตุการณ์ที่พรรณนาไว้ในตอนต้นของบทนี้. พระเยซูรักษาความกล้าหาญไว้อย่างไรทั้ง ๆ ที่เผชิญอันตรายเช่นนั้น? ขอสังเกตดูว่าพระเยซูทรงทำอะไรก่อนที่ฝูงชนกลุ่มนั้นมาจับพระองค์? พระองค์อธิษฐานอย่างแรงกล้าถึงพระยะโฮวา. และพระยะโฮวาทรงทำเช่นไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าพระเยซู “ได้รับการสดับด้วยความพอพระทัย.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) พระยะโฮวาได้ส่งทูตองค์หนึ่งจากสวรรค์มาชูกำลังพระบุตรผู้กล้าหาญของพระองค์.—ลูกา 22:42, 43.
22 ไม่นานหลังจากได้รับการชูกำลัง พระเยซูตรัสแก่เหล่าอัครสาวกของพระองค์ว่า “ลุกขึ้น, ให้เราพากันไปเถอะ.” (มัดธาย 26:46) ขอให้คิดถึงความกล้าหาญที่อยู่ในถ้อยคำดังกล่าว. พระองค์ตรัสว่า “ให้เราพากันไปเถอะ” ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าพระองค์จะต้องขอฝูงชนมิให้ทำร้ายพวกเพื่อนของพระองค์, รู้ว่าเพื่อน เหล่านี้จะทิ้งพระองค์และหนีไป, และรู้ว่าต่อจากนั้นพระองค์จะเผชิญการทดลองแสนสาหัสในชีวิตของพระองค์ตามลำพัง. พระองค์เผชิญการพิจารณาคดีที่ผิดกฎหมายและไม่ยุติธรรม, การเยาะเย้ย, การทรมาน, และความตายอย่างเจ็บปวดรวดร้าวเพียงลำพัง. ตลอดการทดลองทั้งหมดนี้ ความกล้าหาญไม่เคยขาดหายไปจากพระองค์.
23. จงอธิบายเหตุผลที่พระเยซูไม่ได้เป็นคนกล้าบ้าบิ่นในวิธีที่พระองค์เผชิญอันตรายและการคุกคามของความตาย.
23 พระเยซูเป็นคนกล้าบ้าบิ่นไหม? ไม่ใช่ ความกล้าบ้าบิ่นเป็นคนละเรื่องกันกับความกล้าหาญแท้. ที่จริง พระเยซูทรงสอนเหล่าสาวกให้เป็นคนระแวดระวัง ถอยออกจากอันตรายอย่างสุขุมรอบคอบเพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของ พระเจ้าต่อไป. (มัดธาย 4:12; 10:16) แต่ในกรณีนี้ พระเยซูทรงทราบว่าไม่มีทางที่จะถอยหนี. พระองค์ทราบว่าพระทัยประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวข้องอยู่ด้วย. พระเยซูตั้งพระทัยที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของพระองค์ ดังนั้น ทางเดียวคือเดินหน้ามุ่งเข้าสู่การทดลอง.
24. เหตุใดเราอาจมั่นใจได้ว่าเราสามารถพิสูจน์ความกล้าหาญแม้เผชิญการทดลองใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น?
24 บ่อยเพียงไรที่เหล่าสาวกของพระเยซูได้ดำเนินอย่างกล้าหาญตามรอยพระบาทของท่านผู้เป็นนายของพวกเขา! หลายคนได้ยืนหยัดมั่นคงแม้เผชิญการเยาะเย้ย, การข่มเหง, การจับกุม, การจำคุก, การทรมาน, และกระทั่งความตาย. มนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ได้ความกล้าหาญเช่นนั้นมาจากไหน? ความกล้าเช่นนั้นใช่ว่าเพียงแต่เกิดขึ้นจากภายใน. เช่นเดียวกับพระเยซูได้รับความช่วยเหลือจากเบื้องบน เหล่าสาวกของพระองค์ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างนั้นด้วยเช่นกัน. (ฟิลิปปอย 4:13) ดังนั้น อย่ากลัวเลยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต. จงตั้งใจที่จะรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงของคุณ และพระยะโฮวาจะประทานความกล้าหาญที่คุณจำเป็นต้องมี. จงรับเอากำลังต่อ ๆ ไปจากตัวอย่างของพระเยซู ผู้นำของเราซึ่งตรัสว่า “จงกล้าหาญเถิด! เราชนะโลกแล้ว.”—โยฮัน 16:33, ล.ม.
^ วรรค 12 นักประวัติศาสตร์ได้ให้ข้อสังเกตว่าอุโมงค์ฝังศพของพวกรับบีได้รับความเคารพพอ ๆ กับอุโมงค์ฝังศพของพวกผู้พยากรณ์และปฐมบรรพบุรุษ.