บท 2
“เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต”
1, 2. ทำไมการเข้าถึงพระยะโฮวาด้วยตัวเราเองจึงเป็นไปไม่ได้ และพระเยซูคริสต์ได้ทรงทำอะไรเพื่อเราในเรื่องนี้?
คุณเคยหลงทางไหม? คุณอาจจำได้ถึงครั้งหนึ่งที่คุณเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนหรือญาติและไปไม่ถูก. ขณะที่คุณเดินไปตามถนนที่ไม่คุ้นเคย คุณแวะถามบางคนเพื่อรู้ทางไหม? คิดดูสิว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร หากผู้ใจดีคนหนึ่ง ไม่เพียงแต่บอกทางคุณ แต่บอกด้วยว่า “ตามผมมาก็แล้วกัน. ผมจะพาคุณไปที่นั่น.” คุณคงจะรู้สึกโล่งใจสักเพียงไร!
2 ในแง่หนึ่ง พระเยซูคริสต์ทรงทำสิ่งที่คล้ายกันนั้นเพื่อเรา. การหาทางเข้าถึงพระเจ้าด้วยตัวเราเองคงจะเป็นไปไม่ได้. เนื่องจากได้รับบาปและความไม่สมบูรณ์เป็นมรดก โลกแห่งมนุษยชาติจึงหลงทาง “เหินห่างจากชีวิตซึ่งเป็นของพระเจ้า.” (เอเฟโซ 4:17, 18, ล.ม.) เราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อหาพบทางที่จะไป. พระเยซู ผู้เป็นแบบอย่างของเราองค์เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ไม่เพียงให้คำแนะนำและบอกทาง; พระองค์ทรงทำมากกว่านั้น. ดังที่เราได้เห็นในบท 1 พระเยซูยังทรงเชิญเราด้วยว่า “เชิญตามเรามา.” (มาระโก 10:21, ล.ม.) อย่างไรก็ดี พระองค์ทรงให้เหตุผลหนักแน่นแก่เราด้วยที่จะตอบรับคำเชิญนั้น. พระเยซูตรัสในโอกาสหนึ่งว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาเว้นไว้มาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) ขอให้เราพิจารณาเหตุผลบางประการที่ว่าทำไมการเข้าถึงพระบิดาเป็นไปได้เฉพาะแต่โดยผ่านทางพระบุตรเท่านั้น. ครั้นแล้ว โดยอาศัยเหตุผลเหล่านั้น เราจะพิจารณาว่า แท้จริงแล้วพระเยซูทรงเป็น “ทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต” อย่างไร.
บทบาทสำคัญในพระประสงค์ของพระยะโฮวา
3. เพราะเหตุใดการเข้าถึงพระเจ้าต้องผ่านทางพระเยซู?
3 ที่สำคัญที่สุด การเข้าถึงพระเจ้าต้องผ่านทางพระเยซู เพราะพระยะโฮวาทรงเห็นว่าเหมาะที่จะให้พระบุตรของพระองค์มีบทบาทสำคัญที่สุด. * พระบิดาได้ทรงตั้งพระบุตรเป็นบุคคลสำคัญที่สุดเพื่อดำเนินการให้พระประสงค์ทั้งสิ้นของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ. (2 โกรินโธ 1:20; โกโลซาย 1:18-20) เพื่อจะเข้าใจบทบาทสำคัญของพระบุตร เราต้องพิจารณาสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในสวนเอเดน ที่มนุษย์คู่แรกได้เข้าร่วมกับซาตานในการกบฏขัดขืนต่อพระยะโฮวา.—เยเนซิศ 2:16, 17; 3:1-6.
4. การกบฏในสวนเอเดนได้ทำให้เกิดประเด็นอะไรขึ้น และพระยะโฮวาได้ตัดสินพระทัยประการใดเพื่อจะจัดการกับประเด็นนี้?
4 การกบฏในสวนเอเดนได้ทำให้เกิดประเด็นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งทรงสร้างทั้งสิ้น นั่นคือ พระยะโฮวาพระเจ้าปกครองผู้ที่พระองค์ทรงสร้างมานั้นในวิธีที่เหมาะสมไหม? เพื่อยุติประเด็นที่สำคัญนี้ พระยะโฮวาได้ตัดสินพระทัยว่าบุตรกายวิญญาณที่สมบูรณ์พร้อมองค์หนึ่งจะต้องมายังแผ่นดินโลก. ภารกิจที่บุตรองค์นี้ต้องทำให้สำเร็จนับว่าสำคัญที่สุด นั่นคือ สละชีวิตของตนเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของสิทธิในการปกครองของพระยะโฮวาและที่จะเป็นค่าไถ่เพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอด. โดยรักษาความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นชีวิต บุตรที่ถูกเลือกจะทำให้เป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นเนื่องจากการกบฏของซาตาน. (เฮ็บราย 2:14, 15; 1 โยฮัน 3:8) แต่พระยะโฮวามีบุตรกายวิญญาณที่สมบูรณ์พร้อมจำนวนมหาศาล. (ดานิเอล 7:9, 10) พระองค์ทรงเลือกบุตรองค์ไหนให้ปฏิบัติหน้าที่มอบหมายอันสำคัญที่สุดนี้? พระยะโฮวาทรงเลือก “พระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียว” ของพระองค์ พระบุตรองค์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่าพระเยซูคริสต์.—โยฮัน 3:16.
5, 6. พระยะโฮวาได้แสดงให้เห็นโดยวิธีใดว่าพระองค์มีความมั่นพระทัยในพระบุตร และความมั่นใจนี้อาศัยอะไร?
5 เราควรแปลกใจไหมที่พระยะโฮวาทรงเลือกเช่นนั้น? ไม่เลย! พระบิดามี ความมั่นพระทัยเต็มที่ในพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์. หลายศตวรรษก่อนพระบุตรเสด็จมายังแผ่นดินโลก พระยะโฮวาได้ทรงบอกล่วงหน้าว่า พระบุตรองค์นี้จะรักษาความภักดีทั้ง ๆ ที่ได้รับความทุกข์ในรูปแบบต่าง ๆ หลายอย่าง. (ยะซายา 53:3-7, 10-12; กิจการ 8:32-35) ขอพิจารณานัยสำคัญของเรื่องนี้. เช่นเดียวกับสิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญาอื่น ๆ ทั้งหมด พระบุตรเป็นผู้ที่มีเจตจำนงเสรี สามารถเลือกแนวทางของพระองค์เอง. กระนั้น พระยะโฮวามีความมั่นพระทัยจนกระทั่งทรงบอกล่วงหน้าถึงความซื่อสัตย์ของพระบุตร. ความมั่นใจนี้อาศัยอะไร? กล่าวสั้น ๆ อาศัยความรู้. พระยะโฮวาทรงรู้จักพระบุตรของพระองค์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมและทรงทราบว่าพระบุตรต้องการมากเพียงไรที่จะทำให้พระองค์พอพระทัย. (โยฮัน 8:29; 14:31) พระบุตรทรงรักพระบิดา และพระยะโฮวาก็ทรงรักพระบุตรของพระองค์. (โยฮัน 3:35) ความรักที่พระบิดาและพระบุตรมีต่อกันได้สร้างความผูกพันของเอกภาพและความไว้วางใจที่ไม่มีวันทำลายได้.—โกโลซาย 3:14.
6 เมื่อคำนึงถึงบทบาทสำคัญของพระบุตร, ความมั่นพระทัยที่พระบิดามีในพระองค์, และความรักที่ทำให้พระบิดากับพระบุตรผูกพันกัน จะแปลกไหมที่ว่าการเข้าถึงพระเจ้าเป็นไปได้เฉพาะแต่ผ่านทางพระเยซูเท่านั้น? กระนั้น ยังมีเหตุผลอีกประการหนึ่งที่ว่าทำไมพระบุตรเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถนำเราไปถึงพระบิดา.
เฉพาะพระบุตรรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้
7, 8. เพราะเหตุใดพระเยซูจึงตรัสได้อย่างถูกต้องว่า ไม่มีผู้ใดรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้ “นอกจากพระบุตร”?
7 หากจะเข้าถึงพระยะโฮวาเราต้องทำตามข้อเรียกร้องบางอย่าง. (บทเพลงสรรเสริญ 15:1-5) ใครเล่าจะรู้ดีไปกว่าพระบุตรในเรื่องที่ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อบรรลุมาตรฐานของพระเจ้าและได้รับความพอพระทัยจากพระองค์? พระเยซูตรัสว่า “พระบิดาทรงมอบทุกสิ่งแก่เรา และไม่มีผู้ใดรู้จักพระบุตรอย่างถ่องแท้นอกจากพระบิดา และไม่มีผู้ใดรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้นอกจากพระบุตรกับผู้ที่พระบุตรทรงประสงค์จะเปิดเผยเรื่องพระบิดาแก่เขา.” (มัดธาย 11:, ล.ม.) ให้เรามาดูเหตุผลที่พระเยซูสามารถตรัสได้อย่างถูกต้องและไม่เป็นการพูดเกินจริงที่ว่า ไม่มีใครรู้จักพระบิดาอย่างถ่องแท้ “นอกจากพระบุตร.” 27
8 เนื่องจากเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง” พระบุตรจึงมีความสนิทสนมพิเศษกับพระยะโฮวา. (โกโลซาย 1:15, ล.ม.) ขอให้นึกถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระบิดากับพระบุตรที่ได้พัฒนาขึ้นระหว่างช่วงเวลาสุดคณานับตอนที่มีเพียงสองพระองค์เท่านั้นดำรงอยู่ คือตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้างจนกระทั่งกายวิญญาณองค์อื่น ๆ ถูกสร้างขึ้น. (โยฮัน 1:3; โกโลซาย 1:16, 17) คิดดูสิว่าพระบุตรมีโอกาสล้ำเลิศเพียงไรเมื่ออยู่กับพระบิดา ซึมซับความคิดของพระบิดาในเรื่องต่าง ๆ และเรียนรู้พระทัยประสงค์, มาตรฐาน, และแนวทางของพระองค์. จริงทีเดียว ไม่ใช่การพูดเกินจริงที่กล่าวว่าพระเยซูทรงรู้จักพระบิดาดียิ่งกว่าใครอื่น. ความใกล้ชิดเช่นนี้ทำให้พระเยซูสามารถเปิดเผยเรื่องพระบิดาของพระองค์ในวิธีต่าง ๆ ที่ไม่มีใครอื่นทำได้.
9, 10. (ก) พระเยซูทรงเปิดเผยเรื่องพระบิดาโดยวิธีใดบ้าง? (ข) เพื่อได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา เราต้องทำประการใด?
9 คำสอนของพระเยซูสะท้อนให้เห็นการที่พระองค์สำนึกอย่างแรงกล้าว่าพระยะโฮวาทรงคิดและรู้สึกอย่างไรและทรงประสงค์อะไรจากผู้นมัสการพระองค์. * พระเยซูยังได้เปิดเผยเรื่องพระบิดาในวิธีที่ล้ำลึกอีกวิธีหนึ่ง. พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา.” (โยฮัน 14:9) พระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาของพระองค์อย่างไม่ขาดตกบกพร่องในทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ. ดังนั้น เมื่อเราอ่านเกี่ยวกับพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิล เช่น การที่พระองค์ใช้ถ้อยคำที่มีพลังชักจูงและดึงดูดใจในการสอน, ความเมตตาสงสารที่กระตุ้นพระองค์ให้รักษาคนที่เจ็บป่วย, และความร่วมรู้สึกที่เป็นเหตุให้พระองค์กันแสง เราสามารถนึกภาพได้เลยว่าพระยะโฮวาก็จะตรัสและกระทำอย่างเดียวกันนั้นแหละ. (มัดธาย 7:28, 29; มาระโก 1:40-42; โยฮัน 11:32-36) แนวทางและพระทัยประสงค์ของพระบิดาปรากฏให้เห็นอย่างครบถ้วนในคำตรัสและการกระทำของพระบุตร. (โยฮัน 5:19; 8:28; 12:49, 50) ด้วยเหตุนี้ เพื่อจะได้รับความพอพระทัย จากพระยะโฮวา เราต้องเอาใจใส่ฟังคำสอนของพระเยซูและติดตามตัวอย่างของพระองค์.—โยฮัน 14:23.
10 เนื่องจากพระเยซูทรงรู้จักพระยะโฮวาอย่างลึกซึ้งและเลียนแบบพระองค์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่พระยะโฮวาได้ตั้งพระทัยให้พระบุตรเป็นทางผ่านในการเข้ามาหาพระบิดา. พร้อมกับพื้นฐานที่ได้พิจารณาไปนี้ที่ช่วยให้เข้าใจว่าเหตุใดเราสามารถมาถึงพระยะโฮวาเฉพาะแต่โดยทางพระเยซูเท่านั้น ตอนนี้ขอให้เราพิจารณาความหมายของคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาเว้นไว้มาทางเรา.”—โยฮัน 14:6.
“เราเป็นทางนั้น”
11. (ก) ทำไมเราสามารถเข้าสู่สัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระเจ้าได้เฉพาะแต่ผ่านทางพระเยซูเท่านั้น? (ข) ถ้อยคำที่บันทึกในโยฮัน 14:6 เน้นว่าตำแหน่งของพระเยซูไม่มีใดเหมือนอย่างไร?
11 เราได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่มีทางใดจะเข้าเฝ้าพระเจ้าได้นอกจากผ่านทางพระเยซู. ขอพิจารณาอย่างละเอียดมากขึ้นว่าเรื่องนี้หมายความเช่นไรสำหรับเรา. พระเยซูเป็น “ทางนั้น” ในแง่ที่ว่าเฉพาะโดยผ่านทางพระองค์เท่านั้น เราจึงสามารถเข้าสู่สัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระเจ้า. เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? โดยพิสูจน์ความซื่อสัตย์จนสิ้นพระชนม์ พระเยซูได้ประทานชีวิตของพระองค์เป็นเครื่องบูชาไถ่. (มัดธาย 20:28) หากปราศจากการจัดเตรียมค่าไถ่นี้ คงจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเข้าถึงพระเจ้า. บาปสร้างเครื่องกีดขวางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เพราะพระยะโฮวาทรงเป็นองค์บริสุทธิ์ ฉะนั้นจึงไม่มีวันที่พระองค์จะทรงเห็นชอบกับบาป. (ยะซายา 6:3; 59:2) แต่เครื่องบูชาของพระเยซูขจัดเครื่องกีดขวางนั้นออกไป; เครื่องบูชานั้นให้การปิดคลุมหรือการไถ่โทษที่จำเป็นสำหรับบาป. (เฮ็บราย 10:12; 1 โยฮัน 1:7) หากเรายอมรับการจัดเตรียมของพระเจ้าผ่านทางพระคริสต์และแสดงความเชื่อในเครื่องบูชานั้น เราสามารถได้รับความพอพระทัยจากพระยะโฮวา. ไม่มีทางอื่นอีกเลยที่เราจะ “กลับคืนดี” กับพระเจ้า.—โรม 5:6-11, ฉบับแปลใหม่.
12. พระเยซูเป็น “ทางนั้น” ในแง่ใดบ้าง?
12 พระเยซูเป็น “ทางนั้น” ในเรื่องการอธิษฐาน. เฉพาะแต่ผ่านทางพระเยซู เท่านั้นที่เราสามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาในคำอธิษฐานด้วยความมั่นใจว่าคำอ้อนวอนด้วยน้ำใสใจจริงของเราจะได้รับการสดับฟังด้วยความพอพระทัย. (1 โยฮัน 5:13, 14) พระเยซูเองตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายจะขอสิ่งใดจากพระบิดา, พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่านในนามของเรา . . . จงขอและจะได้ เพื่อความยินดีของท่านจะได้บริบูรณ์.” (โยฮัน 16:23, 24) นับว่าเหมาะสมที่เราสามารถเข้าเฝ้าพระยะโฮวาและเรียกพระองค์ว่า “พระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย” เมื่อเราอธิษฐานในพระนามของพระเยซู. (มัดธาย 6:9) พระเยซูเป็น “ทางนั้น” ในอีกแง่หนึ่ง นั่นคือ โดยตัวอย่างของพระองค์. ดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ พระเยซูทรงเลียนแบบพระบิดาของพระองค์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง. ด้วยเหตุนี้ ตัวอย่างของพระเยซูแสดงให้เราเห็นวิธีดำเนินชีวิตอย่างที่จะทำให้พระยะโฮวาพอพระทัย. ดังนั้น เพื่อจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวา เราต้องดำเนินตามรอยพระบาทของพระเยซู.—1 เปโตร 2:21.
“เราเป็น . . . ความจริง”
13, 14. (ก) พระเยซูเป็นความจริงอย่างไรในคำตรัสของพระองค์? (ข) เพื่อพระเยซูจะเป็น “ความจริง” พระองค์ต้องทำประการใด และเพราะเหตุใด?
13 พระเยซูตรัสความจริงเสมอเกี่ยวกับพระคำเชิงพยากรณ์ของพระบิดา. (โยฮัน 8:40, 45, 46) ไม่เคยพบคำหลอกลวงในพระโอษฐ์ของพระเยซู. (1 เปโตร 2:22) แม้แต่ผู้ต่อต้านพระองค์ก็ยังยอมรับว่าพระองค์สอน “ทางของพระเจ้าจริง ๆ.” (มาระโก 12:13, 14) อย่างไรก็ดี เมื่อพระเยซูตรัสว่า “เราเป็น . . . ความจริง” พระองค์ไม่เพียงพาดพิงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระองค์ได้ทำให้ความจริงเป็นที่รู้จักในการพูด, การประกาศ, และการสอน. การที่พระเยซูเป็นความจริงเกี่ยวข้องไม่เพียงแต่การพูดความจริงเท่านั้น.
14 อย่าลืมว่า หลายศตวรรษล่วงหน้า พระยะโฮวาได้ทรงดลใจผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลให้บันทึกคำพยากรณ์หลายเรื่องเกี่ยวกับพระมาซีฮา หรือพระคริสต์. คำพยากรณ์เหล่านี้ได้บอกล่วงหน้าในรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิต, งานรับใช้, และการวายพระชนม์ของพระองค์. นอกจากนี้ พระบัญญัติของโมเซมีแบบอย่างเชิงพยากรณ์ที่ชี้ถึงพระมาซีฮา. (เฮ็บราย 10:1) พระเยซูจะพิสูจน์ความซื่อสัตย์จนสิ้นพระชนม์ไหม ซึ่งโดยวิธีนี้เป็นการทำให้ทุกสิ่งที่พยากรณ์ไว้เกี่ยวกับพระองค์ สำเร็จเป็นจริง? เฉพาะการทำอย่างนี้เท่านั้นพระยะโฮวาจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นพระเจ้าแห่งคำพยากรณ์แท้. พระเยซูทรงแบกความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง. โดยวิธีที่พระองค์ดำเนินชีวิต—ทุกถ้อยคำที่พระองค์ตรัสและการกระทำทุกอย่างของพระองค์—พระเยซูทรงพิสูจน์ว่าแบบอย่างเชิงพยากรณ์ต่าง ๆ เป็นความจริงโดยแท้. (2 โกรินโธ 1:20) โดยวิธีนี้ พระเยซูจึงเป็น “ความจริง” ในแง่ที่ว่าการเสด็จมาของพระองค์ทำให้ถ้อยคำเชิงพยากรณ์ของพระยะโฮวากลายเป็นจริง.—โยฮัน 1:17; โกโลซาย 2:16, 17.
“เราเป็น . . . ชีวิต”
15. การสำแดงความเชื่อในพระบุตรหมายความเช่นไร และการทำเช่นนั้นจะนำไปสู่อะไร?
15 พระเยซูเป็น “ชีวิต” เพราะโดยทางพระองค์เท่านั้นที่เราสามารถได้รับชีวิต—กล่าวคือ “ชีวิตจริง ๆ.” (1 ติโมเธียว 6:19) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ผู้ที่วางใจ [“สำแดงความเชื่อ,” ล.ม.] ในพระบุตรมีชีวิตนิรันดร์. แต่ผู้ที่ไม่เชื่อฟังพระบุตรจะไม่เห็นชีวิต, แต่พระเจ้าจะทรงพระพิโรธแก่ผู้นั้น.” (โยฮัน 3:36) การสำแดงความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้าหมายความเช่นไร? หมายความว่าเรามีความเชื่อมั่นว่าเราไม่สามารถได้รับชีวิตหากปราศจากพระองค์. นอกจากนี้ นั่นยังหมายความอีกด้วยว่าเราแสดงความเชื่อโดยการกระทำ, เรียนรู้จากพระเยซูต่อ ๆ ไป, และพยายามสุดความสามารถของเราที่จะปฏิบัติตามคำสอนและตัวอย่างของพระองค์. (ยาโกโบ 2:26) ดังนั้น การแสดงความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้าจึงนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์—ชีวิตอมตะในสภาพกายวิญญาณในสวรรค์สำหรับ “แกะฝูงเล็ก” ที่ประกอบด้วยคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณและชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกสำหรับ “ชนฝูงใหญ่” แห่ง “แกะอื่น.”—ลูกา 12:32, ล.ม.; 23:43; วิวรณ์ 7:9-17, ล.ม.; โยฮัน 10:16.
16, 17. (ก) พระเยซูจะพิสูจน์ว่าเป็น “ชีวิต” แม้แต่สำหรับคนเหล่านั้นที่ตายไปแล้วโดยวิธีใด? (ข) เราสามารถมั่นใจได้ในเรื่องอะไร?
16 จะว่าอย่างไรกับคนเหล่านั้นที่เสียชีวิตไปแล้ว? พระเยซูเป็น “ชีวิต” สำหรับพวกเขาด้วย. ไม่นานก่อนที่พระองค์ปลุกลาซะโรสหายของพระองค์ให้เป็นขึ้นจากตาย พระเยซูได้ตรัสแก่มาธา พี่สาวของลาซะโรว่า “เราเป็นการกลับเป็นขึ้นจากตายและเป็นชีวิต. ผู้ที่แสดงความเชื่อในเรา ถึงแม้เขาตายก็จะมีชีวิต อีก.” (โยฮัน 11:25, ล.ม.) พระยะโฮวาได้ทรงมอบ “กุญแจแห่งความตายและหลุมศพ” ไว้กับพระบุตรของพระองค์ ทรงให้อำนาจพระบุตรที่จะปลุกคนตายให้เป็นขึ้นมา. (วิวรณ์ 1:17, 18, ล.ม.) ด้วยกุญแจดังกล่าว พระเยซูผู้ทรงสง่าราศีจะไขประตูของหลุมศพ และโดยวิธีนี้จึงปลดปล่อยบรรดาผู้ที่ถูกกักอยู่ในหลุมศพทั่วไปของมนุษยชาติ.—โยฮัน 5:28, 29.
17 “เราเป็นทางนั้น, เป็นความจริง, และเป็นชีวิต” ด้วยถ้อยคำง่าย ๆ เช่นนี้ พระเยซูทรงสรุปวัตถุประสงค์ของชีวิตและงานรับใช้ของพระองค์บนแผ่นดินโลก. ถ้อยคำดังกล่าวเปี่ยมด้วยความหมายสำหรับเราในทุกวันนี้. อย่าลืมว่าพระเยซูได้ตรัสถ้อยคำดังกล่าวต่อไปว่า “ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาเว้นไว้มาทางเรา.” (โยฮัน 14:6) คำตรัสของพระเยซูยังใช้ได้กับทุกวันนี้เหมือนคราวเมื่อพระองค์ได้ตรัสถ้อยคำนั้น. ดังนั้น เรามีความมั่นใจได้อย่างเต็มที่ว่า ถ้าเราติดตามพระเยซู เราจะไม่มีวันหลงทาง. พระองค์ และก็พระองค์ผู้เดียวจะแสดงให้เราเห็นทางไป “ถึงพระบิดา.”
คุณจะตอบรับอย่างไร?
18. การเป็นสาวกแท้ของพระเยซูเกี่ยวข้องกับอะไร?
18 เมื่อคำนึงถึงบทบาทสำคัญของพระเยซูและการที่พระองค์รู้จักพระบิดาอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เราจึงมีเหตุผลสมควรที่จะติดตามพระบุตร. ดังที่เราได้เห็นในบทก่อน การเป็นสาวกแท้ของพระเยซูเกี่ยวข้องกับการกระทำ ไม่เพียงแค่คำพูดหรือความรู้สึก. การติดตามพระคริสต์เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเราตามคำสอนและตัวอย่างของพระองค์. (โยฮัน 13:15) คู่มือการศึกษาที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้สามารถช่วยคุณในการพยายามทำเช่นนั้น.
19, 20. คู่มือการศึกษาเล่มนี้มีอะไรบ้างที่สามารถช่วยคุณในการพยายามติดตามพระคริสต์?
19 ในบทต่าง ๆ ต่อจากนี้ เราจะศึกษาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู. มีการแบ่งบทเหล่านี้เป็นสามตอน. ตอนแรก เราจะพิจารณาอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ และแนวทางปฏิบัติของพระองค์. ตอนที่สอง เราจะตรวจสอบดูตัวอย่างที่แสดงถึงความมีใจแรงกล้าของพระองค์ในการประกาศและการสอน. ตอนที่สาม เราจะพิจารณาวิธีที่พระองค์ทรงสำแดง ความรัก. เริ่มต้นกับบท 3 มีกรอบช่วยสอนที่ว่า “คุณจะดำเนินตามพระเยซูได้อย่างไร?” ข้อคัมภีร์และคำถามที่อยู่ในกรอบนั้นถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเราคิดรำพึงว่าเราจะเลียนแบบพระเยซูในคำพูดและการกระทำได้อย่างไร.
20 ด้วยความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาพระเจ้า คุณไม่ต้องหลงทาง เหินห่างจากพระองค์เนื่องจากบาปที่ได้รับเป็นมรดก. พระองค์เองเสียสละอย่างมาก ด้วยความรักพระยะโฮวาได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อแสดงให้เราเห็นวิธีที่จะเข้ามามีสัมพันธภาพอันเป็นที่โปรดปรานกับพระเจ้า. (1 โยฮัน 4:9, 10) ใช่แล้ว ขอให้คุณได้รับการกระตุ้นให้ตอบสนองความรักอันใหญ่ยิ่งนั้นโดยยอมรับและปฏิบัติตามคำเชิญของพระเยซูที่ว่า “จงเป็นผู้ติดตามเรา.”—โยฮัน 1:43, ล.ม.
^ วรรค 3 พระบุตรมีบทบาทสำคัญจนถึงกับคัมภีร์ไบเบิลระบุชื่อและตำแหน่งเชิงพยากรณ์ให้พระองค์หลายตำแหน่ง.—ดู กรอบหน้า 23.
^ วรรค 9 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอดูคำตรัสของพระเยซูที่บันทึกในมัดธาย 10:29-31; 18:12-14, 21-35; 22:36-40.