บท 4
ทำไมต้องนับถือผู้มีอำนาจ?
“ให้เกียรติคนทุกชนิด ให้รักพี่น้องคริสเตียนทุกคน เกรงกลัวพระเจ้า และนับถือกษัตริย์”—1 เปโตร 2:17
1, 2. (ก) เราต้องทำตามการชี้นำของใคร? (ข) เราจะตอบคำถามอะไรในบทนี้?
ตอนเป็นเด็ก คงมีบางครั้งที่พ่อแม่บอกให้คุณทำสิ่งที่คุณไม่อยากทำ คุณรักพ่อแม่และรู้ว่าคุณควรเชื่อฟัง แต่บางครั้งคุณก็ยังไม่อยากทำตามที่พ่อแม่บอกอยู่ดี
2 เรารู้ว่าพระยะโฮวาพ่อในสวรรค์รักเรา พระองค์คอยดูแลให้เรามีชีวิตที่มีความสุข พระองค์จึงให้การชี้นำเพื่อเราจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ บางครั้งพระองค์ใช้คนอื่น ๆ เพื่อช่วยชี้นำเรา เราจำเป็นต้องนับถืออำนาจของพระยะโฮวา (สุภาษิต 24:21) แต่ทำไมบางครั้งเป็นเรื่องยากที่เราจะยอมรับการชี้นำ? ทำไมพระยะโฮวาบอกให้เราทำตามการชี้นำ? และเราจะทำให้เห็นได้อย่างไรว่าเรานับถืออำนาจของพระองค์?—ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 9
ทำไมถึงยากที่จะยอมรับการชี้นำ?
3, 4. ทำไมมนุษย์จึงไม่สมบูรณ์แบบ? และทำไมถึงยากที่เราจะยอมรับการชี้นำ?
3 มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นหลังจากอาดัมกับเอวามนุษย์คู่แรกทำบาป ถึงแม้พวกเขาจะถูก สร้างอย่างสมบูรณ์แบบ แต่พวกเขากลับกบฏไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า พวกเขาจึงกลายเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ และทุกคนที่เกิดมาหลังจากนั้นก็ไม่สมบูรณ์ด้วย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกยากที่จะยอมรับการชี้นำจากพระยะโฮวาและจากมนุษย์ อีกเหตุผลหนึ่งคือ คนที่พระยะโฮวาใช้ให้ชี้นำเราก็ไม่สมบูรณ์เหมือนกัน—ปฐมกาล 2:15-17; 3:1-7; สดุดี 51:5; โรม 5:12
4 เราไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงมีแนวโน้มที่จะหยิ่งทะนง ความหยิ่งทำให้ยากที่จะยอมรับการชี้นำ ตัวอย่างเช่น ในอิสราเอลพระยะโฮวาเลือกโมเสสให้เป็นผู้นำประชาชนของพระองค์ แต่มีผู้ชายคนหนึ่งที่รับใช้พระยะโฮวามาหลายปีชื่อโคราห์ เขากลายเป็นคนหยิ่งและต่อต้านโมเสสอย่างรุนแรง ต่างกับโมเสส ถึงแม้จะเป็นผู้นำประชาชนของพระเจ้าแต่เขาไม่ใช่คนหยิ่ง ที่จริงคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าโมเสสเป็นคนถ่อมตัวที่สุดในสมัยนั้น แต่โคราห์กลับไม่ยอมรับการชี้นำจากโมเสส เขาถึงกับชักจูงฝูงชนมาร่วมต่อต้านโมเสส เกิดอะไรขึ้นกับโคราห์และกลุ่มคนที่ต่อต้าน? พวกเขาต้องเสียชีวิต (กันดารวิถี 12:3; 16:1-3, 31-35) ในคัมภีร์ไบเบิลมีหลายเรื่องที่สอนเราให้รู้ว่าความหยิ่งเป็นอันตราย—2 พงศาวดาร 26:16-21; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 10
5. บางคนใช้อำนาจผิด ๆ อย่างไร?
5 คุณคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “อำนาจทำให้เสียคน” ตลอดประวัติศาสตร์ หลายคนใช้อำนาจอย่างผิด ๆ (อ่านปัญญาจารย์ 8:9) ตัวอย่างเช่น ตอนพระยะโฮวาเลือกซาอูลเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล เขาเคยเป็นคนดีและถ่อมตัว แต่ตอนหลังเขาหยิ่งและ ขี้อิจฉา เขาจึงคอยทำร้ายดาวิดซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิด (1 ซามูเอล 9:20, 21; 10:20-22; 18:7-11) ต่อมาดาวิดได้เป็นกษัตริย์ เขาเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุดองค์หนึ่งของอิสราเอล แต่กษัตริย์ที่ดีอย่างดาวิดก็ใช้อำนาจอย่างผิด ๆ ด้วย เขามีเพศสัมพันธ์กับบัทเชบาภรรยาของอุรีอาห์ และพยายามปกปิดบาปด้วยการส่งอุรีอาห์ไปตายในสนามรบ—2 ซามูเอล 11:1-17
ทำไมเรานับถืออำนาจของพระยะโฮวา
6, 7. (ก) ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวากระตุ้นให้เราทำอะไร? (ข) ตัวอย่างของพระเยซูสอนเราอย่างไรให้เชื่อฟังแม้แต่เรื่องที่ทำได้ยาก?
6 เรานับถือการชี้นำจากพระยะโฮวาเพราะเรารักพระองค์ เราอยากทำให้พระยะโฮวามีความสุขเพราะเรารักพระองค์มากที่สุด (อ่านสุภาษิต 27:11; มาระโก 12:29, 30) ซาตานอยากให้มนุษย์สงสัยอำนาจของพระยะโฮวาตั้งแต่ตอนที่อาดัมกับเอวาอยู่ในสวนเอเดน มันอยากให้เราคิดว่าพระยะโฮวาไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกว่าเราต้องทำอะไร แต่เรารู้ดีว่ามันโกหก เราเห็นด้วยกับข้อความที่ว่า “พระยะโฮวา พระเจ้าของเรา พระองค์สมควรจะได้รับการยกย่องสรรเสริญ ความนับถือ และฤทธิ์อำนาจ เพราะพระองค์สร้างทุกสิ่ง”—วิวรณ์ 4:11
7 ตอนเป็นเด็ก คุณคงได้รับการสอนให้เชื่อฟังพ่อแม่แม้แต่เรื่องที่คุณไม่อยากเชื่อฟัง คนที่รับใช้พระยะโฮวาก็เหมือนกันที่บางครั้งอาจไม่ง่ายที่จะเชื่อฟัง แต่เรารักและนับถือพระยะโฮวา เราจึงทำทุกอย่างเพื่อแสดงว่าเราเชื่อฟังพระองค์ พระเยซูเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ท่านเชื่อฟังพระยะโฮวาแม้แต่เรื่องที่ทำได้ยาก หรือเรื่องที่ไม่อยากทำ นี่เป็นเหตุผลที่ท่านบอกกับพ่อในสวรรค์ว่า “อย่าให้เป็นไปตามใจผมเลย ขอให้เป็นไปตามที่พ่อต้องการ”—ลูกา 22:42; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 11
8. พระยะโฮวาชี้นำเราด้วยวิธีอะไรบ้าง? (ดูกรอบ “ ให้ฟังคำแนะนำ”)
8 ทุกวันนี้พระยะโฮวาชี้นำเราหลายวิธี ตัวอย่างเช่น พระองค์ให้คัมภีร์ไบเบิลกับเราและให้เรามีผู้ดูแลในประชาคมด้วย เราแสดงให้เห็นว่านับถืออำนาจของพระยะโฮวาเมื่อเรานับถือคนที่พระองค์ใช้เพื่อชี้นำเรา ถ้าเราปฏิเสธการช่วยเหลือจากพวกเขาก็เท่ากับว่าเราปฏิเสธพระยะโฮวา ตอนที่ชาวอิสราเอลปฏิเสธโมเสส พระยะโฮวามองว่าเป็นเรื่องใหญ่ พระองค์ถือว่าพวกเขากำลังปฏิเสธพระองค์—กันดารวิถี 14:26, 27; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 12
9. ความรักช่วยเราอย่างไรให้เชื่อฟังการชี้นำ?
9 เมื่อเรานับถืออำนาจ ก็แสดงว่าเรารักพี่น้องของเราด้วย ลองคิดแบบนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทีมกู้ภัยจะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยคนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ทีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องมีคนหนึ่งสั่งการ และสมาชิกในทีมต้องทำตามคำสั่งนั้น แต่ถ้ามีคนไม่ทำตามคำสั่งและทำตามใจตัวเองล่ะ? ถึงแม้เขาจะมีเจตนาดี แต่การไม่เชื่อฟังคำสั่งอาจทำให้เพื่อนร่วมทีมเจอปัญหาหรืออาจทำให้พวกเขาบาดเจ็บสาหัสก็ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ทำตามการชี้นำจากพระยะโฮวาและจากคนที่พระองค์ให้มีอำนาจ เราก็อาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าเราเชื่อฟังพระยะโฮวา นั่นก็แสดงว่าเรารักพี่น้องของเราและนับถือการจัดเตรียมของพระองค์—1 โครินธ์ 12:14, 25, 26
10, 11. เราจะพิจารณาเรื่องอะไร?
10 ทุกอย่างที่พระยะโฮวาบอกให้เราทำเป็นผลดีกับเราทั้งนั้น การนับถืออำนาจในครอบครัว ในประชาคม และเมื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย—เฉลยธรรมบัญญัติ 5:16; โรม 13:4; เอเฟซัส 6:2, 3; ฮีบรู 13:17
11 การรู้เหตุผลที่พระยะโฮวาอยากให้เรานับถือคนอื่นจะช่วยให้เราแสดงความนับถือได้ง่ายขึ้น ให้เรามาดูรายละเอียดว่าเราจะแสดงความนับถือได้อย่างไรใน 3 ขอบเขตของชีวิต
นับถืออำนาจในครอบครัว
12. สามีจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขานับถืออำนาจ?
12 พระยะโฮวาสร้างครอบครัวมนุษย์และให้หน้าที่แก่สมาชิก แต่ละคนในครอบครัว ถ้าสมาชิกแต่ละคนเข้าใจว่าพระยะโฮวาต้องการให้พวกเขาทำอะไร ครอบครัวก็จะสงบสุขและเกิดผลดีกับทุกคน (1 โครินธ์ 14:33) พระยะโฮวาให้สามีเป็นหัวหน้าครอบครัว หมายความว่าพระองค์ต้องการให้เขาดูแลและชี้นำภรรยากับลูก ๆ ด้วยความรัก ดังนั้น สามีต้องตอบพระยะโฮวาให้ได้ว่าเขาดูแลครอบครัวอย่างดีหรือไม่ สามีที่รักพระเจ้าต้องมีความกรุณาและความรัก และดูแลครอบครัวของเขาเหมือนกับที่พระเยซูดูแลประชาคม สามีที่ทำอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าเขานับถือพระยะโฮวา—เอเฟซัส 5:23; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 13
13. ภรรยาจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเธอนับถืออำนาจ?
13 ภรรยาที่รักพระเจ้ามีบทบาทสำคัญและมีเกียรติด้วย เธอ สนับสนุนสามีในขณะที่เขาต้องทำงานหนักและเป็นผู้นำครอบครัว เธอมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับสามีในการสอนลูก วิธีหนึ่งที่เธอจะสอนลูกให้นับถือคนอื่นคือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก (สุภาษิต 1:8) ภรรยานับถือสามีและสนับสนุนการตัดสินใจของเขา แม้เธอจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แต่เธอจะอธิบายความรู้สึกด้วยความสุภาพและด้วยความนับถือ เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับพี่น้องที่สามีไม่ได้เป็นพยานฯ แต่ถ้าเธอแสดงความรักและความนับถือต่อสามีเสมอ วันหนึ่งเขาอาจอยากรู้จักพระยะโฮวาและนมัสการพระองค์ก็ได้—อ่าน 1 เปโตร 3:1
14. ลูก ๆ จะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขานับถืออำนาจ?
14 พระยะโฮวามองว่าลูกมีค่ามาก พวกเขาต้องได้รับการปกป้องและการชี้นำ เมื่อลูก ๆ เชื่อฟังพ่อแม่ พวกเขาก็ทำให้พ่อแม่ดีใจ แต่ที่สำคัญกว่านั้น การเชื่อฟังพ่อแม่แสดงว่าเขานับถือพระยะโฮวาและทำให้พระองค์ดีใจ (สุภาษิต 10:1) ในหลายครอบครัว พ่อหรือแม่ฝ่ายเดียวเป็นคนเลี้ยงดูลูกซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้าลูก ๆ เชื่อฟังและร่วมมือกับพ่อหรือแม่ที่ดูแลพวกเขา ชีวิตครอบครัวก็จะดีขึ้น ไม่ว่าสภาพการณ์จะเป็นอย่างไรก็ไม่มีครอบครัวไหนที่สมบูรณ์แบบ แต่ทุกครอบครัวจะมีความสุขมากขึ้นได้ถ้าสมาชิกแต่ละคนทำตามการชี้นำของพระยะโฮวา นี่จะทำให้พระยะโฮวาผู้สร้างครอบครัวได้รับเกียรติ—เอเฟซัส 3:14, 15
นับถืออำนาจในประชาคม
15. เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรานับถืออำนาจในประชาคม?
15 พระยะโฮวาชี้นำเราผ่านทางประชาคมคริสเตียน และพระองค์ ให้อำนาจพระเยซูอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาคม (โคโลสี 1:18) ต่อมา พระเยซูให้ “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” มีหน้าที่ดูแลประชาชนของพระเจ้าที่อยู่บนโลก (มัทธิว 24:45-47) ในปัจจุบัน “ทาสที่ซื่อสัตย์และสุขุม” ก็คือคณะกรรมการปกครอง พวกเขาแจกจ่ายความรู้ต่าง ๆ ตามเวลาที่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้ความเชื่อของเราเข้มแข็ง ผู้ดูแล ผู้ช่วยงานรับใช้ และผู้ดูแลหมวดสนับสนุนประชาคมตลอดทั่วโลก พวกเขาได้รับการชี้นำจากคณะกรรมการปกครอง พี่น้องชายเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะดูแลเรา พวกเขาต้องตอบพระยะโฮวาให้ได้ว่าพวกเขาทำหน้าที่รับผิดชอบนี้ได้ดีแค่ไหน ดังนั้น เมื่อเรานับถือพวกเขาก็เท่ากับว่าเรานับถือพระยะโฮวา—อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:12; ฮีบรู 13:17; ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 14
16. ทำไมเราพูดได้ว่าผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้ได้รับการแต่งตั้งโดยพลังบริสุทธิ์?
16 ผู้ดูแลและผู้ช่วยงานรับใช้ช่วยพี่น้องในประชาคมให้รักษาความซื่อสัตย์และเป็นหนึ่งเดียวกัน แน่นอนว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ แล้วพวกเขาถูกเลือกมาอย่างไร? พี่น้องชายเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล (1 ทิโมธี 3:1-7, 12; ทิตัส 1:5-9) พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์ช่วยให้ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลอธิบายคุณสมบัติเหล่านี้ นอกจากนั้น คณะผู้ดูแลอธิษฐานขอพลังบริสุทธิ์จากพระยะโฮวาเมื่อพิจารณาว่าใครบ้างที่มีคุณสมบัติจะเป็นผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้ เห็นได้ชัดว่าทุกประชาคมอยู่ภายใต้การชี้นำของพระเยซูและพระยะโฮวา (กิจการ 20:) พี่น้องชายที่ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือและดูแลเราเป็นของขวัญที่มาจากพระเจ้า— 28เอเฟซัส 4:8
17. พี่น้องหญิงอาจต้องทำอะไรเพื่อแสดงว่าเธอนับถือการจัดเตรียมของพระยะโฮวา?
17 บางครั้งอาจไม่มีผู้ดูแลหรือผู้ช่วยงานรับใช้ทำงานมอบหมายบางอย่างในประชาคม พี่น้องชายที่รับบัพติศมาแล้วก็อาจช่วยได้ แต่ถ้าไม่มีพี่น้องชาย พี่น้องหญิงก็อาจจำเป็นต้องทำงานบางอย่างที่ปกติแล้วเป็นงานของพี่น้องชาย ถ้าเป็นอย่างนั้น เธอจะคลุมหัวของเธอ อาจจะคลุมด้วยผ้าพันคอหรือสวมหมวกก็ได้ (1 โครินธ์ 11:3-10) เมื่อทำแบบนี้ ก็แสดงว่าเธอนับถือการจัดเตรียมของพระยะโฮวาเกี่ยวกับตำแหน่งประมุข ทั้งในครอบครัวและในประชาคม—ดูคำอธิบายเพิ่มเติม 15
นับถือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
18, 19. (ก) เราได้เรียนอะไรจากโรม 13:1-7? (ข) เราจะแสดงให้เห็นอย่างไรว่าเรานับถือเจ้าหน้าที่ของรัฐ?
18 ทุกวันนี้ พระยะโฮวายอมให้รัฐบาลต่าง ๆ มีอำนาจและเราควรนับถือพวกเขา พวกเขาบริหารประเทศและชุมชนต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และจัดให้มีบริการที่จำเป็นสำหรับประชาชน คริสเตียนเชื่อฟังคำสั่งที่บอกไว้ในโรม 13:1-7 (อ่าน) เรานับถือ “คนที่มีอำนาจปกครอง” และเชื่อฟังกฎหมายของประเทศหรือชุมชนที่เราอยู่ บางครั้งกฎหมายเหล่านี้อาจมีผลต่อครอบครัว ธุรกิจ หรือทรัพย์สินของเรา ตัวอย่างเช่น เราต้องจ่ายภาษีและกรอกแบบฟอร์มหรือเอกสารต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่จะทำอย่างไรถ้ารัฐบาลบอกให้เราทำบางอย่างที่ขัดกับกฎหมายของพระเจ้า? อัครสาวก เปโตรบอกว่า “พวกเราต้องเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่ามนุษย์”—กิจการ 5:28, 29
19 เมื่อเราต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ผู้พิพากษาหรือตำรวจ เราต้องนับถือพวกเขาเสมอ วัยรุ่นที่เป็นคริสเตียนนับถือครูและคนอื่นที่ทำงานในโรงเรียน ในที่ทำงานเรานับถือนายจ้างแม้ว่าพนักงานคนอื่นจะไม่นับถือเขา ถ้าเราทำแบบนั้น เราก็เลียนแบบอัครสาวกเปาโล เขานับถือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แม้ว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะไม่น่านับถือหรือทำให้หงุดหงิดก็ตาม (กิจการ 26:2, 25) ถึงแม้คนอื่นจะไม่ค่อยดีกับเรา เราก็ยังแสดงความนับถืออยู่เสมอ—อ่านโรม 12:17, 18; 1 เปโตร 3:15
20, 21. มีผลดีอะไรเมื่อเราแสดงความนับถือคนอื่น?
20 ตลอดทั่วโลก ผู้คนมักไม่ค่อยแสดงความนับถือต่อคนอื่น แต่ประชาชนของพระยะโฮวาไม่เป็นแบบนั้น เราตั้งใจนับถือทุกคน เรา “ให้เกียรติคนทุกชนิด” ตามคำแนะนำของอัครสาวกเปโตร (1 เปโตร 2:17) ถ้าเรานับถือคนอื่น พวกเขาจะรู้สึกได้ พระเยซูบอกว่า “ให้คุณส่องแสงสว่างให้คนอื่นเห็นด้วยการทำดี พอเขาเห็นความดีของคุณ เขาก็จะยกย่องสรรเสริญพระเจ้าผู้เป็นพ่อของคุณในสวรรค์”—มัทธิว 5:16
21 เมื่อเราแสดงความนับถือในครอบครัว ในประชาคม และในขอบเขตอื่น ๆ ตัวอย่างที่ดีของเราอาจทำให้คนอื่นอยากรู้จักพระยะโฮวามากขึ้น และเมื่อเรานับถือคนอื่น เราก็กำลังนับถือพระยะโฮวาด้วย การทำอย่างนี้จะทำให้พระยะโฮวามีความสุข และทำให้พระองค์เห็นว่าเรารักพระองค์