จัสติน มาร์เทอร์
(มีชีวิตอยู่ประมาณปี ค.ศ. 100-165) เขาเป็นนักปรัชญาและนักเทววิทยาชาวกรีกซึ่งงานเขียนของเขาปกป้องศาสนาคริสต์ จัสตินเกิดที่เมืองฟลาเวีย เนอาโปลีส (ปัจจุบันคือนาบลุส) เขาเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนประมาณปี ค.ศ. 132 ซึ่งอาจเป็นช่วงที่เขาอยู่ที่เอเฟซัส จัสตินถูกประหารในกรุงโรมด้วยการตัดหัวและตายอย่างผู้พลีชีพเพื่อความเชื่อ
งานเขียนที่หลงเหลือของเขาคือ ข้อแก้ต่าง (Apologies) และการสนทนากับทรีโฟ (Dialogue With Trypho, a Jew) ในหนังสือข้อแก้ต่าง จัสตินพยายามปกป้องศาสนาคริสเตียนจากรัฐบาลโรมที่เป็นศัตรูและแก้ข้อกล่าวหาที่ว่าพวกคริสเตียนเป็นอเทวนิยม เขายังเผยแพร่ความเชื่อของตัวเองซึ่งเป็นการผสมผสานคำสอนในพระคัมภีร์กับปรัชญากรีก เขาเชื่อว่าพระเจ้าไม่มีชื่อเฉพาะ ในหนังสือการสนทนา จัสตินบอกว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์และศาสนายิวล้าสมัยไปแล้ว
การที่จัสตินผสมผสานศาสนาคริสเตียนเข้ากับหลักปรัชญาแสดงว่าเขาไม่สนใจคำสั่งในพระคัมภีร์ที่ให้ยึดมั่นกับสิ่งที่เขียนไว้ (1คร 4:6) พวกปิตาจารย์หรือนักเขียนคนอื่น ๆ ของคริสตจักรก็ทำตามตัวอย่างของเขา ซึ่งทำให้คำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เกี่ยวกับการทรยศพระเจ้าเกิดเร็วขึ้น (มธ 13:38, 39; 2ปต 2:1) ถึงอย่างนั้นงานเขียนของจัสตินก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพราะเขามีชีวิตอยู่ในช่วงที่พวกอัครสาวกตายไปไม่นาน ตัวอย่างเช่น งานเขียนเหล่านั้นแสดงว่าจัสตินยอมรับสารบบพระคัมภีร์ของชาวยิวและไม่ยอมรับหนังสือนอกสารบบ