ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เจโรม

เจโรม

(มี​ชีวิต​อยู่​ประมาณ​ปี ค.ศ. 347-420) เขา​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล นัก​บวช หัวหน้า​อาราม และ​เป็น​เลขา​ของ​โปป​ดามาซุส​ใน​กรุง​โรม​อยู่ 3 ปี ชื่อ​ภาษา​ละติน​ของ​เจโรม​คือ​ยูเซบิอุส ไฮรอนนีมุส เขา​เกิด​ที่​เมือง​สตรี​ดอน ใน​แคว้น​ดัลมาเทีย​ของ​โรม

เจโรม​เป็น​ที่​รู้​จัก​มาก​ที่​สุด​ใน​ฐานะ​ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​วัลเกต ฉบับ​แปล​ของ​เขา​ใช้​ภาษา​ละติน​ที่​ผู้​คน​ทั่ว​ไป​ใช้​กัน ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ธรรมดา​ ๆ ​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​ตะวัน​ตก​เข้าใจ​ได้​ง่าย ฉบับ​วัลเกต ไม่​ได้​เป็น​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​ที่​มี​อยู่​ก่อน แต่​เจโรม​พยายาม​แปล​พระ​คัมภีร์​ของ​เขา​จาก​ภาษา​ต้น​ฉบับ​โดย​ตรง คือ​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก รวม​ทั้ง​จาก​ฉบับ​เซปตัวจินต์ ซึ่ง​เป็น​ภาษา​กรีก เจโรม​ใช้​ชีวิต​ช่วง 34 ปี​สุด​ท้าย​ใน​เมือง​เบธเลเฮม​ใกล้​กรุง​เยรูซาเล็ม เขา​ดู​แล​อาราม​แห่ง​หนึ่ง​ที่​นั่น​และ​ขณะ​เดียว​กัน​ก็​ศึกษา​ภาษา​ฮีบรู​เพิ่ม​เติม รวม​ทั้ง​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​จน​เสร็จ ถึง​แม้​ฉบับ​วัลเกต ที่​เสร็จ​สมบูรณ์​ของ​เขา​จะ​รวม​เอา​หนังสือ​นอก​สารบบ​พระ​คัมภีร์​ไว้​ด้วย​เพราะ​เวลา​นั้น​มี​หนังสือ​เหล่า​นี้​อยู่​ใน​สำเนา​ต่าง​ ๆ ​ของ​ฉบับ​เซปตัวจินต์ แต่​เจโรม​ก็​แยก​ให้​เห็น​ชัดเจน​ว่า​หนังสือ​เล่ม​ไหน​อยู่​ในสารบบของ​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​เล่ม​ไหน​ไม่​อยู่​ใน​สารบบ

ตอน​ที่​เจโรม​ศึกษา​ค้นคว้า เขา​ได้​พบ​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​สำคัญ​มาก​คือ​พบ​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​ใน​รูป​เททรากรัมมาทอน​ใน​สำเนา​ของ​ฉบับ​เซปตัวจินต์ ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​เขา​หา​ได้ แต่​เจโรม​กลับ​รู้สึก​ว่า​นี่​เป็น​แค่​ชื่อ​หนึ่ง​ใน 10 ชื่อ​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​สับสน​ระหว่าง​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​กับ​ตำแหน่ง​ต่าง​ ๆ ​ของ​พระองค์ ใน​งาน​แปล​ของ​เขา เจโรม​ใช้​ตำแหน่ง​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​กับ​พระเจ้า​แทน​ชื่อ​ของ​พระองค์