ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บท 16

จงต่อสู้พญามารและการกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน

จงต่อสู้พญามารและการกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยมของมัน

“จงต่อสู้พญามาร แล้วมันจะหนีไป.”—ยาโกโบ 4:7.

1, 2. การรับบัพติสมาเป็นโอกาสที่น่ายินดีสำหรับใครบ้าง?

หากคุณรับใช้พระยะโฮวามาหลายสิบปีแล้ว คุณคงได้ฟังคำบรรยายเรื่องการรับบัพติสมา ณ การประชุมใหญ่หลายครั้ง. แต่ไม่ว่าคุณได้เข้าร่วมในโอกาสเช่นนั้นบ่อยแค่ไหน คุณก็ยังคงรู้สึกได้รับการกระตุ้นใจทุกครั้งเมื่อเห็นคนที่นั่งอยู่แถวหน้าในที่ประชุมยืนขึ้นเพื่อเสนอตัวรับบัพติสมา. ในตอนนั้นเองมีเสียงแสดงความตื่นเต้นของผู้ฟัง ตามด้วยเสียงปรบมืออย่างจริงใจดังกึกก้อง. คุณอาจน้ำตาคลอเบ้าทีเดียวเมื่อเห็นว่า ยังมีบุคคลที่มีค่าอีกกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. ตอนนั้นเรารู้สึกยินดีจริง ๆ!

2 ขณะที่เราอาจเห็นการรับบัพติสมาปีละสองสามครั้งในประเทศของเรา พวกทูตสวรรค์มีสิทธิพิเศษที่จะสังเกตเห็นการรับบัพติสมาบ่อยยิ่งกว่าเรามากนัก. คุณนึกภาพออกไหมว่าคงต้องมี “ความยินดีในสวรรค์” มากสักเพียงไรขณะที่พวกทูตสวรรค์เห็นว่าทุกสัปดาห์มีผู้คนราว ๆ ห้าพันคนทั่วโลกเข้ามาเพิ่มจำนวนให้กับองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่มองเห็นได้. (ลูกา 15:7, 10) ไม่ต้องสงสัยว่า พวกทูตสวรรค์รู้สึกตื่นเต้นที่สังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นเช่นนี้!—ฮาฆี 2:7.

พญามาร “เดินไปมาเหมือนสิงโตคำราม”

3. เหตุใดซาตานเดินไปมา “เหมือนสิงโตคำราม” และมันต้องการทำอะไร?

3 อย่างไรก็ดี ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด มีพวกกายวิญญาณซึ่งสังเกตดูการรับบัพติสมาเหล่านั้นด้วยความเดือดดาล. ซาตานและเหล่าปิศาจโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อเห็นคนมากมายปฏิเสธโลกที่เสื่อมทรามนี้. ที่จริง ซาตานได้คุยโตว่าไม่มีมนุษย์คนใดรับใช้พระยะโฮวาเนื่องด้วยความรักอย่างจริงใจและไม่มีใครจะรักษาความซื่อสัตย์ภายใต้การทดสอบแสนสาหัส. (โยบ 2:4, 5) ทุกครั้งที่มีคนตัดสินใจอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า ซาตานเป็นฝ่ายผิด. ประหนึ่งว่าซาตานถูกตบหน้าหลายพันครั้งทุกสัปดาห์ตลอดปี. ไม่แปลกที่มัน “เดินไปมาเหมือนสิงโตคำราม เสาะหาคนที่มันจะขม้ำกินเสีย”! (1 เปโตร 5:8) “สิงโต” ตัวนี้มุ่งมั่นที่จะขม้ำกินเราทางฝ่ายวิญญาณ ทำให้เกิดผลเสียหายต่อสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า หรือถึงกับทำให้ความสัมพันธ์นี้ขาดสะบั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 7:1, 2; 2 ติโมเธียว 3:12.

ทุกครั้งที่มีคนอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาและรับบัพติสมา ซาตานถูกพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายผิด

4, 5. (ก) พระยะโฮวาได้จำกัดขอบเขตอำนาจของซาตานไว้ในสองทางที่สำคัญอะไรบ้าง? (ข) คริสเตียนแท้สามารถมั่นใจได้ในเรื่องใด?

4 แม้เราเผชิญศัตรูที่ดุร้าย เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะหวาดกลัว. เพราะเหตุใด? เพราะพระยะโฮวาได้ทรงจำกัดขอบเขตอำนาจของ “สิงโตคำราม” ดังกล่าวนั้นในสองทางที่สำคัญ. สองทางใดบ้าง? ประการแรก พระยะโฮวาได้ทรงบอกล่วงหน้าว่า “ชนฝูงใหญ่” ที่ประกอบด้วยคริสเตียนแท้จะรอดผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” ที่กำลังจะมาถึง. (วิวรณ์ 7:9, 14) คำพยากรณ์ของพระเจ้าไม่เคยล้มเหลว. ดังนั้น แม้แต่ซาตานก็ต้องรู้ว่ามันไม่มีวันจะทำให้ประชาชนของพระเจ้าโดยรวมติดกับของมันได้เลย.

5 การจำกัดขอบเขตอำนาจของซาตานในทางที่สองเห็นได้ชัดจากความจริงพื้นฐานที่ผู้ซื่อสัตย์คนหนึ่งของพระเจ้าในสมัยโบราณเคยกล่าวไว้. ผู้พยากรณ์อะซาระยาได้ทูลกษัตริย์อาซาว่า “พระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ฝ่ายพวกท่าน, เมื่อท่านอยู่ฝ่ายพระองค์.” (2 โครนิกา 15:2; 1 โครินท์ 10:13) หลายตัวอย่างที่มีบันทึกไว้แสดงว่า ในอดีตซาตานล้มเหลวเสมอในการขม้ำกินผู้รับใช้คนใด ๆ ของพระเจ้าที่อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ตลอด. (ฮีบรู 11:4-40) ทุกวันนี้ คริสเตียนซึ่งติดสนิทอยู่กับพระเจ้าจะสามารถต่อสู้พญามารและถึงกับเอาชนะมันได้. ที่จริง พระคำของพระเจ้ารับรองกับเราว่า “จงต่อสู้พญามาร แล้วมันจะหนีไปจากพวกท่าน.”—ยาโกโบ 4:7.

“เรา . . . ต่อสู้กับพวกกายวิญญาณชั่ว”

6. ซาตานต่อสู้คริสเตียนเป็นรายบุคคลอย่างไร?

6 ซาตานไม่สามารถชนะการต่อสู้ได้ แต่อาจกล่าวได้ว่า มันสามารถเอาชนะเราแต่ละคนได้หากเราเลิกระวังระไว. ซาตานรู้ว่าจะขม้ำกินเราได้หากมันสามารถทำให้ความผูกพันระหว่างเรากับพระยะโฮวานั้นเสื่อมคลาย. ซาตานพยายามบรรลุเป้าหมายนี้โดยวิธีใด? โดยการโจมตีเราอย่างหนัก, เป็นรายบุคคล, และอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม. ขอเราพิจารณายุทธวิธีหลัก ๆ เหล่านี้ของซาตาน.

7. เพราะเหตุใดซาตานจึงโจมตีประชาชนของพระยะโฮวาอย่างหนัก?

7 การโจมตีอย่างหนัก. อัครสาวกโยฮันกล่าวว่า “โลกทั้งโลกอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้าย.” (1 โยฮัน 5:19) มีคำเตือนสำหรับคริสเตียนแท้ทุกคนในถ้อยคำดังกล่าว. เนื่องจากซาตานได้ขม้ำกินมนุษย์ทั้งโลกที่ชั่วช้าไปแล้ว ตอนนี้มันจึงสามารถมุ่งความสนใจไปยังคนที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งก็คือประชาชนของพระยะโฮวา และมันโจมตีพวกเขาหนักขึ้น. (มีคา 4:1; โยฮัน 15:19; วิวรณ์ 12:12, 17) มันมีความโกรธยิ่งนักเพราะรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย. ดังนั้น มันจึงสร้างความกดดันมากขึ้น. ทุกวันนี้ เราเผชิญความพยายามอย่างชั่วร้ายรอบสุดท้ายของมันที่จะทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. ดังนั้น บัดนี้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาก่อน เราต้อง “รู้กาละทราบว่า [เรา] ควรทำประการใด.”—1 โครนิกา 12:32, ฉบับแปลใหม่.

8. อัครสาวกเปาโลหมายความอย่างไรเมื่อกล่าวว่าเรา “ปล้ำสู้” กับพวกกายวิญญาณชั่ว?

8 การปล้ำสู้เป็นรายบุคคล. อัครสาวกเปาโลได้เตือนเพื่อนคริสเตียนว่า “เรา . . . ต่อสู้กับพวกกายวิญญาณชั่วในสวรรค์สถาน.” (เอเฟโซส์ 6:12) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “ต่อสู้” มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ปล้ำ” ซึ่งถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ด้วยมือเปล่าหรือการต่อสู้แบบประชิดตัว. ดังนั้น โดยใช้คำดังกล่าว เปาโลเน้นว่าเราแต่ละคนต้องต่อสู้กับพวกกายวิญญาณชั่ว. ไม่ว่าเราอยู่ในประเทศที่ความเชื่อในเรื่องกายวิญญาณชั่วมีแพร่หลายหรือไม่ก็ตาม เราไม่ควรลืมว่าเมื่อเราอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเราได้ก้าวขึ้นไปบนเวทีมวยปล้ำ. อย่างน้อยก็ตั้งแต่การอุทิศตัวเป็นต้นไป คริสเตียนแต่ละคนต้องอยู่ในสังเวียนการต่อสู้นี้. ไม่แปลกเลยที่เปาโลเห็นความจำเป็นที่จะกระตุ้นเตือนคริสเตียนในเมืองเอเฟโซส์ถึงสามครั้งให้ “ยืนหยัด”!—เอเฟโซส์ 6:11, 13, 14.

9. (ก) เหตุใดซาตานและพวกปิศาจใช้ “กลอุบาย” หลายอย่าง? (ข) ทำไมซาตานพยายามจะทำให้ความคิดของเราเสื่อมเสีย และเราจะต้านทานความพยายามของมันได้โดยวิธีใด? (ดูกรอบ “ จงระวังเล่ห์เหลี่ยมของซาตาน!”) (ค) กลอุบายอะไรที่เราจะพิจารณาในตอนนี้?

9 อุบายอันมีเล่ห์เหลี่ยม. เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนให้ยืนหยัดต้านทาน “กลอุบาย” ของซาตาน. (เอเฟโซส์ 6:11) ในภาษากรีก เปาโลใช้คำนี้ในรูปพหูพจน์. พวกกายวิญญาณชั่วใช้การกระทำที่มีเล่ห์เหลี่ยมไม่ใช่วิธีเดียว แต่ใช้หลายวิธี—และนั่นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล. ในช่วงเวลาที่ผ่านไป ผู้มีความเชื่อบางคนซึ่งเคยยืนหยัดต้านทานการทดสอบอย่างหนึ่งมาแล้วได้ยอมแพ้เมื่อเผชิญการทดสอบอีกอย่างหนึ่ง. ดังนั้น พญามารและพวกปิศาจสังเกตดูพฤติกรรมของเราแต่ละคนอย่างใกล้ชิดเพื่อจะพบจุดอ่อนแอที่สุดของเรา. ครั้นแล้วพวกมันก็จะฉวยประโยชน์จากความอ่อนแอใด ๆ ฝ่ายวิญญาณที่เรามี. แต่น่ายินดี เราสามารถมองออกถึงวิธีหลายอย่างของพญามาร เพราะมีการเปิดเผยเรื่องนี้ไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. (2 โครินท์ 2:11) ในบทต้น ๆ ของหนังสือนี้ เราได้พิจารณาอุบายต่าง ๆ เช่น การล่อด้วยลัทธิวัตถุนิยม, การคบหาสมาคมที่เป็นอันตราย, และการผิดศีลธรรมทางเพศ. ตอนนี้ให้เราพิจารณากลอุบายอีกอย่างหนึ่งของซาตาน นั่นคือลัทธิผีปิศาจ.

การปฏิบัติลัทธิผีปิศาจ—การกระทำที่ทรยศ

10. (ก) ลัทธิผีปิศาจคืออะไร? (ข) พระยะโฮวามีทัศนะอย่างไรต่อลัทธิผีปิศาจ และคุณมีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนี้?

10 โดยการปฏิบัติลัทธิผีปิศาจผู้คนติดต่อโดยตรงกับพวกกายวิญญาณชั่ว. ลัทธิผีปิศาจบางรูปแบบได้แก่ การทำนายโชคชะตา, การใช้เวทมนตร์, การปล่อยของ, การติดต่อกับคนตาย. ดังที่เราทราบดี พระยะโฮวาทรงถือว่าลัทธิผีปิศาจเป็น “ที่น่ารังเกียจ.” (พระบัญญัติ 18:10-12; วิวรณ์ 21:8) เนื่องจากเราต้อง “เกลียดสิ่งชั่ว” ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องเหลือคิดที่เราจะพยายามติดต่อกับพวกกายวิญญาณชั่ว. (โรม 12:9) คงจะเป็นการกระทำที่ทรยศอย่างน่ารังเกียจเสียจริง ๆ ต่อพระยะโฮวาพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา!

11. เหตุใดจึงจะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่สำหรับซาตานหากมันสามารถล่อลวงเราให้หันไปพึ่งลัทธิผีปิศาจ? จงยกตัวอย่างเปรียบเทียบ.

11 อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลที่ว่าการทำเล่น ๆ กับลัทธิผีปิศาจเป็นการทรยศต่อพระยะโฮวาอย่างน่ารังเกียจ ซาตานจึงตั้งใจจะทำให้เราบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจปฏิบัติดังกล่าว. แต่ละครั้งที่ซาตานสามารถล่อลวงคริสเตียนให้หันไปหาลัทธิผีปิศาจ มันได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่. เพราะเหตุใด? ขอให้คิดถึงการเปรียบเทียบอย่างนี้: หากสามารถเกลี้ยกล่อมทหารคนหนึ่งให้ละทิ้งและทรยศต่อกองทัพของตนแล้วไปเข้าร่วมกับกองทัพศัตรู ผู้บัญชาการฝ่ายศัตรูคงจะยินดี. เขาอาจถึงกับจัดขบวนแห่คนทรยศนั้นประหนึ่งว่าเป็นถ้วยรางวัล เพื่อจะสบประมาทอดีตผู้บัญชาการกองทัพของทหารคนนั้น. คล้ายกัน หากคริสเตียนหันไปพึ่งลัทธิผีปิศาจ เขาคงจะละทิ้งพระยะโฮวาโดยสมัครใจทั้ง ๆ ที่รู้ และมอบตัวอยู่ใต้การบัญชาของซาตานโดยตรง. คิดดูสิว่านั่นจะทำให้ซาตานรู้สึกยินดีสักเพียงไรที่จะจัดให้มีขบวนแห่คนที่ละทิ้งพระเจ้าประหนึ่งถ้วยรางวัลแห่งชัยชนะในสงคราม! มีใครในพวกเราหรือที่ต้องการหยิบยื่นชัยชนะดังกล่าวให้พญามาร? ไม่มีแน่ ๆ! เราไม่ใช่คนทรยศ.

การใช้คำถามเพื่อก่อความสงสัย

12. ซาตานใช้วิธีใดเพื่อเปลี่ยนทัศนะที่เรามีต่อลัทธิผีปิศาจ?

12 ตราบใดที่เราเกลียดชังลัทธิผีปิศาจ ซาตานจะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำให้เราหันไปหาลัทธินั้น. ด้วยเหตุนี้ มันตระหนักว่าต้องเปลี่ยนความคิดของเรา. โดยวิธีใด? มันหาวิธีทำให้คริสเตียนสับสนถึงขั้นที่บางคนจะเห็น “ชั่วเป็นดี, และเห็นดีเป็นชั่ว.” (ยะซายา 5:20) เพื่อจะทำเช่นนั้น บ่อยครั้งซาตานหันไปพึ่งวิธีหนึ่งที่ผ่านการทดสอบมานานแล้วว่าได้ผล นั่นก็คือมันใช้คำถามเพื่อก่อความสงสัย.

13. ซาตานได้ใช้วิธีตั้งคำถามอย่างไรเพื่อก่อความสงสัย?

13 ขอสังเกตว่าซาตานใช้วิธีนั้นอย่างไรในอดีต. ในสวนเอเดนมันได้ถามฮาวาว่า “จริงหรือที่พระเจ้าตรัสห้ามว่า, ‘เจ้าอย่ากินผลไม้ทุกอย่างในสวนนี้’?” ในสมัยของโยบ ระหว่างการประชุมของพวกทูตสวรรค์ ซาตานได้ตั้งคำถามว่า “โยบนั้นยำเกรงพระเจ้าด้วยเปล่าประโยชน์หรือ?” และในตอนเริ่มต้นการรับใช้ของพระเยซูบนแผ่นดินโลก ซาตานได้ท้าทายพระคริสต์ว่า “ถ้าท่านเป็น บุตรของพระเจ้า สั่งหินเหล่านี้ให้กลายเป็นขนมปังสิ.” คิดดูสิว่า ในกรณีของพระเยซู ซาตานบังอาจล้อเลียนถ้อยคำที่พระยะโฮวาเองได้ตรัสราว ๆ หกสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่ว่า “นี่คือ บุตรที่รักของเราซึ่งเราพอใจมาก”!—เยเนซิศ 3:1; โยบ 1:9; มัดธาย 3:17; 4:3.

14. (ก) ซาตานใช้อุบายของมันในการก่อความสงสัยเกี่ยวกับลัทธิผีปิศาจอย่างไร? (ข) ตอนนี้เราจะพิจารณาอะไร?

14 ทุกวันนี้ พญามารใช้อุบายคล้ายกันด้วยความพยายามที่จะก่อความสงสัยในเรื่องความเลวร้ายของลัทธิผีปิศาจ. น่าเศร้าใจ มันได้ประสบผลสำเร็จในการก่อความสงสัยขึ้นในจิตใจของผู้มีความเชื่อบางคน. พวกเขาเริ่มสงสัยว่าลัทธิผีปิศาจบางรูปแบบเลวร้ายไปเสียทั้งหมดจริง ๆ ไหม. ที่แท้แล้ว เขาเสมือนถามว่า ‘จริงหรือ?’ (2 โครินท์ 11:3) เราจะช่วยคนเช่นนั้นให้เปลี่ยนทัศนะได้อย่างไร? เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่ากลอุบายของซาตานไม่สามารถโน้มน้าวเราได้? เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ขอให้เราพิจารณาสองขอบเขตในชีวิตที่ซาตานได้ทำให้แปดเปื้อนด้วยแง่มุมที่เกี่ยวกับลัทธิผีปิศาจอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม. ขอบเขตเหล่านี้คือความบันเทิงและการดูแลรักษาสุขภาพ.

ฉวยประโยชน์จากความปรารถนาและความจำเป็นของเรา

15. (ก) หลายคนในโลกตะวันตกมีทัศนะเช่นไรต่อลัทธิผีปิศาจ? (ข) คริสเตียนบางคนได้รับผลกระทบอย่างไรจากทัศนะของโลกในเรื่องลัทธิผีปิศาจ?

15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก ผู้คนมากขึ้นทุกทีมองว่าศาสตร์ลี้ลับ, เวทมนตร์คาถา, และลัทธิผีปิศาจในรูปแบบอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเสียหาย. ภาพยนตร์, หนังสือ, รายการทีวี, และเกมคอมพิวเตอร์ให้ภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ากิจปฏิบัติเกี่ยวกับผีปิศาจเป็นเรื่องสนุก, ตื่นเต้นเร้าใจ, และไม่มีพิษภัย. ภาพยนตร์และหนังสือบางเรื่องซึ่งมีเค้าโครงที่เน้นเรื่องอำนาจลึกลับได้กลายเป็นที่นิยมมากจนถึงกับเหล่าผู้คลั่งไคล้ได้จัดตั้งแฟนคลับขึ้น. เห็นได้ชัด พวกผีปิศาจได้ประสบผลสำเร็จในการทำให้อันตรายของอำนาจลึกลับเป็นเรื่องไม่สำคัญ. แนวโน้มในการถือว่าลัทธิผีปิศาจเป็นเรื่องเล่น ๆ เช่นนี้มีผลกระทบต่อคริสเตียนไหม? ความคิดของบางคนได้รับผลกระทบ. ในทางใด? ขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไป หลังจากคริสเตียนคนหนึ่งได้ดูภาพยนตร์ที่เน้นเรื่องอำนาจลึกลับ เขาบอกว่า “ผมเพียงแต่ดูหนัง แต่ผมไม่ได้ทำ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผีปิศาจ.” เหตุใดการหาเหตุผลเช่นนั้นจึงเป็นอันตราย?

16. ทำไมจึงเป็นอันตรายที่จะเลือกความบันเทิงซึ่งเน้นเรื่องกิจปฏิบัติที่เกี่ยวกับอำนาจลึกลับ?

16 ถึงแม้มีความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติลัทธิผีปิศาจจริง ๆ กับการดูสื่อบันเทิงเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่แน่นอน นี่มิได้หมายความว่าการดูกิจปฏิบัติเกี่ยวกับอำนาจลึกลับไม่มีอันตรายอะไร. เพราะเหตุใด? ขอพิจารณาเรื่องนี้: พระคำของพระเจ้าบ่งชี้ว่า ทั้งซาตานและเหล่าปิศาจไม่มีความสามารถที่จะอ่านความคิดของเรา. * ดังนั้น ตามที่กล่าวก่อนหน้านี้ เพื่อจะรู้ว่าเราคิดอะไร และสิ่งใดบ้างที่จะบั่นทอนสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า พวกกายวิญญาณชั่วต้องสังเกตการกระทำของเราอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็รวมไปถึงการเลือกความบันเทิงของเรา. เมื่อคริสเตียนมีพฤติกรรมที่แสดงว่าเขาชอบภาพยนตร์หรือหนังสือซึ่งเน้นเรื่องคนทรง, เวทมนตร์คาถา, การถูกผีสิง, หรือเรื่องคล้ายกันที่เกี่ยวข้องกับผีปิศาจ เขาก็กำลังบอกให้พวกปิศาจรู้อะไรบางอย่าง. ที่แท้แล้ว เขาทำให้พวกมันรู้จุดอ่อนของเขา! เมื่อได้ที พวกปิศาจสามารถรัดเหวี่ยงคริสเตียนหนักขึ้นซึ่งเป็นการฉวยประโยชน์จากจุดอ่อนที่ได้เห็น จนกระทั่งประหนึ่งว่าพวกมันกดเขาติดพื้นและมีชัยชนะในการปล้ำ. ที่จริง บางคนซึ่งถูกกระตุ้นให้สนใจลัทธิผีปิศาจเป็นครั้งแรกเนื่องจากความบันเทิงที่เน้นเรื่องอำนาจลึกลับนั้น ในที่สุดได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวจริง ๆ กับการปฏิบัติลัทธิผีปิศาจ.—กาลาเทีย 6:7.

จงรับประโยชน์จากการเกื้อหนุนของพระยะโฮวาในยามเจ็บป่วย

17. ซาตานอาจใช้กลอุบายอะไรเพื่อฉวยประโยชน์จากคนที่เจ็บป่วย?

17 ซาตานพยายามจะฉวยประโยชน์ไม่เพียงจากความปรารถนาของเราในเรื่องความบันเทิงเท่านั้น แต่ความจำเป็นของเราในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพด้วย. โดยวิธีใด? คริสเตียนที่มีสุขภาพทรุดโทรมทั้ง ๆ ที่พยายามอย่างมากที่จะหาวิธีรักษาอาจรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง. (มาระโก 5:25, 26) นั่นอาจทำให้ซาตานและเหล่าปิศาจมีโอกาสที่จะฉวยประโยชน์จากเขา. พวกมันรู้ดีว่าพระคำของพระเจ้าเตือนมิให้แสวงหา “ความช่วยเหลือของคนที่ปฏิบัติสิ่งที่ก่อความเสียหาย.” (ยะซายา 31:2, ล.ม.) เพื่อทำให้คริสเตียนขัดขืนคำเตือนนั้น พวกปิศาจอาจพยายามล่อใจผู้ป่วยที่หมดหวังให้ไปพึ่งวิธีหรือขั้นตอนการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ “อำนาจลึกลับ” หรือลัทธิผีปิศาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อความเสียหายอย่างมากทีเดียว. (ยะซายา 1:13, ล.ม.) หากกลอุบายของปิศาจบรรลุผลสำเร็จ นั่นอาจบั่นทอนสัมพันธภาพของผู้ป่วยกับพระเจ้าได้. ในทางใด?

18. คริสเตียนจะปฏิเสธวิธีการรักษาชนิดใด และเพราะเหตุใด?

18 พระยะโฮวาทรงเตือนชาวอิสราเอลซึ่งได้อาศัย “อำนาจลึกลับ” ว่า “เมื่อเจ้าทั้งหลายชูมือกางขึ้น, เราจะเมินหน้าเสียจากพวกเจ้า: เออ, เมื่อเจ้าอธิษฐานมากมายหลายหน, เราจะไม่ฟัง.” (ยะซายา 1:15) แน่นอน เราต้องการเสมอที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งใด ๆ ซึ่งอาจขัดขวางคำอธิษฐานของเราและทำให้ขาดการสนับสนุนจากพระยะโฮวา—ซึ่งยิ่งจำเป็นต้องได้รับระหว่างที่เราเจ็บป่วย. (บทเพลงสรรเสริญ 41:3) ดังนั้น หากมีข้อบ่งชี้ว่าวิธีการตรวจหรือการรักษาบางอย่างอาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับลัทธิผีปิศาจด้วย คริสเตียนแท้ก็ควรปฏิเสธวิธีการรักษานั้น. * (มัดธาย 6:13) โดยวิธีนี้ เขาจะแน่ใจได้ว่ายังคงได้รับการสนับสนุนจากพระยะโฮวาอยู่.—ดูกรอบ “ นี่เป็นลัทธิผีปิศาจจริง ๆ ไหม?

เมื่อเรื่องราวเกี่ยวกับผีปิศาจมีมากมาย

19. (ก) พญามารได้หลอกลวงหลายคนให้เชื่อเรื่องอะไรเกี่ยวกับอำนาจของมัน? (ข) คริสเตียนแท้ควรหลีกเลี่ยงเรื่องเล่าอะไร?

19 ขณะที่หลายคนในโลกตะวันตกถือว่าอันตรายเกี่ยวกับอำนาจของซาตานเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ แต่ในภูมิภาคอื่นของโลกกลับตรงกันข้าม. ในหลายแห่งพญามารได้หลอกลวงผู้คนมากมายให้เชื่อว่ามันมีอำนาจยิ่งกว่าที่มันมีจริง ๆ. บางคนดำเนินชีวิต, กิน, ทำงาน, และเข้านอนด้วยความหวาดกลัววิญญาณที่ชั่วร้าย. มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับการอิทธิฤทธิ์ของผีปิศาจ. บ่อยครั้งมีการเล่าเรื่องราวดังกล่าวอย่างสนุกสนาน ผู้คนจึงชื่นชอบเรื่องเหล่านั้น. เราควรร่วมในการแพร่เรื่องเช่นนั้นด้วยไหม? ไม่ควร ผู้รับใช้ของพระเจ้าองค์เที่ยงแท้หลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ.

20. บางทีคนเราอาจเผยแพร่คำโฆษณาชวนเชื่อของซาตานโดยไม่ตั้งใจอย่างไร?

20 ประการแรก การนำเอาเรื่องเกี่ยวกับการกระทำที่เก่งกล้าของเหล่าปิศาจไปเล่าต่อ เป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ของซาตาน. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? พระคำของพระเจ้ายืนยันว่าซาตานสามารถทำการอิทธิฤทธิ์ แต่ก็เตือนด้วยว่ามันใช้ “นิมิตจอมปลอม” และ ‘การล่อลวง.’ (2 เทสซาโลนิเก 2:9, 10) เนื่องจากซาตานเป็นจอมหลอกลวง มันจึงรู้วิธีชักจูงจิตใจของคนที่มีแนวโน้มในทางลัทธิผีปิศาจและรู้วิธีทำให้เขาเชื่อสิ่งที่ไม่จริง. คนเช่นนั้นอาจเชื่ออย่างจริงใจว่าเขาเห็นและได้ยินบางสิ่งบางอย่างและอาจเล่าว่าประสบการณ์ของเขาเป็นเรื่องจริง. ต่อมา มีการเล่าต่อเรื่องของเขาไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องที่พูดเกินจริง. หากคริสเตียนแพร่เรื่องเช่นนั้นออกไป ที่แท้แล้ว เขาคงจะทำตามความประสงค์ของพญามาร—“พ่อของการพูดมุสา.” เขาคงจะเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อของซาตาน.—โยฮัน 8:44; 2 ติโมเธียว 2:16.

21. เราต้องให้การสนทนาของเรามุ่งไปที่เรื่องใด?

21 ประการที่สอง ถึงแม้ในอดีตคริสเตียนเคยเผชิญหน้าจริง ๆ กับกายวิญญาณชั่ว เขาคงจะละเว้นจากการทำให้เพื่อนร่วมความเชื่อสนุกเพลิดเพลินด้วยการเล่าเรื่องดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีก. เพราะเหตุใด? เราได้รับการเตือนให้ “เพ่งมองพระเยซู ตัวแทนองค์เอกผู้ทำให้เรามีความเชื่อและผู้ทำให้ความเชื่อของเราสมบูรณ์.” (ฮีบรู 12:2) ใช่แล้ว เราต้องมุ่งความสนใจไปที่พระคริสต์ ไม่ใช่ซาตาน. น่าสังเกตว่า ขณะอยู่บนแผ่นดินโลก พระเยซูไม่เคยทำให้เหล่าสาวกสนุกเพลิดเพลินด้วยการเล่าเรื่องเกี่ยวกับพวกกายวิญญาณชั่ว แม้ว่าพระองค์อาจได้กล่าวไว้มากมายเกี่ยวกับความสามารถของซาตาน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระเยซูทรงเพ่งเล็งอยู่ที่ข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร. ดังนั้น โดยการเลียนแบบพระเยซูและเหล่าอัครสาวก เราต้องให้การสนทนาของเรามุ่งไปที่ “ราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า.”—กิจการ 2:11; ลูกา 8:1; โรม 1:11, 12.

22. เราจะทำให้มี “ความยินดีในสวรรค์” ต่อ ๆ ไปได้โดยวิธีใด?

22 จริงอยู่ ซาตานใช้การกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยมหลายวิธี รวมทั้งลัทธิผีปิศาจ เพื่อพยายามจะทำลายสัมพันธภาพของเรากับพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม โดยเกลียดสิ่งที่ชั่วและยึดมั่นกับสิ่งที่ดี เราทำให้พญามารหมดโอกาสจะบั่นทอนความตั้งใจของเราที่จะปฏิเสธลัทธิผีปิศาจทุกรูปแบบ. (เอเฟโซส์ 4:27) คิดดูสิว่าจะมี “ความยินดีในสวรรค์” มากสักเพียงไร หากเรา “ยืนหยัดต้านทานกลอุบายของพญามาร” อยู่เสมอจนกระทั่งมันไม่มีอยู่อีกต่อไป!—เอเฟโซส์ 6:11.

^ วรรค 16 สมญานามที่ตั้งให้ซาตาน (ผู้ต่อต้าน, ผู้หมิ่นประมาท, ผู้หลอกลวง, ผู้ล่อใจ, ผู้พูดมุสา) ไม่ได้บอกเป็นนัยว่ามันมีความสามารถที่จะสืบค้นดูหัวใจและจิตใจของเรา. แต่ในทางตรงกันข้าม พระยะโฮวาได้รับการพรรณนาว่าเป็น “ผู้ตรวจดูหัวใจ” และพระเยซูเป็นผู้ “ตรวจดูไตและหัวใจ.”—สุภาษิต 17:3, ล.ม.; วิวรณ์ 2:23.

^ วรรค 18 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูบทความเรื่อง “การทดสอบสุขภาพวิธีนี้เหมาะสำหรับคุณไหม?” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ธันวาคม 1994 หน้า 19-22 และบทความเรื่อง “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล: ทางเลือกของคุณในการรักษาโรค—สำคัญไหม?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 มกราคม 2001.