ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภาคผนวก

การทำความเคารพธง, การลงคะแนนเสียง, และการทำงานบริการสังคม

การทำความเคารพธง, การลงคะแนนเสียง, และการทำงานบริการสังคม

การทำความเคารพธง. พยานพระยะโฮวาเชื่อว่าการโค้งคำนับธงหรือทำความเคารพธงซึ่งมักทำพร้อมกับการร้องหรือบรรเลงเพลงชาติ เป็นการกระทำเชิงนมัสการที่ถือว่าความรอดไม่ได้มาจากพระเจ้า แต่มาจากรัฐหรือผู้นำของรัฐ. (ยะซายา 43:11; 1 โครินท์ 10:14; 1 โยฮัน 5:21) หนึ่งในผู้นำดังกล่าวคือกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลนโบราณ. เพื่อทำให้ประชาชนประทับใจความยิ่งใหญ่และความกระตือรือร้นทางศาสนาของตน กษัตริย์ผู้ทรงอำนาจผู้นี้ได้ตั้งรูปเคารพใหญ่และสั่งให้ประชาชนก้มกราบรูปนั้นขณะที่มีการบรรเลงดนตรี ซึ่งเป็นเหมือนเพลงชาติ. อย่างไรก็ตาม ชาวฮีบรูสามคน คือ ซัดรัค, เมเซ็ค, และอะเบ็ดนะโค ปฏิเสธที่จะก้มกราบรูปนั้นแม้มีโทษถึงตายก็ตาม.—ดานิเอล บท 3.

ในสมัยของเรา คาร์ลตัน เฮซ นักประวัติศาสตร์เขียนว่า “สัญลักษณ์สำคัญยิ่งของความเชื่อและจุดรวมแห่งการนมัสการของชาตินิยมคือธงชาติ. ผู้คนถอดหมวกเมื่อมีธงผ่านมา และในการสดุดีธงนั้น พวกกวีแต่งโคลงร้องสดุดีและเด็ก ๆ ร้องเพลงสวด.” เขาพูดเสริมว่า ชาตินิยมยังมี “วันศักดิ์สิทธิ์” ด้วย เช่น วันที่ 4 กรกฎาคม ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งวัน “เหล่านักบุญและวีรบุรุษ” และมี “วิหาร” หรือสถานบูชา. ในการเฉลิมฉลองครั้งหนึ่งซึ่งจัดในที่สาธารณะของบราซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยอมรับว่า “ธงชาติได้รับการนับถือและการนมัสการ . . . เหมือนกับปิตุภูมิได้รับการนมัสการ.” ใช่แล้ว “ธงชาติศักดิ์สิทธิ์เหมือนไม้กางเขน” ตามที่สารานุกรมอเมริกานา เคยกล่าวไว้.

สารานุกรมข้างต้นได้กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เพลงชาติ “แสดงออกถึงความรู้สึกรักชาติและมักจะรวมเอาคำทูลขอพระเจ้าโปรดให้การชี้นำและพิทักษ์คุ้มครองประชาชนหรือบรรดาผู้ปกครอง.” ดังนั้น ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาใช่ว่าไร้เหตุผลที่มองว่าพิธีการรักชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำความเคารพธงและเพลงชาตินั้นมีแง่มุมทางศาสนา. อันที่จริง หนังสืออเมริกัน คาแร็กเตอร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเด็กพยานพระยะโฮวาในโรงเรียนของสหรัฐที่ปฏิเสธการทำความเคารพธงหรือสาบานตนจงรักภักดีว่า “การทำพิธีการเช่นนี้ทุกวันเป็นเรื่องทางศาสนา ซึ่งได้รับการยืนยันในที่สุดจากศาลสูงสุดในคดีความต่าง ๆ.”

ถึงแม้ประชาชนของพระยะโฮวาไม่เข้าร่วมในพิธีที่พวกเขามองว่าไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์ แต่พวกเขาก็นับถือสิทธิของคนอื่นที่จะทำเช่นนั้น. พวกเขายังให้ความนับถือธงชาติฐานะเป็นเครื่องหมายและยอมรับอย่างเหมาะสมว่า รัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้องเป็น “ผู้มีอำนาจปกครอง” ซึ่งกำลังรับใช้ฐานะ “ผู้รับใช้ของพระเจ้า.” (โรม 13:1-4) ดังนั้น พยานพระยะโฮวาจึงเอาใจใส่คำกระตุ้นเตือนที่ให้อธิษฐาน “เพื่อกษัตริย์ และเพื่อบรรดาคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง.” กระนั้น เจตนารมณ์ของเราคือ “เพื่อเราจะได้ดำเนินชีวิตอย่างสงบด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งด้วยความจริงจังและรอบคอบอย่างยิ่ง.”—1 ติโมเธียว 2:2.

การลงคะแนนเลือกตั้งทางการเมือง. คริสเตียนแท้นับถือสิทธิของผู้อื่นที่จะลงคะแนนเสียง. พวกเขาไม่รณรงค์ต่อต้านการเลือกตั้ง และพวกเขาให้ความร่วมมือกับผู้มีอำนาจบ้านเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง. อย่างไรก็ตาม พวกเขารักษาความเป็นกลางอย่างเด็ดเดี่ยวในเรื่องกิจธุระทางการเมืองของชาติ. (มัดธาย 22:21; 1 เปโตร 3:16) คริสเตียนควรทำเช่นไรเมื่ออยู่ในประเทศที่บังคับให้ไปลงคะแนนเสียงหรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีการแสดงความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ไม่ไปยังคูหาการลงคะแนนเสียง? การนึกถึงว่าซัดรัค, เมเซ็ค, และอะเบ็ดนะโคไปยังที่ราบดูรา ภายใต้สภาพการณ์คล้ายกัน คริสเตียนก็อาจตัดสินใจไปยังคูหาเลือกตั้งถ้าสติรู้สึกผิดชอบของเขายอมให้ทำเช่นนั้น. อย่างไรก็ตาม เขาจะทำให้แน่ใจว่าไม่ได้ละเมิดความเป็นกลาง. เขาควรพิจารณาหลักการหกประการดังต่อไปนี้:

  1. สาวกของพระเยซู “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก.”—โยฮัน 15:19.

  2. คริสเตียนเป็นตัวแทนของพระคริสต์และราชอาณาจักรของพระองค์.—โยฮัน 18:36; 2 โครินท์ 5:20.

  3. ประชาคมคริสเตียนเป็นเอกภาพในความเชื่อ และสมาชิกในประชาคมผูกพันกันด้วยความรักเยี่ยงพระคริสต์.—1 โครินท์ 1:10; โกโลซาย 3:14.

  4. ผู้ที่เลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งมีส่วนรับผิดชอบต่อสิ่งที่คนนั้นทำ.—สังเกตหลักการที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำที่บันทึกไว้ที่ 1 ซามูเอล 8:5, 10-18 และ 1 ติโมเธียว 5:22.

  5. พระยะโฮวามองว่าความปรารถนาของชาวอิสราเอลที่จะมีผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์เป็นสิ่งบ่งบอกว่าพวกเขาปฏิเสธพระองค์.—1 ซามูเอล 8:7.

  6. คริสเตียนต้องกล้าพูดกับผู้คนในทุกกลุ่มการเมืองเกี่ยวกับรัฐบาลราชอาณาจักรของพระเจ้า.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20; ฮีบรู 10:35.

การทำงานบริการสังคม. ในบางดินแดน รัฐเรียกร้องให้ผู้ที่ปฏิเสธรับราชการทหารเข้าทำงานบริการสังคมบางประเภทระยะหนึ่ง. เมื่อเผชิญกับการตัดสินใจในเรื่องนี้ เราควรอธิษฐาน บางทีคุยเรื่องนี้กับเพื่อนคริสเตียนที่อาวุโส และจากนั้นตัดสินใจด้วยสติรู้สึกผิดชอบของเราเองโดยอาศัยสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเกี่ยวกับเรื่องนั้น.—สุภาษิต 2:1-5; ฟิลิปปอย 4:5.

พระคำของพระเจ้าบอกเราให้ “เชื่อฟังรัฐบาลและผู้มีอำนาจปกครอง ให้อยู่พร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง . . . ให้มีเหตุผล.” (ทิทุส 3:1, 2) โดยคำนึงถึงเรื่องนี้ เราอาจถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้: ‘การทำงานบริการสังคมทำให้ฉันอะลุ่มอล่วยความเป็นกลางแบบคริสเตียนหรือทำให้ฉันเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสนาเท็จไหม?’ (มีคา 4:3, 5; 2 โครินท์ 6:16, 17) ‘การทำงานดังกล่าวทำให้ยากที่ฉันจะทำหน้าที่รับผิดชอบต่าง ๆ ฝ่ายคริสเตียน หรือถึงกับเป็นอุปสรรคขัดขวางฉันในการทำหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้ให้สำเร็จไหม?’ (มัดธาย 28:19, 20; เอเฟโซส์ 6:4; ฮีบรู 10:24, 25) ‘ในอีกด้านหนึ่ง การทำงานบริการสังคมนั้นเกี่ยวข้องกับตารางเวลาที่จะทำให้ฉันสามารถขยายงานรับใช้แบบคริสเตียนมากขึ้นได้ไหม บางทีทำงานรับใช้เต็มเวลา?’—ฮีบรู 6:11, 12.

ถ้าคริสเตียนคนหนึ่งซึ่งมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีลงความเห็นว่าเขาสามารถทำงานบริการสังคมได้แทนการติดคุก เพื่อนคริสเตียนควรนับถือการตัดสินใจของเขา. (โรม 14:10) กระนั้น ถ้าเขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถทำงานบริการดังกล่าวนั้นได้ คนอื่น ๆ ก็ควรนับถือจุดยืนนั้นเช่นกัน.—1 โครินท์ 10:29; 2 โครินท์ 1:24.