กิจการของอัครสาวก 7:1-60
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
มหาปุโรหิต: คือ เคยาฟาส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 4:6
ออกจากแผ่นดินที่เจ้าอยู่: ตอนที่ให้การต่อหน้าศาลแซนเฮดริน สเทเฟนบอกว่าอับราฮัมได้รับคำสั่งนี้ตอนที่ “พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ได้ปรากฏต่ออับราฮัมบรรพบุรุษของเราตอนที่เขาอยู่ในเมโสโปเตเมียก่อนที่จะย้ายไปอยู่ในเมืองฮาราน” (กจ 7:2) อับราฮัม (ชื่อเดิมอับราม) อาศัยอยู่ในเมืองเออร์ของชาวเคลเดีย และตามคำพูดของสเทเฟน ดูเหมือนอับราฮัมได้รับคำสั่งจากพระเจ้าเป็นครั้งแรกตอนที่เขาอยู่ในเมืองนี้ (ปฐก 11:28, 29, 31; 15:7; 17:5; นหม 9:7) จากบันทึกที่ ปฐก 11:31-12:3 ทำให้เข้าใจได้ว่าอับราฮัมได้รับคำสั่งจากพระเจ้าเป็นครั้งแรกหลังจากที่เทราห์พ่อของเขาเสียชีวิตซึ่งตอนนั้นอับราฮัมอยู่ที่เมืองฮาราน แต่เมื่อดูจากบันทึกที่ปฐมกาลและคำพูดของสเทเฟนที่อยู่ในข้อนี้ก็มีเหตุผลที่จะสรุปได้ว่าพระยะโฮวาให้คำสั่งกับอับราฮัมตอนที่เขายังอยู่ในเมืองเออร์ แล้วหลังจากนั้นพระองค์ก็ให้คำสั่งเขาอีกครั้งตอนที่เขาอยู่ในเมืองฮาราน
ลูกหลาน: หรือ “ผู้สืบเชื้อสาย”—ดูภาคผนวก ก2
ลูกหลาน: หรือ “ผู้สืบเชื้อสาย”—ดูภาคผนวก ก2
ถูกกดขี่เป็นเวลา 400 ปี: ข้อความนี้ยกมาจาก ปฐก 15:13 ซึ่งที่นั่นพระเจ้าบอกอับราม (อับราฮัม) ว่าลูกหลานของเขาจะต้องตกเป็นทาสและถูกกดขี่เป็นเวลา 400 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวจบลงตอนที่พระยะโฮวาปล่อยชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสอียิปต์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ปี 1513 ก่อน ค.ศ. ดังนั้น ช่วงเวลาของการถูกกดขี่จึงต้องเริ่มต้นในปี 1913 ก่อน ค.ศ. ตามลำดับเวลาในคัมภีร์ไบเบิลทำให้รู้ว่าตอนนั้นอิสอัคลูกของอับราฮัมมีอายุประมาณ 5 ขวบ และเข้าเริ่มถูกเยาะเย้ยและกดขี่จากอิชมาเอลซึ่งเป็นพี่ชายต่างแม่ของเขา ตอนนั้น อิชมาเอลซึ่งเป็นลูกชายของฮาการ์สาวใช้ชาวอียิปต์ของซาราย (ซาราห์) มีอายุได้ 19 ปีแล้ว อิชมาเอลอาจเยาะเย้ยอิสอัคเพราะอิสอัคจะเป็นคนที่ได้รับมรดกในฐานะลูกคนโตทั้ง ๆ ที่อิชมาเอลเกิดก่อน (ปฐก 16:1-4; 21:8-10) ต่อมาเปาโลก็พูดถึงสิ่งที่อิชมาเอลทำว่าเป็นการข่มเหง สิ่งที่อิชมาเอลทำน่าจะรุนแรงมากจนพระยะโฮวาอนุญาตให้อับราฮัมไล่อิชมาเอลและแม่ของเขาออกจากบ้านตามคำขอของซาราห์ (ปฐก 21:11-13) ดังนั้น อิสอัคจึงเป็นลูกหลานคนแรกของอับราฮัมที่ถูกกดขี่ตามคำพยากรณ์ เหตุการณ์ที่พระเจ้าให้บันทึกไว้อย่างละเอียดนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่ถูกกดขี่ 400 ปี ซึ่งจบลงตอนที่ชาวอิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์
ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เรา: หรือ “นมัสการเรา” คำกริยากรีก ลาตรือโอ โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการรับใช้ แต่ในบางท้องเรื่องคำนี้อาจแปลได้ว่า “นมัสการ” ส่วนหลังของข้อคัมภีร์นี้ทำให้คิดถึงข้อความใน อพย 3:12 ซึ่งที่นั่นใช้คำกริยาฮีบรูที่มีความหมายเดียวกันที่แปลว่า “นมัสการ” (อพย 3:12) เมื่อใช้ในคัมภีร์ไบเบิล โดยทั่วไปแล้วคำกรีก ลาตรือโอ หมายถึงการรับใช้พระเจ้าหรือการนมัสการพระองค์ (มธ 4:10; ลก 1:74; 2:37; 4:8; รม 1:9; ฟป 3:3; 2ทธ 1:3; ฮบ 9:14; 12:28; วว 7:15; 22:3) หรือทำงานรับใช้ที่วิหารหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ฮบ 8:5; 9:9; 10:2; 13:10) บางครั้งมีการใช้คำนี้กับการนมัสการเท็จ คือการกราบไหว้หรือนมัสการสิ่งที่ถูกสร้าง—กจ 7:42; รม 1:25
ต้นตระกูล: หรือ “บรรพบุรุษ, หัวหน้าวงศ์ตระกูล” คำกรีก พาตริอาร์เฆส มีอยู่ 4 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ในข้อนี้คำนี้ถูกใช้เพื่อหมายถึงลูกชาย 12 คนของยาโคบ (ปฐก 35:23-26) และยังมีการใช้คำนี้กับดาวิด (กจ 2:29) และอับราฮัมด้วย (ฮบ 7:4)
รวมทั้งหมด 75 คน: สเทเฟนอาจไม่ได้ยกข้อคัมภีร์ข้อไหนมาโดยเฉพาะจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูตอนที่เขาบอกว่าครอบครัวของยาโคบที่ย้ายมาอียิปต์รวมทั้งหมด 75 คน และตัวเลขนี้ก็ไม่ได้มีอยู่ที่ไหนในสำเนาพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรต ที่ ปฐก 46:26 ก็บอกว่า “ลูกหลานทั้งหมดของยาโคบที่มาอียิปต์พร้อมกับเขารวมแล้วมี 66 คน ไม่นับพวกลูกสะใภ้” ข้อ 27 ยังบอกต่อไปว่า “คนในครอบครัวยาโคบซึ่งมาอียิปต์มีทั้งหมด 70 คน” สองข้อนี้มีการนับจำนวนคนที่ต่างกัน จำนวน 66 อาจรวมเฉพาะคนที่เป็นลูกหลานทางสายเลือดของยาโคบจริง ๆ ส่วนจำนวน 70 เป็นจำนวนคนทั้งหมดที่มาอียิปต์ ยังมีการพูดถึงจำนวนลูกหลานของยาโคบที่ อพย 1:5 และ ฉธบ 10:22 ด้วย ซึ่งทั้ง 2 ที่บอกว่ามีทั้งหมด “70 คน” ดังนั้น จำนวนที่สเทเฟนพูดถึงก็ไม่ตรงกับ 2 จำนวนที่ว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะเขารวมครอบครัวขยายของยาโคบด้วย บางคนคิดว่าจำนวนนี้รวมลูกชายและหลานชายของมนัสเสห์กับเอฟราอิมเข้าไปด้วย ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ ปฐก 46:20 มีการพูดถึงลูกชาย 2 คนนี้ของโยเซฟด้วย ส่วนบางคนก็คิดว่าจำนวนนี้รวมพวกลูกสะใภ้ของยาโคบเข้ามาด้วยซึ่งไม่มีการรวมพวกเธออยู่ในตัวเลขที่มีการพูดถึงใน ปฐก 46:26 ดังนั้น เลข “75” อาจเป็นจำนวนรวมทั้งหมดของครอบครัวยาโคบ ตัวเลขนี้อาจเอามาจากสำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูหลายฉบับที่ใช้กันในศตวรรษแรก เป็นเวลานานหลายปีที่พวกผู้เชี่ยวชาญได้รู้ว่าจำนวน “75” เป็นตัวเลขที่อยู่ในข้อคัมภีร์ที่ ปฐก 46:27 และ อพย 1:5 ของฉบับกรีกเซปตัวจินต์ นอกจากนั้น ในศตวรรษที่ 20 ยังมีการพบม้วนหนังสือทะเลตาย 2 ชิ้นซึ่งมีข้อความภาษาฮีบรูจาก อพย 1:5 ในข้อความนั้นก็มีตัวเลข “75” ดังนั้น ตัวเลขที่สเทเฟนพูดถึงอาจมาจากสำเนาเก่าแก่เหล่านี้ ไม่ว่าจะอย่างไรตัวเลขที่ไม่ตรงกันก็อาจเป็นเพราะมีการนับจำนวนลูกหลานของยาโคบทั้งหมดในวิธีที่แตกต่างกัน
น่ารักมากในสายตาพระเจ้า: ในภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “สวยงามสำหรับพระเจ้า” วลีนี้มาจากสำนวนภาษาเซมิติกที่ใช้เพื่อหมายถึงบางสิ่งที่ดีเลิศ ในท้องเรื่องนี้ วลีนี้ถ่ายทอดความหมาย 2 อย่างคือ “น่ารักมาก” และ “น่ารักในสายตาของพระเจ้า” (เทียบกับ อพย 2:2) ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าวลีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตาที่อยู่ภายนอกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับคุณลักษณะภายในที่พระเจ้าเห็นในตัวคนนั้น
ได้รับการสอนวิชาความรู้ทุกอย่างของชาวอียิปต์: คำให้การของสเทเฟนต่อหน้าศาลแซนเฮดรินให้ข้อมูลหลายเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น มีแต่สเทเฟนเท่านั้นที่บอกว่าโมเสสได้รับการสอนความรู้ทุกอย่างของชาวอียิปต์ สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่สเทเฟนพูดถึงซึ่งไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:23, 30, 53
อายุได้ 40 ปี: คำให้การของสเทเฟนต่อหน้าศาลแซนเฮดรินให้ข้อมูลหลายเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น มีแต่สเทเฟนเท่านั้นที่บอกว่าโมเสสอายุ 40 ปีตอนที่เขาหนีออกจากอียิปต์ สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่สเทเฟนพูดถึงซึ่งไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:22, 30, 53
เขาก็อยาก: หรือ “เขาก็เริ่มคิด, เขาตัดสินใจ” วลีกรีกนี้มาจากสำนวนฮีบรู—เทียบกับ อสย 65:17; ยรม 3:16
ชาวอิสราเอล: หรือ “ลูกหลานอิสราเอล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อิสราเอล”
สี่สิบปี: พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูไม่ได้บอกว่าโมเสสอยู่ในมีเดียนกี่ปี แต่ในข้อนี้สเทเฟนกำลังพูดถึงประวัติศาสตร์ยิวที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ เขาบอกว่าโมเสสมีอายุ 40 ปีตอนที่หนีไปมีเดียน (อพย 2:11; กจ 7:23) และก็อยู่ที่นั่นอีก 40 ปี หรือเกือบ 40 ปี ดังนั้น 40 ปีที่พูดถึงในข้อนี้น่าจะหมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1553 ถึง 1513 ก่อน ค.ศ. คำพูดของสเทเฟนจึงสอดคล้องกับข้อคัมภีร์ที่บอกว่าโมเสสมีอายุได้ 80 ปีตอนที่เขาเข้าไปพบฟาโรห์ (อพย 7:7) และพาชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์ และยังสอดคล้องกับข้อคัมภีร์ที่บอกว่าโมเสสตายตอนอายุ 120 ปีหลังจากอยู่ในที่กันดาร 40 ปี—ฉธบ 34:7; กจ 7:36.
ทูตสวรรค์: ในข้อนี้สเทเฟนกำลังพูดถึงเหตุการณ์ใน อพย 3:2 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูอ่านว่า “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา” แต่ในข้อนี้สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ทูตสวรรค์” แต่สำเนาบางฉบับและฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า [หรือ “ของพระยะโฮวา”]” ส่วนฉบับแปลหลายฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูก็ใช้เททรากรัมมาทอนในข้อนี้และอ่านว่า “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา”
เสียงของพระยะโฮวา: ในข้อนี้สเทเฟน (กจ 7:30-33) กำลังพูดถึงเรื่องราวที่อยู่ใน อพย 3:2-10 ในข้อ 4 “พระยะโฮวา” เรียกโมเสสผ่านทางทูตสวรรค์ และในข้อ 6 “พระยะโฮวา” พูดกับโมเสสเหมือนข้อความที่ยกมาใน กจ 7:32 คำว่า “เสียงของพระยะโฮวา” มีอยู่หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งคำนี้ประกอบด้วยคำว่า “เสียง” และเททรากรัมมาทอน (ตัวอย่างของการใช้คำนี้อยู่ที่ ปฐก 3:8; อพย 15:26; ฉธบ 5:25; 8:20; 15:5; 18:16; 26:14; 27:10; 28:1, 62; ยชว 5:6; 1ซม 12:15; 1พก 20:36; สด 106:25; อสย 30:31; ยรม 3:25; ดนล 9:10; ศคย 6:15) น่าสนใจว่าในสำเนาเก่าแก่ของฉบับเซปตัวจินต์ ในศตวรรษแรก (อยู่ในพาไพรัสฟูอัดหมายเลข 266) คำว่า “เสียงของพระยะโฮวา” ที่ ฉธบ 26:14; 27:10; 28:1, 62 มีชื่อพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรูแบบเหลี่ยมอยู่ในข้อความภาษากรีก จึงมีเหตุผลหลายอย่างที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อคัมภีร์นี้
พระยะโฮวาบอกเขาว่า: สเทเฟนพูดถึงเหตุการณ์ที่บันทึกอยู่ใน อพย 3:2-10 และจากท้องเรื่องในข้อนั้นเราเห็นได้ชัดว่าพระยะโฮวาเป็นผู้พูดผ่านทางทูตสวรรค์ ถึงแม้เรื่องที่สเทเฟนพูดส่วนใหญ่แล้วจะยกมาจาก อพย 3:5 แต่ข้อความขึ้นต้นของข้อนี้คล้ายกันกับข้อความขึ้นต้นของ อพย 3:7 ซึ่งที่นั่นใช้คำว่า “พระยะโฮวาพูดอีกว่า”
ผู้ช่วยให้รอด: หรือ “ผู้ไถ่, ผู้ปลดปล่อย” คำนามกรีก ลูตโรเทส มาจากคำกริยา ลูตรอโอไม มีความหมายว่า “ช่วยให้เป็นอิสระ, ปลดปล่อย” คำนี้ยังเกี่ยวข้องกับคำนามอีกคำหนึ่งคือ ลูตรอน ที่มีความหมายว่า “ค่าไถ่” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:28) มีการใช้คำกริยาที่มีความหมายเดียวกันนี้กับการช่วยให้รอดผ่านทางพระเยซูคริสต์ (ลก 24:21; ทต 2:14; 1ปต 1:18) พระคัมภีร์บอกล่วงหน้าว่าพระเยซูจะเป็นผู้พยากรณ์เหมือนอย่างโมเสส (ฉธบ 18:15; กจ 7:37) เหมือนที่โมเสสเป็นผู้ช่วยชาวอิสราเอลให้รอดจากอียิปต์ พระเยซูคริสต์ก็เป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดโดยทางค่าไถ่
การอัศจรรย์: หรือ “หมายสำคัญ”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:19
เป็นเวลา 40 ปี: เวลา 40 ปีนี้เริ่มต้นในปี 1513 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นตอนที่ชาวอิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์จนถึงปี 1473 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นตอนที่พวกเขาเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา ทั้งก่อนและในช่วง 40 ปีนี้ โมเสสทำการอัศจรรย์และแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ตอนที่โมเสสกลับไปอียิปต์ เขาทำการอัศจรรย์แรกต่อหน้าพวกผู้นำชาวอิสราเอลทั้งหมด (อพย 4:30, 31) จากนั้น ในช่วงก่อนที่จะอพยพออกจากอียิปต์ พระเจ้าก็ใช้โมเสสให้ทำการอัศจรรย์และแสดงปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่หลายอย่างต่อหน้าฟาโรห์และชาวอียิปต์ทุกคน ต่อมา พระเจ้าก็ให้โมเสสทำการอัศจรรย์อีกเพื่อทำลายฟาโรห์และกองทัพในทะเลแดง (อพย 14:21-31; 15:4; ฉธบ 11:2-4) การอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือการให้มีมานาทุกวันในช่วงที่ชาวอิสราเอลอยู่ในที่กันดาร การอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นทั้งหมด 40 ปีจนถึงตอนที่ผู้คนเริ่มกินพืชผลที่ได้จากแผ่นดินคานาอันซึ่งเป็นตอนต้นปี 1473 ก่อน ค.ศ.—อพย 16:35; ยชว 5:10-12
ชาวอิสราเอล: หรือ “ลูกหลานอิสราเอล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อิสราเอล”
พระเจ้า: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 18:15 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) ซึ่งอ่านว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกคุณ” สเทเฟนอาจพูดแบบย่อ ๆ เขาเลยใช้แค่คำว่า “พระเจ้า” ที่ กจ 3:22 เปโตรก็ยกข้อความจาก ฉธบ 18:15 ด้วย แต่เขาใช้คำว่า “พระยะโฮวาพระเจ้า” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 3:22) ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูใช้ชื่อของพระเจ้าในข้อนี้และอ่านได้ว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าของพวกคุณ” (J7, 8, 10-17) หรือ “พระยะโฮวาพระเจ้า” (J28) สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกบางฉบับก็ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้า” หรือ “พระยะโฮวาพระเจ้า” แต่สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกและฉบับแปลเก่าแก่ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “พระเจ้า”
เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์: หรือ “เต็นท์แห่งพยานหลักฐาน” คำพูดของลูกาในข้อนี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งในฉบับนั้นมีการแปลคำฮีบรูนี้ว่า “เต็นท์เข้าเฝ้า” (อพย 27:21; 28:43; กดว 1:1) ตอนที่ชาวอิสราเอลเดินทางในที่กันดาร เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เก็บหีบสัญญาและในหีบนั้นมีของสำคัญซึ่งก็คือ “แผ่นหินที่เป็นพยานหลักฐาน 2 แผ่น” ในท้องเรื่องของข้อคัมภีร์เหล่านี้ คำว่า “พยานหลักฐาน” มักจะหมายถึงบัญญัติ 10 ประการที่เขียนอยู่บนแผ่นหิน (อพย 25:16, 21, 22; 31:18; 32:15) คำว่า “พยานหลักฐาน” ในภาษาฮีบรูอาจแปลได้ด้วยว่า “ข้อเตือนใจ” หีบสัญญาจึงเป็นที่เก็บรักษาสิ่งของที่เป็นเหมือนข้อเตือนใจหรือพยานหลักฐานที่ศักดิ์สิทธิ์—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “หีบสัญญา” และ “ห้องบริสุทธิ์ที่สุด”
แบบ: หรือ “การออกแบบ, รูปแบบ” คำกรีก ทูพอส ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายเดียวกับคำที่ใช้ใน ฮบ 8:5 และคำที่ฉบับเซปตัวจินต์ ใช้ใน อพย 25:40
โยชูวา: คือผู้นำชาวอิสราเอลที่พาชาติอิสราเอลเข้าไปในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา (ฉธบ 3:28; 31:7; ยชว 1:1, 2) ชื่อโยชูวาเป็นชื่อสั้นของชื่อฮีบรู เยโฮชูวา ที่แปลว่า “พระยะโฮวาเป็นความรอด” ในข้อนี้ ลูกาใช้ชื่อกรีก อิเอซู่ส (I·e·sousʹ) ที่มีความหมายเดียวกัน และชื่อนี้ในภาษาละตินคือเยซู (Iesus) (ดูภาคผนวก ก4) ชื่อนี้เป็นชื่อที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวยิวในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีการพูดถึงคนที่มีชื่อนี้อยู่ 4 คนคือ โยชูวาลูกของนูนที่เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโมเสส (กจ 7:45; ฮบ 4:8) บรรพบุรุษคนหนึ่งของพระเยซูคริสต์ (ลก 3:29) ตัวพระเยซูคริสต์เอง (มธ 1:21) และคริสเตียนคนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นชาวยิวที่เป็นเพื่อนร่วมงานของเปาโล (คส 4:11) โยเซฟุสได้พูดถึงอีกหลายคนที่ใช้ชื่อนี้แต่ไม่ได้มีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล
วิหารที่มนุษย์เป็นคนสร้าง: หรือ “สถานที่ (สิ่ง) ที่มนุษย์เป็นคนสร้าง” มาจากคำกรีก เฆ่รอพอยเอท็อส มีการใช้คำนี้ที่ กจ 17:24 (“ที่มนุษย์สร้างขึ้น”) และ ฮบ 9:11, 24 (“ซึ่งมนุษย์สร้าง”)
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 66:1 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) ข้อความที่บอกว่าพระยะโฮวาพูดว่าตรงกับตอนเริ่มต้นของข้อคัมภีร์ที่ อสย 66:1 (“พระยะโฮวาพูดว่า”) และตรงกับข้อความตอนกลางของข้อถัดไปในหนังสืออิสยาห์ด้วย (“พระยะโฮวาพูดต่อไปว่า”)—อสย 66:2
ดื้อดึง: แปลตรงตัวว่า “คอแข็ง” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก แต่ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำนี้อยู่หลายครั้งเพื่อแปลคำฮีบรูที่มีความหมายคล้ายกัน—อพย 33:3, 5; 34:9; ฉธบ 9:6; สภษ 29:1
ใจแข็งและหูตึง: แปลตรงตัวว่า “ไม่ได้เข้าสุหนัตที่หัวใจและที่หู” เป็นสำนวนที่มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่มีความหมายว่าดื้อดึงและไม่ตอบรับคำแนะนำ (ลนต 26:41; ยรม 9:25, 26; อสค 44:7, 9) ใน ยรม 6:10 (เชิงอรรถ) สำนวน “หูของพวกเขาปิดอยู่” แปลตรงตัวว่า “หูของพวกเขาไม่ได้เข้าสุหนัต” ดังนั้น ถ้าใครไม่ไวที่จะตอบรับคำแนะนำจากพระเจ้าก็เหมือนกับว่าคนนั้นมีหูและใจที่ไม่ได้เข้าสุหนัตหรือเขาเป็นคนใจแข็งและหูตึง
ทูตสวรรค์ถ่ายทอดมา: คำให้การของสเทเฟนต่อหน้าศาลแซนเฮดรินให้ข้อมูลหลายเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาวยิวที่ไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตัวอย่างหนึ่งก็คือ สเทเฟนบอกว่าพวกทูตสวรรค์เป็นผู้ถ่ายทอดกฎหมายของโมเสส (กท 3:19; ฮบ 2:1, 2) สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่สเทเฟนพูดถึงซึ่งไม่ได้อยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:22, 23, 30
โกรธ: หรือ “รู้สึกเจ็บใจ” สำนวนกรีกนี้มีอยู่แค่ในข้อนี้ และที่ กจ 5:33 สำนวนนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ถูกเลื่อยทะลุ” แต่ในข้อคัมภีร์ทั้ง 2 ข้อมีการใช้สำนวนนี้ในความหมายเป็นนัยเพื่อพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงมาก
เป็นฟืนเป็นไฟ: หรือ “ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” สำนวนนี้อาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวด สิ้นหวัง และโกรธแค้น ซึ่งอาจแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำที่รุนแรง ในท้องเรื่องนี้ มีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงความโกรธแค้นอย่างรุนแรง—โยบ 16:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:12.
พระเยซูยืนอยู่ข้างขวาของพระองค์: สเทเฟนเป็นคนแรกที่เป็นพยานยืนยันว่าเห็นพระเยซูยืนอยู่ข้างขวาของพระยะโฮวาบนสวรรค์เหมือนที่บอกไว้ใน สด 110:1 คนที่อยู่ข้างขวาเป็นคนที่มีตำแหน่งสำคัญมาก ดังนั้น การอยู่ข้างขวาของผู้ปกครองที่มีอำนาจจึงหมายถึงการมีความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากเขา (รม 8:34; 1ปต 3:22) หรือเป็นคนโปรดของเขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:33; มก 10:37; ลก 22:69
เซาโล: แปลว่า “ขอ [พระเจ้า]; ถาม [พระเจ้า]” เซาโลยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อโรมันคือเปาโล เขา “อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฮีบรูแท้ที่เกิดจากพ่อแม่ชาวฮีบรู” (ฟป 3:5) เนื่องจากเซาโลเป็นพลเมืองโรมันตั้งแต่เกิด (กจ 22:28) จึงมีเหตุผลที่พ่อแม่ที่เป็นชาวยิวของเขาจะตั้งชื่อโรมันให้เขาด้วย ชื่อโรมันของเขาคือเปาลุสหรือเปาโลที่มีความหมายว่า “เล็ก” เขาน่าจะมี 2 ชื่อนี้ตั้งแต่เด็ก อาจมีเหตุผลหลายอย่างที่พ่อแม่ตั้งชื่อเขาว่าเซาโล เซาโลเป็นชื่อที่มีความสำคัญในหมู่คนตระกูลเบนยามินเพราะกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอิสราเอลมีชื่อว่าซาอูล (เซาโล) และอยู่ในตระกูลเบนยามิน (1ซม 9:2; 10:1; กจ 13:21) หรือพ่อแม่อาจตั้งชื่อให้เขาเพราะชื่อนี้มีความหมายดี หรือเป็นไปได้ว่าพ่อของเขาก็มีชื่อว่าเซาโลซึ่งปกติแล้วเป็นธรรมเนียมที่จะตั้งชื่อลูกเหมือนชื่อพ่อ (เทียบกับ ลก 1:59) ไม่ว่าจะอย่างไร ตอนที่เขาอยู่กับชาวยิวโดยเฉพาะช่วงที่กำลังเรียนที่จะเป็นฟาริสี หรือตอนที่เป็นฟาริสีแล้วเขาก็น่าจะใช้ชื่อฮีบรูซึ่งก็คือเซาโล (กจ 22:3) และเป็นเวลามากกว่า 10 ปีหลังจากที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จักเขาในชื่อฮีบรูนี้—กจ 11:25, 30; 12:25; 13:1, 2, 9.
สเทเฟนอ้อนวอนว่า “พระเยซูผู้เป็นนาย”: เหมือนที่บอกไว้ในข้อ 55 และ 56 สเทเฟนได้เห็นนิมิตที่ “ท้องฟ้าเปิดออกและ ‘ลูกมนุษย์’ ยืนอยู่ข้างขวาของพระเจ้า” คำพูดนี้ของสเทเฟนจึงทำให้เห็นว่าพระยะโฮวากับพระเยซูไม่ใช่บุคคลเดียวกัน สเทเฟนรู้ว่าพระยะโฮวาให้อำนาจพระเยซูปลุกคนตาย จึงไม่แปลกที่เขาจะพูดกับพระเยซูโดยตรงตอนที่เห็นท่านในนิมิตและฝากชีวิตไว้กับท่าน (ยน 5:27-29) สเทเฟนเรียกพระเยซูว่า “พระเยซูผู้เป็นนาย [คำกรีก คูริอิเอซู]” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก คูริออส สามารถหมายถึงพระยะโฮวาพระเจ้าหรือพระเยซูคริสต์ก็ได้ แต่ในท้องเรื่องของข้อนี้ทำให้รู้ว่าคำว่า คูริออส หมายถึงพระเยซู ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีกที่แปลว่า “อ้อนวอน” ในข้อนี้ปกติแล้วไม่ได้ใช้เพื่อหมายถึง “การอธิษฐาน” แต่คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลคำนี้ว่า “อธิษฐาน” ซึ่งทำให้เข้าใจว่าสเทเฟนอธิษฐานถึงพระเยซูโดยตรง แต่แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจำนวนมากบอกว่าคำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (เอะพิคาเละโอ) มีความหมายว่า “พูดถึง, อ้อนวอน, เรียกหา, ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่” และปกติแล้วก็มักจะแปลคำนี้ในลักษณะนี้ (กจ 2:21; 9:14; รม 10:13; 2ทธ 2:22) มีการใช้คำนี้ในการแปลคำพูดของเปาโลที่บอกว่า “ผมขอร้องเรียน ต่อซีซาร์” (กจ 25:11) จึงไม่มีเหตุผลที่จะสรุปว่าสเทเฟนกำลังอธิษฐานถึงพระเยซูโดยตรง แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เนื่องจากเห็นพระเยซูในนิมิต เขาจึงอ้อนวอนท่าน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:60
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่มีอยู่ในตอนนี้ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คูริออส) ในข้อนี้ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ตำแหน่งนี้มักใช้กับพระยะโฮวาหรือพระเยซูโดยขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง แต่ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงพระยะโฮวาด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คำพูดของสเทเฟนคล้ายกับคำพูดของพระเยซูตอนที่ท่านอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพ่อของท่านใน ลก 23:34 ที่บอกว่า “พ่อครับ ยกโทษให้พวกเขาด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” และในบันทึกของลูกาที่อยู่ใน กจ 7:2-53 มีการพูดถึงคำพูดของสเทเฟนโดยใช้คำว่า คูริออส 3 ครั้งซึ่งทั้ง 3 ครั้งมาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่เห็นได้ชัดเจนว่าพูดถึงพระเจ้า (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:31, 33, 49) ผู้เชี่ยวชาญและผู้แปลหลายคนก็เห็นด้วยว่าคำว่า คูริออส ในท้องเรื่องเหล่านั้นหมายถึงพระยะโฮวา ถึงแม้คำ คูริออส ที่สเทเฟนใช้ใน กจ 7:59 จะหมายถึง “พระเยซูผู้เป็นนาย” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำว่า คูริออส ใน กจ 7:60 จะหมายถึงพระเยซูด้วย เพราะเห็นได้ชัดเจนว่าคำพูดของสเทเฟนในข้อ 59 และในข้อ 60 ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ตอนแรกสเทเฟนยืนแล้วหลังจากนั้นเขาก็คุกเข่าลงต่อหน้าศัตรูซึ่งดูเหมือนตอนนั้นเขากำลังจะเริ่มอธิษฐานถึงพระยะโฮวา (เทียบกับ ลก 22:41; กจ 9:40; 20:36; 21:5 ที่แสดงให้เห็นว่าการคุกเข่าเป็นท่าทางของการอธิษฐานถึงพระเจ้า) จึงดูเหมือนว่าคำพูดสุดท้ายของสเทเฟนก็คือการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้าผู้มีพลังอำนาจสูงสุด นอกจากนั้น ใน กจ 7:56 ก็บอกว่าสเทเฟนเห็น “ท้องฟ้าเปิดออกและ ‘ลูกมนุษย์’ ยืนอยู่ข้างขวาของพระเจ้า” จึงทำให้เข้าใจได้ว่าสเทเฟนน่าจะพูดกับพระเยซูในข้อ 59 และจากนั้นเขาก็อธิษฐานถึงพระยะโฮวาในข้อ 60 พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับใช้เททรากรัมมาทอนในข้อ 60 แต่ไม่ได้ใช้ในข้อ 59 ตอนที่แปลคำว่า “พระเยซูผู้เป็นนาย”
สิ้นใจตาย: แปลตรงตัวว่า “หลับไป” ในพระคัมภีร์มีการใช้คำว่า “หลับ” เพื่อหมายถึงทั้งการนอนหลับจริง ๆ (มธ 28:13; ลก 22:45; ยน 11:12; กจ 12:6) และหมายถึงการหลับไปในความตาย (ยน 11:11; กจ 7:60; 13:36; 1คร 7:39; 15:6, 51; 2ปต 3:4) ในท้องเรื่องที่คำกรีกนี้หมายถึงความตาย ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำว่า “หลับไปในความตาย” หรือ “ตาย” เพื่อช่วยให้ผู้อ่านไม่สับสน ในคัมภีร์ไบเบิลคำว่า “หลับไป” ในความหมายเป็นนัยมักจะใช้กับคนที่ตายเพราะบาปที่ตกทอดมาจากอาดัม—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 5:39; ยน 11:11