เขียนโดยมัทธิว 4:1-25
ข้อมูลสำหรับศึกษา
พลังของพระเจ้าพา . . . ไป: คำกรีก พะนือมา ในข้อนี้หมายถึงพลังของพระเจ้า พลังนี้สามารถกระตุ้นผู้คนให้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของพระเจ้า—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
มาร: มาจากคำกรีก เดียบอล็อส ซึ่งหมายถึง “ผู้หมิ่นประมาท, ผู้ใส่ร้าย” (ยน 6:70; 2ทธ 3:3) เกี่ยวข้องกับคำกริยา เดียบาล์โล ซึ่งหมายถึง “กล่าวหา, ฟ้องร้อง” ที่ ลก 16:1 แปลคำนี้ว่า “ฟ้อง”
พระคัมภีร์บอกไว้ว่า: พระเยซูพูดอย่างนี้ 3 ครั้งตอนที่ท่านยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมาตอบมารซาตานที่มาล่อใจท่าน—มธ 4:7, 10
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 8:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
เมืองบริสุทธิ์: หมายถึงกรุงเยรูซาเล็ม เมืองนี้มักถูกเรียกว่าเมืองบริสุทธิ์เพราะเป็นที่ตั้งวิหารของพระยะโฮวา—นหม 11:1; อสย 52:1
กำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร: หรือ “จุดที่สูงที่สุดของวิหาร” แปลตรงตัวว่า “ปีกของวิหาร” คำกรีกที่แปลว่า “วิหาร” อาจหมายถึงเฉพาะตัววิหาร หรือหมายถึงสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในเขตวิหารก็ได้ ดังนั้น ข้อความนี้อาจหมายถึงส่วนบนสุดของกำแพงที่ล้อมรอบวิหาร
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 6:16 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
ให้ท่านเห็น: ดูเหมือนว่าหัวหน้าปีศาจทำให้พระเยซูเห็นนิมิตที่เหมือนจริงมาก
ประเทศ: ในข้อนี้หมายถึงรัฐบาลต่าง ๆ ของมนุษย์
โลก: แปลจากคำกรีก คอสม็อส ซึ่งในข้อนี้หมายถึงสังคมมนุษย์ที่ไม่นมัสการพระเจ้า
ก้มกราบผมครั้งหนึ่ง: คำกริยากรีกที่แปลว่า “ก้มกราบ” ในที่นี้อยู่ในรูปกริยาอาโอริสต์ (Aorist) ซึ่งแสดงถึงการกระทำแค่ช่วงสั้น ๆ ดังนั้น การแปลว่า “ก้มกราบผมครั้งหนึ่ง” แสดงให้เห็นว่ามารซาตานไม่ได้ขอให้พระเยซูนมัสการมันไปเรื่อย ๆ แต่ให้ท่าน “ก้มกราบ” มันแค่ครั้งเดียว
ซาตาน: มาจากคำฮีบรู ซาตาน ซึ่งหมายความว่า “ผู้ต่อต้าน, ศัตรู”
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 6:13 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ)
คุณต้อง . . . รับใช้พระองค์ผู้เดียว: หรือ “คุณต้องทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้พระองค์ผู้เดียว” คำกริยากรีก ลาตรือโอ มีความหมายหลักว่า “รับใช้” แต่เนื่องจากพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการรับใช้หรือการนมัสการพระเจ้า จึงเหมาะที่จะแปลคำนี้ว่า “ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์, รับใช้, นมัสการ” (ลก 1:74; 2:37; 4:8; กจ 7:7; รม 1:9; ฟป 3:3; 2ทธ 1:3; ฮบ 9:14; 12:28; วว 7:15; 22:3) ในฉธบ 6:13 ที่พระเยซูยกมา คำฮีบรูที่แปลว่า “นมัสการ” คือ อาวาดห์ คำนี้ก็มีความหมายว่า “รับใช้” แต่ก็อาจแปลว่า “นมัสการ” ได้ด้วย (อพย 3:12; 2ซม 15:8, เชิงอรรถ) พระเยซูตั้งใจที่จะนมัสการพระยะโฮวาเพียงผู้เดียว
เมื่อพระเยซูได้ข่าว: เหตุการณ์ระหว่าง ข้อ 11และข้อ 12 ห่างกันประมาณ 1 ปี และบันทึกเหตุการณ์ที่ ยน 1:29 ถึง 4:3 ก็เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีนั้น ยอห์นให้รายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่าตอนที่พระเยซูเดินทางจากแคว้นยูเดียไปแคว้นกาลิลี ท่านเดินทางผ่านแคว้นสะมาเรียและเจอกับผู้หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำใกล้เมืองสิคาร์—ยน 4:4-43; ดูภาคผนวก ก7, ตาราง “งานรับใช้ช่วงแรกของพระเยซู” และแผนที่ 2
คาเปอร์นาอุม: มาจากชื่อฮีบรูที่หมายความว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” หรือ “หมู่บ้านแห่งการปลอบโยน” (นฮม 1:1, เชิงอรรถ) เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับงานรับใช้ของพระเยซูตอนอยู่บนโลก เมืองนี้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี และที่ มธ 9:1 เรียกเมืองนี้ว่า “เมืองที่ท่านอาศัย”
เขตแดนเศบูลุนกับนัฟทาลี: หมายถึงเขตแดนทางตะวันตกและทางเหนือของทะเลสาบกาลิลี เขตแดนนี้อยู่เหนือสุดของอิสราเอลและรวมแคว้นกาลิลีเกือบทั้งหมดด้วย (ยชว 19:10-16, 32-39) เขตแดนนัฟทาลีอยู่ติดกับชายฝั่งด้านตะวันตกทั้งหมดของทะเลสาบกาลิลี
เป็นไปตามที่พระเจ้าบอกไว้ผ่านผู้พยากรณ์อิสยาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:22
เส้นทางไปทะเล: อาจหมายถึงถนนโบราณที่เลียบทะเลสาบกาลิลีและเป็นเส้นทางที่ไปถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
แคว้นกาลิลีของคนต่างชาติ: อิสยาห์อาจเรียกแคว้นกาลิลีแบบนี้เพราะเป็นชายแดนที่กั้นระหว่างชาติอิสราเอลและชาติอื่น ๆ ที่ตั้งของแคว้นกาลิลีและถนนหนทางที่ผ่านไปมาทำให้ง่ายที่คนต่างชาติจะบุกรุกและเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในศตวรรษแรกมีคนต่างชาติจำนวนมากอาศัยอยู่ในแคว้นนี้ ทำให้ยิ่งเหมาะที่จะเรียกว่า “แคว้นกาลิลีของคนต่างชาติ”
แสงสว่างเจิดจ้า: พระเยซูทำให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์เกี่ยวกับเมสสิยาห์เกิดขึ้นจริง เพราะท่านทำงานประกาศสั่งสอนในแคว้นกาลิลีในเขตแดนเศบูลุนกับนัฟทาลีมากกว่าที่อื่น ๆ (มธ 4:13, 15) ดังนั้น พระเยซูทำให้ความสว่างจากพระเจ้าส่องไปถึงชาวยิวที่นั่นซึ่งถูกเพื่อนร่วมชาติในแคว้นยูเดียดูถูกดูหมิ่นและมองว่าอยู่ในความมืด—ยน 7:52
เงาของความตาย: ดูเหมือนคำนี้ให้ภาพว่าความตายแผ่เงาปกคลุมผู้คนขณะที่มันคืบใกล้เข้ามา แต่พระเยซูนำแสงสว่างเข้ามาเพื่อขับไล่เงามืดนั้นและช่วยผู้คนให้พ้นจากความตาย
ประกาศ: คือการป่าวประกาศอย่างเปิดเผย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
รัฐบาลสวรรค์มาใกล้แล้ว: ข่าวเรื่องรัฐบาลใหม่ที่จะปกครองโลกเป็นเรื่องหลักที่พระเยซูประกาศ (มธ 10:7; มก 1:15) ประมาณ 6 เดือนก่อนพระเยซูรับบัพติศมา ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็ประกาศเรื่องคล้ายกันนี้ (มธ 3:1, 2) แต่การประกาศของพระเยซูทำให้คำว่า “มาใกล้แล้ว” ชัดเจนขึ้น เพราะตอนนั้นพระเยซูซึ่งถูกเจิมเพื่อจะเป็นกษัตริย์ของรัฐบาลนี้ปรากฏตัวแล้ว ไม่มีบันทึกว่าหลังจากพระเยซูตายสาวกของท่านยังประกาศว่ารัฐบาลของพระเจ้า “มาใกล้แล้ว”
ทะเลสาบกาลิลี: ทะเลสาบน้ำจืดที่อยู่ทางเหนือของอิสราเอล (คำกรีกที่แปลว่า “ทะเล” อาจหมายถึง “ทะเลสาบ” ด้วย) บางครั้งก็เรียกทะเลสาบนี้ว่าทะเลคินเนเรท (กดว 34:11) ทะเลสาบเยนเนซาเรท (ลก 5:1) และทะเลสาบทิเบเรียส (ยน 6:1) ทะเลสาบนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 210 เมตร มีความยาวตั้งแต่เหนือจดใต้ 21 กม. และมีความกว้าง 12 กม. จุดที่ลึกที่สุดลึกประมาณ 48 เมตร—ดูภาคผนวก ก7, แผนที่ 3ข, “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลสาบกาลิลี”
ชาวประมง: ชาวประมงเป็นอาชีพที่คนในแคว้นกาลิลีทำกันทั่วไป เปโตรกับอันดรูว์ไม่ได้เป็นแค่คนจับปลา แต่ทำธุรกิจประมง ดูเหมือนว่าพวกเขาทำธุรกิจนี้กับยากอบและยอห์นลูกของเศเบดี—มก 1:16-21; ลก 5:7, 10
ทอดแห: ชาวประมงที่เก่งจะสามารถเหวี่ยงแหให้แผ่ออกเป็นวงกลมเหนือผิวน้ำได้ไม่ว่าเขาจะยืนอยู่ในน้ำหรืออยู่บนเรือเล็ก ๆ แหอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เมตร และมีตุ้มถ่วงน้ำหนักอยู่รอบ ๆ เพื่อให้แหจมและจับปลาได้
ซีโมน เขามีอีกชื่อหนึ่งว่าเปโตร: ซีโมนเป็นชื่อจริง ส่วนเปโตร (เพะตร็อส) เป็นชื่อภาษากรีกที่แปลมาจากชื่อเคฟาส ในภาษาเซมิติก เคฟาสเป็นชื่อที่พระเยซูตั้งให้เขา—มก 3:16; ยน 1:42; ดูข้อมูลสำหรับศึกษา มธ 10:2
หาคนแทนที่จะหาปลา: เป็นการเล่นคำเพราะซีโมนและอันดรูว์เป็นชาวประมง คำพูดนี้หมายความว่าพวกเขาจะรวบรวมคนเข้ามาในรัฐบาลของพระเจ้าเหมือนที่ชาวประมงเหวี่ยงแหจับปลา นอกจากนั้น ยังอาจหมายความว่าการสอนคนให้เป็นสาวกเป็นเหมือนการหาปลาเพราะเป็นงานหนักที่ต้องทำอย่างอดทนและใช้กำลังมาก และบางครั้งก็ไม่ค่อยได้ผล
ตามท่านไป: เปโตรกับอันดรูว์เป็นสาวกของพระเยซูมาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีแล้ว (ยน 1:35-42) ตอนนี้พระเยซูเชิญพวกเขาให้ทิ้งธุรกิจประมงและมุ่งใช้ชีวิตติดตามท่าน—ลก 5:1-11; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:22
ยากอบกับยอห์น: พระคัมภีร์มักพูดถึงยากอบพร้อมกับยอห์นซึ่งเป็นพี่น้องกัน และส่วนใหญ่จะพูดชื่อยากอบก่อน จึงอาจเป็นไปได้ว่ายากอบเป็นพี่ของยอห์น—มธ 4:21; 10:2; 17:1; มก 1:29; 3:17; 5:37; 9:2; 10:35, 41; 13:3; 14:33; ลก 5:10; 6:14; 8:51; 9:28, 54; กจ 1:13
เศเบดี: ดูเหมือนเป็นน้าเขยของพระเยซู เพราะเขาแต่งงานกับสะโลเมน้องสาวของมารีย์แม่พระเยซู ถ้าเป็นอย่างนั้น ยากอบกับยอห์นก็เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 15:40
ทิ้ง . . . ทันที: คำกรีก อือเธะโอส ที่แปลว่า “ทันที” มีอยู่ทั้งในข้อนี้และในข้อ 20 เมื่อพระเยซูเชิญยากอบกับยอห์นให้มุ่งใช้ชีวิตติดตามท่าน พวกเขาก็ตอบรับคำเชิญทันทีเหมือนกับเปโตรและอันดรูว์
เดินทางไปทั่วแคว้นกาลิลี: นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางประกาศรอบแรกของพระเยซูในแคว้นกาลิลี ท่านเดินทางไปพร้อมกับสาวก 4 คนที่เพิ่งถูกเลือก คือ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์น—มธ 4:18-22; ดูภาคผนวก ก7
สอน . . . ประกาศ: การสอนต่างจากการประกาศ เพราะคนที่สอนจะไม่ใช่แค่ประกาศให้คนอื่นฟัง แต่เขาจะแนะนำ อธิบาย หาเหตุผลโน้มน้าว และให้ข้อพิสูจน์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1; 28:20
ที่ประชุมของชาวยิว: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ที่ประชุมของชาวยิว”
ข่าวดี: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก อืออางเกะลิออน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีก อืออางเกะลิสเทส ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี”—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
ซีเรีย: แคว้นหนึ่งของโรม เป็นเขตแดนของคนต่างชาติซึ่งอยู่ทางเหนือของแคว้นกาลิลี ระหว่างกรุงดามัสกัสและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
โรคลมชัก: คำกรีกนี้แปลตรงตัวว่า “ได้รับผลกระทบจากดวงจันทร์” (คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับใช้คำว่า “บ้า”) แต่มัทธิวใช้คำนี้เพื่อหมายถึงอาการเจ็บป่วยทางการแพทย์ ไม่ใช่ความเชื่อแบบโชคลางที่ว่าอาการเจ็บป่วยนี้เกี่ยวข้องกับข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ เห็นได้ชัดว่าอาการของผู้ป่วยที่มัทธิว มาระโก และลูกาบอกไว้เป็นอาการของคนที่เป็นโรคลมชัก
เดคาโปลิส: ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข10
ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน: ในท้องเรื่องนี้น่าจะหมายถึงเขตแดนทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เขตแดนนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าพีเรีย (มาจากคำกรีก เพะราน แปลว่า “อีกฝั่งหนึ่ง, เลยไป”)
วีดีโอและรูปภาพ
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ที่กันดาร” (คำฮีบรู มิดห์บาร์ และคำกรีก เอะเรมอส) โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่แห้งแล้งแทบไม่มีใครอยู่อาศัยหรือเพาะปลูก มีแต่พุ่มไม้ ต้นหญ้า และทุ่งหญ้าประปราย นอกจากนั้นคำภาษาเดิมยังอาจหมายถึงเขตที่ไม่มีน้ำจนเรียกได้ว่าเป็นทะเลทราย ในหนังสือข่าวดี เมื่อพูดถึงที่กันดารก็มักหมายถึงที่กันดารยูเดียซึ่งยอห์นอาศัยอยู่และทำงานประกาศ และยังเป็นที่ที่พระเยซูถูกมารล่อใจด้วย—มก 1:12
ในเขตที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัยนี้ ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ของเขา และพระเยซูก็ถูกมารล่อใจที่นี่ด้วย
ซาตานอาจให้พระเยซูยืนอยู่บน “กำแพงด้านที่สูงที่สุดของวิหาร” จริง ๆ และบอกให้ท่านกระโดดลงมา แต่เราไม่รู้ว่าพระเยซูยืนอยู่ที่ส่วนไหนของกำแพง เนื่องจากคำว่า “วิหาร” ที่ใช้ในข้อนี้อาจหมายถึงสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในเขตวิหาร พระเยซูอาจยืนที่มุมของวิหารทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (หมายเลข 1) หรือท่านอาจยืนอยู่อีกมุมหนึ่งของวิหารก็ได้ ไม่ว่าพระเยซูจะตกจากที่ไหน ท่านคงต้องเสียชีวิตแน่ ๆ ถ้าพระยะโฮวาไม่ช่วยไว้
1. ที่ราบเยนเนซาเรท เป็นพื้นที่สามเหลี่ยมที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดประมาณ 5 x 2.5 กม. ชายฝั่งบริเวณนี้เป็นที่ที่พระเยซูชวนชาวประมง 4 คน คือ เปโตร อันดรูว์ ยากอบ และยอห์นให้มารับใช้ด้วยกันกับท่าน—มธ 4:18-22
2. บริเวณที่เชื่อกันว่าพระเยซูบรรยายบนภูเขา—มธ 5:1; ลก 6:17, 20
3. คาเปอร์นาอุม พระเยซูพักอยู่ในเมืองนี้ และท่านเจอมัทธิวในเมืองนี้หรือใกล้กับเมืองนี้—มธ 4:13; 9:1, 9
ชาวประมงในทะเลสาบกาลิลีใช้แห 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นแหตาเล็กใช้เพื่อจับปลาขนาดเล็ก อีกชนิดหนึ่งเป็นแหตาใหญ่ใช้เพื่อจับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า ต่างจากอวนที่ต้องใช้เรืออย่างน้อย 1 ลำและใช้หลายคนช่วย ชาวประมงคนเดียวก็เหวี่ยงแหได้โดยยืนอยู่บนเรือหรือยืนริมชายฝั่ง แหอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 5 เมตร และมีตุ้มถ่วงน้ำหนักที่เป็นหินหรือตะกั่วอยู่รอบ ๆ ถ้าเหวี่ยงอย่างถูกต้อง แหจะแผ่เป็นวงกลมเหนือผิวน้ำ ส่วนขอบที่หนักจะจมก่อน และปลาจะติดอยู่ข้างในตอนที่แหจมลงใต้น้ำ ชาวประมงอาจดำน้ำลงไปเอาปลาออกจากแห หรือเขาอาจค่อย ๆ ดึงแหขึ้นไปบนฝั่ง การใช้แหอย่างชำนาญต้องใช้ทักษะและความพยายามอย่างมาก
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงบ่อย ๆ เกี่ยวกับปลา การจับปลา และชาวประมงในทะเลสาบกาลิลี มีปลาประมาณ 18 ชนิดในทะเลสาบนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ชนิดที่ชาวประมงจับกัน และใน 10 ชนิดนี้สามารถแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามการซื้อขาย กลุ่มแรกคือปลาบินนี (binny) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันด้วยว่าปลาบาร์เบล (barbel, Barbus longiceps) (หมายเลข 1) ปลา 3 ชนิดในกลุ่มนี้มีหนวดที่มุมปากทั้งสองข้าง จึงมีชื่อในภาษาเซมิติกว่า บีนี ซึ่งหมายถึง “ขน” ปลากลุ่มนี้กินสัตว์จำพวกหอย หอยทาก และปลาเล็ก ๆ ปลาบาร์เบลหัวยาวมีความยาวประมาณ 75 ซม. และหนักมากกว่า 7 กก. กลุ่มที่ 2 คือปลามุชต์ (musht, Tilapia galilea) (หมายเลข 2) ซึ่งหมายถึง “หวี” ในภาษาอาหรับ เพราะปลา 5 ชนิดในกลุ่มนี้มีครีบหลังลักษณะคล้ายหวี ปลามุชต์ชนิดหนึ่งมีความยาวประมาณ 45 ซม. และหนักประมาณ 2 กก. กลุ่มที่ 3 คือปลาซาร์ดีนคินเนเรต (Kinneret sardine, Acanthobrama terrae sanctae) (หมายเลข 3) ซึ่งดูคล้ายกับปลาเฮอร์ริงตัวเล็ก ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณมีการเก็บรักษาปลาซาร์ดีนชนิดนี้ไว้ด้วยการหมักดอง
ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในปี 1985-1986 ทำให้น้ำในทะเลสาบกาลิลีลดลงจนเห็นซากเรือที่จมอยู่ในโคลน ซากเรือนี้ยาว 8.2 เมตร กว้าง 2.3 เมตร และท้องเรือส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึก 1.3 เมตร นักโบราณคดีบอกว่าเรือนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 100 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 100 วีดีโอนี้แสดงให้เห็นแบบจำลองเรือลำนี้ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในอิสราเอล เรือน่าจะมีลักษณะแบบนี้ตอนที่มันอยู่ในทะเลสาบกาลิลีเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว
ภาพจำลองนี้มีต้นแบบมาจากซากเรือหาปลาในศตวรรษแรกที่พบในโคลนใกล้ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี และอาศัยข้อมูลจากภาพโมเสกที่พบในบ้านหลังหนึ่งสมัยศตวรรษแรกในเมืองมิกดัลที่อยู่ติดทะเล เรือแบบนี้อาจมีเสากระโดงหนึ่งต้นและใบเรือ อาจมีชาวประมงอยู่ในเรือ 5 คน มี 4 คนทำหน้าที่พายเรือ และอีก 1 คนคอยคัดท้ายเรือโดยยืนอยู่บนแผ่นไม้เล็ก ๆ ท้ายเรือ เรือนี้ยาวประมาณ 8 เมตร กลางเรือกว้างประมาณ 2.5 เมตรและลึก 1.25 เมตร ดูเหมือนว่าเรือแบบนี้สามารถจุคนได้ 13 คนหรือมากกว่านั้น
อวนหรือแหมีราคาแพงและดูแลรักษายาก ชาวประมงต้องใช้เวลามากเพื่อจะซ่อม ล้าง และตากอวน นี่เป็นงานที่เขาต้องทำทุกครั้งหลังกลับจากการหาปลา (ลก 5:2) มัทธิวใช้คำกรีก 3 คำเมื่อพูดถึงอวนหรือแห คือ ดิคทูออน ซึ่งเป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงอวนและแหหลายชนิด (มธ 4:21) ซาเกเน หมายถึงอวนลากขนาดใหญ่ที่หย่อนลงจากเรือ (มธ 13:47, 48) และ อามฟิเปลสะตรอน ที่มีความหมายว่า “สิ่งที่ถูกโยน” เป็นอวนขนาดเล็กหรือแห ชาวประมงจะยืนอยู่ในน้ำตื้น ๆ หรืออยู่บนฝั่งตอนที่เหวี่ยงแหแบบนี้—มธ 4:18
นี่เป็นแบบจำลองซึ่งทำขึ้นโดยอาศัยต้นแบบจากที่ประชุมของชาวยิวสมัยศตวรรษแรกที่พบในเมืองกัมลา ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ทำให้เราเห็นภาพว่าที่ประชุมของชาวยิวในสมัยโบราณน่าจะมีลักษณะอย่างไร