เขียนโดยยอห์น 3:1-36
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
นิโคเดมัส: ฟาริสีและผู้นำชาวยิวซึ่งเป็นสมาชิกของศาลแซนเฮดริน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”) ชื่อนิโคเดมัสมีความหมายว่า “ผู้พิชิตชาติต่าง ๆ” ชื่อนี้เป็นชื่อที่นิยมในหมู่ชาวกรีก และชาวยิวบางคนก็เอาชื่อนี้มาใช้ด้วย มีการพูดถึงนิโคเดมัสเฉพาะในหนังสือข่าวดีของยอห์น (ยน 3:4, 9; 7:50; 19:39) และที่ ยน 3:10 พระเยซูเรียกเขาว่า “อาจารย์สอนคนอิสราเอล”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 19:39
เกิดใหม่: พระเยซูบอกนิโคเดมัสว่าเพื่อจะเห็นรัฐบาลของพระเจ้า คนเราต้องเกิดเป็นครั้งที่สอง คำพูดของนิโคเดมัสในข้อ 4 แสดงให้เห็นว่า เขาคิดว่าพระเยซูหมายถึงการเกิดจากท้องแม่จริง ๆ เป็นครั้งที่สอง แต่พระเยซูบอกว่าการเกิดครั้งที่สองนี้เป็นการ “เกิดโดย . . . รับพลังของพระเจ้า” (ยน 3:5) คนที่จะเป็น “ลูกของพระเจ้า” ต้อง “ไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์ หรือจากความต้องการของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:12, 13) และที่ 1ปต 1:3, 23 เปโตรก็ใช้คำว่า “เกิดใหม่” เหมือนกัน โดยบอกว่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมต้อง “เกิดใหม่” แม้คัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่ใช้คำว่า “เกิดใหม่” แต่ก็มีบางฉบับแปลที่ใช้คำว่า “เกิดจากเบื้องบน” ซึ่งเป็นการแปลที่ถูกต้องเหมือนกันเพราะคำกรีก อาโนเธ็น ก็แปลว่า “จากเบื้องบน” ได้ด้วย (ยน 3:31; 19:11; ยก 1:17; 3:15, 17) การแปลทั้ง 2 อย่างนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า คนที่จะเข้ารัฐบาลของพระเจ้าได้จะต้องเกิดใหม่หรือเกิด “จากพระเจ้า” ซึ่งก็คือจากเบื้องบน (1ยน 3:9) แต่คำพูดของนิโคเดมัสในข้อถัดไปทำให้เห็นว่าการแปลคำกรีกนี้แบบฉบับแปลโลกใหม่ เข้ากับท้องเรื่องมากกว่า
รัฐบาลของพระเจ้า: มีการใช้คำนี้แค่ 2 ครั้งในหนังสือข่าวดีของยอห์น—ยน 3:5; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2; มก 1:15
เกิดโดยรับบัพติศมาในน้ำและโดยรับพลังของพระเจ้า: นิโคเดมัสน่าจะคุ้นเคยกับการบัพติศมาที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำอยู่แล้ว (มก 1:4-8; ลก 3:16; ยน 1:31-34) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูพูดถึงน้ำ จึงมีเหตุผลที่จะเข้าใจว่านิโคเดมัสคิดถึงน้ำที่ใช้สำหรับการบัพติศมา นอกจากนั้น นิโคเดมัสน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า “พลังของพระเจ้า” ที่ใช้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ปฐก 41:38; อพย 31:3; กดว 11:17; วนฉ 3:10; 1ซม 10:6; อสย 63:11) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูใช้คำว่า “พลังของพระเจ้า” นิโคเดมัสก็น่าจะรู้ว่าท่านกำลังพูดถึงพลังบริสุทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่พระเยซูรับบัพติศมาทำให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะตอนที่ท่านรับบัพติศมาในน้ำ มีพลังบริสุทธิ์ลงมาบนท่าน พระเยซูจึง “เกิดโดยรับบัพติศมาในน้ำและโดยรับพลังของพระเจ้า” (มธ 3:16, 17; ลก 3:21, 22) ตอนที่พระยะโฮวาประกาศว่าพระเยซูเป็นลูก เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทำให้พระเยซูเกิดโดยทางพลังบริสุทธิ์และมีความหวังจะกลับไปสวรรค์ สาวกของพระเยซูที่ “เกิดโดยรับบัพติศมาในน้ำ” คือคนที่ทิ้งแนวทางชีวิตเก่า กลับใจจากบาป และรับบัพติศมาในน้ำ แต่คนที่เกิด “โดยรับบัพติศมาในน้ำและโดยรับพลังของพระเจ้า” คือคนที่พระเจ้ารับเป็นลูก พวกเขามีความหวังที่จะมีชีวิตในสวรรค์และปกครองในรัฐบาลของพระเจ้า—ลก 22:30; รม 8:14-17, 23; ทต 3:5; ฮบ 6:4, 5
พลังของพระเจ้า: คำกรีก พะนือมา ที่แปลในข้อนี้ว่าพลังของพระเจ้า หมายถึงพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ—ดูส่วนอธิบายศัพท์
คนที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นมนุษย์ก็เป็นลูกของมนุษย์: คำกรีกที่แปลว่า “มนุษย์” (ซารค์ส์) ในข้อนี้หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่มีเนื้อหนังซึ่งมีขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 17:2
ลูกของพระเจ้า: หมายถึงลูกของพระเจ้าที่ได้รับการเจิมด้วยพลังของพระองค์
ลม . . . พลังของพระเจ้า: ในข้อนี้มีคำกรีก พะนือมา ที่ปกติแล้วแปลว่า “พลังของพระเจ้า” อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกแปลว่า “ลม” และเป็นที่เดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลแบบนี้ ขณะที่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูแปลคำว่า รูอาค ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำนี้ว่า “ลม” ประมาณ 100 ครั้ง (ปฐก 8:1; อพย 10:13; 1พก 18:45; โยบ 21:18; ศคย 2:6; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”) โดยปกติแล้วทั้ง 2 คำนี้หมายถึงสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น แต่มักจะแสดงพลังออกมาโดยการเคลื่อนไหว พระเยซูใช้คำนี้เพื่อสอนความจริงที่ลึกซึ้ง ในตอนท้ายของข้อนี้มีการใช้คำว่า พะนือมา ในประโยคที่บอกว่าทุกคนที่เกิดจากพลังของพระเจ้า ซึ่งก็คือคนที่เกิดจากพลังบริสุทธิ์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยอห์น 3:5) ท่านบอกนิโคเดมัสว่าการ “เกิดจากพลังของพระเจ้า” เทียบได้กับการพัดของลม นิโคเดมัสสามารถได้ยิน รู้สึก และเห็นผลที่เกิดขึ้นเมื่อลมพัด แต่เขาไม่รู้ว่าลมมาจากไหนหรือจะพัดไปถึงไหน คล้ายกัน คนที่ไม่มีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ก็จะไม่เข้าใจว่าพระยะโฮวาทำให้ผู้คนเกิดใหม่โดยทางพลังบริสุทธิ์อย่างไร และมีอนาคตที่ยอดเยี่ยมอะไรรออยู่สำหรับพวกเขา
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
‘ลูกมนุษย์’ ก็จะถูกยกขึ้นแขวนไว้เหมือนกัน: ในข้อนี้พระเยซูเปรียบการที่ตัวท่านเองถูกประหารชีวิตโดยแขวนบนเสากับงูทองแดงที่ถูกแขวนไว้บนเสาในที่กันดาร ชาวอิสราเอลที่ถูกงูพิษกัดและอยากรอดตายต้องมองไปที่งูทองแดงที่โมเสสทำขึ้น คล้ายกัน มนุษย์ที่ผิดบาปซึ่งอยากจะมีชีวิตตลอดไปก็ต้องจ้องมองที่พระเยซูโดยแสดงความเชื่อในตัวท่าน (กดว 21:4-9; ฮบ 12:2) ชาวยิวหลายคนรู้สึกว่าการที่พระเยซูถูกประหารโดยแขวนไว้บนเสาทำให้ท่านดูเป็นคนชั่วและคนบาป เพราะตามกฎหมายของโมเสส คนที่ถูกแขวนบนเสาคือคนที่พระเจ้าสาปแช่ง (ฉธบ 21:22, 23) เปาโลยกกฎหมายของโมเสสข้อนี้ขึ้นมา และอธิบายว่าพระเยซูต้องถูกแขวนไว้บนเสาเพื่อปลดปล่อยชาวยิวให้ “พ้นคำสาปแช่งในกฎหมายของโมเสสโดยที่ท่านยอมถูกสาปแช่งแทน [พวกเขา]”—กท 3:13; 1ปต 2:24
รัก: นี่เป็นครั้งแรกในหนังสือข่าวดีของยอห์นที่มีการใช้คำกริยากรีก อากาพาโอ (“รัก”) เขาใช้คำกริยานี้และคำนาม อากาเพ (ความรัก) ถึง 44 ครั้ง ซึ่งมากกว่าหนังสือข่าวดีอีก 3 เล่มรวมกัน ในคัมภีร์ไบเบิลคำว่า อากาพาโอ และ อากาเพ มักหมายถึงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวซึ่งอาศัยหลักการ ในข้อนี้ก็ใช้คำว่าความรักในความหมายนี้ด้วย เพราะข้อนี้บอกว่าพระเจ้ารักโลกซึ่งหมายถึงมนุษย์ทุกคนในโลกที่ต้องได้รับการช่วยให้รอดจากบาป (ยน 1:29) ที่ 1ยน 4:8 ตอนที่ยอห์นบอกว่า “พระเจ้าเป็นความรัก” เขาใช้คำนี้ในรูปคำนาม ที่จริง ความรัก (อากาเพ) เป็นคุณลักษณะอย่างแรกของ “ผลที่เกิดจากพลังของพระเจ้า” (กท 5:22) และใน 1คร 13:4-7 ก็พูดถึงความรักไว้อย่างละเอียด การใช้คำนี้ในพระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วความรักไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อคนที่น่ารักหรือทำดีกับเรา แต่ในหลายท้องเรื่องมีการใช้คำนี้ในความหมายที่กว้างกว่า คือเป็นความรักที่เกิดจากความคิดและความตั้งใจของเราเอง (มธ 5:44; อฟ 5:25) ดังนั้น คริสเตียนจึงควรแสดงความรักเพราะสำนึกว่าเป็นหน้าที่ เป็นเรื่องที่เหมาะสม และเป็นการทำตามหลักการ แต่ความรักแบบนี้ก็เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่อบอุ่นจากหัวใจด้วย (1ปต 1:22) เรื่องนี้เห็นได้จากการใช้คำนี้ในหนังสือข่าวดีของยอห์น ใน ยน 3:35 ตอนที่เขาเขียนว่า “พระเจ้าผู้เป็นพ่อรักลูกของพระองค์” เขาใช้คำว่า อากาพาโอ แต่เมื่อเขาบันทึกคำพูดของพระเยซูเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน เขาใช้คำกริยากรีกอีกคำหนึ่งคือ ฟิเละโอ (“รักอย่างอบอุ่น”)—ยน 5:20
โลก: คำกรีก คอสม็อส ที่ใช้ในวรรณกรรมกรีกทั่วไปรวมทั้งในคัมภีร์ไบเบิลมักเกี่ยวข้องกับมนุษย์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:10) ในท้องเรื่องนี้ คำว่า คอสม็อส หมายถึงมนุษย์ทุกคนในโลกที่สามารถได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ ใน ยน 1:29 บอกว่าลูกของพระเจ้าจะรับ “บาปของโลก” ไป ซึ่งก็คือบาปที่มนุษย์ทุกคนได้รับจากอาดัม
ลูกคนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่มักจะแปลว่า “ที่ได้รับกำเนิดเพียงคนเดียว” มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน มีการใช้คำนี้กับพระเยซูเท่านั้น (ยน 1:14; 3:18; 1ยน 4:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14) แม้ทูตสวรรค์อื่น ๆ ถูกเรียกว่าลูกของพระเจ้าด้วย แต่พระเยซูเท่านั้นที่ถูกเรียกว่า “ลูกคนเดียว” (ปฐก 6:2, 4; โยบ 1:6; 2:1; 38:4-7) เพราะท่านเป็นลูกคนแรกของพระยะโฮวาและเป็นผู้เดียวที่พระเจ้าสร้างเองโดยตรง ท่านจึงไม่เหมือนลูกคนอื่น ๆ ของพระเจ้า พระยะโฮวาสร้างพวกทูตสวรรค์โดยทาง พระเยซูลูกคนแรกของพระองค์ เปาโลก็ใช้คำกรีก มอนอเกะเนส ในความหมายคล้ายกันตอนที่บอกว่าอิสอัคเป็น “ลูกชายคนเดียว” ของอับราฮัม (ฮบ 11:17) ถึงแม้อับราฮัมจะมีลูกกับฮาการ์ที่ชื่ออิชมาเอล และยังมีลูกอีกหลายคนกับเคทูราห์ด้วย (ปฐก 16:15; 25:1, 2; 1พศ 1:28, 32) แต่อิสอัคเป็น “ลูกชายคนเดียว” ในความหมายพิเศษ นั่นคือเป็นลูกชายคนเดียวที่พระเจ้าสัญญากับอับราฮัม และเป็นลูกชายคนเดียวที่เกิดจากซาราห์—ปฐก 17:16-19
แสดงความเชื่อในท่าน: แปลตรงตัวว่า “เชื่อในท่าน” คำกริยากรีก พิสทือโอ (คำนามที่เกี่ยวข้องกันคือ พิสทิส มักแปลว่า “ความเชื่อ”) มีความหมายหลักว่า “เชื่อ” แต่ก็อาจมีความหมายได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่องและโครงสร้างทางไวยากรณ์ ส่วนใหญ่แล้วคำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเชื่อหรือการยอมรับว่าใครคนหนึ่งมีอยู่จริง (ยก 2:19) แต่ยังหมายถึงการเชื่อและไว้ใจซึ่งทำให้เกิดการเชื่อฟัง ที่ ยน 3:16 มีการใช้คำกริยากรีก พิสทือโอ คู่กับคำบุพบท เอ่ส ที่แปลว่า “ใน” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งอธิบายว่าการใช้ 2 คำนี้ด้วยกันทำให้เข้าใจว่า “ความเชื่อเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทำ” (An Introductory Grammar of New Testament Greek, Paul L. Kaufman, 1982, p. 46) เห็นได้ชัดว่าในข้อนี้พระเยซูไม่ได้พูดถึงการแสดงความเชื่อแค่ครั้งเดียว แต่พูดถึงการแสดงความเชื่อตลอดชีวิต และที่ ยน 3:36 ก็เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง “คนที่แสดงความเชื่อในลูกของพระเจ้า” กับ “คนที่ไม่เชื่อฟัง ลูกของพระองค์” ดังนั้น คำว่า “แสดงความเชื่อ” ในข้อนั้นจึงเกี่ยวข้องกับการแสดงความเชื่อที่เข้มแข็งออกมาด้วยการเชื่อฟัง
ตัดสินลงโทษ: หรือ “พิพากษา” พระยะโฮวาไม่ได้ส่งลูกของพระองค์มาพิพากษาหรือตัดสินลงโทษมนุษย์บนโลก แต่เพราะพระองค์รักมนุษย์ พระองค์จึงส่งพระเยซูลงมาช่วยผู้คนที่แสดงความเชื่อให้รอด—ยน 3:16; 2ปต 3:9
ถูกตัดสินลงโทษ: หรือ “ถูกพิพากษา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:17
ความสว่าง: คำว่า “ความสว่าง” ครั้งแรกที่อยู่ในข้อนี้ทำให้รู้ว่าพระเยซูใช้คำนี้เพื่อหมายถึงชีวิตและคำสอนของท่าน และทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นผู้ที่สะท้อนความเข้าใจและความรู้ที่ท่านได้รับจากพระยะโฮวาพระเจ้า ที่ ยน 1:7-9 ก็ยังพูดถึงพระเยซูว่าเป็น “ความสว่าง” ด้วย—สำหรับคำว่าเข้ามาในโลก ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:9
ท่านให้บัพติศมา: ดูเหมือนว่าคำพูดนี้หมายถึงพระเยซูเป็นคนดูแลการรับบัพติศมา เพราะที่ ยน 4:2 บอกว่า “พระเยซูไม่ได้ให้บัพติศมาเอง แต่สาวกของท่านเป็นคนให้”
รับบัพติศมา: หรือ “จุ่มพวกคุณ” คำกรีก บาพทิโศ มีความหมายว่า “จุ่ม, จุ่มทั้งตัว” คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าการบัพติศมาคือการจุ่มตัวมิดในน้ำ บันทึกนี้บอกให้รู้ว่ายอห์นให้บัพติศมาในบริเวณนี้ “เพราะที่นั่นมีน้ำมาก” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าอายโนนในข้อนี้) ตอนที่ฟีลิปให้บัพติศมาข้าราชการชาวเอธิโอเปีย พวกเขาทั้งสองคนก็ “ลงไปในน้ำ” (กจ 8:38) ฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ 2พก 5:14 เมื่อพูดถึงนาอามานตอนที่เขา “จุ่มตัวในแม่น้ำจอร์แดน 7 ครั้ง”
อายโนน: เป็นที่ที่มีน้ำมากอยู่ใกล้กับสาลิมที่น่าจะมีคนรู้จักมากกว่า ไม่มีใครรู้ว่าสถานที่ 2 แห่งนี้อยู่ที่ไหนจริง ๆ แต่ยูเซบิอุสบอกว่าน่าจะอยู่ที่หุบเขาจอร์แดนห่างจากเมืองซีโทโปลิส (เบธเชอาน) ไปทางใต้ประมาณ 8 ไมล์โรมัน (12 กม.) ในบริเวณนี้มีที่แห่งหนึ่งเรียกว่า เทลริดคาห์ (เทลชาเลม) ซึ่งอาจเป็นที่เดียวกับสาลิม ใกล้ ๆ นั้นมีน้ำพุหลายแห่งที่อาจตรงกับคำอธิบายของยูเซบิอุสเกี่ยวกับอายโนน ข้อนี้เป็นที่เดียวในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงอายโนนกับสาลิม
แม่น้ำจอร์แดนฝั่งโน้น: หรือ “อีกฝั่งหนึ่ง [ฝั่งตะวันออก] ของแม่น้ำจอร์แดน” อายโนนกับสาลิมซึ่งพูดถึงใน ยน 3:23 อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ส่วนยอห์นให้บัพติศมาพระเยซูที่ “เบธานีซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน” นั่นคือฝั่งตะวันออก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:28 และภาคผนวก ข10
เพื่อนเจ้าบ่าว: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเขาในการเจรจาสู่ขอ เอาสินสอดไปให้ฝ่ายเจ้าสาว และจัดงานแต่งงาน เขาเป็นคนที่ช่วยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้แต่งงานกัน ในวันแต่งงานขบวนเจ้าสาวจะมาที่บ้านเจ้าบ่าวหรือบ้านพ่อเจ้าบ่าวซึ่งเป็นที่จัดงาน ระหว่างที่มีงานเลี้ยง เพื่อนเจ้าบ่าวจะดีใจมากเมื่อได้ยินเสียงเจ้าบ่าวพูดกับเจ้าสาว เพราะเขารู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ของตัวเองสำเร็จแล้ว ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเปรียบตัวเองเป็นเหมือน “เพื่อนเจ้าบ่าว” พระเยซูคือเจ้าบ่าวและสาวกทั้งหมดเป็นเหมือนเจ้าสาว เนื่องจากยอห์นผู้ให้บัพติศมากำลังเตรียมทางให้เมสสิยาห์ เขาจึงเป็นคนแนะนำสาวกกลุ่มแรกที่จะเป็น “เจ้าสาว” ให้รู้จักกับพระเยซูคริสต์ (ยน 1:29, 35; 2คร 11:2; อฟ 5:22-27; วว 21:2, 9) เมื่อ “เพื่อนเจ้าบ่าว” ทำหน้าที่สำเร็จแล้วเขาก็ไม่มีบทบาทสำคัญอีกต่อไป เหมือนที่ยอห์นเปรียบเทียบบทบาทของเขากับพระเยซูว่า “ท่านผู้นั้นจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนตัวผมจะมีน้อยลง”—ยน 3:30
คนที่มาจากเบื้องบน: ข้อความใน ยน 3:31-36 ดูเหมือนเป็นคำพูดของอัครสาวกยอห์นผู้เขียนหนังสือข่าวดีเล่มนี้ ไม่ใช่คำพูดของยอห์นผู้ให้บัพติศมาและไม่ใช่คำพูดของพระเยซู จากท้องเรื่องทำให้เห็นว่าคำพูดของพระเยซูที่พูดกับนิโคเดมัสจบลงที่ ยน 3:21 หลังจากนั้นอัครสาวกยอห์นก็เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึง ยน 3:25 ส่วนที่ ยน 3:26-30 เป็นบทสนทนาที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดกับสาวกของเขา ถึงแม้ ยน 3:31-36 ไม่ได้เป็นคำพูดของพระเยซู แต่ก็มั่นใจได้ว่านั่นเป็นสิ่งที่พระเยซูสอนอัครสาวกยอห์น
ยืนยัน: แปลตรงตัวว่า “ประทับตรา” คำกรีกที่แปลว่า “ประทับตรา” ในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงการประทับตราจริง ๆ แต่หมายถึงการยืนยันว่าคำพูดหนึ่งถูกต้องหรือเป็นความจริงเหมือนกับการประทับตรารับรองเอกสาร คนที่เชื่อคำพูดของเมสสิยาห์ก็ยืนยันว่าพระเจ้าพูดความจริงเสมอ ซึ่งในท้องเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับคำพยากรณ์เรื่องเมสสิยาห์—เทียบกับ รม 3:4
แสดงความเชื่อ . . . ไม่เชื่อฟัง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:16
วีดีโอและรูปภาพ
ในสมัยก่อน มีการใช้ตราประทับเพื่อจุดประสงค์หลายอย่าง เช่น เพื่อยืนยันว่าเป็นของจริงหรือทำข้อตกลง (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ตรา, ตราประทับ, ดวงตรา”) ผู้คนในสมัยกรีกและโรมันบันทึกเอกสารทางกฎหมายหรือธุรกิจบนแผ่นไม้ที่เคลือบด้วยขี้ผึ้ง ข้อมูลในเอกสารสำคัญเหล่านั้นต้องมีพยานยืนยัน พยานแต่ละคนต้องมีตราประทับส่วนตัวที่แกะสลักมาโดยเฉพาะซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่แหวนของเขา เขาจะกดแหวนนั้นไปบนขี้ผึ้งร้อนที่อยู่บนเชือกซึ่งจะทำให้เอกสารนั้นติดเข้าด้วยกัน พอขี้ผึ้งเย็นลง เอกสารก็จะถูกปิดผนึกจนกว่าจะมีการเปิดต่อหน้าผู้คน การทำอย่างนี้ช่วยให้พยานสามารถยืนยันว่าข้อความที่อยู่ในเอกสารนั้นเป็นความจริง และเอกสารนั้นไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงเนื้อหามาก่อน นี่เป็นเหตุผลที่คำว่า “การประทับตรา” จึงถูกใช้เพื่อยืนยันหรือรับรองว่าบางสิ่งเป็นความจริง อัครสาวกยอห์นเขียนไว้ว่า ใครก็ตามที่เชื่อคำพูดของพระเยซู เขาก็ยืนยันหรือประทับตราว่าคำพูดของพระเจ้าเป็นความจริง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 3:33