เขียนโดยยอห์น 4:1-54
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
สะมาเรีย: ในสมัยพระเยซู สะมาเรียเป็นแคว้นหนึ่งของโรมและหลายครั้งพระเยซูก็เดินทางผ่านแคว้นนี้ ในเวลาต่อมาพวกสาวกได้ไปเผยแพร่คำสอนของศาสนาคริสเตียนในแคว้นนี้ด้วย ถึงแม้เราไม่รู้แน่ชัดว่าเขตแดนของสะมาเรียครอบคลุมพื้นที่บริเวณไหนบ้างในทุกวันนี้ แต่เรารู้ว่าทางเหนือของเขตแดนนี้ติดกับกาลิลีและทางใต้ติดกับยูเดีย ส่วนทางตะวันตกติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทางตะวันออกติดกับแม่น้ำจอร์แดน พื้นที่ส่วนใหญ่ของสะมาเรียเคยเป็นของตระกูลเอฟราอิมและของตระกูลมนัสเสห์ครึ่งตระกูล (ที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน) ถึงแม้พระเยซูจะเคยผ่านสะมาเรียหลายครั้งตอนที่เดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม (ยน 4:3-6; ลก 9:51, 52; 17:11) แต่ท่านก็บอกพวกอัครสาวกว่ายังไม่ต้องประกาศในเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ในแคว้นนี้ เพราะงานมอบหมายหลักของพวกเขาคือ “ไปหาเฉพาะชาวอิสราเอลที่เป็นเหมือนแกะที่หลงหาย” ซึ่งก็คือชาวยิว (มธ 10:5, 6) แต่หลังจากนั้นไม่นานก่อนที่พระเยซูขึ้นสวรรค์ ท่านสั่งสาวกว่าพวกเขาต้องไปประกาศข่าวดีที่สะมาเรียและ “จนถึงสุดขอบโลก” (กจ 1:8, 9) ตอนที่มีการข่มเหงในกรุงเยรูซาเล็ม สาวกบางคนโดยเฉพาะฟีลิปได้ไปประกาศทั่วสะมาเรีย ต่อมาเปโตรกับยอห์นก็ถูกส่งไปที่นั่นเพื่อชาวสะมาเรียจะได้รับพลังบริสุทธิ์ด้วย—กจ 8:1-17, 25; 9:31; 15:3
สิคาร์: เมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรียซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เดียวกับหมู่บ้านอัสคาร์ที่อยู่ใกล้เมืองนาบลุสในปัจจุบัน ห่างจากเมืองเชเคมไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 กม. และห่างจากบ่อน้ำของยาโคบ 700 เมตร (ดูภาคผนวก ข6 และ ข10) บางคนเชื่อว่าเมืองสิคาร์คือเมืองเชเคม ที่พวกเขาเชื่อแบบนั้นเพราะดูจากข้อเขียนที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ในศตวรรษแรก และในโคเดกซ์ไซนายติคุสภาษาซีรีแอกก็เรียกเมืองสิคาร์ว่า “สิเคม” แต่สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่ดีที่สุดเรียกเมืองนี้ว่า “สิคาร์” และพวกนักโบราณคดีก็ยืนยันว่าตอนที่ยอห์นบันทึกเรื่องนี้ บริเวณที่เป็นเมืองเชเคม (เทล บาลาทา) ยังไม่มีใครเข้าไปอยู่อาศัยเลย
บ่อน้ำของยาโคบ: เชื่อกันว่าบ่อนี้อยู่ที่ เบอร์ เยคับ (เบเออร์ เยคอฟ) ห่างจากเมืองนาบลุสในปัจจุบันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2.5 กม. และอยู่ไม่ไกลจาก เทล บาลาทาซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองเชเคม บ่อนี้ลึกมากและน้ำไม่เคยขึ้นถึงปากบ่อ ตอนที่มีการวัดความลึกของบ่อในศตวรรษที่ 19 บ่อนี้ลึกประมาณ 23 เมตร แต่ซากที่อยู่ก้นบ่อทำให้เชื่อว่าในอดีตบ่อนี้อาจเคยลึกกว่านั้นอีก (ยน 4:11) เนื่องจากบ่อนี้มักจะแห้งช่วงปลายเดือนพฤษภาคมไปจนถึงช่วงที่ฝนเริ่มตกในฤดูใบไม้ร่วง บางคนจึงคิดว่าน้ำในบ่อนี้มาจากน้ำฝนและน้ำที่ซึมจากใต้ดิน แต่บางคนก็คิดว่าน้ำในบ่อนี้อาจมาจากน้ำพุด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าบ่อน้ำในข้อนี้) คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกตรง ๆ ว่ายาโคบขุดบ่อนี้ขึ้นมา แต่บอกว่ายาโคบมีที่ดินอยู่ในบริเวณนั้น (ปฐก 33:18-20; ยชว 24:32) ดูเหมือนว่ายาโคบเป็นคนขุดบ่อนี้หรือไม่ก็สั่งให้คนขุดเพื่อจะมีน้ำสำหรับครอบครัวใหญ่ของเขาและฝูงสัตว์ด้วย การทำอย่างนี้อาจช่วยให้ยาโคบไม่ต้องไปแย่งบ่อน้ำของเพื่อนบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้นและมีปัญหากับพวกเขา หรือเขาอาจขุดบ่อนี้เพื่อจะมีแหล่งน้ำสำรองตอนที่บ่ออื่น ๆ ในเขตนั้นแห้งไป
พระเยซูนั่งพักเหนื่อย: นี่เป็นที่เดียวในพระคัมภีร์ที่บอกว่าพระเยซูรู้สึก “เหนื่อย” ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยง และเช้าวันนั้นพระเยซูคงจะเดินทางมาจากหุบเขาจอร์แดนในแคว้นยูเดียขึ้นมาที่เมืองสิคาร์ในแคว้นสะมาเรียซึ่งอยู่สูงกว่าถึงเกือบ 900 เมตร—ยน 4:3-5; ดูภาคผนวก ก7
บ่อน้ำ: หรือ “น้ำพุ” ในท้องเรื่องนี้ มีการใช้คำกรีก 2 คำเมื่อพูดถึงบ่อน้ำของยาโคบที่สิคาร์ มีการใช้คำกรีก เพเก ที่แปลว่า “บ่อน้ำ” 2 ครั้งในข้อนี้ คำนี้มักจะใช้หมายถึงน้ำพุซึ่งอาจเป็นแหล่งน้ำในบ่อน้ำของยาโคบ ที่ ยก 3:11 ใช้คำว่า “น้ำพุ” ในความหมายตามตัวอักษร ส่วนที่ ยน 4:14 ก็ใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัย ที่ ยน 4:12 ใช้คำกรีก ฟะเระอาร์ เมื่อพูดถึงบ่อน้ำของยาโคบ คำนี้อาจมีความหมายว่าบ่อ บ่อเก็บน้ำ หรือช่องบาดาล (1ซม 19:22; ลก 14:5; วว 9:1, ฉบับ 1971) น้ำในบ่อมักมาจากน้ำพุ บางครั้งจึงมีการทำความสะอาดน้ำพุและขุดให้ลึกขึ้น ซึ่งช่วยให้เข้าใจว่าทำไมคำว่า “น้ำพุ” และ “บ่อน้ำ” ถึงใช้สลับกันได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าบ่อน้ำของยาโคบในข้อนี้
ประมาณเที่ยง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 6”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
คนยิวไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนสะมาเรีย: คนสะมาเรียที่พูดถึงครั้งแรกในคัมภีร์ไบเบิลก็คือคนยิวที่อยู่ในอาณาจักร 10 ตระกูลก่อนที่จะถูกพวกอัสซีเรียพิชิต (2พก 17:29) คนสะมาเรียเริ่มแยกออกจากคนยิวตั้งแต่สมัยที่เยโรโบอัมตั้งการนมัสการรูปเคารพในอาณาจักร 10 ตระกูลทางเหนือ (1พก 12:26-30) หลังจากดินแดนนั้นตกเป็นของอัสซีเรีย คำว่า “คนสะมาเรีย” ก็หมายถึงลูกหลานของคนที่เหลืออยู่ในดินแดนนั้น รวมทั้งคนต่างชาติที่พวกอัสซีเรียให้ไปอยู่ที่นั่น แม้คนสะมาเรียจะอ้างว่าเขาเป็นลูกหลานของคนตระกูลมนัสเสห์และเอฟราอิม แต่บางคนต้องเป็นลูกผสมของคนต่างชาติแน่ ๆ และพระคัมภีร์ก็บอกว่าการผสมผสานทางเชื้อชาติแบบนี้ยิ่งทำให้การนมัสการในสะมาเรียแปดเปื้อนมากขึ้นไปอีก (2พก 17:24-41) ตอนที่ชาวยิวกลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน ชาวสะมาเรียก็อ้างว่าพวกเขานมัสการพระยะโฮวาเหมือนกัน แต่พวกเขากลับขัดขวางการสร้างวิหารและสร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ และประมาณศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. พวกเขาสร้างวิหารของตัวเองบนภูเขาเกริซิมซึ่งถูกชาวยิวทำลายในปี 128 ก่อน ค.ศ. แต่ชาวสะมาเรียยังคงนมัสการบนภูเขานั้นต่อไป และในสมัยศตวรรษแรก พวกเขาก็มาอาศัยอยู่ที่แคว้นสะมาเรียของโรมซึ่งอยู่ระหว่างแคว้นยูเดียกับแคว้นกาลิลี คนสะมาเรียยอมรับเฉพาะหนังสือ 5 เล่มแรกในคัมภีร์ไบเบิลและอาจรวมถึงหนังสือโยชูวาด้วย แต่พวกเขาเปลี่ยนข้อความในพระคัมภีร์บางข้อเพื่อสนับสนุนที่ตั้งวิหารของพวกเขา ในสมัยพระเยซู คำว่าสะมาเรียเป็นทั้งชื่อชนชาติและ ชื่อศาสนา และชาวยิวมักดูถูกคนสะมาเรีย—ยน 8:48
. . . กับคนสะมาเรีย: แม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับจะไม่มีข้อความในวงเล็บ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้จำนวนมากมีข้อความนี้อยู่
น้ำที่ให้ชีวิต: คำนี้ในภาษากรีกมีความหมายตรงตัวว่า น้ำที่มีชีวิต น้ำที่ไหลอยู่ตลอด น้ำพุ หรือน้ำจืดในบ่อที่ไหลมาจากน้ำพุ ซึ่งต่างจากน้ำที่อยู่นิ่ง ๆ ในบ่อเก็บน้ำใต้ดิน ใน ลนต 14:5 คำภาษาฮีบรูที่แปลว่า “น้ำที่ได้จากลำธาร” มีความหมายตรงตัวว่า “น้ำที่มีชีวิต” และใน ยรม 2:13 และ 17:13 พูดถึงพระยะโฮวาว่าเป็น “แหล่งน้ำ [หรือ “น้ำพุ”] ที่ให้ชีวิต” ตอนที่พระเยซูพูดกับผู้หญิงสะมาเรียและใช้คำว่า “น้ำที่ให้ชีวิต” ท่านไม่ได้หมายถึงน้ำที่อยู่ในบ่อ แต่ผู้หญิงสะมาเรียเข้าใจว่าพระเยซูหมายถึงน้ำที่เธอกำลังตัก—ยน 4:11; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 4:14
บ่อนี้ก็ลึก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 4:6
ยาโคบบรรพบุรุษของพวกเรา: คนสะมาเรียอ้างว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากยาโคบผ่านทางโยเซฟ ซึ่งชาวยิวจำนวนมากในสมัยนั้นคงไม่ยอมรับ เพื่อตอกย้ำว่าคนสะมาเรียสืบเชื้อสายมาจากคนต่างชาติ ชาวยิวบางคนจึงเรียกพวกเขาด้วยคำภาษาฮีบรูว่า “พวกคูธิม” หรือ “พวกคูธา” ซึ่งหมายถึงชาวคูธ (หรือชาวคูธาห์) ทั้งคูธและคูธาห์เป็นสถานที่เดียวกัน คือเป็นชื่อบ้านเกิดเมืองนอนของคนที่ถูกกษัตริย์อัสซีเรียสั่งให้ย้ายมาอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของสะมาเรียหลังจากที่ชาวอิสราเอลถูกจับไปเป็นเชลยในปี 740 ก่อน ค.ศ. ดูเหมือนว่าสถานที่นี้อยู่ห่างจากบาบิโลนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 50 กม.—2พก 17:23, 24, 30
น้ำที่ผมให้: คำว่า “น้ำ” และ “น้ำพุ” ในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัย พระเยซูเพิ่งบอกผู้หญิงชาวสะมาเรียว่าท่านจะให้ “น้ำที่ให้ชีวิต” กับเธอ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 4:10) ท่านจึงอธิบายต่อไปว่าน้ำที่ท่านให้จะกลายเป็นน้ำพุที่ให้ชีวิตตลอดไป คัมภีร์ไบเบิลใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ถึงการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อฟื้นฟูมนุษย์ให้กลับสู่สภาพสมบูรณ์ ส่วนประกอบสำคัญของน้ำที่ให้ชีวิตก็คือค่าไถ่ของพระเยซู ในท้องเรื่องนี้พระเยซูเน้นถึงผลประโยชน์ของการเชื่อฟังและเข้ามาเป็นสาวก คนที่ “มารู้จัก” พระยะโฮวาพระเจ้า รู้จักพระเยซูคริสต์ และทำตามสิ่งที่เรียนด้วยความเชื่อก็จะมีโอกาสได้ชีวิตตลอดไป (ยน 17:3) พระเยซูบอกว่าสำหรับคนที่ยอมรับการจัดเตรียมนี้ น้ำนั้นจะกลายเป็นน้ำพุในตัวเขาที่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ และให้ชีวิตกับเขา คนแบบนี้จะอยากแบ่งปัน “น้ำที่ให้ชีวิต” กับคนอื่นด้วย—วว 21:6; 22:1, 17; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 7:38
ภูเขานี้: คือภูเขาเกริซิม (ดูภาคผนวก ข10) มีการพูดถึงภูเขานี้ 4 ครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู (ฉธบ 11:29; 27:12; ยชว 8:33; วนฉ 9:7) ดูเหมือนว่าวิหารของชาวสะมาเรียซึ่งเป็นคู่แข่งของวิหารในกรุงเยรูซาเล็มถูกสร้างขึ้นบนภูเขานี้ในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. และวิหารนี้ถูกชาวยิวทำลายในปี 128 ก่อน ค.ศ. ชาวสะมาเรียยอมรับหนังสือ 5 เล่มแรกในคัมภีร์ไบเบิลและอาจรวมถึงหนังสือโยชูวาด้วย แต่พวกเขายอมรับเฉพาะฉบับของพวกเขาเองที่มีการปรับปรุงแก้ไขซึ่งเรียกว่าเพนทาทุกของสะมาเรีย หนังสือนี้เขียนด้วยตัวอักษรของพวกเขาเองซึ่งประยุกต์มาจากอักษรฮีบรูโบราณ ข้อความในเพนทาทุกของสะมาเรียแตกต่างจากพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรตประมาณ 6,000 ที่ ส่วนใหญ่แล้วแตกต่างกันแค่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็มีบางจุดที่แตกต่างกันมาก เช่นที่ ฉธบ 27:4 มีการใช้คำว่า “ภูเขาเกริซิม” แทนคำว่า “ภูเขาเอบาล” ซึ่งเป็นที่ที่มีการเขียนกฎหมายของโมเสสบนแผ่นหิน (ฉธบ 27:8) เห็นได้ชัดเลยว่าพวกเขาปรับเปลี่ยนแบบนี้เพื่อให้เข้ากับความเชื่อของชาวสะมาเรียที่ว่าภูเขาเกริซิมเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า
ความรอดผ่านทางคนยิวก่อน: หรือ “ความรอดเริ่มต้นกับคนยิว” คำพูดของพระเยซูบอกให้รู้ว่าคนยิวเป็นชาติที่ได้รับพระคัมภีร์ การนมัสการที่บริสุทธิ์ และความจริงที่ทำให้ได้รับความรอด (รม 3:1, 2) นอกจากนั้น พวกเขายังถูกเลือกให้เป็นชาติที่เมสสิยาห์จะมาเกิดเพื่อทำให้คำสัญญาของพระเจ้าเกี่ยวกับ “ลูกหลาน” ของอับราฮัมเป็นจริง (ปฐก 22:18; กท 3:16) ตอนที่พระเยซูพูดกับผู้หญิงสะมาเรียคนนี้ ใครก็ตามที่อยากรู้ความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและสิ่งที่พระเจ้าต้องการ หรืออยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเมสสิยาห์ก็ต้องเรียนรู้จากชาวยิวเท่านั้น ตอนนั้นชาวยิวยังเป็นช่องทางเดียวที่พระเจ้าใช้ และคนที่อยากรับใช้พระยะโฮวาต้องเข้ามาสมทบกับชาตินี้
พระเจ้าเป็นผู้ที่มนุษย์มองไม่เห็น: ในข้อนี้มีการใช้คำกรีก พะนือมา เพื่อพูดถึงร่างกายของพระเจ้า (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”) คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้า พระเยซูตอนที่อยู่บนสวรรค์ และพวกทูตสวรรค์มีร่างกายที่มนุษย์มองไม่เห็น (1คร 15:45; 2คร 3:17; ฮบ 1:14) “ร่างกายสำหรับสวรรค์” แบบนี้เหนือกว่าและแตกต่างอย่างมากกับ “ร่างกายที่มีเลือดเนื้อ” ของมนุษย์ (1คร 15:44; ยน 1:18) ถึงแม้ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเจ้ามีหน้า มีตา มีหู มีมือ และมีอวัยวะอื่น ๆ แต่นั่นเป็นแค่คำเปรียบเทียบที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจว่าพระเจ้าเป็นอย่างไร คัมภีร์ไบเบิลบอกชัดเจนว่าพระเจ้ามีบุคลิกแบบไหนและบอกด้วยว่าพระองค์อยู่ในที่ที่สูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์จะไปถึง พระเยซูคริสต์จึงบอกว่าท่านจะ “กลับไปหาพระเจ้าผู้เป็นพ่อ” (ยน 16:28) และที่ ฮบ 9:24 ก็บอกว่าพระเยซูคริสต์ต้อง “เข้าไปในสถานบริสุทธิ์ . . . เพื่อปรากฏตัวต่อหน้าพระเจ้าเพื่อเรา”
นมัสการโดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำ: อย่างที่เห็นในส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง” คำกรีก พะนือมา มีความหมายหลายอย่าง เช่น พลังที่พระเจ้าใช้ในการทำสิ่งต่าง ๆ หรือพลังบริสุทธิ์ รวมทั้งหมายถึงพลังที่กระตุ้นความคิดจิตใจของคนเราให้ทำอะไรบางอย่าง แม้คำนี้จะมีความหมายหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกันก็คือพลังนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น พระเยซูบอกที่ ยน 4:21 ว่าจะมีวันหนึ่งที่การนมัสการพระเจ้าจะไม่ทำเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง เช่น บนภูเขาเกริซิมในสะมาเรียหรือที่วิหารในกรุงเยรูซาเล็ม เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้ที่มนุษย์มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ จึงไม่จำเป็นต้องนมัสการพระองค์เฉพาะที่วิหารหรือบนภูเขา ในข้อคัมภีร์อื่น ๆ พระเยซูบอกว่าเพื่อจะนมัสการพระเจ้าอย่างที่พระองค์ยอมรับ คนเราต้องได้รับการชี้นำโดยทางพลังบริสุทธิ์ที่มองไม่เห็น ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผู้ช่วย” (ยน 14:16, 17; 16:13) ดังนั้น การ “นมัสการโดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำ” จะช่วยให้ผู้นมัสการคิดแบบเดียวกับพระเจ้า และเขาจะทำอย่างนั้นได้โดยการอ่านและเอาสิ่งที่เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลไปใช้ ดังนั้น การนมัสการพระเจ้าที่พระเยซูพูดถึงในข้อนี้จึงไม่ใช่แค่นมัสการอย่างจริงใจหรือกระตือรือร้น แต่เป็นการนมัสการ “โดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำ”
นมัสการอย่างที่สอดคล้องกับความจริง: การนมัสการแบบที่พระเจ้ายอมรับไม่ใช่การนมัสการที่คิดขึ้นเองหรืออาศัยตำนานหรือเรื่องโกหก แต่การนมัสการแบบที่พระเจ้ายอมรับต้องสอดคล้องกับ “ความจริง” ที่พระเจ้าเปิดเผยในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับพระองค์เองและความประสงค์ของพระองค์ (ยน 17:17) และสอดคล้องกับ “สิ่งที่ . . . มีจริง” ซึ่งเขียนไว้ในคัมภีร์ไบเบิล—ฮบ 9:24; 11:1; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่านมัสการโดยให้พลังของพระเจ้าชี้นำในข้อนี้ด้วย
ฉันรู้ว่าเมสสิยาห์ . . . กำลังจะมา: คนสะมาเรียยอมรับเฉพาะหนังสือ 5 เล่มแรกที่โมเสสเขียนซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเพนทาทุก และบางคนอาจยอมรับหนังสือโยชูวาด้วย แต่พวกเขาไม่ยอมรับหนังสือที่เหลือในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เนื่องจากคนสะมาเรียยอมรับข้อเขียนของโมเสส พวกเขาจึงรอคอยการมาของเมสสิยาห์ซึ่งเป็นผู้พยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าโมเสส—ฉธบ 18:18, 19
เมสสิยาห์: คำกรีก เม็สซิอาส (ทับศัพท์มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) มีแค่ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (ในข้อนี้และที่ ยน 1:41) ตำแหน่ง มาชีอัค มาจากคำกริยาฮีบรู มาชัค ที่แปลว่า “ทาหรือป้าย (ด้วยของเหลว)” และ “เจิม” (อพย 29:2, 7) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล มีธรรมเนียมการเจิมเพื่อแต่งตั้งปุโรหิต พวกผู้นำ และผู้พยากรณ์ด้วยน้ำมัน (ลนต 4:3; 1ซม 16:3, 12, 13; 1พก 19:16) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงตำแหน่งพระคริสต์ (ภาษากรีก ฆะริสท็อส) มากกว่า 500 ครั้ง และตำแหน่งนี้ตรงกับคำฮีบรู “เมสสิยาห์” ซึ่งทั้ง 2 คำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1
คนที่กำลังคุยกับคุณอยู่นี่แหละคือท่านผู้นั้น: นี่เป็นครั้งแรกที่พระเยซูบอกอย่างชัดเจนว่าท่านเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ ท่านบอกเรื่องนี้กับผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวยิวแต่เป็นคนสะมาเรีย (ยน 4:9, 25) ชาวยิวส่วนใหญ่ดูถูกคนสะมาเรียและไม่ยอมทักทาย ผู้ชายชาวยิวหลายคนก็ดูถูกผู้หญิง หลังจากเหตุการณ์นี้พระเยซูก็ให้เกียรติผู้หญิงคนอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันโดยให้พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกที่เห็นท่านฟื้นขึ้นจากตาย—มธ 28:9, 10
คุยกับผู้หญิง: คำสอนสืบปากของชาวยิวไม่สนับสนุนให้ผู้ชายคุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ ซึ่งนั่นไม่สอดคล้องกับแนวคิดในกฎหมายของโมเสส ดูเหมือนว่าคำสอนนี้แพร่หลายมากในสมัยพระเยซู จึงเป็นเหตุผลที่แม้แต่พวกสาวกก็ยัง “แปลกใจ” เมื่อเห็นพระเยซูคุยกับผู้หญิงชาวสะมาเรีย คัมภีร์ทัลมุดพูดถึงคำสอนเก่าแก่ของรับบีที่บอกว่าคนที่มีความรู้ “ต้องไม่คุยกับผู้หญิงบนถนน” และในหนังสือมิชนาห์ก็มีคำพูดของรับบีคนหนึ่งที่บอกว่า “อย่าคุยอะไรมากกับพวกผู้หญิง . . . คนที่คุยกับผู้หญิงมากก็เอาสิ่งชั่วร้ายเข้าตัวและละเลยการศึกษาค้นคว้ากฎหมายของพระเจ้า และในที่สุดพวกเขาจะไปอยู่ในเกเฮนนา”—อะโบท 1:5
อีก 4 เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าว: ฤดูเกี่ยวข้าวบาร์เลย์เริ่มในเดือนนิสานของชาวยิว (มีนาคม/เมษายน) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเทศกาลปัสกา (ดูภาคผนวก ข15) ถ้านับย้อนไป 4 เดือนก็แสดงว่าพระเยซูพูดประโยคนี้ในเดือนคิสเลฟ (พฤศจิกายน/ธันวาคม) ซึ่งเป็นตอนที่ฝนเริ่มตกหนักและกำลังจะเข้าฤดูหนาว ดังนั้น คำพูดของพระเยซูที่บอกว่าพร้อมจะเกี่ยวได้แล้วน่าจะมีความหมายเป็นนัย คือหมายถึงการรวบรวมผู้คน—ยน 4:36
เหลือง: แปลตรงตัวว่า “ขาว” คำกรีก ลือคอส หมายถึงสีขาวหรือสีโทนอ่อน เช่น สีเหลืองอ่อน ซึ่งเป็นสีของข้าวสุกพร้อมเกี่ยว เนื่องจากคำพูดของพระเยซูในข้อนี้บอกว่า “อีก 4 เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าว” เลยทำให้รู้ว่าทุ่งนาที่อยู่รอบ ๆ พระเยซูคงเป็นสีเขียวของข้าวที่เพิ่งออกรวงใหม่ ๆ ดังนั้น ตอนที่พระเยซูพูดถึงทุ่งนาที่พร้อมจะเกี่ยว ท่านต้องหมายถึงการเกี่ยวในความหมายเป็นนัย ไม่ใช่การเกี่ยวข้าวจริง ๆ ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าตอนที่พระเยซูบอกให้พวกสาวกมองดูทุ่งนา ท่านอาจหมายถึงคนสะมาเรียกลุ่มใหญ่ที่กำลังเดินเข้ามาหาท่าน และที่พระเยซูบอกว่าทุ่งนา “ขาว” ท่านอาจหมายถึงสีของชุดที่พวกเขาใส่ หรืออาจหมายถึงการที่พวกเขาพร้อมจะฟังข่าวสารของท่านเหมือนข้าวที่สุกพร้อมเกี่ยว—ยน 4:28-30
คนสะมาเรียหลายคน . . . เชื่อในพระเยซู: เห็นได้ชัดว่าการที่พระเยซูพูดกับผู้หญิงชาวสะมาเรียเกิดผลดีมาก เพราะหลังจากนั้นเธอก็ไปเล่าให้คนอื่น ๆ ฟัง ทำให้มีคนสะมาเรียหลายคนเริ่มเชื่อในพระเยซู ถึงแม้ว่าในตอนแรกพระเยซูจะเน้นการเก็บเกี่ยวหรือรวบรวมชาวยิวเป็นหลัก แต่บันทึกในพระคัมภีร์บอกว่าไม่นานหลังจากนั้นก็มีการรวบรวมชาวสะมาเรียด้วย เห็นได้ชัดว่าการประกาศของพระเยซูกับผู้หญิงชาวสะมาเรียเป็นการเตรียมชาวสะมาเรียให้พร้อมที่จะตอบรับการประกาศของฟีลิป—ยน 4:34-36; กจ 1:8; 8:1, 14-17
ผู้ช่วยโลกให้รอด: สำนวนนี้มีอยู่เฉพาะในข้อนี้และที่ 1ยน 4:14 ซึ่งเป็นสำนวนที่บอกให้รู้ว่าพระเยซูจะช่วยคนใน “โลก” ที่แสดงความเชื่อให้รอดจากบาป—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:29; 3:17
ถิ่นของตัวเอง: แปลตรงตัวว่า “บ้านของพ่อตัวเอง” คำกรีกที่แปลว่า “ถิ่น” ในข้อนี้ ใน มธ 13:54 และ มก 6:1 แปลว่า “บ้านเดิม” ซึ่งหมายถึงเมืองนาซาเร็ธบ้านเกิดของพระเยซู อย่างไรก็ตาม ในท้องเรื่องนี้ดูเหมือนคำนี้หมายถึงแคว้นกาลิลีทั้งหมด—ยน 4:43
เมืองคานาในแคว้นกาลิลี . . . เมืองคาเปอร์นาอุม: การเดินทางจากเมืองคานา (เมืองกีร์เบต คานา) ไปเมืองคาเปอร์นาอุมโดยใช้ถนนมีระยะทางประมาณ 40 กม.—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:1
ข้าราชการ: หรือ “คนรับใช้ของกษัตริย์” คำกรีก บาซิลิคอส หมายถึงคนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ (บาซิเลือส) อาจเป็นความเกี่ยวข้องทางสายเลือดหรือเป็นคนที่ทำงานให้กษัตริย์ แต่ในข้อนี้ดูเหมือนหมายถึงคนที่คอยรับใช้กษัตริย์ หรือคนที่ทำงานในวังของเฮโรดอันทีพาสผู้ปกครองแคว้นกาลิลีที่คนส่วนใหญ่มักเรียกเขาว่า “กษัตริย์”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:9; มก 6:14
มาที่: แปลตรงตัวว่า “ลงมาที่” คือลงมาที่คาเปอร์นาอุม ในสมัยโบราณมีถนนที่ผ่านเมืองกีร์เบต คานา (น่าจะเป็นเมืองเดียวกับเมืองคานาในคัมภีร์ไบเบิล; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 2:1) เพื่อลงไปที่ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี และถนนนี้ก็เลียบชายฝั่งไปจนถึงเมืองคาเปอร์นาอุมซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 200 เมตร ในต้นฉบับจึงมีการใช้คำว่า “ลงมาที่” คาเปอร์นาอุม
บ่ายโมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 7”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่มธ 20:3
การอัศจรรย์ครั้งที่สอง: พระเยซูทำการอัศจรรย์ในแคว้นกาลิลีแค่ 2 ครั้ง และที่พูดถึงในข้อนี้เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งท่านทำหลังกลับจากแคว้นยูเดีย การอัศจรรย์ครั้งแรกมีบันทึกไว้ที่ ยน 2:11 พระเยซูทำการอัศจรรย์อื่น ๆ อีกในเยรูซาเล็มก่อนที่ท่านจะทำการอัศจรรย์ครั้งที่ 2 นี้ในแคว้นกาลิลี—ยน 2:23
วีดีโอและรูปภาพ
วีดีโอนี้แสดงให้เห็นภูเขาเกริซิม (หมายเลข 1) อยู่ใกล้บริเวณที่เคยเป็นบ่อน้ำของยาโคบ (หมายเลข 2) ซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูคุยกับผู้หญิงชาวสะมาเรีย (ยน 4:6, 7) และภูเขาเอบาล (หมายเลข 3) ภูเขาเกริซิมตั้งอยู่ใจกลางแคว้นสะมาเรีย มียอดสูงกว่า 850 เมตรเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัจจุบันระหว่างภูเขาเกริซิมกับภูเขาเอบาลคือหุบเขาเชเคมอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองนาบลุส วิหารของชาวสะมาเรียเคยถูกสร้างบนภูเขาเกริซิมซึ่งอาจเป็นช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. แต่ถูกทำลายในปี 128 ก่อน ค.ศ. ผู้หญิงชาวสะมาเรียอาจนึกถึงภูเขาเกริซิมตอนบอกพระเยซูว่า “ปู่ย่าตายายของเรานมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้ แต่พวกคุณที่เป็นคนยิวบอกว่าจะต้องไปนมัสการที่กรุงเยรูซาเล็มเท่านั้น” เพื่อให้เธอเห็นว่าการนมัสการแท้จะไม่ทำเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง พระเยซูจึงบอกเธอว่า “ใกล้จะถึงเวลาแล้วที่คุณจะไม่นมัสการพระเจ้าบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม”—ยน 4:20, 21
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งคนที่เกี่ยวข้าวก็แค่ดึงต้นข้าวออกจากดิน แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะใช้เคียวเกี่ยวข้าว (ฉธบ 16:9; มก 4:29) การเกี่ยวข้าวเป็นงานที่ทำด้วยกันหลาย ๆ คน คนเกี่ยวจะช่วยกันเกี่ยวข้าวที่สุกแล้วในทุ่งนา (นรธ 2:3; 2พก 4:18) ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลหลายคน เช่น กษัตริย์โซโลมอน ผู้พยากรณ์โฮเชยา และอัครสาวกเปาโลใช้ตัวอย่างการเกี่ยวข้าวเพื่อสอนความจริงที่สำคัญบางอย่าง (สภษ 22:8; ฮชย 8:7; กท 6:7-9) พระเยซูก็ใช้อาชีพที่ชาวยิวคุ้นเคยนี้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบถึงบทบาทของทูตสวรรค์และสาวกของท่านในการสอนคนให้เป็นสาวก—มธ 13:24-30, 39; ยน 4:35-38