เขียนโดยลูกา 3:1-38
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ปีที่ 15 ที่ซีซาร์ทิเบริอัสปกครอง: ซีซาร์ออกัสตัสตายในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 14 (ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ในวันที่ 15 กันยายนของปีนั้นทิเบริอัสยอมให้สภาสูงของโรมประกาศแต่งตั้งเขาเป็นจักรพรรดิ ถ้านับจากตอนที่ออกัสตัสตาย ปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 29 แต่ถ้านับจากตอนประกาศแต่งตั้งทิเบริอัสเป็นจักรพรรดิ ปีที่ 15 ที่เขาปกครองก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 28 ไปจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 29 ดูเหมือนยอห์นเริ่มทำงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29 (ตามเวลาในซีกโลกเหนือ) ซึ่งอยู่ในช่วงปีที่ 15 ที่ทิเบริอัสปกครอง ในปีนั้นยอห์นน่าจะมีอายุประมาณ 30 ปีซึ่งเป็นอายุที่ปุโรหิตในตระกูลเลวีเริ่มทำงานรับใช้ในวิหาร (กดว 4:2, 3) คล้ายกัน ใน ลก 3:21-23 ก็บอกว่าพระเยซูรับบัพติศมาจากยอห์นและ “เริ่มงานประกาศเมื่ออายุได้ 30 ปี” พระเยซูตายในฤดูใบไม้ผลิเดือนนิสาน ดังนั้น ดูเหมือนว่างานรับใช้ 3 ปีครึ่งของท่านจะเริ่มต้นในฤดูใบไม้ร่วง คือประมาณเดือนเอธานิม (กันยายน/ตุลาคม) ยอห์นน่าจะอายุมากกว่าพระเยซู 6 เดือนและดูเหมือนเขาเริ่มงานรับใช้ก่อนพระเยซู 6 เดือนด้วย (ลก บท 1) จึงมีเหตุผลที่จะสรุปว่ายอห์นเริ่มงานรับใช้ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 29—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:23; ยน 2:13
เฮโรด: คือเฮโรดอันทีพาสลูกของเฮโรดมหาราช—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ผู้ปกครองแคว้น: แปลตรงตัวว่า “ผู้ที่ปกครองอาณาเขต 1 ใน 4” คำนี้หมายถึงผู้ปกครองแคว้นเล็ก ๆ หรือเจ้านายที่ปกครองเขตแดนหนึ่งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลโรมัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1; มก 6:14
ฟีลิปพี่ชายของเฮโรด: คือพี่ชายต่างแม่ของเฮโรดอันทีพาส ฟีลิปเป็นลูกชายของเฮโรดมหาราชกับคลีโอพัตราแห่งเยรูซาเล็ม บางครั้งก็ถูกเรียกว่าฟีลิปผู้ปกครองแคว้นเพื่อไม่ให้สับสนกับพี่น้องต่างแม่ของเขาอีกคนหนึ่งที่ชื่อฟีลิปเหมือนกัน ซึ่งพูดถึงใน มธ 14:3 และ มก 6:17 (บางครั้งเรียกว่าเฮโรดฟีลิป)—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:13 ด้วย
อิทูเรีย: เขตเล็ก ๆ ที่มีอาณาเขตไม่ชัดเจน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบกาลิลี ดูเหมือนอยู่ในเขตเทือกเขาเลบานอนและเทือกเขาแอนติเลบานอน—ดูภาคผนวก ข10
ตราโคนิติส: เป็นชื่อที่มาจากรากศัพท์ภาษากรีกที่มีความหมายว่า “ขรุขระ” อาจเป็นเพราะเขตนี้เป็นพื้นที่ขรุขระ ตราโคนิติสเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนที่เมื่อก่อนเรียกว่าบาชาน (ฉธบ 3:3-14) เขตนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอิทูเรียและมีพื้นที่แค่ประมาณ 900 ตร.กม. ชายแดนด้านเหนือสุดของตราโคนิติสอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงดามัสกัส และอยู่ห่างจากกรุงนี้ประมาณ 40 กม.
ลีซาเนียส: บันทึกของลูกาบอกว่าตอนที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มงานรับใช้ ลีซาเนียส “เป็นผู้ปกครองแคว้นอาบีเลน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน มีการพบข้อความจารึกในอะบีลาเมืองหลวงของแคว้นอาบีเลนซึ่งอยู่ใกล้กรุงดามัสกัสของซีเรีย (ดูภาคผนวก ข10) ที่ยืนยันว่าลีซาเนียสเคยปกครองแคว้นนี้ในเวลาเดียวกับที่ทิเบริอัสเป็นจักรพรรดิของโรม การค้นพบนี้พิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาของพวกนักวิจารณ์ไม่เป็นความจริง พวกเขาบางคนบอกว่าลูกาสับสนระหว่างลีซาเนียสคนนี้กับกษัตริย์ลีซาเนียสที่ปกครองเมืองคัลคิสที่อยู่ใกล้ ๆ กษัตริย์องค์นี้ถูกฆ่าประมาณปี 34 ก่อน ค.ศ. ซึ่งเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนเหตุการณ์ที่ลูกาพูดถึง
อาบีเลน: แคว้นหนึ่งของโรม ตั้งชื่อตามเมืองหลวงอะบีลา แคว้นนี้ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาแอนติเลบานอนซึ่งอยู่ทางเหนือของภูเขาเฮอร์โมน—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เลบานอน”
อันนาสเป็นปุโรหิตใหญ่ และเคยาฟาส: เมื่อพูดถึงช่วงเวลาที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาเริ่มต้นงานรับใช้ ลูกาบอกว่าในปีนั้นคณะปุโรหิตถูกปกครองโดยคนที่มีอำนาจ 2 คน อันนาสได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตประมาณปี ค.ศ. 6 หรือ 7 โดยคีรินิอัสผู้ว่าราชการชาวโรมันที่ปกครองแคว้นซีเรีย อันนาสอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงประมาณปี ค.ศ. 15 ต่อมาแม้เขาจะถูกโรมปลดออกจากตำแหน่งมหาปุโรหิตแล้ว แต่ดูเหมือนเขายังมีอิทธิพลมากในฐานะปุโรหิตใหญ่และยังมีสิทธิ์มีเสียงมากในกลุ่มผู้นำระดับสูงของชาวยิว ลูกชาย 5 คนของอันนาสเคยเป็นมหาปุโรหิต และเคยาฟาสลูกเขยของเขาก็เป็นมหาปุโรหิตตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 18 จนถึงประมาณปี ค.ศ. 36 ดังนั้น ถึงแม้ในปี ค.ศ. 29 เคยาฟาสจะเป็นมหาปุโรหิต แต่อันนาสก็ยังมีอิทธิพลในฐานะ “ปุโรหิตใหญ่” อยู่—ยน 18:13, 24; กจ 4:6
ยอห์น: ลูกาเป็นคนเดียวที่เรียกยอห์นว่าลูกของเศคาริยาห์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:5) และเขาเป็นคนเดียวที่บอกว่าพระเจ้าส่งข่าวให้ยอห์น ซึ่งเป็นคำที่คล้ายกับที่ใช้ในฉบับเซปตัวจินต์ เมื่อพูดถึงผู้พยากรณ์เอลียาห์ (1พก 17:2; 21:28 [20:28, LXX]) คัมภีร์ไบเบิลเปรียบยอห์นว่าเป็นเหมือนเอลียาห์ (มธ 11:14; 17:10-13) ผู้เขียนหนังสือข่าวดีทั้ง 3 คน (มัทธิว มาระโก และลูกา) บอกว่ายอห์นอยู่ในที่กันดาร แต่มัทธิวเป็นคนเดียวที่บอกอย่างเจาะจงว่าเป็น “ที่กันดารยูเดีย” ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งและแทบไม่มีใครอยู่อาศัย ทอดยาวจากเทือกเขายูเดียฝั่งตะวันออกไปจนถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลเดดซีซึ่งอยู่ต่ำกว่าเทือกเขาลงไปประมาณ 1,200 เมตร—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
รับบัพติศมาเพื่อแสดงการกลับใจ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:4
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก อสย 40:3 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) ลูกาเชื่อมโยงคำพยากรณ์นี้กับสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาทำ ยอห์นจะเตรียมทางไว้สำหรับพระยะโฮวาในแง่ที่ว่าเขาจะมาก่อนพระเยซูซึ่งเป็นตัวแทน พระยะโฮวาพ่อของท่านและมาในนามพ่อของท่าน (ยน 5:43; 8:29) ในหนังสือข่าวดีที่อัครสาวกยอห์นเขียน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาได้พูดไว้ว่าคำพยากรณ์นี้หมายถึงตัวเขาเอง—ยน 1:23
ทำทางของพระองค์ให้ตรง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:3
รับบัพติศมา: หรือ “ถูกจุ่ม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
พวกชาติงูร้าย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:7
ทำให้เห็นสิว่าคุณกลับใจจริง ๆ: แปลตรงตัวว่า “แสดงผลที่สมกับการกลับใจ” คำกรีกในรูปพหูพจน์ที่แปลว่า “ผล” (คาร์พอส) ในข้อนี้มีความหมายเป็นนัยหมายถึงหลักฐานหรือการกระทำที่แสดงว่าคนที่ฟังยอห์นเปลี่ยนความคิดจิตใจแล้วจริง ๆ—มธ 3:8; กจ 26:20; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
คนเก็บภาษี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:46
พวกทหาร: ดูเหมือนว่าทหารเหล่านี้คือทหารชาวยิวซึ่งอาจทำหน้าที่คล้ายกับตำรวจที่คอยตรวจตราและเก็บภาษีการค้าหรือภาษีอื่น ๆ เนื่องจากทหารเหล่านี้เป็นชาวยิวซึ่งเป็นชาติที่ทำสัญญากับพระยะโฮวาพระเจ้าอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าพวกเขาต้องการรับบัพติศมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงการกลับใจจากบาป พวกเขาก็ต้องเปลี่ยนความประพฤติ เลิกรีดไถ และเลิกทำชั่วแบบที่ทหารส่วนใหญ่มักทำกัน—มธ 3:8
ใส่ความใคร: คำกรีกที่แปลว่า “ใส่ความ” (ซูคอฟานเทะโอ) ในข้อนี้ ที่ ลก 19:8 แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “โกง” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 19:8) ความหมายตรงตัวของคำกริยานี้คือ “เอาไปโดยการแสดงให้เห็นมะเดื่อ” มีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับที่มาของคำนี้ อย่างหนึ่งก็คือ ในกรุงเอเธนส์โบราณห้ามการส่งออกมะเดื่อ ดังนั้น คนที่ใส่ความคนอื่นว่าพยายามส่งออกมะเดื่อจึงถูกเรียกว่า “ผู้แจ้งเบาะแสมะเดื่อ” ต่อมาคำนี้กลายเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ใส่ความคนอื่นเพื่อให้ตัวเองได้ผลประโยชน์บางอย่าง หรือใช้เรียกคนที่แบล็คเมล์คนอื่น
ค่าจ้าง: คำที่ใช้ในข้อนี้เป็นคำทางทหารที่หมายถึงเงินเดือนของทหาร เงินปันส่วน หรือเบี้ยเลี้ยง ในยุคแรก ๆ ค่าจ้างที่ทหารได้รับก็มักจะรวมถึงอาหารและข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ทหารชาวยิวที่มาหายอห์นอาจทำหน้าที่คล้ายกับตำรวจที่คอยตรวจตรา งานของพวกเขาอาจเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีการค้าหรือภาษีอื่น ๆ โดยเฉพาะ ยอห์นคงจะให้คำแนะนำแบบนี้เพราะเขารู้ว่าทหารส่วนใหญ่ได้เงินเดือนน้อยและอาจใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อจะมีรายได้มากขึ้น มีการใช้คำเดียวกันนี้ที่ 1คร 9:7 ในประโยคที่บอกว่า “ออกค่าใช้จ่ายเอง” ซึ่งเป็นตอนที่เปาโลพูดถึงค่าจ้างที่ “ทหาร” ของพระคริสต์ได้รับ
กำลังรอคอย: หรือ “รออย่างใจจดใจจ่อ” ที่พวกเขารอคอยแบบนี้อาจเป็นเพราะพวกเขาได้ยินเรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับคำประกาศของทูตสวรรค์ตอนพระเยซูเกิด (ลก 2:8-11, 17, 18) ต่อมาผู้พยากรณ์หญิงอันนาก็ยังเล่าเรื่องพระเยซูให้กับคนที่วิหารฟังด้วย (ลก 2:36-38) และคำพูดของพวกโหรที่บอกว่าพวกเขามาเพื่อเคารพ “เด็กที่เกิดมาที่จะเป็นกษัตริย์ของชาวยิว” ก็ทำให้เฮโรด พวกปุโรหิตใหญ่ ครูสอนศาสนา รวมทั้งทุกคนในกรุงเยรูซาเล็มกังวลมาก—มธ 2:1-4
ให้บัพติศมาพวกคุณ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
รองเท้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:11
พลั่ว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:12
แกลบ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:12
ไฟที่ไม่มีวันดับ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:12
ผู้ปกครองแคว้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1.
ตอนที่ท่านอธิษฐานอยู่: ในหนังสือข่าวดีของลูกา เขาให้ความสำคัญกับการอธิษฐานเป็นพิเศษ คำอธิษฐานของพระเยซูหลายครั้งมีอยู่ในหนังสือลูกาเท่านั้น เช่น ในข้อนี้ลูกาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าพระเยซูอธิษฐานตอนที่ท่านรับบัพติศมา ดูเหมือนว่าเปาโลได้บันทึกคำพูดบางส่วนของคำอธิษฐานนี้ในเวลาต่อมาด้วย (ฮบ 10:5-9) คำอธิษฐานอื่น ๆ ของพระเยซูที่มีเฉพาะในหนังสือลูกามีอยู่ที่ ลก 5:16; 6:12; 9:18, 28; 11:1; 23:46
ท้องฟ้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:16
ท้องฟ้าก็เปิดออก: ดูเหมือนตอนนี้พระเจ้าทำให้พระเยซูจำเรื่องราวตอนที่ท่านอยู่บนสวรรค์ก่อนมาเป็นมนุษย์ได้ คำพูดของพระเยซูหลังจากรับบัพติศมาแสดงให้เห็นว่าพระเยซูรู้ว่าก่อนมาเป็นมนุษย์ท่านเคยมีชีวิตในสวรรค์ โดยเฉพาะตอนที่อธิษฐานในคืนวันปัสกาปี ค.ศ. 33 ท่านใช้คำพูดที่แสดงถึงความใกล้ชิดกับพระยะโฮวามาก คำอธิษฐานนั้นยังแสดงให้เห็นด้วยว่าพระเยซูจำได้ว่าพ่อของท่านเคยพูดอะไร เคยทำอะไร และตัวท่านเคยได้รับเกียรติอย่างไรตอนที่อยู่ในสวรรค์ (ยน 6:46; 7:28, 29; 8:26, 28, 38; 14:2; 17:5) พระเจ้าคงให้ความทรงจำทั้งหมดนี้กับพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาและได้รับการเจิม
เหมือนนกเขา: นกเขาถูกใช้ในการนมัสการและยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ด้วย มีการใช้นกเขาเป็นเครื่องบูชา (มก 11:15; ยน 2:14-16) นกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ไม่มีพิษมีภัย (มธ 10:16) นกเขาที่โนอาห์ปล่อยออกไปคาบใบมะกอกกลับมาที่เรือ ทำให้รู้ว่าน้ำกำลังลดลง (ปฐก 8:11) และเวลาของการหยุดพักและความสงบสุขใกล้เข้ามาแล้ว (ปฐก 5:29) ดังนั้น ตอนที่พระเยซูรับบัพติศมา พระยะโฮวาอาจใช้นกเขาเพื่อทำให้นึกถึงบทบาทของพระเยซูลูกที่บริสุทธิ์และไม่มีบาปของพระองค์ ซึ่งเป็นเมสสิยาห์ที่จะสละชีวิตเพื่อมนุษย์และทำให้มนุษย์ได้หยุดพักและมีความสงบสุขตอนที่ท่านปกครองเป็นกษัตริย์ พลังของพระเจ้าที่ลงมาบนพระเยซูตอนที่ท่านรับบัพติศมาอาจดูเหมือนนกเขากระพือปีกอยู่ใกล้ที่เกาะ
เสียงพูดจากฟ้า: นี่เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้งที่หนังสือข่าวดีบันทึกว่ามนุษย์ได้ยินเสียงของพระยะโฮวา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 9:35; ยน 12:28
ลูก . . . ของพ่อ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:11
พ่อพอใจในตัวลูกมาก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:11
เริ่มงานประกาศ: หรือ “เริ่มทำงานรับใช้, เริ่มสอน” แปลตรงตัวว่า “เริ่ม” ลูกาใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ กจ 1:21, 22 และ 10:37, 38 เมื่อพูดถึงตอนที่พระเยซูเริ่มงานรับใช้บนโลก งานรับใช้ของพระเยซูเกี่ยวข้องกับการประกาศ การสอน และการสอนคนให้เป็นสาวก
คนทั่วไปเข้าใจกันว่า พระเยซูเป็นลูกของโยเซฟ: จริง ๆ แล้วโยเซฟเป็นพ่อเลี้ยงของพระเยซู เพราะพระเยซูเกิดมาโดยพลังบริสุทธิ์ แต่คนในเมืองนาซาเร็ธก็เห็นโยเซฟกับมารีย์เลี้ยงพระเยซูมาตั้งแต่เกิด จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดว่าพระเยซูเป็นลูกของโยเซฟ เห็นได้จากข้อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มธ 13:55 และ ลก 4:22 ที่บอกว่าชาวนาซาเร็ธเรียกพระเยซูว่า “ลูกช่างไม้” และ “ลูกโยเซฟ” ครั้งหนึ่งตอนที่ผู้คนไม่พอใจคำพูดของพระเยซู พวกเขาคุยกันว่า “คนนี้คือเยซูลูกโยเซฟไม่ใช่หรือ? พ่อแม่เขาพวกเราก็รู้จัก” (ยน 6:42) ฟีลิปก็เคยพูดกับนาธานาเอลว่า “พวกเราพบ . . . เยซูลูกของโยเซฟ” (ยน 1:45) บันทึกของลูกาในข้อนี้จึงยืนยันว่าคนทั่วไปในสมัยนั้นเข้าใจกันว่าพระเยซูเป็น “ลูกของโยเซฟ”
คนทั่วไปเข้าใจกันว่า: หรืออาจแปลได้ว่า “ตามกฎหมายแล้ว” นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนสนับสนุนการแปลแบบนี้เพราะคำกรีกที่ใช้ในข้อนี้สามารถเข้าใจได้แบบนั้นด้วย ในท้องเรื่องนี้ ถ้าแปลว่า “ตามกฎหมาย” จะทำให้คิดถึงบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลที่ผู้คนใช้เป็นกฎเกณฑ์ในเวลานั้น แต่นักวิชาการด้านคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่สนับสนุนการแปลแบบที่มีอยู่ในฉบับแปลโลกใหม่ มากกว่า
โยเซฟเป็นลูกของเฮลี: จาก มธ 1:16 “ยาโคบมีลูกชายชื่อโยเซฟซึ่งเป็นสามีของมารีย์” แต่ในบันทึกของลูกามีการเรียกโยเซฟว่า “ลูกของเฮลี” ซึ่งน่าจะหมายความว่าโยเซฟเป็นลูกเขยของเฮลี (ดูตัวอย่างที่คล้ายกันในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:27) เมื่อลำดับเชื้อสายทางฝั่งแม่ ปกติแล้วชาวยิวจะให้ความสนใจกับผู้ชายที่อยู่ในวงศ์ตระกูลมากกว่าผู้หญิง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ลูกาไม่ได้พูดถึงชื่อมารีย์ที่เป็นลูกสาว แต่กลับบันทึกชื่อโยเซฟสามีของเธอแทน ลูกาน่าจะลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางมารีย์ ดังนั้น เฮลีจึงอาจเป็นพ่อของมารีย์และเป็นตาของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 16; ลก 3:27
เศรุบบาเบลเป็นลูกของเชอัลทิเอล: แม้มีพระคัมภีร์หลายข้อบอกว่าเศรุบบาเบลเป็น “ลูกชายของเชอัลทิเอล” (อสร 3:2, 8; 5:2; นหม 12:1; ฮกก 1:1, 12, 14; 2:2, 23; มธ 1:12) แต่มีข้อหนึ่งบอกว่าเปดายาห์น้องชายของเชอัลทิเอล “มีลูกชายชื่อเศรุบบาเบล” (1พศ 3:17-19) เศรุบบาเบลจึงอาจเป็นลูกจริง ๆ ของเปดายาห์ แต่ดูเหมือนตามกฎหมายแล้วถือว่าเศรุบบาเบลเป็นลูกของเชอัลทิเอล ถ้าเปดายาห์ตายตอนที่เศรุบบาเบลลูกชายของเขายังเด็ก เชอัลทิเอลพี่ชายคนโตของเปดายาห์ก็อาจรับเศรุบบาเบลมาเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง หรือถ้าเชอัลทิเอลตายโดยที่ไม่มีลูก เปดายาห์ก็อาจรับภรรยาม่ายของพี่ชายมาเป็นภรรยา และลูกที่เกิดจากเชอัลทิเอลกับภรรยาคนนี้ตามกฎหมายแล้วจะถือว่าเป็นลูกของเปดายาห์
เชอัลทิเอลเป็นลูกของเนรี: ตามที่บอกไว้ใน 1พศ 3:17 และ มธ 1:12 เชอัลทิเอลเป็นลูกของเยโคนิยาห์ไม่ใช่เนรี เชอัลทิเอลอาจแต่งงานกับลูกสาวของเนรี เขาจึงเป็นลูกเขยและอาจเรียกได้ว่าเขาเป็น “ลูกของเนรี” เป็นเรื่องปกติที่ชาวฮีบรูจะเอาชื่อลูกเขยมาใส่ในลำดับวงศ์ตระกูลเหมือนเป็นลูกชายคนหนึ่ง ซึ่งก็คล้ายกับที่ลูกาเรียกโยเซฟว่า “ลูกของเฮลี” ทั้งที่จริง ๆ แล้วเฮลีเป็นพ่อของมารีย์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:23
เยซู: หรือ “เยชูอา (โยชูวา)” สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “โยซี”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:21
นาธัน: ลูกชายของดาวิดกับบัทเชบาซึ่งเป็นต้นตระกูลของมารีย์ (2ซม 5:13, 14; 1พศ 3:5) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีการพูดถึงนาธันแค่ครั้งเดียวคือในข้อนี้ ลำดับวงศ์ตระกูลของพระเยซูในหนังสือลูกาแตกต่างจากมัทธิว ชื่อเกือบทั้งหมดในบันทึกทั้ง 2 เล่มจึงแตกต่างกัน เหตุผลที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะลูกาลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางนาธัน ลูกชายของดาวิด แต่มัทธิวลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางโซโลมอน ลูกชายอีกคนของดาวิด (มธ 1:6, 7) ลูกาน่าจะลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางบรรพบุรุษของมารีย์ ซึ่งทำให้เห็นว่าพระเยซูเป็นลูกหลานของดาวิดทางสายเลือด ส่วนลำดับเชื้อสายที่มัทธิวบันทึกทำให้รู้ว่าโดยทางโยเซฟ พระเยซูมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่จะได้ครองบัลลังก์ของดาวิด เพราะโยเซฟเป็นลูกหลานของโซโลมอนและเป็นพ่อตามกฎหมายของพระเยซู ทั้งมัทธิวและลูกาบันทึกว่าโยเซฟเป็นพ่อเลี้ยงของพระเยซู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 16; ลก 3:23
สัลโมน: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่เก่าแก่บางฉบับใช้คำว่า “สาลา” แต่บางฉบับใช้คำว่า “สัลโมน” สัลโมนแต่งงานกับราหับชาวเมืองเยรีโคและมีลูกชายชื่อโบอาส (นรธ 4:20-22; มธ 1:4, 5) ในบันทึกที่ 1พศ 2:11 มีการสะกดชื่อเขาอีกแบบหนึ่ง โดยบอกว่า “สัลมามีลูกชายชื่อโบอาส”
อาร์นี: เป็นอีกชื่อหนึ่งของรามที่อยู่ใน มธ 1:3, 4 (ภาษากรีก อารัม) ในบันทึกที่ 1พศ 2:9 บอกว่ารามเป็น “ลูกชายเฮสโรน” และที่ นรธ 4:19 บอกว่า “เฮสโรนมีลูกชายชื่อราม” สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้ชื่อ “ราม” ในข้อนี้ แต่มีสำเนาที่น่าเชื่อถือจำนวนมากสนับสนุนการใช้ชื่อ “อาร์นี”
ลูกของไคนาน: สำเนาเก่าแก่บางฉบับไม่มีข้อความนี้ นี่สอดคล้องกับข้อความที่ ปฐก 10:24; 11:12, 13; และ 1พศ 1:18 ในสำเนาพระคัมภีร์ของพวกมาโซเรตที่บอกว่าอาร์ปัคชาดมีลูกชายชื่อเชลาห์ แต่ในพระคัมภีร์ฉบับเซปตัวจินต์ ที่ยังหลงเหลืออยู่มีชื่อไคนานอยู่ในข้อคัมภีร์เหล่านี้ เช่น โคเดกซ์อะเล็กซานดรินุสจากศตวรรษที่ 5 และสำเนาหนังสือข่าวดีของลูกาจำนวนมากมีข้อความ “ลูกของไคนาน” ดังนั้น ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลส่วนใหญ่จึงมีข้อความนี้
ลูกของอาดัม: ลูกาลำดับเชื้อสายของพระเยซูย้อนไปถึงอาดัมซึ่งเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทั้งโลก นี่สอดคล้องกับความตั้งใจของลูกาที่จะเขียนหนังสือข่าวดีเพื่อมนุษย์ทุกคน ทั้งคนยิวและคนที่ไม่ใช่ชาวยิว ต่างจากหนังสือข่าวดีของมัทธิวที่ลำดับเชื้อสายของพระเยซูไปถึงแค่อับราฮัมเพราะมัทธิวเขียนเพื่อชาวยิวโดยเฉพาะ เห็นได้ชัดว่าหนังสือข่าวดีของลูกาเหมาะกับทุกคนเพราะบันทึกของเขาแสดงให้เห็นว่าคำสอนและงานรับใช้ของพระเยซูเป็นประโยชน์กับมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะมีภูมิหลังแบบไหน ทั้งคนโรคเรื้อนชาวสะมาเรีย คนเก็บภาษีที่ร่ำรวย หรือแม้แต่โจรที่กำลังจะตายบนเสาทรมาน—ลก 17:11-19; 19:2-10; 23:39-43
อาดัมเป็นลูกของพระเจ้า: ข้อความนี้พาเราย้อนไปจนถึงต้นกำเนิดของมนุษย์ และสอดคล้องกับเรื่องราวในปฐมกาลที่บอกว่ามนุษย์คนแรกถูกสร้างโดยพระเจ้าและมีลักษณะคล้ายพระเจ้า (ปฐก 1:26, 27; 2:7) ข้อความนี้ยังทำให้เข้าใจข้อคัมภีร์อื่นด้วย เช่น รม 5:12; 8:20, 21; และ 1คร 15:22, 45
วีดีโอและรูปภาพ
ทิเบริอัสเกิดในปี 42 ก่อน ค.ศ. เขาขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 2 ของโรมในปี ค.ศ. 14 ทิเบริอัสตายในเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 37 เขาเป็นจักรพรรดิตลอดช่วงที่พระเยซูทำงานรับใช้ ดังนั้น ตอนที่พระเยซูพูดถึงเหรียญที่ใช้เสียภาษีว่า “อะไรที่เป็นของซีซาร์ก็ให้กับซีซาร์” ซีซาร์ที่พระเยซูพูดถึงก็คือทิเบริอัส—มก 12:14-17; มธ 22:17-21; ลก 20:22-25
นี่เป็นภาพเหรียญทองแดงทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นเหรียญที่ใช้ในสมัยที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก เฮโรดอันทีพาสผู้ปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรียเป็นคนสั่งทำเหรียญนี้ ตอนที่พวกฟาริสีบอกพระเยซูว่าเฮโรดอยากจะฆ่าท่าน พระเยซูอาจกำลังเดินทางผ่านแคว้นพีเรียซึ่งเป็นเขตปกครองของเฮโรดเพื่อจะไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านจึงเรียกเฮโรดว่า “หมาจิ้งจอก” เนื่องจากประชาชนที่เฮโรดปกครองส่วนใหญ่เป็นชาวยิว เขาจึงให้มีภาพทางปาล์ม (หมายเลข 1) และพวงมาลัย (หมายเลข 2) บนเหรียญที่เขาทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ชาวยิวขุ่นเคือง
ในคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาเดิมที่แปลว่า “ที่กันดาร” (คำฮีบรู มิดห์บาร์ และคำกรีก เอะเรมอส) โดยทั่วไปหมายถึงพื้นที่แห้งแล้งแทบไม่มีใครอยู่อาศัยหรือเพาะปลูก มีแต่พุ่มไม้ ต้นหญ้า และทุ่งหญ้าประปราย นอกจากนั้นคำภาษาเดิมยังอาจหมายถึงเขตที่ไม่มีน้ำจนเรียกได้ว่าเป็นทะเลทราย ในหนังสือข่าวดี เมื่อพูดถึงที่กันดารก็มักหมายถึงที่กันดารยูเดียซึ่งยอห์นอาศัยอยู่และทำงานประกาศ และยังเป็นที่ที่พระเยซูถูกมารล่อใจด้วย—มก 1:12
ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล รองเท้าจะมีพื้นแบน และทำจากหนัง ไม้ หรือถักจากเส้นใย รองเท้าจะรัดติดกับเท้าโดยใช้สายหนัง มีการใช้รองเท้าเป็นสัญลักษณ์ของการซื้อขายถ่ายโอนบางอย่างและใช้เป็นภาพเปรียบเทียบ ตัวอย่างเช่น แม่ม่ายจะถอดรองเท้าของผู้ชายที่เป็นพี่หรือน้องของสามีที่เสียชีวิตซึ่งไม่ยอมทำตามกฎหมายของโมเสสโดยแต่งงานกับเธอ และครอบครัวของผู้ชายคนนั้นก็จะถูกตราหน้าว่า “ครอบครัวของคนที่ถูกถอดรองเท้าออก” (ฉธบ 25:9, 10) การให้รองเท้าของตัวเองกับคนอื่นหมายถึงการโอนที่ดินหรือโอนสิทธิ์ในการไถ่ให้กับคนนั้น (นรธ 4:7) การแก้สายรัดรองเท้าหรือถือรองเท้าให้คนอื่นถูกมองว่าเป็นงานต่ำต้อยที่มักจะทำโดยทาส ยอห์นผู้ให้บัพติศมาพูดถึงการทำแบบนี้เพื่อบ่งบอกว่าตัวเขาต่ำต้อยกว่าพระคริสต์
เลื่อนนวดข้าว 2 อันที่ทำเลียนแบบเลื่อนนวดข้าวสมัยโบราณ (หมายเลข 1) ในภาพนี้เลื่อนนวดข้าวถูกวางหงายเพื่อให้เห็นหินคม ๆ ที่ฝังอยู่ด้านล่าง (อสย 41:15) และอย่างที่เห็นในภาพที่ 2 (หมายเลข 2) ชาวนาเอาฟ่อนข้าวมากระจายไว้บนลานนวดข้าว และเขายืนบนเลื่อนนวดข้าวแล้วให้สัตว์ตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นวัวลากไปรอบ ๆ กีบเท้าของสัตว์และหินคม ๆ ใต้เลื่อนนวดข้าวจะบดแยกเมล็ดข้าวออกจากรวง จากนั้น ชาวนาจะเอาส้อมหรือพลั่ว (หมายเลข 3) โยนข้าวขึ้นไปบนอากาศ แกลบที่มีน้ำหนักเบาจะปลิวไปตามลม และเมล็ดข้าวที่หนักกว่าจะตกลงบนพื้น ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้เลื่อนนวดข้าวเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาจะบดขยี้และทำลายศัตรูของพระองค์ (ยรม 51:33; มคา 4:12, 13) ยอห์นผู้ให้บัพติศมาใช้ตัวอย่างการนวดข้าวเพื่อแสดงว่าการแยกคนดีออกจากคนชั่วจะเป็นอย่างไร