เขียนโดยลูกา 9:1-62
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ไม่ต้องเอาอะไรติดตัวไป: ตอนที่พระเยซูส่งพวกอัครสาวกออกไปประกาศเรื่อง “รัฐบาลของพระเจ้า” (ลก 9:2) ท่านให้คำแนะนำว่าพวกเขาควรทำงานที่สำคัญมากนี้อย่างไร มีการบันทึกคำแนะนำเหล่านี้ในหนังสือข่าวดี 3 เล่ม (มธ 10:8-10; มก 6:8, 9; ลก 9:3) ถึงแม้บันทึกเหล่านั้นใช้คำที่แตกต่างกันบ้าง แต่ก็มีคำแนะนำที่เหมือนกันคือพวกอัครสาวกไม่ควรเป็นห่วงว่าจะต้องเอาอะไรไปเผื่อเมื่อเดินทางเพราะพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขา บันทึกทั้ง 3 เล่มบอกว่าพวกเขาต้องไม่เอา “เสื้ออีกตัวหนึ่ง” ไปด้วยนอกจากตัวที่ใส่อยู่ ปกติแล้วชาวฮีบรูจะถือไม้เท้าไปด้วยเวลาเดินทาง (ปฐก 32:10) และที่ มก 6:8 บอกว่า “นอกจากไม้เท้า แล้ว ไม่ให้เอาอะไรติดตัวไป” ดังนั้น คำแนะนำในข้อนี้ที่ ลก 9:3 (“ไม่ต้องเอาอะไรติดตัวไป ไม่ว่าไม้เท้า”) ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ต้องเอาไม้เท้าไปเลย แต่น่าจะหมายความว่าไม่ควรเอาไม้เท้าอีกอันหนึ่งไปเผื่อนอกจากอันที่มีอยู่ ดังนั้น พระเยซูกำลังบอกพวกสาวกว่าไม่ต้องเอาอะไรติดตัวไปมากเพื่อจะไม่เป็นภาระ เพราะตอนเดินทางพระยะโฮวาจะคอยดูแลพวกเขาเอง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 10:4 ซึ่งเป็นคำแนะนำที่คล้ายกันของพระเยซูตอนที่ส่งสาวก 70 คนออกไปในอีกโอกาสหนึ่ง
เงิน: หมายถึงโลหะเงินที่ใช้เป็นเงินตรา
อยู่ที่นั่น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 6:10
สะบัดฝุ่นออกจากเท้า: เวลาคนยิวที่เคร่งเดินทางผ่านเขตแดนของคนต่างชาติ พวกเขามักจะสะบัดฝุ่นผงที่คิดว่าไม่สะอาดออกจากรองเท้าก่อนจะกลับเข้าเขตแดนของชาวยิว แต่เห็นได้ว่าพระเยซูไม่ได้คิดถึงความหมายนี้ตอนที่ให้คำแนะนำกับสาวก การสะบัดฝุ่นที่เท้าเป็นท่าทางที่แสดงว่าพวกสาวกจะไม่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมาตอนที่พระเจ้ามาพิพากษา มีสำนวนคล้าย ๆ กันนี้อยู่ที่ มธ 10:14 และ มก 6:11 แต่บันทึกที่มาระโกกับลูกามีข้อความเพิ่มเติมว่าเพื่อให้เขารู้ว่าคุณเตือนเขาแล้ว เปาโลกับบาร์นาบัสก็ทำตามคำแนะนำนี้ของพระเยซูตอนที่พวกเขาอยู่ในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย (กจ 13:51) ตอนที่เปาโลอยู่ในเมืองโครินธ์ เขาก็ทำคล้าย ๆ กันโดยสะบัดเสื้อและพูดด้วยว่า “พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน ผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว”—กจ 18:6
เฮโรด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1
ผู้ปกครองแคว้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1
หาอะไรให้เขากิน: นี่เป็นการอัศจรรย์อย่างเดียวของพระเยซูที่มีบันทึกในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม—มธ 14:15-21; มก 6:35-44; ลก 9:10-17; ยน 6:1-13
หักขนมปัง: ขนมปังในสมัยนั้นมักเป็นก้อนแบน ๆ ที่อบจนแข็ง จึงเป็นเรื่องปกติที่จะหักขนมปังก่อนกิน—มธ 14:19; 15:36; 26:26; มก 6:41; 8:6
ตะกร้า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:20
พระเยซูอธิษฐานอยู่ตามลำพัง: เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้เขตซีซารียาฟีลิปปี (มธ 16:13; มก 8:27) ลูกาเป็นคนเดียวที่บันทึกว่าตอนนั้นพระเยซูอธิษฐานอยู่ตามลำพัง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:21
ยอห์นผู้ให้บัพติศมา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1
เอลียาห์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 11:14
พระคริสต์ที่พระเจ้าส่งมา: เปโตรบอกว่าพระเยซูเป็น “พระคริสต์ที่พระเจ้าส่งมา” (คำกรีก ฮอ ฆะริสท็อสโท เธะโอ) คำว่า “พระคริสต์” เป็นตำแหน่งที่มีความหมายเดียวกับคำว่า “เมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) ทั้งสองคำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม” แต่คำว่า “พระคริสต์” ในข้อนี้มีคำนำหน้านามที่เฉพาะเจาะจงในภาษากรีก ซึ่งดูเหมือนเป็นวิธีเน้นตำแหน่งของพระเยซูที่เป็นเมสสิยาห์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1; 2:4
ผู้นำ: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25; กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำ” หมายถึงพวกผู้นำชาวยิวซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงพวกเขาพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่และครูสอนศาสนา สมาชิกศาลแซนเฮดรินก็ประกอบด้วยคนจาก 3 กลุ่มนี้—ลก 20:1; 22:52, 66; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ผู้นำ”
ปุโรหิตใหญ่: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:4 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ปุโรหิตใหญ่”
ครูสอนศาสนา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:4 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ครูสอนศาสนา”
ให้คนนั้นเลิกใช้ชีวิตเพื่อตัวเอง: หรือ “ให้คนนั้นสละสิทธิ์ทุกอย่างที่เป็นของตัวเอง” นี่แสดงว่าคนนั้นเต็มใจปฏิเสธตัวเองอย่างเด็ดขาด หรือเต็มใจยกสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของตัวเองให้กับพระเจ้า ข้อความภาษากรีกนี้อาจแปลได้ว่า “เขาต้องบอกว่าไม่กับตัวเอง” ซึ่งเป็นคำแปลที่เหมาะเพราะข้อความนี้อาจรวมถึงการไม่ทำตามความต้องการของตัวเอง ไม่ติดตามความอยากได้อยากมีหรือความสะดวกสบายของตัวเอง (2คร 5:14, 15) ลูกาใช้คำกริยากรีกเดียวกันนี้และอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันเมื่อพูดถึงเปโตรตอนที่เขาปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซู—ลก 22:34, 57, 61; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:24
เสาทรมาน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:24
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก: คำกรีก คอสม็อส ที่มักจะแปลว่า “โลก” มีความหมายหลักว่า “ความเป็นระเบียบ” หรือ “การจัดเตรียม” ในวรรณกรรมกรีกทั่วไปคำนี้อาจหมายถึงโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกก็มักใช้ในความหมายนี้ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:9, 10; 3:16) แต่คำว่า คอสม็อส ก็ไม่ได้หมายถึงมนุษยชาติเท่านั้น ในคัมภีร์ไบเบิล คำนี้ยังสื่อถึงความหมายดั้งเดิมคือ “ความเป็นระเบียบ” หรือ “การจัดเตรียม” เนื่องจากโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นโครงสร้างที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรม ชนเผ่า เชื้อชาติ และระบบเศรษฐกิจ (1ยน 3:17; วว 7:9; 14:6) นี่คือความหมายของคำว่า “โลก” ในข้อนี้และในบางท้องเรื่อง ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเหล่านี้ที่อยู่รอบตัวและส่งผลกับชีวิตมนุษย์มีขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้นเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 16:21
หลังจากพูดเรื่องนั้นได้ประมาณ 8 วัน: บันทึกของมัทธิวกับมาระโกบอกว่า “หกวันต่อมา” (มธ 17:1; มก 9:2) ส่วนลูกาพูดถึงจำนวนวันในมุมมองที่ต่างจากมัทธิวกับมาระโก ดูเหมือนเขาจะรวมวันที่พระเยซูสัญญาเรื่องนี้ (ลก 9:27) และวันที่พระเยซูเปลี่ยนรูปกายด้วย แต่มัทธิวและมาระโกนับแค่ 6 วันเต็ม ๆ ระหว่าง 2 เหตุการณ์นี้ และน่าสังเกตว่าลูกาพูดถึงช่วงเวลานี้แบบคร่าว ๆ ว่า “ประมาณ 8 วัน”
อธิษฐาน: ลูกาเป็นคนเดียวที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอธิษฐานตอนที่พระเยซูเปลี่ยนรูปกาย และข้อต่อไปก็บอกด้วยว่าพระเยซู “อธิษฐานอยู่” (ลก 9:29) คำอธิษฐานอื่น ๆ ของพระเยซูที่มีเฉพาะในหนังสือลูกามีอยู่ที่ ลก 3:21; 5:16; 6:12; 9:18; 11:1; 23:46
การจากไปของพระเยซู: คำกรีก เอ็คซอดอส ที่ใช้ในข้อนี้ยังมีการใช้ที่ 2ปต 1:15 (จากไป) และ ฮบ 11:22 (อพยพ) ด้วย การจากไปของพระเยซูน่าจะหมายถึงทั้งการตายของท่านและการฟื้นขึ้นจากตายเพื่อไปสวรรค์ด้วย
เสียงพูดออกมาจากเมฆ: นี่เป็นครั้งที่สองจากทั้งหมด 3 ครั้งที่หนังสือข่าวดีบันทึกว่าพระยะโฮวาพูดกับมนุษย์โดยตรง—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:22; ยน 12:28
คนเดียว: คำกรีก มอนอเกะเนส ที่มักจะแปลว่า “ที่ได้รับกำเนิดเพียงคนเดียว” มีความหมายว่า “มีเพียงหนึ่งเดียว, ไม่มีใครเหมือน” คำนี้ใช้ได้กับทั้งลูกชายและลูกสาว ในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึงลูกคนเดียว มีการใช้คำกรีกนี้กับลูกชาย “คนเดียว” ของแม่ม่ายในเมืองนาอิน และลูกสาว “คนเดียว” ของไยรอส (ลก 7:12; 8:41, 42) ฉบับกรีกเซปตัวจินต์ ใช้คำ มอนอเกะเนส เมื่อพูดถึงลูกสาวของเยฟธาห์ว่า “เธอเป็นลูกคนเดียวของเขา นอกจากเธอแล้วเขาไม่มีลูกชายหรือลูกสาวอีกเลย” (วนฉ 11:34) ในหนังสือที่อัครสาวกยอห์นเขียน เขาใช้คำ มอนอเกะเนส 5 ครั้งเมื่อพูดถึงพระเยซู—สำหรับความหมายของคำนี้เมื่อใช้กับพระเยซู ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:14; 3:16
ฤทธิ์อำนาจที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า: หรือ “ความยิ่งใหญ่ (อำนาจ) ของพระเจ้า” ตอนที่พระเยซูรักษาผู้คน ท่านไม่ได้ดึงความสนใจมาที่ตัวเองว่าเป็นคนรักษา แต่ท่านทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการอัศจรรย์ที่เกิดจากพลังอำนาจของพระเจ้า
พระเยซูจะถูกรับไปสวรรค์: คำกรีก อานาเลมพะซิส ที่ใช้ในข้อนี้มีอยู่แค่ครั้งเดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ตามปกติแล้วเข้าใจกันว่าคำนี้หมายถึงการที่พระเยซูขึ้นไปสวรรค์ มีการใช้คำกริยากรีกที่เกี่ยวข้องกันที่ กจ 1:2, 11, 22 และแปลว่า “ถูกรับขึ้นไป” “ถูกรับไปสวรรค์” และ “ถูกรับขึ้นไปสวรรค์”
ท่านตั้งใจจะไป: สำนวนคล้ายกันนี้พบได้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งมีความหมายในแง่ของการมองไปที่เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย หรือความต้องการบางอย่าง (1พก 2:15; 2พก 12:17) ซึ่งสื่อถึงความตั้งใจแน่วแน่และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า—2พศ 20:3; ดนล 11:17
ไม่มีที่จะซุกหัวนอน: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
ท่านครับ: สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับไม่มีคำนี้ แต่สำเนาเก่าแก่ที่เชื่อถือได้จำนวนมากมีคำนี้อยู่
ฝังศพพ่อ: คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อของผู้ชายคนนี้เพิ่งตายและเขาขอไปจัดงานศพให้พ่อ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเขาคงไม่ได้มายืนคุยกับพระเยซูในตอนนี้ เนื่องจากแถบตะวันออกกลางในสมัยโบราณ เมื่อคนในครอบครัวตายจะมีการจัดงานศพทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดวันเดียวกันกับที่คนนั้นตาย ดังนั้น พ่อของเขาอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว แต่ยังไม่ตาย นอกจากนั้น พระเยซูก็คงไม่บอกให้เขาทิ้งพ่อแม่ที่เจ็บป่วยและต้องการความช่วยเหลือ นี่แสดงว่าครอบครัวเขาคงจะมีสมาชิกคนอื่น ๆ ที่สามารถดูแลเรื่องที่สำคัญนี้ได้อยู่แล้ว (มก 7:9-13) จริง ๆ แล้ว ผู้ชายคนนี้หมายความว่า ‘ผมจะตามท่านไปครับ แต่ไม่ใช่ตอนที่พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ รอให้พ่อตายและให้ผมฝังศพพ่อก่อน’ แต่ในมุมมองของพระเยซู ผู้ชายคนนี้เสียโอกาสที่จะทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต—ลก 9:60, 62
ให้คนตายฝังคนตาย: จากข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 9:59 เรารู้ว่าพ่อของผู้ชายที่คุยกับพระเยซูอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว แต่ยังไม่ตาย ดังนั้น จริง ๆ แล้วพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ให้คนที่ตายทางความเชื่อฝังกันเองเถอะ’ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้พ่อตายก่อนแล้วค่อยตัดสินใจติดตามพระเยซู เพราะเขายังมีญาติ ๆ ที่ช่วยดูแลพ่อของเขาได้ ถ้าผู้ชายคนนี้ติดตามพระเยซู เขาก็จะอยู่ในทางที่จะได้ชีวิตตลอดไป ไม่ใช่อยู่กับคนเหล่านั้นที่ตายทางความเชื่อในสายตาพระเจ้า คำตอบของพระเยซูแสดงให้เห็นว่า เพื่อเราจะไม่ตายทางความเชื่อ เราต้องทำให้เรื่องรัฐบาลของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตและประกาศเรื่องนี้ออกไป
คนที่จับคันไถแล้วหันไปมองข้างหลัง: พระเยซูกำลังพูดถึงคนที่อยากมาเป็นสาวกแต่ขอไปลาคนที่บ้านก่อน (ลก 9:61) ในข้อนี้พระเยซูพูดถึงการไถนาเพื่อเน้นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่สาวกของท่านจะทุ่มเททำงานสุดหัวใจ ถ้าคนที่กำลังจับคันไถหันไปสนใจอย่างอื่น รอยไถก็จะไม่ตรง หรือถ้าเขาหยุดไถแล้วหันไปมองข้างหลัง งานของเขาก็จะเสร็จช้า คนที่ได้รับเชิญให้มาเป็นสาวกของพระเยซูก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่จดจ่ออยู่กับงานมอบหมายที่ได้รับ เขาก็คงไม่เหมาะกับรัฐบาลของพระเจ้า
วีดีโอและรูปภาพ
ชาวฮีบรูโบราณนิยมใช้ไม้เท้า ไม้เท้าเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น พยุงตัว (อพย 12:11; ศคย 8:4; ฮบ 11:21) ป้องกันอันตราย (2ซม 23:21) นวดข้าว (อสย 28:27) ตีกิ่งมะกอก (ฉธบ 24:20; อสย 24:13) และอื่น ๆ อีกมากมาย ย่ามใส่อาหารเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ที่มักทำจากหนัง ซึ่งคนเดินทาง คนเลี้ยงแกะ ชาวนาชาวไร่ และคนอื่น ๆ ชอบใช้กัน ย่ามนี้ใช้ใส่อาหาร เสื้อผ้า และของอื่น ๆ ตอนที่พระเยซูส่งอัครสาวกออกไปเดินทางประกาศ ท่านก็พูดเรื่องไม้เท้าและย่ามใส่อาหารด้วย ท่านสั่งให้พวกอัครสาวกเอาไปแต่ไม้เท้าและย่ามที่มีอยู่เท่านั้น พวกเขาไม่ต้องกังวลและไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปเผื่อ เพราะพระยะโฮวาจะดูแลพวกเขา
นี่เป็นภาพเหรียญทองแดงทั้ง 2 ด้าน ซึ่งเป็นเหรียญที่ใช้ในสมัยที่พระเยซูทำงานรับใช้บนโลก เฮโรดอันทีพาสผู้ปกครองแคว้นกาลิลีและพีเรียเป็นคนสั่งทำเหรียญนี้ ตอนที่พวกฟาริสีบอกพระเยซูว่าเฮโรดอยากจะฆ่าท่าน พระเยซูอาจกำลังเดินทางผ่านแคว้นพีเรียซึ่งเป็นเขตปกครองของเฮโรดเพื่อจะไปกรุงเยรูซาเล็ม ท่านจึงเรียกเฮโรดว่า “หมาจิ้งจอก” เนื่องจากประชาชนที่เฮโรดปกครองส่วนใหญ่เป็นชาวยิว เขาจึงให้มีภาพทางปาล์ม (หมายเลข 1) และพวงมาลัย (หมายเลข 2) บนเหรียญที่เขาทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ชาวยิวขุ่นเคือง
คัมภีร์ไบเบิลใช้หลายคำเมื่อพูดถึงตะกร้า เช่น เมื่อพูดถึงตะกร้า 12 ใบที่ใช้เก็บเศษอาหารที่เหลือตอนที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 5,000 คน มีการใช้คำกรีกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าสานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่เมื่อพูดถึงตะกร้า 7 ใบที่ใส่เศษอาหารหลังจากที่พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 4,000 คน ก็มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่ง (มก 8:8, 9) ซึ่งเป็นคำที่แสดงให้เห็นว่าเป็นตะกร้าขนาดใหญ่ ตะกร้าที่ศิษย์ของเปาโลให้เขานั่งแล้วหย่อนลงทางช่องหน้าต่างบนกำแพงเมืองดามัสกัสก็มาจากคำกรีกเดียวกันนี้—กจ 9:25
ภูเขาเฮอร์โมนเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในอิสราเอล โดยมีความสูงถึง 2,814 เมตร และอยู่ใกล้เขตซีซารียาฟีลิปปี เนื่องจากหิมะที่ปกคลุมตามยอดเขาทำให้เกิดน้ำค้างมากมาย ต้นไม้ใบหญ้าในบริเวณนี้จึงมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดฤดูแล้งที่ยาวนาน (สด 133:3) น้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำจอร์แดนก็มาจากหิมะบนภูเขานี้ที่ละลายกลายเป็นน้ำ การเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูอาจเกิดขึ้นที่ภูเขาเฮอร์โมนด้วย—มธ 17:2
ภูเขาเฮอร์โมนตั้งอยู่ทางเหนือสุดของแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญา มียอดที่สูงเด่นหลายยอด ยอดที่สูงที่สุดสูงถึง 2,814 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ยอดสูงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอนติ-เลบานอนทางใต้ การเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูอาจเกิดขึ้นบนภูเขาเฮอร์โมน
พระเยซูบอกว่าชีวิตของท่านไม่เหมือนกับหมาจิ้งจอกและนก เพราะหมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกยังมีรัง แต่ท่านไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง หมาจิ้งจอกในภาพนี้ (Vulpes vulpes) พบได้ในประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งแอฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียด้วย หมาจิ้งจอกอาจอยู่ตามซอกหินหรือในโพรงของสัตว์อื่น ๆ หรือไม่ก็ขุดโพรงอยู่ใต้ดิน ส่วนนกกระจิบ (Cettia cetti) ในภาพนี้เป็นนกชนิดหนึ่งที่พบได้ในอิสราเอล ตลอดทั้งปีอาจพบนกประมาณ 470 ชนิดที่นั่น บางครั้งนกเหล่านี้ก็ทำรังอยู่บนต้นไม้ อยู่ในโพรงของต้นไม้ และอยู่บนหน้าผา รังนกอาจทำมาจากกิ่งไม้ ใบไม้ สาหร่าย ขนสัตว์ ฟาง มอส และขนนก สภาพภูมิประเทศที่หลากหลายของพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ว่าจะเป็นยอดเขาสูงที่หนาวเย็นไปจนถึงหุบเขาลึกที่ร้อนอบอ้าว ทะเลทรายที่แห้งแล้งไปจนถึงที่ราบชายฝั่ง ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นที่อาศัยของนกหลายชนิด บางชนิดก็อพยพไปมาทั่วเขตแดนนี้ และบางชนิดก็อาศัยอยู่ตลอดโดยไม่อพยพไปไหน
ปกติแล้วจะมีการไถนาในฤดูใบไม้ร่วงเพราะฝนที่ตกในฤดูนี้จะทำให้ดินที่แตกระแหงเพราะแดดในฤดูร้อนอ่อนนุ่มขึ้น (ดูภาคผนวก ข15) คันไถบางชนิดทำขึ้นง่าย ๆ จากไม้ท่อนหนึ่งที่อาจมีปลายเป็นเหล็กแหลม ไม้ท่อนนี้จะยึดติดกับท่อนไม้ที่ถูกลากโดยสัตว์หนึ่งตัวหรือมากกว่านั้น เมื่อไถดินเรียบร้อยแล้วก็จะมีการหว่านเมล็ดพืช พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมักมีตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องการไถนาซึ่งเป็นงานที่ทุกคนคุ้นเคยดี (วนฉ 14:18; อสย 2:4; ยรม 4:3; มคา 4:3) พระเยซูก็ชอบใช้เรื่องการเกษตรในตัวอย่างเปรียบเทียบของท่านเพื่อสอนคำสอนสำคัญต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ท่านพูดถึงการไถนาเพื่อเน้นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่สาวกของท่านจะทุ่มเททำงานสุดหัวใจ (ลก 9:62) ถ้าคนที่กำลังไถนาหันไปสนใจอย่างอื่น รอยไถก็จะไม่ตรง คนที่เป็นสาวกของพระเยซูก็เหมือนกัน ถ้าเขาไม่จดจ่ออยู่กับงานมอบหมายที่ได้รับ เขาก็ไม่เหมาะกับรัฐบาลของพระเจ้า