ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ส่วนอธิบายศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิล

  • กฎหมาย​ของ​โมเสส

    กฎหมาย​ที่​พระ​ยะโฮวา​ให้​กับ​ชาว​อิสราเอล​ผ่าน​ทาง​โมเสส​ใน​ที่​กันดาร​ซีนาย​ใน​ปี 1513 ก่อน ค.ศ. มัก​เรียก​หนังสือ 5 เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​กฎหมาย​ของ​โมเสส—ยชว 23:6; ลก 24:44

  • กรีก

    ภาษา​ที่​คน​ใน​ประเทศ​กรีซ​ใช้ และ​เป็น​คำ​เรียก​คน​ที่​เกิด​ใน​กรีซ​หรือ​ครอบครัว​ของ​เขา​มา​จาก​กรีซ ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​ที่​กว้าง​กว่า​นั้น คือ​หมาย​ถึง​คน​ที่​ไม่​ใช่​ชาว​ยิว หรือ​คน​ที่​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ภาษา​และ​วัฒนธรรม​กรีก—ยอล 3:6; ยน 12:20

  • กลับ​ใจ

    ใน​คัมภีร์​ไบเบิล หมาย​ถึง​เปลี่ยน​ความ​คิด​พร้อม​กับ​รู้สึก​เสียใจ​จริง ๆ กับ​รูป​แบบ​ชีวิต​เดิม เสียใจ​ที่​ทำ​ผิด หรือ​เสียใจ​ที่​ไม่​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​ควร​ทำ การ​กลับ​ใจ​ที่​แท้​จริง​ต้อง​แสดง​ออก​ด้วย​การ​กระทำ​โดย​เปลี่ยน​แปลง​ชีวิต​ใหม่—มธ 3:8; กจ 3:19; 2ปต 3:9

  • กอง​เรือ​ทาร์ชิช

    แต่​เดิม​เป็น​ชื่อ​เรียก​กอง​เรือ​ที่​เดิน​ทาง​ไป​ประเทศ​ทาร์ชิช​โบราณ (ปัจจุบัน​คือ​สเปน) แต่​ต่อ​มา​ดู​เหมือน​ว่า​คำ​นี้​หมาย​ถึง​เรือ​เดิน​สมุทร​ขนาด​ใหญ่​ที่​เดิน​ทาง​ไกล ๆ ได้ โซโลมอน​กับ​เยโฮชาฟัท​ใช้​เรือ​แบบ​นี้​เพื่อ​ทำ​การ​ค้า—1พก 9:26; 10:22; 22:48

  • การ​ทรยศ

    คำ​นี้​ใน​ภาษา​กรีก (อะโปสตาเซีย) มา​จาก​คำ​กริยา​ที่​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ยืน​อยู่​ห่าง ๆ” เมื่อ​เป็น​คำ​นาม​หมาย​ถึง “การ​ละ​ทิ้ง” หรือ “การ​กบฏ” ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​ว่า “การ​ทรยศ” (อะโปสตาเซีย) ใช้​กับ​คน​ที่​ทรยศ​ต่อ​การ​นมัสการ​แท้—สภษ 11:9; กจ 21:21; 2ธส 2:3

  • การ​ประทับ

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​นี้​หมาย​ถึง​การ​ประทับ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ใน​ฐานะ​กษัตริย์​เมสสิยาห์ ซึ่ง​เริ่ม​ต้น​ตอน​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​กษัตริย์​บน​สวรรค์​ใน​ช่วง​สมัย​สุด​ท้าย​ของ​โลก​นี้ การ​ประทับ​ของ​พระ​คริสต์​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​มา​ถึง​แล้ว​ก็​จาก​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว แต่​ครอบ​คลุม​ช่วง​เวลา​หนึ่ง—มธ 24:3

  • การ​รับ​ภรรยา​ม่าย​ของ​พี่​ชาย​หรือ​น้อง​ชาย​มา​เป็น​ภรรยา

    ธรรมเนียม​เก่า​แก่​ที่​ผู้​ชาย​จะ​รับ​ภรรยา​ม่าย​ของ​พี่​ชาย​หรือ​น้อง​ชาย​ที่​ยัง​ไม่​มี​ลูก​มา​เป็น​ภรรยา​ของ​ตัว​เอง เพื่อ​จะ​มี​ลูก​ไว้​สืบ​ตระกูล​ให้​ผู้​ที่​ตาย​ไป ต่อ​มา มี​ธรรมเนียม​นี้​อยู่​ใน​กฎหมาย​ของ​โมเสส—ปฐก 38:8; ฉธบ 25:5

  • การ​อัศจรรย์

    การ​กระทำ​หรือ​ปรากฏการณ์​เหนือ​ธรรมชาติ เชื่อ​ว่า​มา​จาก​อำนาจ​ที่​เหนือ​กว่า​มนุษย์ บาง​ครั้ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​คำ​ว่า “การ​อิทธิ​ฤทธิ์” และ “ปาฏิหาริย์” ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​เหมือน​กัน—อพย 4:21; กจ 4:22; ฮบ 2:4

  • กำยาน

    ยาง​ไม้​แห้ง​ที่​ได้​จาก​ต้น​ไม้​หรือ​พืช​บาง​ชนิด​ใน​สกุล Boswellia เมื่อ​เผา​แล้ว​จะ​มี​กลิ่น​หอม เป็น​ส่วน​ผสม​ใน​เครื่อง​หอม​ที่​ใช้​ใน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​วิหาร มัก​ถวาย​พร้อม​กับ​เครื่อง​บูชา​ที่​ทำ​จาก​เมล็ด​ข้าว​และ​วาง​บน​ขนมปัง​แต่​ละ​ตั้ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์—อพย 30:34-36; ลนต 2:1; 24:7; มธ 2:11

  • กิเลอาด

    จริง ๆ แล้ว​หมาย​ถึง​พื้น​ที่​ที่​อุดม​สมบูรณ์​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​แม่น้ำ​จอร์แดน​ทั้ง​ทาง​เหนือ​และ​ทาง​ใต้​ของ​หุบเขา​ยับบอก แต่บาง​ครั้ง​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​หมาย​ถึง​เขต​แดน​ทั้ง​หมด​ของ​อิสราเอล​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​แม่น้ำ​จอร์แดน ซึ่ง​เป็น​ที่​อยู่​ของ​ตระกูล​รูเบน กาด และ​ครึ่ง​ตระกูล​มนัสเสห์ (กดว 32:1; ยชว 12:2; 2พก 10:33)—ดู​ภาค​ผนวก ข​4

  • กิททีธ

    ศัพท์​ทาง​ดนตรี​ที่​ไม่​รู้​ความ​หมาย​แน่ชัด แต่​ดู​เหมือน​มี​รากศัพท์​มา​จาก​คำ​ว่า กัท ใน​ภาษา​ฮีบรู บาง​คน​เชื่อ​ว่า​อาจ​เป็น​ทำนอง​ของ​เพลง​ที่​ร้อง​กัน​ตอน​ทำ​เหล้า​องุ่น เพราะ​คำ​ว่า กัท หมาย​ถึง​บ่อ​ย่ำ​องุ่น—สด 81:0

  • เกราห์

    หน่วย​น้ำหนัก เท่า​กับ 0.57 กรัม เทียบเท่า​กับ 1 ใน 20 เชเขล (ลนต 27:25)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • เกเฮนนา

    ชื่อ​ภาษา​กรีก​ของ​หุบเขา​ฮินโนม ซึ่ง​อยู่​ทาง​ใต้​และ​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​กรุง​เยรูซาเล็ม​โบราณ (ยรม 7:31) มี​การ​พยากรณ์​ไว้​ว่า​ที่​นั่น​จะ​กลาย​เป็น​ที่​ทิ้ง​ศพ (ยรม 7:32; 19:6) ไม่​มี​หลักฐาน​เลย​ว่า​สัตว์​หรือ​มนุษย์​ที่​ถูก​ทิ้ง​ใน​เกเฮนนา​ถูก​เผา​ทั้ง​เป็น​หรือ​ถูก​ทรมาน จึง​ไม่​ถูก​ต้อง​ที่​จะ​ใช้​สถาน​ที่​นี้​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​แดน​ทรมาน​ที่​วิญญาณ​มนุษย์​จะ​ถูก​ทรมาน​ด้วย​ไฟ​ตลอด​ไป แต่​พระ​เยซู​และ​สาวก​ของ​ท่าน​ใช้​คำ​ว่า​เกเฮนนา​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​การ​ลง​โทษ​ตลอด​ไป​ด้วย “ความ​ตาย​ชนิด​ที่​สอง” ซึ่ง​หมาย​ถึง​การ​ทำลาย​ให้​สาบสูญ—วว 20:14; มธ 5:22; 10:28

  • เก็บ​ข้าว​ตก

    การ​เก็บ​รวง​ข้าว​ที่​คน​เกี่ยว​ทำ​ตก​โดย​ตั้งใจ​หรือ​ไม่​ตั้งใจ​ใน​ทุ่ง​นา กฎหมาย​ของ​โมเสส​ห้าม​ไม่​ให้​เกี่ยว​ข้าว​ริม​คันนา​จน​หมด หรือ​เก็บ​ผล​มะกอก​หรือ​องุ่น​จน​หมด​ต้น พระเจ้า​ให้​คน​ยาก​จน คน​ตก​ทุกข์​ได้​ยาก คน​ต่าง​ชาติ ลูก​กำพร้า​พ่อ และ​แม่​ม่าย​มี​สิทธิ์​เก็บ​ข้าว​ตก​หลัง​จาก​ที่​มี​การ​เก็บ​เกี่ยว​แล้ว—นรธ 2:7

  • แกลบ

    เปลือก​ข้าว​ที่​แยก​ออก​จาก​เมล็ด​ข้าว​ตอน​ที่​มี​การ​นวด​ข้าว​และ​ฝัด มี​การ​ใช้​แกลบ​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ถึง​สิ่ง​ที่​ไม่​มี​ค่า​และ​ไม่​เป็น​ที่​ต้องการ—สด 1:4; มธ 3:12

  • ขนมปัง​ถวาย

    ขนมปัง 12 อัน​ที่​วาง​ซ้อน​กัน 2 ตั้ง ตั้ง​ละ 6 อัน​บน​โต๊ะ​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​วิหาร บาง​ครั้ง​เรียก​ว่า “ขนมปัง​ที่​วาง​ซ้อน​กัน” หรือ “ขนมปัง​ที่​ตั้ง​ถวาย” มี​การ​เปลี่ยน​ขนมปัง​ใหม่​ทุก​วัน​สะบาโต ปกติ​แล้ว ปุโรหิต​เท่า​นั้น​ที่​มี​สิทธิ์​กิน​ขนมปัง​ซึ่ง​ถูก​เปลี่ยน​ออก​ไป (2พศ 2:4; มธ 12:4; อพย 25:30; ลนต 24:5-9; ฮบ 9:2)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • ขนมปัง​ที่​ตั้ง​ถวาย

    ดู​คำ​ว่า “ขนมปัง​ถวาย

  • ของ​บรรณาการ

    สิ่ง​ที่​รัฐ​หนึ่ง​หรือ​กษัตริย์​องค์​หนึ่ง​จ่าย​ให้​กับ​อีก​รัฐ​หนึ่ง​หรือ​กษัตริย์​อีก​องค์​หนึ่ง​เพื่อ​แสดง​ว่า​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ เพื่อ​รักษา​ไมตรี​ต่อ​กัน หรือ​เพื่อ​ขอ​การ​คุ้มครอง (2พก 3:4; 18:14-16; 2พศ 17:11) ใน​ภาษา​ฮีบรู คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​ภาษี​หรือ​ค่า​อากร​ที่​เรียก​เก็บ​จาก​ประชาชน​ด้วย—นหม 5:4; รม 13:7

  • ของ​ประกัน, ของ​ค้ำ​ประกัน

    ของ​ส่วน​ตัว​ที่​ลูกหนี้​เอา​มา​ให้​เจ้าหนี้​เพื่อ​รับประกัน​ว่า​จะ​จ่าย​เงิน​ที่​กู้​มา กฎหมาย​ของ​โมเสส​มี​ข้อ​กำหนด​หลาย​ข้อ​เกี่ยว​กับ​ของ​ประกัน เพื่อ​ปก​ป้อง​ผล​ประโยชน์​ของ​ประชาชน​ที่​ยาก​จน​และ​ไม่​สามารถ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง​ได้—อพย 22:26; อสค 18:7

  • ขันที

    ความ​หมาย​ตรง​ตัว​คือ​ผู้​ชาย​ที่​ถูก​ตอน ซึ่ง​มัก​จะ​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ทำ​งาน​ใน​ราชสำนัก เช่น เป็น​คน​รับใช้​หรือ​คน​ดู​แล​ราชินี​และ​นาง​สนม คำ​นี้​ยัง​หมาย​ถึง​ผู้​ชาย​ที่​ไม่​ได้​ถูก​ตอน​แต่​ทำ​งาน​เป็น​ข้าราชการ​ใน​ราชสำนัก​ของ​กษัตริย์​ด้วย สำนวน​ที่​ว่า ‘เป็น​ขันที​เพื่อ​รัฐบาล​สวรรค์’ หมาย​ถึง​คน​ที่​ควบคุม​ตัว​เอง​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​พระเจ้า​ได้​อย่าง​เต็ม​ที่—มธ 19:12; อสธ 2:15; กจ 8:27

  • ขาบ

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง เท่า​กับ 1.22 ลิตร โดย​คำนวณ​จาก​ปริมาตร​โดย​ประมาณ​ของ​มาตรา​บัท (2พก 6:25)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ข่าว​ดี

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก หมาย​ถึง​ข่าว​ดี​เรื่อง​รัฐบาล​ของ​พระเจ้า​และ​เรื่อง​การ​ได้​ความ​รอด​โดย​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์—ลก 4:18, 43; กจ 5:42; วว 14:6

  • ขื่อ

    เครื่อง​มือ​จองจำ​นัก​โทษ บาง​ชนิด​จะ​ตรึง​แค่​เท้า บาง​ชนิด​จะ​ตรึง​ทั้ง​เท้า ทั้ง​มือ และ​คอ​ซึ่ง​ทำ​ให้​นัก​โทษ​ตัว​งอ​บิด​เบี้ยว—ยรม 20:2; กจ 16:24

  • ขุม​ลึก

    มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก อาวีโซส ซึ่ง​หมาย​ถึง “ลึก​มาก ๆ” หรือ “ลึก​จน​หยั่ง​ไม่​ถึง” “ไร้​ขอบ​เขต” มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เมื่อ​พูด​ถึง​สถาน​ที่​สำหรับ​กัก​ขัง​หรือ​สภาพ​ที่​ถูก​กัก​ขัง เช่น หลุม​ศพ และ​อื่น ๆ—ลก 8:31; รม 10:7; วว 20:3

  • เขา, เขา​สัตว์

    หมาย​ถึง​เขา​ของ​สัตว์​ที่​นำ​มา​ใช้​เป็น​ภาชนะ​ใส่​เครื่อง​ดื่ม น้ำมัน น้ำ​หมึก และ​เครื่อง​สำอาง เขา​สัตว์​ยัง​ใช้​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​หรือ​ใช้​เป่า​เพื่อ​ส่ง​สัญญาณ​ด้วย (1ซม 16:1, 13; 1พก 1:39; อสค 9:2) คำ​ว่า “เขา​สัตว์” มัก​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​กำลัง​และ​ชัย​ชนะ—ฉธบ 33:17; มคา 4:13; ศคย 1:19

  • คทา

    ไม้​ที่​ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง​ถือ เป็น​สัญลักษณ์​ของ​อำนาจ​กษัตริย์—ปฐก 49:10; ฮบ 1:8

  • คน​กลาง

    ผู้​ทำ​หน้า​ที่​ไกล่เกลี่ย​ให้ 2 ฝ่าย​คืน​ดี​กัน ใน​พระ​คัมภีร์ โมเสส​เป็น​คน​กลาง​ของ​สัญญา​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย และ​พระ​เยซู​เป็น​คน​กลาง​ของ​สัญญา​ใหม่—กท 3:19; 1ทธ 2:5

  • คน​ทรง

    คน​ที่​อ้าง​ว่า​พูด​คุย​กับ​คน​ตาย​ได้—ลนต 20:27; ฉธบ 18:10-12; 2พก 21:6

  • คน​ที่​มี​อิสระ, คน​ที่​ได้​รับ​อิสระ

    ใน​ช่วง​การ​ปกครอง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน “คน​ที่​มี​อิสระ” หมาย​ถึง​คน​ที่​มี​อิสระ​มา​ตั้ง​แต่​เกิด​และ​มี​สิทธิ​พลเมือง​อย่าง​ครบ​ถ้วน ส่วน “คน​ที่​ได้​รับ​อิสระ” หมาย​ถึง​ได้​รับ​การ​ปลด​ปล่อย​จาก​การ​เป็น​ทาส คน​ที่​ได้​รับ​อิสระ​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​จะ​ได้​รับ​สิทธิ​เป็น​พลเมือง​โรมัน แต่​ไม่​สามารถ​มี​ตำแหน่ง​ทาง​การ​เมือง​ได้ ส่วน​คน​ที่​ได้​รับ​อิสระ​อย่าง​ไม่​เป็น​ทาง​การ​จะ​ได้​พ้น​จาก​การ​เป็น​ทาส แต่​ไม่​ได้​รับ​สิทธิ​พลเมือง​อย่าง​ครบ​ถ้วน—1คร 7:22

  • คน​เฝ้า​ยาม, คน​ยาม

    คน​ที่​คอย​ระวัง​รักษา​ความ​ปลอด​ภัย​ให้​กับ​คน​หรือ​สถาน​ที่​โดย​เฉพาะ​ใน​ตอน​กลางคืน และ​คอย​ส่ง​สัญญาณ​เตือน​เมื่อ​เห็น​ว่า​กำลัง​มี​ภัย คน​เฝ้า​ยาม​มัก​จะ​อยู่​บน​กำแพง​เมือง​และ​หอคอย​เพื่อ​สังเกต​ดู​คน​ที่​กำลัง​เข้า​มา​ใกล้​เมือง คน​เฝ้า​ยาม​ใน​กองทัพ​เรียก​ว่า​ทหาร​ยาม พวก​ผู้​พยากรณ์​ทำ​หน้า​ที่​เหมือน​คน​เฝ้า​ยาม​ให้​กับ​ชาติ​อิสราเอล​เพื่อ​เตือน​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​จะ​ถูก​ทำลาย—2พก 9:20; อสค 3:17

  • คริสเตียน

    พระเจ้า​ให้​ชื่อ​นี้​กับ​พวก​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์—กจ 11:26; 26:28

  • ครู​สอน​ศาสนา

    ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​เรียก​ว่า ผู้​คัด​ลอก ใน​สมัย​ที่​พระ​เยซู​มา​บน​โลก ครู​สอน​ศาสนา​คือ​กลุ่ม​คน​ที่​เชี่ยวชาญ​กฎหมาย​ของ​โมเสส และ​เป็น​พวก​ที่​ต่อ​ต้าน​พระ​เยซู—มก 12:38, 39; 14:1

  • ความ​กรุณา​ที่​ยิ่ง​ใหญ่

    มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​สื่อ​แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​น่า​พึง​พอ​ใจ​และ​ดึงดูด​ใจ มัก​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​หมาย​ถึง​ของ​ขวัญ​ที่​ให้​ด้วย​ความ​กรุณา​และ​เอ็นดู ดัง​นั้น ความ​กรุณา​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระเจ้า​จึง​หมาย​ถึง​ของ​ขวัญ​ที่​พระเจ้า​ให้​อย่าง​ใจ​กว้าง​โดย​ไม่​หวัง​สิ่ง​ตอบ​แทน ซึ่ง​แสดง​ว่า​พระองค์​มี​น้ำใจ​เอื้อเฟื้อ​และ​มี​ความ​รัก​ความ​กรุณา​ต่อ​มนุษย์​อย่างล้น​เหลือ บาง​ครั้ง​มี​การ​แปล​คำ​ภาษา​กรีก​คำ​นี้​ด้วย​ว่า “ความ​ชื่น​ชอบ” และ “ของ​ขวัญ” ซึ่ง​แสดง​ถึง​การ​ให้​ที่​เกิด​จาก​ความ​เอื้อเฟื้อ​ของ​ผู้​ให้​ล้วน ๆ ไม่​ใช่​การ​ให้​เพื่อ​ตอบ​แทน​บุญคุณ​หรือ​ตอบ​แทน​ความ​ดี​ของ​ผู้​รับ—2คร 6:1; อฟ 1:7

  • ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่

    คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า “ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก” ถ่ายทอด​แนว​คิด​ของ​ความ​ทุกข์​หรือ​ความ​เจ็บ​ปวด​ที่​เกิด​จาก​การ​ถูก​กดดัน​ใน​สภาพการณ์​ต่าง ๆ พระ​เยซู​พูด​ถึง “ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่” ที่​ไม่​เคย​มี​มา​ก่อน​ซึ่ง​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​กรุง​เยรูซาเล็ม และ​ที่​สำคัญ​จะ​เกิด​ขึ้น​กับ​มนุษย์​ทั่ว​โลก​ใน​อนาคต​เมื่อ​ท่าน ‘มา​ด้วย​รัศมี​แรง​กล้า’ (มธ 24:21, 29-31) เปาโล​บอก​ว่า​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​นี้​เป็น​การ​กระทำ​ที่​ยุติธรรม​ของ​พระเจ้า​เพื่อ​ลง​โทษ “คน​ที่​ไม่​รู้​จัก​พระเจ้า​และ​คน​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ข่าว​ดี” เรื่อง​พระ​เยซู​คริสต์ ใน​หนังสือ​วิวรณ์​บท 19 บอก​ว่า​พระ​เยซู​จะ​นำ​กอง​กำลัง​สวรรค์​มา​ต่อ​สู้​กับ “สัตว์​ร้าย​นั้น​กับ​พวก​กษัตริย์​บน​โลก และ​กองทัพ​ของ​พวก​เขา” (2ธส 1:6-8; วว 19:11-21) แต่​จะ​มี “ชน​ฝูง​ใหญ่” รอด​ผ่าน​ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่​นั้น (วว 7:9, 14)—ดู​คำ​ว่า “อาร์มาเกดโดน

  • ความ​รัก​ที่​มั่นคง

    ส่วน​ใหญ่​แปล​มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู เคเซด หมาย​ถึง ความ​รัก​ที่​เกิด​จาก​ความ​ซื่อ​สัตย์ ความ​ภักดี และ​ความ​ผูก​พัน​อย่าง​ลึกซึ้ง คำ​นี้​มัก​ใช้​เมื่อ​พูด​ถึง​ความ​รัก​ที่​พระเจ้า​มี​ต่อ​มนุษย์ แต่​ก็​เป็น​ความ​รัก​ที่​มนุษย์​มี​ต่อ​กัน​ได้​ด้วย—อพย 34:6; นรธ 3:10

  • ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี

    ความ​รู้สึก​ใน​ตัว​มนุษย์​ที่​บอก​ว่า​อะไร​ถูก​อะไร​ผิด อะไร​ควร​ทำ​และ​อะไร​ไม่​ควร​ทำ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​นั้น​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ความ​รู้​ร่วม​กัน” หรือ “ความ​รู้​ร่วม​กับ​ตัว​เอง” นั่น​แสดง​ว่า​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​สามารถ​ตัดสิน​การ​กระทำ​ของ​เรา ฟ้อง​เรา​เมื่อ​ทำ​ผิด หรือ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​ทำ​ถูก ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี​ยัง​เตือน​เรา​ก่อน​ที่​จะ​ทำ​ผิด​ด้วย—รม 2:14, 15; 9:1

  • ความ​ลับ​ศักดิ์สิทธิ์

    เรื่อง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​ยัง​ไม่​เปิด​เผย​ให้​รู้​จน​กว่า​จะ​ถึง​เวลา​ที่​พระองค์​กำหนด​ไว้ และ​พระองค์​เปิด​เผย​ความ​ลับ​นี้​กับ​คน​ที่​พระองค์​เลือก​เท่า​นั้น—มก 4:11; คส 1:26

  • ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า

    ความ​นับถือ การ​นมัสการ และ​การ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ด้วย​ความ​ภักดี​ต่อ​อำนาจ​การ​ปกครอง​สูง​สุด​ของ​พระองค์—1ทธ 4:8; 2ทธ 3:12

  • คานาอัน

    หลาน​ชาย​ของ​โนอาห์​และ​ลูก​ชาย​คน​ที่ 4 ของ​ฮาม ต่อ​มา ลูก​หลาน​ของ​คานาอัน 11 ตระกูล​มา​อาศัย​อยู่​ทาง​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน​ระหว่าง​อียิปต์​กับ​ซีเรีย บริเวณ​นี้​จึง​เรียก​ว่า “แผ่นดิน​คานาอัน” (ลนต 18:3; ปฐก 9:18; กจ 13:19)—ดู​ภาค​ผนวก ข​4

  • ค่า​ไถ่

    ราคา​ที่​จ่าย​เพื่อ​ให้​ปลด​ปล่อย​จาก​การ​ถูก​กัก​ขัง​หรือ​กัก​ตัว จาก​การ​ลง​โทษ การ​ทน​ทุกข์ บาป หรือ​ข้อ​ผูก​มัด​บาง​อย่าง ค่า​ไถ่​ไม่​จำเป็น​ต้อง​เป็น​ตัว​เงิน​เสมอ​ไป (อสย 43:3) มี​หลาย​สถานการณ์​ที่​กำหนด​ไว้​ว่า​ต้อง​จ่าย​ค่า​ไถ่ เช่น พระ​ยะโฮวา​ถือ​ว่า​ลูก​ชาย​คน​โต​ทุก​คน​และ​ลูก​สัตว์​ตัว​ผู้​ตัว​แรก​ทุก​ตัว​เป็น​ของ​พระองค์ พวก​อิสราเอล​จึง​ต้อง​จ่าย​ค่า​ไถ่​สำหรับ​ลูก​ชาย​คน​โต​เพื่อ​ไถ่​เขา​จาก​หน้า​ที่​ใน​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา และ​ต้อง​จ่าย​ค่า​ไถ่​สำหรับ​สัตว์​ตัว​ผู้​ตัว​แรก​แทน​ที่​จะ​ถวาย​กับ​พระองค์ (กดว 3:45, 46; 18:15, 16) ถ้า​คน​หนึ่ง​มี​วัว​ที่​เขา​รู้​ว่า​ดุ​ร้าย​แต่​ไม่​ได้​ขัง​มัน​ไว้ แล้ว​มัน​ไป​ขวิด​คน​อื่น​ตาย เจ้าของ​วัว​จะ​ต้อง​จ่าย​ค่า​ไถ่​สำหรับ​ตัว​เอง เขา​ถึง​จะ​พ้น​โทษ​ประหารชีวิต (อพย 21:29, 30) แต่​จะ​จ่าย​ค่า​ไถ่​สำหรับ​คน​ที่​เจตนา​ฆ่า​คน​ไม่​ได้ (กดว 35:31) และ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด คัมภีร์​ไบเบิล​เน้น​ค่า​ไถ่​ของ​พระ​คริสต์​ที่​สละ​ชีวิต​ของ​ท่าน​เพื่อ​ปลด​ปล่อย​มนุษย์​ที่​เชื่อ​ฟัง​ให้​พ้น​จาก​บาป​และ​ความ​ตาย—สด 49:7, 8; มธ 20:28; อฟ 1:7

  • คำ​พยากรณ์

    ข่าวสาร​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า อาจ​เป็น​การ​เปิด​เผย​หรือ​ประกาศ​ให้​รู้​ความ​ประสงค์​ของ​พระองค์ คำ​พยากรณ์​อาจ​เป็น​คำ​สอน คำ​สั่ง หรือ​คำ​พิพากษา​ของ​พระเจ้า หรือ​เป็น​การ​ประกาศ​ให้​รู้​ว่า​จะ​เกิด​อะไร​ขึ้น​ใน​อนาคต—อสค 37:9, 10; ดนล 9:24; มธ 13:14; 2ปต 1:20, 21

  • คิสเลฟ

    หลัง​จาก​ชาว​ยิว​กลับ​จาก​บาบิโลน คิสเลฟ​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 9 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 3 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​พฤศจิกายน​ถึง​กลาง​เดือน​ธันวาคม (นหม 1:1; ศคย 7:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • คืบ

    มาตรา​วัด​ความ​ยาว มี​ความ​ยาว​โดย​ประมาณ​เท่า​กับ​ระยะ​จาก​ปลาย​นิ้ว​หัวแม่มือ​ถึง​ปลาย​นิ้ว​ก้อย​เมื่อ​กาง​มือ​เต็ม​ที่ เมื่อ​คำนวณ​จาก​มาตรา​ศอก​ซึ่ง​ยาว 44.5 ซม. 1 คืบ​จะ​ยาว 22.2 ซม. (อพย 28:16; 1ซม 17:4)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • เคโมช

    เทพเจ้า​สูง​สุด​ของ​ชาว​โมอับ—1พก 11:33

  • เครูบ

    ทูตสวรรค์​ที่​มี​ตำแหน่ง​สูง​และ​มี​หน้า​ที่​พิเศษ เป็น​คน​ละ​กลุ่ม​กับ​เสราฟ—ปฐก 3:24; อพย 25:20; อสย 37:16; ฮบ 9:5

  • เคลเดีย, ชาว​เคลเดีย

    เดิม​หมาย​ถึง​แผ่นดิน​และ​ผู้​คน​ที่​อาศัย​อยู่​บริเวณ​สาม​เหลี่ยม​ปาก​แม่น้ำ​ไทกริส​และ​ยูเฟรติส ต่อ​มา คำ​นี้​หมาย​ถึง​แผ่นดิน​บาบิโลเนีย​ทั้ง​หมด​และ​หมาย​ถึง​คน​ที่​อยู่​ที่​นั่น​ด้วย คำ​ว่า “ชาว​เคลเดีย” ยัง​หมาย​ถึง​กลุ่ม​คน​ที่​มี​การ​ศึกษา​สูง​ซึ่ง​ศึกษา​เกี่ยว​กับ​วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษา และ​ดาราศาสตร์ แต่​ก็​ใช้​เวทมนตร์​คาถา​และ​โหราศาสตร์​ด้วย—อสร 5:12; ดนล 4:7; กจ 7:4

  • เครื่อง​บูชา

    สิ่ง​ที่​นำ​มา​ถวาย​พระเจ้า​เพื่อ​แสดง​ความ​ขอบคุณ หรือ​แสดง​การ​ยอม​รับ​ผิด และ​เพื่อ​ฟื้นฟู​ความ​สัมพันธ์​กับ​พระเจ้า ตั้ง​แต่​อาเบล​เป็น​ต้น​มา มนุษย์​ถวาย​หลาย​สิ่ง​เป็น​เครื่อง​บูชา​ด้วย​ความ​สมัคร​ใจ เช่น สัตว์​ต่าง ๆ แต่​เมื่อ​มี​กฎหมาย​ของ​โมเสส การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ก็​กลาย​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง หลัง​จาก​พระ​เยซู​สละ​ชีวิต​ของ​ท่าน​เป็น​เครื่อง​บูชา​ที่​สมบูรณ์​แล้ว เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​สัตว์​ก็​ไม่​จำเป็น​อีก​ต่อ​ไป ทุก​วัน​นี้ คริสเตียน​ก็​ยัง​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ให้​พระเจ้า​อยู่ แต่​เป็น​ใน​รูป​แบบ​อื่น เช่น คำ​พูด​และ​การ​กระทำ​ที่​ทำ​ให้​พระเจ้า​พอ​ใจ—ปฐก 4:4; ฮบ 13:15, 16; 1ยน 4:10

  • เครื่อง​บูชา​ขอบคุณ

    เครื่อง​บูชา​ผูก​มิตร​แบบ​หนึ่ง​ที่​ถวาย​เพื่อ​ยกย่อง​สรรเสริญ​พระเจ้า​เพราะ​พระองค์​ให้​สิ่ง​ดี ๆ และ​มี​ความ​รัก​ที่​มั่นคง จะ​มี​การ​กิน​เนื้อ​สัตว์​ที่​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา​กับ​ขนมปัง​ที่​ใส่​เชื้อ​และ​ไม่​ใส่​เชื้อ และ​จะ​ต้อง​กิน​เนื้อ​สัตว์​นั้น​ใน​วัน​เดียว​กับ​ที่​ถวาย​เครื่อง​บูชา—2พศ 29:31

  • เครื่อง​บูชา​ดื่ม

    เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​เหล้า​องุ่น​ซึ่ง​เท​ลง​บน​แท่น​บูชา​และ​มัก​จะ​ถวาย​คู่​กับ​เครื่อง​บูชา​อื่น ๆ เปาโล​ใช้​คำ​นี้​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ถึง​ความ​เต็ม​ใจ​ที่​จะ​ทำ​งาน​รับใช้​เพื่อ​เพื่อน​คริสเตียน—กดว 15:5, 7; ฟป 2:17

  • เครื่อง​บูชา​ไถ่​ความ​ผิด

    เครื่อง​บูชา​สำหรับ​บาป​ที่​แต่​ละ​คน​ทำ​ไป แตกต่าง​จาก​เครื่อง​บูชา​ไถ่​บาป​อื่น ๆ เล็ก​น้อย​ใน​แง่​ที่​ว่า เครื่อง​บูชา​ไถ่​ความ​ผิด​นี้​ช่วย​ให้​คน​ที่​ถวาย​ได้​สิทธิ์​บาง​อย่าง​กลับ​คืน​มา ซึ่ง​เป็น​สิทธิ์​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส​ที่​เขา​สูญ​เสีย​ไป​เพราะ​ทำ​บาป และเพื่อ​ให้​เขา​พ้น​โทษ—ลนต 7:37; 19:22; อสย 53:10

  • เครื่อง​บูชา​ไถ่​บาป

    เครื่อง​บูชา​สำหรับ​บาป​ที่​ทำ​ไป​โดย​ไม่​เจตนา​เพราะ​ความ​อ่อนแอ​และ​ความ​ไม่​สมบูรณ์ สัตว์​ที่​นำ​มา​ถวาย​เป็น​เครื่อง​บูชา​มี​หลาย​ชนิด เช่น สัตว์​ใหญ่​อย่าง​วัว​หรือ​สัตว์​เล็ก​อย่าง​นก​พิราบ ขึ้น​อยู่​กับ​ฐานะ​ตำแหน่ง​และ​สภาพการณ์​ของ​คน​ที่​ต้องการ​ไถ่​บาป—ลนต 4:27, 29; ฮบ 10:8

  • เครื่อง​บูชา​ผูก​มิตร

    เครื่อง​บูชา​ที่​ถวาย​พระ​ยะโฮวา​เพื่อ​จะ​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระองค์ คน​ที่​เอา​เครื่อง​บูชา​มา​ถวาย​และ​คน​ใน​บ้าน​ของ​เขา รวม​ทั้ง​ปุโรหิต​ที่​เป็น​คน​ถวาย​กับ​พวก​ปุโรหิต​ที่​เข้า​เวร​จะ​กิน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เครื่อง​บูชา​นั้น ส่วน​เลือด​ซึ่ง​หมาย​ถึง​ชีวิต​และ​กลิ่น​หอม​จาก​การ​เผา​มัน​สัตว์​ที่​เป็น​เครื่อง​บูชา​จะ​ถวาย​ให้​กับ​พระ​ยะโฮวา จึง​เหมือน​กับ​ว่า​ปุโรหิต​และ​คน​ที่​เอา​เครื่อง​บูชา​มา​ถวาย​ได้​นั่ง​กิน​อาหาร​กับ​พระ​ยะโฮวา ซึ่ง​แสดง​ถึง​มิตรภาพ​ที่​ดี​ต่อ​กัน—ลนต 7:29, 32; ฉธบ 27:7

  • เครื่อง​บูชา​เผา

    เครื่อง​บูชา​ที่​เป็น​สัตว์​ซึ่ง​ถูก​เผา​บน​แท่น​บูชา​เพื่อ​ถวาย​ให้​พระเจ้า​ทั้ง​หมด ไม่​มี​ส่วน​ไหน​ของ​สัตว์ (วัว แกะ​ตัว​ผู้ แพะ​ตัว​ผู้ นก​เขา หรือ​ลูก​นก​พิราบ) ที่​ผู้​ถวาย​เก็บ​ไว้​เอง—อพย 29:18; ลนต 6:9

  • เครื่อง​บูชา​ยื่น​ถวาย

    เครื่อง​บูชา​แบบ​หนึ่ง​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​ปุโรหิต​จะ​เอา​มือ​รอง​ใต้​มือ​ของ​คน​ที่​กำลัง​ถวาย​เครื่อง​บูชา​และ​แกว่ง​เครื่อง​บูชา​ไป​ด้วย​กัน หรือ​ปุโรหิต​อาจ​จะ​แกว่ง​เครื่อง​บูชา​นั้น​ด้วย​ตัว​เอง การ​ทำ​อย่าง​นี้​แสดง​ว่า​กำลัง​ยื่น​ถวาย​เครื่อง​บูชา​ให้​พระ​ยะโฮวา—ลนต 7:30

  • เครื่อง​บูชา​สำหรับ​คำ​ปฏิญาณ

    เครื่อง​บูชา​ที่​ถวาย​ด้วย​ความ​สมัคร​ใจ​และ​ถวาย​เมื่อ​ปฏิญาณ—ลนต 23:38; 1ซม 1:21

  • เครื่องหมาย, สัญญาณ, สัญลักษณ์

    ใน​พระ​คัมภีร์ คำ​เหล่า​นี้​หมาย​ถึง​การ​กระทำ เหตุ​การณ์ หรือ​สัญลักษณ์​ที่​ชี้​ถึง​หรือ​เป็น​หลักฐาน​ยืน​ยัน​เกี่ยว​กับ​อะไร​บาง​อย่าง​ใน​ปัจจุบัน​หรือ​อนาคต—ปฐก 9:12, 13; 2พก 20:9; มธ 24:3; วว 1:1

  • เครื่องหมาย​อัน​บริสุทธิ์​ที่​แสดง​ถึง​การ​อุทิศ​ตัว

    แถบ​ทองคำ​บริสุทธิ์​ที่​เงา​วาว มี​ข้อ​ความ​สลัก​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​ซึ่ง​แปล​ว่า “พระ​ยะโฮวา​บริสุทธิ์” คาด​อยู่​ที่​ด้าน​หน้า​ผ้า​โพก​หัว​ของ​มหา​ปุโรหิต (อพย 39:30)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • เครื่อง​หอม

    ส่วน​ผสม​ของ​ยาง​ไม้​หอม​กับ​น้ำมัน​ยา ซึ่ง​จะ​ไหม้​ช้า ๆ และ​ให้​กลิ่น​หอม มี​เครื่อง​หอม​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​ปรุง​พิเศษ​ด้วย​ส่วน​ผสม 4 อย่าง​สำหรับ​ใช้​ที่​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​ที่​วิหาร มี​การ​เผา​เครื่อง​หอม​ใน​ตอน​เช้า​และ​ตอน​กลางคืน​บน​แท่น​เผา​เครื่อง​หอม​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์ แต่​ใน​วัน​ไถ่​บาป​จะ​มี​การ​เผา​เครื่อง​หอม​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด เครื่อง​หอม​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​คำ​อธิษฐาน​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ซึ่ง​เป็น​คำ​อธิษฐาน​ที่​พระเจ้า​ยอม​รับ การ​ใช้​เครื่อง​หอม​ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คริสเตียน—อพย 30:34, 35; ลนต 16:13; วว 5:8

  • เครื่อง​อาวุธ

    เป็น​ชุด​ที่​ทหาร​ใส่​เพื่อ​ปก​ป้อง​ตัว​เอง มี​ทั้ง​หมวก​เกราะ เสื้อ​เกราะ เข็ม​ขัด เกราะ​หุ้ม​แข้ง และ​โล่—1ซม 31:9; อฟ 6:13-17

  • แคสเซีย

    เปลือก​ไม้​ของ​ต้น​แคสเซีย (Cinnamomum cassia) อยู่​ใน​ตระกูล​เดียว​กับ​อบเชย ใช้​ปรุง​น้ำหอม​และ​เป็น​ส่วน​ผสม​ของ​น้ำมัน​เจิม​บริสุทธิ์—อพย 30:24; สด 45:8; อสค 27:19

  • โคระ

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง​และ​ของ​เหลว เท่า​กับ 220 ลิตร โดย​คำนวณ​จาก​ปริมาตร​โดยประมาณ​ของ​มาตรา​บัท (1พก 5:11)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • เฆี่ยน

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​หมาย​ถึง​การ​ตี​ด้วย​แส้​ที่​มี​ปุ่ม​หรือ​ปม หรือ​มี​ปลาย​เป็น​เงี่ยง​ที่​แหลม​คม—ยน 19:1

  • งาน​รับใช้​ที่​ศักดิ์สิทธิ์

    งาน​รับใช้​หรือ​งาน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​โดย​ตรง​กับ​การ​นมัสการ​พระเจ้า—รม 12:1; วว 7:15

  • เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง

    ใน​จักรวรรดิ​บาบิโลน เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​คือ​พวก​ข้าราชการ​ใน​เขต​ปกครอง​ต่าง ๆ ที่​รู้​กฎหมาย​และ​มี​อำนาจ​ใน​การ​ตัดสิน​ใจ​ระดับ​หนึ่ง แต่​ใน​ดินแดน​ที่​เป็น​อาณานิคม​ของ​โรมัน เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​ปกครอง​คือ​พวก​ผู้​บริหาร​ใน​รัฐบาล ซึ่ง​มี​หน้า​ที่​ดู​แล​ความ​สงบ​เรียบร้อย บริหาร​จัด​การ​เรื่อง​เงิน ตัดสิน​คน​ที่​ฝ่าฝืน​กฎหมาย และ​สั่ง​ลง​โทษ​คน​ที่​ทำ​ผิด—ดนล 3:2; กจ 16:20

  • เจิม

    คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​หมาย​ความ​ว่า “ทา​ด้วย​ของ​เหลว” เป็น​การ​ใช้​น้ำมัน​เจิม​คน​หรือ​วัตถุ​สิ่ง​ของ​เพื่อ​แยก​ไว้​สำหรับ​งาน​อย่าง​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ยัง​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​หมาย​ถึง​การ​เท​พลัง​บริสุทธิ์​ลง​บน​คน​ที่​ถูก​เลือก​ให้​มี​ความ​หวัง​ที่​จะ​ไป​สวรรค์​ด้วย—อพย 28:41; 1ซม 16:13; 2คร 1:21

  • ฉลาก

    อาจ​เป็น​ก้อน​กรวด เศษ​ไม้ หรือ​ก้อน​หิน​ที่​เอา​มา​ใช้​ใน​การ​ตัดสิน มี​การ​ใส่​ฉลาก​เข้า​ไป​ใน​อก​เสื้อ​หรือ​ภาชนะ​อย่าง​หนึ่ง​แล้ว​เขย่า ฉลาก​ที่​หล่น​ออก​มา​หรือ​ถูก​จับ​ออก​มา​จะ​เป็น​ฉลาก​ที่​ถูก​เลือก และ​มัก​จะ​จับ​ฉลาก​พร้อม​กับ​การ​อธิษฐาน—ยชว 14:2; สภษ 16:33; มธ 27:35

  • ช่วยเหลือ​คน​จน, ให้​ทาน

    การ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​คน​ที่​ขัดสน ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ไม่​มี​การ​พูด​ถึง​เรื่อง​นี้​ตรง ๆ แต่​กฎหมาย​ของ​โมเสส​กำหนด​ไว้​ว่า​ชาว​อิสราเอล​มี​หน้า​ที่​ต้อง​ช่วยเหลือ​คน​จน—มธ 6:2

  • ช่าง​ปั้น​หม้อ

    คน​ที่​ปั้น​หม้อ จาน และ​ภาชนะ​อื่น ๆ จาก​ดิน​เหนียว​แล้ว​เอา​ไป​เผา คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ผู้​ทำ​ให้​เป็น​รูป​เป็น​ร่าง” การ​ที่​ช่าง​ปั้น​หม้อ​จะ​ทำ​อะไร​กับ​ดิน​เหนียว​ก็​ได้​มัก​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ถึง​อำนาจ​ยิ่ง​ใหญ่​สูง​สุด​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​อยู่​เหนือ​มนุษย์​หรือ​ชาติ​ต่าง ๆ—อสย 64:8; รม 9:21

  • ชาว​นาซาเร็ธ

    ชื่อ​เรียก​พระ​เยซู​ซึ่ง​มา​จาก​เมือง​นาซาเร็ธ คำ​นี้​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “หน่อ” ใน​อิสยาห์ 11:1 ต่อ​มา มี​การ​ใช้​คำ​นี้​กับ​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ด้วย—มธ 2:23; กจ 24:5

  • ชาว​สะมาเรีย

    เดิม​ที​หมาย​ถึง​ชาว​อิสราเอล​ที่​อยู่​ใน​อาณาจักร 10 ตระกูล​ทาง​เหนือ แต่​หลัง​จาก​ชาว​อัสซีเรีย​ยึด​ครอง​สะมาเรีย​ใน​ปี 740 ก่อน ค.ศ. คำ​ว่า “ชาว​สะมาเรีย” ก็​รวม​เอา​คน​ต่าง​ชาติ​ที่​ชาว​อัสซีเรีย​พา​มา​อยู่​ที่​สะมาเรีย​ด้วย ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู คำ​นี้​ไม่​ได้​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เชื้อชาติ​หรือ​เขต​การ​ปกครอง แต่​มัก​จะ​หมาย​ถึง​สมาชิก​ของ​นิกาย​หนึ่ง​ซึ่ง​อยู่​ใน​แถบ​เมือง​เชเคม​โบราณ​และ​สะมาเรีย คน​ที่​นับถือ​นิกาย​นี้​มี​ความ​เชื่อ​ต่าง​กัน​มาก​กับ​คน​ใน​ศาสนา​ยิว—ยน 8:48

  • เชเขล

    หน่วย​น้ำหนัก​และ​หน่วย​เงิน​ตรา​ของ​ชาว​ฮีบรู เท่า​กับ 11.4 กรัม คำ​ว่า ‘เชเขล​ของ​สถาน​บริสุทธิ์’ อาจ​เป็น​คำ​ที่​ใช้​เน้น​ว่า​น้ำหนัก​ต้อง​เที่ยง​ตรง หรือ​ต้อง​เท่า​กับ​ตุ้ม​น้ำหนัก​มาตรฐาน​ซึ่ง​เก็บ​ไว้​ที่​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์ อาจ​มี​เชเขล​หลวง (ต่าง​จาก​เชเขล​ทั่ว​ไป) หรือ​ตุ้ม​น้ำหนัก​มาตรฐาน​ที่​เก็บ​ไว้​ใน​วัง—อพย 30:13

  • เชบัท

    หลัง​จาก​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน เชบัท​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 11 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ชาว​ยิว​และ​เดือน​ที่ 5 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​มกราคม​ถึง​กลาง​เดือน​กุมภาพันธ์ (ศคย 1:7)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เชมินิท

    ศัพท์​ทาง​ดนตรี​ที่​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “คู่​แปด” ซึ่ง​อาจ​หมาย​ถึง​ช่วง​เสียง​ต่ำ​ของ​ดนตรี คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​เครื่อง​ดนตรี​ที่​ให้​เสียง​เบส​ใน​บันได​เสียง หรือ​อาจ​หมาย​ถึง​เสียง​ดนตรี​ประกอบ​และ​เสียง​ร้อง​ใน​ช่วง​เสียง​ต่ำ—1พศ 15:21; สด 6:0; 12:0

  • เชือก​เหวี่ยง​ก้อน​หิน

    เชือก​ที่​ทำ​จาก​หนัง​หรือ​ถัก​จาก​เอ็น​สัตว์ ใย​พืช หรือ​ขน​สัตว์ ตอน​กลาง​ของ​เชือก​จะ​กว้าง​ขึ้น​เพื่อ​เอา​ไว้​ใส่​ก้อน​หิน ปลาย​ข้าง​หนึ่ง​ของ​เชือก​จะ​พัน​ไว้​กับ​มือ​หรือ​ข้อ​มือ ปลาย​อีก​ข้าง​หนึ่ง​ถือ​ไว้​ใน​มือ​และ​จะ​ปล่อย​ออก​ไป​เมื่อ​เหวี่ยง​ก้อน​หิน ชาติ​ต่าง ๆ สมัย​โบราณ​มี​ทหาร​ที่​ใช้​เชือก​เหวี่ยง​ก้อน​หิน​อยู่​ใน​กองทัพ—วนฉ 20:16; 1ซม 17:50

  • เชื้อ

    สิ่ง​ที่​ใส่​ลง​ใน​แป้ง​หรือ​ของ​เหลว​เพื่อ​ให้​เกิด​การ​หมัก ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เป็น​แป้ง​เชื้อ​ที่​แบ่ง​เก็บ​ไว้​จาก​การ​หมัก​ครั้ง​ก่อน ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​มัก​ใช้​คำ​นี้​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​บาป​และ​ความ​เสื่อม​เสีย และ​ยัง​หมาย​ถึง​การ​เติบโต​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​โดย​ไม่​มี​ใคร​สังเกต (อพย 12:20; มธ 13:33; กท 5:9) ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​พูด​ถึง​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​ด้วย—ฉธบ 16:3; มก 14:12; 1คร 5:8

  • เชื้อ​รา

    โรค​จาก​ปรสิต​ที่​เกิด​กับ​พืช มี​หลาย​ชนิด เชื้อ​รา​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​อาจ​เป็น​โรค​ราสนิม (Puccinia graminis)—1พก 8:37

  • แช่ง, สาป​แช่ง

    พูด​มุ่ง​ร้าย​ให้​เป็น​อันตราย​ร้ายแรง​ทั้ง​ต่อ​บาง​คน​หรือ​บาง​สิ่ง การ​สาป​แช่ง​ไม่​ใช่​การ​หมิ่น​ประมาท​หรือ​ความ​โกรธ​ที่​รุนแรง ส่วน​ใหญ่​แล้ว​การ​สาป​แช่ง​เป็น​การ​ประกาศ​คำ​พิพากษา​หรือ​การ​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​จะ​มี​เรื่อง​ร้าย ๆ เกิด​ขึ้น ใน​กรณี​ที่​พระเจ้า​หรือ​คน​ที่​ได้​รับ​มอบ​อำนาจ​จาก​พระเจ้า​เป็น​ผู้​สาป​แช่ง การ​สาป​แช่ง​นั้น​จะ​เป็น​เหมือน​คำ​พยากรณ์​ที่​จะ​ต้อง​เกิด​ขึ้น​อย่าง​แน่นอน—ปฐก 12:3; กดว 22:12; กท 3:10

  • ซาตาน

    คำ​ภาษา​ฮีบรู​แปล​ว่า “ผู้​ต่อ​ต้าน” บาง​ครั้ง​ไวยากรณ์​ของ​ภาษา​ต้น​ฉบับ​บอก​ให้​รู้​ว่า​คำ​นี้​หมาย​ถึง​มาร​ซาตาน ศัตรู​ตัว​สำคัญ​ของ​พระเจ้า—โยบ 1:6; มธ 4:10; วว 12:9

  • ซีห์

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง เมื่อ​คำนวณ​โดย​อาศัย​ความ​จุ​ของ​บัท​ซึ่ง​เป็น​มาตรา​ตวง​ของ​เหลว 1 ซีห์​จะ​เท่า​กับ 7.33 ลิตร (2พก 7:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ซีซาร์

    นามสกุล​หนึ่ง​ของ​ชาว​โรมัน​ซึ่ง​ต่อ​มา​กลาย​เป็น​ชื่อ​ตำแหน่ง​ของ​จักรพรรดิ​โรมัน คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​ชื่อ​ซีซาร์​บาง​องค์ เช่น ออกัสตัส ทิเบริอัส และ​คลาวดิอัส และ​ยัง​พูด​ถึง​เนโร​ด้วย​ถึง​แม้​ไม่​ได้​เอ่ย​ชื่อ​เขา​โดย​ตรง ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​ว่า “ซีซาร์” ยัง​หมาย​ถึง​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง​หรือ​อำนาจ​รัฐ​ด้วย—มก 12:17; กจ 25:12

  • ซีเรีย, ชาว​ซีเรีย

    ดู​คำ​ว่า “อารัม, ชาว​อารัม

  • ซุส

    เทพเจ้า​องค์​สูง​สุด​ใน​บรรดา​เทพเจ้า​หลาย​องค์​ของ​ชาว​กรีก ฝูง​ชน​ใน​เมือง​ลิสตรา​เคย​เข้าใจ​ผิด​ว่า​บาร์นาบัส​เป็น​เทพ​ซุส คำ​จารึก​โบราณ​ที่​พบ​ใกล้​เมือง​ลิสตรา​ก็​พูด​ถึง “ปุโรหิต​ของ​ซุส” และ “สุริยเทพ​ซุส” เรือ​ที่​เปาโล​ใช้​เดิน​ทาง​จาก​เกาะ​มอลตา​มี​สัญลักษณ์​ที่​หัว​เรือ​เป็น “ลูก​แฝด​ของ​ซุส” คือ แคสเตอร์​กับ​พอลลักซ์—กจ 14:12; 28:11

  • แซนเฮดริน

    ศาล​สูง​ของ​ชาว​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม ใน​สมัย​ของ​พระ​เยซู ศาล​นี้​มี​สมาชิก 71 คน ประกอบ​ด้วย​มหา​ปุโรหิต​กับ​คน​ที่​เคย​เป็น​มหา​ปุโรหิต รวม​ทั้ง​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ของ​มหา​ปุโรหิต ผู้​นำ​ชาว​ยิว หัวหน้า​ตระกูล​กับ​หัวหน้า​ครอบครัว และ​ครู​สอน​ศาสนา—มก 15:1; กจ 5:34; 23:1, 6

  • ดรัคมา

    คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​หมาย​ถึง​เหรียญ​เงิน​ของ​กรีก ใน​สมัย​นั้น​หนัก 3.4 กรัม ส่วน​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู มี​การ​พูด​ถึง​เหรียญ​ดรัคมา​ทองคำ​ใน​สมัย​ของ​เปอร์เซีย​ซึ่ง​มี​ค่า​เท่า​กับ​เหรียญ​ดาริค (นหม 7:70; มธ 17:24)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ดาโกน

    พระ​ของ​ชาว​ฟีลิสเตีย ที่​มา​ของ​คำ​นี้​ไม่​ทราบ​แน่ชัด แต่​นัก​วิชาการ​บาง​คน​บอก​ว่า​มา​จาก​คำ​ว่า ดากห์ (ปลา) ใน​ภาษา​ฮีบรู—วนฉ 16:23; 1ซม 5:4

  • ดาริค

    เหรียญ​ทองคำ​ของ​เปอร์เซีย มี​น้ำหนัก 8.4 กรัม (1พศ 29:7)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ดาว​ประกายพรึก

    มี​ความ​หมาย​คล้าย​กับ​คำ​ว่า “ดาว​รุ่ง” เป็น​ดาว​ที่​เห็น​ได้​ตอน​เช้า​มืด​และ​เป็น​ดาว​ดวง​สุด​ท้าย​ที่​ขึ้น​ทาง​ขอบ​ฟ้า​ด้าน​ตะวัน​ออก​ก่อน​ดวง​อาทิตย์​ขึ้น ถือ​เป็น​การ​ต้อนรับ​เช้า​วัน​ใหม่—วว 22:16; 2ปต 1:19

  • ดาว​รุ่ง

    ดู​คำ​ว่า “ดาว​ประกายพรึก

  • เดคาโปลิส

    ชื่อ​เรียก​เมือง​ของ​ชาว​กรีก​ที่​นับ​รวม​กัน​เป็น​กลุ่ม ตอน​แรก​มี 10 เมือง (มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก เดคา แปล​ว่า “สิบ” กับ โปลิส แปล​ว่า “เมือง”) นอก​จาก​นี้​ยัง​เป็น​ชื่อ​เขต​ที่​อยู่​ฝั่ง​ตะวัน​ออก​ของ​ทะเลสาบ​กาลิลี​และ​แม่น้ำ​จอร์แดน​ซึ่ง​เป็น​บริเวณ​ที่​เมือง​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​ตั้ง​อยู่ เมือง​เหล่า​นี้​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​วัฒนธรรม​และ​การ​ค้า​ของ​กรีก พระ​เยซู​เคย​เดิน​ทาง​ผ่าน​เขต​นี้ แต่​ไม่​มี​บันทึก​ว่า​ท่าน​แวะ​ที่​เมือง​ใด​เมือง​หนึ่ง​ของ​เขต​นี้ (มธ 4:25; มก 5:20)—ดู​ภาค​ผนวก ก​7 และ ข​10

  • เดนาริอัน

    เหรียญ​เงิน​ของ​โรมัน หนัก​ประมาณ 3.85 กรัม และ​มี​รูป​ของ​ซีซาร์​อยู่​ด้าน​หนึ่ง เดนาริอัน​เป็น​ค่า​แรง​สำหรับ 1 วัน​และ​เป็น​เหรียญ​ที่​ใช้​เสีย “ภาษี” (ภาษี​ราย​หัว) ที่​ชาว​โรมัน​เรียก​เก็บ​จาก​ชาว​ยิว (มธ 22:17; ลก 20:24)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ต้น​ไม้​ที่​ให้​ชีวิต

    ต้น​ไม้​ต้น​หนึ่ง​ใน​สวน​เอเดน คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​บอก​ว่า​ต้น​ไม้​นี้​มี​ผล​ที่​ช่วย​ให้​คน​ที่​กิน​มี​ชีวิต​ยืน​ยาว แต่​ต้น​ไม้​นี้​เป็น​สัญลักษณ์​แทน​คำ​รับประกัน​ของ​พระเจ้า​ว่า​จะ​ให้​ชีวิต​ตลอด​ไป​กับ​คน​ที่​พระองค์​อนุญาต​ให้​กิน​ผล​ของ​มัน—ปฐก 2:9; 3:22

  • ต้น​ไม้​ที่​ให้​รู้​ดี​รู้​ชั่ว

    ต้น​ไม้​ต้น​หนึ่ง​ใน​สวน​เอเดน ซึ่ง​พระเจ้า​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ถึง​สิทธิ​ของ​พระองค์​ที่​จะ​ตั้ง​มาตรฐาน​สำหรับ​มนุษย์​ว่า​อะไร “ดี” อะไร “ชั่ว”—ปฐก 2:9, 17

  • ตรา, ตรา​ประทับ, ดวง​ตรา

    เครื่องหมาย​ที่​ใช้​ประทับ (บน​ดิน​เหนียว​หรือ​ขี้ผึ้ง) เพื่อ​แสดง​ความ​เป็น​เจ้าของ ยืน​ยัน​ว่า​เป็น​ของ​จริง หรือ​ทำ​ข้อ​ตก​ลง ตรา​ประทับ​ใน​สมัย​โบราณ​อาจ​เป็น​หิน งา​ช้าง หรือ​ไม้​ซึ่ง​มี​ตัว​อักษร​หรือ​ลวด​ลาย​ที่​สลัก​กลับ​ด้าน คำ​ว่า “ตรา” หรือ “ดวง​ตรา” ยัง​ใช้​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ว่า​สิ่ง​ที่​ถูก​ประทับ​ตรา​เป็น​ของ​จริง หรือ​มี​เจ้าของ​แล้ว หรือ​เป็น​สิ่ง​ที่​ถูก​ปิด​ซ่อน​ไว้​หรือ​เป็น​ความ​ลับ—อพย 28:11; นหม 9:38; วว 5:1; 9:4

  • ตะลันต์

    หน่วย​น้ำหนัก​ที่​หนัก​ที่​สุด​และ​หน่วย​เงิน​ตรา​ที่​มี​มูลค่า​สูง​สุด​ของ​ชาว​ฮีบรู หนัก 34.2 กก. ตะลันต์​ของ​กรีก​จะ​มี​น้ำหนัก​น้อย​กว่า หนัก​ประมาณ 20.4 กก. (1พศ 22:14; มธ 18:24)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ตั๊กแตน

    แมลง​ที่​อพยพ​ย้าย​ถิ่น​เป็น​ฝูง​ใหญ่ ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส ตั๊กแตน​เป็น​สัตว์​สะอาด​ที่​กิน​เป็น​อาหาร​ได้ ตั๊กแตน​ฝูง​ใหญ่​กัด​กิน​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​ที่​อยู่​ใน​เส้น​ทาง​อพยพ​ของ​มัน​และ​ทำ​ให้​เกิด​ความ​เสียหาย​อย่าง​มาก ซึ่ง​ถือ​เป็น​ภัย​พิบัติ​อย่าง​หนึ่ง—อพย 10:14; มธ 3:4

  • ตัว​ชั่ว​ร้าย

    ฉายา​หนึ่ง​ของ​มาร​ซาตาน ซึ่ง​เป็น​ผู้​ต่อ​ต้าน​พระเจ้า​และ​มาตรฐาน​ที่​ถูก​ต้อง​ชอบธรรม​ของ​พระองค์—มธ 6:13; 1ยน 5:19

  • เต็นท์​เข้า​เฝ้า

    คำ​นี้​ใช้​หมาย​ถึง​ทั้ง​เต็นท์​ของ​โมเสส​เอง​และ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​สร้าง​ขึ้น​ครั้ง​แรก​ใน​ที่​กันดาร—อพย 33:7; 39:32

  • เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์

    เต็นท์​ที่​ชาว​อิสราเอล​ใช้​นมัสการ​พระเจ้า​หลัง​จาก​อพยพ​ออก​จาก​อียิปต์ เป็น​เต็นท์​ที่​เคลื่อน​ย้าย​ได้ เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​เป็น​ที่​เก็บ​หีบ​สัญญา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ว่า​พระเจ้า​อยู่​กับ​พวก​เขา และ​ใช้​เป็น​สถาน​ที่​สำหรับ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​และ​นมัสการ​พระเจ้า บาง​ครั้ง​เรียก​ว่า “เต็นท์​เข้า​เฝ้า” โครง​สร้าง​ของ​เต็นท์​มี​ลักษณะ​เป็น​แผ่น​ไม้​หลาย​แผ่น​ประกอบ​เข้า​ด้วย​กัน​มี​โครง​เป็น​กรอบ​ผนัง​ที่​ทำ​ด้วย​ไม้ คลุม​ด้วย​ผ้า​ลินิน​ที่​ปัก​ภาพ​เครูบ แบ่ง​เป็น 2 ห้อง ห้อง​แรก​เรียก​ว่า​ห้อง​บริสุทธิ์ ห้อง​ที่​สอง​เรียก​ว่า​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด (ยชว 18:1; อพย 25:9)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • เตา​ไฟ

    เตา​สำหรับ​ถลุง​แร่​หรือ​หลอม​โลหะ และ​ใช้​เผา​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา​รวม​ทั้ง​เครื่อง​เคลือบ​อื่น ๆ ด้วย เตา​ไฟ​ใน​สมัย​พระ​คัมภีร์​ก่อ​ด้วย​อิฐ​หรือ​หิน บาง​ครั้ง​เตา​ไฟ​ที่​ใช้​เผา​เครื่อง​ปั้น​ดิน​เผา​และ​เครื่อง​เคลือบ​หรือ​ปูน​ขาว​ถูก​เรียก​ว่า​เตา​เผา​ด้วย—ปฐก 15:17; ดนล 3:17; วว 9:2

  • แตร

    เครื่อง​เป่า​ทำ​ด้วย​โลหะ ใช้​เป่า​ให้​สัญญาณ​และ​เป่า​เป็น​เสียง​ดนตรี ใน​กันดารวิถี 10:2 บอก​ว่า พระ​ยะโฮวา​สั่ง​ให้​ทำ​แตร​เงิน 2 ตัว​สำหรับ​เป่า​เพื่อ​เรียก​ประชุม เพื่อ​ให้​สัญญาณ​ออก​เดิน​ทาง หรือ​เพื่อ​ประกาศ​สงคราม แตร​แบบ​นี้​คง​มี​รูป​ทรง​ตรง ไม่​โค้ง​งอ​เหมือน​แตร​เขา​สัตว์ แตร​เป็น​เครื่อง​ดนตรี​อย่าง​หนึ่ง​ที่​ใช้​ใน​วิหาร​ด้วย แต่​พระ​คัมภีร์​ไม่​ได้​บอก​ลักษณะ​ของ​แตร​เหล่า​นี้ มัก​มี​เสียง​แตร​ควบ​คู่​กับ​การ​ประกาศ​คำ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​หรือ​เหตุ​การณ์​สำคัญ​อื่น ๆ ที่​มา​จาก​พระเจ้า—2พศ 29:26; อสร 3:10; 1คร 15:52; วว 8:7-11:15

  • ถุง​หนัง

    ถุง​ที่​ทำ​จาก​หนัง​สัตว์​ทั้ง​ตัว เช่น แพะ​หรือ​แกะ เอา​ไว้​ใส่​เหล้า​องุ่น ซึ่ง​มัก​จะ​ใส่​ใน​ถุง​หนัง​ใหม่ เพราะ​ขณะ​ที่​หมัก​อยู่ เหล้า​องุ่น​จะ​ผลิต​แก๊ส​คาร์บอนไดออกไซด์​ซึ่ง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ดัน ถุง​หนัง​ใหม่​ก็​จะ​ขยาย ส่วน​ถุง​หนัง​เก่า​ซึ่ง​ไม่​ยืดหยุ่น​แล้ว​ก็​จะ​แตก​เมื่อ​มี​ความ​ดัน—ยชว 9:4; มธ 9:17

  • ถูก​ต้อง​ชอบธรรม

    ใน​พระ​คัมภีร์ หมาย​ถึง​สิ่ง​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​ยัง​ถูก​แปล​ด้วย​ว่า ถูก​ต้อง ยุติธรรม เที่ยงธรรม ดี ซื่อ​สัตย์ นอก​จาก​นั้น พระ​คัมภีร์​ยัง​พูด​ถึง​คน​ที่​พระเจ้า​ถือ​ว่า​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ของ​พระองค์​หรือ​มี​ความ​ถูก​ต้อง​ชอบธรรม​ด้วย ใน​กรณี​นี้ พระองค์​ถือ​ว่า​เขา​ไม่​มี​ความ​ผิด (กจ 13:38, 39) จึง​รับ​เขา​เป็น​เพื่อน​ของ​พระองค์​ได้ หรือ​ถึง​กับ​ตัดสิน​ว่า​เขา​คู่​ควร​กับ​สิทธิ​ที่​จะ​ได้​ชีวิต​ตลอด​ไป ที่​พระเจ้า​ทำ​อย่าง​นี้ ไม่​ใช่​เพราะ​ความ​ดี​ความ​ชอบ​ของ​คน​นั้น แต่​เพราะ​เขา​มี​ความ​เชื่อ​ใน​พระ​เยซู​คริสต์—ปฐก 15:6; ฉธบ 6:25; สภษ 11:4; อสย 32:1; ศฟย 2:3; มธ 6:33; รม 3:24, 28; 5:18; ฮบ 7:2

  • ไถ่​บาป

    ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู การ​ไถ่​บาป​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เพื่อ​ให้​ประชาชน​ได้​เข้า​มา​ใกล้​ชิด​พระเจ้า​และ​นมัสการ​พระองค์ กฎหมาย​ของ​โมเสส​กำหนด​ให้​มี​การ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ใน​วัน​ไถ่​บาป เพื่อ​จะ​คืน​ดี​กับ​พระเจ้า​ได้ ถึง​แม้​ประชาชน​แต่​ละ​คน​และ​ทั้ง​ชาติ​จะ​ยัง​มี​บาป​อยู่ เครื่อง​บูชา​เหล่า​นี้​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู​ซึ่ง​ไถ่​บาป​ให้​มนุษย์​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ใน​ครั้ง​เดียว และ​ทำ​ให้​ผู้​คน​มี​โอกาส​คืน​ดี​กับ​พระ​ยะโฮวา—ลนต 5:10; 23:28; คส 1:20; ฮบ 9:12

  • ทับ​ทรวง

    กระเป๋า​ฝัง​อัญมณี​ที่​มหา​ปุโรหิต​ของ​อิสราเอล​สวม​ไว้​ตรง​หน้า​อก​ทุก​ครั้ง​ที่​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์ บาง​ครั้ง​มี​การ​เรียก​ว่า “ทับ​ทรวง​ตัดสิน” เพราะ​มี​อูริม​กับ​ทูมมิม​ใส่​อยู่​ข้าง​ใน อูริม​กับ​ทูมมิม​ช่วย​ให้​รู้​คำ​ตัดสิน​ของ​พระ​ยะโฮวา (อพย 28:15-30)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • ทับทิม

    ผลไม้​ชนิด​หนึ่ง​รูป​ร่าง​คล้าย​แอปเปิล มี​การ​ทำ​รูป​ผล​ทับทิม​ตกแต่ง​ที่​ชาย​เสื้อ​ยาว​สี​ฟ้า​ไม่​มี​แขน​ของ​มหา​ปุโรหิต บน​หัว​เสา​ที่​ชื่อ​ยาคีน​กับ​โบอาส​ซึ่ง​อยู่​หน้า​วิหาร​ก็​ตกแต่ง​ด้วย​รูป​ผล​ทับทิม​เช่น​กัน—อพย 28:34; กดว 13:23; 1พก 7:18

  • ทัมมุส

    (1) ชื่อ​เทพเจ้า​องค์​หนึ่ง พวก​ผู้​หญิง​ชาว​ฮีบรู​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ที่​ทิ้ง​พระเจ้า​เคย​ร้องไห้​อาลัย​ถึง​เทพเจ้า​องค์​นี้ เชื่อ​กัน​ว่า​พระ​ทัมมุส​เป็น​กษัตริย์​องค์​หนึ่ง​ซึ่ง​ถูก​ยก​ขึ้น​เป็น​เทพเจ้า​หลัง​จาก​ตาย​ไป​แล้ว ใน​ข้อ​ความ​จารึก​ของ​ชาว​สุเมเรียน พระ​ทัมมุส​มี​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า ดู​มูซี และ​เป็น​สามี​หรือ​คน​รัก​ของ​เทพ​ธิดา​อินันนา​ซึ่ง​เป็น​เทพ​ธิดา​แห่ง​การ​เจริญ​พันธุ์ (อสค 8:14) (2) ชื่อ​เดือน​ที่ 4 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​หลัง​การ​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน และ​เป็น​เดือน​ที่ 10 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​มิถุนายน​ถึง​กลาง​เดือน​กรกฎาคม—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • ทาง​นั้น, ทาง, แนว​ทาง

    เป็น​สำนวน​ที่​ใช้​ใน​พระ​คัมภีร์​หมาย​ถึง​แนว​ทาง​การ​กระทำ​หรือ​ความ​ประพฤติ​ที่​พระ​ยะโฮวา​อาจ​จะ​ยอม​รับ​หรือ​ไม่​ยอม​รับ​ก็​ได้ มี​การ​พูด​ถึง​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ว่า​อยู่​ใน “ทาง​นั้น” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​พวก​เขา​ใช้​ชีวิต​ตาม​ความ​เชื่อ​ที่​มี​ใน​พระ​เยซู​คริสต์ และ​เลียน​แบบ​ท่าน—กจ 19:9

  • ทาร์ทารัส

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก หมาย​ถึง​สภาพ​ตก​ต่ำ​ของ​พวก​ทูตสวรรค์​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง​ใน​สมัย​โนอาห์​เหมือน​ถูก​ขัง​คุก ที่ 2 เปโตร 2:4 มี​การ​ใช้​คำ​กริยา ตาร์ตาโร (“โยน​ลง​ไป​ใน​ทาร์ทารัส”) แต่​คำ​นี้​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า “พวก​ทูตสวรรค์​ที่​ทำ​บาป” ถูก​โยน​ลง​ไป​ใน​ทาร์ทารัส​แบบ​ใน​เทพนิยาย​ของ​คน​ทั่ว​ไป (คือ คุก​ใต้​ดิน​และ​ที่​มืด​สำหรับ​เทพเจ้า​ชั้น​ต่ำ) แต่​หมาย​ความ​ว่า​พระเจ้า​ให้​พวก​เขา​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​ตก​ต่ำ ไม่​มี​ตำแหน่ง​หรือ​สิทธิ​พิเศษ​ที่​พวก​เขา​เคย​มี​ใน​สวรรค์​อีก​ต่อ​ไป พระองค์​ทำ​ให้​พวก​เขา​ตก​อยู่​ใน​สภาพ​จิตใจ​ที่​มืด​มิด​ที่​สุด​เพราะ​ไม่​รู้​ความ​ประสงค์​ของ​พระองค์​เกี่ยว​กับ​อนาคต ทูตสวรรค์​พวก​นี้​มี​อนาคต​ที่​มืดมน​เพราะ​พระ​คัมภีร์​บอก​ว่า​พวก​เขา​จะ​ถูก​ทำลาย​ตลอด​ไป​พร้อม​กับ​มาร​ซาตาน​ที่​ปกครอง​พวก​เขา ดัง​นั้น ทาร์ทารัส​จึง​หมาย​ถึง​สภาพ​ตก​ต่ำ​ของ​ทูตสวรรค์​ที่​กบฏ และ​ไม่​ใช่ “ขุม​ลึก” ที่​พูด​ถึง​ใน​วิวรณ์ 20:1-3

  • ทิชรี

    ดู​คำ​ว่า “เอธานิม” และ​ภาค​ผนวก ข​15

  • ที่​ประชุม​ของ​ชาว​ยิว

    มา​จาก​คำ​ที่​แปล​ว่า “การ​รวม​ตัว​กัน” หรือ “การ​ชุมนุม​กัน” แต่​ใน​ข้อ​คัมภีร์​ส่วน​ใหญ่​หมาย​ถึง​อาคาร​หรือ​สถาน​ที่​ที่​ชาว​ยิว​มา​รวม​ตัว​กัน​เพื่อ​อ่าน​พระ​คัมภีร์ เพื่อ​สอน ประกาศ และ​อธิษฐาน ใน​สมัย​พระ​เยซู เมือง​ใหญ่ ๆ ทุก​เมือง​ใน​อิสราเอล​มี​ที่​ประชุมแบบ​นี้​หนึ่ง​แห่ง แต่​ถ้า​เมือง​ไหน​ใหญ่​มาก​ก็​จะ​มี​มาก​กว่า​หนึ่ง​แห่ง—ลก 4:16; กจ 13:14, 15

  • ที่​ศักดิ์สิทธิ์

    สถาน​ที่​บริสุทธิ์​ซึ่ง​กำหนด​ไว้​ให้​เป็น​ที่​สำหรับ​การ​นมัสการ แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​หมาย​ถึง​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​หรือ​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม คำ​นี้​ยัง​หมาย​ถึง​ที่​อยู่​ของ​พระเจ้า​ใน​สวรรค์​ด้วย—อพย 25:8, 9; 2พก 10:25; 1พศ 28:10; วว 11:19

  • ทูตสวรรค์

    คำ​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู มาลาค และ​คำ​ภาษา​กรีก อังเกโลส ทั้ง​สอง​คำ​นี้​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ผู้​ส่ง​ข่าว” แต่​บาง​ครั้ง​ก็​แปล​ว่า “ทูตสวรรค์” เพราะ​พวก​เขา​เป็น​ผู้​ส่ง​ข่าว​ของ​พระเจ้า​ที่​มา​จาก​สวรรค์ (ปฐก 16:7; 32:3; ยก 2:25; วว 22:8) ทูตสวรรค์​มี​ฤทธิ์​อำนาจ​และ​เป็น​ผู้​ที่​พระเจ้า​สร้าง​ขึ้น พระเจ้า​สร้าง​พวก​เขา​ก่อน​ที่​จะ​สร้าง​มนุษย์​เป็น​เวลา​นาน บาง​ครั้ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​เรียก​พวก​เขา​ว่า “ผู้​บริสุทธิ์​นับ​หมื่น​นับ​แสน” หรือ ‘ลูก ๆ ของ​พระเจ้า’ หรือ “ดาว​รุ่ง​ทั้ง​หลาย” (ฉธบ 33:2; โยบ 1:6; 38:7) ทูตสวรรค์​ไม่​ได้​ถูก​สร้าง​ให้​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​มี​ลูก​ใน​หมู่​พวก​เขา​เอง แต่​พระเจ้า​สร้าง​พวก​เขา​ที​ละ​องค์ และ​ทูตสวรรค์​มี​จำนวน​มาก​กว่า​หนึ่ง​ร้อย​ล้าน​องค์ (ดนล 7:10) คัมภีร์​ไบเบิล​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ทูตสวรรค์​แต่​ละ​องค์​มี​ชื่อ​และ​บุคลิก​ลักษณะ​เฉพาะ​ตัว แต่​พวก​เขา​ก็​ถ่อม​ตัว​และ​ไม่​ยอม​ให้​มนุษย์​มา​กราบ​ไหว้​นมัสการ ทูตสวรรค์​ส่วน​ใหญ่​ไม่​ยอม​เปิด​เผย​ชื่อ​ให้​รู้​ด้วย​ซ้ำ (ปฐก 32:29; ลก 1:26; วว 22:8, 9) ทูตสวรรค์​มี​ตำแหน่ง​และ​หน้า​ที่​แตกต่าง​กัน เช่น รับใช้​อยู่​หน้า​บัลลังก์​ของ​พระ​ยะโฮวา เป็น​ผู้​ส่ง​ข่าว​ของ​พระองค์ ช่วยเหลือ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​บน​โลก ทำ​หน้า​ที่​ลง​โทษ​ตาม​คำ​พิพากษา​ของ​พระเจ้า หรือ​สนับสนุน​งาน​ประกาศ​ข่าว​ดี (2พก 19:35; สด 34:7; ลก 1:30, 31; วว 5:11; 14:6) ใน​อนาคต ทูตสวรรค์​จะ​ช่วย​พระ​เยซู​ต่อ​สู้​ใน​สงคราม​อาร์มาเกดโดน—วว 19:14, 15

  • เทเบท

    หลัง​จาก​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน เทเบท​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 10 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 4 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​ธันวาคม​ถึง​กลาง​เดือน​มกราคม มัก​เรียก​เดือน​นี้​ว่า “เดือน 10” (อสธ 2:16)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เทราฟิม

    เทพเจ้า​หรือ​รูป​เคารพ​ประจำ​ครอบครัว บาง​ครั้ง​มี​การ​ใช้​เทราฟิม​เพื่อ​หา​ลาง​บอก​เหตุ (อสค 21:21) เทราฟิม​อาจ​มี​รูป​ร่าง​เหมือน​คน​และ​ขนาด​เท่า​กับ​คน​จริง ๆ แต่​บาง​ครั้ง​ก็​เป็น​รูป​ปั้น​เล็ก ๆ (ปฐก 31:34; 1ซม 19:13, 16) การ​ค้น​พบ​ทาง​โบราณคดี​ใน​เมโสโปเตเมีย​บ่ง​บอก​ว่า คน​ที่​มี​รูป​ปั้น​เทราฟิม​จะ​เป็น​คน​ที่​ได้​รับ​มรดก​ของ​ครอบครัว (นี่​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ราเชล​เอา​เทราฟิม​ของ​พ่อ​ไป) ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​ได้​มี​ธรรมเนียม​อย่าง​นี้​ใน​อิสราเอล แต่​ใน​สมัย​ผู้​วินิจฉัย​และ​กษัตริย์​ก็​ยัง​มี​การ​ใช้​รูป​เคารพ​เทราฟิม และ​เทราฟิม​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​กษัตริย์​โยสิยาห์​ผู้​ซื่อ​สัตย์​พยายาม​กำจัด​ให้​หมด—วนฉ 17:5; 2พก 23:24; ฮชย 3:4

  • เทศกาล​เก็บ​เกี่ยว

    ดู​คำ​ว่า “เพ็นเทคอสต์

  • เทศกาล​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ

    เป็น​เทศกาล​แรก​ใน​สาม​เทศกาล​หลัก​ประจำ​ปี​ของ​ชาว​อิสราเอล เริ่ม​ใน​วัน​ที่ 15 เดือน​นิสาน​ถัด​จาก​วัน​ปัสกา​และ​ฉลอง​กัน​นาน 7 วัน ใน​ช่วง​เทศกาล​จะ​กิน​แต่​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​เพื่อ​ระลึก​ถึง​ตอน​อพยพ​ออก​จาก​อียิปต์—อพย 23:15; มก 14:1

  • เทศกาล​ฉลอง​การ​อุทิศ​วิหาร

    เป็น​วัน​ระลึก​ถึง​การ​ชำระ​วิหาร​หลัง​จาก​ที่​กษัตริย์​อันทิโอกุส เอพิฟาเนส​ทำ​ให้​วิหาร​ไม่​บริสุทธิ์ การ​ฉลองนี้​ทำ​กัน​ทุก​ปี​โดย​เริ่ม​ใน​วัน​ที่ 25 เดือน​คิสเลฟ และ​ฉลอง​กัน​นาน 8 วัน—ยน 10:22

  • เทศกาล​อยู่​เพิง

    บาง​ครั้ง​เรียก​ว่า​เทศกาล​เก็บ​พืช​ผล จัด​ขึ้น​ใน​วัน​ที่ 15-21 เดือน​เอธานิม เพื่อ​ฉลอง​การ​เก็บ​เกี่ยว​ตอน​สิ้น​ปี​การ​เพาะ​ปลูก​ของ​ชาว​อิสราเอล เป็น​เวลา​ที่​จะ​รื่นเริง​ยินดี​และ​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​ที่​อวยพร​ให้​พืช​ผล​งอกงาม ใน​ช่วง​เทศกาล​นี้ ประชาชน​จะ​อยู่​ใน​เพิง​เพื่อ​ระลึก​ถึง​ตอน​ที่​พวก​เขา​อพยพ​ออก​จาก​อียิปต์ เป็น​เทศกาล​หนึ่ง​ใน​สาม​เทศกาล​ที่​พวก​ผู้​ชาย​ต้อง​ไป​ฉลอง​ที่​กรุง​เยรูซาเล็ม—ลนต 23:34; อสร 3:4

  • แท่ง​หิน​ศักดิ์สิทธิ์

    เสา​ที่​มัก​ทำ​จาก​หิน​และ​คง​จะ​เป็น​สัญลักษณ์​ของ​อวัยวะ​เพศ​ชาย​ที่​ใช้​แทน​พระ​บาอัล​หรือ​พระ​เท็จ​อื่น ๆ—อพย 23:24

  • แท่น​บูชา

    แท่น​สำหรับ​ถวาย​เครื่อง​บูชา แต่​ถ้า​ใช้​สำหรับ​ถวาย​เครื่อง​หอม​จะ​เรียก​ว่า แท่น​เผา​เครื่อง​หอม แท่น​แบบ​นี้​ทำ​ขึ้น​โดย​เอา​ดิน​หรือ​หิน​มา​ก่อ​ให้​สูง หรือ​ทำ​จาก​หิน​ทั้ง​ก้อน หรือ​ทำ​จาก​ไม้​แล้ว​หุ้ม​ด้วย​โลหะ​ก็​ได้ ใน​ห้อง​แรก​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​ของ​วิหาร​จะ​มี “แท่น​บูชา​ทองคำ” ขนาด​เล็ก​สำหรับ​ถวาย​เครื่อง​หอม​ซึ่ง​ทำ​ด้วย​ไม้​หุ้ม​ด้วย​ทองคำ นอก​จาก​นั้น ยัง​มี “แท่น​บูชา​ทองแดง” ซึ่ง​มี​ขนาด​ใหญ่​กว่า​สำหรับ​เครื่อง​บูชา​เผา​ตั้ง​อยู่​ใน​ลาน​ด้าน​นอก​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์ (อพย 27:1; 39:38, 39; ปฐก 8:20; 1พก 6:20; 2พศ 4:1; ลก 1:11)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5 และ ข​8

  • นะธีนิม

    คน​ที่​ทำ​งาน​รับใช้​ใน​วิหาร​ซึ่ง​ไม่​ใช่​ชาว​อิสราเอล คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “คน​ที่​ถูก​มอบ​ไว้” ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า​พวก​เขา​ถูก​มอบ​ไว้​ให้​ทำ​งาน​รับใช้​ที่​วิหาร ดู​เหมือน​ว่า​นะธีนิม​หลาย​คน​เป็น​ลูก​หลาน​ชาว​เมือง​กิเบโอน ซึ่ง​โยชูวา​เคย​ให้​ทำ​งาน​เป็น “คน​เก็บ​ฟืน​และ​ตัก​น้ำ​ให้​ชาว​อิสราเอล และ​ตัก​น้ำ​เพื่อ​ใช้​สำหรับ​แท่น​บูชา​ของ​พระ​ยะโฮวา”—ยชว 9:23, 27; 1พศ 9:2; อสร 8:17

  • นารดา

    น้ำมัน​หอม​ราคา​แพง มี​สี​แดง​อ่อน ได้​จาก​ต้น​โกฐชฎามังสี (Nardostachys jatamansi) เนื่อง​จาก​ราคา​แพง จึง​มัก​มี​การ​เอา​น้ำมัน​ที่​ด้อย​กว่า​มา​ผสม บาง​ครั้ง​ก็​มี​การ​ปลอม​แปลง แต่​น่า​สังเกต ทั้ง​มาระโก​กับ​ยอห์น​บอก​ว่า น้ำมัน​หอม​ที่​ใช้​กับ​พระ​เยซู​เป็น “น้ำมัน​หอม​นารดา​บริสุทธิ์”—มก 14:3; ยน 12:3

  • นาศีร์

    มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “คน​ที่​ถูก​เลือก​ออก​มา” หรือ “คน​ที่​อุทิศ​ตัว​ไว้” หรือ “คน​ที่​แยก​ตัว​อยู่​ต่าง​หาก” นาศีร์​มี​อยู่ 2 ประเภท คือ คน​ที่​สมัคร​ใจ​เป็น​นาศีร์​และ​คน​ที่​พระเจ้า​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​นาศีร์ ผู้​ชาย​หรือ​ผู้​หญิง​ก็​สามารถ​ปฏิญาณ​ตัว​เป็น​พิเศษ​ว่า​จะ​อยู่​อย่าง​นาศีร์​ช่วง​หนึ่ง​เพื่อ​พระ​ยะโฮวา​ได้ มี​ข้อ​ห้าม​หลัก ๆ 3 อย่าง​สำหรับ​คน​ที่​สมัคร​ใจ​ปฏิญาณ​ตัว​เป็น​นาศีร์ คือ ห้าม​ดื่ม​เครื่อง​ดื่ม​มึน​เมา​หรือ​กิน​อะไร​ก็​ตาม​ที่​มา​จาก​ต้น​องุ่น ห้าม​ตัด​ผม และ​ห้าม​แตะ​ต้อง​ศพ คน​ที่​พระเจ้า​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​นาศีร์​จะ​เป็น​นาศีร์​ไป​ตลอด​ชีวิต และ​พระ​ยะโฮวา​จะ​กำหนด​ว่า​เขา​ต้อง​ทำ​อะไร​บ้าง—กดว 6:2-7; วนฉ 13:5

  • นิกาย

    กลุ่ม​คน​ที่​ยึด​ถือ​หลัก​คำ​สอน​บาง​อย่าง หรือ​ติด​ตาม​ผู้​นำ​คน​หนึ่ง และ​ทำ​ตาม​ความ​เชื่อ​ของ​กลุ่ม​นั้น ใน​พระ​คัมภีร์​ใช้​คำ​นี้​กับ​สอง​นิกาย​ใหญ่ ๆ ของ​ศาสนา​ยิว คือ ฟาริสี​กับ​สะดูสี คน​ที่​ไม่​ใช่​คริสเตียน​ก็​เรียก​ศาสนา​คริสต์​ว่า “นิกาย” หรือ “นิกาย​ของ​ชาว​นาซาเร็ธ” พวก​เขา​อาจ​มอง​ว่า​ศาสนา​คริสต์​แตก​ออก​มา​จาก​ศาสนา​ยิว ต่อ​มา มี​นิกาย​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้นใน​ประชาคม​คริสเตียน มี​การ​พูด​เจาะจง​ถึง “นิกาย​นิโคเลาส์” ใน​หนังสือ​วิวรณ์​ด้วย—กจ 5:17; 15:5; 24:5; 28:22; วว 2:6; 2ปต 2:1

  • นิสาน

    ชื่อ​ใหม่​ของ​เดือน​อาบีบ​หลัง​จาก​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน เป็น​เดือน​แรก​ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 7 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​มีนาคม​ถึง​กลาง​เดือน​เมษายน (นหม 2:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เนฟิล

    พวก​ผู้​ชาย​ที่​เป็น​ลูก​ครึ่ง​ทูตสวรรค์​กับ​มนุษย์ (แม่​เป็น​มนุษย์ แต่​พ่อ​เป็น​ทูตสวรรค์​ที่​แปลง​ร่าง​เป็น​มนุษย์) พวก​เขา​ชอบ​ความ​รุนแรง และ​มี​ชีวิต​ใน​ช่วง​ก่อน​น้ำ​ท่วม​โลก—ปฐก 6:4

  • เนรเทศ, ไป​เป็น​เชลย

    การ​บังคับ​ให้​ออก​จาก​แผ่นดิน​เกิด​หรือ​บ้าน​เกิด ส่วน​มาก​จะ​เป็น​การ​ขับ​ไล่​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​คน​ที่​มา​ยึด​ครอง​แผ่นดิน คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​แปล​ว่า “การ​ออก​ไป” ชาว​อิสราเอล​ถูก​เนรเทศ​ไป​เป็น​เชลย 2 ครั้ง คือ อาณาจักร 10 ตระกูล​ทาง​เหนือ​ถูก​ชาว​อัสซีเรีย​เนรเทศ และ​ต่อ​มา อาณาจักร 2 ตระกูล​ทาง​ใต้​ถูก​ชาว​บาบิโลน​เนรเทศ คน​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​หลัง​การ​เป็น​เชลย​ทั้ง​สอง​ครั้ง​ได้​กลับ​มา​แผ่นดิน​ของ​ตัว​เอง​ตาม​คำ​สั่ง​ของ​ไซรัส​ผู้​ปกครอง​ชาว​เปอร์เซีย—2พก 17:6; 24:16; อสร 6:21

  • เนฮีโลท

    คำ​ที่​ไม่​รู้​ความ​หมาย​แน่ชัด​ซึ่ง​อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี​บท 5 บาง​คน​เชื่อ​ว่า​หมาย​ถึง​เครื่อง​เป่า​ชนิด​หนึ่ง​โดย​เชื่อม​โยง​กับ​รากศัพท์​ภาษา​ฮีบรู​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​ว่า ชา​ลิล (ขลุ่ย) แต่​คำ​นี้​อาจ​ใช้​เพื่อ​บอก​ให้​รู้​ทำนอง​เพลง​ก็​ได้

  • เนิน​ดิน

    คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​คือ มิลโล มี​รากศัพท์​มา​จาก​คำ​ที่​แปล​ว่า “ถม​ให้​เต็ม” ฉบับ​เซปตัวจินต์ แปล​คำ​นี้​ว่า “ป้อม​ปราการ” มัน​น่า​จะ​เป็น​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ธรรมชาติ​หรือ​ถูก​สร้าง​ขึ้น​ใน​เมือง​ของ​ดาวิด แต่​จริง ๆ แล้ว​มี​ลักษณะ​เป็น​อย่างไร​ก็​ยัง​ไม่​มี​ใคร​รู้​ชัด​เจน—2ซม 5:9; 1พก 11:27

  • บริสุทธิ์, ความ​บริสุทธิ์

    คุณลักษณะ​ประจำ​ตัว​ของ​พระ​ยะโฮวา เป็น​สภาพ​ที่​บริสุทธิ์​ทาง​ศีลธรรม​และ​มี​ความ​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​ทุก​ด้าน (อพย 28:36; 1ซม 2:2; สภษ 9:10; อสย 6:3) เมื่อ​ใช้​กับ​มนุษย์ (อพย 19:6) สัตว์ (กดว 18:17) สิ่ง​ของ (อพย 28:38; 30:25; ลนต 27:14) สถาน​ที่ (อพย 3:5; อสย 27:13) ช่วง​เวลา (อพย 16:23; ลนต 25:12) และ​กิจกรรม​ต่าง ๆ (อพย 36:4) คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ดั้งเดิม​ถ่ายทอด​แนว​คิด​เกี่ยว​กับ​การ​แยก​หรือ​กัน​ไว้​ต่าง​หาก หรือ​การ​ชำระ​ให้​บริสุทธิ์​สำหรับ​พระเจ้า และ​เป็น​สิ่ง​ที่​แยก​ไว้​สำหรับ​การ​รับใช้​พระเจ้า ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​ที่​แปล​ว่า “บริสุทธิ์” และ “ความ​บริสุทธิ์” หมาย​ถึง​การ​แยก​ไว้​สำหรับ​พระเจ้า และ​ยัง​หมาย​ถึง​การ​กระทำ​ที่​บริสุทธิ์​ด้วย—2คร 7:1; 1ปต 1:15, 16

  • บอระเพ็ด

    พืช​ที่​มี​รส​ขม​มาก​และ​มี​กลิ่น​ฉุน ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​บอระเพ็ด​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​เพื่อ​อธิบาย​ถึง​ผล​ที่​ขมขื่น​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม การ​เป็น​ทาส ความ​ไม่​ยุติธรรม และ​การ​ออก​หาก คำ​ว่า “บอระเพ็ด” ที่​วิวรณ์ 8:11 หมาย​ถึง​สาร​ที่​มี​พิษ​และ​ขม—ฉธบ 29:18; สภษ 5:4; ยรม 9:15

  • บ่อ​ย่ำ​องุ่น

    บ่อ​ที่​สกัด​จาก​หินปูน มัก​มี 2 บ่อ บ่อ​หนึ่ง​อยู่​สูง​กว่า​อีก​บ่อ​หนึ่ง มี​ร่อง​เล็ก ๆ เชื่อม​ต่อ​กัน เมื่อ​ย่ำ​องุ่น​ที่​บ่อ​บน น้ำ​องุ่น​จะ​ไหล​ลง​ไป​ใน​บ่อ​ล่าง มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เป็น​ภาพ​แสดง​ถึง​การ​พิพากษา​ของ​พระเจ้า—อสย 5:2; วว 19:15

  • บัญญัติ, กฎหมาย

    หมาย​ถึง​กฎหมาย​ของ​โมเสส​ทั้ง​หมด หรือ​หนังสือ 5 เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล และ​ยัง​หมาย​ถึง​ข้อ​กฎหมาย​แต่​ละ​ข้อ​ใน​กฎหมาย​ของ​โมเสส​หรือ​หลักการ​ของกฎหมาย​ด้วย—กดว 15:16; ฉธบ 4:8; มธ 7:12; กท 3:24

  • บัท

    มาตรา​ตวง​ของ​เหลว ความ​จุ​ประมาณ 22 ลิตร​คำนวณ​จาก​เศษ​ชิ้น​ส่วน​ของ​ไห​ที่​นัก​โบราณคดี​ได้​ค้น​พบ​ซึ่ง​มี​คำ​นี้​ปรากฏ​อยู่ ปริมาตร​โดย​ประมาณ​ของ​มาตรา​บัท​ใช้​เป็น​ตัว​คำนวณ​มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง​และ​ของ​เหลว​อื่น ๆ เกือบ​ทั้ง​หมด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล (1พก 7:38; อสค 45:14)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • บัพติศมา

    คำ​ทับ​ศัพท์​ภาษา​กรีก แปล​ว่า “จุ่ม” หรือ​จุ่ม​มิด​ใต้​น้ำ พระ​เยซู​กำหนด​ว่า​คน​ที่​จะ​เป็น​สาวก​ของ​ท่าน​ต้อง​รับ​บัพติศมา พระ​คัมภีร์​ยัง​พูด​ถึง​บัพติศมา​ของ​ยอห์น บัพติศมา​ด้วย​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า บัพติศมา​ด้วย​ไฟ และ​บัพติศมา​แบบ​อื่น ๆ ด้วย—มธ 3:11, 16; 28:19; ยน 3:23; 1ปต 3:21

  • บัลลังก์​พิพากษา

    มัก​จะ​หมาย​ถึง​เวที​กลางแจ้ง​ที่​ยก​ระดับ​จาก​พื้น​และ​มี​บันได​ขึ้น​ลง เจ้าหน้าที่​จะ​นั่ง​บน​บัลลังก์​นี้​เมื่อ​พูด​กับ​ประชาชน​และ​ประกาศ​คำ​ตัดสิน คำ​ว่า “บัลลังก์​พิพากษา​ของ​พระเจ้า” และ “บัลลังก์​พิพากษา​ของ​พระ​คริสต์” หมาย​ถึง​การ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​จะ​เกิด​กับ​มนุษย์​ทั้ง​โลก—รม 14:10; 2คร 5:10; ยน 19:13

  • บาอัล

    เทพเจ้า​ของ​ชาว​คานาอัน ซึ่ง​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​เจ้าของ​ท้องฟ้า​และ​เป็น​ผู้​ให้​ฝน​กับ​ความ​อุดม​สมบูรณ์ คำ​ว่า “บาอัล” ยัง​ใช้​เรียก​เทพเจ้า​ของ​แต่​ละ​ท้องถิ่น​ด้วย คำ​นี้​เป็น​ภาษา​ฮีบรู​แปล​ว่า “เจ้าของ” หรือ “นาย”—1พก 18:21; รม 11:4

  • บึง​ไฟ

    ไม่​ใช่​สถาน​ที่​จริง​แต่​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ “บึง​ไฟ​ที่​ลุก​ไหม้​ด้วย​กำมะถัน” มี​ความ​หมาย​เหมือน​กับ​คำ​ว่า “ความ​ตาย​ชนิด​ที่​สอง” คน​ที่​ทำ​บาป​แล้ว​ไม่​กลับ​ใจ มาร และ​แม้​แต่​ความ​ตาย​กับ​หลุม​ศพ (หรือ​ฮาเดส) ก็​จะ​ถูก​โยน​ลง​ไป​ใน​บึง​ไฟ บึง​ไฟ​เป็น​แค่​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ที่​หมาย​ถึง​การ​ทำลาย​ให้​สาบสูญ​ตลอด​ไป ไม่​ใช่​การ​ทรมาน​ตลอด​ไป เพราะ​ทั้ง​มาร ความ​ตาย และ​หลุม​ศพ​ถูก​ไฟ​เผา​ไหม้​ไม่​ได้—วว 19:20; 20:14, 15; 21:8

  • บูล

    ชื่อ​เดือน​ที่ 8 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 2 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร มา​จาก​รากศัพท์​ที่​แปล​ว่า “ผล​ผลิต” เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​ตุลาคม​ถึง​กลาง​เดือน​พฤศจิกายน (1พก 6:38)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เบเอลเซบูบ

    ชื่อ​หนึ่ง​ที่​ใช้​เรียก​ซาตาน​ซึ่ง​เป็น​หัวหน้า​และ​ผู้​ปกครอง​พวก​ปีศาจ อาจ​เพี้ยน​มา​จาก​คำ​ว่า “บาอัลเซบูบ” ซึ่ง​เป็น​พระ​บาอัล​ที่​ชาว​ฟีลิสเตีย​ใน​เมือง​เอโครน​นมัสการ—2พก 1:3; มธ 12:24

  • ปฏิญาณ

    คำ​มั่น​สัญญา​ที่​ให้​กับ​พระเจ้า​ว่า​จะ​ทำ​หรือ​จะ​ถวาย​อะไร​บาง​อย่าง หรือ​จะ​ทำ​งาน​เพื่อ​พระองค์ หรือ​เป็น​คำ​สัญญา​ว่า​จะ​งด​เว้น​บาง​สิ่ง​ซึ่ง​จริง ๆ แล้ว​สิ่ง​นั้น​ไม่​ได้​ผิด​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า คำ​ปฏิญาณ​ถือ​เป็น​เรื่อง​จริงจัง​และ​มี​ผล​เหมือน​กับ​คำ​สาบาน—กดว 6:2; ปญจ 5:4; มธ 5:33

  • ประชาคม

    กลุ่ม​คน​ที่​มา​รวม​ตัว​กัน​เพื่อ​จุด​ประสงค์​เฉพาะ​หรือ​เพื่อ​ทำ​กิจกรรม​บาง​อย่าง ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ใช้​คำ​อื่น​แทน​คำ​ว่า “ประชาคม” เช่น “ที่​ประชุม” “ประชาชน​ของ​พระเจ้า” ซึ่ง​โดย​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​หมาย​ถึง​ชาติ​อิสราเอล ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก บาง​ครั้ง​คำ​นี้​หมาย​ถึง​ประชาคม​คริสเตียน​แต่​ละ​แห่ง แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​หมาย​ถึง​ประชาคม​คริสเตียน​โดย​รวม—สด 22:22; กจ 9:31; รม 16:5

  • ประตัก

    ไม้​ยาว​ที่​มี​ปลาย​เป็น​เหล็ก​แหลม​ไว้​ใช้​กระทุ้ง​สัตว์ มี​การ​เปรียบ​เทียบ​ประตัก​ว่า​เป็น​เหมือน​คำ​สอน​ของ​คน​ที่​มี​สติ​ปัญญา​ที่​ช่วยกระตุ้น​ให้​คน​ฟัง​ทำ​ตาม สำนวน “เตะ​ประตัก” ใน​พระ​คัมภีร์​ได้​มา​จาก​ท่า​ทาง​ของ​วัว​ดื้อ​ที่​ต่อ​ต้าน​เมื่อ​มี​ประตัก​มา​กระทุ้ง​ตัว​มัน ซึ่ง​การ​เตะ​ประตัก​อย่าง​นั้น​มี​แต่​จะ​ทำ​ให้​มัน​เจ็บ​ตัว—กจ 26:14; วนฉ 3:31

  • ประพฤติ​ไร้​ยางอาย

    แปล​จาก​คำ​ภาษา​กรีก อะเซลเยีย หมาย​ถึง​การ​ทำ​ผิด​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ร้ายแรง​และ​มี​ทัศนะ​ที่​หน้า​ด้าน​ไร้​ยางอาย​หรือ​ดูหมิ่น​อย่าง​มาก คือ ทัศนะ​ที่​ไม่​นับถือ​หรือ​ถึง​กับ​ดูหมิ่น​ผู้​มี​อำนาจ กฎหมาย และ​มาตรฐาน​ของ​พระเจ้า คำ​นี้​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​การ​ทำ​ผิด​เล็ก ๆ น้อย ๆ—กท 5:19; 2ปต 2:7

  • ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย, ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย

    คำ​ภาษา​กรีก อะนาสตาซิส แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ทำ​ให้​ลุก​ขึ้น” หรือ “ยืน​ขึ้น” ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​การ​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย 9 ราย ซึ่ง​รวม​ถึง​ตอน​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ปลุก​พระ​เยซู​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​ด้วย การ​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​ราย​อื่น ๆ ทำ​โดย​เอลียาห์ เอลีชา พระ​เยซู เปโตร และ​เปาโล แต่​ทุก​ราย​ก็​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เกิด​จาก​อำนาจ​ของ​พระเจ้า การ​ปลุก “ทั้ง​คน​ดี​และ​คน​ชั่ว” ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​เพื่อ​จะ​อยู่​บน​โลก​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​ความ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า (กจ 24:15) คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​การ​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​เพื่อ​ไป​สวรรค์​ด้วย มี​การ​ใช้​สำนวน​ว่า “พวก​แรก​ที่​ได้​รับ​การ​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย” หรือ “คน​ที่​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​อันดับ​แรก” ซึ่ง​หมาย​ถึง​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ที่​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า—ฟป 3:11; วว 20:5, 6; ยน 5:28, 29; 11:25

  • ปะการัง

    สิ่ง​ที่​สัตว์​ทะเล​ตัว​เล็ก ๆ สร้าง​ขึ้น​มา มี​ลักษณะ​เหมือน​หิน​แข็ง พบ​ได้​ใน​มหาสมุทร มี​หลาย​สี เช่น แดง ขาว และ​ดำ ปะการัง​พบ​มาก​เป็น​พิเศษ​ใน​ทะเล​แดง ใน​สมัย​พระ​คัมภีร์​ปะการัง​สี​แดง​เป็น​ของ​มี​ค่า​มาก นิยม​นำ​ไป​ทำ​เป็น​ลูกปัด​และ​เครื่อง​ประดับ​อื่น ๆ—สภษ 8:11

  • ปัสกา

    เทศกาล​ประจำ​ปี​ที่​ฉลอง​ใน​วัน​ที่ 14 เดือน​อาบีบ (ต่อ​มา​เรียก​ว่า​เดือน​นิสาน) เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​ที่​พระเจ้า​ช่วย​ชาว​อิสราเอล​ออก​จาก​อียิปต์ มี​การ​ฉลอง​เทศกาล​นี้​โดย​ฆ่า​ลูก​แกะ (หรือ​แพะ) แล้ว​ย่าง​กิน​กับ​ผัก​ที่​มี​รส​ขม​และ​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ—อพย 12:27; ยน 6:4; 1คร 5:7

  • ปี​ที่​น่า​ยินดี

    ทุก ๆ ปี​ที่ 50 นับ​จาก​ที่​ชาว​อิสราเอล​เข้า​ไป​ใน​แผ่นดิน​ที่​พระเจ้า​สัญญา เมื่อ​ถึง​ปี​ที่​น่า​ยินดี แผ่นดิน​จะ​ต้อง​ไม่​มี​การ​หว่าน​ไถ​และ​ทาส​ชาว​ฮีบรู​จะ​ถูก​ปล่อย​ตัว​เป็น​อิสระ ที่​ดิน​มรดก​ที่​ถูก​ขาย​ไป​จะ​ได้​กลับ​คืน​มา ใน​แง่​หนึ่ง ปี​ที่​น่า​ยินดี​ก็​เป็น​เหมือน​ปี​ที่​มี​เทศกาล​ตลอด​ทั้ง​ปี เป็น​ปี​แห่ง​อิสรภาพ​ที่​ทำ​ให้​ทั้ง​ชาติ​กลับ​คืน​สู่​สภาพ​ที่​เคย​เป็น​เมื่อ​พระเจ้า​ก่อ​ตั้ง​ชาติ​นี้​ขึ้น​เป็น​ครั้ง​แรก—ลนต 25:10

  • ปีศาจ

    พวก​ตัว​ชั่ว​ร้าย​ซึ่ง​มอง​ไม่​เห็น​และ​มี​อำนาจ​เหนือ​มนุษย์ ใน​ปฐมกาล 6:2 เรียก​ปีศาจ​พวก​นี้​ว่า “ลูก ๆ ของ​พระเจ้า​เที่ยง​แท้” และ​ใน​ยูดา 6 เรียก​ว่า “ทูตสวรรค์” แสดง​ว่า​ปีศาจ​พวก​นี้​ไม่​ได้​ถูก​สร้าง​ให้​ชั่ว​ร้าย แต่​พวก​มัน​เป็น​ทูตสวรรค์​ที่​ตั้ง​ตัว​เป็น​ศัตรู​ของ​พระเจ้า โดย​ไม่​เชื่อ​ฟัง​พระองค์​ใน​สมัย​โนอาห์​และ​ร่วม​มือ​กับ​ซาตาน​กบฏ​ต่อ​พระ​ยะโฮวา—ฉธบ 32:17; ลก 8:30; กจ 16:16; ยก 2:19

  • ปุโรหิต

    คน​ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ตัว​แทน​ของ​พระเจ้า พวก​เขา​จะ​สั่ง​สอน​ประชาชน​ให้​รู้​เรื่อง​ของ​พระเจ้า​และ​กฎหมาย​ของ​พระองค์ และ​ปุโรหิต​ยัง​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ตัว​แทน​ประชาชน​เมื่อ​อยู่​ต่อ​หน้า​พระเจ้า​ด้วย เขา​จะ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​และ​อธิษฐาน​อ้อน​วอน​เพื่อ​ประชาชน ใน​สมัย​ที่​ยัง​ไม่​มี​กฎหมาย​ของ​โมเสส หัวหน้า​ครอบครัว​จะ​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ปุโรหิต​ให้​ครอบครัว​ของ​เขา แต่​พอ​มี​กฎหมายของ​โมเสส​แล้ว ผู้​ชาย​ใน​ครอบครัว​ของ​อาโรน​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตระกูล​เลวี​ก็​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ปุโรหิต ส่วน​ผู้​ชาย​คน​อื่น ๆ ที่​เหลือ​ใน​ตระกูล​เลวี​เป็น​ผู้​ช่วย​ของ​ปุโรหิต และ​เมื่อ​มี​สัญญา​ใหม่ อิสราเอล​ของ​พระเจ้า​กลาย​เป็น​ชาติ​ที่​มี​ปุโรหิต​ปกครอง​โดย​มี​พระ​เยซู​คริสต์​เป็น​มหา​ปุโรหิต—อพย 28:41; ฮบ 9:24; วว 5:10

  • ปุโรหิต​ใหญ่

    ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​คำ​นี้​เป็น​อีก​คำ​หนึ่ง​ที่​ใช้​เรียก “มหา​ปุโรหิต” แต่​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​ว่า “ปุโรหิต​ใหญ่” น่า​จะ​หมาย​ถึง​คน​สำคัญ ๆ ใน​คณะ​ปุโรหิต ซึ่ง​อาจ​รวม​ถึง​มหา​ปุโรหิต​ที่​ออก​จาก​ตำแหน่ง​ไป​แล้ว​และ​หัวหน้า​ของ​กลุ่ม​ปุโรหิต 24 กลุ่ม​ด้วย—2พศ 26:20; อสร 7:5; มธ 2:4; มก 8:31

  • ปูริม

    เทศกาล​ประจำ​ปี​ซึ่ง​ฉลอง​ใน​วัน​ที่ 14 และ 15 เดือน​อาดาร์​เพื่อ​ระลึก​ถึง​การ​ที่​ชาว​ยิว​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​รอด​พ้น​จาก​การ​ถูก​ทำลาย​ล้าง​ใน​สมัย​ของ​ราชินี​เอสเธอร์ คำ​ว่า “ปูริม” ไม่​ใช่​คำ​ภาษา​ฮีบรู คำ​นี้​แปล​ว่า “ฉลาก” เทศกาล​นี้​มี​ชื่อ​ว่า​เทศกาล​ปูริม​หรือ​เทศกาล​ฉลาก​ก็​เพราะ​ฮามาน​โยน​เปอร์ (ฉลาก) เพื่อ​กำหนด​วัน​ที่​จะ​กวาด​ล้าง​ชาว​ยิว—อสธ 3:7; 9:26

  • เปอร์เซีย, ชาว​เปอร์เซีย

    ประเทศ​หรือ​ชน​ชาติ​ที่​มัก​มี​การ​พูด​ถึง​คู่​กัน​กับ​มีเดีย ใน​ช่วง​แรก ชาว​เปอร์เซีย​ครอบครอง​ดินแดน​เฉพาะ​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้​ของ​ที่​ราบ​สูง​อิหร่าน​เท่า​นั้น แต่​พอ​ถึง​สมัย​ที่​กษัตริย์​ไซรัส​มหาราช​ปกครอง (นัก​ประวัติศาสตร์​สมัย​ก่อน​บาง​คน​บอก​ว่า​ไซรัส​มี​พ่อ​เป็น​คน​เปอร์เซีย​และ​แม่​เป็น​คน​มีเดีย) ชาว​เปอร์เซีย​ก็​เริ่ม​มี​อำนาจ​เหนือ​ชาว​มีเดีย แต่​สอง​อาณาจักร​นี้​ก็​ยัง​เป็น​อำนาจ​คู่​กัน​ต่อ​ไป ไซรัส​เอา​ชนะ​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใน​ปี 539 ก่อน ค.ศ. และ​อนุญาต​ให้​ชาว​ยิว​ที่​เป็น​เชลย​กลับ​บ้าน​เกิด จักรวรรดิ​เปอร์เซีย​แผ่​ขยาย​ดินแดน​ตั้ง​แต่​แม่น้ำ​สินธุ​ทาง​ตะวัน​ออก​ไป​จน​ถึง​ทะเล​อีเจียน​ทาง​ตะวัน​ตก ชาว​ยิว​อยู่​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​เปอร์เซีย​จน​กระทั่ง​อเล็กซานเดอร์​มหาราช​เอา​ชนะ​เปอร์เซีย​ได้​ใน​ปี 331 ก่อน ค.ศ. ดาเนียล​เห็น​จักรวรรดิ​เปอร์เซีย​ใน​นิมิต และ​ใน​หนังสือ​เอสรา เนหะมีย์ และ​เอสเธอร์​ก็​พูด​ถึง​จักรวรรดิ​นี้ (อสร 1:1; ดนล 5:28; 8:20)—ดู​ภาค​ผนวก ข​9

  • ผล​แรก

    ผล​ที่​เก็บ​เกี่ยว​ได้​รอบ​แรก​ของ​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว หรือ​ผล​แรก​ของ​อะไร​ก็​ตาม พระ​ยะโฮวา​กำหนด​ว่า​ชาติ​อิสราเอล​ต้อง​ถวาย​ผล​แรก​ของ​พวก​เขา​ให้​พระองค์ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​คน สัตว์ หรือ​พืช​ผล ชาว​อิสราเอล​ทั้ง​ชาติ​ถวาย​ผล​แรก​ให้​พระเจ้า​ใน​เทศกาล​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​และ​เทศกาล​เพ็นเทคอสต์ คำ​ว่า “ผล​แรก” ยัง​ใช้​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ถึง​พระ​คริสต์​และ​สาวก​ผู้​ถูก​เจิม​ของ​ท่าน​ด้วย—1คร 15:23; กดว 15:21; สภษ 3:9; วว 14:4

  • ผ้า​กระสอบ

    ผ้า​เนื้อ​หยาบ​ที่​ใช้​ทำ​กระสอบ​หรือ​ถุง เช่น กระสอบ​ใส่​ข้าว มัก​ทอ​จาก​ขน​แพะ​สี​เข้ม และ​เป็น​เสื้อ​ผ้า​ที่​ใส่​เมื่อ​เป็น​ทุกข์​โศก​เศร้า—ปฐก 37:34; ลก 10:13

  • ผ้า​โพก​หัว

    ผ้า​ที่​พัน​รอบ​หัว​และ​เป็น​เครื่อง​ประดับ​ศีรษะ​อย่าง​หนึ่ง มหา​ปุโรหิต​สวม​ผ้า​โพก​หัว​ทำ​จาก​ผ้า​ลินิน​เนื้อ​ดี และ​มี​แผ่น​ทองคำ​คาด​อยู่​ด้าน​หน้า​ผูก​ด้วย​เชือก​สี​ฟ้า กษัตริย์​ก็​สวม​ผ้า​โพก​หัว​ไว้​ใต้​มงกุฎ​ด้วย โยบ​เคย​เปรียบ​ความ​ยุติธรรม​ของ​เขา​เป็น​เหมือน​ผ้า​โพก​หัว—อพย 28:36, 37; โยบ 29:14; อสค 21:26

  • ผิด​ศีลธรรม​ทาง​เพศ

    มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก พอร์เน่อา เมื่อ​ใช้​ใน​พระคัมภีร์​หมาย​ถึง​กิจกรรม​ทาง​เพศ​บาง​อย่าง​ที่​พระเจ้า​ห้าม เช่น การ​เล่นชู้ การ​เป็น​โสเภณี เพศ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คน​ที่​ยัง​ไม่​แต่งงาน การ​รัก​ร่วม​เพศ และ​เพศ​สัมพันธ์กับ​สัตว์ ใน​หนังสือ​วิวรณ์ มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​แฝง​เมื่อ​พูด​ถึง​ศาสนา​ต่าง ๆ ที่​เรียก​ว่า “บาบิโลน​ใหญ่” โดย​ให้​ภาพ​ว่า​ศาสนา​เหล่า​นี้​เป็น​โสเภณี​ที่​ทำ​ผิด​ศีลธรรม​ทาง​เพศ​กับ​ผู้​ปกครอง​ใน​โลก​เพื่อ​หวัง​จะ​ได้​อำนาจ​และ​ทรัพย์​สมบัติ (วว 14:8; 17:2; 18:3; มธ 5:32; กจ 15:29; กท 5:19)—ดู​คำ​ว่า “โสเภณี

  • ผู้​ควบคุม​ดนตรี

    คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ตาม​ที่​ใช้​ใน​หนังสือ​สดุดี​ดู​เหมือน​หมาย​ถึง​คน​ที่​เรียบเรียง​และ​ควบคุม​การ​ร้อง​เพลง ฝึก​ซ้อม​และ​ฝึก​สอน​นัก​ร้อง​ชาว​เลวี รวม​ทั้ง​เป็น​ผู้​นำ​การ​แสดง​ใน​พิธี​ต่าง ๆ ฉบับ​แปล​อื่น ๆ แปล​คำ​นี้​ว่า “หัวหน้า​นัก​ร้อง” “หัวหน้า​นัก​ดนตรี” หรือ “ผู้​กำกับ​ดนตรี”—สด 4:0; 5:0

  • ผู้​คัด​ลอก

    คน​ที่​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู—อสร 7:6

  • ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้

    มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก ดิอาโคโนส ซึ่ง​มัก​แปล​ว่า “ผู้​รับใช้” หรือ “คน​รับใช้” คำ​ว่า “ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้” หมาย​ถึง​คน​ที่​เป็น​ผู้​ช่วย​ของ​คณะ​ผู้​ดู​แล​ใน​ประชาคม และ​ต้อง​มี​คุณสมบัติ​ตาม​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​กำหนด​ไว้—1ทธ 3:8-10, 12

  • ผู้​ดู​แล

    ผู้​ชาย​ที่​มี​หน้า​ที่​คอย​ดู​แล​ประชาคม​อย่าง​ที่​คน​เลี้ยง​แกะ​ดู​แล​แกะ คำ​นี้​แปล​จาก​คำ​ภาษา​กรีก เอพิสโคโพส ซึ่ง​แสดง​ว่า​หน้า​ที่​พื้น​ฐาน​ของ​ผู้​ดู​แล​คือ​การ​ดู​แล​และ​ปก​ป้อง ส่วน​คำ​ภาษา​กรีก​อีก​คำ​หนึ่ง​ที่​บาง​ครั้ง​แปล​ว่า​ผู้​ดู​แล​ด้วย​คือ เพรส​วี​เท​โรส ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “ผู้​ชาย​สูง​อายุ” คำ​นี้​แสดง​ถึง​ความ​เป็น​ผู้​ใหญ่​ของ​คน​ที่​ทำ​หน้า​ที่​นี้ ใน​หนังสือ​วิวรณ์​แปล​คำ เพรส​วี​เท​โรส ว่า “ผู้​ปกครอง” เมื่อ​ใช้​กับ​บุคคล​กลุ่ม​หนึ่ง​ใน​สวรรค์—กจ 20:28; 1ทธ 3:2-7; ทต 1:5; 1ปต 5:1, 2; วว 4:4

  • ผู้​ต่อ​ต้าน​พระ​คริสต์

    คำ​นี้​ใน​ภาษา​กรีก​มี​ความ​หมาย 2 แง่ แง่​หนึ่ง​หมาย​ถึง​ใคร​หรือ​อะไร​ก็​ตาม​ที่​ต่อ​ต้าน​พระ​คริสต์ และ​อีก​แง่​หนึ่ง​หมาย​ถึง​พระ​คริสต์​ปลอม​หรือ​ผู้​ที่​แอบ​อ้าง​ว่า​มี​ฐานะ​ตำแหน่ง​แบบ​พระ​คริสต์ คำ​นี้​ใช้​ได้​กับ​ทั้ง​คน​คน​เดียว กลุ่ม​คน หรือ​องค์การ ที่​แอบ​อ้าง​ว่า​เป็น​ตัว​แทน​ของ​พระ​คริสต์ หรือ​เป็น​เมสสิยาห์ หรือ​ต่อ​ต้าน​พระ​คริสต์​กับ​สาวก​ของ​ท่าน—1ยน 2:22

  • ผู้​นำ

    ผู้​ชาย​ที่​มี​อำนาจ​และ​ตำแหน่ง​ใน​ชุมชน​หรือ​ใน​ชาติ คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​มัก​จะ​มี​ความ​หมาย​เดียว​กับ​คำ​ภาษา​กรีก เพรส​วี​เท​โรส ใน​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​นี้​ใช้​คำ​ว่า “ผู้​นำ” กับ​พวก​ผู้​นำ​ของ​ชาว​ยิว​ใน​สมัย​พระ​เยซู​และ​อัครสาวก​ด้วย (อพย 3:16; ยชว 8:33; นรธ 4:2; มธ 16:21)—ดู​คำ​ว่า “ผู้​ดู​แล

  • ผู้​นำ​คน​สำคัญ

    คำ​เรียก​ที่​แสดง​ถึง​บทบาท​สำคัญ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ใน​การ​ช่วย​มนุษย์​ให้​หลุด​พ้น​จาก​บาป​และ​ผล​กระทบ​ของ​บาป และ​นำ​มนุษย์​ไป​ถึง​ชีวิต​ตลอด​ไป—กจ 3:15; 5:31; ฮบ 2:10; 12:2

  • ผู้​ปกครอง

    ดู​คำ​ว่า “ผู้​ดู​แล

  • ผู้​ปกครอง​รัฐ

    ผู้​สำเร็จ​ราชการ​หรือ​ผู้​ว่า​การ​รัฐ​ใน​จักรวรรดิ​บาบิโลน​และ​เปอร์เซีย ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​กษัตริย์​ให้​มี​อำนาจ​ปกครอง—อสร 8:36; ดนล 6:1

  • ผู้​พยากรณ์

    คน​ที่​บอก​ให้​คน​อื่น​รู้​ความ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า ผู้​พยากรณ์​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​โฆษก​ของ​พระเจ้า เขา​ไม่​ได้​ทำนาย​อย่าง​เดียว แต่​บอก​คำ​สอน คำ​สั่ง และ​คำ​พิพากษา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย—อมส 3:7; 2ปต 1:21

  • ผู้​วินิจฉัย

    คน​ที่​พระ​ยะโฮวา​แต่ง​ตั้ง​เพื่อ​ช่วยเหลือ​ประชาชน​ของ​พระองค์​ให้​รอด​พ้น​จาก​ศัตรู​ใน​ช่วง​ที่​ชาว​อิสราเอล​ยัง​ไม่​มี​กษัตริย์​ที่​เป็น​มนุษย์​ปกครอง—วนฉ 2:16

  • ผู้​สำเร็จ​ราชการ

    ผู้​ปกครอง​คน​สำคัญ​ของ​แคว้น​ที่​สภา​สูง​ของ​โรมัน​ดู​แล​อยู่ เขา​มี​อำนาจ​ทาง​ตุลาการ​และ​การ​ทหาร เขา​ต้อง​รายงาน​การ​บริหาร​งาน​ต่อ​สภา​สูง แต่​ก็​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ใน​แคว้น​ที่​เขา​ปกครอง—กจ 13:7; 18:12

  • ผู้​หยั่ง​รู้

    คน​ที่​พระเจ้า​ให้​มี​ความ​สามารถ​ที่​จะ​เข้าใจ​ความ​ประสงค์​ของ​พระองค์ เป็น​คน​ที่​สามารถ​เห็น​หรือ​เข้าใจ​สิ่ง​ที่​คน​ทั่ว​ไป​มอง​ไม่​ออก คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​มี​รากศัพท์​มา​จาก​คำ​ที่​แปล​ว่า “เห็น” ทั้ง​ตาม​ตัว​อักษร​หรือ​ความ​หมาย​แฝง คน​ที่​มี​ปัญหา​หรือ​ต้องการ​คำ​แนะ​นำ​มัก​จะ​มา​หา​ผู้​หยั่ง​รู้—1ซม 9:9

  • แผ่น​หนัง

    หนัง​แกะ หนัง​แพะ หรือ​หนัง​ลูก​วัว​ซึ่ง​ทำ​เป็น​วัสดุ​ที่​ใช้​สำหรับ​จด​บันทึก ทน​กว่า​พาไพรัส มี​การ​ใช้​แผ่น​หนัง​ทำ​เป็น​ม้วน​หนังสือ​คัมภีร์​ไบเบิล เปาโล​เคย​ขอ​ให้​ทิโมธี​เอา​ม้วน​หนังสือ​ที่​ทำ​จาก​แผ่น​หนัง​มา​ให้​ซึ่ง​อาจ​เป็น​บาง​ส่วน​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู ม้วน​หนังสือ​ทะเล​ตาย​บาง​ม้วน​ก็​เป็น​แผ่น​หนัง​ด้วย—2ทธ 4:13

  • แผ่น​หิน​ที่​เป็น​พยาน​หลักฐาน

    คำ​นี้​มัก​หมาย​ถึง​แผ่น​หิน 2 แผ่น​ที่​พระเจ้า​ให้​กับ​โมเสส บน​แผ่น​หิน​นั้น​มี​บัญญัติ 10 ประการ​จารึก​ไว้​ซึ่ง​เรียก​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ว่า “พยาน​หลักฐาน”—อพย 31:18

  • ฝา​ปิด​คลุม​บาป

    ฝา​ของ​หีบ​สัญญา ซึ่ง​มหา​ปุโรหิต​จะ​เอา​เลือด​ของ​เครื่อง​บูชา​ไถ่​บาป​ไป​ประพรม​หน้า​หีบ​ใน​วัน​ไถ่​บาป คำ​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​มา​จาก​คำ​กริยา​ที่​หมาย​ถึง “ปิด​คลุม (บาป)” หรือ “ลบ​ล้าง (บาป)” ฝา​ทั้ง​ชิ้น​ทำ​จาก​ทองคำ​และ​มี​เครูบ​สอง​องค์​อยู่​ที่​ปลาย​ฝา​ด้าน​ละ​องค์ บาง​ครั้ง​มี​การ​เรียก​ง่าย ๆ ว่า “ฝา​หีบ” (อพย 25:17-22; 1พศ 28:11; ฮบ 9:5)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • พรรค​พวก​ของ​เฮโรด

    หรือ​ที่​เรียก​ว่า​พวก​เฮโรเดียน พวก​นี้​เป็น​กลุ่ม​ชาติ​นิยม​ที่​สนับสนุน​เป้าหมาย​ทาง​การ​เมือง​ของ​ราชวงศ์​เฮโรด​ที่​ปกครอง​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน พวก​สะดูสี​บาง​คน​ก็​อาจ​เป็น​สมาชิก​ของ​กลุ่ม​นี้ พวก​เฮโรเดียน​ร่วม​มือ​กับ​พวก​ฟาริสี​ใน​การ​ต่อ​ต้าน​พระ​เยซู—มก 3:6

  • พระ​คริสต์

    ตำแหน่ง​ของ​พระ​เยซู มา​จาก​คำ​ภาษา​กรีก คริสโตส ซึ่ง​ตรง​กับ​คำ​ภาษา​ฮีบรู “เมสสิยาห์” ที่​แปล​ว่า “ผู้​ถูก​เจิม”—มธ 1:16; ยน 1:41

  • พระ​คัมภีร์, คัมภีร์

    ข้อ​เขียน​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​เป็น​ถ้อย​คำ​ของ​พระเจ้า ส่วน​ใหญ่​แล้ว​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก—ลก 24:27; 2ทธ 3:16

  • พระเจ้า​เที่ยง​แท้

    มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “พระเจ้า​องค์​นั้น” คำ​นี้​ทำ​ให้​เห็น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว​และ​แยก​พระองค์​ออก​จาก​พระ​เท็จ​อย่าง​ชัดเจน การ​ใช้​คำ​ว่า “พระเจ้า​เที่ยง​แท้” จึง​ช่วย​รักษา​ความ​หมาย​ที่​ครบ​ถ้วน​ของ​คำ​ภาษา​ฮีบรู​นั้น​ไว้—ปฐก 5:22, 24; 46:3; ฉธบ 4:39

  • พลัง​บริสุทธิ์

    พลัง​ที่​มอง​ไม่​เห็น​ซึ่ง​พระเจ้า​ใช้​ทำ​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​พระองค์​ต้องการ พลัง​นี้​บริสุทธิ์ เพราะ​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา​ผู้​บริสุทธิ์​และ​มี​ความ​ถูก​ต้อง​ชอบธรรม​ใน​ทุก​ด้าน และ​เพราะ​พระเจ้า​ใช้​พลัง​นี้​เพื่อ​ทำ​สิ่ง​ที่​บริสุทธิ์​ด้วย—ลก 1:35; กจ 1:8

  • พอร์เน่อา

  • พาไพรัส

    พืช​น้ำ​ชนิด​หนึ่ง​คล้าย​ต้น​กก ใช้​ทำ​สิ่ง​ของ​ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า ภาชนะ และ​เรือ มี​การ​ใช้​พาไพรัส​ทำ​กระดาษ​และ​ทำ​ม้วน​หนังสือ​มาก​มาย—อพย 2:3

  • พิม

    หน่วย​น้ำหนัก​และ​ค่า​ลับ​เครื่อง​มือ​โลหะ​ที่ชาว​ฟีลิสเตีย​เรียก​เก็บ​จาก​ชาว​อิสราเอล นัก​โบราณคดี​ขุด​พบ​ตุ้ม​น้ำหนัก​ทำ​จาก​หิน​หลาย​อัน​ใน​อิสราเอล​ที่​มี​คำ​ว่า “พิม” ใน​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ ตุ้ม​น้ำหนัก​เหล่า​นี้​มี​น้ำหนัก​โดย​เฉลี่ย 7.8 กรัม​หรือ​ประมาณ 2 ใน 3 เชเขล—1ซม 13:20, 21

  • เพ็นเทคอสต์

    เทศกาล​ที่​สอง​ใน​สาม​เทศกาล​สำคัญ​ที่​ผู้​ชาย​ชาว​ยิว​ทุก​คน​ต้อง​ไป​ร่วม​ฉลอง​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม คำ​ว่า “เพ็นเทคอสต์” แปล​ว่า “(วัน) ที่​ห้า​สิบ” เป็น​ชื่อ​ที่​ใช้​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก เพื่อ​เรียก​เทศกาล​เก็บ​เกี่ยว​หรือ​เทศกาล​ฉลอง​หลัง​ครบ 7 สัปดาห์​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู เทศกาล​นี้​ฉลอง​ใน​วัน​ที่ 50 โดย​เริ่ม​นับ​จาก​วัน​ที่ 16 เดือน​นิสาน—อพย 23:16; 34:22; กจ 2:1

  • เพลง​ไว้​อาลัย

    บทเพลง​หรือ​ทำนอง​เพลง​ที่​แสดง​ความ​เศร้า​โศก​เสียใจ​อย่าง​สุด​ซึ้ง เช่น เมื่อ​เพื่อน​หรือ​ผู้​เป็น​ที่​รัก​เสีย​ชีวิต นอก​จาก​นี้​ยัง​เรียก​ว่า “เพลง​คร่ำ​ครวญ” ด้วย—2ซม 1:17; สด 7:0

  • เพลง​สดุดี, สดุดี

    เพลง​สรรเสริญ​พระเจ้า เป็น​เพลง​ที่​ผู้​นมัสการ​พระเจ้า​ร้อง​คลอ​ไป​กับ​เสียง​ดนตรี มี​การ​ร้อง​เพลง​แบบ​นี้​ด้วย​เมื่อ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ที่​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม—ลก 20:42; กจ 13:33; ยก 5:13

  • เพลง​สำหรับ​เดิน​ขึ้น

    หัว​บท​ของ​สดุดี​บท 120-134 แม้​จะ​มี​ความ​คิด​หลาก​หลาย​ว่า​วลี​นี้​หมาย​ความ​ว่า​อย่าง​ไร แต่​หลาย​คน​เชื่อ​ว่า​เพลง​สดุดี 15 บท​นี้​จะ​ร้อง​เมื่อ​ผู้​นมัสการ​ชาว​อิสราเอล​ที่​มี​ความ​สุข ‘เดิน​ขึ้น’ ไป​ที่​กรุง​เยรูซาเล็ม​ซึ่ง​อยู่​บน​ภูเขา​ของ​ยูดาห์ เพื่อ​เข้า​ร่วม​งาน​เทศกาล​ใหญ่​ประจำ​ปี​ที่​มี​สาม​ครั้ง

  • ฟาทอม

    หน่วย​วัด​ความ​ลึก​ของ​น้ำ ซึ่ง​เท่า​กับ 1.8 เมตร (6 ฟุต) (กจ 27:28)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ฟาริสี

    นิกาย​ใหญ่​นิกาย​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​ยิว​ใน​ช่วง​คริสต์​ศตวรรษ​แรก ฟาริสี​ไม่​ได้​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​ปุโรหิต แต่​เป็น​พวก​ที่​ทำ​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส​อย่าง​เคร่งครัด​โดย​เฉพาะ​ใน​เรื่อง​หยุมหยิม และ​ยกย่อง​คำ​สอน​สืบ​ปาก​เทียบเท่า​กับ​กฎหมาย​ของ​โมเสส (มธ 23:23) พวก​เขา​ต่อ​ต้าน​อิทธิพล​ของ​วัฒนธรรม​กรีก​และ​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​กฎหมาย​ของ​โมเสส​กับ​ธรรมเนียม​ต่าง ๆ ของ​ชาว​ยิว พวก​เขา​จึง​มี​อำนาจ​มาก​ใน​สังคม (มธ 23:2-6) ฟาริสี​บาง​คน​เป็น​สมาชิก​ของ​ศาล​แซนเฮดริน​ด้วย พวก​เขา​ชอบ​จับ​ผิด​พระ​เยซู​เกี่ยว​กับ​กฎ​วัน​สะบาโต เกี่ยว​กับ​ธรรมเนียม​ต่าง ๆ และ​ตำหนิ​พระ​เยซู​ที่​คบหา​กับ​คน​บาป​และ​คน​เก็บ​ภาษี มี​ฟาริสี​บาง​คน​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​ด้วย เช่น เซาโล​จาก​เมือง​ทาร์ซัส—มธ 9:11; 12:14; มก 7:5; ลก 6:2; กจ 26:5

  • ฟาโรห์

    ตำแหน่ง​ของ​กษัตริย์​อียิปต์ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​ชื่อ​ของ​ฟาโรห์ 5 องค์ (ชิชัก โส ทีร์หะคาห์ เนโคห์ และ​โฮฟรา) แต่​องค์​อื่น ๆ นอก​นั้น​ไม่​มี​ชื่อ​บอก​ไว้ รวม​ทั้ง​ฟาโรห์​ที่​เคย​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อับราฮัม โมเสส และ​โยเซฟ​ด้วย—อพย 15:4; รม 9:17

  • ฟีลิสเตีย, ชาว​ฟีลิสเตีย

    แผ่นดิน​ที่​อยู่​บน​ชายฝั่ง​ทาง​ใต้​ของ​อิสราเอล และ​คน​ที่​อพยพ​จาก​เกาะ​ครีต​มา​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ที่​นั่น​เรียก​ว่า​ชาว​ฟีลิสเตีย ดาวิด​เคย​ปราบ​ชน​ชาติ​นี้​ได้ แต่​พวก​ฟีลิสเตีย​ก็​ไม่​เคย​เป็น​เมือง​ขึ้น​ของ​ใคร​และ​เป็น​ศัตรู​กับ​อิสราเอล​เสมอ (อพย 13:17; 1ซม 17:4; อมส 9:7)—ดู​ภาค​ผนวก ข​4

  • ภาชนะ​ใส่​ถ่าน​ไฟ, ภาชนะ​ใส่​ไส้​ตะเกียง

    ภาชนะ​ที่​ทำ​จาก​ทองคำ เงิน หรือ​ทองแดง​ซึ่ง​ใช้​ใน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​วิหาร สำหรับ​เผา​เครื่อง​หอม​และ​เอา​ถ่าน​ไฟ​ออก​จาก​แท่น​บูชา หรือ​เอา​ไส้​ตะเกียง​ที่​ไหม้​แล้ว​ออก​จาก​เชิงตะเกียง​ทองคำ บาง​ครั้ง​เรียก​ว่า​ภาชนะ​สำหรับ​เผา​เครื่อง​หอม—อพย 37:23; 2พศ 26:19; ฮบ 9:4

  • มดยอบ

    ยาง​ไม้​ชนิด​หนึ่ง มี​กลิ่น​หอม ได้​จาก​ไม้​พุ่ม​บาง​ชนิด​ที่​มี​หนาม​หรือ​ต้น​ไม้​ขนาด​เล็ก​ใน​สกุล Commiphora มดยอบ​เป็น​ส่วน​ผสม​อย่าง​หนึ่ง​ใน​น้ำมัน​เจิม​บริสุทธิ์ มี​การ​ใช้​มดยอบ​เพื่อ​ทำ​ให้​เสื้อ​ผ้า​หรือ​เตียง​นอน​มี​กลิ่น​หอม ใช้​ผสม​ใน​น้ำมัน​สำหรับ​นวด​และ​ใน​ครีม​บำรุง​ผิว และ​ใช้​ใน​การ​เตรียม​ศพ​ก่อน​นำ​ไป​ฝัง​ด้วย—อพย 30:23; สภษ 7:17; ยน 19:39

  • ม้วน​หนังสือ

    แผ่น​หนัง​หรือ​พาไพรัส​แผ่น​ยาว ๆ ที่​มี​ข้อ​ความ​เขียน​ไว้​ด้าน​หนึ่ง​และ​มัก​จะ​ม้วน​อยู่​รอบ​แท่ง​ไม้ มี​การ​เขียน​และ​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ไว้​ใน​ม้วน​หนังสือ​แบบ​นี้​ซึ่ง​ใช้​กัน​มาก​ใน​สมัย​ที่​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล—ยรม 36:4, 18, 23; ลก 4:17-20; 2ทธ 4:13

  • มหา​ปุโรหิต

    เป็น​ตำแหน่ง​ปุโรหิต​สูง​สุด​ตาม​ที่​กำหนด​ไว้​ใน​กฎหมาย​ของ​โมเสส เขา​เป็น​ตัว​แทน​ของ​ประชาชน​เพื่อ​เข้า​เฝ้า​พระเจ้า​และ​เป็น​ผู้​ดู​แล​ปุโรหิต​คน​อื่น ๆ บาง​ครั้ง​เรียก​ว่า “ปุโรหิต​ใหญ่” (2พศ 26:20; อสร 7:5) เขา​เป็น​คน​เดียว​ที่​มี​สิทธิ์​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด ซึ่ง​เป็น​ห้อง​ใน​สุด​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​วิหาร เขา​จะ​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​นี้​เฉพาะ​ใน​วัน​ไถ่​บาป​ประจำ​ปี คำ​ว่า “มหา​ปุโรหิต” ยัง​ใช้​กับ​พระ​เยซู​คริสต์​ด้วย—ลนต 16:2, 17; 21:10; มธ 26:3; ฮบ 4:14

  • มัลคาม

    อาจ​เป็น​องค์​เดียว​กับ​พระ​โมเลค​ซึ่ง​เป็น​เทพเจ้า​สูง​สุด​ของ​ชาว​อัมโมน (ศฟย 1:5)—ดู​คำ​ว่า “โมเลค

  • มัสคิล

    คำ​ฮีบรู​ที่​ไม่​รู้​ความ​หมาย​แน่ชัด อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี 13 บท คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง “บท​กวี​ใคร่ครวญ” บาง​คน​คิด​ว่า​คำ​นี้​น่า​จะ​มี​ความ​หมาย​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อีก​คำ​หนึ่ง​ที่​เขียน​คล้าย ๆ กัน ซึ่ง​แปล​ว่า ‘รับใช้​อย่าง​ดี’—2พศ 30:22; สด 32:0

  • มาซิโดเนีย

    ดินแดน​ทาง​เหนือ​ของ​กรีซ ซึ่ง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​ช่วง​ที่​อเล็กซานเดอร์​มหาราช​ปกครอง เป็น​ดินแดน​เอกราช​ที่​ไม่​ขึ้น​กับ​ใคร​จน​ถึง​ตอน​ที่​จักรวรรดิ​โรมัน​มา​พิชิต​ได้ ตอน​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ไป​ยุโรป​ครั้ง​แรก มาซิโดเนีย​เป็น​แคว้น​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน เปาโล​เคย​ไป​ที่​นั่น 3 ครั้ง (กจ 16:9)—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

  • มานา

    อาหาร​หลัก​ของ​ชาว​อิสราเอล​ใน​ช่วง 40 ปี​ใน​ที่​กันดาร​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​จัด​เตรียม​ให้​โดย​การ​อัศจรรย์ ทุก​เช้า​หลัง​จาก​น้ำ​ค้าง​ระเหย​ไป​แล้ว​จะ​เห็น​มานา​อยู่​บน​พื้น​ดิน​ยก​เว้น​ใน​วัน​สะบาโต ตอน​ที่​ชาว​อิสราเอล​เห็น​มานา​ครั้ง​แรก พวก​เขา​พูด​ว่า “นี่​คือ​อะไร?” หรือ​ใน​ภาษา​ฮีบรู​คือ “มาน​ฮู?” (อพย 16:13-15, 35) ใน​ข้อ​คัมภีร์​อื่น ๆ เรียก​มานา​ว่า “อาหาร​จาก​ท้องฟ้า” (สด 78:24) “ขนมปัง​จาก​สวรรค์” (สด 105:40) และ “อาหาร​ของ​ผู้​มี​ฤทธิ์” (สด 78:25) พระ​เยซู​ก็​พูด​ถึง​มานา​ใน​เชิง​เปรียบ​เทียบ​ด้วย—ยน 6:49, 50

  • มาหะลัท

    ดู​เหมือน​เป็น​ศัพท์​ทาง​ดนตรี​ที่​อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี​บท 53 และ 88 อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​กริยา​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “อ่อน​แรง” หรือ “ป่วย” คำ​นี้​จึง​แสดง​ถึง​อารมณ์​เศร้า ซึ่ง​ตรง​กับ​เนื้อหา​ที่​หดหู่​ของ​เพลง​สดุดี​ทั้ง​สอง​บท

  • ม่าน

    ผ้า​ที่​ทอ​อย่าง​สวย​งาม​และ​มี​ลาย​ปัก​เป็น​ภาพ​เครูบ ใช้​สำหรับ​กั้น​ระหว่าง​ห้อง​บริสุทธิ์​กับ​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ทั้ง​ใน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​ใน​วิหาร (อพย 26:31; 2พศ 3:14; มธ 27:51; ฮบ 9:3)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • มาร

    ชื่อ​เรียก​ซาตาน​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก เป็น​ชื่อ​ที่​บ่ง​บอก​นิสัย​ของ​ซาตาน​เพราะ “มาร” แปล​ว่า “ผู้​หมิ่น​ประมาท” ซาตาน​ได้​ชื่อ​ว่า​มาร​เพราะ​มัน​เป็น​ผู้​นำ​ตัว​สำคัญ​ใน​การ​หมิ่น​ประมาท​และ​ใส่​ร้าย​พระ​ยะโฮวา และ​ทำ​ให้​ชื่อ​ที่​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์​เสื่อม​เสีย—มธ 4:1; ยน 8:44; วว 12:9

  • มินา

    ใน​หนังสือ​เอเสเคียล​ใช้​คำ​ว่า “มาเน” เป็น​ทั้ง​หน่วย​น้ำหนัก​และ​หน่วย​เงิน​ตรา เมื่อ​ดู​จาก​หลักฐาน​ทาง​โบราณคดี 1 มินา​เท่า​กับ 50 เชเขล และ 1 เชเขล​หนัก 11.4 กรัม มินา​ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​หนัก 570 กรัม อาจ​มี​ทั้ง​มินา​ธรรมดา​และ​มินา​หลวง​เหมือน​ใน​กรณี​ของ​ศอก ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก 1 มินา​เท่า​กับ 100 ดรัคมา ซึ่ง​หนัก​เท่า​กับ 340 กรัม และ 60 มินา​เท่า​กับ 1 ตะลันต์ (อสร 2:69; ลก 19:13)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • มิคทาม

    คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี 6 บท (สด 16, 56-60) คำ​นี้​เป็น​ศัพท์​เฉพาะ​ที่​ไม่​รู้​ความ​หมาย​แน่ชัด แต่​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คำ​ว่า “คำ​จารึก”

  • มิลโคม

    พระ​ที่​ชาว​อัมโมน​นมัสการ อาจ​เป็น​องค์​เดียว​กับ​พระ​โมเลค (1พก 11:5, 7) โซโลมอน​สร้าง​สถาน​บูชา​บน​ที่​สูง​ให้​พระ​เท็จ​องค์​นี้​ใน​ช่วง​ท้าย​การ​ปกครอง​ของ​เขา—ดู​คำ​ว่า “โมเลค

  • มีเดีย, ชาว​มีเดีย

    ชน​ชาติ​ที่​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​มาดัย​ลูก​ของ​ยาเฟท พวก​เขา​อาศัย​อยู่​ใน​เขต​เทือก​เขา​ของ​ที่​ราบ​สูง​อิหร่าน​ซึ่ง​กลาย​มา​เป็น​ประเทศ​มีเดีย ชาว​มีเดีย​ร่วม​มือ​กับ​บาบิโลน​เพื่อ​พิชิต​อัสซีเรีย ตอน​นั้น เปอร์เซีย​เป็น​แคว้น​หนึ่ง​ที่​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​มีเดีย แต่​ไซรัส​กษัตริย์​เปอร์เซีย​กบฏ มีเดีย​จึง​ถูก​รวม​เข้า​กับ​เปอร์เซีย​และ​กลาย​เป็น​จักรวรรดิ​มีเดีย-เปอร์เซีย​ซึ่ง​เอา​ชนะ​จักรวรรดิ​บาบิโลน​ใหม่​ได้​ใน​ปี 539 ก่อน ค.ศ. มี​ชาว​มีเดีย​บาง​คน​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ใน​วัน​เพ็นเทคอสต์​ปี ค.ศ. 33 (ดนล 5:28, 31; กจ 2:9)—ดู​ภาค​ผนวก ข​9

  • มุธลับเบน

    คำ​ที่​อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี​บท 9 ตาม​ที่​พูด​ต่อ ๆ กัน​มา​คำ​นี้​แปล​ว่า “เกี่ยว​กับ​ความ​ตาย​ของ​ลูก​ชาย” บาง​คน​คิด​ว่า​คำ​นี้​อาจ​เป็น​ชื่อ​เพลง​หรือ​เป็น​คำ​ขึ้น​ต้น​ของ​เพลง​หนึ่ง​ที่​มี​ทำนอง​คุ้น​หู ซึ่ง​จะ​ใช้​ทำนอง​ของ​เพลง​นั้น​ใน​การ​ร้อง​เพลง​สดุดี​บท​นี้

  • เมโรดัค

    เทพเจ้า​สูง​สุด​ของ​กรุง​บาบิโลน หลัง​จาก​ฮัม​มูรา​บี​ซึ่ง​เป็น​กษัตริย์​และ​ผู้​บัญญัติ​กฎหมาย​ของ​บาบิโลน​ตั้ง​กรุง​บาบิโลน​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​บาบิโลเนีย เมโรดัค (หรือ​มาร์ดุก) ก็​มี​ความ​สำคัญ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ จน​ใน​ที่​สุด​ก็​มา​แทน​ที่​เทพเจ้า​องค์​ก่อน ๆ และ​กลาย​เป็น​เทพเจ้า​สูง​สุด​ที่​ชาว​บาบิโลน​นับถือ ใน​สมัย​ต่อ​มา ชื่อ​เมโรดัค (หรือ​มาร์ดุก) ถูก​แทน​ที่​ด้วย​ตำแหน่ง “เบลู” (“เจ้าของ”) และ​คน​ทั่ว​ไป​เรียก​เมโรดัค​ว่า​เบล—ยรม 50:2

  • เมสสิยาห์

    มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “ถูก​เจิม” หรือ “ผู้​ถูก​เจิม” และ​มี​ความ​หมาย​ตรง​กับ​คำ​ว่า “คริสต์” ใน​ภาษา​กรีก—ดนล 9:25; ยน 1:41

  • เมือง​ของ​ดาวิด

    ชื่อ​เรียก​เมือง​เยบุส​หลัง​จาก​ดาวิด​ยึด​เมือง​นี้​ได้​และ​สร้าง​วัง​ของ​เขา​ที่​นั่น เมือง​นี้​มี​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ว่า​ศิโยน เป็น​ส่วน​ที่​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​กรุง​เยรูซาเล็ม​และ​เป็น​ส่วน​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​ของ​กรุง​นี้—2ซม 5:7; 1พศ 11:4, 5

  • เมือง​ลี้​ภัย

    เมือง​ของ​คน​ใน​ตระกูล​เลวี ซึ่ง​คน​ที่​ฆ่า​คน​ตาย​โดย​ไม่​เจตนา​จะ​หนี​ไป​หลบ​ภัย​ใน​เมือง​เหล่า​นี้​เพื่อ​จะ​ไม่​ถูก​คน​ที่​มี​สิทธิ์​แก้แค้น​ฆ่า​เอา​ได้ มี​เมือง​ลี้​ภัย​อยู่ 6 เมือง​กระจาย​อยู่​ใน​แผ่นดิน​ที่​พระเจ้า​สัญญา โมเสส​เป็น​คน​เลือก​เมือง​เหล่า​นี้​โดย​การ​ชี้​นำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​มา​โยชูวา​ก็​ทำ​หน้า​ที่​นี้ เมื่อ​มา​ถึง​เมือง​ลี้​ภัย คน​ที่​หนี​มา​ต้อง​อธิบาย​เรื่อง​ของ​เขา​ต่อ​หน้า​พวก​ผู้​นำ​ที่​ประตู​เมือง เขา​ถึง​จะ​เข้า​ไป​อยู่​ใน​เมือง​นั้น​ได้ และ​เพื่อ​ป้องกัน​ไม่​ให้คน​ที่​เจตนา​ฆ่า​คน​ฉวย​ประโยชน์​จาก​การ​จัด​เตรียม​นี้ คน​ที่​หนี​มา​จะ​ต้อง​ถูก​พิจารณา​คดี​ใน​เมือง​ที่​เกิด​การ​ฆาตกรรม​ขึ้น​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​เขา​บริสุทธิ์​จริง และ​ถ้า​เขา​บริสุทธิ์​จริง เขา​จะ​กลับ​ไป​เมือง​ลี้​ภัย​ได้​และ​ต้อง​อยู่​แต่​ใน​เขต​เมือง​นั้น​ไป​ตลอด​ชีวิต หรือ​จน​กว่า​มหา​ปุโรหิต​จะ​ตาย—กดว 35:6, 11-15, 22-29; ยชว 20:2-8

  • โมล็อค

    ดู​คำ​ว่า “โมเลค

  • โมเลค

    พระ​ของ​ชาว​อัมโมน อาจ​เป็น​องค์​เดียว​กับ​พระ​มัลคาม พระ​มิลโคม และ​พระ​โมล็อค คำ​นี้​อาจ​เป็น​ตำแหน่ง ไม่​ใช่​ชื่อ​ของ​พระองค์​ไหน​โดย​เฉพาะ กฎหมาย​ของ​โมเสส​สั่ง​ให้​ประหาร​ชีวิต​คน​ที่​ถวาย​ลูก​เป็น​เครื่อง​บูชา​ให้​พระ​โมเลค—ลนต 20:2; ยรม 32:35; กจ 7:43

  • ไม่​สะอาด

    อาจ​หมาย​ถึง​สภาพ​ร่าง​กาย​ที่​สกปรก หรือ​การ​ทำ​ผิด​หลัก​ศีลธรรม แต่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คำ​นี้​มัก​หมาย​ถึง​สิ่ง​ที่​ยอม​รับ​ไม่​ได้​หรือ​ไม่​สะอาด​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส (ลนต 5:2; 13:45; กจ 10:14; อฟ 5:5)—ดู​คำ​ว่า “สะอาด

  • ไม้​วัด

    ไม้​สำหรับ​วัด​ยาว 6 ศอก ถ้า​เป็น​ศอก​ธรรมดา 1 ไม้​วัด​จะ​ยาว​เท่า​กับ 2.67 เมตร แต่​ถ้า​เป็น​ศอก​ยาว 1 ไม้​วัด​จะ​ยาว​เท่า​กับ 3.11 เมตร (อสค 40:3, 5; วว 11:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ยะโฮวา

    เป็น​ชื่อ​ของ​พระเจ้า มา​จาก​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว​ที่​เรียก​ว่า​เททรากรัมมาทอน การ​ออก​เสียง​ชื่อ​พระเจ้า​แบบ​นี้​ใช้​ใน​พระ​คัมภีร์​ไทย​ฉบับ​แรก ๆ และ​ชื่อ​นี้​มี​ใน​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​นี้​มาก​กว่า 7,000 ครั้ง—ดู​ภาค​ผนวก ก​4 และ ก​5

  • ยาโคบ

    ลูก​ชาย​ของ​อิสอัค​กับ​เรเบคาห์ ต่อ​มา​พระเจ้า​เรียก​เขา​ว่า​อิสราเอล ยาโคบ​เป็น​ต้น​ตระกูล​ของ​ชาว​อิสราเอล (ต่อ​มา​เรียก​ว่า​ชาว​ยิว) เขา​มี​ลูก​ชาย 12 คน​ซึ่ง​เกิด​ลูก​หลาน​กลาย​เป็น 12 ตระกูล​ของ​ชาติ​อิสราเอล ชื่อ​ยาโคบ​ยัง​ใช้​เรียก​ชาติ​อิสราเอล​หรือ​ประชาชน​ชาว​อิสราเอล​ด้วย—ปฐก 32:28; มธ 22:32

  • ยิว

    ชื่อ​ที่​ใช้​เรียก​คน​ใน​ตระกูล​ยูดาห์​หลัง​จาก​อาณาจักร​อิสราเอล 10 ตระกูล​ล่ม​สลาย (2พก 16:6) หลัง​การ​เนรเทศ​ไป​บาบิโลน คำ​นี้​หมาย​ถึง​ชาว​อิสราเอล​ตระกูล​ต่าง ๆ ที่​กลับ​มา​แผ่นดิน​อิสราเอล (อสร 4:12) ต่อ​มา ทั่ว​โลก​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​แยก​ชาว​อิสราเอล​ออก​จาก​คน​ชาติ​อื่น (อสธ 3:6) อัครสาวก​เปาโล​ใช้​คำ​นี้​ใน​ความ​หมาย​แฝง​เมื่อ​อธิบาย​ว่า​เชื้อชาติ​ไม่​ใช่​สิ่ง​สำคัญ​ใน​ประชาคม​คริสเตียน—รม 2:28, 29; กท 3:28

  • ยุค, โลก​นี้

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คำ​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​เดิม​ว่า เอ​โอน หมาย​ถึง​สภาพการณ์​หรือ​ลักษณะ​เด่น​ของ​โลก​หรือ​บาง​ส่วน​ของ​โลก​ใน​ช่วง​เวลา​หนึ่ง​หรือ​สมัย​หนึ่ง เช่น พระ​คัมภีร์​พูด​ถึง “โลก​นี้ [หรือ “ยุค​นี้” เชิงอรรถ]” ซึ่ง​หมาย​ถึง​สภาพการณ์​โดย​รวม​ใน​โลก​นี้​และ​รูป​แบบ​ชีวิต​ของ​คน​ใน​โลก (2ทธ 4:10) เมื่อ​พระเจ้า​ทำ​สัญญา​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​ของ​โมเสส นั่น​เป็น​การ​เริ่ม​ต้น​ยุค​หนึ่ง​ที่​เรียก​ได้​ว่า​เป็น​ยุค​ของ​อิสราเอล​หรือ​ยิว ต่อ​มา หลัง​จาก​พระ​เยซู​คริสต์​สละ​ชีวิต​เป็น​เครื่อง​บูชา​ไถ่​แล้ว พระเจ้า​ใช้​พระ​เยซู​ให้​เริ่ม​ต้น​ยุค​ใหม่​ซึ่ง​มี​จุด​ศูนย์​รวม​อยู่​ที่​ประชาคม​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม สัญญา​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​ของ​โมเสส​เป็น​ภาพ​ตัว​อย่าง​ของ​หลาย​สิ่ง​ที่​มี​ใน​ยุค​ใหม่​นี้—มธ 24:3; มก 4:19; รม 12:2; 1คร 10:11

  • ยูดาห์

    ลูก​ชาย​คน​ที่ 4 ของ​ยาโคบ​กับ​เลอาห์ ตอน​ที่​ยาโคบ​ใกล้​จะ​ตาย เขา​บอก​ล่วง​หน้าว่า​ผู้​ปกครอง​ที่​ยิ่ง​ใหญ่​ผู้​หนึ่ง​ซึ่ง​จะ​ปกครอง​ตลอด​ไป​จะ​มา​จาก​เชื้อ​สาย​ของ​ยูดาห์ ตอน​ที่​พระ​เยซู​มา​เกิด​เป็น​มนุษย์ ท่าน​ก็​เป็น​ลูก​หลาน​คน​หนึ่ง​ที่​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​ยูดาห์ คำ​ว่า​ยูดาห์​ยัง​เป็น​ชื่อ​ของ​ตระกูล​และ​ต่อ​มา​ก็​เป็น​ชื่อ​ของ​อาณาจักร​ด้วย อาณาจักร​ยูดาห์​เป็น​อาณาจักร​ทาง​ใต้​ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​ตระกูล​ยูดาห์ ตระกูล​เบนยามิน รวม​ทั้ง​พวก​ปุโรหิต​กับ​คน​เลวี อาณาจักร​นี้​ครอบครอง​ดินแดน​ทาง​ใต้​ของ​ประเทศ และ​กรุง​เยรูซาเล็ม​กับ​วิหาร​ก็​อยู่​ใน​เขต​อาณาจักร​ยูดาห์—ปฐก 29:35; 49:10; 1พก 4:20; ฮบ 7:14

  • ยูเฟรติส

    แม่น้ำ​ที่​ยาว​ที่​สุด​และ​สำคัญ​ที่​สุด​ใน​เอเชีย​ตะวัน​ตก​เฉียง​ใต้ เป็น​แม่น้ำ​สาย​หลัก​หนึ่ง​ใน​สอง​สาย​ใน​เมโสโปเตเมีย มี​การ​พูด​ถึง​แม่น้ำ​นี้​ครั้ง​แรก​ที่​ปฐมกาล 2:14 ว่า​เป็น​แม่น้ำ​สาย​หนึ่ง​ใน​สี่​สาย​ที่​ไหล​ผ่าน​สวน​เอเดน ใน​พระ​คัมภีร์​มัก​เรียก​แม่น้ำ​ยูเฟรติส​ว่า “แม่น้ำ” (ปฐก 31:21) แม่น้ำ​ยูเฟรติส​ยัง​เป็น​พรม​แดน​ทาง​เหนือ​ของ​อิสราเอล​ด้วย (ปฐก 15:18; วว 16:12)—ดู​ภาค​ผนวก ข​2

  • เยดูธูน

    คำ​ที่​ไม่​รู้​ความ​หมาย​แน่ชัด อยู่​ใน​หัว​บท​ของ​สดุดี​บท 39, 62, และ 77 หัว​บท​เหล่า​นี้​ดู​เหมือน​เป็น​คำ​สั่ง​สำหรับ​การ​แสดง อาจ​เป็น​การ​กำหนด​รูป​แบบ​การ​ร้อง​หรือ​เครื่อง​ดนตรี​ที่​จะ​ใช้​สำหรับ​เพลง​สดุดี​บท​นั้น เนื่อง​จาก​มี​นัก​ดนตรี​ชาว​เลวี​คน​หนึ่ง​ชื่อ​เยดูธูน ดัง​นั้น การ​แสดง​หรือ​เครื่อง​ดนตรี​แบบ​เยดูธูน​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​นัก​ดนตรี​คน​นี้​หรือ​ลูก​หลาน​ของ​เขา​ก็​ได้

  • รถ​ม้า, รถ​ศึก

    รถ​สอง​ล้อ​ที่​ใช้​ม้า​ลาก ส่วน​ใหญ่​ใช้​ใน​การ​รบ—อพย 14:23; วนฉ 4:13; กจ 8:28

  • ระเบียง​ทาง​เดิน​ของ​โซโลมอน

    ทาง​เดิน​ที่​มี​หลังคา​ใน​วิหาร​สมัย​พระ​เยซู อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​ของ​ลาน​ชั้น​นอก เชื่อ​กัน​ว่า​เป็น​ส่วน​ที่​หลง​เหลือ​จาก​วิหาร​ของ​โซโลมอน พระ​เยซู​เดิน​ที่​นั่น ‘ตอน​ฤดู​หนาว’ และ​คริสเตียน​รุ่น​แรก​มา​พบ​กัน​ที่​นั่น​เพื่อ​นมัสการ​พระเจ้า (ยน 10:22, 23; กจ 5:12)—ดู​ภาค​ผนวก ข​11

  • รัฐบาล​ของ​พระเจ้า

    หมาย​ถึง​อำนาจ​ปกครอง​สูง​สุด​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​พระองค์​แสดง​ผ่าน​ทาง​รัฐบาล​ที่​มี​พระ​คริสต์​เยซู​ลูก​ของ​พระองค์​เป็น​กษัตริย์—มธ 12:28; ลก 4:43; 1คร 15:50

  • ราชินี​แห่ง​ท้องฟ้า

    ชื่อ​เรียก​เทพ​ธิดา​ซึ่ง​ชาว​อิสราเอล​ที่​ทิ้ง​พระเจ้า​ใน​สมัย​เยเรมีย์​นมัสการ บาง​คน​คิด​ว่า​ราชินี​แห่ง​ท้องฟ้า​หมาย​ถึง​เทพ​ธิดา​อิชทาร์ (แอสตาร์เต) ของ​ชาว​บาบิโลน​หรือ​เทพ​ธิดา​อินันนา​ของ​ชาว​สุเมเรียน เทพ​ธิดา​องค์​นี้​ยัง​เป็น​เทพ​ธิดา​แห่ง​การ​เจริญ​พันธุ์​ด้วย ใน​ข้อ​ความ​จารึก​ของ​ชาว​อียิปต์ เทพ​ธิดา​แอสตาร์เต​ถูก​เรียก​ว่า “ธิดา​แห่ง​ท้องฟ้า”—ยรม 44:19

  • ราหับ

    ชื่อ​ที่​พบ​ใน​หนังสือ​โยบ สดุดี และ​อิสยาห์ (ไม่​ได้​หมาย​ถึง​ผู้​หญิง​ชื่อ​ราหับ​ใน​หนังสือ​โยชูวา) ท้อง​เรื่อง​ใน​หนังสือ​โยบ​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ราหับ​เป็น​สัตว์​ทะเล​ตัว​ใหญ่ แต่​ใน​ท้อง​เรื่อง​อื่น ๆ สัตว์​ทะเล​ตัว​ใหญ่​นี้​เป็น​สัญลักษณ์​หมาย​ถึง​อียิปต์—โยบ 9:13; สด 87:4; อสย 30:7; 51:9, 10

  • รูป​เขา​สัตว์​บน​แท่น​บูชา

    ส่วน​ที่​เป็น​เหมือน​เขา​สัตว์​ซึ่ง​ยื่น​ออก​มา​จาก​มุม​ทั้ง​สี่​ของ​แท่น​บูชา (ลนต 8:15; 1พก 2:28)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5 และ ข​8

  • รูป​เคารพ, การ​ไหว้​รูป​เคารพ

    รูป​เคารพ​คือ​รูป​ภาพ​หรือ​รูป​จำลอง​ของ​อะไร​ก็​ตาม ทั้ง​ที่​มี​จริง​และ​จินตนาการ​ขึ้น​มา​ซึ่ง​ผู้​คน​ใช้​ใน​การ​นมัสการ การ​ไหว้​รูป​เคารพ​คือ​การ​บูชา รัก นมัสการ หรือ​ยกย่อง​เทิดทูน​รูป​เคารพ—สด 115:4; กจ 17:16; 1คร 10:14

  • โรค​เรื้อน

    โรค​ผิวหนัง​ร้ายแรง​ชนิด​หนึ่ง คำ​ว่า​โรค​เรื้อน​ใน​พระ​คัมภีร์​มี​ความ​หมาย​กว้าง​กว่า​โรค​เรื้อน​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ปัจจุบัน เพราะ​อาจ​เกิด​กับ​คน เสื้อ​ผ้า หรือ​ตัว​บ้าน​ก็​ได้—ลนต 14:54, 55; ลก 5:12

  • ลก

    มาตรา​ตวง​ของ​เหลว​ที่​เล็ก​ที่​สุด​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คัมภีร์​ทัลมุด​ของ​ชาว​ยิว​พูด​ถึง​มาตรา​นี้​ว่า​เท่า​กับ 1 ใน 12 ฮิน ดัง​นั้น ถ้า​คำนวณ​โดย​อาศัย​ข้อมูล​นี้ 1 ลก​จะ​มี​ความ​จุ 0.31 ลิตร (ลนต 14:10)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ลาน

    ที่​โล่ง​รอบ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​มี​ผ้า​กั้น​ไว้ ใน​สมัย​ต่อ​มา​หมาย​ถึง​ลาน​รอบ​วิหาร​ซึ่ง​มี​กำแพง​ล้อม​รอบ แท่น​บูชา​สำหรับ​เครื่อง​บูชา​เผา​ตั้ง​อยู่​ใน​ลาน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​สมัย​ต่อ​มา​ตั้ง​อยู่​ใน​ลาน​ชั้น​ใน​ของ​วิหาร (ดู​ภาค​ผนวก ข​5, ข​8, ข​11) คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​พูด​ถึง​ลาน​บ้าน​หรือ​ลาน​ใน​วัง​กษัตริย์​ด้วย—อพย 8:13; 27:9; 1พก 7:12; อสธ 4:11; มธ 26:3

  • ลาน​นวด​ข้าว

    สถาน​ที่​สำหรับ​นวด​ข้าว​เพื่อ​ให้​เมล็ด​หลุด​จาก​รวง​และ​เปลือก การ​นวด​ข้าว​อาจ​ทำ​โดย​ใช้​ไม้​ฟาด ถ้า​มี​ข้าว​จำนวน​มาก​ก็​จะ​ใช้​เครื่อง​มือ​พิเศษ เช่น ลูก​กลิ้ง​หรือ​เลื่อน​นวด​ข้าว​โดย​ให้​สัตว์​ลาก เครื่อง​มือ​นี้​จะ​บด​เมล็ด​ข้าว​ที่​อยู่​บน​ลาน​นวด ซึ่ง​เป็น​ลาน​วง​กลม​มี​พื้น​เรียบ​และ​มัก​จะ​อยู่​บน​ที่​สูง​ที่​มี​ลม​พัด​ผ่าน—ลนต 26:5; อสย 41:15; มธ 3:12

  • ลำ​น้ำ

    อาจ​หมาย​ถึง​ธาร​น้ำ​หรือ​ลำธาร​โดย​ทั่ว​ไป และ​ยัง​หมาย​ถึง​หุบเขา​ที่​ปกติ​จะ​แห้ง​แต่​จะ​กลาย​เป็น​ลำธาร​เฉพาะ​ใน​ฤดู​ที่​มี​ฝน​ตก​หนัก​เท่า​นั้น ลำธาร​แบบ​นี้​เรียก​ว่า ธาร​วา​ดี ซึ่ง​ใน​บาง​ท้อง​เรื่อง​ก็​ใช้​คำ​ว่า “หุบเขา”—ปฐก 26:19; กดว 34:5; 1พก 18:5; โยบ 6:15

  • ลูก​ชาย​คน​โต

    ลูก​ชาย​คน​แรก​ของ​ครอบครัว ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล ลูก​ชาย​คน​โต​มี​ตำแหน่ง​ที่​มี​เกียรติ​ใน​ครอบครัว และ​จะ​เป็น​ผู้​นำ​ครอบครัว​หลัง​จาก​พ่อ​ของ​เขา​ตาย—อพย 11:5; 13:12; ปฐก 25:33; คส 1:15

  • ลูก​มนุษย์

    คำ​นี้​มี​ประมาณ 80 ครั้ง​ใน​หนังสือ​ข่าว​ดี เป็น​คำ​ที่​ใช้​หมาย​ถึง​พระ​เยซู​คริสต์​และ​แสดง​ว่า​ท่าน​มา​เกิด​เป็น​มนุษย์​ที่​มี​เลือด​เนื้อ​จริง ๆ ไม่​ใช่​แค่​ทูตสวรรค์​ที่​แปลง​ร่าง​เป็น​มนุษย์ คำ​นี้​ยัง​แสดง​ว่า​พระ​เยซู​เป็น​ผู้​ที่​จะ​ทำ​ให้​คำ​พยากรณ์​ใน​ดาเนียล 7:13, 14 เป็น​จริง ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู มี​การ​ใช้​คำ​นี้​กับ​เอเสเคียล​และ​ดาเนียล​เพื่อ​เน้น​ว่า​สอง​คน​นี้​เป็น​แค่​มนุษย์​ที่​พระเจ้า​ใช้​ให้​พยากรณ์ ซึ่ง​เทียบ​ไม่​ได้​เลย​กับ​พระเจ้า​ที่​เป็น​ผู้​ให้​ข่าวสาร​กับ​พวก​เขา—อสค 3:17; ดนล 8:17; มธ 19:28; 20:28

  • ลูก​หลาน​ของ​อาโรน

    คน​ที่​สืบ​เชื้อ​สาย​มา​จาก​อาโรน​หลาน​ชาย​ของ​เลวี อาโรน​เป็น​คน​แรก​ที่​ได้​รับ​เลือก​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ตาม​กฎหมาย​ของ​โมเสส ลูก​หลาน​ของ​อาโรน​จึง​ทำ​หน้า​ที่​ปุโรหิต​ที่​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​ที่​วิหาร—1พศ 23:28

  • ลูก​หลาน​ดาวิด

    มัก​ใช้​หมาย​ถึง​พระ​เยซู เป็น​การ​เน้น​ว่า​ท่าน​เป็น​ผู้​มี​สิทธิ์​ตาม​สัญญา​เรื่อง​รัฐบาล เพราะ​คน​ที่​จะ​ทำ​ให้​สัญญา​นี้​เป็น​จริง​ต้อง​อยู่​ใน​เชื้อ​สาย​ของ​ดาวิด—มธ 12:23; 21:9

  • เลบานอน

    ชื่อ​เทือก​เขา​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ประเทศ​เลบานอน ส่วน​เทือก​เขา​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ออก​คือ​เทือก​เขา​แอนติเลบานอน มี​หุบเขา​ที่​อุดม​สมบูรณ์​เป็น​แนว​ยาว​อยู่​ระหว่าง​เทือก​เขา​ทั้ง​สอง​นี้ เทือก​เขา​เลบานอน​อยู่​ใกล้​กับ​ชายฝั่ง​ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน ยอด​เขา​สูง​โดย​เฉลี่ย 1,800 เมตร​ถึง 2,100 เมตร (6,000 ฟุต​ถึง 7,000 ฟุต) ใน​สมัย​โบราณ เทือก​เขา​เลบานอน​เต็ม​ไป​ด้วย​ต้น​สน​ซีดาร์​ที่​สูง​ใหญ่​ซึ่ง​เป็น​ที่​ต้องการ​ของ​ชาติ​โดยรอบ (ฉธบ 1:7; สด 29:6; 92:12)—ดู​ภาค​ผนวก ข​7

  • เลวี

    ลูก​ชาย​คน​ที่ 3 ของ​ยาโคบ​กับ​เลอาห์ และ​เป็น​ชื่อ​ตระกูล ลูก​ชาย 3 คน​ของ​เลวี​เป็น​ต้น​กำเนิด​ของ​คน​เลวี 3 กลุ่ม​ที่​ทำ​หน้า​ที่​แตกต่าง​กัน คำ​ว่า “คน​เลวี” หมาย​ถึง​คน​ใน​ตระกูล​เลวี​ที่​รับใช้​ที่​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​หรือ​วิหาร แต่​คำ​ว่า “คน​เลวี” จะ​ไม่​รวม​ตระกูล​ของ​อาโรน​ซึ่ง​เป็น​ปุโรหิต ส่วน​คำ​ว่า “คน​ใน​ตระกูล​เลวี” หมาย​ถึง​คน​ใน​ตระกูล​นี้​ทั้ง​หมด ตระกูล​เลวี​ไม่​ได้​รับ​ส่วน​แบ่ง​ใน​แผ่นดิน​ที่​พระเจ้า​สัญญา แต่​ได้ 48 เมือง​ซึ่ง​อยู่​ใน​เขต​แดน​ของ​ตระกูล​อื่น—ฉธบ 10:8; 1พศ 6:1; ฮบ 7:11

  • เลวีอาธาน

    สัตว์​ชนิด​หนึ่ง​ที่​มัก​มี​การ​พูด​ถึง​ว่า​อยู่​ใน​น้ำ ใน​โยบ 3:8 และ 41:1 คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​จระเข้​หรือ​สัตว์​น้ำ​ขนาด​ใหญ่​ที่​แข็งแรง แต่​ใน​สดุดี 104:26 อาจ​หมาย​ถึง​วาฬ​ชนิด​หนึ่ง ใน​ที่​อื่น ๆ คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​เป็น​นัย​และ​ไม่​สามารถ​ระบุ​ได้​ว่า​เป็น​สัตว์​ชนิด​ใด—สด 74:14; อสย 27:1

  • เล่นชู้, มี​ชู้

    การ​มี​เพศ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คน​ที่​แต่งงาน​แล้ว​กับ​คน​ที่​ไม่​ใช่​คู่​สมรส​ของ​ตัว​เอง ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​ยินยอม​พร้อม​ใจ​ของ​ทั้ง​คู่—อพย 20:14; มธ 5:27; 19:9

  • เลฟตัน

    ใน​สมัย​ที่​มี​การ​เขียน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก เลฟตัน​เป็น​เหรียญ​ทองแดง​หรือ​ทอง​สัมฤทธิ์​ที่​เล็ก​ที่​สุด​ของ​คน​ยิว (มก 12:42; ลก 21:2; เชิงอรรถ)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • วัน​ขึ้น​เดือน​ใหม่

    วัน​แรก​ของ​แต่​ละ​เดือน​ตาม​ปฏิทิน​ของ​ชาว​ยิว ซึ่ง​เป็น​วัน​ที่​มี​การ​ชุมนุม​กัน เลี้ยง​ฉลอง​กัน และ​ถวาย​เครื่อง​บูชา​เป็น​พิเศษ ต่อ​มา วัน​นี้​กลาย​เป็น​เทศกาล​สำคัญ​ของ​ชาติ และ​ประชาชน​จะ​ไม่​ทำ​งาน​ใน​วัน​นั้น—กดว 10:10; 2พศ 8:13; คส 2:16

  • วัน​เตรียม

    วัน​ก่อน​วัน​สะบาโต เป็น​วัน​ที่​ชาว​ยิว​จะ​เตรียม​ทุก​สิ่ง​ให้​พร้อม​สำหรับ​วัน​สะบาโต วัน​เตรียม​สิ้น​สุด​ลง​ตอน​ดวง​อาทิตย์​ตก​ใน​วัน​ศุกร์​ตาม​ปฏิทิน​สมัย​นี้ แล้ว​วัน​สะบาโต​ก็​เริ่ม​ต้น วัน​ของ​ชาว​ยิว​เริ่ม​นับ​จาก​ตอน​เย็น​ไป​จน​ถึง​ตอน​เย็น​ของ​วัน​ถัด​ไป—มก 15:42; ลก 23:54

  • วัน​ไถ่​บาป

    วัน​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​ของ​ชาว​อิสราเอล บาง​ครั้ง​มี​การ​เรียก​วัน​นี้​ว่า​ยมคิปปูร์ (มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู ยมฮัคคิปปูริม “วัน​ของ​การ​ปิด​คลุม”) ตรง​กับ​วัน​ที่ 10 เดือน​เอธานิม วัน​นี้​เป็น​วัน​เดียว​ที่​มหา​ปุโรหิต​จะ​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ใน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​ต่อ​มา​ก็​คือ​วิหาร เพื่อ​ถวาย​เลือด​จาก​เครื่อง​บูชา​เพื่อ​ไถ่​บาป​ให้​ตัว​เอง ไถ่​บาป​ให้​คน​เลวี​คน​อื่น ๆ และ​ไถ่​บาป​ให้​ประชาชน เป็น​วัน​ที่​ต้อง​ประชุม​กัน​เพื่อ​นมัสการ​พระเจ้า​และ​อด​อาหาร และ​ถือ​ว่า​เป็น​วัน​สะบาโต​ซึ่ง​ทุก​คน​ต้อง​หยุด​ทำ​งาน​ด้วย—ลนต 23:27, 28

  • วัน​พิพากษา

    วัน​หรือ​ช่วง​เวลา​หนึ่ง​ที่​พระเจ้า​พิพากษา​กลุ่ม​คน ชน​ชาติ หรือ​มนุษย์​ทั้ง​โลก อาจ​เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​มี​การ​ตัดสิน​ลง​โทษ​คน​ที่​สม​ควร​ตาย หรือ​ให้​โอกาส​บาง​คน​รอด​และ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป พระ​เยซู​คริสต์​และ​อัครสาวก​บอก​ให้​รู้​ว่า “วัน​พิพากษา” ที่​จะ​มี​มา​ใน​อนาคต​จะ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ทั้ง​คน​ที่​มี​ชีวิต​อยู่​และ​คน​ตาย​ที่​จะ​ถูก​ปลุก​ให้​ฟื้น​ขึ้น​มา—มธ 12:36

  • วาง​มือ

    การ​วาง​มือ​บน​ใคร​คน​หนึ่ง​เป็น​การ​แต่ง​ตั้ง​คน​นั้น​ให้​ทำ​งาน​พิเศษ​หรือ​อวยพร​เขา หรือ​รักษา​โรค หรือ​ให้​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า บาง​ครั้ง​มี​การ​วาง​มือ​บน​สัตว์​ก่อน​จะ​ฆ่า​เป็น​เครื่อง​บูชา—อพย 29:15; กดว 27:18; กจ 19:6; 1ทธ 5:22

  • วิชา​อาคม

    คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​หมาย​ถึง​การ​ใช้​พลัง​อำนาจ​ที่​มา​จาก​พวก​ปีศาจ—2พศ 33:6

  • วิหาร

    อาคาร​ถาวร​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ซึ่ง​ใช้​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​นมัสการ​ของ​ชาว​อิสราเอล​แทน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​เคลื่อน​ย้าย​ได้ วิหาร​หลัง​แรก​สร้าง​โดย​โซโลมอน​และ​ถูก​ชาว​บาบิโลน​ทำลาย วิหาร​หลัง​ที่​สอง​สร้าง​โดย​เศรุบบาเบล​หลัง​กลับ​มา​จาก​การ​เป็น​เชลย​ที่​บาบิโลน​และ​สร้าง​ขึ้น​ใหม่​อีก​ครั้ง​โดย​เฮโรด​มหาราช ใน​สมัย​ที่​ยัง​ไม่​มี​วิหาร คำ​ว่า​วิหาร​ยัง​หมาย​ถึง​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​ด้วย (อสร 1:3; 6:14, 15; 1พศ 29:1; 2พศ 2:4; มธ 24:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​8 และ ข​11

  • ไว้​ทุกข์

    การ​แสดง​ความ​โศก​เศร้า​เมื่อ​มี​คน​ตาย​หรือ​เมื่อ​เกิด​เรื่อง​เลว​ร้ายใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล เป็น​ธรรมเนียม​ที่​จะ​ไว้​ทุกข์​ช่วง​หนึ่ง นอก​จาก​ร้องไห้​เสียง​ดัง​แล้ว คน​ที่​ไว้​ทุกข์​ยัง​สวม​ชุด​ไว้​ทุกข์ โปรย​ขี้เถ้า​ใส่​หัว ฉีก​เสื้อ​ที่​ใส่​อยู่ และ​ตี​อก​ชก​หัว​ตัว​เอง บาง​ครั้ง​มี​การ​จ้าง​คน​มา​แสดง​ความ​โศก​เศร้า​ใน​งาน​ศพ​ด้วย—ปฐก 23:2; อสธ 4:3; วว 21:4

  • ศอก

    มาตรา​วัด​ความ​ยาว​ที่​ยาว​ประมาณ​ข้อ​ศอก​ถึง​ปลาย​นิ้ว​กลาง โดย​ทั่ว​ไป​ระยะ 1 ศอก​ของ​ชาว​อิสราเอล​ยาว​ประมาณ 44.5 ซม. แต่​บาง​ครั้ง​ก็​ยาว​กว่า​นั้น 1 ฝ่า​มือ คือ​ยาว​ประมาณ 51.8 ซม. (ปฐก 6:15; ลก 12:25)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ศิโยน, ภูเขา​ศิโยน

    ชื่อ​เรียก​เมือง​ที่​มี​ป้อม​ปราการ​ของ​ชาว​เยบุส​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​บน​เนิน​เขา​ด้าน​ตะวัน​ออก​เฉียง​ใต้​ของ​กรุง​เยรูซาเล็ม เมือง​นี้​เคย​มี​ชื่อ​ว่า​เยบุส หลัง​จาก​ดาวิด​ยึด​เมือง​นี้​ได้ เขา​สร้าง​วัง​ของ​ตัว​เอง​ขึ้น​ที่​นั่น ต่อ​มา​จึง​เรียก​เมือง​นี้​ว่า “เมือง​ของ​ดาวิด” (2ซม 5:7, 9) ศิโยน​เป็น​ชื่อ​ภูเขา​ด้วย และ​เป็น​ภูเขา​ที่​บริสุทธิ์​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​ตั้ง​แต่​ดาวิด​สั่ง​ให้​ย้าย​หีบ​สัญญา​ไป​ที่​นั่น ต่อ​มา​ชื่อ​ศิโยน​ยัง​รวม​ไป​ถึง​บริเวณ​ที่​ตั้ง​วิหาร​บน​ภูเขา​โมริยาห์​ด้วย และ​บาง​ครั้ง​ก็​หมาย​ถึง​กรุง​เยรูซาเล็ม​ทั้ง​หมด คำ​ว่า​ศิโยน​ส่วน​ใหญ่​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ไม่​ได้​มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร—สด 2:6; 1ปต 2:6; วว 14:1

  • ศิฟ

    ชื่อ​เดิม​ของ​เดือน​ที่ 2 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 8 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​เมษายน​ถึง​กลาง​เดือน​พฤษภาคม เรียก​ว่า​เดือน​อียาร์​ใน​คัมภีร์​ทัลมุด​ของ​ยิว​และ​ใน​งาน​เขียน​ต่าง ๆ หลัง​จาก​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน (1พก 6:37)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • สโตอิก

    กลุ่ม​นัก​ปรัชญา​ชาว​กรีก​ที่​เชื่อ​ว่า​ความ​สุข​เกิด​จาก​การ​ใช้​ชีวิต​สอดคล้อง​กับ​เหตุ​ผล​และ​ธรรมชาติ และ​เชื่อ​ว่า​คน​ที่​มี​ปัญญา​อย่าง​แท้​จริง​จะ​วาง​เฉย​กับ​ความ​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​หรือ​ความ​สนุก​เพลิดเพลิน—กจ 17:18

  • สถาน​บูชา​บน​ที่​สูง, ที่​สูง

    สถาน​ที่​สำหรับ​การ​นมัสการ มัก​อยู่​บน​ยอด​เขา บน​ภูเขา หรือ​บน​แท่น​ที่​มนุษย์​ทำ​ขึ้น แม้​บาง​ครั้ง​สถาน​บูชา​บน​ที่​สูง​อาจ​ใช้​สำหรับ​นมัสการ​พระเจ้า แต่​ส่วน​ใหญ่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​นมัสการ​พระ​เท็จ—กดว 33:52; 1พก 3:2; ยรม 19:5

  • สเปลต์

    ข้าว​สาลี​ชนิด​หนึ่ง (Triticum spelta) ไม่​ใช่​ข้าว​คุณภาพ​ดี และ​เป็น​ข้าว​ที่​เอา​เปลือก​ออก​ยาก—อพย 9:32

  • สมัย​สุด​ท้าย

    คำ​พยากรณ์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​คำ​นี้​เมื่อ​พูด​ถึง​ช่วง​เวลา​ที่​จะ​เกิด​เหตุ​การณ์​สำคัญ ๆ ซึ่ง​นำ​ไป​ถึง​จุด​จบ (อสค 38:16; ดนล 10:14; กจ 2:17) ช่วง​เวลา​นี้​อาจ​ยาว​นาน​แค่​ไม่​กี่​ปี​หรือ​นาน​กว่า​นั้น ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เป็น​คำ​พยากรณ์​เรื่อง​อะไร ส่วน​ใหญ่​แล้ว​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​คำ​นี้​เมื่อ​พูด​ถึง “สมัย​สุด​ท้าย” ของ​โลก​ปัจจุบัน​ใน​ช่วง​การ​ประทับ​ของ​พระ​เยซู​ที่มนุษย์​มอง​ไม่​เห็น—2ทธ 3:1; ยก 5:3; 2ปต 3:3

  • ส่วน 1 ใน 10

    ของ​ที่​ถวาย​เพื่อ​วัตถุ​ประสงค์​ทาง​ศาสนา โดย​ถวาย​ส่วน 1 ใน 10 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์​จาก​ของ​ที่​มี​อยู่ (มลค 3:10; ฉธบ 26:12; มธ 23:23) กฎหมาย​ของ​โมเสส​กำหนด​ว่า ชาว​อิสราเอล​จะ​ต้อง​ยก​ส่วน 1 ใน 10 ของ​ผล​ผลิต​ที่​ได้​จาก​แผ่นดิน​และ​ฝูง​สัตว์​ที่​มี​เพิ่ม​ขึ้น​ให้​กับ​คน​เลวี​ทุก​ปี​เพื่อ​สนับสนุน​คน​เลวี และ​คน​เลวี​ก็​จะ​เอา​ส่วน 1 ใน 10 ของ​สิ่ง​ที่​เขา​ได้​รับ​ไป​ให้​กับ​ปุโรหิต​เพื่อ​สนับสนุน​พวก​ปุโรหิต​อีก​ต่อ​หนึ่ง นอก​จาก​นี้ มี​การ​ให้​ส่วน 1 ใน 10 ใน​แบบ​อื่น ๆ ด้วย การ​ถวาย​ส่วน 1 ใน 10 ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คริสเตียน

  • สะดูสี

    นิกาย​ใหญ่​นิกาย​หนึ่ง​ของ​ศาสนา​ยิว ประกอบ​ด้วย​พวก​ชน​ชั้น​สูง​ที่​ร่ำรวย​และ​พวก​ปุโรหิต​ที่​มี​อำนาจ​ควบคุม​กิจกรรม​ใน​วิหาร พวก​สะดูสี​ไม่​ทำ​ตาม​ธรรมเนียม​สืบ​ปาก​เหมือน​ที่​พวก​ฟาริสี​ทำ​กัน​และ​ปฏิเสธ​ความ​เชื่อ​หลาย​อย่าง​ของ​พวก​ฟาริสี พวก​นี้​ไม่​เชื่อ​เรื่อง​การ​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย ไม่​เชื่อ​ว่า​มี​ทูตสวรรค์ และ​ต่อ​ต้าน​พระ​เยซู—มธ 16:1; กจ 23:8

  • สะบาโต

    มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “พักผ่อน” หรือ “หยุด​พัก” เป็น​วัน​ที่​เจ็ด​ของ​สัปดาห์​ของ​ชาว​ยิว (ตั้ง​แต่​ดวง​อาทิตย์​ตก​ของ​วัน​ศุกร์​ถึง​ดวง​อาทิตย์​ตก​ของ​วัน​เสาร์) วัน​เทศกาล​บาง​วัน รวม​ทั้ง​ปี​ที่ 7 และ​ปี​ที่ 50 ก็​เรียก​ว่า​สะบาโต​ด้วย ใน​วัน​สะบาโต​จะ​ต้อง​ไม่​มี​ใคร​ทำ​งาน ยก​เว้น​ปุโรหิต​ซึ่ง​ทำ​งาน​ใน​ที่​ศักดิ์สิทธิ์ ส่วน​ใน​ปี​สะบาโต ที่​ดิน​จะ​ต้อง​ไม่​มี​การ​ไถ​หว่าน​และ​เจ้าหนี้​ชาว​ฮีบรู​จะ​ทวง​หนี้​จาก​เพื่อน​ร่วม​ชาติ​ไม่​ได้ กฎหมาย​ของ​โมเสส​กำหนด​ข้อ​ห้าม​ใน​วัน​สะบาโต​ไว้​อย่าง​สม​เหตุ​สม​ผล แต่​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​ค่อย ๆ เพิ่ม​กฎ​อื่น​เข้า​ไป จน​พอ​ถึง​สมัย​ของ​พระ​เยซู ประชาชน​จึง​รู้สึก​ว่า​กฎ​เรื่อง​วัน​สะบาโต​ทำ​ตาม​ได้​ยาก—อพย 20:8; ลนต 25:4; ลก 13:14-16; คส 2:16

  • สะมาเรีย

    เมือง​หลวง​ของ​อาณาจักร​อิสราเอล 10 ตระกูล​ทาง​เหนือ​ใน​ช่วง​ประมาณ 200 ปี​และ​เป็น​ชื่อ​เรียก​เขต​แดน​ทั้ง​หมด​ของ​อาณาจักร​นี้ เมือง​นี้​สร้าง​ขึ้น​บน​ภูเขา​สะมาเรีย ใน​สมัย​พระ​เยซู สะมาเรีย​เป็น​ชื่อ​แคว้น​หนึ่ง​ซึ่ง​ทาง​เหนือ​ติด​กับ​แคว้น​กาลิลี​และ​ทาง​ใต้​ติด​กับ​แคว้น​ยูเดีย พระ​เยซู​มัก​จะ​ไม่​ประกาศ​เรื่อง​พระเจ้า​เมื่อ​เดิน​ทาง​ใน​แถบ​นี้ แต่​บาง​ครั้ง​ท่าน​ก็​ผ่าน​เข้า​ไป​ใน​เขต​สะมาเรีย​และ​พูด​กับ​คน​สะมาเรีย เปโตร​ใช้​ลูก​กุญแจ​ของ​รัฐบาล​สวรรค์​ดอก​ที่ 2 ตอน​ที่​ชาว​สะมาเรีย​ได้​รับ​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า (1พก 16:24; ยน 4:7; กจ 8:14)—ดู​ภาค​ผนวก ข​10

  • สะอาด

    ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คำ​นี้​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​ความ​สะอาด​ภาย​นอก​เท่า​นั้น แต่​ยัง​หมาย​ถึง​สภาพ​ที่​ไม่​มี​ตำหนิ​หรือ​การ​กลับ​คืน​สู่​สภาพ​ที่​ไม่​มี​ตำหนิ ไม่​มี​อะไร​แปดเปื้อน มี​ศีลธรรม​ที่​ดี​และ​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ดี​กับ​พระเจ้า นอก​จาก​นั้น ภาย​ใต้​กฎหมาย​ของ​โมเสส คำ​นี้​ยัง​หมาย​ถึง​การ​อยู่​ใน​สภาพ​ที่​สะอาด​ตาม​พิธีกรรม​ด้วย—ลนต 10:10; สด 51:7; มธ 8:2; 1คร 6:11

  • สัญญา

    ข้อ​ตก​ลง​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ระหว่าง​พระเจ้า​กับ​มนุษย์ หรือ​ระหว่าง​มนุษย์​ด้วย​กัน​เอง​ว่า​จะ​ทำ​หรือ​ไม่​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง บาง​ครั้ง​อาจ​มี​เพียง​ฝ่าย​เดียว​ที่​ต้อง​ทำ​ตาม​ข้อ​ตก​ลง (ใน​กรณี​ที่​เป็น​คำ​สัญญา​หรือ​เป็น​การ​รับปาก) แต่​บาง​ครั้ง​ทั้ง​สอง​ฝ่าย​ต้อง​ทำ​ตาม​ข้อ​ตก​ลง นอก​เหนือ​จาก​สัญญา​ที่​พระเจ้า​ทำ​กับ​มนุษย์​แล้ว คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​พูด​ถึง​สัญญา​ระหว่าง​มนุษย์​ด้วย​กัน ระหว่าง​ตระกูล ระหว่าง​ชาติ หรือ​กลุ่ม​คน สัญญา​ที่​มี​ผล​กว้าง​ไกล​ก็​คือ​สัญญา​ที่​พระเจ้า​ทำ​กับ​อับราฮัม ดาวิด ชน​ชาติอิสราเอล (สัญญา​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย) และ​อิสราเอล​ของ​พระเจ้า (สัญญา​ใหม่)—ปฐก 9:11; 15:18; 21:27; อพย 24:7; 2พศ 21:7

  • สาบาน

    การ​พูด​ยืน​ยัน​ว่า​เรื่อง​ใด​เรื่อง​หนึ่ง​เป็น​ความ​จริง หรือ​สัญญา​อย่าง​หนักแน่น​ว่า​จะ​ทำ​หรือ​ไม่​ทำ​บาง​อย่าง ส่วน​ใหญ่​จะ​สาบาน​โดย​อ้าง​ผู้​ที่​เหนือ​กว่า​เช่น พระเจ้า ให้​เป็น​พยาน แม้​แต่​พระ​ยะโฮวา​ก็​สาบาน​ด้วย​เพื่อ​ยืน​ยัน​สัญญา​ที่​พระองค์​ทำ​กับ​อับราฮัม—ปฐก 14:22; ฮบ 6:16, 17

  • สิวัน

    หลัง​จาก​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน สิวัน​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 3 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 9 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​พฤษภาคม​ถึง​กลาง​เดือน​มิถุนายน (อสธ 8:9)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • สุภาษิต

    คำ​พูด​หรือ​เรื่อง​เล่า​สั้น ๆ ที่​ให้​ข้อ​คิด​หรือ​สอน​ความ​จริง​ที่​ลึกซึ้ง​ด้วย​คำ​เพียง​ไม่​กี่​คำ สุภาษิต​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​อาจ​เป็น​คำ​พูด​ชวน​คิด​หรือ​เป็น​ปริศนา สุภาษิต​อธิบาย​ความ​จริง​ด้วย​ภาษา​ที่​ทำ​ให้​เห็น​ภาพ​ชัดเจน​และ​มัก​ใช้​คำ​เปรียบ​เทียบ บาง​สำนวน​กลาย​เป็น​คำ​พูด​ที่​คน​ชอบ​ใช้​เพื่อ​เยาะเย้ย​หรือ​ดูถูก​คน​อื่น—ปญจ 12:9; 2ปต 2:22

  • สุหนัต

    การ​ขริบ​หนัง​หุ้ม​ปลาย​อวัยวะ​เพศ​ชาย เป็น​คำ​สั่ง​ที่​อับราฮัม​กับ​ลูก​หลาน​ต้อง​ทำ แต่​ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คริสเตียน ใน​บาง​ท้อง​เรื่อง​ก็​ใช้​เป็น​เชิง​เปรียบ​เทียบ—ปฐก 17:10; 1คร 7:19; ฟป 3:3

  • เสราฟ

    ทูตสวรรค์​ที่​อยู่​รอบ​บัลลังก์​ของ​พระ​ยะโฮวา​ใน​สวรรค์ คำ​ภาษา​ฮีบรู เสราฟิม แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ผู้​ที่​ไฟ​เผา​ผลาญ​อยู่”—อสย 6:2, 6

  • เสลาห์

    คำ​ที่​ใช้​ใน​บทเพลง​หรือ​บท​ท่อง​จำ​ซึ่ง​อยู่​ใน​หนังสือ​สดุดี​และ​ฮาบากุก คำ​นี้​อาจ​เป็น​การ​บอก​ให้​หยุด​ร้อง​เพลง​หรือ​หยุด​เล่น​ดนตรี​สัก​ครู่​หนึ่ง หรือ​ให้​หยุด​คิด​เงียบ ๆ หรือ​เป็น​คำ​ที่​ใส่​ไว้​เพื่อ​เน้น​อารมณ์​ของ​เพลง ฉบับ​เซปตัวจินต์​ภาษา​กรีก​แปล​คำ​นี้​ว่า ดิอัปซัลมา ซึ่ง​หมาย​ความ​ว่า “ดนตรี​คั่น​รายการ”—สด 3:4; ฮบก 3:3

  • เสอร์ทิส

    อ่าว​น้ำ​ตื้น​ขนาด​ใหญ่ 2 อ่าว​บน​ชายฝั่ง​ของ​ประเทศ​ตูนิเซีย​และ​ประเทศ​ลิเบีย​ใน​ปัจจุบัน ทาง​เหนือ​ของ​ทวีป​แอฟริกา นัก​เดิน​เรือ​ใน​สมัย​โบราณ​กลัว​อ่าว​นี้​มาก​เพราะ​เต็ม​ไป​ด้วย​สันดอน​ทราย​ที่​อันตราย​ซึ่ง​เปลี่ยน​แปลง​ตลอด​เวลา​ตาม​กระแส​น้ำ​ขึ้น​น้ำ​ลง (กจ 27:17)—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

  • เสา

    (1) อาจ​เป็น​เสา​รอง​รับ​โครง​สร้าง​หรือ​เสา​ค้ำ บาง​ครั้ง​มี​การ​ตั้ง​เสา​ไว้​เพื่อ​ระลึก​ถึง​เหตุ​การณ์​ใน​ประวัติศาสตร์ มี​การ​ใช้​เสา​เพื่อ​รอง​รับ​โครง​สร้าง​ของ​วิหาร​และ​วัง​ที่​โซโลมอน​สร้าง​ขึ้น คน​ที่​ไม่​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ตั้ง​เสา​ศักดิ์สิทธิ์​เพื่อ​ใช้​ใน​การ​นมัสการ​เท็จ และ​บาง​ครั้ง​ชาว​อิสราเอล​ก็​ทำ​อย่าง​นั้น​ด้วย (วนฉ 16:29; 1พก 7:21; 14:23)—ดู​คำ​ว่า “หัว​เสา

    (2) อาจ​หมาย​ถึง​ไม้​ที่​ตั้ง​ตรง​ท่อน​หนึ่ง​ซึ่ง​เอา​ไว้​ตรึง​นัก​โทษ บาง​ชน​ชาติ​เคย​ใช้​เสา​เพื่อ​ประหาร​ชีวิต​และ​ใช้​แขวน​ศพ​เพื่อ​ประจาน​หรือ​เตือน​คน​อื่น​ไม่​ให้​เอา​เยี่ยง​อย่าง ชาว​อัสซีเรีย​ซึ่ง​ได้​ชื่อ​ว่า​เป็น​ชาติ​ที่​ทำ​สงคราม​อย่าง​โหด​เหี้ยม​จะ​ใช้​เสา​ปลาย​แหลม​แทง​ที่​หน้า​ท้อง​เชลย​ให้​ทะลุ​ลำ​ตัว​ขึ้น​ไป​ถึง​อก แล้ว​ปล่อย​ให้​ร่าง​เสียบ​คา​อยู่​บน​เสา​อย่าง​นั้น แต่​ตาม​กฎหมาย​ของ​ชาว​ยิว คน​ที่​ทำ​ผิด​ร้ายแรง เช่น หมิ่น​ประมาท​พระเจ้า​หรือ​ไหว้​รูป​เคารพ​จะ​ถูก​ประหาร​โดย​ใช้​หิน​ขว้าง​หรือ​ทำ​ให้​ตาย​ด้วย​วิธี​อื่น​ก่อน แล้ว​จึง​แขวน​ศพ​ไว้​บน​เสา​หรือ​ต้น​ไม้ เพื่อ​เตือน​คน​อื่น​ไม่​ให้​เอา​เยี่ยง​อย่าง (ฉธบ 21:22, 23; 2ซม 21:6, 9) บาง​ครั้ง​ชาว​โรมัน​ก็​มัด​นัก​โทษ​ไว้​กับ​เสา ซึ่ง​นัก​โทษ​อาจ​มี​ชีวิต​อยู่​หลาย​วัน แต่​ก็​ต้อง​ตาก​แดด อด​ข้าว​อดน้ำ และ​เจ็บ​ปวด​ทรมาน​จน​ตาย บาง​ครั้ง​พวก​เขา​ก็​ใช้​ตะปู​ตอก​มือ​และ​เท้า​นัก​โทษ​ติด​กับ​เสา เช่น ตอน​ที่​ประหาร​พระ​เยซู (ลก 24:20; ยน 19:14-16; 20:25; กจ 2:23, 36)—ดู​คำ​ว่า “เสา​ทรมาน

  • เสา​ทรมาน

    แปล​จาก​คำ​ภาษา​กรีก สเตาโรส ซึ่ง​หมาย​ถึง​ไม้​หรือ​เสา​ที่​ตั้ง​ตรง​ท่อน​หนึ่ง เช่น เสา​ที่​ใช้​ประหาร​พระ​เยซู ไม่​มี​หลักฐาน​เลย​ว่า​คำ​ภาษา​กรีก​คำ​นี้​หมาย​ถึง​ไม้กางเขน​แบบ​พวก​ที่​ไม่​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใช้​เป็น​สัญลักษณ์​ทาง​ศาสนา​อยู่​หลาย​ศตวรรษ​ก่อน​พระ​คริสต์ คำ​ว่า “ทรมาน” ช่วย​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ที่​ครบ​ถ้วน​ของ​คำ​นี้​ใน​ภาษา​เดิม เรา​รู้​เรื่อง​นี้​ได้​เพราะ​มี​การ​ใช้​คำ สเตาโรส เพื่อ​บอก​ให้​รู้​ว่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​จะ​ต้อง​เจอ​การ​ทรมาน ความ​ทุกข์ และ​ความ​อับอาย (มธ 16:24; ฮบ 12:2)—ดู​คำ​ว่า “เสา

  • เสา​ศักดิ์สิทธิ์

    คำ​ภาษา​ฮีบรู (อะเชราห์) หมาย​ถึง (1) เสา​ศักดิ์สิทธิ์​ที่​ใช้​แทน​อัชเชราห์​เทพ​ธิดา​แห่ง​การ​เจริญ​พันธุ์​ของ​ชาว​คานาอัน หรือ (2) รูป​ปั้น​ของ​เทพ​ธิดา​อัชเชราห์ ดู​เหมือน​เป็น​เสา​ที่​ตั้ง​ตรง​และ​อย่าง​น้อย​บาง​ส่วน​ของ​เสา​ทำ​จาก​ไม้ อาจ​เป็น​เสา​ที่​ไม่​ได้​แกะ​สลัก​หรือ​เป็น​ต้น​ไม้​ก็​ได้—ฉธบ 16:21; วนฉ 6:26; 1พก 15:13

  • โสเภณี

    คน​ที่​สำส่อน​ทาง​เพศ มัก​จะ​ทำ​เพื่อ​เงิน (คำ​นี้​ใน​ภาษา​กรีก​คือ พอร์เน มา​จาก​รากศัพท์​ที่​แปล​ว่า “ขาย”) คำ​นี้​มัก​ใช้​กับ​ผู้​หญิง​แต่​คัมภีร์​ไบเบิล​ก็​พูด​ถึง​โสเภณี​ชาย​ด้วย การ​เป็น​โสเภณี​เป็น​สิ่ง​ที่​ผิด​กฎหมาย​ของ​โมเสส และ​เงิน​ค่า​ตัว​ของ​โสเภณี​จะ​เอา​มา​บริจาค​ที่​วิหาร​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้ ซึ่ง​ตรง​ข้าม​กับ​พวก​ที่​ไม่​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ใช้​โสเภณี​ประจำ​วิหาร​เป็น​ช่อง​ทาง​หา​ราย​ได้ (ฉธบ 23:17, 18; 1พก 14:24) คัมภีร์​ไบเบิล​ยัง​ใช้​คำ​นี้​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​หมาย​ถึง​คน ชน​ชาติ หรือ​องค์การ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ไหว้​รูป​เคารพ​บาง​รูป​แบบ​ทั้ง ๆ ที่​อ้าง​ว่า​นมัสการ​พระเจ้า ตัว​อย่าง​เช่น ใน​หนังสือ​วิวรณ์ ศาสนา​ที่​เรียก​ว่า “บาบิโลน​ใหญ่” ได้​ฉายา​ว่า​โสเภณี​เพราะ​เธอ​มี​ความ​สัมพันธ์​กับ​ผู้​มี​อำนาจ​ปกครอง​ของ​โลก​นี้ โดย​หวัง​จะ​ได้​อำนาจ​และ​ความ​ร่ำรวย—วว 17:1-5; 18:3; 1พศ 5:25

  • ไสยศาสตร์

    คำ​นี้​ใน​พระ​คัมภีร์​หมาย​ถึง​วิชา​เกี่ยว​กับ​เวทมนตร์​คาถา​ซึ่ง​อาศัย​ความ​เชื่อ​ที่​ว่า​วิญญาณ​ของ​คน​ที่​ตาย​แล้ว​ออก​จาก​ร่าง​และ​สามารถ​ติด​ต่อ​กับ​คน​เป็น​โดย​ผ่าน​ทาง​คน​ทรง คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า “การ​เล่น​ไสยศาสตร์” มา​จาก​คำ​ว่า ฟาร์มาเกีย ซึ่ง​หมาย​ถึง “การ​ใช้​ยา​หรือ​ยา​เสพ​ติด” ต่อ​มา คำ​นี้​ถูก​โยง​กับ​ไสยศาสตร์​เพราะ​ใน​สมัย​โบราณ​ตอน​ที่​ทำ​การ​ปลุก​อำนาจ​ของ​ปีศาจ​เพื่อ​จะ​ใช้​วิชา​อาคม มัก​มี​การ​ใช้​ยา​หรือ​ยา​เสพ​ติด​ด้วย—กท 5:20; วว 21:8

  • หมอดู

    คน​ที่​อ้าง​ว่า​สามารถ​ทำนาย​อนาคต​ได้ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​พวก​นัก​บวช​ที่​ใช้​เวทมนตร์​คาถา ผู้​ทำนาย หรือ​โหร​ก็​อยู่​ใน​กลุ่ม​เดียว​กับ​หมอดู—ลนต 19:31; ฉธบ 18:11; กจ 16:16

  • หลุม​ศพ

    หมาย​ถึง​ที่​ฝัง​ศพ​จริง ๆ ของ​มนุษย์ แต่​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​พระ​คัมภีร์​ใช้​คำ​นี้​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​หมาย​ถึง​สภาพ​ที่​มนุษย์​ส่วน​ใหญ่​หลับ​ไป​ใน​ความ​ตาย ใน​ความ​หมาย​นี้ “หลุม​ศพ” แปล​มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู “เชโอล” และ​คำ​ภาษา​กรีก “ฮาเดส”—ปฐก 35:20; สด 16:10; ปญจ 9:10; กจ 2:31

  • ห้อง​บริสุทธิ์

    ห้อง​แรก​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​หรือ​ของ​วิหาร เป็น​ห้อง​ที่​ใหญ่​กว่า​ห้อง​ใน​สุด​ซึ่ง​เรียก​ว่า​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด สมัย​ที่​มี​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์ ห้อง​บริสุทธิ์​จะ​มี​เชิง​ตะเกียง​ทองคำ แท่น​บูชา​ทองคำ​สำหรับ​เผา​เครื่อง​หอม โต๊ะ​ตั้ง​ขนมปัง​ถวาย และ​เครื่อง​ใช้​ที่​ทำ​ด้วยทองคำ ส่วน​สมัย​ที่​มี​วิหาร ห้อง​บริสุทธิ์​จะ​มี​แท่น​บูชา​ทองคำ เชิง​ตะเกียง​ทองคำ 10 อัน และ​โต๊ะ​ตั้ง​ขนมปัง​ถวาย 10 ตัว (อพย 26:33; ฮบ 9:2)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5 และ ข​8

  • ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด

    ห้อง​ที่​อยู่​ด้าน​ใน​สุด​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์​และ​วิหาร ซึ่ง​เป็น​ที่​เก็บ​หีบ​สัญญา ตาม​กฎ​หมาย​ของ​โมเสส คน​ที่​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ได้​คือ​มหา​ปุโรหิต ซึ่ง​เขา​จะ​เข้า​ได้​เฉพาะ​ใน​วัน​ไถ่​บาป​ประจำ​ปี​เท่า​นั้น—อพย 26:33; ลนต 16:2, 17; 1พก 6:16; ฮบ 9:3

  • หัว​บท

    ข้อ​ความ​ที่​อยู่​ตอน​ต้น​ของ​หนังสือ​สดุดี​บาง​บท ซึ่ง​บอก​ให้​รู้​ว่า​ใคร​เป็น​คน​แต่ง บอก​ข้อมูล​ภูมิหลัง เป็น​คำ​สั่ง​ใน​การ​ร้อง​หรือ​เล่น​ดนตรี หรือ​บอก​จุด​ประสงค์​ของ​เพลง​บท​นั้น—ดู​หัว​บท​ของ​สดุดี 3, 4, 5, 6, 7, 30, 38, 60, 92, 102

  • หัว​เสา

    ส่วน​บน​สุด​ที่​ใช้​ประดับ​ตกแต่ง​เสา หน้า​วิหาร​ของ​โซโลมอน​มี​เสา​คู่​หนึ่ง​ชื่อ​ยาคีน​กับ​โบอาส บน​ยอด​ของ​เสา​สอง​ต้น​นี้​มี​หัว​เสา​ที่​ใหญ่​มาก (1พก 7:16)—ดู​ภาค​ผนวก ข​8

  • หิน​โม่

    เครื่อง​บด​ชนิด​หนึ่ง​ทำ​จาก​แผ่น​หิน​กลม 2 แผ่น​วาง​ซ้อน​กัน ใช้​บด​เมล็ด​ข้าว​ให้​เป็น​แป้ง ใน​ช่อง​ตรง​กลาง​ของ​หิน​แผ่น​ล่าง​มี​หมุด​ยึด​ซึ่ง​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​แกน​ให้​หิน​แผ่น​บน​หมุน​ได้ ตาม​บ้าน​เรือน​ส่วน​ใหญ่​ใน​สมัย​คัมภีร์​ไบเบิล พวก​ผู้​หญิง​จะ​ใช้​หิน​โม่​ที่​หมุน​ด้วย​มือ กฎหมาย​ของ​โมเสส​ห้าม​ไม่​ให้​ชาว​อิสราเอล​ยึด​โม่​หรือ​หิน​โม่​แผ่น​บน​ไว้​เป็น​ของ​ประกัน​เพราะ​ทุก​ครอบครัว​ต้อง​ใช้​หิน​โม่​เพื่อ​ทำ​อาหาร​ทุก​วัน ถ้า​เป็น​หิน​โม่​ขนาด​ใหญ่​ก็​จะ​ใช้​สัตว์​หมุน—ฉธบ 24:6; มก 9:42

  • หิน​หัว​มุม

    หิน​ที่​อยู่​หัว​มุม​ของ​อาคาร​ตรง​จุด​ที่​กำแพง​สอง​ด้าน​มา​บรรจบ​กัน เป็น​หิน​ก้อน​สำคัญ​ที่​เชื่อม​กำแพง​สอง​ด้าน​เข้า​ด้วย​กัน หิน​หัว​มุม​หลัก​คือ​หิน​หัว​มุม​ที่​อยู่​ตรง​ฐาน​ราก ส่วน​ใหญ่​จะ​มี​การ​เลือก​หิน​ที่​แข็งแรง​เป็น​พิเศษ​เมื่อ​ทำ​หิน​หัว​มุม​ของ​อาคาร​สาธารณะ​และ​กำแพง​เมือง มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เมื่อ​พูด​ถึง​การ​สร้าง​โลก และ​พระ​เยซู​ก็​ถูก​เรียก​ว่า “หิน​หัว​มุม​ของ​ฐาน​ราก” สำหรับ​ประชาคม​คริสเตียน​ซึ่ง​เทียบ​ได้​กับ​วิหาร​ของ​พระเจ้า—อฟ 2:20; โยบ 38:6

  • หีบ​สัญญา

    หีบ​ซึ่ง​ทำ​จาก​ไม้​อะคาเซีย​หุ้ม​ด้วย​ทองคำ เก็บ​ไว้​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ของ​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์ และ​ต่อ​มา​เก็บ​ไว้​ใน​ห้อง​บริสุทธิ์​ที่​สุด​ของ​วิหาร​ที่​โซโลมอน​สร้าง ฝา​หีบ​ทำ​ด้วย​ทองคำ มี​เครูบ 2 องค์​หัน​หน้า​เข้า​หา​กัน​อยู่​บน​ฝา​หีบ มี​แผ่น​หิน 2 แผ่น​ที่​จารึก​บัญญัติ 10 ประการ​เก็บ​อยู่​ข้าง​ใน (ฉธบ 31:26; 1พก 6:19; ฮบ 9:4)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5 และ ข​8

  • หุสบ

    พืช​ที่​มี​ก้าน​และ​ใบ​ขนาด​เล็ก ใช้​ประพรม​เลือด​หรือ​น้ำ​ใน​พิธี​ชำระ หุสบ​อาจ​เป็น​พืช​ชนิด​เดียว​กับ​มาร์จอรัม​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตระกูล​เดียว​กับ​มินต์ (Origanum maru; Origanum syriacum) หุสบ​ที่​ยอห์น 19:29 พูด​ถึง อาจ​เป็น​ต้น​มาร์จอรัม​ที่​ผูก​ติด​กับ​ก้าน​ข้าว​ฟ่าง (Sorghum vulgare) เพราะ​พืช​ชนิด​นี้​มี​ก้าน​ยาว​พอ​จะ​เสียบ​ฟองน้ำ​ชุบ​เหล้า​องุ่น​เปรี้ยว​เพื่อ​ชู​ให้​ถึง​ปาก​ของ​พระ​เยซู​ได้—อพย 12:22; สด 51:7

  • แหวน​ตรา

    ตรา​ชนิด​หนึ่ง​ซึ่ง​สวม​ไว้​ที่​นิ้ว​หรือ​อาจ​ห้อย​ไว้​ที่​คอ เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ถึง​อำนาจ​ของ​ผู้​ปกครอง​บ้าน​เมือง​หรือ​ของ​เจ้าหน้าที่ (ปฐก 41:42)—ดู​คำ​ว่า “ตรา, ตรา​ประทับ, ดวง​ตรา

  • โหร

    คน​ที่​ศึกษา​การ​โคจร​ของ​ดวง​อาทิตย์ ดวง​จันทร์ และ​ดวง​ดาว​เพื่อ​ทำนาย​อนาคต—ดนล 2:27; มธ 2:1

  • องครักษ์​ของ​จักรพรรดิ

    กอง​ทหาร​โรมัน​ที่​ตั้ง​ขึ้น​เพื่อ​คุ้มครอง​จักรพรรดิ​โรมัน พวก​เขา​มีอิทธิพล​ทาง​การ​เมือง​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​จะ​หนุน​หรือ​โค่น​ล้ม​จักรพรรดิ​ได้—ฟป 1:13

  • อด​อาหาร, ถือ​ศีล​อด​อาหาร

    งด​เว้น​จาก​การ​กิน​อาหาร​ทุก​อย่าง​ช่วง​หนึ่ง ชาว​อิสราเอล​จะ​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ใน​วัน​ไถ่​บาป ใน​ช่วง​ที่​เป็น​ทุกข์ และ​ใน​ช่วง​ที่​อ้อน​วอน​ขอ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระเจ้า ชาว​ยิว​มี​ธรรมเนียม​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ปี​ละ 4 ครั้ง​เพื่อ​ระลึก​ถึง​เหตุ​การณ์​ที่​เลว​ร้าย​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​พวก​เขา การ​ถือ​ศีล​อด​อาหาร​ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​สำหรับ​คริสเตียน—อสร 8:21; อสย 58:6; ลก 18:12

  • อะลาบาสเตอร์

    ชื่อ​เรียก​ขวด​น้ำหอม​ขนาด​เล็ก​ซึ่ง​ใน​ยุค​แรก​ทำ​มา​จาก​หิน​ที่​พบ​แถว ๆ อะลาบาสตรอน​ใน​อียิปต์ มัก​มี​คอ​ขวด​คอด​และ​ปิด​แน่น​ได้​เพื่อ​กัน​ไม่​ให้​น้ำหอม​ที่​มี​ราคา​แพง​รั่ว​ซึม​ออก​มา ใน​สมัย​ต่อ​มา อะลาบาสเตอร์​ยัง​เป็น​ชื่อ​เรียก​หิน​ชนิด​ที่​ใช้​ทำ​ขวด​ประเภท​นี้​ด้วย—มก 14:3

  • อัครทูตสวรรค์

    หมาย​ถึง “หัวหน้า​ทูตสวรรค์” คำ​ว่า “อัคร” แปล​ว่า “หัวหน้า” หรือ “ผู้​มี​ตำแหน่ง​สูง​สุด” คำ​นี้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​ใน​รูป​เอกพจน์​เท่า​นั้น แสดง​ว่า​มี​อัครทูตสวรรค์​เพียง​องค์​เดียว คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ด้วย​ว่า​อัครทูตสวรรค์​มี​ชื่อ​ว่า​มีคาเอล—ดนล 12:1; ยด 9; วว 12:7

  • อัครสาวก

    ความ​หมาย​พื้น​ฐาน​ของ​คำ​นี้​ใน​ภาษา​กรีก​คือ “ผู้​ถูก​ส่ง​ออก​ไป” ซึ่ง​ใช้​กับ​พระ​เยซู​และ​คน​ที่​ถูก​ส่ง​ไป​รับใช้​คน​อื่น มัก​ใช้​คำ​นี้​กับ​กลุ่ม​สาวก 12 คน​ที่​พระ​เยซู​เลือก​เอง​และ​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​ตัว​แทน​ของ​ท่าน—มก 3:14; กจ 14:14

  • อัชโทเรท

    เทพ​ธิดา​แห่ง​สงคราม​และ​การ​เจริญ​พันธุ์​ของ​ชาว​คานาอัน เป็น​ภรรยา​ของ​พระ​บาอัล—1ซม 7:3

  • อับ

    หลัง​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน อับ​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 5 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 11 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​กรกฎาคม​ถึง​กลาง​เดือน​สิงหาคม ไม่​มี​การ​พูด​ถึง​ชื่อ​เดือน​นี้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​ใช้​ว่า “เดือน 5” (กดว 33:38; อสร 7:9)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • อัลฟา​และ​โอเมกา

    อักษร​ตัว​แรก​และ​ตัว​สุด​ท้าย​ใน​ภาษา​กรีก มี​การ​ใช้​อักษร​สอง​ตัว​นี้ 3 ครั้ง​ใน​หนังสือ​วิวรณ์​เมื่อ​พูด​ถึง​ตำแหน่ง​ของ​พระเจ้า ใน​ท้อง​เรื่อง​เหล่า​นั้น คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​เหมือน​กับ​สำนวน “ผู้​แรก​และ​ผู้​สุด​ท้าย” และ “จุด​เริ่ม​ต้น​และ​จุด​จบ”—วว 1:8; 21:6; 22:13

  • อาคายา

    ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก เป็น​แคว้น​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน อยู่​ทาง​ตอน​ใต้​ของ​กรีซ รวม​พื้น​ที่​คาบสมุทร​ทาง​ใต้ (เพ​โล​พอน​นีส) กับ​บาง​ส่วน​ของ​กรีซ​ที่​อยู่​บน​แผ่นดิน​ใหญ่ เมือง​หลวง​คือ​โครินธ์ (กจ 18:12)—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

  • อาซาเซล

    ชื่อ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​อาจ​แปล​ว่า “แพะ​ที่​หาย​ไป” และ​ใน​วัน​ไถ่​บาป แพะ​ที่​ฉลาก​ระบุ​ว่า​อาซาเซล​จะ​ถูก​เอา​ไป​ปล่อย​ใน​ที่​กันดาร ซึ่ง​เป็น​สัญลักษณ์​แสดง​ถึง​การ​เอา​บาป​ที่​ประชาชน​ทำ​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา​นั้น​ไป—ลนต 16:8, 10

  • อาดาร์

    หลัง​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน อาดาร์​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 12 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 6 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​กุมภาพันธ์​ถึง​กลาง​เดือน​มีนาคม (อสธ 3:7)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • อาบีบ

    ชื่อ​เดิม​ของ​เดือน​แรก​ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 7 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร แปล​ว่า “รวง​ข้าว​ใหม่” เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​มีนาคม​ถึง​กลาง​เดือน​เมษายน และ​หลัง​จาก​ชาว​ยิว​กลับ​จาก​การ​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน ก็​เรียก​เดือน​นี้​ว่า​เดือน​นิสาน (ฉธบ 16:1)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • อาเมน

    “ขอ​ให้​เป็น​อย่าง​นั้น” หรือ “แน่นอน” คำ​นี้​มา​จาก​รากศัพท์​ภาษา​ฮีบรู อา​มัน ซึ่ง​แปล​ว่า “ซื่อ​สัตย์” “วางใจ​ได้” คำ​ว่า “อาเมน” ใช้​พูด​กัน​เมื่อ​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​สาบาน คำ​อธิษฐาน หรือ​คำ​พูด​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง ใน​หนังสือ​วิวรณ์ คำ​นี้​เป็น​ตำแหน่ง​ที่​ใช้​เรียก​พระ​เยซู—ฉธบ 27:26; 1พศ 16:36; วว 3:14

  • อารัม, ชาว​อารัม

    อารัม​เป็น​ลูก​ชาย​ของ​เชม ลูก​หลาน​ของ​อารัม​ส่วน​ใหญ่​อาศัย​อยู่​แถบ​เทือก​เขา​เลบานอน​ไป​จน​ถึง​เมโสโปเตเมีย และ​จาก​แถบ​เทือก​เขา​ทอรัส​ทาง​เหนือ​ลง​ไป​จน​ถึง​ดามัสกัส และ​เลย​ไป​ถึง​ทาง​ใต้ ดินแดน​บริเวณ​นี้​เรียก​ว่า​อารัม​ใน​ภาษา​ฮีบรู แต่​ต่อ​มา​เรียก​ว่า​ซีเรีย และ​คน​ที่​อาศัย​ใน​บริเวณ​นี้​ก็​เรียก​ว่า​ชาว​ซีเรีย—ปฐก 25:20; ฉธบ 26:5; ฮชย 12:12

  • อาราเมอิก

    ภาษา​นี้​มี​ต้นตอ​มา​จาก​ภาษา​เซมิติก อยู่​ใน​กลุ่ม​เดียว​กับ​ภาษา​ฮีบรู​และ​ใช้​พยัญชนะ​แบบ​เดียว​กับ​ภาษา​ฮีบรู ใน​ตอน​แรก​เฉพาะ​ชาว​อารัม​พูด​ภาษา​นี้ แต่​ต่อ​มา​กลาย​เป็น​ภาษา​สากล​ที่​ใช้​พูด​กัน​ใน​การ​ติด​ต่อ​สื่อสาร​และ​ค้า​ขาย​ทั่ว​จักรวรรดิ​อัสซีเรีย​และ​บาบิโลน ภาษา​นี้​ยัง​เป็น​ภาษา​ราชการ​ของ​จักรวรรดิ​เปอร์เซีย​ด้วย (อสร 4:7) บาง​ส่วน​ของ​หนังสือ​เอสรา เยเรมีย์ และ​ดาเนียล​ก็​เขียน​เป็น​ภาษา​อาราเมอิก—อสร 4:8-6:18; 7:12-26; ยรม 10:11; ดนล 2:4​ข-7:28

  • อาเรโอปากัส

    เนิน​เขา​สูง​ใน​กรุง​เอเธนส์ อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​อะโครโปลิส คำ​นี้​ยัง​เป็น​ชื่อ​สภา​หรือ​ศาล​ซึ่ง​จัด​การ​ประชุม​บน​เนิน​เขา​นี้​ด้วย นัก​ปรัชญา​ที่​เป็น​พวก​เอปิคิวเรียน​และ​พวก​สโตอิก​พา​ตัว​เปาโล​ไป​ที่​นั่น​เพื่อ​ให้​อธิบาย​ความ​เชื่อ​ของ​เขา—กจ 17:19

  • อาลาโมท

    ศัพท์​ทาง​ดนตรี​ที่​มี​ความ​หมาย​ว่า “หญิง​สาว” ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​นึก​ถึง​เสียง​โซปราโน​ของ​หญิง​สาว คำ​นี้​อาจ​ใช้​เพื่อ​กำหนด​ให้​เล่น​ดนตรี​หรือ​ร้อง​เพลง​ใน​ช่วง​เสียง​สูง—1พศ 15:20; สด 46:0

  • อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​พระ​คริสต์

    เป็น​มื้อ​อาหาร​จริง ๆ มี​การ​กิน​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​และ​เหล้า​องุ่น​ซึ่ง​เป็น​ภาพ​เปรียบ​เทียบ​ถึง​ร่าง​กาย​และ​เลือด​ของ​พระ​คริสต์ เป็น​การ​ระลึก​ถึง​การ​ตาย​ของ​พระ​เยซู พระ​คัมภีร์​สั่ง​ให้​คริสเตียน​ทำ​อย่าง​นี้​เป็น​ประจำ—1คร 11:20, 23-26

  • อาร์มาเกดโดน

    คำ​นี้​มา​จาก​คำ​ภาษา​ฮีบรู ฮาร์​เมกิดโด​น ซึ่ง​แปล​ว่า “ภูเขา​เมกิดโด” คำ​นี้​เกี่ยว​ข้อง​กับ “สงคราม​ใน​วัน​ใหญ่​ของ​พระเจ้า​ผู้​มี​พลัง​อำนาจ​สูง​สุด” เมื่อ “กษัตริย์​ทั่ว​โลก” มา​รวม​ตัว​กัน​เพื่อ​ทำ​สงคราม​กับ​พระ​ยะโฮวา (วว 16:14, 16; 19:11-21)—ดู​คำ​ว่า “ความ​ทุกข์​ยาก​ลำบาก​ครั้ง​ใหญ่

  • อิลลีริคุม

    แคว้น​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน​ที่​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​เฉียง​เหนือ​ของ​กรีซ เปาโล​เคย​เดิน​ทาง​ไป​ไกล​ถึง​แคว้น​นี้​ตอน​ที่​ทำ​งาน​ประกาศ แต่​พระ​คัมภีร์​ไม่​ได้​บอก​ว่า​เขา​เข้า​ไป​ประกาศ​ใน​แคว้น​อิลลีริคุม​หรือ​แค่​ไป​ถึง​ชายแดน​ก่อน​เข้า​แคว้น​นั้น (รม 15:19)—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

  • อิสราเอล

    ชื่อ​ที่​พระเจ้า​ตั้ง​ให้​ยาโคบ ต่อ​มา​กลาย​เป็น​ชื่อ​เรียก​ลูก​หลาน​ของ​เขา​ไม่​ว่า​สมัย​ไหน บ่อย​ครั้ง​จะ​เรียก​ลูก​หลาน​ที่​เกิด​จาก​ลูก​ชาย 12 คน​ของ​ยาโคบ​ว่า ลูก​หลาน​ของ​อิสราเอล ประชาชน​ชาว​อิสราเอล หรือ​ชาว​อิสราเอล คำ​ว่า​อิสราเอล​ยัง​เป็น​ชื่อ​เรียก​อาณาจักร​ทาง​เหนือ 10 ตระกูล​ซึ่ง​แยก​ตัว​ออก​จาก​อาณาจักร​ทาง​ใต้ และ​ต่อ​มา​เป็น​คำ​ที่​ใช้​เรียก​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​คือ “อิสราเอล​ของ​พระเจ้า”—กท 6:16; ปฐก 32:28; 2ซม 7:23; รม 9:6

  • อุทยาน

    สวน​ที่​สวย​งาม อุทยาน​แห่ง​แรก​คือสวน​เอเดน​ที่​พระ​ยะโฮวา​สร้าง​ให้​มนุษย์​คู่​แรก​อยู่ ตอน​ที่​พระ​เยซู​พูด​กับ​ผู้​ร้าย​คน​หนึ่ง​ที่​ถูก​ตรึง​อยู่​ข้าง ๆ คำ​พูด​ของ​ท่าน​แสดง​ว่า​โลก​จะ​เป็น​อุทยาน คำ​ว่า “อุทยาน” ที่ 2 โครินธ์ 12:4 หมาย​ถึง​อุทยาน​ใน​อนาคต ส่วน​ที่​วิวรณ์ 2:7 คำ​นี้​หมาย​ถึง​อุทยาน​ใน​สวรรค์—ลก 23:43

  • อุโมงค์​รำลึก

    สถาน​ที่​สำหรับ​เก็บ​ศพ​คน​ตาย คำ​นี้​แปล​จาก​คำ​ภาษา​กรีก มนีมีโอน ซึ่ง​มา​จาก​คำ​กริยา “ระลึก​ถึง” แสดง​ว่า​คน​ตาย​ยัง​เป็น​ที่​ระลึก​ถึง​อยู่—ยน 5:28, 29

  • อูริม​กับ​ทูมมิม

    เป็น​สิ่ง​ที่​มหา​ปุโรหิต​ใช้​เมื่อ​มี​คำ​ถาม​สำคัญ ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​คน​ทั้ง​ชาติ เขา​จะ​ใช้​อูริม​กับ​ทูมมิม​ใน​การ​ทำ​สิ่ง​ที่​คล้าย​กับ​การ​จับ​ฉลาก เพื่อ​จะ​ได้​คำ​ตอบ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ต้องการ​ให้​ทำ​อะไร มหา​ปุโรหิต​จะ​ใส่​อูริม​กับ​ทูมมิม​ไว้​ใน​ทับ​ทรวง​เมื่อ​เขา​เข้า​ไป​ใน​เต็นท์​ศักดิ์สิทธิ์ ดู​เหมือน​ว่า​ไม่​มี​การ​ใช้​อูริม​กับ​ทูมมิม​อีก​ต่อ​ไป​หลัง​จาก​ที่​ชาว​บาบิโลน​มา​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเล็ม—อพย 28:30; นหม 7:65

  • เอเชีย

    แคว้น​หนึ่ง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก มี​อาณา​เขต​ครอบ​คลุม​พื้น​ที่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ตุรกี​ใน​ปัจจุบัน รวม​ทั้ง​เกาะ​บาง​เกาะ​ตาม​ชายฝั่ง เช่น เกาะ​สามอส และ​เกาะ​ปัทมอส เมือง​หลวง​ของ​แคว้น​นี้​คือ​เอเฟซัส (กจ 20:16; วว 1:4)—ดู​ภาค​ผนวก ข​13

  • เอโดม

    อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ของ​เอซาว​ลูก​ชาย​ของ​อิสอัค ลูก​หลาน​ของ​เอซาว (เอโดม) มา​ตั้ง​รกราก​ใน​แถบ​เทือก​เขา​เสอีร์​ซึ่ง​อยู่​ระหว่าง​ทะเล​เดดซี​กับ​อ่าว​อะกาบา ใน​ภาย​หลัง​ก็​เรียก​ที่​นั่น​ว่า​เอโดม (ปฐก 25:30; 36:8)—ดู​ภาค​ผนวก ข​3 และ ข​4

  • เอธานิม

    ชื่อ​เดือน​ที่ 7 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ชาว​ยิว​และ​เดือน​แรก​ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​กันยายน​ถึง​กลาง​เดือน​ตุลาคม และ​หลัง​จาก​ชาว​ยิว​กลับ​จาก​บาบิโลน​ก็​เรียก​เดือน​นี้​ว่า​เดือน​ทิชรี (1พก 8:2)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เอธิโอเปีย

    ชาติ​โบราณ​ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​อียิปต์ ใน​สมัย​ก่อน​มี​อาณา​เขต​ครอบ​คลุม​ส่วน​ใต้​สุด​ของ​ประเทศ​อียิปต์​ไป​จน​ถึง​ประเทศ​ซูดาน​ใน​ปัจจุบัน บาง​ครั้ง​ก็​ใช้​คำ​นี้​แทน​คำ​ว่า “คูช” ใน​ภาษา​ฮีบรู—อสธ 1:1

  • เอปิคิวเรียน

    กลุ่ม​นัก​ปรัชญา​ซึ่ง​ติด​ตาม​นัก​ปรัชญา​ชาว​กรีก​ที่​ชื่อ​เอพิคิวรัส (341-270 ก่อน ค.ศ.) ปรัชญา​ของ​พวก​เขา​มี​แนว​คิด​หลัก​ว่า เป้าหมาย​สูง​สุด​ใน​ชีวิต​ของ​มนุษย์​คือ​การ​มี​ความ​สุข—กจ 17:18

  • เอฟาห์

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง​และ​ถัง​ตวง​ของ​แห้ง​ที่​ใช้​ตวง​ข้าว มาตรา​นี้​เท่า​กับ​มาตรา​บัท​ที่​ใช้​ตวง​ของ​เหลว คือ 22 ลิตร (อพย 16:36; อสค 45:10)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • เอโฟด

    เสื้อ​ที่​เหมือน​ผ้า​กัน​เปื้อน​ซึ่ง​พวก​ปุโรหิต​ใส่ มหา​ปุโรหิต​จะ​ใส่​เอโฟด​ที่​ทำ​เป็น​พิเศษ​และ​สวม​ทับ​ทรวง​ไว้​ด้าน​หน้า บน​ทับ​ทรวง​มี​อัญมณี 12 เม็ด​ฝัง​อยู่ (อพย 28:4, 6)—ดู​ภาค​ผนวก ข​5

  • เอลูล

    หลัง​ชาว​ยิว​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน เอลูล​เป็น​ชื่อ​เดือน​ที่ 6 ตาม​ปฏิทิน​ทาง​ศาสนา​ของ​ยิว​และ​เดือน​ที่ 12 ตาม​ปฏิทิน​การ​เกษตร เริ่ม​จาก​กลาง​เดือน​สิงหาคม​ถึง​กลาง​เดือน​กันยายน (นหม 6:15)—ดู​ภาค​ผนวก ข​15

  • เอฟราอิม

    ชื่อ​ลูก​ชาย​คน​ที่​สอง​ของ​โยเซฟ ต่อ​มา​เป็น​ตระกูล​หนึ่ง​ของ​อิสราเอล และ​หลัง​จาก​ที่​มี​การ​แบ่ง​อิสราเอล​เป็น 2 อาณาจักร มัก​ใช้​ชื่อ​เอฟราอิม​ซึ่ง​เป็น​ตระกูล​ที่​โดด​เด่น​ที่​สุด​เมื่อ​พูด​ถึง​อาณาจักร 10 ตระกูล—ปฐก 41:52; ยรม 7:15

  • แอก

    ไม้​ที่​วาง​พาด​บน​ไหล่​คน​และ​มี​ของ​ห้อย​ที่​ปลาย​ไม้​ทั้ง​สอง​ด้าน หรือ​ไม้​ที่​วาง​ขวาง​บน​คอ​สัตว์ 2 ตัว (ส่วน​ใหญ่​เป็น​วัว) เพื่อ​ให้​มัน​ลาก​เครื่อง​มือ​การ​เกษตร​หรือ​เกวียน เนื่อง​จาก​ทาส​มัก​จะ​ใช้​แอก​แบก​ของ​หนัก แอก​จึง​เป็น​สัญลักษณ์​หมาย​ถึง​การ​เป็น​ทาส​หรือ​การ​อยู่​ใต้​อำนาจ รวม​ทั้ง​การ​กดขี่​และ​ความ​ทุกข์ การ​ปลด​หรือ​หัก​แอก​หมาย​ถึง​การ​ปลด​ปล่อย​ให้​พ้น​จาก​การ​ถูก​กัก​ขัง ถูก​กดขี่ และ​ถูก​เอา​รัด​เอา​เปรียบ—ลนต 26:13; มธ 11:29, 30

  • โอนิกซ์

    เป็น​หิน​กึ่ง​มี​ค่า มี​ลาย​เป็น​ชั้น ๆ สี​ขาว​สลับ​กับ​สี​ดำ น้ำตาล แดง เทา หรือ​เขียว อาจ​เป็น​อะเกต​ที่​มี​ความ​แข็ง หรือ​ไม่​ก็​เป็น​คาลซิโดนี​ชนิด​ที่​มี​ลาย​เป็น​ชั้น ๆ มี​โอนิกซ์​อยู่​บน​ชุด​ของ​มหา​ปุโรหิต—อพย 28:9, 12; 1พศ 29:2; โยบ 28:16

  • โอเมอร์

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง เท่า​กับ 2.2 ลิตร​หรือ 1 ใน 10 เอฟาห์ (อพย 16:16, 18)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ฮิกกาโยน

    ศัพท์​เกี่ยว​กับ​การ​ควบคุม​ดนตรี ตาม​ที่​ใช้​ใน​สดุดี 9:16 คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​การ​บรรเลง​พิณ​เสียง​ต่ำ​ด้วย​อารมณ์​จริงจัง หรือ​การ​หยุด​เพื่อ​ให้​ใคร่ครวญ​เงียบ ๆ

  • ฮิน

    มาตรา​ตวง​ของ​เหลว​และ​ภาชนะ​สำหรับ​ตวง เท่า​กับ 3.67 ลิตร (อพย 29:40)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • ฮีบรู

    มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ครั้ง​แรก​กับ​อับราม (อับราฮัม) เพื่อ​แยก​เขา​ออก​จาก​เพื่อน​บ้าน​ชาว​อาโมไรต์ จาก​นั้น​ก็​ใช้​เมื่อ​พูด​ถึง​ลูก​หลาน​ของ​อับราฮัม​ซึ่ง​มา​ทาง​เชื้อ​สาย​ของ​ยาโคบ​หลาน​ของ​เขา และ​ยัง​หมาย​ถึง​ภาษา​ที่​พวก​เขา​พูด​ด้วย พอ​มา​ถึง​สมัย​ของ​พระ​เยซู ภาษา​ฮีบรู​มี​คำ​ภาษา​อาราเมอิก​หลาย​คำ​รวม​อยู่​ด้วย และ​เป็น​ภาษา​ที่​พระ​คริสต์​กับ​สาวก​พูด—ปฐก 14:13; อพย 5:3; กจ 26:14

  • เฮโรด

    นามสกุล​ของ​ราชวงศ์​ที่​โรม​แต่ง​ตั้ง​ให้​ปกครอง​ชาว​ยิว เฮโรด​มหาราช​เป็น​ที่​รู้​จัก​เพราะ​เขา​สร้าง​วิหาร​ใน​กรุง​เยรูซาเล็ม​ขึ้น​ใหม่​และ​เป็น​คน​สั่ง​ให้​ฆ่า​เด็ก​เพื่อ​จะ​กำจัด​พระ​เยซู (มธ 2:16; ลก 1:5) ลูก​ชาย 2 คน​ของ​เฮโรด​มหาราช คือ​เฮโรด​อาร์เคลาอัส​และ​เฮโรด​อันทีพาส ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ให้​ปกครอง​แคว้น​ต่าง ๆ ที่​พ่อ​ของ​พวก​เขา​เคย​ปกครอง (มธ 2:22) เฮโรด​อันทีพาส​เป็น​ผู้​ปกครอง​แคว้น​และ​คน​มัก​เรียก​เขา​ว่า “กษัตริย์” เขา​เป็น​ผู้​ปกครอง​ใน​ช่วง 3 ปี​ครึ่ง​ที่​พระ​คริสต์​ทำ​งาน​ประกาศ​และ​ต่อ​เนื่อง​จน​ถึง​ช่วง​เหตุ​การณ์​ก่อน​กิจการ​บท 12 (มก 6:14-17; ลก 3:1, 19, 20; 13:31, 32; 23:6-15; กจ 4:27; 13:1) หลัง​จาก​นั้น เฮโรด​อากริปปา​ที่​หนึ่ง หลาน​ชาย​ของ​เฮโรด​มหาราช ถูก​ทูตสวรรค์​ของ​พระเจ้า​ประหาร​หลัง​จาก​ขึ้น​ปกครอง​ได้​ไม่​นาน (กจ 12:1-6, 18-23) ลูก​ชาย​ของ​เขา คือ​เฮโรด​อากริปปา​ที่​สอง ได้​ขึ้น​ปกครอง​เรื่อย​มา​จน​ถึง​ตอน​ที่​ชาว​ยิว​กบฏ​ต่อ​อำนาจ​โรมัน (กจ 23:35; 25:13, 22-27; 26:1, 2, 19-32)—ดู​คำ​ว่า “พรรค​พวก​ของ​เฮโรด

  • เฮอร์เมส

    เทพ​ของ​กรีก ลูก​ชาย​ของ​เทพ​ซุส ผู้​คน​ใน​เมือง​ลิสตรา​เข้าใจ​ผิด​และ​เรียก​เปาโล​ว่า​เฮอร์เมส เพราะ​เฮอร์เมส​เป็น​เทพ​ที่​มี​หน้า​ที่​ส่ง​ข่าว​จาก​พวก​เทพ​และ​มี​ฝีปาก​ดี—กจ 14:12

  • โฮเมอร์

    มาตรา​ตวง​ของ​แห้ง​ซึ่ง​เทียบเท่า​กับ​โคระ คือ​เท่า​กับ 220 ลิตร​โดย​คำนวณ​จาก​ปริมาตร​โดย​ประมาณ​ของ​มาตรา​บัท (ลนต 27:16)—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

  • โฮเรบ, ภูเขา​โฮเรบ

    แถบ​เทือก​เขา​ที่​อยู่​รอบ ๆ ภูเขา​ซีนาย และ​เป็น​อีก​ชื่อ​หนึ่ง​ของ​ภูเขา​ซีนาย (อพย 3:1; ฉธบ 5:2)—ดู​ภาค​ผนวก ข​3